Wednesday, 26 June 2024
Hard News Team

รมว.คลัง ระบุ ยังไม่มีแผนกู้เงินเพิ่ม เผยยังมีเงินสำรอง 3.8 แสนล้านบาท

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนที่จะออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังยังมีงบประมาณในการดูแลสถานการณ์โควิด-19อีก 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เหลือ 2.4 แสนล้านบาท และงบกลางของปีงบประมาณ 2564 ภายใต้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้าน และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท

สำหรับการออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในช่วงเดือน เม.ย. นี้ กระทรวงการคลังต้องขอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อน เพราะมีการปิดบางกิจการ และการความร่วมมืองดการเดินทาง ซึ่งถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น ถ้าจำกัดการแพร่ระบาดได้ ผลกระทบก็ลดลง ซึ่งตอนนี้นโยบาย เวิร์ค ฟอร์ม โฮม (Work form Home)ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน

“นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ มาตรการก็มีหลายรูปแบบทั้งในส่วนของมาตรการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามาตรการคนละครึ่ง โดยให้ประชาชนมีส่วนช่วยเหลือ ก็ได้ผลดี แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ ที่ยังอยู่ในช่วงของการระบาด ก็ต้องรอดูสถานการณ์ก่อนว่า จะออกมาตรการได้ในช่วงใด ตอนนี้มาตรการเราชนะ ม33 เรารักกัน ก็ยังมีเวลาเหลืออยู่ ยังเพียงพออยู่” นายอาคม กล่าว

นายกฯ ถกเอกชนเร่งสปีด 'วัคซีน ทีมไทยแลนด์' ฉีดคนไทย 70% ก่อนสิ้นปี เชื่อช่วยฟื้นประเทศได้ในปี 65

นายกฯ ถกเอกชนเร่งสปีด 'วัคซีน ทีมไทยแลนด์' ฉีดคนไทย 70% ก่อนสิ้นปี เชื่อช่วยฟื้นประเทศได้ในปี 65

ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน “นายกอบจ.เลย” สามีที่ปรึกษา​ "อนุทิน" รวย 212 ล้านบาท​ พบ เมียเป็นบอร์ดบ.โบนันซ่า ซัมมิท ในเมียนมาร์ อึ้ง​ ครอบครองรถเกือบ 40 คัน ด้าน ผอ.ป.ป.ช.เลย จ่อ สอบเชิงลึก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564   โดยนายธนาวุฒิ ระบุประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี ว่าดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยมาตั้งแต่ปี 2544 

มีนางใยอนงค์ ทิมสุวรรณ เป็นคู่สมรส และยังระบุตำแหน่งปัจจุบันในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ว่ามีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท Bonanza Summit Co.Ltd ซึ่งตั้งอยู่ที่ Heho Village, Taunggyi District Shan State, Myanmar ด้วย

นายธนาวุฒิและนางใยอนงค์ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 212,232,960 บาท เป็นของนายธนาวุฒิ 146,426,116 บาท ของนางยายอนงค์ 65,806,844 บาท โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน เงินลงทุน และยานพาหนะ 

ทั้งนี้​ ผู้ยื่นและคู่สมรสมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 26,165,393 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น

ในส่วนของที่ดินที่ผู้ยื่นและคู่สมรสแสดงไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 67 รายการมูลค่ารวม 150,673,892 บาท โดยที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอวังสะพุงจังหวัดเลย และที่จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ​ ส่วนยานพาหนะผู้ยื่นและคู่สมรสแสดงรายละเอียดไว้จำนวน 36 รายการ ประกอบด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มูลค่ารวม 13,159,000 บาท ทั้งนี้มีการระบุวันที่ได้มาพบว่า มีการครอบครองตั้งแต่ปี 2537-2559 และเป็นหมายเลขทะเบียนของทั้งจังหวัดเลย กรุงเทพฯ และอุดรธานี

สำหรับทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่า 200,000 บาทขึ้นไปผู้ยื่นแสดงไว้ทั้งสิ้น 5 รายการมูลค่ารวม 9,700,000 บาท ประกอบด้วย นาฬิกาโรเล็กซ์ฝังเพชร 1 เรือน งาช้าง 2 คู่ พระเครื่อง 68 องค์ สร้อยคอทองคำ 20 เส้น แหวน 26 วง โดยระบุว่าทั้งหมดเป็นมรดก

ด้านนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเลย กล่าวว่า เป็นการแจ้ง บัญชีทรัพย์สินในส่วนของยานพาหนะตามที่ผู้ยื่นมีชื่อครอบครองทะเบียนรถ แต่อย่างไรก็ตามขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้และอาจมีการตรวจสอบยืนยัน หรือตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

ก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมข้อเสนอเฉพาะหน้าช่วยลูกจ้าง-ผู้ประกอบการจากพิษโควิด

พรรคก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมเปิดข้อเสนอ 7 มาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคำสั่งของรัฐบาลในการป้องกันโควิด ย้ำสถานะการคลังยังกู้เพิ่มได้ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณ

29 เมษายน 2564 พรรคก้าวไกลเปิดตัวศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center นำโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ เพื่อรับฟัง ศึกษา วิจัย และออกแบบนโยบายในการพัฒนาประเทศไทยระยะยาว

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้านั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่าขณะนี้ระบบสาธารณสุขกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนล้มตายจากโควิด-19 รายวัน เนื่องจากการวางแผนเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขที่ผิดพลาดของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่กล้าพอจะประกาศล็อกดาวน์ เพราะไม่พร้อมจะรับผิดชอบเยียวยาประชาชน รัฐบาลใช้วิธีสั่งปิดสถานประกอบการและห้ามออกนอกเคหะสถานโดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ต่างอะไรกับมีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า 

ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตหรือ Think Forward Center ในนามสถาบันนโยบายสาธารณะ (Think Tank)  ของพรรคก้าวไกลจึงมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1) รัฐต้องพยุงการจ้างงาน โดยรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อช่วยคงการจ้างงาน ในอัตรา 30% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน และจะช่วยสนับสนุนเงินเพื่อคงการจ้างงานไม่เกิน 100 คน/สถานประกอบการ โดยมีเงื่อนไขไม่ปรับลดคนออก เพื่อช่วยให้สถานประกอบการขนาดเล็ก/แรงงานอิสระยังคงการจ้างงาน/การทำงานไว้ได้ จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 17 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 100,000 ล้านบาท

2) รัฐต้องชดเชยการว่างงานอันเนื่องมาจากประกาศคำสั่งของรัฐ โดยไม่นำเงินกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย หากมีนโยบายชดเชยคนที่ต้องหยุดงานชั่วคราวด้วยคำสั่งของรัฐ ผู้ที่ต้องจ่ายคือรัฐบาล อย่านำเงินที่ลูกจ้าง นายจ้างร่วมกันสมทบไปจ่าย

3) จ่ายชดเชยตรงให้กับผู้ประกอบการที่ต้องถูกสั่งปิดกิจการโดยคำสั่งรัฐ สถานประกอบการเหล่านี้จะถูกสั่งปิดเป็นอันดับต้นๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ร้านนวด ร้านเสริมสวย ผับ บาร์ สถานศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็ก สนามกีฬา กองถ่ายละครและภาพยนตร์ รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งด่วน ซึ่งทุกการระบาดที่ผ่านมายังไม่เคยมีการชดเชยโดยตรงให้ผู้ประกอบการแม้แต่บาทเดียว

4) จ่ายเงินเยียวยาผลกระทบ สำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 3,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือนทันที โดยมีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 50 ล้านคน ใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท

5) นำมาตรการ asset warehousing มาประยุกต์ใช้สำหรับหนี้ครัวเรือน เช่น การยืดระยะเวลาการไถ่ถอน การลดอัตราดอกเบี้ย และการมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย(3 เดือน) สำหรับสถานธนานุบาลและสถานธนานุเคราะห์ และมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนต่างในการดำเนินการ 

6) ให้สินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยให้ผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จค่าบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาอื่น(รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต) มาขอกู้เงินแบบปลอดดอกเบี้ยตลอดปี 2564 ที่ธนาคารของรัฐ(เช่น ธนาคารออมสิน) จากนั้นจึงจะเริ่มให้คืนเงินกู้ และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในปี 2565 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลต้องให้งบประมาณสนับสนุนโดยการชดเชยอัตราดอกเบี้ย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องขาดรายได้

7) สนับสนุนวงงบประมาณสำหรับการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต และ/หรืออุปกรณ์ทางการศึกษา(ที่เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนแบบทางไกล/ออนไลน์) สำหรับนักเรียนและนักศึกษาทุกคน ตลอดภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวงเงิน 1,500 บาท/ภาคการศึกษา และภาครัฐควรประสานกับ กสทช. และภาคธุรกิจโทรคมนาคม ให้สามารถให้บริการในค่าบริการที่ต่ำที่สุด

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ พรรคก้าวไกลและ Think Forward Center เป็นทางรอดของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่มาบริหาร แม้ว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้จะมีผลให้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการได้ โดยหากมีการกู้ยืมเงินอีกในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านการออกพระราชบัญญัติและกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะทำให้สัดส่วนภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณทั้งหมดอยู่ประมาณ 12.5% ของงบประมาณทั้งหมด และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 65% ของ GDP ซึ่งแม้จะเกินจากกรอบเดิมที่เคยกำหนดไว้ แต่ก็เป็นแนวทางที่จะสร้างประโยชน์กับประชาชนในสถานการณ์ที่ประชาชนมีความยากลำบาก โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90% ของ GDP แล้วในปัจจุบัน”

“แต่การกู้เงินรอบใหม่ไม่สมควรกระทำในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเมื่อดูจากผลงานการใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความสามารถที่จะอนุมัติและเบิกจ่ายโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สมควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหากจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มในครั้งใหม่นี้” ดร.เดชรัต กล่าวสรุป

นอกจากมาตรการเฉพาะหน้าในระยะสั้นที่ได้กล่าวมาแล้วแล้ว พรรคก้าวไกล และ Think Forward Center เห็นว่ารัฐบาลควรมีแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังโควิด โดย Think Forward Center จะนำเสนอนโยบายในระยะกลางและระยะยาว เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ขอให้ผู้ที่สนใจติดตามต่อไป

ฝ่ายความมั่นคงไทย ยังคงตรึงกำลังมิให้มีการละเมิดหรือรุกล้ำอธิปไตย หลังสถานการณ์ชายแดนยังไม่สงบ พบ เครื่องบินเมียนมาบินตรวจการเป็นระยะ ชาวบ้านยังหวาดกลัวไม่กล้ากลับเข้าหมู่บ้าน

ความเคลื่อนไหวสถานการณ์ชายแดนฝั่งเมียนมา บริเวณตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังเกิดเหตุกะเหรี่ยง KNU บุกโจมตีฐานที่มั่นทหารเมียนมา เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านยังเห็นเครื่องบินเมียนมา บินตรวจการในพื้นที่ฝั่งประเทศเมียนมาเมื่อวานนี้

ซึ่งก่อนหน้านี้มีชาวบ้านแม่สามแลบบางส่วนที่อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย สมัครใจที่จะกลับไปอาศัยอยู่บ้านเนื่องจากเป็นห่วงข้าวของ แต่ต้องยกเลิกการตัดสินใจทันที บางส่วนไปพักอาศัยบ้านญาติที่อยู่ห่างจากพื้นที่ริมน้ำที่ลึกเข้ามา และ บางส่วนได้เดินทางกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่บ้านห้วยกองก๊าด เหมือนเดิม หลังจากช่วงเที่ยงของเมื่อวานชาวบ้านเห็น เครื่องบินบินผ่านบริเวณฐานซ่อแลท่า ฝั่งประเทศเมียนมา

ขณะที่ ทางหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของไทย ยังคงปิดกั้นไม่ให้สื่อหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ เข้าไปในพื้นที่บ้านแม่สามแลบ เนื่องจากต้องป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสถานการณ์การณ์โควิด และ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ ยังคง ตรึงกำลังมิให้มีการละเมิดหรือรุกล้ำอธิปไตย และ คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ ผู้หลบหนีภัย และให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บตามหลักมนุษยธรรม


สุกัลยา / ถาวร รายงาน

Update ! 73 จังหวัด/พื้นที่ (72 จังหวัด + กทม.) ที่มีบทลงโทษ กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน/สถานที่สาธารณะ เพิ่ม จังหวัดเชียงราย น่าน และกำแพงเพชร

Update ! 73 จังหวัด/พื้นที่ (72 จังหวัด + กทม.) ที่มีบทลงโทษ กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน/สถานที่สาธารณะ เพิ่ม จังหวัดเชียงราย น่าน และกำแพงเพชร

ภาคกลางและภาคตะวันออก

1.) กาญจนบุรี (เฉพาะตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ)
2.) ปราจีนบุรี
3.) เพชรบุรี
4.) สุพรรณบุรี
5.) อยุธยา
6.) สมุทรสาคร
7.) ลพบุรี
8.) สมุทรปราการ
9.) ประจวบคีรีขันธ์
10.) ชลบุรี
11.) สระบุรี
12.) ตราด
13.) นนทบุรี
14.) นครปฐม
15.) จันทบุรี
16.) กรุงเทพมหานคร
17.) ปทุมธานี
18.) ฉะเชิงเทรา
19.) อ่างทอง
20.) สระแก้ว
21.) ชัยนาท
22.) นครนายก
23.) สิงห์บุรี
24.) ราชบุรี

ภาคใต้

1.) สุราษฎร์ธานี
2.) ตรัง
3.) นครศรีธรรมราช
4.) นราธิวาส
5.) ปัตตานี
6.) พังงา
7.) ภูเก็ต
8.) ระนอง
9.) สตูล
10.) สงขลา
11.) ยะลา
12.) กระบี่
13.) พัทลุง
14.) ชุมพร

ภาคเหนือ

1.) สุโขทัย 
2.) ตาก
3.) เพชรบูรณ์
4.) อุตรดิตถ์
5.) ลำปาง
6.) ลำพูน
7.) พิษณุโลก
8.) เชียงใหม่
9.) นครสวรรค์
10.) แพร่
11.) อุทัยธานี
12.) พิจิตร
13.) เชียงราย
14.) น่าน
15.) กำแพงเพชร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1.) ยโสธร
2.) หนองคาย
3.) อุบลราชธานี
4.) ชัยภูมิ
5.) มหาสารคาม
6.) มุกดาหาร
7.) ศรีสะเกษ
8.) สุรินทร์
9.) อุดรธานี 
10.) เลย
11.) อำนาจเจริญ 
12.) บุรีรัมย์
13.) นครพนม
14.) ขอนแก่น
15.) กาฬสินธุ์
16.) นครราชสีมา
17.) บึงกาฬ
18.) หนองบัวลำภู
19.) ร้อยเอ็ด
20.) สกลนคร

นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสงคราม มีประกาศ "ขอความร่วมมือ" ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
ศบค.มท.
ข้อมูล ณ 29 เม.ย.64 เวลา 09.20 น.

“บิ๊กตู่”เข้าตึกไทย หารือ ศบค.ชุดเล็กก่อนนำถก ศบค.ชุดใหญ่บ่ายนี้ “จับตา” ยกระดับยาแรงปรับมาตรการตามโซนสีพื้นที่ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตยังสูงต่อเนื่อง

ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตนี และ รมว.กลาโหม ที่ล่าสุดฝ่ายค้านเสนอให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากล้มเหลวในการบริหาร เมื่อเวลา 08.40 น. เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว 

โดย เวลา 09.30 น.ที่ตึกภักดีบดินทร์ นายกรัฐมนตรี บันทึกเทปเนื่องในวันฉัตรมงคล ก่อนที่เวลา 13.30 น.นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อหารือถึงข้อสรุป รวมถึงการยกระดับมาตรการข้อกำหนดต่างๆ

จากนั้น ช่วงบ่ายเวลา 14.00น. นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุมศบค. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 6/2564 ผ่านระบบ VDO Conference ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปผลการออกมาตรการ และข้อกำหนดในกิจการกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ต้องจับตาว่าที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่จะมีการยกระดับมาตรการเข้มข้นขึ้นหรือไม่ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับวาระการประชุมสำคัญ ของ ศบค.ชุดใหญ่ วันดียวดันนี้ กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19  ขณะที่ กรมควบคุมโรค รายงานแนวทางการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก

“ประเด็นสำคัญคือ มาตรการที่ สมช.โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19” 

และที่ต้องจับตาคือ ประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ 20 ) ,ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 21 ) ,การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ของศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการด้านต่าง ๆ

“หมอระวี”สงสารบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะแย่งอำนาจ ทำปชช.เบื่อหน่าย วอน รอพ้นวิกฤตจะทะเลาะจนยุบสภาฯก็ไม่มีปัญหา

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ช่วงนี้ข่าวความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หรือในพรรคร่วมรัฐบาลมีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จนมีประชาชนหลายคนติดต่อมาปรับทุกข์กับตน ว่า ในภาวะการระบาดโควิดรอบ 3 ที่รุนแรงมาก มีการติดเชื้อวันละกว่า 2,000 คน ติดต่อกันหลายวัน เป็นภาวะวิกฤตสำหรับสถานการณ์สงครามชีวภาพ แทนที่นักการเมืองไทยทุกพรรคจะร่วมมือร่วมใจกัน ร่วมกับประชาชนในการฝ่าฟันให้พ้นวิกฤต แต่นักการเมืองกลับออกมาทะเลาะกันทุกวัน จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย บุคลากรทางการแพทย์ทำงานเหนื่อยแทบตาย ไม่ได้กิน ไม่ได้นอน แต่นักการเมืองเอาแต่ทะเลาะ แย่งอำนาจ แย่งชื่อเสียง แย่งผลประโยชน์กัน

“หมอระวี”สงสารบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะแย่งอำนาจ ทำปชช.เบื่อหน่าย วอน รอพ้นวิกฤตจะทะเลาะจนยุบสภาฯก็ไม่มีปัญหานพ.ระวี กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะเป็นปกติของพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำงานร่วมกันมา 2 ปี ย่อมสะสมความเห็นต่าง และข้อขัดแย้งมาเรื่อยๆ แต่ในยามวิกฤตของบ้านเมืองในขณะนี้ นักการเมืองทุกคนของพรรคร่วมรัฐบาล ต้องร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว อดทน อดกลั้น ผนึกกำลังกันพาประชาชนพาพ้นวิกฤตไปให้ได้ดีที่สุดก่อน ความขัดแย้งเอาไว้ทีหลัง ฝ่ายค้านก็เช่นกัน ประชาชนอยากเห็นฝ่ายค้านที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ก่อประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่จ้องโจมตีรัฐบาลทุกลมหายใจ ไม่แยกแยะถูกผิด ข้อดี ข้อเสีย 

“ผมขอเรียกร้องให้นักการเมืองทุกพรรคมาร่วมใจนำพาประเทศ และประชาชนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน หยุดทะเลาะกันออกสื่อจนทำให้ประชาชนเขาเอือมระอา และหมดศรัทธาเสียที รอต้นปี 2565 ที่ประเทศจะฉีดวัคซีนครบ 70 เปอร์เซ็นต์ เราจะสามารถเปิดประเทศได้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้น นักการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาลจะกลับมาทะเลาะกันเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลจะทะเลาะกันจนยุบสภาก็ไม่มีปัญหา” นพ.ระวี กล่าว 

 

‘คลัง’ เผย พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหุ้นลักเซมเบิร์ก

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังกล่าวภายหลังพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ได้รับการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 โดยมีนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมด้วย ว่า พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทยได้รับการจดทะเบียนใน LGX ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ออกพันธบัตร และยังเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อการลงทุนอย่างยั่งยืนผ่านการเปิดเผยข้อมูลตราสารอย่างครอบคลุมและเป็นมาตรฐานทั้งนี้ การจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX อยู่ในรูปแบบของ LuxSE Security Official List (LuxSE SOL) ซึ่งเป็นการนำเอาตราสารไปขึ้นทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนตราสาร

“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท ในรุ่น ESGLB35DA เพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก และโครงการที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” นายอาคม กล่าว

สำหรับ การขอจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และธนาคารผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยผลักดันการระดมทุนเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลให้ออกไปสู่สากลและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีLGX เป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับตราสารเพื่อความอย่างยั่งยืน (Sustainable Securities) ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดและมีจำนวนพันธบัตรสีเขียวที่มีการออกในโลกมากกว่า50% ขึ้นทะเบียนอยู่

ทบ.แจ้งเลื่อนรับทหารใหม่ จากเดิม 1-3 พ.ค. เป็น 1 และ 3 กรกฎาคม 64 สอดคล้องสถานการณ์ COVID คำนึงความปลอดภัยทหารใหม่เป็นสำคัญ

พล.ท. สันติพงศ์ ธรรมปิยะ  โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ตามที่ กองทัพบกได้ดำเนินการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการประจำปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1-20 เมษายน 2564 ซึ่งการตรวจเลือกเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 โดยทางราชการได้มีการนัดหมาย

ให้ผู้ที่ผ่านการตรวจเลือกเข้ารายงานตัวเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ผลัด 1/2564 ในห้วงวันที่ 1-3 พฤษภาคม ตามที่ระบุไว้ในหมายนัดเข้ารับราชการทหาร (สด.40)  โดยมีทหารกองประจำการจะต้องเข้ามารับราชการทหาร ผลัดที่ 1/2564  จากทุกเหล่าทัพ จำนวนทั้งสิ้น 45,128 นาย ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 387 นาย, กองบัญชาการกองทัพไทย 545 นาย, กองทัพบก 35,916 นาย (ทหารกองเกินที่มาจากการตรวจเลือก  32,709 นายและจากการรับสมัครฯ ด้วยระบบออนไลน์ 3,207 นาย), กองทัพเรือ 3,701นาย และกองทัพอากาศ 4,579 นาย 

เนื่องจากตั้งแต่ต้นเดือน เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก 3 กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด และ ศบค.ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด งดหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมการอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากและสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กองทัพบกได้มีการกำหนดมาตรการและเตรียมความพร้อมเพื่อรับทหารกองประจำการเข้าหน่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 มาเป็นลำดับ เพราะตระหนักดีว่าการรวมตัวของทหารกองประจำการซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้ง ผู้ที่จะต้องเข้ามาประจำการในหน่วยทหารมาจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในหน่วยทหาร แม้จะมีการเตรียมมาตรการรองรับไว้อย่างรอบด้านไว้แล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ที่จะต้องเข้าประจำการในครั้งนี้ รวมถึงลดการกระจายเชื้อสู่ครอบครัวและประชาชน กองทัพบกจึงได้เสนอข้อพิจารณาตามสายการบังคับบัญชา เพื่อเลื่อนการรับทหารใหม่เข้าประจำการ ใน 1 และ 3 พ.ค.นี้ ออกไปก่อนจนกว่าระดับการแพร่กระจายของ COVID-19 จะลดลง 

ซึ่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามใน ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 21 ประกาศให้ ทหารกองเกินที่ได้รับหมายนัดเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ รวมถึงผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ)​ งดการเดินทางเพื่อรายงานตัวเข้ารับราชการทหารกองประจำการในวันที่ 1 และ 3 พฤษภาคม 2564 โดยกำหนดให้มารายงานตัวเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการในวันที่ 1 และ วันที่ 3 กรกฎาคม 2564  เป็นการเลื่อนกำหนดการเข้ารับราชการของทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/64 ออกไปอีก 2 เดือน

กองทัพบกจึงขอแจ้งให้ทหารกองเกินที่จะต้องเข้าประจำการผลัดที่ 1/64 ตามหมายนัดเข้ารับราชการทหาร (สด.40) ให้ไปรายงานตัวเพื่อเข้าประจำการ โดยผู้ที่กำหนดให้รายงานตัว 1 พฤษภาคม 64 ก็ให้ไปรายงานตัว 1 กรกฎาคม 64

ส่วนผู้ที่กำหนดให้รายงานตัววันที่ 3 พฤษภาคม 64 ก็ให้ไปรายงานตัววันที่  3 กรกฎาคม 64 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่สัสดีเขต/อำเภอ หรือ กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน https://sassadee.rta.mi.th โทร. 0-2223-3659

การเลื่อนกำหนดรายงานตัวเข้าประจำการดังกล่าว เพื่อควบคุมและป้องกันโรคในระดับบุคคล หน่วยทหาร และประชาชนทั่วไป  สอดคล้องกับมาตรการของ ศบค. ส่วนสิทธิของทหารกองประจำการ ที่เกี่ยวข้องกับการรับราชการทหารนั้น ยังคงเป็นไปตามปกติ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top