Wednesday, 26 June 2024
Hard News Team

ราชกิจจาฯ ประกาศให้อำนาจ ‘บิ๊กตู่’ คุม พ.ร.บ. 31 ฉบับ หวังแก้วิกฤตไวรัสระบาดเบ็ดเสร็จ-รวดเร็ว

เมื่อวันที่ 27 เมษายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. พ.ศ.2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พ.ค. พ.ศ.2563 นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. พ.ศ.2564 ให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พ.ค. พ.ศ.2563 และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ดังต่อไปนี้

1.) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

2.) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

3.) พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561

4.) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456

5.) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497

6.) พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560

7.) พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551

8.) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562

9.) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

10.) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

11.) พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542

12.) พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495

13.) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

14.) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551

15.) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

16.) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551

17.) พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558

18.) พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

19.) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533

20.) พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522

21.) พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

22.) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535

23.) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

24.) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

25.) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

26.) พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509

27.) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

28.) พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559

29.) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

30.) พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509

31.) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย

ให้ส่วนราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายข้างต้นยังคงใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป ตามหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีประกาศหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

“อนุชา” ชี้ ปรับผัง NBT ขยายเวลาช่วยเหลือปชช.เข้าถึงสถานพยาบาลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากสั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์สร้างช่องทางการประสานงาน ส่งต่อ และติดตามการให้ความช่วยเหลือระหว่างประชาชนกับสถานพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนประสานขอรับการช่วยเหลือและสอบถามข้อมูลจำนวนมาก จึงสั่งการให้ขยายเวลาการออกอากาศเพิ่มเติม จากเดิม 10.00-11.30 น. เป็น 09.00-11.30 น. และเปิดรับสายประชาชน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เริ่มใช้ช่วงเวลาใหม่ ในวันที่ 1 พ.ค.2564 เป็นต้นไป เพื่อเป็นที่พึ่งและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่และทั่วถึง โดยผู้ต้องการขอรับความช่วยเหลือ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทาง NBT2HD สามารถติดต่อได้ทาง โทร. 02-275-4225 (10 คู่สาย) Facebook: เพจ Live NBT 2HD และ เพจ NBT 2HD

สุชาติ รมว.แรงงาน สั่งการ สปส.เร่งช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จากประกาศ กทม.ปิดสถานที่ หรือสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว รับสิทธิว่างงานเหตุสุดวิสัยได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2564 กำหนดให้ปิดสถานที่ และสถานประกอบการ จำนวน 35 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งให้ความช่วยเหลือ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเข้าข่ายที่ต้องปิดหรือหยุดประกอบการชั่วคราว ทำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง สามารถติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้

ซึ่ง "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563" ส่งผลให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้าง ไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น หรือลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้าง หยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติและผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้นมีสิทธิได้รับ ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) 

พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน) เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำกำชับให้สำนักงานประกันสังคม ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต โควิด-19 ในทุกๆ ด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่มีนโยบายที่จะเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมในช่วงสถานการณ์ แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้มากที่สุด

ศรีสุวรรณ จี้ บิ๊กตู่ ทบทวนซื้อเรือดำน้ำ หวั่นสูญ 3.6 หมื่นล้านบาท หลัง อินโดฯ เกิดโศกนาฏกรรม

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุเรือดำน้ำเคอาร์ไอ นังกาลา-402 ของอินโดนีเชียแตกเป็น 3 ท่อน จมก้นทะเลทางตอนเหนือของเกาะบาหลี ลูกเรือดับทั้งลำ 53 ศพ หลังจากได้สูญหายระหว่างฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด เมื่อช่วงเช้าวันพุธที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น โศกนาฏกรรมดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญของการมีเรือดำน้ำของประเทศไทย ที่ยังดันทุรังที่จะซื้อเรือดำน้ำของจีนมาประจำการในกองทัพเรือให้จงได้ แม้จะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปซื้อกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทก็ตาม หากเกิดพลาดพลั้งซ้ำรอยเดิมเหมือนอินโดนีเชียขึ้นมา ก็จะไม่สามารถจับมือใครดมหรือหาคนรับผิดชอบได้ นอกจากการออกมาแถลงแก้เกี้ยวว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยห่างหายจากการมีเรือดำน้ำมากว่า 70 ปีแล้วหลังจากที่ไทยเคยมีใช้ 4 ลำและถูกปลดประจำการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2494 ดังนั้น ศักยภาพ ความรู้ ความชำนาญการของการบังคับการเรือดำน้ำสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์และอาวุธตอร์ปิโด ย่อมไม่สามารถเทียบเท่าความชำนาญการของทหารเรืออินโดนีเชียได้ที่เขามีประสบการณ์การใช้งานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 44 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังผิดพลาด ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลในครั้งนี้ได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้ยังยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีสูงมาก โดยเฉพาะกับการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในรอบที่ 3 ที่อาจมีต้นเหตุมาจากนักการเมืองไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ที่ยังจับมือใครดมไม่ได้ ซึ่งยังไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะจบลงเมื่อไร เพราะดูการบริหารการสั่งซื้อวัคซีนและการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าชาติใดๆในอาเชียน ก็สามารถพิเคราะห์ได้เลยว่า ประเทศไทยจะเป็นชาติสุดท้ายในอาเชียนที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ อันจะกระทบไปถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าตามมา และประเทศจะมีปัญหาภาระหนี้ทั้งระบบ จนยากที่รัฐบาลนี้จะแก้ไขได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงทำหนังสือร้องไปที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ รมว.กระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ทบทวนการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่น YUAN CLASS S26T จากประเทศจีนเสีย หรือเจรจาขอขยายการส่งมอบและชำระเงินออกไปสัก 10 ปี เพื่อรอให้ประเทศไทยฟื้นจากปัญหาโควิด-19 เสียก่อนก็ยังไม่สายเกินไป เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ก็จะได้รับการสรรเสริญจากประชาชนทั้งประเทศ เพราะการเป็นนักการเมืองที่ดีที่จะเป็นรัฐบุรุษได้ต้องมองถึงอนาคตของชาติ มากกว่ามองแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

'แรมโบ้' ขอประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลแก้โควิด-19 จี้ ฝ่ายค้านเปิดใจฟัง อย่าเอาทุกประเด็นมาโจมตี

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และการจัดการวัคซีนของนายกรัฐมนตรี ว่า นายกฯ และ รัฐบาลทำงานแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกครม.จึงได้โอนอำนาจให้นายกฯคุม 31  พ.ร.บ ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งโฆษกรัฐบาลได้ยืนยันแล้วว่า เป็นการโอนเพียงชั่วคราวเท่านั้น เป็นการเสริมอำนาจ ไม่ใช่เป็นการรวบอำนาจ ขณะที่รัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจอยู่เป็นบางเรื่องที่นายกฯสั่งการได้ และครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 321 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแล้ว นายกฯมีเป้าหมายให้จัดหาวัคซีนให้ได้ 10-15 ล้านโดสต่อเดือน และนำมาฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยวันละ 3 แสนโดส

นายเสกสกล กล่าวว่า ขอให้ประชาชนสบายใจและมั่นใจได้ว่านายกฯทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์ โควิด -19 ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้เร็วครบทุกคน ขอฝ่ายค้านเปิดใจ รับฟัง ถึงการทำงานของนายกฯบ้าง และพิจารณาก่อนว่านายกฯ ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ไม่ใช่ว่านำทุกประเด็นมาโจมตี กล่าวหานายกฯและรัฐบาลตลอดเวลา ขอขอบคุณพรรคการเมือง และหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน ที่เสียสละร่วมมือร่วมใจช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ ไปพร้อมกับรัฐบาล หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริง ช่วยกันลงมือกระทำ หยุดพูดทำลายกัน หยุดโจมตีตำหนิด่าทอกัน เป็นขวัญกำลังใจให้กันและกัน ในยามบ้านเมืองต้องการความรักความสามัคคี ความเป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกัน นายกฯและรัฐบาล มั่นใจว่าประเทศไทยต้องชนะ ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้

รมว.สุชาติ เผย ตรวจโควิด-19 ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง จะเปิดจนถึง 30 เม.ย.นี้ ย้ำ สายด่วน 1506 กด 6 ช่วยประสานส่งผู้ประกันตนถึงโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ภาพรวมการตรวจโควิด-19 เชิงรุก 
เพื่อผู้ประกันตน ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกันใน 5 จังหวัด ขณะนี้ตรวจไปแล้ว 29,065 คน ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ 607 คน เน้นย้ำศูนย์ตรวจที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพมหานครจะเปิดให้บริการไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ จากนั้นจะปิดศูนย์ชั่วคราว และเปิดให้บริการตรวจคัดกรองอีกครั้งในวันที่ 5 – 11 พ.ค.นี้ ด้านผู้ประกันตนกล่าวขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ประสานความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1506 กด 6 นำส่งโรงพยาบาลจนถึงมือหมอได้อย่างทันท่วงที

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตน ตามโครงการแรงงาน...เราสู้ด้วยกัน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งภาพรวมขณะนี้ตรวจไปแล้วทั้งหมด 29,065 คน พบผู้ติดเชื้อ 607 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย.64 เวลา 16.00 น.) ซึ่งแต่ละศูนย์มีผลการตรวจ ดังนี้ กรุงเทพมหานคร ตรวจแล้ว 23,055 คน พบผู้ติดเชื้อ 602 คน ซึ่งได้ประสานส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วจำนวน 31 คน ส่งเข้า Hospitel จำนวน 290 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค จังหวัดชลบุรีตรวจแล้ว 596 คน พบผู้ติดเชื้อ 5 คน และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ปทุมธานี ตรวจแล้ว 3,296 คน เชียงใหม่ ตรวจแล้ว 1,389 คน นนทบุรี ตรวจแล้ว 729 คน ซึ่งในส่วนของ 3 จังหวัดยังไม่ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อ โดยศูนย์ตรวจที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพมหานครจะเปิดให้บริการไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ จากนั้นจะปิดศูนย์ชั่วคราว และเปิดให้บริการตรวจคัดกรองอีกครั้งในวันที่ 5 – 11 พ.ค.นี้ และจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า เมื่อผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจโควิด-19 แล้ว และระหว่างรอผลตรวจต้องกักตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เมื่อทราบผลการตรวจแล้วทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบผ่าน 3 ช่องทาง คือ QR Code , SMS และทางโทรศัพท์เพื่อแจ้งแนวการปฏิบัติตนขณะรอเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ดังนี้ 1) ผู้ประกันตนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (กลุ่มสีเขียว) โรงพยาบาลให้เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม 2) สำหรับกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงหรือกลุ่มที่มีอาการรุนแรง (กลุ่มสีส้มและกลุ่มสีแดง) พิจารณาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กรณีโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้เนื่องจากเตียงเต็มโรงพยาบาลสามารถส่งต่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลต่อไป  

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ตรวจคัดกรองโควิด-19 ทั้ง 5 จังหวัดที่เปิดเป็นศูนย์ตรวจจะมีหน้าที่ในการสอบสวนโรคและพิจารณาส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลหรือ Hospitel ซึ่ง ณ ขณะนี้มีโรงพยาบาล ที่จัดตั้ง Hospitel จำนวน 23 แห่ง จำนวน 6,943 เตียง  และอยู่ระหว่างประสานหาเตียงเพิ่มสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ประสานหาเตียงผ่านสายด่วน 1506 กด 6 อีกจำนวน 3,000 เตียง 

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกันตนได้ขอความช่วยเหลือมายังกระทรวงแรงงานและสายด่วน 1506 กด 6 ว่า ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งเธอมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว และรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากมีโรคประจำตัวเป็นมะเร็งเต้านมได้เดินทางมาตรวจโควิด-19 ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง และทราบผลตรวจเมื่อวานนี้ (26 เม.ย.64) และทางกระทรวงแรงงานได้ประสานโรงพยาบาลลาดพร้าว ให้นำรถพยาบาลมารับเมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ และเมื่อเวลา 17.27 น.ที่ผ่านมาเจ้าตัวโทรมาแจ้งว่าได้ขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ให้การประสานการดูแลจนเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลลาดพร้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่อีกราย เป็นผู้ประกันกันมาตรา 33 มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ มีไข้อ่อนๆ ต้องเข้ารับการรักษาตัว ที่โรงพยาบาล จึงประสานขอความช่วยเหลือรับมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอรถพยาบาลให้ไปรับ และกระทรวงแรงงานได้ให้รถพยาบาลของโรงพยาบาลวิชัยเวช เข้าไปรับในวันนี้เวลาประมาณ 18.00 น.จนถึงเจ้าตัวได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที 

เช่นเดียวกับอาม่ารายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีอาการไออย่างรุนแรง ผู้ดูแลใกล้ชิดจึงเป็นห่วงอาม่าต้องการให้พาไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงตัดสินใจประสานความช่วยเหลือมายังกระทรวงแรงงานให้หารถมารับ จนล่าสุดรถพยาบาลของโรงพยาบาลสมุทรปราการได้รับตัวอาม่าไปรักษาเรียบร้อยแล้ว

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) นำร่องใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่ระดับสูงสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าและผู้บริโภค พร้อมผลักดันให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีนโยบายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการช่วยผลักดันให้ ส.อ.ท. ก้าวสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) ดังนั้น นับจากนี้ ส.อ.ท. ก็จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และเป็นหน่วยงานที่สำคัญเพราะถือเป็นผู้ผลิตซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 1 ใน 3 ส่วนสำคัญอันได้แก่ ผู้ผลิต, ผู้ใช้และนักวิชาการ ส.อ.ท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้รับการรับรองเป็น SDOs ในครั้งนี้ จะทำให้ ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยร่วมกับทาง สมอ. ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ”

"ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการพัฒนาผลิภัณฑ์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้ สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการกำหนดมาตรฐานให้ได้มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วยเช่นกัน"

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะสามารถทำมาตรฐานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถกำหนดมาตรฐานได้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากที่สุด ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการที่จะมีองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า/ผู้บริโภค, สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เพราะต่อไป

หากสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยจะต้องขอมาตรฐานที่เรากำหนดขึ้นด้วย ซึ่งจะถือเป็นโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก, สิ่งทอ ,เซรามิก, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ซึ่งมาตรฐานต่าง ๆ จะสำเร็จออกมาใช้ได้น่าจะอยู่ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ โดยจะเร่งในกลุ่มสินค้าสำคัญและอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ตู้แช่วัคซีน ที่ทุกกลุ่มมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมมือกันในการเป็น SDOs ในครั้งนี้”


ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส.อ.ท.

“อนุชา” สั่งพศ. ประสานวัด ย้ำ เผาร่างผู้ติดเชื้อได้ วอนอย่ารังเกียจ แนะให้ทำตามมาตรการป้องแพร่ระบาดเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)กล่าวถึงกระแสสังคมวิจารณ์ ที่วัดบางแห่ง ปฏิเสธรับศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประกอบพิธี ว่า ได้สั่งการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)ประสานทำความเข้าใจและขอความร่วมมือทุกวัดทั่วประเทศ อย่าปฏิเสธการประกอบพิธีฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการฌาปนกิจศพเป็นพิเศษ โดยให้ประสานกับสาธารณสุขพื้นที่ เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดและถูกวิธี พร้อมสร้างความเข้าใจกับญาติ เกี่ยวกับการประกอบพิธีฌาปนกิจว่าต้องกระทำทันที ไม่ให้มีการไว้ทุกข์เป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวัดและชุมชนใกล้เคียง 

“ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศ วัดเป็นที่พึ่งหลักของพุทธศาสนิกชน ที่มีความศรัทธาตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อเกิดการสูญเสียไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ขอความร่วมมือไปยังทุกวัด กรุณารับฌาปนกิจศพผู้ติดเชื้อ อย่าได้รังเกียจ และขอให้ปฏิบัติอย่างถูกวิธีตามมาตรการป้องกันการแพทยระบาด โควิด-19 ที่ภาครัฐกำหนด”

งดจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลฯ 2564 ที่ท้องสนามหลวง

2564 ผ่านโปรแกรม ZOOM cloud Meetings ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ไม่สามารถดำเนินการจัดได้ตามปกติ 

กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีหนังสือถึงสำนักพระราชวัง ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยงดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2564 และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกอบพิธีปลุกเสกพันธุ์ข้าวพระราชทาน เพื่อเป็นพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูก รวมถึงเพื่อความเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรทั่วประเทศ

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กระทรวงเกษตรฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยงดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2564  และพระราชทานพระมหากรุณาในการต่างๆ ดังนี้

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานฝ่ายฆราวาสในพิธี ปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564  เวลา 17.00 น. และปฏิบัติหน้าที่ประธานในพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลองสวนจิตรลดา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้หว่านข้าว 

พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระคันธารราษฎร์ใหญ่ (ประทับนั่ง) พระคันธารราษฎร์จีน (ประทับนั่ง) ที่ประดิษฐาน ณ  หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืชต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2564 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผู้แทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปีพุทธศักราช 2563 – 2564 จำนวน 76 คน เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะกำหนดวันและเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

ทบ.ระดมรถทหาร 103 คัน สนับสนุนภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑล

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงส่งผลในวงกว้าง นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้เหล่าทัพเข้าสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง 
ได้บูรณาการยานพาหนะจากเหล่าทัพพร้อมพลขับ จัดตั้ง“ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ COVID-19 ศปม.”ขึ้น  ทั้งนี้ในส่วนของกองทัพบก ได้ส่งยานพาหนะเข้าร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ดังกล่าวแล้วตั้งแต่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา 
             
จากนโยบายของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่พร้อมนำทรัพยากรของกองทัพบกที่มีอยู่มาใช้ในการสนับสนุนและดูแลประชาชนในสถานการณ์ COVID-19 นั้น ล่าสุดได้สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเคลื่อนย้าย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพบก” เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุข ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินตามความเหมาะสม โดยมอบให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก บูรณาการศักยภาพด้านการขนส่งและการบริหารจัดการด้านการเคลื่อนย้ายของกองทัพบก ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 

โดยกองทัพบกได้จัดยานพาหนะ 103 คัน เป็นรถโดยสารขนาดเล็กจำนวน 35 คัน และรถยนต์บรรทุกปกติขนาดเล็ก (ปิ๊กอัพ) จำนวน 68 คัน พร้อมกำลังพลประจำรถที่ผ่านการฝึกอบรมในเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ และมอบให้กองทัพภาคที่ 1, กรมการขนส่งทหารบก, หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก รับผิดชอบดำเนินการในลักษณะประสานการปฏิบัติกับศูนย์เอราวัณ, ศูนย์นเรนทร และศูนย์แรกรับผู้ป่วย โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (27 เม.ย.64) สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อในครั้งนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกได้เข้ามาทำความสะอาดเพื่อให้ปลอดเชื้อ พร้อมออกปฏิบัติภารกิจต่อเนื่อง 

โดยในวันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก ได้มีการตรวจความพร้อมของยานพาหนะและกำลังพลในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 เพื่อให้การปฏิบัติดูแลผู้ติดเชื้อในเรื่องการเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นไปตามแนวทางที่กองทัพบกและ ศปม. กำหนด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top