ครม. ไฟเขียวอนุมัติเงินกู้ เยียวยาล็อกดาวน์ 10 จังหวัด จ่ายชดเชยเพิ่ม 5 กลุ่มอาชีพ คนละไม่เกิน 1 หมื่นบาท พร้อมลดค่าน้ำค่าไฟ 2 เดือน
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
สำหรับมาตรการ จะช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้เสนอ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท
สำหรับช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ และมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มจากเดิม 4 สาขาอาชีพ เป็น 9 สาขาอาชีพ โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 5 สาขา ได้แก่
1.) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
2.) สาขาการขายส่งและการขายปลีก
3.) สาขาการซ่อมยานยนต์
4.) สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ
5.) สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา
ทั้งนี้ ระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน โดยลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ได้รับการช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน และลูกจ้างที่ได้รับชดเชยจะได้รับเงินเดือน 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 7,500 บาท รวมกับเงินช่วยเหลือไม่เกินคนละ 10,000 บาท
สำหรับผู้ประกอบการจะได้รับรายละ 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน จำกัด ไม่เกิน 200 คน เหมือนกับกรณีมาตรการล็อกแคมป์คนงานที่ผ่านมา ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท
นอกจากนี้ ลดค่าน้ำค่าไฟ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.) ลดค่าไฟ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.)
2.) ลดค่าน้ำ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.)
สำหรับ 4 กิจการที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาที่อยู่ในระบบประกันสังคม ไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
1.) กิจการก่อสร้าง
2.) กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
3.) กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
4.) กิจการบริการอื่น ๆ
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินเยียวยาตามสิทธิฯ อาทิ เงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไปแล้ว 17,920 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 87 ล้านบาท
แบ่งเป็น กิจการก่อสร้าง 16,468 ราย เป็นเงิน 79,801,420.45 บาท กิจการร้านอาหารและภัตตาคาร 1,452 ราย เป็นเงิน 7,829,613.35 บาท โดยเป็นการตัดจ่ายทุกวันศุกร์ และนำจ่ายเงินให้ลูกจ้างทุกวันจันทร์ ซึ่งคนงานในกิจการก่อสร้างจะได้รับเป็นเงินสด ส่วนกิจการอื่น ๆ จะโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรง
สำหรับกรณีลูกจ้างที่ยังไม่ได้เงิน ขอให้เร่งดำเนินการ ดังนี้
1.) ให้นายจ้างรับรองในระบบ e-service ว่ามีลูกจ้างกี่ราย หยุดงานตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน
2.) ลูกจ้างต้องยื่นแบบ สปส. 2 - 01/7 ให้แก่นายจ้างส่งต่อให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อการพิจารณาวินิจฉัยจ่ายเงินโดยเร็วต่อไป
ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/657891
โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9
