Saturday, 10 May 2025
Hard News Team

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชี้แจงข้อเท็จจริงจากข่าวลือกรณีเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ยันไม่เป็นความจริง ระบุโรงงานประกอบกิจการเสื้อผ้าสำเร็จ ไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกรณีที่มีข่าวลือว่ากรณีเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่บริเวณเขตประกอบการเสรีนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และมีผู้ได้รับผลกระทบจากการสูดดมสารเคมีจนเป็นลมจำนวนหลายคนนั้น ขอชี้แจงว่า โรงงานดังกล่าวประกอบกิจการ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดชั้นในสตรี ชุดว่ายน้ำและถุงเท้า และวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป รับจ้างผลิต และจำหน่ายหน้ากากอนามัย ซึ่งในขั้นตอนของกระบวนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น กรณีสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง

“กรณีที่เกิดขึ้น ผมได้รับรายงานจากทางนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินแล้วว่า เกิดจากการที่มีพนักงานในบริษัทฯ ดังกล่าว ได้ทำการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อแบบเข้มข้น เพื่อทำความสะอาดพื้นในบริเวณพื้นที่ทำงานซึ่งเป็นห้องปรับอากาศ พนักงานบางคนก็นำน้ำยาในขวดสเปรย์มาฉีดใส่ตัว เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทำให้อากาศไม่หมุนเวียนออกไปสู่ภายนอก ส่งผลให้พนักงานบางคนเป็นลม หน้ามืด หมดสติ โดยพบว่ามี จำนวน 17 ราย ทั้งหมดได้นำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงแล้ว ซึ่งล่าสุดบางรายกลับบ้านได้แล้ว” นายวิริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 08.15 น. ของวันที่ 12 ก.ค. 64 หลังได้รับรายงาน กนอ. ได้ให้บริษัทฯ หยุดทำการผลิตทันที และให้พนักงานกลับที่พัก และดำเนินการเปิดพื้นที่อาคารโรงงานเพื่อระบายอากาศ โดย กนอ. จะติดตามความคืบหน้าและตรวจติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และแจ้งให้ทราบในระยะต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คณะกรรมการโรคติดต่อ เคาะแล้วฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ต่างชนิดกัน เข็มแรก Sinovac เข็มสอง AstraZeneca สำหรับคนไทยทั่วไป พร้อมฉีด แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ ให้บุคลากรทางการแพทย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 7/2564 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด-19 คือ

1.) การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน

2.) การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และธำรงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์

3.) แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ Antigen Test Kit ที่ผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ โดยอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาล และหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจ RT-PCR ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำกับการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติ

4.) แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชน ในกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่อง Oximeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการจัดทีมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวหรือกลุ่มผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ในพื้นที่ กทม.

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการระบาดที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา และมีแนวโน้มแพร่เชื้อไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง หากไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มงวดมีประสิทธิภาพ

คาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,000 ราย/วัน หรือสะสมมากกว่า 100,000 ราย ใน 2 สัปดาห์ ส่งผลทำให้มีการเสียชีวิตเกิน 100 ราย/วัน จำเป็นต้องใช้มาตรการยาแรงจะดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น ห้ามการรวมกลุ่มคนมากกว่า 5 คน จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ปิดสถานที่เสี่ยง ให้พนักงาน Work from home ให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสสัมผัสโรค ลดการเคลื่อนย้าย และลดกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด

รวมถึงปรับแผนการฉีดวัคซีน ระดมฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้ได้ 1 ล้านคนภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 80% เนื่องจากกลุ่มนี้หากติดเชื้อมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-11 กรกฎาคม 2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 9,301,407 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,267,806 ราย


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

รัฐคลอดเกณฑ์จ่ายค่ารักษาพยาบาลกักตัวที่บ้าน 

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ออกหลักเกณฑ์ อัตรา วิธีการ และเงื่อนไข การเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 3) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ คือ 

1. กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และอยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งแพทย์มีความเห็นให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation) ผู้มีสิทธิสามารถเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้ ดังนี้ 
- ค่าบริการของสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยกรณีพักรอก่อนเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง วันละไม่เกิน 1,000 บาท และไม่เกิน 14 วัน
- ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,100 บาท ต่อราย
- ค่ายา ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด
- ค่าพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันบุคคลของเจ้าหน้าที่แล้ว 

2. กรณีมีอาการผิดปกติภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน หากเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ให้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนี้
- ค่าตรวจ Heparin-PF 4 antibody (lgG) ELISA assay และค่าตรวจ Heparin induced platelet activation test (HIPA) ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด เรื่อง อัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- ค่ายา IVIG (Human normal immunoglobulin, intravenous) ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด

กอ.รมน. ร่วม ทบ. จัดโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน พาคนกลับบ้าน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลลดภาระ ระบบสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิค – 19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อทำให้ติดเชื้อโดยง่าย ส่งผลให้มี ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับโดยกำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลเพื่อลดการติดต่อการสัมผัสระหว่างกัน จำกัดการเดินทางออกจากบ้านลดการเดินทางโดยไม่จำเป็นและไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
 
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิค – 19 ตามนโยบายของรัฐบาล ทุกช่องทางโดยเฉพาะการสนับสนุนการบริหารจัดการด้านระบบสาธารณสุขเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมอบให้ กอ.รมน. ได้บูรณาการร่วมกับกองทัพบก ตาม “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ทบ. และ กอ.รมน. พาคนกลับบ้าน” จัดกำลังพลและยานพาหนะรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ป่วยสีเขียว) กลับภูมิลำเนา
 
สำหรับการดำเนินการส่งผู้ป่วยกลับไปรักษายังภูมิลำเนาในครั้งนี้เป็นโครงการนำร่อง กอ.รมน.โดย กอ.รมน.ภาค3 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก, โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และกอ.รมน.จังหวัดพิษณุโลก จัด “โครงการพาคนพิษณุโลกกลับบ้าน” โดยจัดรถบัส(ไม่ติดแอร์) เคลื่อนย้ายผู้ป่วยฯจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กลับไปยังจังหวัดพิษณุโลก 

โดยมีแนวทางปฏิบัติต่อผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 (ผู้ติดเชื้อและมีผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อฯ) และกลุ่มที่ 2 (ผู้ที่มีอาการ แต่ไม่มีผลการตรวจยืนยัน) ในการ เคลื่อนย้ายกลุ่มที่ 1 กำหนดเดินทางในวันเสาร์ที่ 10 ก.ค. จำนวน 30 คน และกลุ่มที่ ๒ กำหนดเดินทางในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. จำนวน 100 คน (ที่ติดค้างอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ด้วยตนเอง) และเมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลกจะมีศูนย์คัดกรองและจัดกลุ่มผู้ป่วย (Triage Center) เข้าดำเนินการคัดกรองเพื่อเข้าระบบรักษาภายในโรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการเคลื่อนย้ายได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
 
กอ.รมน. ใคร่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตามแนวทางของ ศบค. และยังคงต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลของ สธ. (D-M-H-T-T-A) ได้แก่ D - Distancing : อยู่ห่างไว้ M - Mask wearing :  ใส่แมสก์กัน H - Hand wash : หมั่นล้างมือ T - Testing : ตรวจวัดอุณหภูมิ A – Application : หมอชนะ, ไทยชนะ และขอส่งกำลังใจไปยังประชาชนทุกคนให้ผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
 

จำให้ขึ้นใจ! แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้

โควิด-19 เชื้อร้ายแรง แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อได้ และสามารถแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้เช่นกัน

เว้นระยะห่าง การ์ดไม่ตก เพื่อตัวเรา และคนรอบข้าง


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ทบ. สนับสนุนรัฐบาลในการส่งกลับผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม. และปริมณฑล ไปรักษายังภูมิลำเนาตามความประสงค์ และตามมาตรการที่ สธ. กำหนด 

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ศบค.19 ทบ.) เปิดเผยว่าตามที่พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้หน่วยทหารทั่วประเทศดำรงการใช้ศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ สนับสนุนรัฐบาลดูแลช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมอบให้ ศบค.19 ทบ.หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนรัฐบาลดำเนินการส่งกลับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่มีความประสงค์ไปรักษายังภูมิลำเนา ตามระบบของ สธ. จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความคับคั่งของระบบ สธ.ส่วนกลาง กระจายไปยังส่วนภูมิภาค และเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้มีความปลอดภัย

สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้ ได้ใช้ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก (กทม.) โทร. 02-270-5685-9 และ 02-615-0269 เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลและวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบร่วมกับศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพภาค ในการยืนยันความพร้อมรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาของ สธ. ในพื้นที่ และดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยใช้กลไกศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 กองทัพบก และกองทัพภาค สนับสนุนกำลังพลพร้อมยานพาหนะที่เหมาะสมต่อจำนวนผู้ป่วย, ระยะเวลาการเดินทาง และลักษณะเส้นทาง พร้อมจัดบุคลากรสายแพทย์ร่วมขบวน เพื่อประเมินสถานการณ์ กำกับดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานทางการแพทย์และแนวทางการป้องกันควบคุมโรคตามหลัก สธ. ซึ่งกองทัพบกได้กำหนดพื้นที่รวมการ รองรับผู้ป่วยใน กทม. และปริมณฑล ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อประเมินสภาพร่างกายและอาการให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังจุดรับ-ส่งผู้ป่วยที่แต่ละกองทัพภาคจัดเตรียมไว้ ประกอบด้วย กองทัพภาคที่ 2 รพ.ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา, กองทัพภาคที่ 3 รพ.ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ และกองทัพภาคที่ 4 รพ.ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้กำลังพลทุกนายที่เกี่ยวข้องในภารกิจครั้งนี้ ปฏิบัติตามแนวทาง ศบค. ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พลอย่างเคร่งครัด พร้อมสวมใส่เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความปลอดภัยในภารกิจ ส่งกลับผู้ป่วยไปรักษายังภูมิลำเนาได้ตรงตามความต้องการ                                               

ทบ.ยกระดับมาตรการ “พิทักษ์พล” ขยายการตรวจเชิงรุกหาโควิด ให้กับกำลังพลและครอบครัว ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 รพ.ทบ.” ขับเคลื่อนนโยบาย Home isolation 

.ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบกเปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง ศบค.มีนโยบายขยายการตรวจเชิงรุกเพื่อเร่งแยกผู้ติดเชื้อออกจากประชาชนทั่วไปโดยเร็ว ลดการแพร่กระจายเชื้อ ในส่วนของกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ความสำคัญกับนโยบายพิทักษ์พล ที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 มีนโยบายให้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ให้กับกำลังพลและครอบครัวเร่งด่วน ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้มอบให้

กรมแพทย์ทหารบกโดยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร เข้าดำเนินการ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านพักข้าราชการส่วนกลาง ซึ่งมีกำลังพลและครอบครัวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อในระยะแรกเริ่ม ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ตลอดจนลดภาระด้านสาธารณสุขนอกจากนั้นยังจะทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในหน่วยทหารมีประสิทธิภาพ
                                                                                                                การดำเนินการตรวจเชิงรุกดังกล่าว ได้เริ่มตั้งแต่เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 64) 
โดยจัดชุดตรวจเคลื่อนที่ดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่พักอาศัยของอาคารสงเคราะห์กองทัพบกส่วนกลาง เกียกกาย เป็นลำดับแรก และจะดำเนินการตรวจตามความเร่งด่วนและสถานการณ์การแพร่ระบาด ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตามลำดับ อาทิ บ้านพักข้าราชการ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 แจ้งวัฒนะ, กอง สรรพาวุธเบาที่ 1 , กองทหารพลาธิการ กองพลรักษาพระองค์ที่ 1 รักษาพระองค์ เขตหลักสี่, 
กรมพลาธิการทหารบก จ.นนทบุรี เป็นต้น ทั้งนี้ กองทัพบกได้เริ่มดำเนินการตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ให้กับกำลังพลทุกระดับ ที่ได้ปฏิบัติตามมาตรการ WFH (Work From Home) และกลับมาปฏิบัติงานในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมาและในช่วงเช้าวันนี้ (12 ก.ค. 64) พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ไปตรวจเยี่ยม จุดบริการตรวจเชิงรุก ณ อาคารสงเคราะห์กองทัพบกส่วนกลาง เกียกกาย ซึ่งดำเนินการตรวจเป็นวันที่ 2 พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดตรวจ และกำลังพลที่เข้ารับการตรวจ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ณ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก เกียกกาย
                                                                                                                    นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก” ให้ 37 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกทั่วประเทศ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ทั้งกำลังพลและครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียว (ไม่แสดงอาการหรืออาการเล็กน้อย) สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน (Home isolation) ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล และลดภาระงานในสถานพยาบาล
ให้สามารถรักษาผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างเต็มที่ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่รับผิดชอบ และพิจารณาผู้ติดเชื้อสีเขียวที่ประสงค์จะรักษาที่บ้าน มีที่พักอาศัยตามลักษณะที่สาธารณสุขกำหนด ภายใต้การดูแลรักษา ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง จากโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกผ่านระบบสื่อสารต่างๆ และมีระบบรับ-ส่งผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กองทัพบกเชื่อมั่นว่าการดูแลผู้ติดเชื้อที่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home isolation) จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ได้เข้าถึงระบบการดูแลรักษาของสาธารณสุข ลดการสูญเสียชีวิต อีกทั้งลดภาระงาน
ของสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละ ทุ่มเท ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ อย่างดีที่สุด

แบงก์ชาติ รับโควิดรอบนี้กระทบศก.หนักเกิดคาด

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ ว่า ขณะนี้พบว่า การล็อกดาวน์รอบล่าสุดที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ ซึ่งตอนนี้จะประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยขอรอดูผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจริงก่อน จากนั้นจึงมาสรุปอีกครั้งว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบมากแค่ไหน 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด ก็ได้หารือถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยที่ประชุมได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ในเดือนมี.ค. โดยเหตุผลสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่มีความรุนแรงและกระจายในวงกว้าง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดในระลอกสาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาด จากการระบาดที่รุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7 แสนคน จากประมาณการเดิม 3 ล้านคน 

พร้อมกันนี้ยังประเมินความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ การระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง ปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหาการชะงักของห่วงโซ่การผลิตที่อาจรุนแรงกว่าคาด

รัฐหาทางแก้หนี้สัญญาเงินผ่อนช่วยเหลือผู้บริโภค

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.กำลังหาทางช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน โดยเตรียมปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เกี่ยวกับกรณีการขายทอดตลาดที่ไม่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อทุกประเภท โดยเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งล่าสุดคณะอนุกรรมการกำลังไปศึกษาแนวทางการช่วยเหลือ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอให้ทางคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาพิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้ในแนวทางการช่วยเหลือ สคบ. ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือแก้ปัญหาด้วย เช่น กรณีของการคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อนั้น ที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดอัตราไว้อย่างชัดเจน ล่าสุดได้ขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางปรับปรุงและออกข้อกำหนดมารองรับให้ครอบคลุมถึงส่วนนี้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในกรณีที่ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยเกินจริง 

ส่วนการติดตามทวงถามหนี้ ที่ผ่านมาสคบ.ได้หารือเบื้องต้นกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีกฎหมายดูแลเป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยสคบ.จะประสานแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มเติม เช่น การติดตามทวงถามหนี้จะผ่อนปรนได้อย่างไรบ้าง การติดตามทวงถามรายวันทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง และสามารถปรับลดลงได้อย่างไร เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นหนี้ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง 

เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ที่ผ่านมา สคบ. เคยเชิญผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่มีสัญญาเช่าซื้อกับผู้บริโภคมาหารือ ถึงแนวทางการผ่อนปรนในช่วงวิกฤตโควิดครั้งนี้จะช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง เช่น การลดค่าธรรมเนียม การพักชำระหนี้ หรือการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป

นายวิทเยนทร์ มุตตามระ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับวัคซีน พร้อมแนะ 10 สิ่ง ที่รัฐบาลต้องสื่อสารอธิบายให้ประชาชนเข้าใจทั่วถึง

จากเฟซบุ๊ก Vittayen Muttamara โดยนายวิทเยนทร์ มุตตามระ ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องวัคซีน ที่วันนี้รัฐบาลควรแจกแจงต่อประชาชนอีกครั้งให้ชัดเจน ไม่ควรปล่อยให้เกิดความเข้าใจผิดกันจนกลายเกิดการบิดเบือนไปในวงกว้างว่า...

เรื่องวัคซีน สิ่งที่รัฐบาลต้องสื่อสารอธิบายให้ประชาชนเข้าใจทั่วถึง

1.) ปัจจุบันเรามีวัคซีนบริการประชาชน 3 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค, แอสตร้าเซเนก้า, และวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม

2.) เหตุที่เรายังไม่มีตัวอื่น ๆ ไม่ใช่เพราะเราช้า แต่เพราะตอนนี้วัคซีนทุกตัวมีคนจองคิวรอมาก ในขณะที่กำลังการผลิตของทุกเจ้ายังไม่ทันยอดการจองทั่วโลก

3.) ทุกประเทศมีปัญหาคล้ายกันหมด เว้น ประเทศผู้ผลิตวัคซีนเอง

4.) วัคซีนทุกยี่ห้อวิจัยคิดค้นในช่วงที่ไวรัสกลายพันธุ์ยังไม่แพร่หลายขนาดนี้ ดังนั้น วัคซีนทุกตัวยังตามวิวัฒนาการของไวรัสไม่ทัน

5.) เราเชื่อว่าวัคซีนทุกตัวกันป่วยหนักและป้องกันการเสียชีวิตได้ เมื่อวันนี้ปรากฏประสบการณ์ว่ามีพยาบาลฉีดซิโนแวคครบสองเข็มแล้วเสียชีวิต เราจะเร่งหาสาเหตุ และปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน รวมถึงการกระตุ้นวัคซีนเข็มสามในกลุ่มบุคคลากรด่านหน้า

6.) จำนวนวัคซีนที่เราได้รับจริงแล้วจากแอสต้าเซเนก้า เรารับมาแล้วเท่าไร แต่ละเดือนเราจะได้รับเท่าไร เอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเปิดเผย ถ้าเราจะได้ไม่ถึง 10 ล้านต่อเดือน ก็ต้องพูดความจริงชัดๆ

7.) การที่เราไม่เข้าโครงการโคแว็ค ไม่ใช่ข้อผิดพลาด และทุกวันนี้โครงการโคแว็คเองก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีวัคซีนกระจายให้ประเทศที่เข้าร่วมโคแว็ค

8.) เราจะได้วัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ ภายในสิ้นปีนี้ มียี่ห้ออะไรบ้าง ยี่ห้อไหนจะมาเท่าไร

9.) ปัญหาเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ทุกประเทศ เผชิญการระบาดระบอกใหม่ทั้งโลก แม้ประเทศที่ฉีดวัคซีนไปมากแล้วก็เจอ พิสูจน์ได้ว่าไม่ว่าฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนก็หนีปัญหานี้ไม่พ้น เช่น อเมริกา ฉีด mRNA ไปแล้วประมาณร้อยละ 60 ตอนนี้ก็เกิดระบาดระลอกใหม่

10.) ต้องทำให้ประขาชนรับรู้ว่ารัฐบาลจริงใจ ให้ข้อมูลครบถ้วน อะไรที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็แอ่นอกรับความจริง

เข้าใจว่าแทบทุกข้อรัฐบาลเคยประกาศไปแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ สาเหตุหลักเป็นเพราะระบบการสื่อสารของรัฐยังไม่เข้มแข็งพอ และยังไม่เป็นเอกภาพพอ

#สู้ๆ #เราจะฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน

 

 

ที่มา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10158664667902955&id=675347954


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top