Wednesday, 26 June 2024
Hard News Team

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพรร่ระบาดของโรคติดเชื้อไรรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เห็นชอบแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว 6 ชุด

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา ที่ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพรร่ระบาดของโรคติดเชื้อไรรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต. นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองโรคโควิด-19 ในทุกสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 

“สำหรับการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 6 ชุด  เพื่อตรวจสอบ จับกุม ดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งคนต่างด้าวกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม.วันที่ 29 ธ.ค. 63 ประกอบกับมติครม.วันที่ 26 ม.ค. 64 และมติครม.วันที่ 7 เม.ย. 64 แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 6 ชุด จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการ จะถูกดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

กยศ. เคาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สู้ภัยโควิด จ่ายดีลดดอกเบี้ยให้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป 

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปีเป็นการเฉพาะกิจ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ (ปกติกองทุนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.– 31 ธ.ค. 2564 

พร้อมทั้ง ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ทั้ง ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี, ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ, ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว และลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ยังชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564 และงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม และผู้รับจำนองที่ยึดไว้ด้วย

พอยิ้มออก! หลังดัชนีอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นรอบ 29 เดือน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้น 4.12%  ขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน สะท้อนให้เห็นแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงานโรงงาน 

“ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 และประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น”

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำและรายการพิเศษเดือนมี.ค. 2564 ขยายตัว 25.77% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน ซึ่งจากการกลับมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 0.25%

“ปธ.หอการค้าไทย” โล่ง ”บิ๊กตู่ - อนุทิน” การันตี แผนจัดหาวัคซีน ลุ้น เปิดประเทศต้นปี 65 ยัน เอกชนพร้อมช่วยสนับสนุนภาครัฐ

เมื่อวันที่28 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมแถลงผลการหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ว่า ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนคงสบายใจได้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้ความสบายใจว่า ภายในปี 2564 ประชาชนคนไทย ผู้ที่มาทำงาน หรือคนต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยหรือแรงงานที่มาอยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน 

ขณะนี้รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนได้ 100ล้านโดส จะครอบคลุมประชากร ประมาณ 70เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นลักษณะนี้เราสบายใจได้ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 ส่วนภาคเอกชน ตั้งใจให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และขอบคุณที่ภาครัฐให้ความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ หากเป็นไปในลักษณะนี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล (เปิดประเทศโดยไม่กักตัว) ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันที่1เดือนก.ค.นี้ ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ก็ไม่น่าจะพลาด ทั้งนี้การร่วมมือทำงานครั้งนี้ถือเป็นการตั้งไทยแลนด์ทีมเกิดขึ้นแล้ว

ก.ก.ร.4 เสนอ 4 ประเด็นหลัก ช่วยรัฐเร่งแก้ปัญหา ทั้งการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวก และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม สศช. จับมือ สมช.ประสานช่วยตั้งแต่พรุ่งนี้

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564  ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังที่ช่วงเข้า ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทย เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 

ภายหลังการประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ  สศช. เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ ก.ก.ร. ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการบริหารจัดการด้านวัคซีนซึ่งจะเริ่มมีเข้ามาในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยภาคเอกชนมีข้อเสนอที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนและการจัดสถานที่ต่างๆที่จะทำให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนในช่วงสิ้นปีนี้ คือในเดือนธันวาคม 2564 สามารถบรรลุเป้าหมาย 50 ล้านคนได้ ซึ่งวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอที่ทางภาคเอกชน ที่มาจากการทำงานร่วมกันได้เสนอ 4 เรื่อง ประกอบด้วยเรื่องของการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวกต่างๆรวมทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งทางรัฐบาลได้รับข้อเสนอดังกล่าวและเร่งประสานงานทั้งหมดให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว

นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องของการกระจายวัคซีน ทางนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นชอบให้แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนในการใช้กลไกของฝั่งภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมในการจัดจุดฉีดวัคซีน และการกระจายวัคซีนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมทั้งจังหวัดต่างๆ ซึ่งในต่างจังหวัดจะผ่านกลไกของ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการเร่งรัดดูแลเรื่องการจัดสถานที่รวมทั้งการดูแลเรื่องการกระจายวัคซีนเมื่อมีวัคซีนเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งเปลี่ยนในเรื่องของอุปกรณ์ บุคลากรที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการบริหารจัดการตามจุดต่างๆที่มีการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ซึ่งภาคเอกชนรับที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการประชาสัมพันธ์เรื่องของการจัดหาวัคซีนและเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนรวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีความชัดเจนในแง่การรับรู้ของวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกในระบบงานต่างๆซึ่ง ปัจจุบันระบบการลงทะเบียนเราใช้การลงทะเบียนของหมอพร้อม ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนในแง่ของตัวระบบต่างๆทั้งช่วงระหว่างการลงทะเบียนและการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม 

เลขา สศช.กล่าวว่า ข้อสรุปทั้งหมดนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแม่งานในการประสานงานต่างๆกับภาคเอกชนโดยมีทาง สศช.และตน และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ดำเนินการประสานกับพระเอกชนในรายละเอียดต่างๆ โดยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.) จะประสานงานในรายละเอียดด้านต่างๆเพื่อดูในแผนการกระจายวัคซีน การกำหนดจุดต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจนเมื่อวัคซีนเข้ามาจะได้ทำการฉีดวัคซีนและกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชนได้ตามเป้าหมาย

“วิษณุ” ยืนยัน แบ่งงานรมต.ดูพื้นที่จว. เสร็จพรุ่งนี้ เตรียมส่งให้นายกฯพิจารณาใหม่

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรี รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ตามคำสั่งนายกฯที่ 85/2564 นั้น เรื่องดังกล่าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จนยอมให้มีการปรับเปลี่ยน โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งนายจุรินทร์ ได้มอบหมาย นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ไปประสานกับนายวิษณุ 

ล่าสุด นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ ว่า การแบ่งงานรัฐมนตรีให้ดูแลพื้นที่จว.ต่าง ๆ นั้นขณะนี้ให้กลับไปยึดคำสั่งนายกฯที่ 243/2563ก่อน เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสลับตำแหน่งรัฐมนตรีรับผิดชอบพื้นที่ให้เรียบร้อย เพราะรัฐมนตรีบางคนก็ประสงค์จะสลับจังหวัดกันเองด้วย ตนจึงยังไม่สามารถพูดรายละเอียดออกมาได้ โดยเรื่องดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นวันที่ 29 เม.ย. ก่อนที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม เพื่อออกเป็นคำสั่งใหม่ ซึ่งจะมีผลแทนคำสั่งนายกฯที่ 85/2564 เมื่อเรียบร้อยแล้วจะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง

 แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับประกาศ เรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่โอนอำนาจในกฎหมาย 31 ฉบับมาให้นายกฯ เพื่อแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น วันที่ 29 เม.ย.นี้ นายวิษณุ จะชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุม ศบค. เพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

กห.เร่งสนับสนุนจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่ม พร้อมปรับและเปิดใช้งาน Hospitel 8 แห่ง รับผู้ป่วยกว่า 3,000 เตียงต้น พ.ค.

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ หน่วยขึ้นตรงกระคน เหล่าทัพ  กอ.รมน.และ ตร. ผ่านระบบทางไกล  ทร่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อติดตามขับเคลื่อนการสนับสนุนการแก้ปัญหา COVID-19 ตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี
และรมว.กลาโหม 

ทั้งยี้รมช.กลาโหม ได้กล่าวย้ำ แสดงความขอบคุณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ถึงกำลังพลทุกเหล่าทัพ ที่ได้ร่วมบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย ช่วยแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนโลหิตในปัจจุบันสำหรับรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลต่างๆ และกำชับให้ทุกเหล่าทัพใช้ทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่ เข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน กทม.และ กระทรวงสาธารณะสุข คลี่คลายปัญหาการบริหารจัดการผู้ป่วยภาวะเร่งด่วนในปัจจุบัน ที่พบการติดเชื้อเพิ่มและมีจำนวนมากในหลายพื้นที่  

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ได้กำชับให้ เร่งแปรสภาพ SQ ที่มีความพร้อมทั้ง 8 แห่ง รวม 3,133 เตียง ให้สามารถทำหน้าที่เป็น Hospitel ได้ภายในต้น พ.ค.นี้ เพื่อรองรับผู้ป่วยรอการฟื้นตัวจากโรงพยาบาลหลัก รวมทั้งขอให้พิจารณาจัดตั้ง รพ.สนามในพื้นที่หน่วยทหารเพิ่มเติมและสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ จัดตั้ง รพ.สนามเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปพร้อมกัน  ทั้งนี้ ขอให้สนับสนุน กทม.แก้ปัญหาและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่คลองเตยที่กำลังเกิดขึ้น 

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า รมช.กลาโหม ยังได้กำชับขอให้ประสานกับศูนย์เอราวัณ กทม. ( call center 1168 และ1330 )  สนับสนุนยานพาหนะเร่งเข้าไปรับผู้ป่วยรอการรักษาตามที่พักอาศัยเข้ารับการรักษาในระบบโดยเร็ว  และขอให้ทุกเหล่าทัพเตรียมความพร้อมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ทหารและเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการเร่งกระจายฉีดวัคซีนที่กำลังจะเข้ามาจำนวนมากในเร็วๆนี้ ไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆในแต่ละพื้นที่โดยเร็วที่สุดตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด

"อรรถวิชช์" นำพรรคกล้าบริจาคเลือด เหตุโควิดทำยอดบริจาคลดกว่าครึ่ง และจะลดหนักกว่านี้หลังการกระจายฉีดวัคซีนโควิด เพราะต้องเว้นการให้เลือดเป็นเดือน หนุนทุกภาคส่วน-เอกชน ร่วมมือแก้วิกฤต

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า , ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอราวัณ ทับพลี ผู้อำนวยการพรรคกล้า นำทีมสมาชิกพรรคจากหลายพื้นที่ในนามกลุ่มกล้าอาสา เข้าบริจาคโลหิต ที่ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันกลุ่มกล้าอาสาภาคใต้ ก็เดินทางร่วมกันบริจาคโลหิต ที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 12 สภากาชาดไทย จังหวัดสงขลา 

โดยนายอรรถวิชช์ กล่าวถึงสถานการณ์คลังเลือดในสถานการณ์โควิด-19 ว่า โดยปกติแล้วสภากาชาดไทย โดยปกติรับบริจาคเลือดได้ 2,200 ยูนิตต่อวัน โดยแบ่งเป็นการรับบริจาคที่ศูนย์ใหญ่ 1,000 ยูนิต และรับบริจาคตามรถโมบายเคลื่อนที่อีก 1,200 ยูนิต แต่ขณะนี้ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่านี้อีก เนื่องจากคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 จะต้องเว้นวรรคการให้เลือด โดยกรณีผู้ที่รับวัคซีน Astrazeneca ต้องเว้นวรรค 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่รับวัคซีน Sinovac ต้องเว้นวรรค 1 สัปดาห์ ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีที่มีผลข้างเคียง อาจจะต้องขยายไปอีก 1 สัปดาห์ด้วยซ้ำไป จึงมีแนวโน้มการบริจาคเลือดอาจน้อยลงไปอีก หากการฉีดวัคซีนขยายเพิ่มมากขึ้น จึงขอรณรงค์ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มาบริจาคเลือดกันที่สภากาชาดไทย พร้อมย้ำว่าทุกขั้นตอนมีการอำนวยความสะดวกและสะอาด มีขั้นตอนป้องกันโรคระบาด 

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวสนับสนุนกรณีเอกชนเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี ในการขยายความร่วมมือกระจายวัคซีน โดยขอบคุณทั้งภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย ที่มีเจตนาช่วยกระจายวัคซีน ซึ่งหลายประเทศมีตัวอย่างสามารถกระจายวัคซีนได้เร็วเพราะให้เอกชนร่วมด้วย ดังนั้นอะไรที่ทำได้ก็ควรทำ เพื่อประเทศของเราตอนนี้

รมว.เกษตรฯ พอใจผลงานขายทุเรียนไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จ ย้ำนโยบายคุณภาพสำคัญสุด ด้าน ‘อลงกรณ์’ เผยสื่อจีนเด้งรับแพร่ข่าวกระหึ่มแดนมังกร มอบทูตเกษตรขยายผลบุกทุกมณฑลจีน ตั้งเป้าหมายใหม่ ขาย 20 ตัน ใน 1 ชั่วโมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า เครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่นำทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม 20 ตันจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีเดินทางถึงที่สนามบินเซินเจิ้นแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้ โดยผู้ประกอบการจีนได้จัดส่งแบบ Delivery ถึงลูกค้าซึ่งสั่งซื้อล่วงหน้าทันที

ทั้งนี้ เป็นการส่งออกทุเรียนด้วยการจำหน่ายออนไลน์ระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order) ครั้งแรก โดยลูกค้าจ่ายเงินสั่งจองผ่านระบบออนไลน์มาก่อน ซึ่งล็อตแรกจำนวน 20 ตัน ขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนี้ จะประสานงานกับทูตเกษตรไทยทั้ง 8 สำนักงานในจีน ช่วยขยายผลรุกตลาดจีนทุกมณฑล

“ได้รายงานผลดำเนินการต่อท่านรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แล้ว ท่านพอใจผลงานขายทุเรียนแบรนด์ไทยไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จและสั่งการให้เน้นเรื่องคุณภาพเป็นนโยบายสำคัญที่สุด”

นายอลงกรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ทางสำนักงานทูตเกษตรไทยในจีนรายงานว่าสื่อมวลชนในจีนได้ลงข่าวกันอย่างครึกโครม ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่ทุเรียนแบรนด์ไทยสู่ตลาด 1,400 ล้านคนแบบชั่วข้ามคืน

นอกจากนี้ได้ประสานกับบริษัท โรยัลฟาร์ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ใช้แพลตฟอร์มระบบสั่งซื้อล่วงหน้าเก็บข้อมูลความพึงพอใจของลูกค้าในจีนและพฤติกรรมการบริโภคทุเรียน เช่น นิยมทุเรียนพันธุ์อะไร ขนาดผลเล็กหรือใหญ่ ชอบรสชาติอย่างไร แต่ละมณฑลนิยมทานหวานมากหรือหวานน้อย เป็นต้น

จากข้อมูลการสั่งซื้อเบื้องต้นพบว่า ลูกค้าในเมืองซึ่งเป็นครอบครัวขนาดเล็กจะสั่งทุเรียนผลเล็กทานเสร็จไม่ต้องเก็บรักษา ส่วนลูกค้าชานเมืองซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่นิยมสั่งผลใหญ่รับประทานได้หลายคนโดยจะนำข้อมูลมาเก็บในบิ๊กดาต้าทำการวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“จากการพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทโรยัลฟาร์มกรุ๊ปซึ่งเป็นเจ้าแรกที่เปิดขายระบบสั่งซื้อล่วงหน้าแสดงความมั่นใจว่าในการเปิดจองระบบสั่งซื้อล่วงหน้าในจีนล็อตแรก 20 ตันเกือบ 1 หมื่นลูกจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและด้วยคุณภาพที่สหกรณ์เมืองขลุงจันทบุรีคัดสรรมาอย่างดีรวมทั้งสื่อจีนขานรับช่วยตีข่าวอย่างกว้างขวางจึงตั้งเป้าว่าล็อตต่อ ๆ ไปจะใช้เวลาขาย 20 ตันในเวลา 1ชั่วโมง”

เผยไทย เร่งเจรจาสิทธิบัตร ยารักษาโควิด19 “ฟาวิพิราเวียร์” เพื่อผลิตในประเทศ - นายกฯ สั่ง จนท. เข้ม คนฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564  ที่ทำเนียบรัฐบาล นาวสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามความคืบหน้าการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิดรับฟังประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและมีข้อสั่งการให้แก้ไขให้เร็วที่สุด พร้อมกับย้ำกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการดูแลจัดหายา และเวชภัณฑ์อื่นๆ ให้เพียงพอ 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของยารักษาโรคโควิด-19 นั้น ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบว่า หลังจากได้สั่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จากญี่ปุ่นเข้ามาให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศขณะนี้ได้กระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว และขณะนี้ได้อยู่ระหว่างให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตร  เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นก็ยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้รัฐไม่ได้มีการผูกขาดนำเข้าแต่อย่างใด 

“รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แจ้งกับ ครม.ว่าองค์การเภสัชกรรมกำลังดำเนินการตามขั้นตอนการเพื่อให้ได้สิทธิยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาผลิตในประเทศเนื่องจากยามีสิทธิบัตรในต่างประเทศต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เมื่อได้แล้วจะมีส่วนให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในส่วนของเวชภัณฑ์ยามากขึ้น”น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะต้องดำเนินการจัดหาวัคซีนที่ได้มาตรฐานโดยไม่ได้จำกัดผู้ผลิตว่าต้องเป็นรายใดให้ได้จำนวนมากที่สุด และให้กระจายวัคซีนให้ทั่วถึงประชาชนตามแผนที่วางไว้ กระจายไปให้ทุกจังหวัดทั้งรัฐและเอกชน และให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยกระจายวัคซีน ดูแลระบบการให้วัคซีนให้มีปรระสิทธิภาพไม่ให้เกิดปัญหาระบบล่ม น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เห็นว่าขณะนี้มีประชาชนหลายภาคส่วนต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระของบุคลากรสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงได้ให้มีการพิจารณาว่า จะสามารถเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในช่วยเหลือ เร่งแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆของภาครัฐ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เอาจริงเอาจังกับการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top