Thursday, 3 July 2025
Hard News Team

ถอดรหัส ‘พรรคกล้า’ ต้นแบบ ‘กล้าทำ’ เรื่องที่ควรทำ ในห้วงเวลาที่คนไทยโหยหาคนช่วย ส่วนใครจะไม่จำ ไม่รู้!!

ในระหว่างที่โลกการเมืองภายในประเทศตอนนี้ ยังคงมีวาทกรรมให้โต้ตอบจากการขุดประเด็นอะไรก็ไม่รู้มาพ่นน้ำลายในแต่ละวัน คู่ขนานไปกับการทำงานของคนการเมืองที่ต้องมีส่วนเอี่ยว แบบเดินไป สะดุดไป

พลันหลงให้ต้องเหลือบไปมองดูพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อพักสายตา ซึ่งช่วงนี้ชื่อ ‘พรรคกล้า’ ก็ลอดเล็ดเข้ามาเป็นระยะ ๆ เพราะดันอดสงสัยไม่ได้ว่า แคมเปญสารพัดที่พรรคนี้งัดออกมาในช่วงประชาชนโหยหาความรักความเมตตาอยู่เนี่ย มันควรเป็นหน้าที่ของใคร?

จริง ๆ แล้ว พรรคกล้า เป็นพรรคหนึ่งที่เชื่อว่าคนไทยบางส่วน คงมีแอบตามติดอยู่เบา ๆ แต่ก็ไม่ใช่เพราะหัวหน้าพรรคชื่อดัง ไม่ใช่ว่าเพราะเบื่อลุง หรือเซ็ง 3 นิ้วใด ๆ

แต่แค่รู้สึกว่า ในหัวชาวบ้านทั่ว ๆ ไป อยากได้ความช่วยเหลืออะไร พรรคนี้ก็ดันทะลึ่งมีไอเดียคลอดออกมาซัพพอร์ตในวันที่ภาคส่วนซึ่งเกี่ยวข้องยังงง ๆ หรือมึนกับบทบาทตัวเองอยู่เลย (แต่บางคนทำงานดี ๆ ก็มีเยอะนะ)

เพราะตั้งแต่เกิดการระบาดระลอก 3 มานี้ ‘พรรคกล้า’ มีเส้นทางในการทำงานการเมืองนอกสภา ที่ดู OK ไม่น้อย

แถมสิ่งที่เห็นชัด คือ ไม่ใช่แค่การคิด หรือ คุย หรือ วาทกรรมไปเรื่อย แต่คนในพรรคดูจะ ‘เน้นลงมือทำ’ เลยเฮ้ย!! (อันนี้อยากให้นักการเมืองไทยมองเป็นแบบอย่าง)

อย่างเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ พรรคกล้ามีการตั้งทีมช่วยประสานหาเตียงผู้ป่วย มีการตั้งโครงการ ‘กล้าเติมอิ่ม’ ดูแลคนที่จะเดือดร้อน มีการพาทีมไปบริจาคเลือดให้กับสภากาชาด มีการช่วยรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนโดยการทำแคมเปญเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ‘กล้า ฉีดวัคซีน’ ทุกกิจกรรมมันแอบกระแทกใจคน แม้จะเฉย ๆ กับพรรคนี้

เท่าที่จำได้ บรรดาคนในพรรคนี้ตั้งแต่ หัวหน้า / เลขาธิการพรรค ยันลูกพรรคแต่ละเขต ระดมแรงลงไปไล่เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ น่าจะตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 เมษายน 2564 ที่โควิดระลอก 3 เริ่มหนัก

ขอไล่เรียงเท่าที่พอรู้ พรรคนี้เริ่มโครงการ ‘กล้าสู้โควิด’ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิดและมีปัญหาเรื่องประสานหาเตียง มีอาสาสมัคร ประมาณ 10 ท่าน ช่วยในการโทรประสานเตียง ให้กำลังใจและคำแนะนำ โดยสามารถช่วยไปได้หลายร้อยราย

‘กล้าเติมอิ่ม’ เป็นโครงการที่หัวหน้าพรรคเขาริเริ่ม โดยการนำข้าวอิ่ม เกษตรอินทรีย์ ที่ปลูกโดยชาวบ้าน จังหวัด มหาสารคาม มาร่วมกับเชฟหลายท่าน ทำข้าวกล่อง ‘กล้าเติมอิ่ม’ นำแจกตามชุมชนทั่วกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงนำข้าวสาร อาหารแห้งไปบริจาคเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้มีการตั้งครัวอาสาทำข้าวกล่องทั่วกรุงเทพหลายจุดมอบให้ประชาชนหลายหมื่นกล่อง

‘กล้าบริจาคเลือด’ ตามที่ สภากาชาดไทยได้แจ้งว่ามีการขาดเลือดจำนวนมาก คนของพรรคกล้าก็โร่ไปบริจาคเลือดกันหลายสิบชีวิต นำโดยคุณเอ๋-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดีที่เป็นเลขาธิการพรรค

‘กล้าฉีดวัคซีน’ แคมเปญรณรงค์ล่าสุดของพรรคกระตุ้นให้คนไทยออกมาฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจโดยเป็นการทำแคมเปญเปลี่ยน รูปโพรไฟล์ในช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย ‘กล้าฉีดวัคซีน พร้อมมากพูดเลย’ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากโลกโซเชี่ยลเป็นอย่างมาก

ล่าสุดก็ ‘กล้าหางาน’ ที่ช่วยประชาชนหางาน และช่วยผู้ประกอบการหาคน เป็นการช่วยสู้วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 เพราะมองว่าแค่รับเงินแจกคงไม่พอแดก ซึ่งพรรคกล้าก็ได้เปิดเพจ-ทำงานเชิงรุกพื้นที่ บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หวังช่วยคนไทยนับล้านมีงานทำ

แน่นอนว่าสิ่งที่พรรคนี้กำลังทำ อาจจะไม่ใช่กิจกรรมที่ช่วยคนได้ทั้งประเทศหรอก แต่ถ้านักการเมืองที่เกี่ยวข้องในกระบวนการด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งมีอำนาจล้นพ้นได้ทำ ประโยชน์จะเกิดกับคนไทยได้มากแค่ไหน และควรเป็นบทบาทของใคร? อันนี้ไม่พูด

อย่างไรเสีย คนช่างอคติแบบเรา ก็มองกิจกรรมที่พรรคนี้ได้ทำ เป็นเหมือนกับการหาเสียง หาฐานประชาชนทั่วไปให้รักให้หลง ตามกระบวนการทางการเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่มันเป็นความปกติที่ส่วนตัวแล้วอยากให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แบบ New Normal (ทันสมัยซะด้วย) เพราะสาระสำคัญของสิ่งที่ทำ มันแลดูเป็น ‘การเมืองเชิงสร้างสรรค์’ ที่เหมือนจะห่างหายจากสังคมไทยไปช้านาน

แต่คิดไปคิดมา เอาจริง ๆ พรรคกล้านี่ ถ้าไม่นับหัวหน้าพรรคนี่ คนอื่น ๆ ในพรรค ก็อาจจะไม่ได้มีใครคุ้นตาประชาชนเลย คนในพรรคส่วนใหญ่นี่เรียกว่าใหม่หมดจดในวงการเมืองแทบจะยกแผง ตั้งแต่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. / ส.ส. ทำไปจะได้ใจ จะมีใครจดจำ หรือได้เสียงในวันข้างหน้าแค่ไหนก็บอกยาก

ทว่าการเมืองแบบนี้ เป็นการเมืองภาคประชาชนของโลกยุคใหม่ ยุคที่คนไทยอยากเห็นการเมืองสร้างสรรค์ ต่อให้ต้องพ่ายแพ้หลังวันคืนหมาหอน แต่ก็น่าจะเป็นประกายเล็ก ๆ ให้คนในประเทศยังรู้สึกมีความหวังกับคนที่อยากมานักการเมืองไทย

ถึงกระนั้น!! อนาคตก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก​ แต่ถ้าสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้กับอนาคตที่จะมาถึง ยังคงสม่ำเสมอได้...

ตราตรึงจิตคนไทยไม่ยาก!!


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ไต้หวัน ประกาศชะลอให้แรงงานเดินทางไปทำงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ได้รับการประสานจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลไต้หวันโดยศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวัน ได้ประกาศการชะลอการเดินทางเข้าไต้หวันชั่วคราวสำหรับแรงงานต่างชาติทุกชาติ ชาวต่างชาติที่ไม่มีบัตรสำหรับการพำนักอยู่ในไต้หวัน (Alien Resident Card : ARC) และชาวต่างชาติที่ต่อเครื่องบินที่ไต้หวัน ยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวกับหลักมนุษยธรรม เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เป็นเวลา 1 เดือน ทำให้กระทรวงแรงงานต้องชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน จนกว่าทางการไต้หวันจะประกาศให้แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไปทำงานได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไต้หวันได้ยกระดับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั่วเกาะเป็นระดับ 3 เพื่อให้การป้องกันโรคเป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว 

“รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไต้หวันล่าสุด (วันที่ 20 พฤษภาคม 2564) พบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสม 2,828 ราย ผู้รักษาหาย 1,133 ราย และผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งได้รับการยืนยันจากสำนักงานแรงงานไทย ในไต้หวันแล้วว่า ไม่มีแรงงานไทยและบุคลากรเสียชีวิตหรืออยู่ในรายชื่อผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ยังคงห่วงใยและกำชับกระทรวงแรงงานให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมให้การดูแลแรงงานไทย โดยที่ผ่านมาสำนักงานแรงงานไทยฯ มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารภาครัฐ และวิธีป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 ให้แรงงานไทยทราบผ่านแอปพลิเคชันไลน์ Facebook และเว็บไซต์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากแรงงานไทยให้ดูแลสุขภาพของตัวเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือ และให้ความร่วมมือกับนายจ้าง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่นายจ้างและหน่วยงานรัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อที่ศูนย์บริการสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 หรือใช้บริการกลุ่มไลน์ 1955 E-Line (TH) ของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลและมาตรการต่างๆ ในภาษาไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจะดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานเป็นอันดับแรก ทั้งนี้แรงงานไทยที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จะต้องขออนุญาตเดินทางและไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับการคุ้มครอง และการดูแลตามสิทธิที่พึงมี ในกรณีที่แรงงานเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ หากประสบอันตราย หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ จะได้รับการเยียวยาและสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ด้วย

“ปัจจุบันคนไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวันสูงสุด เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นประเทศอิสราเอล ญี่ปุ่น ลาว และสาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวัน จำนวน 9,107 คน และ Re-entry จำนวน 3 คน รวม 9,110 คน และสำหรับผู้ที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” นายไพโรจน์ฯ กล่าว

กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

พล.ต. ธนาธิป  สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยในขณะนี้ และโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก และพบผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น วัคซีนจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดและหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

กอ.รมน. โดย พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ศรมน.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์การให้บริการวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมในการฉีดวัคซีนมากที่สุด โดยใช้ช่องทาง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขร่วมรณรงค์แนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาด รวมทั้งประชาสัมพันธ์เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการให้บริการวัคซีน อีกทั้งการเตรียมความพร้อมจุดให้บริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาลผ่านช่องทางการลงทะเบียนและการรับบริการฉีดวัคซีนตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ และให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนที่รัฐบาล ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป

สำหรับช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จองผ่าน "หมอพร้อม" (Line OA และ Application) กลุ่มที่ 2 เป็นวิธีเสริมจากระบบหมอพร้อม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด ในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ โดยให้ลงทะเบียนผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. หรือผ่านองค์กร หรือ การลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On Site Registration) กลุ่มที่ 3 การจัดสรรวัคซีนกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ กลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

สำหรับการจองผ่าน “หมอพร้อม” ขณะนี้ยังเปิดให้จองได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม โรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ส่วนประชาชนทั่วไปให้เริ่มจองได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 64 การปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีความจำเป็นที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อหยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยวัคซีนจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อ อาการป่วยหนัก และการสูญเสียชีวิตลดลง

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมาตรการส่วนบุคคล (D-M-H-T-T-A) ได้แก่ การเว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อย ๆ, ตรวจวัดอุณหภูมิ, สังเกตอาการ และ สแกนหมอชนะ เน้นย้ำการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีการอยู่ร่วมกัน ลดกิจกรรมการชุมนุมสังสรรค์ ทุกประเภท และขอความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้ใช้มาตรการการทำงานที่บ้าน (Work from home) ต่อไป จนกว่าการแพร่ระบาดจะลดลง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการบริหารของทางรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ เพื่อรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง วู้ดดี้เวิลด์ เปิดตัวโครงการอบรมออนไลน์ “Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2” สร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ลงทะเบียนเรียนได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันเกษตรอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพผ่านการพัฒนาองค์ความรู้แบบครบวงจรในกลุ่มธุรกิจเกษตร เพื่อสร้างนักธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้สานต่อ “โครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2” โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท วู้ดดี้เวิลด์ จำกัด จัดกิจกรรมบนออนไลน์ในรูปแบบการ Facebook Live ผ่าน Face page Agro Beyond Academy

โดยเน้นการให้ความรู้ด้านธุรกิจเกษตรผ่านการพูดคุยกันภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจเกษตรยุคใหม่ สร้างรายได้พร้อมความสุขอย่างยั่งยืน" โดยมีพิธีกรชื่อดังเมืองไทย วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา และเหล่าคนดังผู้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ มาร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ อาทิ ดร.ภูษิต หล่อสายชล, ดร.ภก.แสงสุข พิทยานุกุล, จิโร่ จิรวัฒน์

โครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2 ประกอบด้วยหลักสูตรการอบรมออนไลน์ ทั้งหมด 30 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 7 วัน ผ่านแอปพลิเคชันระบบซูม (Zoom) แบ่งออกเป็น 3 วิชาหลัก ได้แก่ หลักสูตรทางด้านการบริหารจัดการ หลักสูตรด้านการตลาด และหลักสูตรทางด้านการบัญชีและการเงิน พร้อมกิจกรรมพิเศษเพื่อต่อยอดและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้กับผู้เข้าอบรม อีกทั้งเหล่าวิทยากร กูรูนักธุรกิจคนดังผู้มากประสบการณ์ จากแวดวงธุรกิจด้านเกษตรกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมมาเข้าร่วมบรรยายให้ความรู้อีกมากมาย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 คน

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา ดีพร้อมได้ดำเนิน โครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 1 ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 3,000 คน และจากการประเมินผลติดตามหลังจบโครงการ พบว่าผู้ประกอบการและนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการต่างให้การยอมรับถึงศักยภาพและหลักสูตรการเรียน โดยนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ได้จริงในธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงนำไปวางแผนในการขยายธุรกิจและการตั้งธุรกิจเกษตรใหม่ อีกทั้งสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จำนวน 2,635 คน คิดเป็นร้อยละ 87.83 ของผู้เรียน และสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในไทยได้กว่า 70 ล้านบาท ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเจ้าของธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูปทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2 สามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดรับสมัครแล้ววันนี้-22 พ.ค. 2564 สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.agrobeyond.com หรือ Face page Agro Beyond Academy หรือ โทร.065 509 9080


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

คณะที่ปรึกษาสธ.ศบค. แนะ กทม.กรุงเทพฯ เร่ง ตีวงต่างด้าวผิดกม. จัดสถานที่อยู่-ขยายขึ้นทะเบียน หวั่น มีพฤติกรรมเสี่ยงทำคุมระบาดยาก ด้านกทม.ขอกำลังเสริม ทีมสอบสวนโรค-ฉีดวัคซีน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นพ.อุดม คชินทร นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ได้ประชุมหารือถึงการออกมาตรการเฉพาะในบางเรื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อ 1,001 ราย พบจากการเฝ้าระวังในโรงพยาบาล คนไทย 541 รายต่างด้าว 167 ราย จากการค้นหาเชิงรุก คนไทย 132 ราย ต่างด้าว 161 ราย 

โดยที่ประชุมโฟกัสจุดระบาด ที่ดอนเมือง แคมป์ก่อสร้างหลักสี่แฟลตดินแดง ตลาดห้วยขวางที่พักคนงานก่อสร้างคลองเตยตลาดพลอยบางรัก จะอยู่ในจุดเฝ้าระวังสูงสุด 36 คลัสเตอร์ กระจาย 25 เขต แบ่งเป็นกลุ่มระวังสูงสุด14 คือ ดินแดง ราชเทวี หลักสี่ ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก สาทร พระนคร ประเวศ บางกอกน้อย ห้วยขวาง บางเขน บางคอแหลม เช่น ชุมชนแคมป์ก่อสร้าง ตลาดชุมชน สถานประกอบการที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ เฝ้าระวังสูง วัฒนา สวนหลวง จตุจักร ราชเทวี ดอนเมือง บางกะปิ และพบใหม่ที่บางพลัดแคมป์ก่อสร้าง สำหรับเขตที่ดูแลดีและควบคุมการระบาดได้มี 8 เขต คือ ทวีวัฒนา ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย สาทร สัมพันธวงศ์  ลาดพร้าว สวนหลวง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากรายงานของกรุงเทพฯ พบแคมป์ก่อสร้างทั้งหมด 409 แห่ง มีคนงานรวม 62,169 คน คนไทยกว่า 2 หมื่น เป็นคนต่างชาติกว่า 36,000 คน ซึ่งแคมป์คนงานก่อสร้างมีความสำคัญสูง ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และทางกรุงเทพฯ ไดเมอนิเตอร์ติดตามผ่านสำนักงานเขตทุกเขต ดังนั้นผู้อำนวยการเขตทั้งหลาย ฝ่ายปกคลอง ต้องทำงานอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวังร่วมกับคนในพื้นที่และท้องถิ่น เฝ้าระวังและช่วยกันดูแลคนในเขต เพราะจากการตรวจเชิงรุกพบติดเชื้อวันละ300-400 คนมี คนต้องการเตียงวันละไม่ต่ำกว่า 500 คน

โดยกรมควบคุมโรควิเคราะห์ปัจจัยระบาดในกรุงเทพฯ ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ เรื่องสุขาภิบาลของตลาด ความแออัดของการใช้ห้องน้ำร่วมกันของแคมป์คนงานเป็นต้น ดังนั้นมาตรการที่จะต้องดำเนินการในการเฝ้าระวังในกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุดและเฝ้าระวัง ในส่วนมาตรการของตลาด คือ ปรับการระบายอากาศให้เพียงพอ เหมาะสม จัดให้มีการควบคุมเข้าออกและมีมาตรการคัดกรอง หากใครมีอาการป่วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ จึงเสนอเรื่องของต่างด้าวโดยประมาณการว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีคนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายประมาณ 1,318,641 คน ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายประมาณการทั้งประเทศเป็นหลักล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ยากต่อการควบคุมโรค คือ

1.) จะเป็นผู้ที่ไม่อยู่นิ่งและมีการหลบหนีเคลื่อนย้ายตัวเองบ่อยเพราะไม่ถูกกฎหมาย

2.) มีพฤติกรรมไปอยู่กับคนที่ถูกกฎหมายไปเกาะกลุ่มรวมกันทำงานและย้ายจุด

3.) และมีที่พักแออัด นอนพักอาศัย กินดื่ม รวมกัน ทางคณะที่ปรึกษาฯ จึงเสนอให้มีศูนย์คัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว โดยให้แยกออกมาโรงพยาบาลสนาม ยกตัวอย่างจังหวัดปทุมธานี ที่ใช้ตลาดเก่าไม่ได้ใช้ มาปูเสื่อน้ำมันให้อากาศถ่ายเท ให้คนต่างชาติมาอยู่รวมกันตรงนั้น โดยมีรั้วรอบขอบชิด ซึ่งกรุงเทพฯ จะต้องรีบทำเพราะวันนี้จำนวนที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาวันละกว่า 300 คนจะต้องแยกออกมาชุมชนให้ได้ และให้มีมาตรการนิรโทษกรรม รองรับขยายการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมายเข้าสู่ระบบจ้างงานถูกต้อง

ทั้งนี้กรุงเทพฯ ขอความร่วมมือ โดยต้องการทีมสอบสวนโรคเพิ่มขึ้นตามข้อแนะนำของคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วยพยาบาลนักวิชาการสาธารณสุข ทีมละ 4 คน ลงไปสอบสวนโรคเกือบทุกเขต และทีมฉีดวัคซีน มีแพทย์พยาบาลอาสาสมัคร ทำงานทั่วไป ให้ติดต่อที่ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้ที่เบอร์ 064 805 2620

แบงก์ออมสิน แจ้งปิดรับการยื่นกู้สินเชื่อฉุกเฉิน ผ่าน MyMo ชั่วคราว หลังประชาชนแห่ยื่นกู้จนระบบล่ม เผย 5 วันที่ผ่านมา อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 2.5 แสนราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารฯ ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอกู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 บนแอปพลิเคชัน MyMo มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เข้ามากดรับสิทธิ์ขอกู้ ทำให้ธนาคารฯ ต้องแจ้งปิดการให้บริการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ผ่านแอป MyMo ชั่วคราว เพื่อดำเนินการอนุมัติคำขอสินเชื่อที่คงค้างอยู่กว่าแสนรายการโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถเปิดระบบให้เข้ากดรับสิทธิ์ได้อีกครั้งประมาณต้นสัปดาห์หน้า

สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว และยังไม่ได้ดำเนินการทำสัญญาผ่าน MyMo (Digital Contract) ธนาคารฯ จะขยายระยะเวลาการกดทำสัญญาผ่าน MyMo ออกไปให้จนกว่าจะเปิดระบบอีกครั้ง

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 กำหนดวงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท รองรับการให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้มากกว่า 1 ล้านราย ปัจจุบันหลังเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อผ่านแอป MyMo 5 วันทำการที่ผ่านมา ธนาคารฯ อนุมัติสินเชื่อให้ประชาชนแล้วจำนวนกว่า 250,000 ราย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

"ประยุทธ์" หารือเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ พร้อมร่วมมือเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในนามของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอย่างยาวนานในทุกมิติ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีฝากความปรารถนาดีไปยังนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และภรรยา ซึ่งได้พบหารือร่วมกันหลายครั้ง ตลอดจนยืนยันพร้อมยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างรอบด้าน

ด้านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้สละเวลาให้เข้าพบหารือในวันนี้ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีมาอย่างยาวนาน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสัมพันธ์มีพลวัตมากขึ้น ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ เห็นพ้องกับการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกัน โดยไทยประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับฝรั่งเศสด้านวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนเร็วขึ้น เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทั้งสองได้หารือในประเด็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันในหลายด้าน โดยในด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสที่ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยมาโดยตลอด โดยขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนฝรั่งเศสในไทยเป็นอย่างดีเช่นกัน และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเช่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยินดีให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน 

สำหรับประเด็นความร่วมมือพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือโดยยึดถือตามหลักสากลของโลก โดยไทยพร้อมยกระดับทางการค้า ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับไทยและยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และพร้อมผลักดันให้ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในอาเซียน

จุรินทร์ เผย ครม. มอบ ศบค.เร่งฉีดวัคซีน 3 กลุ่มเสี่ยง “ซาเล้ง-โรงงานตลาดสด” ตามเสนอแล้ว พร้อม ยัน! ราคาพืชผลเกษตร "ดีเกือบทุกตัว" ส่งออกผลไม้ไทย "ยิ่งไปโลด" 

วันพฤหัสบดี ที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอให้ฉีดวัคซีนกลุ่มโรงงาน ซาเล้ง และตลาดสด ว่า ตนได้เสนอเข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขอให้ศบค. ดำเนินการแล้ว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง และจำเป็นต้องสัมผัสคนตลอดเวลา นอกจากนั้นโรงงานก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการส่งออก นอกจากคุณภาพของอาหารที่ปลอดโควิดแล้ว คนงานก็จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับแล้วว่าจะให้ ศบค. รับไปดำเนินการต่อไป 

“ทั้งซาเล้ง คนจนตัวจริง และแม่ค้า พ่อค้าทั้งหลายในตลาดนัด ตลาดสด ควรได้จัดลำดับความสำคัญให้เพราะพวกเขาต้องสัมผัสคนตลอด และคนซื้อจะได้ปลอดภัยด้วย โรงงานก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการส่งออกที่เป็นพระเอกอยู่ และในการส่งออกลึกลงไปคืออาหาร เพราะฉะนั้นอาหาร ที่ไทยทำตัวเลขได้ดีอยู่ขณะนี้เพราะนอกจากคุณภาพโดยตัวของมันเองแล้วปลอดโควิด เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนให้กับคนงานก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้เสนอเรื่องนี้ใน ครม.แล้ว และได้รับการตอบรับแล้วว่าจะให้ ศบค. รับไปดำเนินการ ก็ขอให้รอฟังผลจาก ศบค.ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรว่า ราคาดีเกือบทุกตัว ราคายางพาราโดยเฉลี่ย 60 กว่าบาท และยืนระยะอยู่หลายเดือน โดย ปาล์ม ราคา 5-6 บาท ถือว่าราคาสูงกว่าที่ตนจะเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งขณะนั้น กก.ละ 2 บาทกว่าเท่านั้นเอง ข้าวโพดก็ยังถือว่าราคาดีแตะที่ 8 บาทกว่า บางช่วง 9 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2 บาทกว่า และข้าวก็ถือราคาดี

"เพราะฉะนั้นเชื่อว่าปีนี้ตัวเลขก็น่าจะมากกว่านี้ ยกเว้นว่าเราไม่มีของ แต่ตลาดเรามี และผลไม้ไทยก็ไปได้ดีในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เตรียมการตั้งแต่ต้น มีมาตรการเชิงรุก ตั้งแต่ผลไม้ยังไม่ออกสู่ตลาด โดยไม่ต้องตามแก้ปัญหา แต่ได้แก้ปัญหาเชิงรุกไปตั้งแต่เริ่มต้น " นายจุรินทร์ กล่าว 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ด้วยมาตรการทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้การส่งออกไปได้ดี หากติดปัญหาที่ด่าน อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว (เมษายน) ก่อนวันแรงงานเกิดปัญหาที่ด่านโหย่วอี้กวน ก็ได้ลงไปแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แทนที่จะติดอยู่ 2-3 อาทิตย์ ก็ทำให้คลี่คลายไปได้ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

“บิ๊กตู่” ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น มั่นใจมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และแผนกระจายวัคซีน “ยัน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้ารองรับการลงทุนจากต่างชาติ “โว” มีสัญญาณบวกในบางสาขา ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และการอุปโภคบริโภค

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเค ระหว่างการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ถึงประเด็นการบริหารสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ว่า ขณะนี้ไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง รวมทั้งการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และได้ดำเนินการทั้งเชิงป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติในไทยด้วย และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ในเดือนมิถุนายนได้ตามแผน เชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญานบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ได้แก่

1.) มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ

2.) มาตรการทางการเงินและทางภาษี  

3.) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 2.3-2.5 ส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7 ในปีหน้าทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสามารถร่วมมือกันในลักษณะ win-win

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านแผนและมาตรการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็น “Connecting point” ของภูมิภาค จึงมีศักยภาพสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน โดยได้ผลักดันเขตพัฒนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อนว่า  รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเป้าหมายขั้นต่ำในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ร้อยละ 20 และขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ.2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส รวมทั้งได้บูรณาการประเด็นดังกล่าวในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทูตมองโกเลีย เข้าพบ "จุรินทร์" ตั้งเป้าการค้า 3,000 ล้าน ดันส่งออก "ข้าว ยาง อาหาร" เพิ่ม พร้อม "จับมือ" หาเส้นทางขนสินค้าทางบก ลดต้นทุน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับนายทูมูร์ อามาร์ซานา H.E. Mr. Tumar Amarsanaa เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมงภายหลังการหารือ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลียหลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมา 47 ปี โดยประเทศมองโกเลียมีประชากร 3,300,000 คน มีจีดีพีประมาณ 440,000 ล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 6 ของไทยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลียปี 2563 ประมาณ 1,140 ล้านบาท ประโยชน์ที่จะได้รับคือมองโกเลียสามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้ เพราะมีศักยภาพในเรื่องของการส่งออกสินแร่ หนังสัตว์ เป็นต้น และประเทศไทยสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ 

"จากการหารือมองโกเลียต้องการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันและส่งออกเนื้อสัตว์ และนมมาประเทศไทย ตลาดใหญ่มองโกเลียคือ จีนและรัสเซีย โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ผ่านกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทยและดำเนินการขั้นตอนให้ครบถ้วน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุนและท่านทูตขอให้ช่วยสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลกและสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อนและมีความเห็นเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปมองโกเลีย เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะห่างไกลและเน้นการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ควรเพิ่มเส้นทางทางบกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและมองโกเลียสนใจที่จะต้อนรับการลงทุนทางด้านสุขภาพจากนักลงทุนชาวไทยเพราะมีโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไปลงทุนในมองโกเลีย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่หารือ

1.) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

2.) เชิญให้ท่านทูตประสานผู้นำเข้าจากมองโกเลียเข้าร่วมงาน THAIFAX ที่กระทรวงพาณิชย์จัดในเดือนกันยายน 2564 ประสานให้เอกชนหรือผู้นำเข้าของมองโกเลียเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจ สนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกระดาษด้วย และประเด็นถัดมา เมื่อการเดินทางสามารถทำได้ให้ประสานให้นักท่องเที่ยวจากมองโกเลียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และได้ข้อสรุปร่วมกันคือ

1.) จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปีที่แล้ว 1,140 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2566

2.) มีคณะทำงานร่วมเจรจาระหว่างไทยกับมองโกเลีย เสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพร่วมเจรจากับมองโกเลีย 

3.) จะร่วมมือกันเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันและเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว 4.จะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการขนส่ง
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top