ทูตมองโกเลีย เข้าพบ "จุรินทร์" ตั้งเป้าการค้า 3,000 ล้าน ดันส่งออก "ข้าว ยาง อาหาร" เพิ่ม พร้อม "จับมือ" หาเส้นทางขนสินค้าทางบก ลดต้นทุน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับนายทูมูร์ อามาร์ซานา H.E. Mr. Tumar Amarsanaa เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมงภายหลังการหารือ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลียหลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมา 47 ปี โดยประเทศมองโกเลียมีประชากร 3,300,000 คน มีจีดีพีประมาณ 440,000 ล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 6 ของไทยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลียปี 2563 ประมาณ 1,140 ล้านบาท ประโยชน์ที่จะได้รับคือมองโกเลียสามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้ เพราะมีศักยภาพในเรื่องของการส่งออกสินแร่ หนังสัตว์ เป็นต้น และประเทศไทยสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ 

"จากการหารือมองโกเลียต้องการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันและส่งออกเนื้อสัตว์ และนมมาประเทศไทย ตลาดใหญ่มองโกเลียคือ จีนและรัสเซีย โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ผ่านกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทยและดำเนินการขั้นตอนให้ครบถ้วน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุนและท่านทูตขอให้ช่วยสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลกและสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อนและมีความเห็นเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปมองโกเลีย เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะห่างไกลและเน้นการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ควรเพิ่มเส้นทางทางบกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและมองโกเลียสนใจที่จะต้อนรับการลงทุนทางด้านสุขภาพจากนักลงทุนชาวไทยเพราะมีโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไปลงทุนในมองโกเลีย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่หารือ

1.) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

2.) เชิญให้ท่านทูตประสานผู้นำเข้าจากมองโกเลียเข้าร่วมงาน THAIFAX ที่กระทรวงพาณิชย์จัดในเดือนกันยายน 2564 ประสานให้เอกชนหรือผู้นำเข้าของมองโกเลียเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจ สนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกระดาษด้วย และประเด็นถัดมา เมื่อการเดินทางสามารถทำได้ให้ประสานให้นักท่องเที่ยวจากมองโกเลียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และได้ข้อสรุปร่วมกันคือ

1.) จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปีที่แล้ว 1,140 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2566

2.) มีคณะทำงานร่วมเจรจาระหว่างไทยกับมองโกเลีย เสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพร่วมเจรจากับมองโกเลีย 

3.) จะร่วมมือกันเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันและเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว 4.จะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการขนส่ง