Friday, 4 July 2025
Hard News Team

ปลัด สปน. แจ้ง ขยายเวลา เวิร์ก ฟรอม โฮม ถึง 30 มิ.ย. มั่นใจ งานมีประสิทธิภาพ-ช่วยลดการแพร่ระบาด โควิด-19

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี ประกาศของศบค.และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วให้มีการขยายเวลาการ เวิร์ก ฟรอมโฮม ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ 

นายธีรภัทร กล่าวว่า โดยยึดแนวทางปฎิบัติที่ประกาศไว้เดิม แต่มีประเด็นเพิ่มเติมคือ เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของสปน. ได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 74% อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในขณะนี้ยังเป็นการประชุมหารือผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งทุกการประชุมคณะกรรมการตามกฏหมาย และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องต่างๆยังเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีปกติจะต้องติดตามงานภาคต่างๆในต่างจังหวัด ก็ปรับมาใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามงานในพื้นที่ โดยในบางภารกิจในพื้นที่ เช่น การตรวจมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวก 300 กว่าหน่วย สปน.ได้ติดตามสถานะภาพในพื้นที่จริงผ่านระบบวิดีโอเคลื่อนที่ เพื่อดูพื้นที่จริงอย่างใกล้ชิด ได้เห็นในพื้นที่นั้นๆมีสภาพเป็นอย่างไรในเวลาที่ติดตามด้วย

นายธีรภัทร กล่าวว่า ในส่วนงานศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ยังคงใช้ 4 ช่องทางเดิม คือ

1.) สายด่วนของรัฐบาล1111

2.) ตู้ปณ.1111 และ

3.) เว็บไซต์ www.1111.go.th

4.) แอพพลิเคชั่น PSC1111

เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ยังต้องคงเฝ้าระวัง การรับเรื่องราวร้องทุกข์ ยังดำเนินการไปได้ด้วยดี โดยมากกว่า 90% เรื่องได้ยุติส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาเป็นรายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สปน.ได้รายงานข้อเสนอแนะและเรื่องร้องทุกข์ให้นายกรัฐมนตรีทราบทุกสัปดาห์ และนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดทุกเรื่องในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมหลายเรื่องนำไปสู่นโยบายการช่วยเหลือประชาชนในภาพรวม การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหน้าที่เวิร์กฟอรมโฮม มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรหรือไม่ นายธีรภัทร กล่าวว่า หากทุกคนมาทำงานในที่ทำงานพร้อมกัน ประสิทธิภาพย่อมดีกว่าอยู่แล้ว แต่การทำงานชีวิตวิถีใหม่ เวิร์กฟอรมโฮม บางเรื่องที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วน เราก็ใช้การพูดคุยและส่งผ่านข้อมูลผ่านอีเมล และไลน์ โดยที่ไม่ได้เห็นหน้ากัน แต่ในบางครั้งการได้ทำงานแบบพบเห็นหน้ากันก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากการประเมินในเวลานี้โดยติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆด้วย ถือว่าประสิทธิภาพของการทำงานเป็นไปด้วยดี สามารถขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

นายธีรภัทร กล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานใน สปน. ได้ปรับแผนการรายงาน ผลการทำงานต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งทุกหน่วยงานจะได้รายงานความคืบหน้าการทำงานมาที่ตน ว่ามีผลการทำงานอย่างไรบ้าง ในทุกสัปดาห์ โดยให้ระดับรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการฯ ผู้อำนวยการสำนัก และผู้อำนวยการกอง ประชุมคอนฟอร์เรนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของตนอยู่ตลอด โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาตนได้ประชุมระดับผู้บริหารของสำนักนายกฯ สรุปงานผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ 2-3 ชั่วโมง 

นอกจากงานปกติแล้วยังต้องทำงานช่วยศบค.ในเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วย เช่น การบริหารจัดการหน้ากากอนามัย การสนับสนุนถุงยังชีพรายครอบครัวให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน 14 จังหวัดที่ต้องปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 

ทั้งนี้ขอย้ำว่าปัจจุบันถึงแม้หน่วยราชการจะเวิร์กฟอรมโฮม แต่คุณภาพงานยังมีประสิทธิภาพอยู่ เป็นการช่วยลดการเดินทางและช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงนี้ 

จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนลดกิจกรรมที่ต้องพบปะกัน และดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งร่วมกันฉีดวัคซีน แล้วการดำรงชีวิตตามปกติจะได้คืนกลับมาโดยเร็ว

รมว.สุชาติ เผย รัฐ-เอกชน จับมือเดินหน้ามาตรการป้องกันควบคุมโควิดแก่ลูกจ้างในโรงงาน ขับเคลื่อนธุรกิจโดยเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ประชุมหารือร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยภาคธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว 

ที่ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม 

นายสุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินการขอความร่วมมือให้นายจ้างในระบบประกันสังคมสำรวจ และกรอกข้อมูลความต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ของผู้ประกันตนผ่านระบบ Web Service ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.-3 มิ.ย.64 ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวมีผู้ประกันตนมาตรา 33 แสดงความประสงค์ขอรับวัคซีนเป็นจำนวน 6,012,662 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.5 และในวันนี้กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีประชุมร่วมกันในวาระสำคัญพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรและแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงาน 

“กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรและแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงาน ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

ตม.สุรินทร์ ตามติดเครือข่ายลอบขนต่างด้าว ดักจับขณะข้ามแดน เร่งสาวหาตัวการ

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.), พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.กฤษฎา กาญจนอลงกรณ์ ผบก.ตม.4, และ พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผกก.ตม.จว.สุรินทร์ ร่วมแถลงข่าวจับกุม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ตม.จว.สุรินทร์ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ จับกุมบุคคลต่างด้าวสัญชาติ กัมพูชา จำนวน 8 ราย บริเวณช่องทางธรรมชาติ คะลาคะมุม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ โดยชาวกัมพูชาทั้งหมด รับว่าจะเดินทางไปรับจ้างใช้แรงงานในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อันอาจนำไปสู่คลัสเตอร์การแพร่ระบาดในวงกว้าง

ตามนโยบายของ ผบก.ตม.4 ได้สั่งการเน้นย้ำให้ ตม.จังหวัด ในสังกัด บก.ตม.4 เพิ่มความเข้มในการป้องกันการลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมือง และจับกุมขบวนการลักลอบขนคนต่างด้าว โดยให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผกก.ตม.จว.สุรินทร์ จึงสั่งการให้ชุดสืบสวน ตม.จว.สุรินทร์ สืบสวนหาข่าวติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนายหน้าขนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง

ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับรายงานจากสายข่าวว่า จะมีการลักลอบพาบุคคลต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา เดินเท้าเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติคะลาคะมุม จึงประสานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ วางกำลังดักซุ่มจนกระทั่งพบกลุ่มบุคคลต่างด้าวจำนวน 8 ราย จึงแสดงตัวเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าจับกุม ตรวจสอบแล้ว ไม่พบเอกสารสำคัญประจำตัว หรือหนังสือเดินทาง สอบถามหนึ่งในกลุ่มบุคคลต่างด้าวได้ความว่า ตนกับพวกอีก 7 คน ต้องการเดินทางไปหางานทำในพื้นที่จังหวัดชั้นใน จึงติดต่อกับนายหน้ารับพาคนต่างด้าวข้ามมาฝั่งไทย โดยผ่านช่องทางธรรมชาติ เมื่อเดินมาถึงบริเวณถนนหลวง จะมีรถตู้มารับพาไปส่งยังพื้นที่จังหวัดชั้นในต่อไป จึงควบคุมตัวไปผลักดันส่งกลับต่อไป ทั้งนี้ ตม.สุรินทร์ กำลังเร่งสืบสวนขยายผลหาตัวการนำพาแรงงานดังกล่าว

สตม.ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตราย ต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คลังฟันร้านค้าหัวหมอโกงเราชนะอีกเป็นร้อยราย

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตรวจพบธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ จึงได้ทำการระงับสิทธิ์ชั่วคราวการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการเพิ่มเติม จำนวน 120 ราย และขอให้ผู้ประกอบการที่ถูกระงับสิทธิ์ชั่วคราวดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงมายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายในวันที่ 25 มิ.ย.2564 ตามข้อความแนะนำที่ปรากฏขึ้นในแอปพลิเคชันถุงเงิน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเข้มงวดในการติดตามตรวจสอบประชาชนและผู้ประกอบการที่กระทำการเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงการคลังปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของแต่ละโครงการอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐในอนาคต และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 พบว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 267,113 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 22.3 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ

แนะดันไทยสู่สังคมไร้เงินสด รัฐยังต้องพัฒนาอีกเพียบ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ว่า การทำธุรกรรมไร้เงินสดของไทยยังมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนักหากไทยต้องการยกระดับให้เป็น สังคมไร้เงินสดมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาขึ้นอีก แต่ก็ยังพบว่ามีช่องว่างหรือข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เช่น ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ เห็นได้จากจำนวนคนไม่น้อยที่ต้องเดินทางมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือของรัฐที่ธนาคารเอง 

ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม และมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มผู้รายได้น้อย จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยี รวมถึงอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกและการสูญเสียทางการเงินได้อีกด้วย 

ทั้งนี้ สศช. มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริม และแก้ไขข้อจำกัดเพื่อนำไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด คือ ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงที่ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงอาจมีการอุดหนุนช่วยเหลือการเข้าถึง อุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และการเสริมสร้างการมีทักษะความรู้ด้านการเงินและ ความรู้ดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันและปูองกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางดิจิทัล 

รวมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมให้มี ระบบธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลอย่างทั่วถึงและครอบคลุม โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยให้มีบริการ รับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การใช้งานที่แพร่หลายของบริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น  เช่นเดียวกับการมีกลไกติดตามดูแลรักษาฐานข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความรัดกุมทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้บริการ และการนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ต่อยอด ทั้ง การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินในการให้กู้ยืม รวมทั้งการนำข้อมูล มาใช้ประกอบการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ เพื่อลดการตกหล่นและคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

“เพจ เรือดำน้ำไทย” โพสต์คลิป ขนขุนพลลูกประดู่แจงเหตุจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ เสริมมิติปฏิบัติการใต้น้ำ ชี้อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่อยากให้เข้าใจว่ามีความจำเป็น ไม่อยากกลายเป็นจำเลยอีกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เพจ เรือดำน้ำไทย Thai Submarines” ของกองทัพเรือ ได้เผยแพร่สารคดีกองทัพเรือ โดยโพสต์ข้อความระบุว่า “ความคิด ความเข้าใจ และความจริงใจในการบอกเล่าครั้งใหม่ถึงเรื่องราวของ "เรือดำน้ำ" ...อย่าให้การทำหน้าที่เป็นจำเลยอีกต่อไป” พร้อมคลิปวิดีโอ ซึ่งมีตอนหนึ่งชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นการมีเรือดำน้ำ โดยพล.ร.ต.นเรศ วงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ แต่สิ่งสำคัญภารกิจหลักกองทัพเรือต้องเตรียมความพร้อมในการปกป้อง รักษา อธิปไตยของชาติและความมั่นคงทางทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย กองทัพเรือจำเป็นต้องมีเครื่องมือเหล่านี้ปฏิบัติการในลักษณะผสมผสานร่วมกัน ทั้งบนอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ ซึ่งเรือดำน้ำของกองทัพเรือถูกปลดประจำการไปแล้ว และไม่ได้รับการจัดหาอีกเลย  ทำให้เราขาดการปฏิบัติการมิติใต้น้ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และกองทัพเรือพยายามปรับลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นด้วยการใช้เครื่องมืออื่นๆ แต่ก็ยังเกิดความเสี่ยงที่สูงอยู่ 

ด้านพล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า เรื่องราวระหว่างหลักประกันความมั่นคงของชาติทางทะเลกับการช่วยเหลือประชาชนในเวลาที่ชาติประสบภาวะวิกฤต กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งใจทำทุกอย่างอย่างสุดกำลัง โดยเฉพาะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เราได้ทุ่มเทกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการปรับงบประมาณทุกภาคส่วนมารองรับ สำหรับการสร้างการรับรู้เรื่องกำลังรบอันเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติทางทะเล อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว ในภาวะการณ์เช่นนี้ แต่อยากให้เข้าใจว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ร่วมกัน เพียงแต่อยากบอกถึงการทำหน้าที่ของเราโดยตระหนักถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่าให้การทำหน้าที่นี้ของเรากลายเป็นจำเลยอีกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงาน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการเผยแพร่คลิปดังกล่าวนั้น คาดว่าเพื่อต้องการสร้างความรับรู้และความเข้าใจกับประชาชน เพราะในช่วงนี้ทางสภาฯ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2565 กำลังมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีพ.ศ.2565 อยู่ในขณะนี้

โฆษกก้าวไกล แนะ รมว.ศธ. นำงบ 5 แสนล้านที่เพิ่งผ่านสภา มาปรับใช้ในการเยียวยาสถานศึกษา-ผู้ปกครอง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม 14 มิถุนายนนี้

นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึง การเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศ โดยก่อนหน้านี้ 27 พฤษภาคม คุณตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัตินั้น ตนมองว่าภาระไปตกอยู่กับโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรับภาระค่าใช้จ่ายหนัก คุณตรีนุชต้องดูด้วยว่าต้นทุนที่จะลดได้มาจากไหน ไม่ใช่ประกาศลดแล้วสั่งให้โรงเรียนปฏิบัติตามคำสั่งของคุณเท่านั้น ในสถานการณ์ภายใต้สภาวะวิกฤตเช่นนี้ เราต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบชีวิตของประชาชนในทุกมิติ 

นาวสาวสุทธวรรณ ระบุอีกว่า แน่นอนว่าเราเห็นด้วยกับการคืนเงินบำรุงการศึกษาให้กับผู้ปกครองในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด แต่ในอีกมิตินึงท่านไม่ควรโยนภาระในแก่สถานศึกษามากจนเกินไป เพราะโรงเรียนทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ก็มีค่าใช้จ่ายที่เป็น fixed cost กันอยู่แล้วทุกเดือน ทั้งเงินเดือนครู แม่บ้าน รปภ. ธุรการ ที่ต้องจ่าย ส่วนภาครัฐที่เป็นข้าราชการอาจไม่เท่าไหร่ แต่คนที่เป็นสัญญาจ้างต่าง ๆ ถ้าลดต้นทุนออกตรงนี้ไปจะลำบากทันที ส่วนเอกชนไม่ว่าจะขยับส่วนไหนทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายหมด เงินเดือนบุคลากร ค่าบำรุงรักษาสถานที่ ค่าบริหารจัดการ ค่าสาธารณูปโภค ในส่วนนี้ไม่ได้ลดลง ถ้าโรงเรียนไหนกู้เงินมาลงทุนปรับปรุงพื้นที่ ดอกเบี้ยที่กู้มาก็ยังคงวิ่งไปอยู่ ที่ผ่านมารัฐไม่ได้มีมาตรการช่วยเรื่องการพักเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างเป็นรูปธรรมเลย ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่ท่านคิดจะนำมาเป็นส่วนลดให้ผู้ปกครองได้ในความเป็นจริงจึงไม่มากนัก 

ทั้งนี้นางสาวสุทธวรรณยังให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนมาตรการที่ออกมาในทุกมิติอีกครั้ง ท่านควรจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองแทนโรงเรียนเหล่านั้น โดยการใช้ก้อนเงินกู้ 500,000 ล้าน ที่เพิ่งผ่านสภาไปมาบริหารจัดการ นอกจากนี้ ศธ.ยังควรกำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองให้ชัดเจน เช่น ชุดนักเรียน ยังไม่จำเป็นต้องให้ซื้อใหม่ เรียนออนไลน์ยิ่งไม่ต้องใช้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย วันที่นักเรียนต้องไปโรงเรียนควรอนุโลมเรื่องการแต่งกาย ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนก็ได้ ให้ใส่ชุดไปรเวทที่สุภาพแทน นี่เป็นพื้นฐานที่เรียบง่ายที่สุดที่กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถลดภาระผู้ปกครองและสถานศึกษาได้

"ชัยวุฒิ" จับตาพนันออนไลน์ช่วงฟุตบอลยูโร-โคปาฯ ลั่นเอาจริงจับทุกเว็บ ฮึ่ม “พริตตี้-คอลัมนิสต์-เน็ตไอดอล” โฆษณาแอบแฝงโดนด้วย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตนได้ประสานงานศูนย์ปราบการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อดำเนินการปราบปรามการกระทำผิด ลักลอบเปิดเว็บพนันออนไลน์ทุกประเภท โดยเฉพาะการเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยม และพบว่ามีการเปิดเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเล่นการพนันแพร่ระบาดอย่างหนัก ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอส และ ศปอส.ตร.ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดเป็นจำนวนมาก ตลอดจนการประสานกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปยังโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายในการร่วมมือกันเฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์พนันต่างๆ

“ผมกำชับให้ทุกหน่วยงานร่วมกันปราบปรามการพนันทุกรูปแบบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการพนันถือเป็นปัญหาระดับชาติ และส่งผลไปสู่ปัญหาในครอบครัว เนื่องจากมีการมอมเมาประชาชนทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน สร้างความเสียหายมากมายทั้งในแง่เศรษฐกิจ และสังคม” นายชัยวุฒิ กล่าว

รมว.ดีอีเอส กล่าวด้วยว่า จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ยอดการเล่นพนันทั้งออฟไลน์ และออนไลน์จะสูงมากขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขันทัวนาเมนทร์สำคัญ ดังนั้นช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลแห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2020 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ รวมถึงรายการโกปาอาเมริกา 2021 หรือฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปอเมริกาใต้ ที่จะเริ่มในช่วงไล่เลี่ยกัน ตนจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบ และค้นหาเว็บไซต์ที่กระทำผิดทั้งในลักษณะการพนัน หรือการแอบแฝงโดยการทายผลการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งหากพบการกระทำผิดกฎหมายจะดำเนินปิดทุกเว็บไซต์

“ผมไม่ได้ขู่ ผมทำจริง เพราะมีสถิติบ่งบอกว่าในช่วงที่มีมหกรรมการกีฬาใหญ่ๆ จะมีพวกที่อาศัยจังหวะมอมเมาประชาชนด้วยการจัดให้มีการทายผลการแข่งขัน เรื่องนี้ผมจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะต้องการให้ใช้โลกโซเชียล สังคมออนไลน์ กันอย่างสร้างสรรค์ และมีประโยชน์ให้มากที่สุด" นายชัยวุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ขอเตือนไปยังผู้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียโฆษณาให้ประชาชนเข้าไปเล่นการพนัน ไม่ว่าจะเป็นพริตตี้ คอลัมนิสต์ หรืออินฟูลเอนเซอร์ทั้งหลาย หากพบว่าเข้าข่ายเชิญชวนให้เล่นการพนัน ถือว่ามีความผิดด้วยเช่นกัน จึงขอให้งดการกระทำที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อในทุกประเภท ทั้งนี้ผู้ที่มีเบาะแสพนันออนไลน์สามารถแจ้งได้ที่เพจกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม https://www.facebook.com/prmdes.official/ และสายด่วนกระทรวงดีอีเอส 1212 ตลอด 24 ชม. โดยข้อมูลจะถูกปกปิดเป็นความลับ

“ประยุทธ์” หารือเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย เร่งยกระดับการค้าและการลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19

ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายรัคมัต บูดีมัน (H.E. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าอินโดนีเซียเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมาอย่างต่อเนื่อง มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ หวังว่าความรู้และประสบการณ์ของเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากความปรารถนาดีไปยังประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และภริยา พร้อมขอบคุณรัฐบาลอินโดนีเซียที่ให้การสนับสนุนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ในการอำนวยความสะดวกในการนำคนไทยกลับประเทศไทยตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19 

เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งในไทย พร้อมยืนยันจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งในระดับทวิภาคีและอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จากกลไกทวิภาคีและกรอบความร่วมมือในอาเซียนและพหุภาคีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความร่วมมือด้านการประมง ความมั่นคง การศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและดนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยต่างเห็นพ้องว่า ทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะต่อยอดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ และขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ผ่านการส่งเสริมการค้า และหาแนวทางลดอุปสรรคทางการค้าในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ สินค้าเกษตร และประมง โดยนายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย และขอให้อินโดนีเซียช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยในอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเชิญชวนให้มีการลงทุนในไทย เพิ่มเติม ซึ่งเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียกล่าวว่ายินดีสนับสนุนการลงทุนในไทย และมีภาคเอกชนของอินโดนีเซียหลายแห่งสนใจ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ยังหารือถึงความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยหวังว่าเมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย ทั้งสองฝ่ายจะขับเคลื่อนกิจกรรมและความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การศึกษาและการฝึกอบรมด้านความมั่นคงและป้องกันประเทศ รวมทั้งการปราบปรามยาเสพติด ให้มีความคืบหน้าต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันความร่วมมือกับอินโดนีเซียและอาเซียนในการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยไทยสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และหวังว่าปัญหาในเมียนมาจะสามารถแก้ไขด้วยสันติวิธี

“แรมโบ้” ยัน ไร้สัญญาณยุบสภาฯ แย้ม เงื่อนไขเดียวแยกทาง “พรรคร่วมทำงานไม่ได้” 

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวยุบสภาว่า ยืนยันว่ายังไม่มีสัญญาณยุบสภาฯจากนายกรัฐมนตรี ตามที่มีกระแสข่าวแน่นอน และการทำงานในสภาฯ ยังเป็นไปได้ด้วยดี เห็นได้จากสภาฯ เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65 วาระแรกและพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายค้านบางส่วนโหวตเห็นชอบด้วย และเวลา 1 ปีที่เหลือของรัฐบาลยังต้องเร่งรัดทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน หากไม่มีผลงานประชาชนจะไม่ไว้วางใจ และมั่นใจว่านายกฯจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะสภาฯ ไม่ได้มีความผิด และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีสัญญาณถอนตัว ทุกนโยบายของพรรคร่วมที่หาเสียงไว้ หากเป็นนโยบายที่ดีประชาชนได้ประโยชน์ก็ผลักดันเป็นนโยบายรัฐบาล

นายเสกสกล กล่าวว่า เงื่อนไขเดียวหากจะยุบสภาฯคือพรรคร่วมทำงานร่วมกันไม่ได้ เพราะมองแต่ผลประโยชน์ของตนเองหรือพรรค มากกว่าประชาชน แต่ตอนนี้ทำงานร่วมกันได้ดีมีเอกภาพ ความคิดเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่รัฐมนตรีทุกคนของพรรคร่วมรัฐบาล คิดถึงแต่ประชาชนและประเทศชาติ เหมือนกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลยังทำงานร่วมกันได้ สามารถเสนอแนะรัฐบาลผ่านเวทีสภาฯ หรือกรรมาธิการได้ แต่อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือโจมตีใส่ร้ายป้ายสีนายกฯ และครม. ทำลายขัดขวางการทำงานของรัฐบาล มากเกินไปเพราะประชาชนอาจจะเสียโอกาสได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top