Sunday, 25 May 2025
Hard News Team

ตลาด E-Commerce จีนแข่งกันเดือด งัดกลยุทธ์ ‘คืนเงินโดยไม่ต้องคืนสินค้า’

(24 ต.ค. 67) นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล Founder & CEO บริษัท Fire One One ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์การแข่งขันในตลาด E-Commerce จีน ว่า

เมื่อชะลอตัว จีนก็แข่งกันเดือด Pinduoduo - อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่ใช้กำลังซื้อมหาศาลมาซื้อของสต็อกเพื่อให้ได้ราคาถูกมาก ๆ (เจ้าของ TEMU) เปิดเกมส์เมื่อเดือนสิงหาคมให้ลูกค้าที่ไม่พอใจสินค้าขอ Refund ได้โดยไม่ต้องส่งของคืน ... เล่นเอาทั้งคู่แข่งและหน่วยงานรัฐเต้นทันที

Taobao บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกราย หนึ่งในธุรกิจหลักของอาลีบาบา ส่งกระดาษโน้ตไปในทุกแพ็กเกจเพื่อประกาศว่า "เราไม่มีนโยบาย No-return Refund ถ้าคุณจะขอเงินคืนแต่ไม่คืนสินค้ากลับมา เราจะดำเนินคดีทันที" ... เนื่องจากเดือนที่ผ่านมาพวกเขาเจอการขอ Refund มากผิดปกติ (ตัวเลขจาก Nikkei คือเจอลูกค้าของเงินคืนแบบไม่ส่งของกลับมาราว 400,000 ครั้ง) ... พวกเขามองว่านี่เป็นการตัดขาคู่แข่งเพราะ Taobao ต้องชดใช้ให้ผู้ขายถึง 300 ล้านหยวนในช่วงเวลาดังกล่าว

หน่วยงานรัฐมองว่า Pinduoduo กำลังสร้างพฤติกรรมไม่ดีให้กับลูกค้าที่ไม่พอใจก็ขอเงินคืนได้ตลอดเวลา จะทำให้เกิดการซื้อแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ขึ้นมา ... แต่แน่นอนว่าถูกใจผู้บริโภค แต่จะไม่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในระยะยาว

Pinduoduo แย้งว่าพวกเขาไม่ใช่รายแรกที่ทำ (Amazon ก็ทำในสินค้าบาง Segments ที่ราคาถูกมาก ๆ จนไม่คุ้มต่อค่าส่ง) 

ผู้ขายก็ได้เงินคืนละครับแต่ว่ามันจะไม่ดีกับพวกเขา เช่นผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ขายตัวเดียวกันทั้งใน Pinduoduo และใน Taobao มียอดขอคืนเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มแรก มากกว่าทั้งปีที่เธอขายมาเมื่อปีที่แล้วทั้งที่สินค้าเป็นตัวเดิม ... "ลูกค้าแค่บอกว่าสินค้าของเราไม่ดี เลยขอเงินคืน สกอร์ของเราจะเป็นยังไง? ลูกค้าก็เอาไปใช้ใช่ไหม? แล้วจะทำยังไงถ้าเราเจอการสั่งซื้อสินค้าเดิมแล้วทำแบบเดิมอีกรอบ"

หน่วยงานรัฐเจอพฤติกรรม "เปิดกลุ่มสอน" เริ่มจากการขอรีฟันด์อย่างถูกต้องโดยระบุว่าสินค้าประเภทไหนจากผู้ค้ารายไหนต้องแจ้งยังไง ตอนนี้กลายเป็นการสอนอย่างเป็นระบบว่าจะใช้ของฟรีกันในแต่ละวันอย่างไร

ความขัดแย้งจะเริ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนครับ

‘ทูตนริศโรจน์’ เคลียร์ปมสงสัยทุกประเด็น กรณี ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ช้างไทยที่เคยอยู่ในศรีลังกา

(24 ต.ค. 67) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย  โพสต์เฟซบุ๊ก   Fuangrabil Narisroj  ระบุข้อความว่า

มีเพื่อนบางคนถามเรื่องพลายศักดิ์สุรินทร์ที่คุณหนูนาได้นำกลับมารักษาที่เมืองไทยว่าแตกต่างจาก กลุ่มขบวนการทวงช้างคืนจากศรีลังกาอย่างไร

ผมขออธิบายสรุปคร่าวๆ ดังนี้

1.ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ช้างที่ไทยเราเคยมอบให้ศรีลังกา เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ เป็นการมอบให้แบบ G2G ช้างที่มอบให้ศรีลังกาไปแล้ว ศรีลังกามีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์

2.กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ เนื่องจากควาญที่ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์มาตั้งแต่แรกเสียชีวิต และพลายศักดิ์สุรินทร์ป่วยไม่สบาย ทางไทย (โดยคุณหนูนาและคุณท๊อป) ก็ได้ขออนุญาตต่อทางการศรีลังกา ขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มาทำการรักษาพยาบาลที่ไทย 

3.สถานที่รักษาพยาบาลก็คือ สถาบันคชบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ ที่หากมีการรับส่งช้างก็ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับ (แบบ G2G) ไม่ใช่ส่งคืนให้ “มูลนิธิ” ของเอกชน ! 

4.การดำเนินการขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาที่ไทย ไม่ใช่การทวงคืนช้างจากศรีลังกา ซึ่งกรณีนี้ทางการศรีลังกาก็ยังแสดงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อรักษาเสร็จแล้ว ขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนศรีลังกาต่อไป

5.ในหลวง ร.10 เมื่อทรงทราบเรื่องก็ได้พระราชทานความช่วยเหลือรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และตรงนี้เองที่เราได้ใช้อ้างกับทางศรีลังกาในการรักษาพยาบาลพลายศักดิ์สุรินทร์ไปเรื่อยๆโดยไม่มีกำหนด

6.ส่วนกรณีที่เกิดกลุ่มขบวนการทวงช้างคืนจากศรีลังกานั้น เมื่อเห็นการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาไทยได้ ก็เลยต้องการเลียนแบบ เปิดประเด็นว่าพลายประตูผา กับ พลายศรีณรงค์ ได้รับการปฏิบัติไม่ดี มีการทรมานใช้ออกงาน เลยไปทำแคมเปญทวงคืนช้างไทย โดยมีมูลนิธิหนึ่งเป็นตัวตั้งตัวตี มีนักการเมืองพรรคนึงสนับสนุน นัยว่าจะทวงคืนช้างมาไว้ที่มูลนิธิ 

7.มีการปั่นข้อมูลบิดเบือน จับแพะชนแกะ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทวงคืนช้าง โดยไม่สนใจว่าจะกระทบต่อมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนเกิดกรณีลุกลามมีชาวศรีลังกาบางส่วนไม่พอใจต่อกลุ่มขบวนการทวงช้างคืน จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างประเทศ ชาวศรีลังกาบางส่วนออกมาแอนตี้ต่อต้าน

8.ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเช่น สถานทูตไทยที่ศรีลังกาก็ได้พยายามอธิบายเหตุผลและขั้นตอนต่างๆต่อกลุ่มขบวนการทวงคืนช้างตามนัยของข้อ 1-4 ข้างต้นแล้ว แต่ทางกลุ่มก็ไม่ยอมรับฟัง และไม่หยุดดำเนินการ

9.ทางสถานทูตไทยได้ร่วมกับสัตวแพทย์ทั้งไทยและศรีลังกาไปตรวจสุขภาพพลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ก็พบว่าตัวนึงสุขภาพเกินกว่ามาตรฐาน และอีกตัวนึงมีปัญหาสุขภาพบ้างตามอายุขัย แต่อยู่ในการควบคุมดูแลได้ และพลายทั้งสองเชือกยังมีควาญที่เลี้ยงมาแต่แรกดูแลอยู่

10.สรุปอีกที กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ใช่การทวงช้างคืน แต่เป็นการขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาที่ไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทางการศรีลังกาให้ดำเนินการได้ ส่วนกรณีของกลุ่มขบวนการทวงช้างคืนนั้น เป็นการอ้างว่าขอเอาช้างที่มอบให้ศรีลังกาไปแล้วกลับคืนเพื่อเอามาไว้ที่มูลนิธิของเอกชน แต่ทางการศรีลังกาไม่อนุมัติ

จับตาประชุมกลุ่ม BRICS ร่วมประเทศพันธมิตร 34 ประเทศ กลุ่มมหาอำนาจใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสองซีกโลกในทุกมิติ

(24 ต.ค. 67) ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง 'การแบ่งขั้ว' ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง 'สหรัฐ' เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือน ต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง 'รัสเซีย' จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 'บริกส์' (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า 'สมาชิกใหม่' 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

>>> จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น 'ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ' พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า 'BRICS+' (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”

Traveloko เปิดสถิติสุดช๊อกจากแคมเปญ 10.10 Travel Fest ตะลึง!! ยอดจองบินไต้หวันมาที่ 1 แดนโสมหลุดโผ 5 ลำดับแรก

(24 ต.ค. 67) ซีซาร์ อินทรา ประธานบริษัท Traveloka กล่าวว่า "แคมเปญ 10.10 Travel Fest สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของเราในการทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของนักท่องเที่ยว ด้วยการเล็งเห็นเทรนด์ต่าง ๆ และนำเสนอบริการบนแพลตฟอร์มที่ปรับให้เหมาะสำหรับแต่ละบุคคล เราจึงทำให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมั่นใจและสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ แคมเปญนี้ไม่เพียงมอบประโยชน์ที่ยอดเยี่ยมให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างบทบาทของเราในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้อีกด้วย"

แคมเปญนี้มีผู้ให้บริการด้านการเดินทางและแบรนด์ที่พักชั้นนำเข้าร่วมมากมาย ได้แก่ สายการบิน Qatar Airways, เครือโรงแรม Millennium Hotels & Resorts, สวนสนุก Universal Studios Singapore และอีกมากมาย เพื่อช่วยกันมอบข้อเสนอพิเศษด้านการจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และแพ็กเกจกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยนำเสนอตัวเลือกมากมายตั้งแต่วันหยุดพักผ่อนกับครอบครัว ท่องเที่ยวต่างประเทศ ไปจนถึงการล่องเรือสำราญพร้อมที่พักแบบเต็มรูปแบบ ทำให้แคมเปญตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันได้

อาลี แอสเกอร์ เลห์รี (Ali Asger Lehry) รองประธานฝ่ายบริหารรายได้ประจำภูมิภาคเอเชียของ Millennium Hotels and Resorts กล่าวว่า "แคมเปญ 10.10 Travel Fest ทำให้เครือโรงแรมของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดหลัก ช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์อย่างมีนัยสำคัญ และเสริมสร้างความตระหนักในตลาดด้วยการนำเสนอที่น่าสนใจ การสนับสนุนจาก Traveloka ทำให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในขณะที่ยังคงสอดคล้องกับกลยุทธ์การจัดจำหน่ายของเรา เรารู้สึกพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้และตั้งตารอความร่วมมือในอนาคตเพื่อมอบประสบการณ์ชั้นยอดให้กับผู้เข้าพัก"

แนวโน้มการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเทศกาลวันหยุด ที่สามารถสังเกตได้จากแคมเปญ 10.10 Travel Fest ทั้งด้านรูปแบบ พฤติกรรม และความชอบ มีดังนี้

แคมเปญ 10.10 Travel Fest กระตุ้นการจองตั๋วล่วงหน้า โดยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 60% จองเที่ยวบินระหว่างประเทศล่วงหน้าก่อนการเดินมากกว่า 30 วัน แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่าหลายคนมีการวางแผนเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ด้วยส่วนลดพิเศษที่มีระยะเวลาจำกัด แคมเปญนี้จึงสร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวจองทริปล่วงหน้า เพื่อการพักผ่อนที่ราบรื่นและคุ้มค่า

แคมเปญ 10.10 Travel Fest เปิดเผยจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ในขณะที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หาดใหญ่ ภูเก็ต และอุบลราชธานีเป็นปลายทางในประเทศยอดฮิตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยทัศนียภาพอันงดงาม ประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และอาหารรสเลิศ แคมเปญนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันความนิยมของสถานที่เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงความต้องการสัมผัสประสบการณ์การเดินทางที่หลากหลาย ตั้งแต่ชีวิตเมืองที่คึกคักไปจนถึงรีสอร์ทริมชายหาดสุดเงียบสงบ

แคมเปญนี้ทำให้ยอดจองล่องเรือสำราญพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งบ่งบอกถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในประสบการณ์การเดินทางที่ไม่เหมือนใครและข้อเสนอแบบ All-Inclusive การล่องเรือสำราญกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับการฉลองปีใหม่ เพราะนักท่องเที่ยวได้เที่ยวหลายที่ในคราวเดียว พร้อมเพลิดเพลินไปกับความสะดวกสบายและการพักผ่อนบนเรือสำราญ

นักท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมองหาที่พักที่ให้ความรู้สึกสมจริง และมอบประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่แท้จริงมากขึ้น โดยพบว่ามีการจองโรงแรมเรียวกังแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจถึง 101% ในขณะที่พักบนเรือเพิ่มขึ้น 52% ทำให้ผู้เดินทางได้สัมผัสกับจุดหมายปลายทางในมุมมองใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังมีการจองโรงแรมริยาจที่ให้กลิ่นอายความเป็นโมร็อกโกแท้ ๆ เพิ่มขึ้นถึง 63% เทรนด์นี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการเดินทางกำลังเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมที่มีความหมายมากกว่าการเข้าพักในโรงแรมทั่วไป

‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ หนุนไอเดีย ‘ซื้อรถไฟฟ้า-ค่ารถติด’ แนะ ทำให้รอบคอบ-รอบด้าน ชี้ รบ.ทุกยุคเล็งเก็บค่ารถติด

(24 ต.ค. 67) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงแนวทางของรัฐบาลในการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า ว่า

ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน แต่
ขยายสัมปทานทางด่วน

รัฐจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ในขณะเดียวกันรัฐบอกว่าต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวว่าในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมจะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนผู้รับสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 เพื่อแลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่า 34,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐให้สัมปทานทางด่วนศรีรัชแก่เอกชนเป็นระยะเวลาดังนี้
(1) เริ่มต้นให้สัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
(2) ขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 
(3) กำลังจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 
(4) รวมระยะเวลาสัมปทานทั้งหมดถึง 68 ปี 1 เดือน !

หลังจากขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2568 รัฐจะเริ่มลดค่าผ่านทางเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าการลดค่าผ่านทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการขยายสัมปทานให้เอกชน แต่เป็นผลจากการที่รัฐยอมเฉือนรายได้ของตนเองลงมา ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ขยายสัมปทานให้เอกชนก็ตาม หากรัฐยอมลดส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทางลงก็จะสามารถทำให้ค่าผ่านทางถูกลงได้ 

ผมมีความเห็นว่า หากกระทรวงคมนาคมเชื่อว่า Double Deck จะช่วยแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริง กระทรวงคมนาคมก็ควรเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง Double Deck เอง ไม่ควรมอบให้เอกชนก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ต้องขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชนอีก รออีกเพียง 11 ปีเท่านั้น ทางด่วนศรีรัชก็จะกลับมาเป็นของรัฐ ถึงเวลานั้น รัฐก็จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายให้ต่ำลงได้

หากยังจำกันได้ การเตรียมขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชน เป็นเหตุให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา” จึงขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

แต่จนถึงวันนี้ ไม่มีข่าวว่า กทพ.ได้ชี้แจงข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.จนสิ้นสงสัยแล้วหรือยัง ? หรือขอเลื่อนการชี้แจงออกไปเรื่อยๆ ? ตามที่เคยมีข่าวว่า กทพ.มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ขอเลื่อนการชี้แจงออกไป 30 วัน ถึงวันนี้ก็เลย 30 วันแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า กทพ.ได้มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ขอเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การที่กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน ในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมมั่นใจได้อย่างไรว่า ก่อนถึงวันลงนามสัญญา กทพ.จะสามารถชี้แจงข้อกังขาให้ ป.ป.ช.ได้จนเป็นที่พอใจของ ป.ป.ช. ?

นอกจากนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ยังเคยแสดงความคิดเห็นถึงการจัดเก็บค่ารถติดในบริเวณกลางเมือง ว่า

เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ
หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

รัฐเผยแนวคิดที่จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน ทำให้สามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ได้ตลอดไป แนวคิดนี้มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ต้องพับเก็บไว้ เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางจำนวนมาก ครั้งนี้จะทำได้สำเร็จได้หรือไม่ ?

1. ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing)
การเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมรถติดนั้นมีบางเมืองในต่างประเทศที่ทำสำเร็จ แต่ก็มีบางเมืองที่ล้มเหลว ค่าธรรมเนียมรถติดยึดถือหลักการว่าคนขับรถทุกคนมีส่วนทำให้รถติดก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าถ้ารัฐให้บริการระบบขนส่งมวลชนและรถโดยสารสาธารณะได้ดีพอ ก็ไม่อยากใช้รถส่วนตัว จึงเกิดเป็นคำถามว่าเวลานี้ในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น ถนนสุขุมวิท และถนนสีลม เป็นต้น มีรถไฟฟ้า และ/หรือ รถเมล์ รถโดยสารสาธารณะอื่น ที่ดีและเพียงพอแล้วหรือยัง ?

2. กรุงเทพฯ พร้อมที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?
มีการศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ เนื่องจากแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ทำให้นักการเมืองไม่กล้านำมาใช้ เพราะจะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองลดน้อยลง มาถึงรัฐบาลนี้กลับมีความกล้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะว่าต้องการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีเป็นจริงและยั่งยืนตามที่ได้หาเสียงไว้ หากไม่ซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งต้องชดเชยเงินให้เอกชนผู้รับสัมปทานคงทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้าซื้อสัมปทานคืนได้ก็ไม่ต้องชดเชยเงินให้เอกชน เป็นผลให้รัฐต้องการซื้อสัมปทานคืนด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเป็นรายได้แหล่งหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานคืน แต่การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากแม้ในพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อลดผลกระทบต่อผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจ

3. การเตรียมความพร้อมในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ จะส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนั้น รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองต่อหลากหลายคำถาม เช่น
(1) นักเรียนที่มีผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่งที่โรงเรียน หากผู้ปกครองมีฐานะดีก็คงยินดีจ่ายค่าผ่านทาง คงไม่ยอมให้ลูกนั่งรถไฟฟ้า และ/หรือ รถโดยสารสาธารณะไปโรงเรียน แต่หากผู้ปกครองที่พยายามขวนขวายหารถส่วนตัวมาใช้ก็คงคิดหนักว่าจะจอดรถก่อนเข้าพื้นที่เป้าหมายดีหรือไม่ ? มีที่จอดรถมั้ย ? อัตราค่าจอดรถเท่าไหร่ ? จอดรถแล้วลูกจะเดินทางไปโรงเรียนอย่างไร ? มีรถไฟฟ้าหรือไม่ ? รถไฟฟ้าไปถึงโรงเรียนหรือไม่ ? ถ้าไม่ถึง มีรถโดยสารสาธารณะอื่นหรือไม่ ?
(2) ที่จอดรถนอกพื้นที่เป้าหมายมีเพียงพอหรือไม่ ? อัตราค่าจอดรถเท่าใด ?
(3) ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากมีรถไฟฟ้าแล้ว มีรถโดยสารสาธารณะอื่นเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าไปโรงเรียน หรือที่ทำงานหรือไม่ ?
(4) ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเข้า-ออกพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่ ?
(5) รถที่มีคนนั่งหลายคน เช่นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (รวมทั้งคนขับ) จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่ ?
(6) รถที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดมีรถประเภทใดบ้าง ?
(7) ช่วงเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ? หรือตลอดทั้งวัน ?
(อัตราค่าธรรมเนียมรถติดเท่าใด ? เท่ากันตลอดทั้งวัน ? หรือเปลี่ยนตามช่วงเวลา ?
(9) กรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยมาก จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รถใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้อย่างไร ?
(10) จะนำเทคโนโลยีใดมาใช้เก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?

4. สรุป
โดยสรุป หากรัฐเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้อย่างดี การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดคงทำให้รัฐได้เงินไม่น้อยที่จะเป็นรายได้แหล่งหนึ่งในการนำไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน แต่ถ้ารัฐไม่สามารถเตรียมความพร้อมทุกด้านได้ดีพอ การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดก็จะล้มเหลวอีกเช่นเคย

ตุ๊กกี้แฉ คนในวงการเสื้อผ้าวินเทจสุดทราม ขอมีอะไรกับเมียเพื่อน ท้องแก่กว่า 8 เดือน

(24 ต.ค. 67) ตุ๊กกี้ สุดารัตน์ บุตรพรม นักแสดงตลกชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นฉาวในวงการซื้อขายเสื้อผ้าวินเทจ ว่า

มันต้องเป็นคนเหี้ยระดับไหนถึงขอมีอะไรกับเมียเพื่อนตั้งท้องแปดเดือนวงการเสื้อวินเทจ มีมาเฟียด้วยเหรอวะ!

นอกจากนี้ยังตุ๊กกี้ สุดารัตน์ บุตรพรม ยังได้มีการแชร์โพสต์จากเพจ บ้าข่าวไปเรื่อย หลายโพสต์ เช่น 

2 ผัวเมีย ติดหนี้รุ่นพี่แสนกว่า นัดจ่าย 20 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่เกิดปัญหาเรื่องเงินกะทันหันเลยหาเงินมาจ่ายไม่ทัน 

รุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้องแล้วปล่อยลงข้างทาง ไล่ให้ไปหาเงินมาคืนให้ได้ รุ่นพี่จับเมียรุ่นน้องไว้บนรถขู่ขอมีอะไรด้วยทั้งที่ท้อง 8 เดือน 

‘อาจารย์ปานเทพ’ ออกโรงแจง พื้นที่ทะเลเป็นของไทย อย่าปล่อยให้กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน แย่งชิงผลประโยชน์

(24 ต.ค. 67) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

อย่าปล่อยให้คนปล้นชาติ ทำให้พื้นที่ทะเลไทย กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

18 พฤษภาคม 2516 มีพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย โดยยึดถือมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 โดยการลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ของไทย ออกมาแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูด และเกาะกง ตามบทบัญญัติแห่งกรุงเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 (รับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982)

ดังนั้นพื้นที่ทะเลอาณาเขต พื้นที่ทะเลต่อเนื่อง และพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ ฝั่งอ่าวไทยรวมพื้นที่ 202,676.20 ตารางกิโลเมตร หรือ 126,672,638 ไร่ รวมทั้งทรัพยากรทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าวจึงย่อมเป็นของราชอาณาจักรไทย ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษไทย รวมทั้งแลกด้วยแผ่นดินไทยจำนวนมหาศาลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ใช่เอาไปบิดเบือนพระบรมราชโองการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ให้กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ในเรื่องพลังงานอย่างไม่ถูกต้อง และไม่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและประชาชนชาวไทย

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
22 ตุลาคม 2567

‘หนุ่ม กรรชัย’ เทียบนาฬิกาหรู ‘บอสพอล’ ไม่ตรงรูปบนโซเชียล เหล่านักเล่นนาฬิกา ยัน!! เป็นเสียงเดียวกัน มันคือของปลอม

(23 ต.ค. 67) จากกรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำหมายค้นเข้าตรวจค้นและยึดอายัดทรัพย์สินของ นายวรัตน์พล วรัทน์วรกุล หรือ บอสพอล ที่ถูกนำมาซุกซ่อนในห้องเช่า ภายในซอยรามอินทรา 9 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม.

โดยเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดทรัพย์สินเป็นนาฬิกาหรู 19 เรือน หนึ่งในนั้นคือนาฬิกาหรู Richard Mille RM 53-01 และ Richard Mille RM 35-02 ซึ่งทั้ง 2 เรือนนี้ มีมูลค่ารวมกันกว่า 33 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีพระเครื่อง และสร้อยคอทองคำ รองเท้า รวมทั้งกระเป๋าแบรนด์เนมอีกหลายรายการ รวมมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ‘หนุ่ม กรรชัย’ กล่าวในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ เกี่ยวกับกรณี ดีเอสไอ เข้าทำการตรวจค้นแล้วเจอนาฬิกาหรูของบอสพอล โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ริชาร์ด มิลล์, โรเล็กซ์ , ปาเต๊ะ, โอเดอะมาร์ส ปิเกต์ หรือ AP, โอเมก้า และอีกมากมาย

คือนาฬิกาพวกนี้ ‘ดีเอสไอ’ ไปจับและโชว์ภาพออกมา เหล่านักเล่นนาฬิกาพูดเป็นเสียงเดียวเลยว่า ‘เก๊ยันกล่อง’ เขาบอกเลยว่าเก๊ยันกล่อง เขาพูดอันนี้เลย ก็คือน่าจะทุกเรือน กล่องพวกนี้ปาเต๊ะเขาไม่น่าจะมีนะ

หนุ่ม กรรชัย กล่าวต่อว่า อย่างเรือนที่ 2 ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า เป็น RM3502 เรือนที่เม็ดมะยมสีแดง ๆ จริงเรือนนี้คือ 01 แล้วก็น่าจะไม่แท้ด้วย ส่วนขวามือสุดคือ 5301 อันนี้ก็ไม่น่าจะแท้ด้วย คือคนที่เล่นนาฬิกาเขาจะรู้เลย รวมถึงเรือนอื่น ๆ ด้วย

แต่ทีนี้มันแปลกตรงไหนรู้ไหม อย่างเรือนข้างล่างก็คือ นาฬิกาเพอร์นอต อันนี้ก็น่าจะเก๊ จริง ๆ แล้วดีเอสไอต้องเอาเจ้าหน้าที่ของทางปาเต๊ะเอง ของทาง AP หรือจะเป็นโอเมก้า หรือริชาร์ด มิลล์ เอาเข้ามาตรวจสอบด้วย

ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะเป็นประเด็นเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เมื่อก่อนก็มีข่าวศุลกากรไปจับมาเหมือนกัน เสร็จแล้วปล่อยออกจำหน่ายเป็นนาฬิกาเก๊ อันนี้มีประเด็น

นอกจากนี้ หนุ่ม กรรชัย ยังยกตัวอย่างโดยมีการยกภาพของบอสพอลที่ใส่นาฬิกาก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกด้วย ซึ่งไม่พบอยู่ในกล่องที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจยึดไว้ได้

‘อัจฉริยะ - ทนายตั้ม’ จับมือคืนดี!! จบแค้น 7 ปี พร้อมให้สัญญา!! จะไม่หักหลัง ไม่ทำร้ายกันอีก

(23 ต.ค. 67) กลายเป็นคู่กรณีกันมายาวยาว ระหว่าง ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด และนายอัจฉริยะเรืองรัตนพงษ์ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมซึ่งมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกันกลายคดีด้วยกัน

ล่าสุด ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด และ นายอัจฉริยะ ได้หันมาจับมือคืนดีกัน โดยทนายตั้ม ได้โพสต์ว่า 

“วันนี้พี่อัจฉริยะ เข้ามาขอโทษผมที่บริษัท พูดตามตรงผมก็ระแวงนะ คนเคยรักกัน มาทำกันขนาดนั้นพูดตามตรงมันก็ผูกใจเจ็บ แต่พี่เขารับปากต่อหน้าสาธารณชน ว่าจะไม่หักหลังไม่ทำร้ายกันอีก และจะใช้เวลาจากนี้ในการต่างคนต่างช่วยเหลือสังคมกันต่อไปในอนาคต ผมเลยไม่ติดใจอะไรกับแกอีกครับ”

ด้าน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า วันนี้ตนเดินทางมาที่สำนักงานทนายตั้ม เพื่อจะบอกกับทนายตั้มว่า วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องเลิกทะเลาะกัน เพราะทั้งสองฝ่ายไม่มีคดีต่อกันแล้วเนื่องจากในปัจจุบันมีคดีต่างที่ทำร้ายพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงอยากมาบอกให้เราเลิกทะเลาะกัน

แล้วเดินหน้าต่อสู้และทำงานเพื่อประชาชนดีกว่า อยากมาชวนทนายตั้มช่วยกันทำงานทางด้านสังคมร่วมกัน ซึ่งยกตัวอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร และคุณเนวิน ชิดชอบ มีเรื่องไม่ถูกใจกัน สุดท้ายก็กลับมาดีกันได้

ตนจึงมองว่าตนกับทนายตั้ม ทะเลาะกันมาร่วม 7 ปี แล้ว วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเลิกแล้วต่อกัน แล้วมาช่วยกันทำงาน ต่างคนต่างทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนต่อไป เดินหน้าตรวจสอบตำรวจใหญ่ต่างๆ เรื่องดิไอคอน ในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ ในเรื่องของเทวดาต่างๆ ให้รอฟังในรายการโหนกระแส นักร้องชุดดังกล่าวตนรู้จักไม่น้อยกว่า 10 ปี ตนรู้ดีทุกอย่างไม่ว่าเขาทำอะไรมาบ้าง

‘พีระพันธุ์’ นำทีมรวมไทยสร้างชาติ ต้อนรับ ‘โปลิตบูโรจีน’ ย้ำ!! พร้อมเดินหน้า ความร่วมมือ ‘เศรษฐกิจ - การเมือง’

(23 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และคณะ ได้ให้การต้อนรับกับคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือโปลิตบูโร และคณะ ซึ่งนำโดยท่านเฉิน กัง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลชิงไห่ ท่านทูตหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในวาระที่ทั้งสองประเทศนั้น จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี 

นายพีระพันธุ์นั้น ได้กล่าวชื่นชม ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน โดยได้ยกย่องว่าเป็นผู้นำระดับโลกที่นานาชาติให้การยอมรับว่าทำให้ประเทศจีน พัฒนาอย่างรวดเร็วนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและก็ยังกล่าวขอบคุณ ท่านผู้นำจีน ที่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย ในการให้ความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทั้งการส่งเสริม ทางด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการต่อยอดพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ 

ซึ่งทาง นายเฉิน กัง ก็ได้กล่าวยินดีในความร่วมมือของทั้งสองประเทศและจะได้มีการพัฒนาความร่วมมือในหลายมิติต่อไป โดยเล็งเห็นว่าการที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ามาบริหารงานที่กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม นั้นถือเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่จะต่อยอดกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน สร้างความรุ่งเรืองให้กับเศรษฐกิจของทั้งไทยและจีน นอกจากนี้ในอนาคตจะได้พัฒนาความร่วมมือด้านการเมืองร่วมกันโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างพรรคการเมืองซึ่งกันและกันอีกด้วยเพราะพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นก็ต้องการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติเพื่อพี่น้องประชาชนโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารประเทศดังนั้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ของทั้ง2ฝ่ายจะนำไปสู่ประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ก็ยังได้กล่าวเชิญ นายพีระพันธุ์ ทั้งในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย และในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มณฑล ชิงไห่ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top