‘พีระพันธุ์’ เผย ต้องทำให้ถูกต้องทุกกระบวนการ พร้อมเดินหน้ารักษาความสามารถในการส่งออก

(24 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า 

สำหรับสิ่งที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะได้มีการเปิดประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น 

ทั้งตนและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงในการทุจริต ในโครงการประมูลโรงไฟฟ้า 

ในลำดับแรกขอกล่าวถึงโครงการดังกล่าวเสียก่อน โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์

โดยในโครงการนี้จะแบ่งการรับซื้อ หรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ 

สำหรับโครงการแรกที่รับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์นั้น ใช้การประมูลในรูปแบบปกติ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าสามารถร่วมประมูลได้อย่างเปิดกว้าง หรือ Open Bid

แต่สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์นั้น เป็นการประมูลแบบพิเศษ คือให้สิทธิ์ผู้ที่เคยประมูลในโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์แต่ไม่ชนะการประมูล เป็นผู้มีสิทธิยื่นประมูล

ตนและกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่าการกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้จะเกิดปัญหา และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การเปิดประมูลในแต่ละรอบต้องแยกจากกันโดยเด็ดขาด มิใช่เอามาเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน

แต่อย่างไรก็ดี กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระ มีสถานะคล้ายกับ กสทช. กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา กล่าวโดยง่ายคือไม่สามารถไฟสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้วเป็นที่เรียบร้อย 

เบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุม และจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้เมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว เรื่องดังกล่าวจะมีการรายงานไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

ทั้งนี้ตนคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย และตนขอยืนยันว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากได้มีการกำกับ ติดตาม อย่างใกล้ชิดตลอดมา 

ส่วนต่อมาตนขอชี้แจงกรณีมีการกล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวแพงเกินจริงนั้น ตนขอชี้แจงว่าในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรกคือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นตนจึงขอยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่ได้แพงเกินจริงแต่อย่างใด 

สำหรับคำถามที่ว่าในเมื่อจะมีการดำเนินการในส่วนของ Direct PPA แล้ว ทำไมจะต้องมีโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ รวมถึงการทำไฟฟ้าให้มีที่มาจากพลังงานสะอาดด้วย

ในประเด็นนี้ตนขอนำเรียนว่า Direct PPA หรือการรับซื้อไฟฟ้าตรง กับ การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน นั้นเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน 

สำหรับ Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง 

แต่สำหรับ RE หรือการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนซึ่งในโครงการที่กล่าวไปตอนต้นที่มีกำลังการผลิต 3,600 เมกะวัตต์นั้น จะเป็นส่วนที่ส่งไฟเข้าสู่ กฟผ. ซึ่งเมื่อมีสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะมีการจัดเก็บ UGT ที่ย่อมาจาก Utility Green Tariff หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย 

ซึ่ง Renewable Energy Certificate หรือ REC นี้ผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษีหากไม่มี REC การดำเนินการของ กกพ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของประเทศ 

ถึงแม้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งมิใช่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ตามก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ทดแทน 

ประเด็นคำถามถึงแนวทางในการจัดการกับการประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในครั้งที่มีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์นั้น ตนขอเรียนว่า ได้มีการสอบถามและหารือไปยัง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)” อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีการดำเนินการใด ๆ อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำรวมถึงหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตนยินดีที่จะรับฟังพร้อมเดินหน้าปฏิบัติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน 

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎ ระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นการลดความยุ่งยากในการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของพี่น้องประชาชนจากค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้า

“ตนขอยืนยันว่า เบื้องหลังของตนมีแค่ผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีกลุ่มทุน อะไรที่สามารถแก้ไขได้ตนจะดำเนินการแก้ไข โดยไม่บ่ายเบี่ยงว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคใดในสมัยใด ขอให้ท่านมั่นใจว่าตนจะทำให้เต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง” นายพีระพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย