'รศ.หริรักษ์'​ โพสต์!! อย่าเพิ่งด่วนสรุป 'สาธิตมธ.'​ ล้างสมองเด็ก​ ด้วยหลักสูตรบิดเบือนชาติ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก​ ระบุว่า... 

อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพยายามล้างสมองเด็กนักเรียน

เรื่องทั้งหมดมีอยู่ว่า รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี หรือ อ.อ้อ เพิ่งเกษียณอายุในปีที่ผ่านมา พ้นจากตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตัวเขาเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งทั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ อ.อ้อ ให้สัมภาษณ์ Mappa Learning เกี่ยวกับโรงเรียนสาธิตซึ่งมีเนื้อหาการสัมภาษณ์มากมาย แต่มีคนเลือกเฉพาะข้อความบางข้อความไปโพสต์ใน social media เช่น ไม่ต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ต้องสวดมนต์ตอนเช้า ไม่มีลูกเสือและเนตรนารี ไม่ต้องมีเครื่องแบบ เมื่อคนได้เห็นโพสต์เช่นนี้ บวกด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระยะหลัง จึงแสดงความเห็นกันอย่างอื้ออึงว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังล้างสมองเด็กหรือไม่ สังคมบางส่วนถึงกับเชื่อไปแล้วด้วยซ้ำ 

ยิ่งพอได้ทราบว่า ได้มีการเชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล มาพูดถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้คณะครูฟัง ยิ่งทำให้มีคนสงสัยว่า จะมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ออกปากว่า จะให้ตรวจสอบหลักสูตรว่าเป็นอย่างไร 

ย้อนหลังกลับไปเมื่อตอนที่ผมยังเด็ก ผมและเพื่อนๆ ไม่เคยมีความสุขในการเรียนหนังสือเลย เพราะถูกบังคับในทุกเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการบังคับที่ไร้สาระ การลงโทษนักเรียนโดยการตีส่วนใหญ่ก็ไม่สมเหตุผล เป็นไปตามอารมณ์ครู มาถึงรุ่นลูกซึ่งไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกับผม การลงโทษแบบเดิมหมดไป แต่ก็ลูกชายผมก็ไม่ได้เรียนอย่างมีความสุข แม้จะได้รางวัลเรียนดีทุกปี เพราะมีการบังคับแบบอื่นที่ไร้เหตุผล จนกระทั่งส่งไปเรียนระดับมัธยมปลายที่ประเทศ New Zealand เขาจึงเรียนอย่างมีความสุข แม้โรงเรียนที่เรียนจะเป็นโรงเรียนประจำ มีระเบียบควบคุมไม่น้อย แต่ระเบียบเหล่านั้นล้วนสมเหตุสมผล 

เมื่อมาเห็นโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็รู้สึกว่า น่าอิจฉาเด็กสมัยนี้ ที่มีโรงเรียนอย่างนี้ให้เลือกเรียนได้ ผมจึงไม่เคยรู้สึกต่อต้านวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่อย่างใดเลย แม้จะให้เสรีภาพกับนักเรียนมากไปสักนิดก็ตาม 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งโรงเรียนสาธิต เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ จะว่าไปอ.อ้อก็เคยเป็นลูกศิษย์ผม แม้ผมไม่เคยสอนเขาโดยตรง เพราะเขาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ผมสอนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แต่อ.อ้อ เคยเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณปี 2522 ในขณะที่ผมเป็นผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ขณะนั้นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ก็คือ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) ต้องทำงานเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา จนกระทั่งมีความสนิทสนมกันมากพอสมควร

ก่อนจะโอนมาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.อ้อ เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นคณบดีคณะสิ่งแวดล้อม และเป็นรองอธิการบดีในสมัยที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นอธิการบดี จึงได้เจอกันในการประชุมต่างๆ​ เป็นครั้งคราว 

นอกจากเจอกันในที่ประชุมต่างๆ​ แล้ว บรรดานักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างปี 2522-2526 จะนัดมาพบปะรำลึกความหลังกันที่บ้านผมเป็นประจำทุกปี แน่นอนว่าคนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร และภรรยา เป็นการจัดเลี้ยงแบบ potluck ต่างคนต่างหิ้วอาหารมากันคนละอย่าง เจ้าของบ้านก็ทำสัก 2 อย่าง ทำอย่างนี้มาทุกปี เพิ่งมาเว้นได้ 2 ปี เพราะสถานการณ์โควิด อ.อ้อในระยะหลังก็มาร่วมงานด้วยเกือบทุกปี 

เรียกได้ว่า ผมรู้จัก อ.อ้อ ค่อนข้างดี และเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี จึงเชื่อว่า เขามีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทาง และเมื่อพูดถึงเรื่องสถาบัน อ.อ้อแม้ไม่ใช่คนที่เทิดทูนจนถึงระดับ "คลั่งไคล้สถาบัน" แต่ตลอดเวลาที่รู้จักกันมา ยังไม่เคยได้ยินคำพูดที่เป็นการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์จากปากอ.อ้อ แม้แต่คำเดียว

หากเราอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม​ (ตาม link ด้านล่าง) แทนที่จะอ่านเฉพาะที่เอามาโพสต์กัน ก็จะพบว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบคิดใหม่ โดยลืมของเก่าทั้งหมดเสีย เป็นการสร้างบรรยากาศและเงื่อนไขให้เด็กเรียนรู้ได้เอง มากกว่าที่จะป้อนข้อมูลและความรู้ และให้ท่องจำ 

การไม่ต้องยืนเคารพธงชาติทุกเช้า ไม่ต้องสวดมนต์ตอนเช้า เขาก็มีวิธีอื่นที่จะทำให้เด็กรักชาติได้ แทนที่จะให้สวดมนต์ตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เขามีการสวดมนต์ในคาบเรียน แม้ไม่มีลูกเสือ ไม่มีเนตรนารี แต่ก็มีการสอนวิชาอยู่รอดปลอดภัย เป็นต้น

ส่วนเรื่องอ.ธงชัย วินิจะกุล ซึ่งผมก็รู้จักคุ้นเคยพอสมควร ก็น่าจะเป็นเพียงการเชิญมาในฐานะที่รู้จักคุ้นเคยกัน และในฐานะเป็นศาสตราจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Wisconsin มาบรรยายเรื่องการสอนประวัติศาสตร์ให้คณะครูฟัง ไม่ได้มีวาระแอบแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด ผมเองก็ไม่ได้ฟังด้วยตัวเอง แต่ก็ยังเชื่อว่า อ.ธงชัยจะไม่ฉวยโอกาสนี้บิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบัน เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยของเขา 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ​ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิต ไม่มีปัญหาอะไร

ดังนั้น อยากให้พวกเราเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มากอีกสักนิด อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปในทางใดทางหนึ่ง หากได้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว เชื่อว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับผม

📌 บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จาก Mappa >> https://mappalearning.co/anuchat-puangsamlee-interview/


ที่มา : https://www.facebook.com/100000016923106/posts/5280290118648167/