Tuesday, 8 July 2025
Hard News Team

'นายกฯ' สั่งไล่เช็คบิลเอสเอ็มอีฮั้วประมูล พบทุจริตเจอโทษหนัก 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ว่า การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี จะต้องหาแนวทางให้สามารถดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการช่วยเหลือดูแลของรัฐบาลได้ ซึ่งเรื่องการขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอีนั้นพบว่า ตัวเลขจำนวนเอสเอ็มอีของภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชนยังไม่ตรงกัน จึงขอให้ช่วยกันบริหารจัดการข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องการใช้ฐานข้อมูล และระเบียบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 

ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้เร่งรัดเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือมาโดยตลอด สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจ ขับเคลื่อนทุกอย่างในการยกระดับเอสเอ็มอีให้ดีขึ้น  

คาด! ใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์เงียบเหงา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันวาเลนไทน์ พบว่า วัยรุ่นให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากที่สุด 50.3% รองลงมาคือวัยทำงานให้ความสำคัญ 42.2% และคู่สมรสให้ความสำคัญน้อยที่สุด 7.5% ส่วนความเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศในวันวาเลนไทน์ในปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า ปี 2565 จะมีความคึกคักน้อยกว่า ปี 2564 ถึง 51.8% เนื่องจากจากมองว่า เศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพงขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ลดลง มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยและภาวะตกงาน

สำหรับ คำถามการสำรวจที่ถามว่า ความรักของท่านคืออะไร ผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวม มากที่สุดร้อยละ 26.3% ตอบว่า ความรัก คือ ความรับผิดชอบ และรองลงมา 21.6 % คือ ความเข้าใจ ทั้งนี้ช่องทางการบอกรักและอวยพรในวันวาเลนไทน์ ช่องทาง การบอกต่อหน้า มีมากที่สุด 52.6% และค่าใช้จ่ายเฉพาะซื้อของสำหรับมอบให้คู่รัก เฉลี่ยรวมจะอยู่ที่ 840.25 บาทต่อคน

‘แรมโบ้’ นัด 17 ก.พ. เตรียมหอบล้านรายชื่อ ร้อง ‘กรมการปกครอง-สมช.’ ขับ ‘แอมเนสตี้’ พ้นไทย

‘แรมโบ้’ ลั่นล่ารายชื่อเกินล้านแล้ว เตรียมร้อง ‘มท.-สมช.’ ขับ ‘แอมเนสตี้’ พ้นไทย อ้างทำลายความมั่นคงของประเทศ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี รับเรื่องพร้อมรายชื่อภาคประชาชนจำนวน 1,200,000 ชื่อ ทั้ง 4 ภาค ที่ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อขับไล่กลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จากนายอานนท์ แสนน่าน ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย และอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง ที่ยื่นเพื่อขอให้นำไปยื่นต่ออธิบดีกรมการปกครอง และพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

นายเสกสกล กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นไปตามที่ตนได้ประกาศไว้ว่าจะขอล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ ซึ่งขณะนี้ได้ครบจำนวนแล้ว เพื่อขับไล่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนื่องจากจุดประสงค์ของประชาชนที่ได้มายื่นหนังสือต่อตน เพราะไม่ต้องการให้องค์กรชั่วๆ เลวๆ นี้มาทำลายความมั่นคง และทำร้ายสถาบัน ทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ
 

'นายกฯ' หารือ 'ออท.สาธารณรัฐสโลวักฯ' เห็นพ้องสานต่อการค้าการลงทุน ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพบริหารจัดการน้ำ และขยะ โดยต่างสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-EU ให้สำเร็จ 

ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายยาโรสลัฟ เอาต์ (H.E. Mr. Jaroslav Auxt) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักประจำประเทศไทย ว่า ยินดีที่ไทยกับสาธารณรัฐสโลวักมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและเป็นมิตรที่ดีต่อกันเสมอมากว่า 40 ปี โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไทยพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักฯ อย่างเต็มที่ พร้อมหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสานต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน และริเริ่มความร่วมมือในสาขาใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ พร้อมกล่าวอวยพรเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักฯ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ขณะที่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้าเยี่ยมคารวะในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ได้หารือร่วมกันในประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักฯ พร้อมสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือกับไทยในสาขาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการขยะและของเสีย ซึ่งเป็นสาขาที่สาธารณรัฐสโลวักเชี่ยวชาญและมีศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ของไทย ซึ่งจะส่งผลถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 

โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและสาธารณรัฐสโลวักยังมีโอกาสและช่องทางที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีต้องการเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นอย่างสมดุล ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าทางการค้า พร้อมทั้งเชิญชวนให้นักลงทุนจากสาธารณรัฐสโลวักเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง 3 กลุ่มที่ไทยสนับสนุน

นักลงทุนสโลวักสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของไทยในการเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าสู่ตลาดอาเซียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Joint Commission on Economic Co-operation: JEC) ไทย-สโลวัก ครั้งที่ 1 ในระดับ ผู้แทนระดับสูง เพื่อเป็นช่องทางในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน ตลอดจน สนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักฯ ยืนยัน พร้อมให้การสนับสนุนการเจรจาดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป จะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี

"พรรคกล้า" ยื่น 8,000 รายชื่อ เสนอบทลงโทษ ส.ส. โดดประชุมสภา ตัดเงิน - ตัดสิทธิ ลง ส.ส. สมัยหน้า ระหว่างยื่น สภาฯ ล่มซ้ำ เสนอ กก.จริยธรรมสภาฯ สอบ ส.ส.ทำสภาล่ม

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ พร้อมผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแพทย์ สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุม เพิ่มโทษทางวินัยแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บกพร่องในการทำหน้าที่ พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนแนวคิดนี้กว่า 8,000 รายชื่อ

นายพงศ์พล กล่าวว่า ส.ส. คือตัวแทนประชาชน หนึ่งในหน้าที่สำคัญตามที่รัฐธรรมนูญระบุคือ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ทำหน้าที่แทนประชาชนในทางนิติบัญญัติที่สำคัญยิ่ง แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่จริง ส.ส. หลายท่านกลับไม่มาแสดงตัวที่สภา เป็นเหตุให้ "สภาล่ม" เพราะแสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาของสภาชุดนี้ ตั้งแต่ 24 ก.ค. 2562 ถึง 4 ก.พ. 2565 เกิดสภาล่ม ถึง 16 ครั้ง ผลาญภาษีประชาชนกว่า 66.8 ล้านบาท หากเวลาในสมัยประชุมสภา ถูกใช้ไปกับ ”สภาล่ม” ไม่ว่าจะด้วยความไม่มีวินัย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจทำให้องค์ประชุมไม่ครบ

นอกจากเป็นการสิ้นงบประมาณแผ่นดิน ยังเป็นการเอา “ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ” มาเป็นตัวประกัน.. เพราะกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ที่ออกมาเพื่อแก้ความเดือดร้อนปวงชน ต้องหยุดชะงักเพราะ "สภาล่ม” อาทิ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษา (17 ก.ย. 2564),  ญัตติด่วนแก้ไขเรื่องวิกฤติ (1 ก.ค. 2564), ร่าง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ (15 ธ.ค. 2564) , รายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ (17 ธ.ค. 2564) , ร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (19 ม.ค. 2565), ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต สุรา (2 ก.พ. 2565) และอื่นๆอีกมาก 

นายพงศ์พล กล่าวอีกว่า นักเรียนขาดเรียน ยังโดนตัดคะแนน พนักงานเงินเดือน ขาดงาน ยังโดนตัดเงิน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติที่รับเงินเดือนเต็มจากภาษีประชาชน แต่ขาดความรับผิดชอบในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ ควรมีมาตราการลงโทษทางวินัย เราจึงเสนอเปลี่ยนข้อบังคับการประชุม เพิ่มบทลงโทษทางวินัย แก่ส.ส. ที่ไม่แสดงตน 3 ประการ คือ 1. การตัดเงินเดือนในวันที่ไม่แสดงตัว โดยคิดเป็นอัตรารายวัน คำนวนจากฐานเงินเดือน หารด้วยจำนวน 30 วัน หากไม่มีจดหมายลาแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร

2. เมื่อ ส.ส.ท่านใด ขาดการแสดงตัวเกินร้อยละ 25 จะถูกคาดโทษ “ใบเหลือง” คือ การจำกัดสิทธิในการโหวตรับรองร่างกฎหมาย และการอภิปรายในการประชุม 2 ครั้ง และ3. เมื่อ ส.ส.ท่านใด ขาดการแสดงตัวเกินร้อยละ 50 จะถูกคาดโทษ “ใบแดง” คือ การจำกัดสิทธิการสมัครลงรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ในสมัยเลือกตั้งหน้า ซึ่งโทษใบแดง อาจดูรุนแรง แต่ทั้งหมดถูกอ้างอิงจากโทษของประชาชนทั่วไป ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยังโดนตัดสิทธิการสมัคร และการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ถึง 2 ปี ขณะที่ ส.ส.ที่ถูกเลือกเข้ามาโดยประชาชน แต่มีประวัติจำนวนการแสดงตัวในสภาต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง หรือกระทั่งไม่เคยแสดงตัวโหวตร่างกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่มีโทษทางวินัยแต่อย่างใด 

นายพงศ์พล กล่าวด้วยว่า การทำหน้าที่ในสภา เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลส.ส. มีอำนาจโหวต เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง แต่การใช้เครื่องมือในการเดินหนี ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย มีสิทธิ แต่ไม่ใช้ ไม่ต่างจากการบอยคอตเลือกตั้งที่มีมาในอดีต เพราะฉะนั้นกรอบข้อบังคับการประชุมต้องรัดกุมกว่านี้ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ ให้ภาษีของประชาชนเสียหาย พร้อมขอชื่นชม ส.ส. ทุกท่านทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งใจทำงานและแสดงตน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอจากพรรคกล้าและประชาชนกว่า 8,000 คน ที่หวังดีต่อประเทศ อยากให้การการประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอยากให้การเมืองมีคุณภาพมากขึ้น

'รศ.หริรักษ์'​ โพสต์!! อย่าเพิ่งด่วนสรุป 'สาธิตมธ.'​ ล้างสมองเด็ก​ ด้วยหลักสูตรบิดเบือนชาติ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก​ ระบุว่า... 

อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพยายามล้างสมองเด็กนักเรียน

เรื่องทั้งหมดมีอยู่ว่า รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี หรือ อ.อ้อ เพิ่งเกษียณอายุในปีที่ผ่านมา พ้นจากตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตัวเขาเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งทั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ อ.อ้อ ให้สัมภาษณ์ Mappa Learning เกี่ยวกับโรงเรียนสาธิตซึ่งมีเนื้อหาการสัมภาษณ์มากมาย แต่มีคนเลือกเฉพาะข้อความบางข้อความไปโพสต์ใน social media เช่น ไม่ต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ต้องสวดมนต์ตอนเช้า ไม่มีลูกเสือและเนตรนารี ไม่ต้องมีเครื่องแบบ เมื่อคนได้เห็นโพสต์เช่นนี้ บวกด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระยะหลัง จึงแสดงความเห็นกันอย่างอื้ออึงว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังล้างสมองเด็กหรือไม่ สังคมบางส่วนถึงกับเชื่อไปแล้วด้วยซ้ำ 

ยิ่งพอได้ทราบว่า ได้มีการเชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล มาพูดถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้คณะครูฟัง ยิ่งทำให้มีคนสงสัยว่า จะมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ออกปากว่า จะให้ตรวจสอบหลักสูตรว่าเป็นอย่างไร 

ย้อนหลังกลับไปเมื่อตอนที่ผมยังเด็ก ผมและเพื่อนๆ ไม่เคยมีความสุขในการเรียนหนังสือเลย เพราะถูกบังคับในทุกเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการบังคับที่ไร้สาระ การลงโทษนักเรียนโดยการตีส่วนใหญ่ก็ไม่สมเหตุผล เป็นไปตามอารมณ์ครู มาถึงรุ่นลูกซึ่งไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกับผม การลงโทษแบบเดิมหมดไป แต่ก็ลูกชายผมก็ไม่ได้เรียนอย่างมีความสุข แม้จะได้รางวัลเรียนดีทุกปี เพราะมีการบังคับแบบอื่นที่ไร้เหตุผล จนกระทั่งส่งไปเรียนระดับมัธยมปลายที่ประเทศ New Zealand เขาจึงเรียนอย่างมีความสุข แม้โรงเรียนที่เรียนจะเป็นโรงเรียนประจำ มีระเบียบควบคุมไม่น้อย แต่ระเบียบเหล่านั้นล้วนสมเหตุสมผล 

เมื่อมาเห็นโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็รู้สึกว่า น่าอิจฉาเด็กสมัยนี้ ที่มีโรงเรียนอย่างนี้ให้เลือกเรียนได้ ผมจึงไม่เคยรู้สึกต่อต้านวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่อย่างใดเลย แม้จะให้เสรีภาพกับนักเรียนมากไปสักนิดก็ตาม 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งโรงเรียนสาธิต เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ จะว่าไปอ.อ้อก็เคยเป็นลูกศิษย์ผม แม้ผมไม่เคยสอนเขาโดยตรง เพราะเขาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ผมสอนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แต่อ.อ้อ เคยเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณปี 2522 ในขณะที่ผมเป็นผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ขณะนั้นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ก็คือ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) ต้องทำงานเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา จนกระทั่งมีความสนิทสนมกันมากพอสมควร

ก่อนจะโอนมาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.อ้อ เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นคณบดีคณะสิ่งแวดล้อม และเป็นรองอธิการบดีในสมัยที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นอธิการบดี จึงได้เจอกันในการประชุมต่างๆ​ เป็นครั้งคราว 

นอกจากเจอกันในที่ประชุมต่างๆ​ แล้ว บรรดานักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างปี 2522-2526 จะนัดมาพบปะรำลึกความหลังกันที่บ้านผมเป็นประจำทุกปี แน่นอนว่าคนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร และภรรยา เป็นการจัดเลี้ยงแบบ potluck ต่างคนต่างหิ้วอาหารมากันคนละอย่าง เจ้าของบ้านก็ทำสัก 2 อย่าง ทำอย่างนี้มาทุกปี เพิ่งมาเว้นได้ 2 ปี เพราะสถานการณ์โควิด อ.อ้อในระยะหลังก็มาร่วมงานด้วยเกือบทุกปี 

เรียกได้ว่า ผมรู้จัก อ.อ้อ ค่อนข้างดี และเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี จึงเชื่อว่า เขามีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทาง และเมื่อพูดถึงเรื่องสถาบัน อ.อ้อแม้ไม่ใช่คนที่เทิดทูนจนถึงระดับ "คลั่งไคล้สถาบัน" แต่ตลอดเวลาที่รู้จักกันมา ยังไม่เคยได้ยินคำพูดที่เป็นการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์จากปากอ.อ้อ แม้แต่คำเดียว

'ไทย-ฮังการี' สานต่อความสัมพันธ์และมิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนาน พัฒนาความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ต้อนรับ นาย Sandor Sipos (ชานโดร์ ชีโปช) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ เอกอัคราชทูต.ฮังการีประจำประเทศไทย

โดย ทั้งสองฝ่ายได้ชื่นชมความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือของทั้งสองประเทศด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การพัฒนาความร่วมมือที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นในทุกด้าน อีกทั้งความร่วมมือกันในภารกิจรักษาสันติภาพ
   
รมช.กลาโหม ได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศที่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องการค้าการลงทุน การบริหารจัดการน้ำ การศึกษา รวมถึงทางการทหารและขอบคุณทางฮังการีที่บริจาควัคซีนให้กับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

‘ชนินทร์’ ซัด ‘บิ๊กตู่’ ยิ่งอยู่ยิ่งเจ๊ง ยิ่งแจกยิ่งจน!! หวั่นชาติล่ม จมอยู่ 8 ปี สร้างหนี้ 10 ล้านล้านบาท

วันที่ 10 ก.พ. 65 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับก๊วน 3 ป. ว่า การประชุมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นับครั้งไม่ถ้วน แต่เหตุใดตัวเลขผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

หากดูจากตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์ในปี 2560 อยู่ ที่ 7.7 ล้านคน เพิ่มจนมาสูงสุดที่ 14.6 ล้านคนในปี 2562 หรือคิดเป็น 22% ของคนทั้งประเทศ และหากพลเอกประยุทธ์ มีการขยายสิทธิ์ใหม่ในปี 2565 ภายหลังปรับกฎเกณฑ์ตามมติ ครม. ที่ตั้งเป้าผู้เข้าร่วม 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในทันที ในขณะที่ตัวเลขคนจนไม่ได้ลดลง ในเวลาเดียวกันพลเอกประยุทธ์ ก็เดินหน้ากู้จนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 9.64 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 10 ล้านล้านบาท หรือ 59.57% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ บริหารประเทศแบบกู้แหลก แต่สร้างผลขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้น้อย เพราะตัวเลขหนี้สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคพลเอกประยุทธ์ ที่โตเฉลี่ยเพียง 1.66% นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศภายหลังจากทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ขัดแย้งกับผลงานโดดเด่นในเรื่องของการกู้ และยังใช้งบประมาณไปกับโครงการประชานิยมรวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท อาทิ

1.) งบประมาณที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ใช้ในโครงการประชานิยมในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งมี 19 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 8.78 แสนล้านบาท
2.) โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร ตั้งแต่ปี 2562/63 - 2564/65 ใช้งบประมาณ 2.61 แสนล้านบาท
3.) โครงการต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมมากกว่า 6 โครงการ ในปี 2563-2564 ทั้งคนละครึ่ง 4 เฟส, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้, บัตรคนจน, เราเที่ยวด้วยกัน ใช้งบประมาณรวมทั้งหมดรวมกว่า 1.15 ล้านล้านบาท จากกรอบวงเงินที่กู้ได้ 1.5 ล้านล้านบาท

'อนุทิน' ชี้  ค้านรฟฟ.สายสีเขียว คือเห็นต่างในการทำงาน ยัน ไม่เกี่ยวสัมพันธ์พรรคร่วมรบ. บอก ถ้า มท. ไม่แก้ตามความเห็น ก็ โหวตโน ลั่น ‘รู้สี่รู้แปด รู้ใหญ่รู้เล็ก’ ไม่คิดตีตัวเทียบ บิ๊กป๊อก ให้นายกฯ ต้องลำบากใจ ระบุ ไม่ต้องการมีคดี หลังพ้นเก้าอี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ 7 รัฐมนตรีพรรค ภท. ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในอนาคตหรือไม่ ว่า ต้องดูเป็นประเด็นๆ ไป เพราะกระทรวงคมนาคมได้ทำความเห็นออกมาแล้วเป็นหนังสือ 8 ฉบับ และหากกระทรวงคมนาคมคลายความกังวลหรือข้อวิตกแล้วก็ดำเนินต่อไปได้

เราไม่ได้ไม่เห็นชอบเรื่องต่อหรือไม่ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เราต้องการความชัดเจนขอให้ทำตามขั้นตอนที่ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคมเห็นว่ายังขาดอยู่คือเรื่องการรับโอนทรัพย์สินจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มอบให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือเป็นส่วนเดียวที่คมนาคมเกี่ยวข้อง เมื่อถามว่าหากสุดท้ายกระทรวงมหาดไทย และกทม. แก้ไขแล้วยังไม่ตรงกับที่กระทรวงคมนาคมต้องการจะมีผลอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่าต้องไปถามนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะกระทบความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่เกี่ยว นี้เป็นเรื่องความเห็นของการทำงานที่ครม. มีสิทธิเห็นไม่ตรงกันได้ 

 “ถ้าให้ภารกิจนี้เดินต่อไปก็ต้องลงมติ แต่ถ้าคนที่เห็นว่ายังผิดอยู่เขาสามารถสงวนสิทธิได้และเป็นสิ่งที่พรรค ภท. ทำมา ไม่ได้ขัดขวางอะไรเลย และที่เราไม่เข้าประชุมครม. เพราะเห็นมีการบรรจุวาระดังกล่าวเข้ามาล่วงหน้าและก่อนหน้านี้ก็ได้นำความกราบเรียนนายกฯตลอดเวลา เรามีความลำบากใจในประเด็นนี้ และถ้าจะให้ผ่านไปโดยไม่ต้องทะเลาะโต้เถียงกันหรือปะทะคาคมกัน ชี้แจงกันไปกันมาทำตรให้บรรยากาศการประชุมเสียเราจึงทำความเห็นเป็นหนังสือชี้แจงเหตผลของทั้ง 7 คนไป ซึ่งเราก็นึกว่าเรื่องผ่านไปแล้ว” นายอนุทิน กล่าว

 เมื่อถามว่าหลังการประชุมครม. ได้ชี้แจงกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วหรือยังหลังการประชุมครม. ดังกล่าว นายอนุทิน กล่าวว่า ได้ชี้แจงแล้วเรื่องที่เกิดขึ้นวันอังคาร ไม่ใช่เรื่องบังเอิญทุกฝ่ายรับทราบกันหมด ทั้งทีมงานนายกฯ ก็ได้ประสานงานโทรคุยกันหมด เมื่อถามว่า พรรค ภท. เล่นไม้เดิมเวลาพิจารณาเรื่องนี้ก็จะมีคำถามใหม่ของกระทรวงคมนาคมเพิ่มมาตลอด 

“ภูมิใจไทยเล่นอะไร ไม่ได้เล่นอะไรเลย ถามนำอีกแล้ว ตรงไปตรงมา เมื่อถามย้ำว่าการที่รัฐมนตรีไม่เข้าประชุม ครม. 7 คน เป็นการส่งสัญญาณต่อไปจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในเรื่องสายสีเขียวใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลไหน ไม่ใช่พวกมากลากไป ไม่ใช่ใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้ ถ้าคิดอย่างนั้นได้ก็ไม่ต้องมีอะไรมาเข้าที่ประชุม ครม. อย่างนี้ถ้าตนอยากบรรจุข้าราชการสาธารณสุขอีก 5 หมื่นคน ตนก็ทำได้เลย ไม่ต้องมาเข้าครม.ไม่ต้องมาขอ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่ต้องขอ ผอ.สำนักงบประมาณ เพราะสุดท้ายต้องเป็นเรื่องที่เราต้องมาหารือในรัฐบาล และหากประเด็นยังค้างคาก็ต้องนำไปแก้ไขให้ถูกต้องทุกฝ่ายรับได้ นั้นคือเป้าหมาย ถ้าหากรับไม่ได้จริงๆ ก็ต้องโหวต” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า พรรค ภท. เห็นว่ามี ครม.มี 36 คน ถ้าจะผ่านให้ได้โหวตอย่างไรเราก็แพ้อยู่แล้ว เพราะมีเสียงเพียง 7 ต่อ 36 แต่ทำไมเราต้องไปถึงจุดนั้น ทำไมต้องทำความลำบากใจมาให้นายกฯ เราจึงทำหนังสือสงวนสิทธิของเราไปให้นายกฯ และหากนายกฯเห็นว่ามันต้องผ่านก็ผ่านมติครม.ก็นำไปปฏิบัติได้ แต่ถ้ามีเรื่องราวอะไรภายหลังร้องเรียนคดีความต่างๆ ครม.ก็ต้องรับผิดชอบส่วนบุคคลอยู่ แต่รัฐมนตรีทั้ง 7 คนของพรรค ภท. ก็มีหนังสือยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่นำเสนอในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ในรัฐบาลเพราะยังดีอยู่ ปึ้กแน่นอน ฟังเสียงปึ้กดูก็รู้

 นายอนุทิน กล่าวว่า ขอย้ำว่าถ้ามีการปรับปรุงอะไรแล้วเราไม่มีปัญหาเรื่องการถ่ายโอนทรัพย์สินระหว่าง รฟม. และกทม. เพราะยังเป็นสมบัติของรฟม. ที่เป็นหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งกทม.ก็ควรโอนให้เรียบร้อย รฟม.พร้อมแล้ว 

 เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายระบุว่าความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสัญญาณยุบสภา นายอนุทิน กล่าวว่าหลายคนอยู่ข้างนอก หลายคนอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หลายคนคุยไลน์ระหว่างกันหรือเปล่า คุยไลน์กับท่านนายกฯ คุยไลน์กับหัวหน้าพรรคหรือเปล่า ประสานงานกันหรือไม่ ไลน์กลุ่มครม.เขาคุยกันรู้มากแค่ไหน เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เหตุบังเอิญหรือเป็นการเรียกร้องต่อรองเราไม่มี ถ้าต่อรองเราไม่มี 7 คนหรอก เมื่อถามถึงกรณีพรรคเศรษฐกิจไทยโหวตเห็นด้วย ร่างพ.ร.บ.สรรสามิต (สุราก้าวหน้า) สวนทางกับรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องไปถาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยาพรรคเศษรฐกิจไทย ส่วนภาพที่ทักทายกันในห้องประชุมสภาฯนั้น เมื่อตนเดินสวนจะไม่ทักทายกันได้อย่างไร เพราะเป็นเพื่อนกัน แต่กลับกลายเป็นเรื่องเป็นราว 

เมื่อถามถึงสัญญาณทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่างๆ หลายคนมองว่าน่าจะมีการยุบสภา นายอนุทิน กล่าวว่า หลายคนที่ว่าอยู่ข้างนอกทั้งนั้น หลายคนที่ว่านั้นอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ได้คุยไลน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หลายคนที่ว่านั้นรู้ว่าในไลน์กลุ่มคณะรัฐมนตรี (ครม.) คุยอะไรกันหรือไม่ อย่างที่บอกว่ามันไม่ใช่เหตุบังเอิญที่จะไปเรียกร้องหรือต่อรอง ถ้าต่อรองไม่มีแค่ 7 รัฐมนตรีหรอก 
 
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเศรษฐกิจไทยลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนนี้ต้องไปถาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ส่วนที่มีภาพตนกับ ร.อ.ธรรมนัสนั้น ตนเดินผ่าน จะไม่ให้ทักได้อย่างไร เพราะเป็นเพื่อนกัน ขณะที่รัฐบาลส่วนรัฐบาล สภาส่วนสภา 
 
นายอนุทิน กล่าวว่า การไปของรัฐบาลมาจาก 1.นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง 2.นายกฯ ลาออก 3.นายกฯ ยุบสภา และ 4.รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจ ในส่วนนี้ต้องรวมที่ตัวนายกฯ ด้วย เรื่องเหล่านี้มีข้อกำหนดอย่างชัดเจน 

เมื่อถามว่า หากความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเศรษฐกิจไทย ยังเป็นแบบนี้อยู่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะตายคาสภาและยุบสภา นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามคนที่ยุบสภา เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด สิ่งที่เราทำได้ไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ คือ การทำหน้าที่ของเรา โดยทำหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงการโต้เถียงและความเห็นที่ไม่ตรงกันในที่ประชุม ครม. เรื่องนี้เป็นเรื่องการทำงานของแต่ละคน เราไม่ใช่นักบู๊และตีรันฟันแทง เราใช้สติทำงาน

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะไปเพราะศัตรู จนทำให้มีอันเป็นไปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน ไม่มีศัตรู เพราะรัฐบาลมีศัตรูไม่ได้ 

เมื่อถามว่า ในการประชุม ครม.สัปดาห์ต่อไป รัฐมนตรีของพรรค ภท. จะเข้าประชุมหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนแล้ว และเคลียร์กันหมดแล้ว จากนี้ไปจะไม่มีการไม่เข้าประชุม ครม.แล้ว ถ้าเข้าประชุมหมายความว่าพร้อมที่จะรับฟัง นายศักดิ์สยาม จะเข้ามาซักถามหรือโต้แย้ง หากนายกฯ เห็นว่ามีความจำเป็นและต้องดำเนินต่อไปในทางใดทางหนึ่ง นายกฯ ก็สามารถสั่งการได้ เราถือว่าเราหลบและหมอบแล้ว ในเรื่องของความเห็นไม่ตรงกัน พูดให้ชัดเจนคือ เมื่อถึงเวลาโหวตแล้วไม่เกิดการแก้ไขอะไรเลย เราก็โหวตโน แต่ถ้าแก้ไขมา และไม่มีความกังวลว่าจะมีอะไรตามมาบ้างหลังจากที่พ้นตำแหน่งและถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่าง ค่าโดยสารถูกลง เรามีแต่จะเร่งให้รีบโอนและทำให้สำเร็จโดยเร็ว  

เมื่อถามว่า หากไม่โหวตร่วมกับ ครม. จะรอดพ้นจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราไม่ก้าวก่ายแล้ว เพราะเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ไม่โหวตเพราะกลัวว่าเราจะเป็นอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ผิดกฎหมาย เป็นไปตามขั้นตอน ประชาชน ประเทศชาติ และรัฐบาลต้องได้ประโยชน์ เราพยายามอยู่ในแนวทางนี้ 

เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยไมได้เป็นการกดดันให้นายกฯหนักใจ และให้นายกฯต้องเลือกระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับนายอนุทินใช่หรือไม่ นายอนุทิน ส่ายหัวพร้อมกล่าวเสียงดังว่า “ระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์ กับนายอนุทิน ไม่ต้องถามเลยว่านายกฯ จะเลือกใคร ท่านเป็นพี่น้องกัน ผมรู้สี่รู้แปด รู้ใหญ่รู้เล็ก ไม่ได้เทียบกันตรงนั้น คนละเรื่องกัน ผมไม่ต้องการให้เลือก เพราะต้องเลือกประชาชน”

“จุรินทร์” ยอมรับความขัดแย้งในรบ. ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ แนะ นายกฯ ต้องเข้าไปจัดการ รวมทั้งปัญหาโหวตในสภาฯ พรรคแกนนำต้องเข้าไปดูให้ลึกเกิดอะไรขึ้น  ยันไม่กังวลซักฟอก ม.152 ยินดีตอบ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข่าวความขัดแย้งในรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพหรือไม่ว่า เป็นเรื่องที่ตนคิดว่าหลายฝ่ายมีความเป็นห่วง ปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดให้เห็นบ่อยนัก แต่คิดว่านายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกำลังพยายามคลี่คลายปัญหาและแก้ปัญหานี้อยู่ สุดท้ายนายกฯก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าไปดูเพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น เราเป็นพรรคขนาดกลาง เป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนได้เรียนย้ำไปหลายครั้งก็คือ เราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพราะเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนก็ต้องจับมือกันเดินไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้นประชาชนก็ไม่รู้จะพึ่งใคร เราก็มีหลักการ หลักเกณฑ์ของเรา ทั้งในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล เรามีหน้าที่อะไรเราก็ทำหน้าที่เราให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ให้เต็มที่เหมือนที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อมีปัญหาราคาสินค้าเราก็แก้ได้รวดเร็ว เมื่อมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นเราก็จับมือกับรัฐบาลแก้ปัญหา อะไรที่เกินอำนาจกระทรวงก็ใช้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการตัดสินใจ ส่วนในรัฐสภา เมื่อมีข้อตกลงอะไรร่วมกัน เราก็เคารพข้อตกลงและเดินหน้าไปตามนั้น ในสภาฯก็ต้องใช้กลไกวิปเป็นกลไกหลักในการที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะตัดสินใจลงคะแนนไปทางไหน ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ให้ความร่วมมือมาด้วยดีตลอด 

เมื่อถามว่าในระยะหลังเกิดเหตุสภาฯล่มบ่อยครั้ง มีหลายพรรคที่ออกไปตั้งพรรคใหม่มีการโหวตสวนรัฐบาล รวมไปถึงการตั้งกลุ่ม 16 เพื่อโหวตสวนรัฐบาลโดยยึดประโยชน์ประาชนเป็นหลักจนมีหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้ยุบสภาได้ นายจุรนทร์กล่าวว่า ตนยังไม่อยากมองไกลไปถึงขนาดนั้น และคงไม่ไปวิจารณ์พรรคการเมืองอื่น หรือวิจารณ์กลุ่มการเมืองใด ถือว่าเมื่อท่านเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน เป็นผู้แทนราษฎรก็มีสิทธิ์ในการที่จะดำเนินทิศทางทางการเมืองตามที่เห็นสมควร ส่วนประชาธิปัตย์ก็มีแนวทางของเรา อย่างน้อยในส่วนของรัฐบาล นายกฯก็อาจจะต้องใช้เวลาในการลงมาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะต้องลงมาดูลึกเป็นพิเศษ เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่พรรคแกนนำ ไม่ได้อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น 

"ส่วนของเรา เราก็ให้ความร่วมมือ อันนี้ตัดออกไปได้เลยว่าไม่มีปัญหาอะไร" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top