Wednesday, 26 June 2024
Hard News Team

นายกฯ เคาะ เลื่อน รายงานตัว 'ทหารเกณฑ์'ผลัดใหม่จาก 1 พ.ค. เป็น 1 ก.ค. 2564

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 จากข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขให้เลื่อนการรับ-ฝึกทหารใหม่ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19  ภายหลังกองทัพบก
มีกำหนดให้ทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2564 เข้ารายงานตัวเข้ายังหน่วยต่าง ๆในวันที่ 1 พ.ค.นี้

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้อนุมัติเลื่อนการเข้ารายงานตัวของทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2564 จาก 1 พ.ค.2564 ไปเป็น 1 ก.ค.2564 เป็นเวลา 2 เดือน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

“สุพัฒน์พงษ์” เผยรัฐบาลวางแผน 1-2 รับมือโควิด ขอปชช.มั่นใจ “ย้ำ”จัดซื้อวัคซีนไม่หยุด ดึงเอกชนร่วมด้วย “มั่นใจ” รัฐบาลไม่แตกแยก

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานให้สัมภาษณ์ กรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีดูแลพื้นที่ระดับจังหวัด เพื่อไปขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ว่า ไม่มีประเด็นเรื่องความแตกแยก การแบ่งพื้นที่ของรัฐบาล เป็นเรื่องของการสื่อสาร ที่สำคัญประชาชนต้องหนักแน่น ต้องเชื่อมั่นว่าประเทศเราไม่ได้แย่ ซึ่งเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศอื่นอย่างหนักหนากว่าเราหลายเท่า และที่ภาคเอกชนออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลจัดการกับวัคซีน เพื่อต้องการให้เกิดความรวดเร็วและจัดการกับโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆที่มีการแพร่ระบาดในรอบใหม่นี้ 

เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดน้อยลงหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ต้องรอดูว่าภาคเอกชนจะมีการเสนอแผนให้เกิดความรวดเร็วอย่างไรในวันเดียวกันนี้ และในช่วงปลายเดือนเม.ย.ถึงเดือนพ.ค.จะมีวัคซีนเข้ามา ได้เท่าไหร่ หรือเข้ามา 5-10 ล้านโดสหรือไม่ก็จะช่วยคลายกังวลของประชาชนลงได้บ้าง ประกอบกับแผนของรัฐบาลที่ มีการจัดซื้อวัคซีนก็ทำควบคู่ไปไม่ได้หยุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลมีแผนจัดการควบคุมทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนและการระบาดของโรคโควิด-19 มีทั้งแผน 1 แผน 2 แผนรองรับไว้อยู่แล้ว ขอให้เกิดความมั่นใจและดูแลตัวเองป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตามมาตรการด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งให้ความร่วมมือรัฐบาลด้วย เนื่องจากการระบาดที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากคนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ สาธารณสุข ทุกคนต้องช่วยกันแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

“บิ๊กตู่”ถกคกก.ร่วมเอกชน 3 สถาบัน เร่งแก้ปัญหาโควิด-19 ด้าน “ภาคเอกชน”เตรียมเสนอ ล็อกดาวส์ 15 วัน

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐยาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฎิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันแรก ที่ทำเนียบศไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าวภายในทำเนียบรัฐบาล 14 วันตามมาตรการการ ขอความร่วมมือจากสำนักโฆษก สํานักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ โดยเมื่อเวลา 10.00 น.นายกรัฐมนตรีได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่นำโดยคณะกรรมการหอการค้าไทย ที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย  และคณะ เพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิขของประเทศ  ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ครม.เข้าร่วม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ รมว.พลังงาน นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร ประธานคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด- 19 นพ.โสภณ เมฆธน รองประธานคณะทำงานพิจารณาวัคซีน ฯ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม 

ทั้งนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย  กล่าวว่าการประชุมในวันนี้ นายกรัฐมนตนีจะให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)รายงานและสรุปสถานการณ์วัคซีนในประเทศให้เอกชนรับทราบ ถึงความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ก่อนจะเริ่มการประชุมใน 2 วาระ คือ 1.สรุปเรื่องการกระจายวัคซีน และ 2.การจัดหาวัคซีน ในส่วนของหอการค้าฯไม่มีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม เพราะเป้าหมายหลักในตอนนี้ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลคือ การขับเคลื่อนเรื่องวัคซีน 

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รอบ 3 ว่าค่อนข้างรุนแรงกว่าการระบาดที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องมีการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีก เน้นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง บางธุรกิจ บางอาชีพ อย่างน้อย 15 วัน 

ขณะที่ในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้คาดว่าจะมีการหารือถึงรายละเอียดแนวทางจัดหาและกระจายวัคซีนของภาคเอกชน ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเสนอแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือกและการกระจายวัคซีนของภาคเอกชน ภายหลังจากที่นายกฯ ได้มอบหมายให้ภาคธุรกิจเอกชนติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ ส่วนในการติดต่อระดับรัฐบาลก็จะให้กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อหาช่องทางให้ได้วัคซีนเพิ่มมากขึ้นจากที่ได้สั่งจองไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ พล.อ.ณัฐพล  นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือศปก.ศบค. ตามปกติ ซึ่งคาดว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ เพื่อยกระดับมาตรการต่างๆมากขึ้น หลังยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เจ้าของผับย่านบางพลี หันขายทุเรียนเลี้ยงลูกน้อง-จ่ายค่าเช่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารร่วมไปถึงผับต่าง ๆ ต้องพากันปิดตัวตามนโยบายป้องการแพร่ระบาดของรัฐบาล ต่างพากันได้รับผลกระทบอย่างหนัก พนักงานต่างพากันตกงานกันเป็นจำนวนมาก และเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง

ผู้ประกอบการบางร้านยังคงตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะหาวิธีการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยเร็ว เพื่อจะได้กลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง จึงได้หันมาหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนหาเงินเลี้ยงลูกน้องและค่าเช่าร้านให้ประคองตัวอยู่ได้

ล่าสุด ‘ร้านโซดา’ ซึ่งเปิดกิจการประเภทผับ ตั้งอยู่กลางตลาดนัดเรือบิน ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งรอบแรกและรอบที่สอง ทำให้ต้องหยุดการดำเนินงาน ซึ่งครั้งแรกที่ว่าสาหัสแล้ว แต่พอมาครั้งที่สองสาหัสยิ่งกว่า จึงต้องหันไปรับทุเรียนหมอนทองจากจังหวัดจันทบุรีมาขาย ส่วนในโซนที่เปิดเป็นผับต้องติดป้ายเซ้งกิจการ เนื่องจากประคองเอาไว้ไม่ไหว

นายสุเทพ รุ่งเรื่อง อายุ 49 ปี หุ้นส่วนใหญ่ ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางผับเราต้องปิดตัวลงทำให้ขาดรายได้และเงินที่จะต้องมาจ่ายให้พนักงานในร้านและจ่ายค่าเช่าที่ซึ่งตกแล้วเดือนละกว่า 1 แสนบาท ตนจึงได้หาทางออกโดยการไปรับทุเรียนมาจากสวนของเพื่อนที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรี ประกอบช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ธุรกิจใหญ่ของตนต้องปิดตัวลง จึงได้หันไปรับทุเรียนมาขายเพื่อหารายได้เลี้ยงลูกน้องและจ่ายค่าเช่าที่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จังหวะเป็นช่วงเข้าหน้าทุเรียนพอดี

สำหรับ ราคาขายเริ่มตั้งแต่ 100 บาทไปจนถึง 140 บาท ต่อกิโลกรัม คิดเป็นกำไรแค่กิโลกรัม 5-10 บาทเท่านั้น แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อีกอย่างหนึ่งคือหน้าทุเรียนจันทบุรี จะมีแค่ 4 เดือน และถ้าหมดหน้าทุเรียนแล้วสถานการณ์โควิดยังระบาดอยู่หรือเปล่า ถ้ามันยังอยู่เราก็ต้องคิดหาผลไม้อย่างอื่น อาจจะมีเงาะ มังคุดหรือลองกองมาขายแทน และเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ทุเรียนพึ่งมาส่งให้ 5 ตัน จากที่โควิดระบาดช่วงแรกเราลงครั้งละ 10 ตัน เราก็จะขายประมาณ 2-3 วันก็หมด เพราะเราขายถูก มีทั้งมารับไปขายมีทั้งคนมาซื้อกินเอง และของเรายังมีปลอกเนื้อขายด้วย แต่ถ้าชาวบ้านมาซื้อเอาไปกินเองเราก็จะคิดค่าบริการปลอกแค่ 20 บาท ส่วนที่เราปลอกแล้วเหลือแต่เนื้อล้วน ๆ เราขายกิโลกรัมละ 550 บาท

โดยเฉลี่ยในแต่ละวันจะมีคนมาสั่งเนื้อทุเรียนที่แกะไว้วันละไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม และตนยืนยันว่าทุเรียนหมอนทองที่รับมานั้น เป็นทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ทุเรียนจากที่อื่นมาย้อมแมวขาย และถ้าซื้อทุเรียนจากเราไปลูกไม่สุกหรือเป็นทุเรียนอ่อนสามารถนำกลับมาเคลมที่ร้านได้

ส่วนรายได้จากการขายทุเรียน ก็พอได้ค่าข้าวค่าลูกน้องจะได้ไม่ตกงานและค่าเช่าที่ บางครั้งก็ขาดบ้างเราก็ต้องเติมเอา แต่ก็ยังดีกว่าขาดทั้งหมด โดยเราจะเปิดขายตั้งแต่ 08.00 น.ไปจนถึง 20.00 น.ทุกวัน หรือเข้ามาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเพจ เจ๊นก ทุเรียนจันทบุรี หรือโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 096-395-4626


ภาพ - ข่าว ก๊วก สมุทรปราการ

'ประกันสังคม' ผุดมาตรการ ช่วยลูกจ้างตกงาน จ่ายเงินเยียวยา 50% จากผลกระทบไวรัสระบาด

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

คุณสมบัติ

1.) ผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน

2.) ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างให้หยุดงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือหน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง

สิทธิที่ได้รับและข้อปฏิบัติ

1.) รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

2.) ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องขึ้นทะเบียนว่างงานกับสำนักงานจัดหางาน ให้ยื่นเฉพาะคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทน

3.) ลูกจ้างดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม สปส.2-01/7 บน http://www.sso.go.th

4.) นายจ้างไม่ต้องแจ้งลาออกหรือเลิกจ้าง แต่ให้ส่งหนังสือรับรองว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานกี่วัน

5.) นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้าง ส่งแบบฯและหนังสือรับรอง ไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ในที่ตั้งของสถานที่ทำงาน ส่งทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ

6.) แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงาน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้

ย้ำ ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานประกันสังคม ให้ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

สอบถามได้ที่สายด่วน 1506 กด 1 ตลอด 24 ชั่วโมง

ราชกิจจาฯ ประกาศให้อำนาจ ‘บิ๊กตู่’ คุม พ.ร.บ. 31 ฉบับ หวังแก้วิกฤตไวรัสระบาดเบ็ดเสร็จ-รวดเร็ว

เมื่อวันที่ 27 เมษายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. พ.ศ.2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พ.ค. พ.ศ.2563 นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. พ.ศ.2564 ให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พ.ค. พ.ศ.2563 และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ดังต่อไปนี้

1.) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

2.) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

3.) พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561

4.) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456

5.) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497

6.) พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560

7.) พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551

8.) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562

9.) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

10.) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

11.) พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542

12.) พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495

13.) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

14.) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551

15.) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

16.) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551

17.) พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558

18.) พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

19.) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533

20.) พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522

21.) พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

22.) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535

23.) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

24.) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

25.) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

26.) พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509

27.) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

28.) พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559

29.) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

30.) พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509

31.) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย

ให้ส่วนราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายข้างต้นยังคงใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป ตามหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีประกาศหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

“อนุชา” ชี้ ปรับผัง NBT ขยายเวลาช่วยเหลือปชช.เข้าถึงสถานพยาบาลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากสั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์สร้างช่องทางการประสานงาน ส่งต่อ และติดตามการให้ความช่วยเหลือระหว่างประชาชนกับสถานพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนประสานขอรับการช่วยเหลือและสอบถามข้อมูลจำนวนมาก จึงสั่งการให้ขยายเวลาการออกอากาศเพิ่มเติม จากเดิม 10.00-11.30 น. เป็น 09.00-11.30 น. และเปิดรับสายประชาชน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เริ่มใช้ช่วงเวลาใหม่ ในวันที่ 1 พ.ค.2564 เป็นต้นไป เพื่อเป็นที่พึ่งและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่และทั่วถึง โดยผู้ต้องการขอรับความช่วยเหลือ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทาง NBT2HD สามารถติดต่อได้ทาง โทร. 02-275-4225 (10 คู่สาย) Facebook: เพจ Live NBT 2HD และ เพจ NBT 2HD

สุชาติ รมว.แรงงาน สั่งการ สปส.เร่งช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จากประกาศ กทม.ปิดสถานที่ หรือสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว รับสิทธิว่างงานเหตุสุดวิสัยได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2564 กำหนดให้ปิดสถานที่ และสถานประกอบการ จำนวน 35 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งให้ความช่วยเหลือ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเข้าข่ายที่ต้องปิดหรือหยุดประกอบการชั่วคราว ทำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง สามารถติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้

ซึ่ง "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563" ส่งผลให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้าง ไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น หรือลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้าง หยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติและผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้นมีสิทธิได้รับ ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) 

พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน) เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำกำชับให้สำนักงานประกันสังคม ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต โควิด-19 ในทุกๆ ด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่มีนโยบายที่จะเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมในช่วงสถานการณ์ แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้มากที่สุด

ศรีสุวรรณ จี้ บิ๊กตู่ ทบทวนซื้อเรือดำน้ำ หวั่นสูญ 3.6 หมื่นล้านบาท หลัง อินโดฯ เกิดโศกนาฏกรรม

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุเรือดำน้ำเคอาร์ไอ นังกาลา-402 ของอินโดนีเชียแตกเป็น 3 ท่อน จมก้นทะเลทางตอนเหนือของเกาะบาหลี ลูกเรือดับทั้งลำ 53 ศพ หลังจากได้สูญหายระหว่างฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด เมื่อช่วงเช้าวันพุธที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น โศกนาฏกรรมดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญของการมีเรือดำน้ำของประเทศไทย ที่ยังดันทุรังที่จะซื้อเรือดำน้ำของจีนมาประจำการในกองทัพเรือให้จงได้ แม้จะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปซื้อกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทก็ตาม หากเกิดพลาดพลั้งซ้ำรอยเดิมเหมือนอินโดนีเชียขึ้นมา ก็จะไม่สามารถจับมือใครดมหรือหาคนรับผิดชอบได้ นอกจากการออกมาแถลงแก้เกี้ยวว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยห่างหายจากการมีเรือดำน้ำมากว่า 70 ปีแล้วหลังจากที่ไทยเคยมีใช้ 4 ลำและถูกปลดประจำการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2494 ดังนั้น ศักยภาพ ความรู้ ความชำนาญการของการบังคับการเรือดำน้ำสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์และอาวุธตอร์ปิโด ย่อมไม่สามารถเทียบเท่าความชำนาญการของทหารเรืออินโดนีเชียได้ที่เขามีประสบการณ์การใช้งานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 44 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังผิดพลาด ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลในครั้งนี้ได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้ยังยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีสูงมาก โดยเฉพาะกับการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในรอบที่ 3 ที่อาจมีต้นเหตุมาจากนักการเมืองไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ที่ยังจับมือใครดมไม่ได้ ซึ่งยังไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะจบลงเมื่อไร เพราะดูการบริหารการสั่งซื้อวัคซีนและการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าชาติใดๆในอาเชียน ก็สามารถพิเคราะห์ได้เลยว่า ประเทศไทยจะเป็นชาติสุดท้ายในอาเชียนที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ อันจะกระทบไปถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าตามมา และประเทศจะมีปัญหาภาระหนี้ทั้งระบบ จนยากที่รัฐบาลนี้จะแก้ไขได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงทำหนังสือร้องไปที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ รมว.กระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ทบทวนการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่น YUAN CLASS S26T จากประเทศจีนเสีย หรือเจรจาขอขยายการส่งมอบและชำระเงินออกไปสัก 10 ปี เพื่อรอให้ประเทศไทยฟื้นจากปัญหาโควิด-19 เสียก่อนก็ยังไม่สายเกินไป เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ก็จะได้รับการสรรเสริญจากประชาชนทั้งประเทศ เพราะการเป็นนักการเมืองที่ดีที่จะเป็นรัฐบุรุษได้ต้องมองถึงอนาคตของชาติ มากกว่ามองแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

'แรมโบ้' ขอประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลแก้โควิด-19 จี้ ฝ่ายค้านเปิดใจฟัง อย่าเอาทุกประเด็นมาโจมตี

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และการจัดการวัคซีนของนายกรัฐมนตรี ว่า นายกฯ และ รัฐบาลทำงานแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกครม.จึงได้โอนอำนาจให้นายกฯคุม 31  พ.ร.บ ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งโฆษกรัฐบาลได้ยืนยันแล้วว่า เป็นการโอนเพียงชั่วคราวเท่านั้น เป็นการเสริมอำนาจ ไม่ใช่เป็นการรวบอำนาจ ขณะที่รัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจอยู่เป็นบางเรื่องที่นายกฯสั่งการได้ และครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 321 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแล้ว นายกฯมีเป้าหมายให้จัดหาวัคซีนให้ได้ 10-15 ล้านโดสต่อเดือน และนำมาฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยวันละ 3 แสนโดส

นายเสกสกล กล่าวว่า ขอให้ประชาชนสบายใจและมั่นใจได้ว่านายกฯทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์ โควิด -19 ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้เร็วครบทุกคน ขอฝ่ายค้านเปิดใจ รับฟัง ถึงการทำงานของนายกฯบ้าง และพิจารณาก่อนว่านายกฯ ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ไม่ใช่ว่านำทุกประเด็นมาโจมตี กล่าวหานายกฯและรัฐบาลตลอดเวลา ขอขอบคุณพรรคการเมือง และหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน ที่เสียสละร่วมมือร่วมใจช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ ไปพร้อมกับรัฐบาล หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริง ช่วยกันลงมือกระทำ หยุดพูดทำลายกัน หยุดโจมตีตำหนิด่าทอกัน เป็นขวัญกำลังใจให้กันและกัน ในยามบ้านเมืองต้องการความรักความสามัคคี ความเป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกัน นายกฯและรัฐบาล มั่นใจว่าประเทศไทยต้องชนะ ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top