Wednesday, 26 June 2024
Hard News Team

พท.ลุยช่วยเหลือครอบครัวติดโควิด 3 คนย่าน ซ.จันทน์ 51 พร้อมประสานส่ง รพ.ทันที

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายปวิน แพทยานนท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ ซ.จันทน์ 51 แยก 12 ภายหลังรับแจ้งว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ต้องการความช่วยเหลือไปโรงพยาบาล เมื่อเดินทางไปถึงพบว่าในบ้านดังกล่าวมีลักษณะเป็นตึกแถว มีผู้อาศัยอยู่รวมกัน 4 คน ข้อมูลในเบื้องต้นพบว่ามีผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่ ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 35-40 ปี ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 35-40 ปี และเด็ก 2 ขวบ ทั้งหมดได้รับการยืนยันว่าพบเชื้อมาแล้วประมาณ 2 วัน 

ทั้งนี้ นายปวินได้เข้าไปพบช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมประสานงานโรงพยาบาลให้ โดยล่าสุดโรงพยาบาลมิตรประชาชน ได้ส่งรถพยาบาลมารับครอบครัวผู้ติดเชื้อทั้ง 3 คนไปรับการรักษาตามขั้นตอน ส่วนผู้อยู่อาศัยอยู่ในบ้านอีก 1 คน ล่าสุดได้รับการยืนยันว่าไม่มีเชื้อ ต้องเข้าสู่การกักตัวในบ้าน ภายหลังการส่งตัวผู้ติดเชื้อขึ้นรถพยาบาลเรียบร้อย ทีมงานนายปวินได้เข้าพื้นที่ทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในที่อยู่อาศัยพร้อมมอบอาหารของใช้จำเป็นสำหรับสมาชิกที่จะต้องกักตัวในบ้านอีกด้วย

“ชวน” ฟิต นำคณะนั่งรถลง 14 จังหวัดภาคใต้ มอบหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด 1.2 แสนชิ้น พร้อมให้กำลังใจปชช.ในพื้นที่ฐานะ ส.ส.คนหนึ่ง

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อสังคมและการศึกษา พร้อมด้วย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.ศิริภา อินทวิเชียร กรรมการบริหารมูลนิธิ นั่งรถลงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อมอบหน้ากากอนามัย ให้ประชาชนที่ขาดแคลน และ เจ้าหน้าที่ ณ ศาลาว่าการทุกจังหวัด ตั้งแต่ จ.ชุมพร จ.ยะลา ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 2พ.ค. รวมหน้ากากอนามัยทั้งสิ้น 120,000 ชิ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด-19 และเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ที่เผชิญกับความเสี่ยงในการจัดการกับปัญหาโรคโควิด-19 ระหว่างที่ประชาชนทั้งประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ซึ่งการใส่หน้ากากจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่สามารถกระทำได้ทันทีในช่วงเวลานี้ นอกจากนั้นที่จ.ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีนายภานุ ศรียุศยกาญจน์ นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี นายสมชาติ ประดิษฐพร และนายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ร่วมมอบหน้ากากด้วย โดยมีนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้รับมอบ 

นายชวน กล่าวว่า  การลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากมีผู้มีน้ำใจมอบหน้ากากอนามัย มาให้และเห็นว่าสถานการณ์เวลานี้มีความจำเป็นเพราะมีทั้งระเบียบและกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีหน้ากากอนามัยทั้งหมด จึงหวังว่าหน้ากากอนามัยส่วนนี้พอจะช่วยอุดช่องว่างดังกล่าวได้บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดจะไปพิจารณามอบให้ อสม. หรือ กลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต่อไป 

“ส่วนตัวในฐานะเป็น ส.ส. ก็ต้องการลงพื้นที่มาด้วยตัวเองเพื่อจะได้มีโอกาสได้พบและรับรู้ข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งบุคลากรในพื้นที่ และเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ เพราะส่วนหนึ่งของคนแก้ปัญหาก็ต้องการกำลังใจ รวมถึงประชาชนเอง ที่อยู่กับปัญหานี้จะได้รู้สึกมีกำลังใจ”นายชวน กล่าว 

ทั้งนี้นายชวน มีกำหนดการเดินทางไปมอบหน้ากากอนามยด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 27 เม.ย.ถึง2 พ.ค.โดยได้กำชับให้การดำเนินการมอบเป็นไปอย่างกระชับที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ

“นพ.ชลน่าน” ไม่เห็นด้วย ใช้รัฐสภาเป็นรพ.สนาม ชี้ เป็นสถานที่ประชุมและยุ่งยากต่อการจัดการ หนุน เดินหน้าประชุมสมัยสามัญ ย้ำ ต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ 65 ให้ทันปีงบประมาณ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอให้ใช้รัฐสภาเป็นโรงพยาบาลสนาม ว่า ตนไม่ทราบว่าจะใช้พื้นที่ส่วนไหน หากเป็นห้องทำงาน ส.ส. ขณะนี้ยังไม่เปิดใช้ ดังนั้นจะต้องตรวจสอบความพร้อมก่อน และเห็นว่าหากจะใช้สภาเป็นโรงพยาบาลสนามจริงคงไม่เหมาะสม และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ถึงแม้จะมีห้องเป็นสัดส่วนแต่จะยุ่งยากในการจัดการมากกว่าโรงพยาบาลสนามทั่วไป เพราะจะต้องขนเตียงและอุปกรณ์เข้ามา การจัดระบบต่าง ๆ น่าจะไม่พร้อม ประกอบกับสภาเป็นสถานที่ใช้สำหรับการประชุม ดังนั้นการนำผู้ป่วยเข้ามาก็จะดูไม่เหมาะสม เว้นแต่จะปิดสภาไปเลย 

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญด้วยว่า วันที่ 22 พ.ค. นี้จะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญแล้ว และตามกำหนดการที่วางไว้จะประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวันที่ 27-28 พ.ค. ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นทางฝ่ายค้านกำลังเฝ้าดูสถานการณ์ว่าจะสามารถประชุมได้หรือไม่ และจะประชุมอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัย เพราะข้อบังคับการประชุมไม่เปิดให้ประชุมผ่านสื่อออนไลน์ได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯเป็นเรื่องจำเป็น หากพิจารณาในเดือน พ.ค. จะเสร็จทันใช้ปีงบประมาณในวันที่ 1 ต.ค.พอดี จึงเห็นว่าต้องเดินหน้าประชุม แต่ต้องดูมาตรการให้เหมาะสมและปลอดภัย โดยเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือต้องไม่มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง และหากไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก็จะต้องไปตรวจหาเชื้อและกักตัว

ครม. ไฟเขียว 321 ล้านบาท จัดหาวัคซีน บ.ซิโนแวค ไอโอเทค เพิ่มเติม 5 แสนโดส ในเดือน พ.ค.นี้ เร่งกระจายถึงปชช.ลดแพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.อนุมัติวงเงิน จำนวน  321,604,000 บาท เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 5 แสนโดส จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีน โดยให้ดำเนินงานในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน แบ่งเป็น ค่าวัคซีนโควิด-19 จำนวน  271.25 ล้านบาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม18.99 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการวัคซีนในการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 31.36 ล้านบาท ทั้งนี้การจัดหาวัคซีนดังกล่าว เพื่อบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ผู้สนับสนุนผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไป และแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมไปถึงพื้นที่การระบาดของโรค เพื่อลดอัตราป่วย การเสียชีวิตและค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ครม.เห็นชอบ แก้กม.ค่าใช้จ่าย-ค่าพาหนะ ช่วย ผู้ป่วยฉุกเฉิน โควิด-19

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกนิยามเดิมของคำว่า “ค่าใช้จ่าย”  และให้ใช้ข้อความ “ค่าใช้จ่ายหมายความว่า ค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วย และให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีน  หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน  ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์  วิธีการ และ เงื่อนไขนี้” แทน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ได้ให้ยกเลิกนิยาม “ผู้ป่วย”เดิม และให้ใช้ข้อความ “ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19  และให้หมายความรวมถึง บุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19  โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนด และเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน แทน  ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ได้เพิ่มค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยในอัตราค่าใช้จ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ  กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19  เช่น ค่ารถยนต์ส่งต่อผู้ป่วยระยะทางไม่เกิน  50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท ระยะทางไปกลับมากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท  ค่าเรือหรือแพขนานยนต์ส่งต่อผู้ป่วย จ่ายชดเชยตามระยะทางและชนิดของเรือ เช่นระยะทางไปกลับ 5-15 กิโลเมตร เรือหางยาวเร็ว 1,200 บาท เรือเร็ว 2,000 บาท เรือเร็ว 2 เครื่องยนต์ 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ 101 กิโลเมตรเป็นต้นไป  เรือเร็ว 35,000 บาท เป็นต้น

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนค่าอากาศยานปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์   กรณีเฮลิคอปเตอร์ 1 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 40,000 บาท  เฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 80,000บาท  เฮลิคอปเตอร์ 3 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 120,000 บาท และเฮลิคอปเตอร์ 4 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 160,000 บาท สำหรับค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาท

“สิระ” ป้อง “บิ๊กตู่” ซัดภท.อย่าเอาดีใส่ตัว ไล่ “ศุภชัย” ถาม “เสี่ยหนู” ทำงานพลาดตรงไหน ศบค.ถึงต้องปรับโครงสร้าง แขวะปมคลัสเตอร์ทองหล่อ ยังไม่เห็นชี้แจงได้

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ซึ่งการใช้อํานาจพิเศษเป็นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถนัดที่สุด จึงไม่แปลกที่มีการเลือกใช้อํานาจพิเศษในการจัดการกับโรคระบาด โดยมีการตัดภาคการเมืองออกจากโครงสร้างของศบค. ว่า นายศุภชัยอย่ามาใช้โอกาสนี้เพื่อเล่นเกมการเมือง การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในศบค. ต้องย้อนกลับไปถามตัวนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าของพรรคท่านดูว่า ในส่วนความรับผิดชอบที่ขึ้นตรงกับเจ้ากระทรวง มีความผิดพลาดใดเกิดขึ้นหรือไม่ จนทำให้หน่วยงานความมั่นคง ต้องมานั่งหัวโต๊ะกําหนดทิศทางของศบค. แทนที่จะเป็นสาธารณสุข คำถามตรงนี้นายอนุทินน่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด 

“พรรคภูมิใจไทยอย่าทำพฤติกรรมเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น เวลาที่นายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทยสร้างผลงานได้ก็ไม่เห็นจะพูดให้ความดีความชอบกับภาพรวมของรัฐบาล แต่เวลาตัวเองเจอปัญหากลับโยนมาให้เป็นความรับผิดชอบสูงสุดของพล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆที่เวลาคนในพรรคท่านสร้างปัญหา ท่านนายกฯไม่เห็นจะออกมาตำหนิท่าน ประเด็นนี้ผมว่า เมื่อประชาชนรับข่าวสารก็จะตัดสินเองได้ว่า ใครที่กำลังก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ และประชาชน ส่วนใครที่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว” นายสิระ กล่าว 

นายสิระ กล่าวต่อว่า ปมปัญหาคลัสเตอร์ทองหล่อ ที่ประชาชนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ก็มีการเชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ซึ่งยังไม่สามารถชี้แจงแถลงไขให้คนไทยเชื่อใจในตัวของท่านได้เลย ดังนั้น วันนี้ตนคิดว่า เป้าหมายสำคัญ คือการช่วยกันนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ไม่ใช่เวลาที่จะต้องชิงดีชิงเด่น ถ้าสุดท้ายรัฐมนตรีที่มาจากพรรคภูมิใจไทยทำงานเข้าตา ประชาชนก็จะเห็นได้เอง โดยที่ท่านไม่ต้องมาร้องแรกแหกกระเชอในสถานการณ์เช่นนี้ บรรดานักการเมืองอย่าทำตัวให้อายประชาชนเลย

ครม. ให้ อนุรักษ์-พัฒนา เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าและแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา โดยขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี มีเนื้อที่ประมาณ 1.96 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,058 ไร่  มีสถานที่สำคัญเช่น วัดอุโปสถารามหรือวัดโบสถ์ พื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนศรีอุทัยและถนนท่าช้าง ย่านชุมชนชาวจีนตรอกโรงยา และชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง

ส่วนขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 1.91 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,192  ไร่  มีองค์ประกอบเมืองที่สำคัญเช่น หอนาฬิกาจังหวัดตรัง สถานีรถไฟตรัง วิหารคริสตจักรตรัง จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พื้นที่ย่านศูนย์กลางการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนพระราม6 ถนนวิเศษกุล ถนนกันตัง และถนนราชดำเนิน ซึ่งมีอาคารเรือนแถวและบ้านร้านค้าแบบจีนและแบบผสมผสาน 

และขอบเขตพื้นที่เมือเก่าฉะเชิงเทรามีเนื้อที่ประมาณ 3.96  ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,475 ไร่ ครอบคลุมองค์ประกอบเมืองที่สำคัญเช่น ป้อมและกำแพงเมืองตามแนวตะวันออก-ตะวันตกขนานกับแม่น้ำบางปะกง วัดโสธรวรารามวรวิหาร อาคารไปรษณีย์หลังเก่า  ศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา พื้นที่ย่านการค้าบริเวณถนนมรุพงษ์  และพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ย่านการค้าตลาดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วย  1.แนวทางทั่วไป ได้แก่ การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ การประหยัดพลังงาน ด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม และการดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ 2. แนวทางสำหรับพื้นที่หลัก ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์ และด้านการบริหารและการจัดการ

"แรมโบ้" เปิดศึก “รองหน.ภท.” ซัด อย่าโยนความผิดให้นายกฯ ย้อน ให้มีสปิริตร่วมรัฐบาล เหน็บ ใครสั่งให้พูด ทำลายน้ำใจ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบโต้ นายศุภชัย ใจสมุทร รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่านายกรัฐมนตรี รวบอำนาจแก้ปัญหาโควิด-19 ไว้ที่ศบค.ทำให้รัฐมนตรีไม่มีส่วนในการแก้ปัญหา และมองเรื่องโควิดเป็นงานด้านความมั่นคงจึงไม่ประสบความสำเร็จ ว่า ไม่นึกว่าพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย จะมีความคิดทำงานที่คับแคบและเอาแต่ได้ และโครงสร้างศบค.คือ กระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีบทบาทในการเสนอแนะ แก้ไขปัญหาควบคู่กันไป ซึ่งทำแบบนี้มาตั้งแต่โควิดรอบแรก จนมา
รอบสองและทำมาถูกทาง  

นายเสกสกล กล่าวว่า เข้าใจและเห็นใจที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถูกบรรดาหมอออกมาขับไล่ ทำให้คนในพรรคภูมิใจไทย อาจเกิดความเครียด แต่ไม่ควรมาลงที่นายกฯ เพราะการอ้างว่านายกฯตั้งศบค.ขึ้นมาแล้วทำให้รัฐมนตรี ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการโควิด นายศุภชัย คงหมายถึงนายอนุทิน ว่าไม่มีอำนาจทำอะไรเลย จึงทำให้โควิดระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ อย่างนี้เป็นการพูดเอาดีใส่ตัวแล้วโยนความผิดให้คนอื่น เป็นธรรมหรือไม่ และอยากให้นายศุภชัย ย้อนฟังคำพูดของนายอนุทินฯในการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พูดถึงนายกฯและศบค.ไว้อย่างไร ซึ่งตรงข้ามกับที่นายศุภชัย พูดทุกอย่าง และควรถามนายอนุทิน อย่าให้ต้องนำเทปมาเปิดให้อับอายและอาจจะต้องเอาปี๊บมาคลุมหัว 
 
“ไม่นึกว่าคนที่มีประสบการณ์และเป็นผู้อาวุโสทางการเมืองอย่างนายศุภชัย จะคิดเอาตัวรอด กระโดดเรือหนี ในยามวิกฤตของการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาพรรคร่วมอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ทุกครั้งก็ได้แต่พูดถึงมารยาทของการอยู่ร่วมกัน แต่ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทย กลับไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และไม่คำนึงถึงประชาชนที่กำลังเรียกร้องความร่วมมือในการทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤตให้ก้าวผ่านไปให้ได้ ซึ่งนายอนุทิน ออกมาสู้กับปัญหา ยอมรับในความผิดพลาด จึงสงสัยว่าใครสั่งให้ออกมาพูดทำลายน้ำใจและทำลายบรรยากาศของการร่วมมือร่วมใจกันในครั้งนี้ หากพรรคภูมิใจไทยเห็นดีเห็นงามกับความคิดคับแคบและเอาตัวรอดแบบนี้ ต่อไปใครจะกล้าคบเป็นเพื่อน มิตรแท้ยามนี้ควรช่วยกัน แต่คนที่อ้างตนเป็นมิตรแท้ บางครั้งก็คบยากและไว้ใจยาก”

ปริญญ์ นำทีม ปชป. ลงพื้นที่คลองเตย จับมือภาคีเครือข่ายเตรียมตั้ง รพ.สนาม วัดสะพาน รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์คลองเตย

ปริญญ์ นำทีม ปชป. ลงพื้นที่คลองเตย ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และคนในพื้นที่ เตรียมตั้งสถานพักคอยผู้ป่วยโควิด-19 และโรงพยาบาลสนาม ณ วัดสะพาน  พร้อมประสาน กทม. สนับสนุนรถตรวจโควิด-19 พระราชทาน ให้บริการในพื้นที่แบบเชิงรุก หลังพบชุมชนคลองเตยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในหนึ่งสัปดาห์ 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ วรเดช ไชยนันท์ คณะทำงาน รมช.สาธารณสุข และทีมคลองเตย/วัฒนา ปชป. อดีตส.ก. ประสิทธิ์ รักสลาม อดีตส.ข. ปานชัย แก้วอัมพรดี และเมธวิน มีสุวรรณ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือชุมชนคลองเตย เพื่อสนับสนุนการสร้างสถานที่พักคอยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนลำเลียงออกไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ณ วัดสะพาน เขตคลองเตย รวมถึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และผู้นำชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการหาเตียง การรับส่งผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล และช่วยระดมทุนเพื่อจัดหาสิ่งของจำเป็น ผ่านศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ. ปชป.) 

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ท่ามกลางวิกฤติโควิดที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ น่าวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจถึงขั้นตอนการเข้ารับการตรวจ กักตัว และรักษา เนื่องจากเตียงของโรงพยาบาลเริ่มไม่เพียงพอ ปชป.จึงเล็งเห็นความสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกับในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 50 ราย เสียชีวิต 1 แล้วราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการ เอกชน และปชป. เพื่อแก้ไขปัญหาปัญหาดังกล่าว โดยไม่พึ่งพางบประมาณของรัฐบาล ผ่านการสร้างสถานที่พักคอยผู้ติดเชื้อ เพื่อรอลำเลียงออกไปโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ตึกปฏิบัติธรรม (ชั้น 4-8) ของวัดสะพาน เขตคลองเตย โดยในพื้นที่พักคอยของผู้ป่วยนั้น จะมีการควบคุมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ เรื่องการถ่ายเทของอากาศ (Air flow) กำลังคนในการดูแลผู้ป่วย ระบบการเติมคลอรีนเพื่อจัดการสิ่งปฏิกูล และแผนอพยพเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ 

ซึ่งศปฉ. ปชป. ได้เป็นตัวกลางในการเปิดระดมทุน จัดหาเตียงได้แล้วจำนวน 50 เตียง และมีสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพอีกจำนวนหนึ่ง เชื่อมโยงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากกระทรวงสาธารณสุขไปยังชุมชนต่าง ๆ จัดรถรับส่งผู้ป่วย รวมถึงเตรียมการประสานงานกับโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อส่งต่อผู้ป่วย และติดต่อรถตรวจโควิด พระราชทาน เพื่อเข้ามาให้บริการตรวจโรคเชิงรุกแก่ผู้มีรายได้น้อย 

"ทรัพยากรทางการแพทย์มีจำกัด สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปได้ คือต้องพยายามออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เพื่อลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ และมีวินัยในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ" ปริญญ์กล่าวในตอนท้าย 

ผู้สนใจร่วมระดุมทุนเพื่อจัดหาสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ป่วยที่พักในสถานพักคอยผู้ติดเชื้อและโรงพยาบาลสนาม ณ วัดสะพาน เขตคลองเตย สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊คเพจ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ - Prinn Panitchpakdi และติดตามภาพการประสานความช่วยเหลือชุมชนคลองเตยจากทีมปชป. ได้ทางช่องยูทูป Prinn Check In

‘บิ๊กตู่’ เมิน ปชป. ’ ยัน’ ไม่เปลี่ยนคำสั่งแบ่งงานโซนพื้นที่ ‘ขอร้อง’ ไม่ใช่เวลาการเมือง ‘ลั่น’ ทำทุกอย่างเท่าเทียมไม่สนคะแนนเสียงการเมือง

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการทำความเข้าใจกับทางพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่ไม่พอใจคำสั่งนายกฯที่ 85/2557 เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในระดับพื้นที่จังหวัด ที่ถูกมองว่า ยกพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ยืนยันว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดใดทั้งสิ้น ยังคงเป็นคำสั่งเดิม ทั้งนี้ตนได้ให้แนวทางไปว่า ให้ลองดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในพื้นที่ต่างๆซึ่งตนได้ให้แนวคิดไปแล้ว

“ วันนี้ยังไม่ได้ตกลงอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปให้เป็นข่าวจนเสียหาย วันนี้ไม่ใช่เวลาการเมือง เป็นเวลาของการทำงาน แล้วก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าจะให้พรรคใครได้ประโยชน์ ทุกพรรคที่อยู่ร่วมกับผม พรรคร่วมก็อยู่กับผมๆ ก็รับผิดชอบให้ท่านอยู่แล้ว ทำให้มันถูกต้องขึ้นมาผมก็ยินดี แม้กระทั่งในบางพื้นที่ที่เป็นของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ผมก็ดูแลในทุกจังหวัด” นายรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นการทำงานวันนี้มีการสั่งการจากคณะรัฐมนตรีลงไป เป็นโครงการที่เป็นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในทุกกรณีลงไป การจัดทำแผนงานโครงการและการอนุมัติงบประมาณซึ่งเป็นการทำงานของรัฐบาล  อีกส่วนหนึ่งคือผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาแผนงานโครงการต่างๆในพื้นที่ 

“ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดก็ตามที่แต่งตั้งไปดูแลพื้นที่จังหวัดก็ให้ไปติดตาม แผนการโครงการที่อนุมัติไปแล้วว่าดำเนินการดีหรือไม่ดี ได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่ถ้าหากว่ายังเห็นว่ามีอะไรขาดเหลือต่างๆ รัฐมนตรีก็นำมาเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเข้ามาถึงผมให้นำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อจัดสรรโครงการลงไปใหม่เพิ่มเติม เราทำงานแบบนี้ไม่ใช่ต่างคนต่างไปรุมผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งคงไม่ใช่และจากการสอบถามแล้วก็ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ก็มีหลายคนปล่อยข่าวออกมาแบบนี้ ก็ขอให้ทุกคน ทุกกระทรวง เคลียร์ด้วยก็แล้วกัน ขอให้เข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องบริหารทั้งสองทาง และไม่ได้ปิดกั้นรัฐมนตรีคนใดทั้งสิ้น ไม่ได้ทำตามคะแนนเสียงของการเมือง แต่เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักในทุกพื้นที่ และทุกคนก็คือ ครม. คือรัฐบาลด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top