Thursday, 3 July 2025
Hard News Team

เกษตรกร เฮ! จุรินทร์ ชง ครม.อนุมัติ ! จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาแล้ว 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เพื่อช่วยเกษตรกรชาวนานั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแก้ไขนำเรื่อง ขออนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอังคาร 18 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา 

" ล่าสุด ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ จำนวน 82 แปลง เนื้อที่ 422 กว่าไร่ ในอัตราไร่ละ 125,000 บาท เป็นเงิน 52,785,937 บาท และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิจำนวน 22 แปลง เนื้อที่ 206-2-02 ไร่ ในอัตราไร่ละ 45,000 บาทเป็นเงิน 9,292,725 บาท ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ " นางมัลลิกา กล่าว 

นางมัลลิกา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นโครงการที่ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาจังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสิ้น 104 แปลง เนื้อที่ 628 กว่าไร่ เป็นเงิน 62,078,662 บาท 

"เป็นเรื่องที่พิจารณากันมายาวนานจนสำเร็จในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมอบรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์เป็นผู้รับผิดชอบ และล่าสุดเกษตรกรชาวนาดีใจมากเพราะรัฐบาลนี้จริงใจใส่ใจแก้ไขปัญหาแม้จะเป็นเรื่องยืดเยื้อมาหลายยุค แล้วเมื่อวาน นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่าเกษตรกรติดป้ายขอบคุณนายกฯ รองนายกฯ จุรินทร์ และรัฐมนตรีเฉลิมชัย กันว่อนเลยที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็ดีใจกับเกษตรกรด้วยเพราะเขาก็สู้อดทนกันมานาน " นางมัลลิกา กล่าว

สมาคมประกันฯ ดึงเอกชนแจกประกันแพ้โควิดฟรี 11.5 ล้านสิทธิ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดโครงการฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล โดยมีการมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรี 11.5 ล้านสิทธิ เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดยสามารถเลือกลงทะเบียนรับสิทธิฟรี ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ และมีเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทกำหนด

ทั้งนี้บริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วม ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย 2 ล้านสิทธิ, บมจ.ทิพยประกันภัย 2 ล้านสิทธิ, บมจ.เมืองไทยประกันภัย 2 ล้านสิทธิ, บมจ.วิริยะประกันภัย 2 ล้านสิทธิ, บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย 1 ล้านสิทธิ, บมจ.สินมั่นคงประกันภัย 1 ล้านสิทธิ, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 1 ล้านสิทธิ, บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ 500,000 สิทธิ
 
“สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย มีความเชื่อมั่นว่าการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีน จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ในครั้งนี้จะกระจายไปสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมและสร้างความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด”

พิมรี่พาย แจง แค่ โทนี่ พูดถึง 5 วินาทีต้องเจออะไรบ้าง บริจาคของหน่วยงานโดนตีกลับ ไม่รับของ-กลัวมีปัญหา ขอตั้งโรงพยาบาลสนามที่คลองเตยก็ไม่ได้

กรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเสวนาใน Clubhouse โดยตอนหนึ่ง นายทักษิณ ได้พูดในประเด็นว่าภายในเรือนจำเขามีสนามฟุตบอล มีโรงอาหาร เราสามารถเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวได้หรือไม่ หรือถ้าตั้งมันแพง ก็ไปขอ “พิมรี่พาย” ตั้งให้ ทำให้ พิมรี่พาย ต้องออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวระหว่างไลฟ์สดขายของ ว่าขออย่าลากพิมรี่พายไปเกี่ยวข้อง

ล่าสุด ในช่วงเย็นวันเดียวกัน (19 พ.ค. 64) พิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ก็ได้ออกมาไลฟ์ชี้แจงถึงกรณีนี้อีกครั้งว่า ไม่เคยคิดจะพูดเรื่องนี้แต่ต้องพูดให้เข้าใจ พิมรู้ดีว่าพิมไม่ได้เป็นคนที่พิเศษหรือวิเศษไปกว่าใคร รู้ดีว่าตัวเองแตะต้องได้ เพราะเป็นแค่แม่ค้าธรรมดา เป็นคนธรรมดา ทุกคนวิจารณ์ได้ แต่ยอมรับตามตรง แค่ 5 วินาทีที่คุณทักษิณพูดถึง แค่ 5 วินาทีนี้ไม่มีใครรู้ว่าเราต้องเจออะไรบ้าง

เมื่อเช้าพิมซื้อของบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ โดยไม่ได้ทำเป็นคอนเทนต์ แค่ต้องการช่วยหลังบ้าน ซื้อของไป 2 แสนกว่า แต่แค่คุณทักษิณพูดถึง 5 วินาทีเมื่อคืน ของบริจาคถูกส่งไปตอนเช้า 9 โมง โดยไม่ประสงค์ออกนาม หน่วยงานนั้นให้เอาของกลับ ไม่รับของจากฉัน กลัวมีปัญหา นี่แค่ชม 5 วินาทีเอง”

“ฉันโดนอำนาจมืดข่มขู่จะตรวจสอบกี่ครั้งรู้หรือไม่ ฉันโดนแอคหลุมมาด่าทั้งที่ไม่ได้ทำอะไร ผลกระทบจากการที่คุณทักษิณพูดถึงฉัน เพียงต้องการแซะรัฐบาลและขบขัน แต่ผลกระทบที่ตามมาฉันโดนอะไรบ้าง ฉันอยู่ในสังคมนี้ฉันรู้ต้องทำอย่างไร”

“ทำไมถึงไม่อยากให้โยงการเมือง เพราะฉันขยับตัวไม่ได้เลย ถ้าขยับจะถูกมองทำในเจตนาไม่ได้ ธุรกิจพิมทำอย่างสุจริตและเสียภาษี ระวังตัวที่สุด รู้มั้ยฉันให้คนไปขอตั้งโรงพยาบาลที่คลองเตย รออยู่ 2 อาทิตย์ เขาไล่ฉันกลับมา แถมยังต้องแบกรับภาระลูกน้องอีกหลายชีวิต แต่พอถูกโยงว่ามีปัญหา ความจริงโดนโยงมาหลายครั้ง แต่พูดไม่ได้”

“ความจริงพิมเพิ่งมารวยแค่ 2 ปีนี้เอง โดยจนมาก่อน เป็นแม่ค้าตลาดนัด เรียนก็ไม่จบ ทำให้เข้าใจคนจนดี จึงช่วยเพราะเข้าใจหัวอกคนจน เข้าใจความลำบากและความทุกข์ ทำให้คิดตอบแทนคืนให้สังคมบ้าง ยิ่งคุณทักษิณพูดถึง 5 วินาที มีเอฟเฟคมากมาย ท่านพูดขบขำกดดันรัฐบาล แต่ทำให้เราซวย ซึ่งเดือดร้อนจากคำพูดของท่านจริงๆ รอบนี้พูดถึงพิมแล้วฉันจะอยู่อย่างไร”

 

ที่มา : https://www.komchadluek.net/news/hotclip/467364


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“รมว.ดีอีเอส” เผย ประสาน ตร.เอาผิด “สมศักดิ์ เจียม” ผิดพ.ร.บ.คอมพ์ฯ-ม.112 ชี้ ลากตัวมาดำเนินคดีได้ ไม่ว่าในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน หรือช่องทางอื่นที่มี 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการป้องกันเฟกนิวส์ว่า ได้ให้มีการศึกษาเกี่ยวการปรับแก้กฎหมาย หรืออาจจะออกกฎกระทรวงหรือออกประกาศ ออกระเบียบในส่วนของการกระทำผิดเกี่ยวกับการนำข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาเวลาขอแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ปิดกั้นหรือดำเนินคดีค่อนข้างจะช้า ก่อนหน้านี้มีการขอไปยังเฟซบุ๊กให้ปิด 12,259 ยูอาร์แอล แต่ปิดให้แค่ 5,740 ยูอาร์แอล หรือไม่ถึงครึ่ง 

โดยอ้างว่าไม่เข้าเกณฑ์และไม่ผิดกฎหมายของประเทศเขา จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานเข้มข้นขึ้น เพราะเราต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องเฟคนิวส์ หรือการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายผิดกฎหมายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

“ขณะนี้มีเฟกนิวส์ต่าง ๆ ออกมามาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอยากเตือนคนที่กำลังตั้งใจจะทำร้ายบ้านเมืองด้วยการปล่อยเฟกนิวส์เพื่อปั่นป่วนกันเองขอให้หยุด เพราะที่ผ่านมาเรามีคณะติดตามเรื่องนี้คอยรวบรวบพยานหลักฐานไว้หมด หากพบว่ากระทำผิดจะดำเนินการปิดกั้นและดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอให้เคารพกฎหมายด้วย” นายชัยวุฒิ กล่าว 

เมื่อถามถึงกรณีมีข่าวว่าจะประสานกับตำรวจให้ล่าตัวนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ออกมาโพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีอีเอสได้มีการแจ้งไปยังเจ้าของแฟลตฟอร์ม ขอให้ปิดกั้นข้อมูลที่สร้างความตื่นตระหนกและไม่เป็นความจริงมาตลอด ไม่ใช่เฉพาะเพจของนายสมศักดิ์ หรือเพจของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์เท่านั้น ซึ่งกรณีของนายสมศักดิ์นั้น ดีอีเอสได้ประสานไปยังตำรวจให้ดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว และตนเชื่อมั่นว่าในที่สุดจะดำเนินคดีเอาตัวคนผิดมาลงโทษในเมืองไทย โดยใช้กลไกส่งตัวผู้ร้ายข้ามและช่องทางอื่นที่มีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

'กรณ์' ติงกู้เพิ่ม 7 แสนล้านต้องใช้ให้คุ้ม! พุ่งเป้าผู้ประกอบการรายเล็ก แทนหว่านแจก

กรณ์ สะท้อนเสียงลมหายใจเฮือกสุดท้ายผู้ประกอบการ กรอบเงินกู้ชนเพดาน เงินกู้ 7 แสนล้าน สำคัญอยู่ที่ว่า 'ใช้ถูกทางหรือไม่' ต้องพุ่งเป้าผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs ร้านอาหาร และภาคบริการ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีมติออกเงินกู้อีก 700,000 ล้านว่า นับเป็นรัฐบาลที่ออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินนอกระบบงบประมาณ ถึงสองครั้งเป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ โดยครั้งแรกสมัย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ตนเป็น รมว.คลัง เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจโลก Hamburger สำเร็จด้วย พรก.ไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นไวเป็นอันดับ 2 ของโลก และอีกครั้งในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุงเหตุแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เพราะโครงการไม่พร้อม 

นายกรณ์ กล่าวว่า มาถึงรัฐบาลนี้ออก พรก.พิเศษกู้เงินแก้วิกฤตโควิดสองรอบ (1ล้านล้าน+7แสนล้าน) รวม 1.7 ล้านล้านบาท เท่ากับ 10% ของ GDP รอบล่าสุดนี้ ก้อนแรก 7 แสนล้านคือการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2565 ก้อนสองอีก 7 แสนล้านโดยออกเป็นพรก.พิเศษ รวม 1.4 ล้านล้าน รวมสองปี การกู้ทั้งหมดของ ‘64 และ ‘65 รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของ GDP สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ และฟื้นช้าเพราะวัคซีนยังไม่เรียบร้อยดี คนไทยยังกลับไปทำมาหากินยังไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องกู้ และกู้โดยไม่มีทางเลือกอื่น

อย่างไรก็ตามหากถามว่า การกู้ครั้งใหม่นี้มีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ คำตอบคือในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน คำตอบคือ ไม่กู้ไม่ได้อยู่ดี โดยที่ ‘ภาระต่องบประมาณ’ ยังรับได้อยู่ (สัดส่วนงบดอกเบี้ยและงบคืนเงินต้น เทียบกับงบรายจ่ายโดยรวมของรัฐบาล) แต่นั่นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยช่วงนี้ต่ำมาก และเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าดอกเบี้ยนโยบายประเทศอื่นจะปรับขึ้น เพราะสัญญาณเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาหากเศรษฐกิจเราฟื้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้า GDP เราโตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 2-3% ไปอีก 4-5 ปี เราอาจจะเริ่มมีปัญหา ดังนั้นการใช้เงินจึงต้องเข้าเป้า และนี่คือ โจทย์ที่สำคัญที่สุด ต้องกู้แต่ต้องใช้เงินกู้ให้คุ้มที่สุด

“รอบแรก 1 ล้านล้านบาทผมให้แค่ 6/10 คะแนน จากส่วน 'เยียวยา' ผมถือว่ารัฐบาลทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ‘เราไม่ทิ้งกัน’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ฯลฯ แต่ที่หัก 4 คะแนน ผมว่าผิดเป้า เพราะเอาไป ‘ฟื้นฟู’ ในเรื่องไม่เป็นเรื่องเสียเยอะ และเบิกจ่ายช้ามาก ไม่สมกับเป็น ‘งบฉุกเฉิน’ ตามนิยามของ ‘พรก.’ รอบใหม่นี้ไม่ควรแจกแนวเดิม และไม่ควรมีเรื่องฟื้นฟูไม่เป็นเรื่องอีกเลย แต่ต้องยิงให้เข้าเป้า นั่นคือเป้าหมายหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs ร้านอาหาร ธุรกิจภาคบริการทั้งระบบให้อยู่รอดจนถึงการฉีดวัคซีนครบตามเป้า” อดีต รมว.คลัง กล่าว

นายกรณ์ กล่าวาว่า พรรคกล้า เราเสนอทางออกไปหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหา อย่างล่าสุดเราเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร แต่ก็ถูกกระทรวงการคลังปฏิเสธ ส่วนในเงินกู้ 7 แสนล้านใหม่ มีส่วนที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟูสูงถึง 270,000 ล้าน ตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความผิดพลาดซํ้ากับปีที่ผ่านมา ตรงนี้ต้องปรับ และสำคัญที่สุดที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเร่งทำคือ 'ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ' มิเช่นนั้นเงินกู้ทั้งหมดนี้ก็จะถูกละลายหายไปโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้คนไทยรู้สึกมีความหวังมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนจากเฮือกสุดท้ายของผู้ประกอบการ รวมไปถึงกรอบเงินกู้ที่ล้นชนเพดานแล้ว

กระทรวงแรงงาน กำชับนายนายจ้าง/สถานประกอบการ ดูแลคนต่างด้าวตามมาตรการป้องกันโควิด-19

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงกังวลการแพร่เชื้อในสถานประกอบการ กำชับนายจ้างดูแลสถานที่ทำงาน และแรงงานต่างด้าวปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน  ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากกรณีที่พบการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้างช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานได้มอบหมายกรมการจัดหางานเร่งประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกัน และปฏิบัติตัว ในสถานที่ทำงานตามมาตรการของ ศบค. แก่นายจ้าง/สถานประกอบการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์เป็นภาษาประจำชาติ (ภาษากัมพูชา ลาวและเมียนมา) ของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีขอให้นายจ้างกำชับให้แรงงานต่างด้าว ที่อยู่ในความรับผิดชอบการจ้างงานของตน ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 มีการประสานนายจ้าง/สถานประกอบการในพื้นที่ของตนเอง ให้ทราบมาตรการป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการอยู่ร่วมกันในสถานประกอบการ

โดยกำชับนายจ้างให้ดูแลสถานประกอบการให้มีความสะอาดปลอดภัย ถูกสุขลักษณะตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทำความสะอาด เช็ดถูพื้นผิววัสดุอุปกรณ์ ที่มีการใช้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งต้องควบคุมให้แรงงานต่างด้าวในความดูแลเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อตัวแรงงานต่างด้าวเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ หมั่นล้างมือ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ทานอาหารในจานตนเอง งดเว้นการรวมกลุ่มกัน เน้นทานอาหารปรุงสุก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ งดการรวมกลุ่มสังสรรค์หลังเลิกงาน อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันทีที่ถึงที่พัก เพื่อป้องกันเชื้อที่ติดตามร่างกาย แพร่สู่ครอบครัว และหากมีอาการผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจ ควรแจ้งหัวหน้างาน หรือนายจ้างทันที

"นายกฯ" สั่งกอ.รมน.แจงข่าว​ Fake News​ ในโซเซียล หวั่น ปชช. สับสน​ ย้ำ กอ.รมน.ทั่วประเทศสอดส่องเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกอ.รมน. กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VTC) โดยมี พล.อ. วรเกียรติ  รัตนานนท์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุม

พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า​ การประชุมในวันนี้ มีวาระการประชุมในเรื่องที่กอ.รมน.ร่วมประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อกฎหมายและผลกระทบที่มีการส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อให้ประชาชนใช้สื่อโซเชียลอย่างรู้เท่าทัน​ ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. มอบหมายให้กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด มวลชนของ กอ.รมน. ร่วมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับประชาชน​ กรณีสื่อโซเชียลเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสนในลักษณะข่าวปลอม (fake news) ไม่มีที่มาที่ไป หากเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จอาจจะสร้างความแตกแยกความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

“กอ.รมน. จึงขอความร่วมมือประชาชนรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการหรือรัฐบาลเป็นหลัก และขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์หรือส่งต่อให้ผู้อื่น จึงอยากเตือนผู้ที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอย่าได้ทำการเผยแพร่โดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำอันผิดกฎหมายพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วนความมั่นคง กอ.รมน. 1374 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีความผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” โฆษกกอ.รมน. กล่าว 

พล.ต.ธนาธิป กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประ​ชุมกอ.รมน. ใช้กลไก กอ.รมน.ภาค และกอ.รมน.จังหวัด ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวังติดตามการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย​ โดยเฉพาะการนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยให้สนับสนุนการปฏิบัติกองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบก ป้องกันการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองตามแนวชายแดนโดยเน้นย้ำให้มีการดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกระบวนการนำพา​จึงขอความร่วมมือประชาชน เป็นหูเป็นตา​ หากพบเห็นขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการโดยทันที

อย่างไรก็ตาม​ กอ.รมน.ได้นำข้อมูลอ้างอิงจาก ศบค. และ สธ. มาให้เจ้าหน้าที่ call center ใช้ในการให้บริการข้อมูลการสอบถามขั้นตอนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนบน App หมอพร้อม คู่มือวัคซีนสู้โควิดฉบับประชาชน รวมถึงการรับแจ้งเหตุ​ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่เข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลโดยมีประชาชนโทรมาสอบถามข้อมูลข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

เอกชนหนุนรัฐบาลกู้ 7 แสนล. สู้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการใช้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ นอกจากจะใช้ในด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา และชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

“เอกชนอยากเห็นกรอบการใช้เงิน โปร่งใส ตรวจสอบการใช้เงินอย่างรอบคอบ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ควรนำเงินมาช่วยเหลือกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ต้องการให้พิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท อยากให้เริ่มเดือนมิ.ย.เลย จากแผนเดิมเริ่มเดือนก.ค. เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก”  

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กรอบการกู้เงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อเพดานหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งไทยมีเงินทุนสำรองปริมาณสูง แข็งแกร่ง เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวจะมีเงินใช้หนี้ได้ต่อเนื่อง และควรเร่งฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย ปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน บริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอยากให้เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออมด้วยการฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน รัฐสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง และฟื้นช้อปดีมีคืน จะมีเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยประคองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ให้ขยายตัวได้ระดับ 2% หรือมากกว่านั้นได้

‘บิ๊กตู่’ วาง 3 แนวทาง กระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ย้ำชัด ผู้ประกันตนทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีนโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบน Facebook ส่วนตัว ถึงมาตรการการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้กับกลุ่มผู้ประกันตนในระบบมาตรา 33 ว่า “กลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เป็นกลุ่มแรงงานที่ความสำคัญกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาชีพต้องสัมผัส ต้องเจอคนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

การเตรียมการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกันตนนี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง แรงงาน กระทรวงการคลัง และภาคเอกชน โดยจะพร้อมฉีดตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. นี้ครับ

ผมได้กำชับให้ทำการฉีดให้ต่อเนื่อง และรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ ฟื้นตัวได้โดยเร็ว

สำหรับแนวทางการกระจายวัคซีนมีดังนี้ครับ

1.) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับภาคเอกชน และ สปสช. ในการดำเนินการ โดยกลุ่มผู้ประกันตนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวได้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมไปแล้ว

2.) สำนักงานประกันสังคมจะประสานกับนายจ้างของแต่ละบริษัทให้ส่งข้อมูลลูกจ้างที่จะฉีดวัคซีน เพื่อทำการจัดสรรเวลาการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โดยในระยะแรกจะเน้นการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนใน กทม. และในระยะถัดไปจะเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนใน 9 จังหวัดเศรษฐกิจ จากนั้นจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนในจังหวัดที่เหลือต่อไป ที่สำคัญคือ จำนวนวัคซีนต้องเพียงพอกับจำนวนคน หากไม่ได้ทั้งหมดก็จะจัดสรรทยอยให้ตามลำดับความเร่งด่วน

3.) การฉีดวัคซีนใน กทม. นั้น จะมีจุดฉีดวัคซีน 45 แห่ง และจุดฉีดวัคซีนใน 9 จังหวัดเศรษฐกิจอีก 22 แห่ง

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผน “วาระแห่งชาติ” เรื่องการฉีดวัคซีน ผู้ประกันตนทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ที่จะทั้งป้องกันโรคให้กับตนเอง คนรอบข้าง และผู้เข้ามารับบริการ เพื่อให้กิจการและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้”


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

รู้จัก​ 'Ricult​' ฮีโร่ของเกษตรกรไทย 'อุกฤษ อุณหเลขกะ' ผู้ก่อตั้ง​ Ricult | Contributor​ EP.17

แม้แนวคิดด้าน​ Startup หรือการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จะถูกนำมาบรรจุในโลกธุรกิจยุคนี้และประเทศไทย เพื่อ Disrupt ปัญหาและความล้าหลังของธุรกิจในอุตสาหกรรมเดิมที่เริ่มโรยรามากขึ้น

แต่สิ่งที่น่าคิด คือ แนวคิด​ Startup​ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ดูจะยังไม่ค่อยโฟกัสมาที่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย อย่าง ‘การเกษตร’ สักเท่าไรนัก 

ทั้ง ๆ​ ที่ปัจจุบัน​ เกษตรกรไทยมักพบเจอปัญหาต้นทุนสูง ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า พ่อค้าคนกลางกดราคา และยังเป็นหนี้กันมากขึ้น​เรื่อย ๆ 

อย่างไรก็ตาม​ ใช่ว่าจะไม่มีแนวคิด​ Startup ด้านนี้ปล่อยออกมาเลย​

Ricult​ (รีคัลท์)​ ‘ฮีโร่’ คนใหม่ของเกษตรกรไทย เกิดขึ้นจาก​ 'อุกฤษ อุณหเลขกะ'​ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Ricult’ (รีคัลท์) Startup​ ด้านเกษตรสายพันธุ์ไทย​ ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่​ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาช่วยเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ ทำให้ผลิตผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อันที่จริงแล้ว อุกฤษ เป็นหนุ่มดีกรีนักเรียนนอกด้านเทคโนโลยีและการบริหารจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ที่มีอนาคตสดใสในสังคมแวดล้อมอย่างซิลิค่อนวัลเลย์ และมีรายได้มหาศาลในบริษัทใหญ่ ๆ รอเขา​ที่อเมริกา 

แต่ทำไมเขาถึงยอมทิ้งรายได้และโอกาสมากมายในต่างแดน และกลับมาพัฒนาธุรกิจที่ตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรไทย?

พบคำตอบนี้ ได้ใน Contributor EP.17

.

.

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top