Thursday, 15 May 2025
Hard News Team

(อุบลราชธานี) ตรวจยึดยาบ้า จำนวน 300,000 เม็ด ที่ชายแดน จ.อุบลราชธานี

เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.67) ที่ กองบัญชาการกองกำลังสุรนารี โดยพลตรี สมภร ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้จัดกำลังพลจาก หมวดลาดตระเวนระยะไกลที่ 1 กองกำลังสุรนารี หมวดเคลื่อนที่เร็ว กองกำลังสุรนารี หน่วยเฝ้าตรวจชายแดนที่ 22 ชุด ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ที่บัญชาการกองกำลังสุรนารี (UAV) และชุด สุนัขทหารที่ 7 กองกำลังสุรนารี ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ หลังได้รับแจ้งจากพลเมืองดี ว่ามีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี สามารถตรวจยึดยาบ้าจำนวน 300,000 เม็ด และได้ส่งมอบของกลางให้กับ สถานีตำรวจภูธรเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี  เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


 

‘ดร.ปวิน’ สวนเดือด!! ‘นางแบก’ ด่าพรรคส้ม ลั่น!! ไม่เคยจับมือ กับ ‘คนทำลายประชาธิปไตย’

(24 พ.ย. 67) ศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้โพสต์ข้อความ ‘แรง’ โดยมีใจความว่า ...

ความน่ารังเกียจของ E นางแบกบางตัว คือการสร้างวาทกรรมว่า พรรคส้มคือจุดสุดยอดของความ Jungไรทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่ตัวคุณและพรรคที่คุณสนับสนุนคือ ความ Jungไรทางการเมืองของแท้ อย่างน้อยพรรคส้มก็ไม่เคยจับมือกับคนที่ทำลายประชาธิปไตย คือแทนที่คุณจะไปด่า E พวกทำลายประชาธิปไตยเหล่านั้น กลับมาจิกกัดพรรคที่สมควรได้จัดตั้งรัฐบาล edok 

(บุรีรัมย์) แม่ทัพภาคที่ 2/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์เกียรติภูมิ 'พันโท ธีรเดช เพชรบุตร'

เมื่อวานนี้ (23 พ.ย. 67) พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์เกียรติภูมิ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ณ ช่องโอบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2/รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 พลตรี สมภพ ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี นายเกรียงศักดิ์ สมจิต ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยผู้บังคับหน่วย และส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมปฏิบัติภารกิจ ซึ่งกองกำลังสุรนารี มีแนวคิดที่จะจัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อบันทึกเรื่องราวการสู้รบของหน่วยในทุกพื้นที่ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ และเทิดเกียรติวีรชนที่เสียสละชีวิตพร้อมเลือดเนื้อ เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผืนแผ่นดินไทยตลอดมา และในครั้งนี้กองกำลังสุรนารี ได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานในชื่อ 'อนุสรณ์เกียรติภูมิ พันโทธีรเดช เพชรบุตร' 

โดยมีประวัติการสู้รบในพื้นที่ ดังนี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เวลา 10.30 นาฬิกา พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ได้นำกำลังพลออกลาดตระเวน บริเวณพื้นที่เนิน 339 ช่องจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ตรวจพบกำลังฝ้ายตรงข้าม ประมาณ 7 นาย เกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที ฝ่ายตรงข้ามได้ถอนกำลัง ออกจากพื้นที่ปะทะ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ได้นำกำลังพลไล่ติดตาม และได้เหยียบกับระเบิดของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ได้รับบาตเจ็บสาหัส ขาขาดทั้งสองข้าง และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ณ จุดเกิดเหตุ วีรกรรมของ พันโท ธีรเดช เพชรบุตร ในครั้งนั้น นับเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีของชายชาติทหาร ควรได้รับการยกย่องเชิดชู เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี และความเสียสละเพื่อประเทศชาติสืบไป ในโอกาสนี้กองกำลังสุรนารี ได้เรียนเชิญคณะญาติ และเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร เพื่อร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของพันโท ธีรเดช เพชรบุตร ดังนี้ คณะญาติ ประกอบด้วย คุณต่าย(พี่สาว) (คุณตุ้ม) และหลานสาว เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร ประกอบด้วย พลตรีกิตติศักดิ์ หนูมิตร  พลโทวิฑูรย์ ศิริปักมานนท์ พลเอกสุรพล เจียรณัย และ พลโท เดชา ปุญญบาล 

‘รองโฆษกรัฐบาล’ ชี้!! ‘ญี่ปุ่น - จีน - ฮ่องกง’ แห่ลงทุน EEC เผย!! 10 เดือน เพิ่มขึ้น 128% มูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

(24 พ.ย. 67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง รายงานผลการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ว่า ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มีมูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146% 

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอันดับ 1 จากญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท ,จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ,ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการวิศวกรรม ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงาน ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า 

น.ส. ศศิกานต์ กล่าวว่า สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 786 ราย ประกอบด้วย 1. การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย 2. การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 605 ราย เงินลงทุนรวม 161,169 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 3,037 คน โดย นักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1.ญี่ปุ่น 211 ราย สัดส่วน 27% ลงทุน 91,700 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 110 ราย สัดส่วน 14% ลงทุน 14,779 ล้านบาท 3.จีน 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 13,806 ล้านบาท 4.สหรัฐฯ 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 4,552 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 57 ราย สัดส่วน 7% ลงทุน 14,461 ล้านบาท

หลุดปม!! คดีล้มล้างฯ ภาค 2 นาทีทอง ‘อุ๊งอิ๊ง – ระบอบทักษิณ’

(24 พ.ย. 67) กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1(ทักษิณ ชินวัตร)และผู้ถูกร้องที่ 2(พรรคเพื่อไทย) ยุติการกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และศาลรธน.ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2567 นั้น มีข้อมูลและเหตุการณ์ที่ควรจะได้บันทึก-ขีดเส้นใต้วิเคราะห์เป็นข้อ ๆ พอเป็นสังเขป

1) ภาพรวม ศาลรธน.มีมติ 'ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย' คำร้องประเด็นที่ 1,และประเด็นที่3-6 (กรณีชั้น 14 และครอบงำ ชี้นำ) เป็นเอกฉันท์หรือ9ต่อ0  และมีมติ 7 ต่อ2 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในประเด็นที่ 2 (กรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา) คีย์เวิร์ดที่ศาลรธน.ไม่รับคำร้องทั้ง 6 ประเด็นอยู่ตรงข้อความ “แต่การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างฯ ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่า  น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ”

อีกทั้งประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3-6  ศาลรธน.เห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ

2) น่าขีดเส้นใต้กรณีประเด็นที่ 2 ที่มีบุคคลยิ่งกว่าวิญญูชนอย่างตุลาการศาลรธน. 2 ท่าน (นายจิรนิต หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์) เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ ซึ่งจากกรณีนี้มีนักกฎหมายหลายคนเห็นว่าหากมีการยื่นคำร้องตามรธน.มาตา 49 อีกครั้ง โดยผนวกรวมกับประเด็นที่ 1 (กรณีชั้น14) โดยเพิ่มพยานหลักฐานให้น่าเชื่อถือมากขึ้น ศาลรธน.อาจรับไว้พิจารณาก็ได้

3) มีรายงานข่าวทั้งทางเปิดและทางลับว่านายธีรยุทธจะนำข้อมูล-ประเด็นต่าง ๆ ที่ทำไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการยื่นคำร้องในช่องทางอื่น ๆ ต่อไป เขาได้ประกาศแล้วว่าการที่พรรคเพื่อไทยเตรียมฟ้องชุดใหญ่ไฟกะพริบไม่เป็นปัญหาเพราะทำด้วยสุจริตใจ สำหรับพรรคเพื่อไทยการประกาศ ‘เอาคืน’ นายธีรยุทธและผู้เกี่ยวข้องด้วยการฟ้องชุดใหญ่ กล่าวอย่างถึงที่สุดนักสังเกตการณ์ทางการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่า ‘ไม่หล่อ’ เอาซะเลย!! 

4) ผลจากศาลรธน.ไม่รับคำร้องครั้งนี้ โดยภาพรวมฝ่ายต่าง ๆ เห็นว่าศาลเป็นกลางน่าเชื่อถือ แต่แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้พรรคเพื่อไทย ตัวนายทักษิณ ชินวัตร เหมือนพยัคฆ์ติดปีก ถูกปลดล็อกจากเงื่อนปมมรณะไปได้ แม้จะมีคดีอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนผ่านป.ป.ช.,กกต.แต่กว่าจะทราบผลก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน...นานพอที่จะทำให้ 'ระบอบทักษิณ' ที่คืนชีพได้ในเบื้องต้นแล้วในวันนี้ลงหลักปักฐานได้อีกครั้ง   

5) กล่าวได้ว่าผังอำนาจ-สมการการเมืองของประเทศในขณะนี้ ปฏิเสธได้ยากว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมยังต้องใช้บริการ ‘พรรคเพื่อไทย’ ของทักษิณเป็นแกนนำรัฐบาลในการหยุดหรือตรึงพรรคส้ม..ปมปัญหาตรงนี้ว่าไปแล้วทำให้ประเทศไทยต้องมี 'ค่าใช้จ่าย' ให้กับระบอบทักษิณ..ทั้งความขัดแย้งในสังคมที่ปฏิเสธระบอบทักษิณ, กระบวนการยุติธรรมที่ถูกด้อยค่า..ฯลฯ..

6) แม้จะมีความรู้สึกของผู้คนไม่น้อยว่า ความรู้ ความสามารถในการเป็นนายกฯสองเดือนเศษยังไม่ผ่านหรือเป็นไปด้วยความทุลักทุเล แต่ภาษากายของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในขณะนี้บ่งบอกชัดเจนว่ากำลังมีความคึกคัก มีความมั่นใจกับบทบาท-ตำแหน่ง จนแทบจะอ่านใจนายกฯได้เลยว่าเธอขอเวลาอีก3-4เดือน ทุกอย่างจะเข้าที่...ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองเมื่อปมศาลรธน.ถูกถอดสลัก..เป็นโชคดีที่ตัวนายทักษิณมีเวลาที่จะฟูมฟัก  เสริมวิทยายุทธ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ..อย่างช้าผ่านไตรมาสแรกปี2568 อาจจะเห็น ‘นิวอุ๊งอิ๊ง’

7) ซาวเสียงกูรูการเมือง นักสังเกตการณ์ทางการเมืองและแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคน..สามารถสรุปได้ว่าถ้าไม่เกิดเหตุทางการเมืองแบบฟ้าถล่มดินทลาย ช่วงกลางหรือปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 อาจจะเกิดการยุบสภา...ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะทวงแชมป์เลือกตั้งกลับมาได้ และ ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะเป็นนายกฯอีกรอบ

8) ช่วยกันดูแลประเทศไทย

ดร.สามารถ’ ลั่น!! ไม่จำเป็น ต้องขยายสัมปทาน ‘ทางด่วนศรีรัช’ ชี้!! หากแก้ปัญหา รถติดหน้าด่านได้ ก็สามารถชะลอการก่อสร้าง

(24 พ.ย. 67)  นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ สัมปทานทางด่วนศรีรัช โดยได้ระบุว่า ...

‘ไม่จำเป็น’ ต้องขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช!!

มีข่าวว่าในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2578 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน แลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เพื่อช่วยแก้ปัญหารถติด แต่การแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนด้วย Double Deck จะแก้ได้จริงหรือ ? มีหนทางอื่นอีกหรือไม่ ?

รถติดบนทางด่วนส่วนหนึ่งมีผลมาจากรถติดหน้าด่านชำระค่าผ่านทาง ดังนั้น หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สามารถแก้ปัญหารถติดหน้าด่านได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องก่อสร้าง Double Deck หรือสามารถชะลอการก่อสร้างออกไปได้

ข้อเสนอแนะการแก้ปัญหารถติดหน้าด่านช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 มีดังนี้

(1) ยกเลิกด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 ด่าน ซึ่งมีรถติดมาก ประกอบด้วยด่านประชาชื่นขาออก และด่านอโศกขาออก ซึ่งจะเป็นผลให้ค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 สำหรับรถ 4 ล้อ ลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท จากเดิม 90 บาท ทั้งนี้ การยกเลิกด่านทั้งสองจะทำให้กระแสจราจรบนทางด่วนเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ไม่ติดขัด

(2) เพิ่มช่องชำระค่าผ่านทางด้วย Easy Pass ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนช่อง Easy Pass จากแบบ ‘มีไม้กั้น’ เป็นแบบ ‘ไม่มีไม้กั้น’ ให้หมดทุกช่อง ซึ่งจะช่วยให้รถผ่านด่านได้เร็วขึ้น ลดรถติดหน้าด่านได้เป็นอย่างดี

นอกจากการแก้ปัญหารถติดหน้าด่านแล้ว กทพ.จะต้องแก้ปัญหา ‘คอขวด’ บนทางด่วน ซึ่งมีอยู่หลายจุด หากทำได้เช่นนี้ ผมมั่นใจว่าจะทำให้กระแสจราจรบนทางด่วนเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับการก่อสร้าง Double Deck นั้น ผมเข้าใจว่ามีหลายคนรวมทั้งผมด้วยที่ไม่มั่นใจว่า Double Deck จะสามารถแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่สามารถแก้ปัญหารถติดที่ทางขึ้น-ลงทางด่วนได้ ด้วยเหตุนี้ กทพ.ควรทบทวนความจำเป็นของ Double Deck ให้รอบคอบว่าการลงทุนก่อสร้าง Double Deck เป็นเงินถึง 34,800 ล้านบาทนั้น คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม หาก กทพ.เห็นว่ายังจำเป็นจะต้องมี Double Deck ก็ควรชะลอการก่อสร้างออกไปอีก 11 ปี จนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังที่เคยชะลอมาแล้วในปี 2563 แต่ กทพ.จะต้องเร่งแก้ปัญหารถติดหน้าด่านรวมทั้งแก้ปัญหา 'คอขวด' บนทางด่วนดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่ง กทพ.มีศักยภาพมากพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

กทพ.อาจเป็นห่วงว่าการชะลอการก่อสร้าง Double Deck จะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทุกคนเข้าใจดีว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่ก็คุ้มกับการที่ กทพ.ไม่ต้องขยายสัมปทานให้เอกชน

อนึ่ง หากเปรียบค่าก่อสร้าง Double Deck ในปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 31,000 ล้านบาท กับค่าก่อสร้างในปี 2567 ซึ่งมีมูลค่า 34,800 ล้านบาท พบว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3% เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีต่อ กทพ. และกระทรวงคมนาคมที่จะได้สร้างผลงานชิ้นโบแดงให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งผู้ใช้ทางด่วนทุกคนที่รอคอยจะได้ใช้ทางด่วนในราคาที่ถูกลงเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2578

อย่าขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชอีกเลยครับ !!

‘เอกนัฏ – อรรถวิชช์’ นำทีมลุย!! กำจัด ‘กากพิษ – ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เร่ง!! ออกกฎหมาย บังคับใช้เข้มงวด เพื่อปราบปราม ‘โรงงานเถื่อน’

(24 พ.ย. 67) รายการข่าว3มิติ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ผนึกกำลังรวมทีมกัน เพื่อกำจัดกากพิษให้ประชาชน โดยเนื้อหาในรายการมีใจความว่า ...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า ที่แรกที่ผมไปก็คือที่ ‘วินโพรเซส’ เพื่อส่งสัญญาณว่าจากนี้ไป เราต้องไม่ปิดตา ที่มันเกิดขึ้นได้เนี่ยมันไม่ใช่เกิดด้วยความบังเอิญหรือไม่มีใครรู้ มันอยู่ที่ว่าเราจับไม่จับ ออกจับจริงมั้ยถ้าออกจับจริง ก็จะเจอแบบที่เราเจอทั้งผลิตในประเทศ ทั้งนําเข้ามา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า สิ่งที่กําลังทําขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือสั่งปราบปรามโรงงานเถื่อน 

ส่วนที่สองคือช่องโหว่ทางกฎหมายที่กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีกฎหมายเฉพาะมากํากับโดยตรง จึงได้ตั้งคณะทํางานร่างกฎหมายใหม่ในชื่อพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เจตนากฎหมายนี้ ก็เพื่อแยกโรงงานกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากโรงงานประเภทอื่นให้ชัดเจน

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใช้กํากับของเสีย พ.ร.บ.โรงงานของดี พรบ.กากกํากับดูแลของเสีย ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต้องกําจัด กากของเสียนิคมอุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบ ต้องกําจัดของเสีย และกรณีที่มีพวกที่เจตนาเป็นโจรรับกําจัดของเสียแล้วไม่ทํา กฎหมายก็ต้องรุนแรงพอที่จะไปจัดการกับพวกที่มีเจตนาเป็นโจร” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย 

ร่างพระราชบัญญัติการอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เอกนัฏ พร้อมพันธุ์กล่าวถึงมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทําหน้าที่เป็นประธานคณะทํางานร่างขึ้น

ซึ่งนายอรรถวิชช์ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า เวลาสั่งปิดโรงงาน สั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว ทําอะไรเค้าไม่ได้แล้วนะ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปแตะเค้าไม่ได้อีกเลย กากพิษก็ยังอยู่ในนั้น กว่าจะได้เงินเยียวยา กว่าจะเข้าไปเก็บกู้ซาก รอกันนานมาก

ภายใต้พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม เรามีการตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ขึ้นอีกอันนึง ทําหน้าที่ในการที่เข้าไปจัดการเยียวยาประชาชนได้ก่อนเลย รวมไปถึงเก็บกู้ได้ก่อนเลย รัฐเนี่ยแหละเข้าไปลุยฟ้องก่อน พอรัฐชนะ ค่อยเอาเงินวกกลับมาคืนกองทุน เยียวยาเร็ว กู้ซากเร็ว เอาสารพิษออกมาได้เร็ว เราไม่มีสินบนนําจับ แล้วก็ขอว่าไม่เข้าหลวงแต่มาเข้ากองทุนเลย คือสินบน เป็นศูนย์เลย เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น
.
ไม่ให้นําเข้าขยะ แต่จะให้นําเข้าเฉพาะวัตถุดิบเท่านั้น คราวนี้คุณต้องชัดเจน ห้ามมั่ว ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาคุณบี้รถยนต์เข้ามา คุณบี้มาเป็นทั้งคัน ก็บี้ส่งเข้ามา พอเข้ามา ก็มาแยกกันอีกที มันก็จะเหลือเศษที่ไม่มีความจําเป็น คราวนี้เวลาคุณเอาเข้ามาคุณเอาให้แน่ คุณไปแยกมาก่อนที่นู่นเลย ส่วนเบาะรถยนต์คุณแกะออกส่วนสายไฟแกะออกส่วนที่เป็นเหล็กแกะเข้าออก คือมันมาเป็นขยะไม่ได้ แต่ต้องมาเป็นโลหะที่มีคุณภาพ ที่ประเทศไทยถลุงไม่ได้เอง 

ร่างกฎหมายนี้ จะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วก็จะบรรจุเข้าสู่วาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมหน้า

‘สถาบันราชพฤกษ์’ เดินหน้าประชุมใหญ่ COP ที่ ‘อาเซอร์ไบจาน’ ประสานความร่วมมือ!! ในระดับโลก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับโลกที่สำคัญมากมาย ทั้งการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC การประชุมกลุ่ม G20 และการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC หรือ COP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดมุ่งหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้การประชุม COP เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1995 โดย COP1 จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นการประชุมครั้งแรกหลังการลงนามใน UNFCCC ปี ค.ศ. 1992 ที่ประชุมแต่ละปีจะมุ่งสร้างความตกลงใหม่ ๆ และประเมินความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในเป้าหมายลดโลกร้อน เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1997 เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศได้ให้คำมั่นต่อกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามรักษาไว้ที่ 1.5°C 

การประชุม COP จึงมีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี ค.ศ. 2024 ก็มีการประชุม COP29 จัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงบทบาทในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ของอาเซอร์ไบจานในฐานะประเทศเจ้าภาพมีความท้าทายและโอกาสในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะได้รับการหยิบยกกันมาหารือในที่ประชุมคือการจัดหาแหล่งเงินทุนจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือผลกระทบกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ในส่วนของไทยเรานั้น แม่งานหลักของเรื่องคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะทำหน้าที่สานต่อในส่วนของภาครัฐให้เป็นไปตามที่ไทยเราได้ลงสัตยาบันไว้ ตลอดจนจะได้แสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจ แสวงหาความร่วมมือในทุกด้านจากมิตรประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องร่วมกัน รวมถึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนการทำงานภายในประเทศ เพื่อจะออกมาตรการ กำหนดทิศทางที่ทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้กับวิกฤตินี้ต่อไป

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร

‘พรรคส้ม’ อาจถึงทางตัน! ถอยไม่ได้ไปต่อลำบาก เหตุติดกับดักความสุดโต่ง หวังอีกเฮือกเลือก ‘นายกอบจ.’

“...หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ย่อมได้เป็นรัฐบาลอย่างสง่างาม ไม่โดนพรรคร่วมขี่คอ แต่คุณทักษิณอาจยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะ หากพรรคเพื่อไทยยังน่าเกรงขาม การเจรจาให้เหล่าชนชั้นนำเห็นพ้องกันหมดยอมให้คุณทักษิณกลับบ้าน คงเป็นไปได้ยาก

แต่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งลำดับที่หนึ่ง กลับเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้คุณทักษิณได้กลับบ้าน เพราะ ชนชั้นนำทุกฝ่ายต้องสนธิกำลังสกัดพรรคก้าวไกล ไม่ให้เป็นรัฐบาล..”

เป็นมุมคิดมุมรู้สึกล่าสุดของอ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  ตรรกะก็คือ..ประโยคสำคัญก็คือเพราะพรรคก้าวไกลเป็นแชมป์เลือกตั้งทำให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาลและทักษิณได้กลับบ้าน..ซึ่งจะว่าไปก็ถูกต้อง แต่ไม่ถูกทั้งหมด..

หากจะว่าไปให้ถึงที่สุด  หากพรรคก้าวไกล(ขณะนั้น)ไม่ชูธงการแก้ไขมาตรา 112 แบบสุดโต่ง(แก้แบบยกเลิก) และมีแนวร่วมเครือข่ายแบบ ‘ปฏิกษัตริย์นิยม’ ที่เรียกขานกัน..โอกาสที่จะได้จัดร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่กับพรรคอื่นๆก็พอมี...

7 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลถูกยุบ ลอกคราบเป็นพรรคประชาชน แม้จะโหมประโคมว่า ‘ยิ่งยุบยิ่งโต’เลือกตั้งรอบหน้าจะโตเป็นสองเท่าหรือ 300 เสียง...แต่เมื่อเหลียวหลังแลหน้าดูแล้วก็ต้องฟันธงว่า..ยากมากถึงยากที่สุด...รักษาตัวเลข 151เสียง เท่ากับผลเลือกตั้งปี 2566 เอาไว้ได้ก็น่าจะเก่งแล้ว..

ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์-เงื่อนไข เหตุปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีความพร้อมพรึ่บ...แต่ปัญหา ‘ความสุดโต่ง’ ความแข็งตัวในแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันสำคัญ คือการติดกับดักตัวเอง ที่ทำให้พรรคประชาชนก้าวไม่ไกลที่ควรจะเป็น..

เมื่อเร็ว ๆ นี้พรรคประชาชนประกาศชักธงรบชิงนายกอบจ.ล็อตใหญ่ที่จะเลือกกันวันที่ 1 ก.พ.2568 จำนวน 12 จังหวัด ที่มีเป้าหมาย/โอกาสจะชนะ จากจำนวนที่จะเลือกกันทั้งหมด 47 จังหวัด..

12 จังหวัดที่พรรคประชาชนจะลงชิงชัยนายกอบจ.ประกอบด้วย..ประกอบด้วย  

1. นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เชียงใหม่ 2. นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ลำพูน 3.นายสุพจน์ สุอริยพงษ์ มุกดาหาร 4.นายอุรุยศ เอียสกุล หนองคาย 5. นายชลธี นุ่มหนู ตราด 6. นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล อบจ.ภูเก็ต 7. นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ สุราษฎร์ธานี 8. นายสุทธิโชค ทองชุมนุม พังงา 9. นายนิรันดร์ จินดานาค สงขลา 10.นางสาวนันทิยา ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม 11. นายนพดล สมยานนทนากุล สมุทรปราการ และ 12.นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ นนทบุรี

ว่ากันว่าใน 12 ผู้สมัคร..มีเพียงนันทิยา ลิขิตอำนวยชัย ว่าที่ผู้สมัครอบจ.สมุทรสงคราม ที่พอจะเห็นแสงสว่างชัยชนะปลายอุโมงค์ เหตุเพราะนายกอบจ.สายลุงป้อมคะแนนสาละวันเตี้ยลง...ที่เหลืออาจจะมีลุ้นสัก 1- 2 แห่ง

รวมความแล้ว..พรรคส้มต้องไปปรับกระบวนท่า ปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีกันใหม่..แต่ต้องเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ประเทศให้ถูกต้อง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง...เช่นถ้าสมมุติตั้งโจทย์ว่าปัญหาของประเทศคือสถาบันฯ แล้วชักธงรบ..ก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง ต้องก้าวข้ามความคิดนี้รวมทั้งการตั้งเป้ายกเลิก มาตรา 112..

อย่าคิดตายตัว ท่องคาถาว่า...เวลาอยู่อย่างข้างเรา คนรุ่นใหม่...เพราะพรรคอื่นเขาก็มีคนรุ่นใหม่เหมือนกัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่ของพรรคส้มก็เริ่มเสพติดกาแฟสภา หอมกลิ่นอำนาจ..ดังนั้นก็จงอยู่กับความเป็นจริงใช้อำนาจใช้พลังของพรรคอันดับหนึ่งในขณะนี้ให้สร้างสรรค์ ทรงพลัง ไม่หมกมุ่นอยู่กับ มาตรา 112 หรือการแก้รธน.เป็นหลัก..

นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ถ้าพรรคส้มออกจากกับดักที่ว่าได้ ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ...แต่ถ้ายังติดกับดักเดิม ๆ ก็คงอยู่ในสภาพ..ถอยหลังไม่ได้ เดินต่อไปก็ไม่ถึง(ฝัน)!!

พังงา ผู้บัญชาการทหารเรือตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพลด้วยความหว่งใยหน่วยทหารเรือในฝั่งอันดามัน

นาวาโท นพดล กิ่งเกตุ ผู้บังคับกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 นำกำลังพลในสังกัด รับฟังโอวาท พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เนื่องในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยมหน่วยงานกองทัพเรือพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 ณ ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พร้อมกันนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้แสดงความห่วงใยต่อกำลังพลที่ปฏิบัติงานห่างไกลภูมิลำเนาและเน้นย้ำถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยหลังจากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางมาตรวจโรงเลี้ยง-โรงครัว กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อรับทราบถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการ และทหารกองประจำการในสังกัด โดยเน้นย้ำด้านสวัสดิการ สิทธิกำลังพล และความเป็นอยู่ของกำลังพลในทุกส่วนและการดูแลสวัสดิการของทหารกองประจำการในด้านต่าง ๆ ให้ได้รับสิทธิตามระเบียบของทางราชการ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top