Monday, 19 May 2025
Hard News Team

‘ไทยออยล์’ ตอกย้ำความเป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย คว้าอันดับ 35 จาก 50 บริษัทน่าร่วมงานที่สุดในไทย

(28 ม.ค. 68) นายณัฐพล มีฤทธิ์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารศักยภาพองค์กร และ นางสุชาดา ดีชัยยะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความเป็นเลิศด้านทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นรับรางวัล TOP 50 บริษัทน่าร่วมงานมากที่สุดประจำปี 2024 ที่จัดโดย WorkVenture ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้นำด้านการสร้างแบรนด์นายจ้างให้กับองค์กรชั้นนำในประเทศไทย

ไทยออยล์ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ด้วยการคว้าอันดับที่ 35 จากการจัดอันดับดังกล่าว การจัดอันดับครั้งนี้มาจากผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนกว่า 12,559 คน ที่มีอายุระหว่าง 21-35 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาจบใหม่ พนักงานในช่วงเริ่มต้นอาชีพ และกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงาน 

การเป็นหนึ่งใน 50 บริษัทที่น่าร่วมงานด้วยในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยออยล์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ด้วยแนวทางการบริหารที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) 

นายณัฐพล  กล่าวว่า “รางวัลนี้ถือว่าเป็นกำลังใจ และความภาคภูมิใจของพนักงานไทยออยล์ทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ของไทยออยล์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในทุกวันนี้   ไทยออยล์เป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานที่ให้ความสำคัญมากกับพลังคน  เราพยายามสร้างพลังให้กับคนของเรา เพื่อให้พนักงานของเรามีพลังส่งต่อคุณค่าในตัวให้กับองค์กร  ซึ่งตรงกับปณิธาณของไทยออยล์ที่ว่า “Your Value, Our Priority … เพราะคุณค่าของพนักงานคือคุณค่าของไทยออยล์”

พร้อมย้ำว่า ไทยออยล์เชื่อมั่นในแนวทาง "Happy Employees, Happy Company" โดยมุ่งสร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้กับพนักงานทุกระดับ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ไทยออยล์ยังคงเป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทย

กงสุลใหญ่ชิคาโกยืนยัน 'ไม่พบข้อมูล' ชายเอเชียที่ตม.สหรัฐฯ รวบ ยันไร้คนไทยถูกจับ

(28 ม.ค.68) จากกรณีที่ ฟิล แม็กกรอว์ หรือ ดร. ฟิล พิธีกรชื่อดังของสหรัฐฯ ได้เดินทางร่วมกับโธมัส โฮแมน ผู้คุมชายแดนคนใหม่ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ ในปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและมีการเผยแพร่ชายคนหนึ่งที่ชื่อ Seda (Sam) Soma ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐจับกุม และได้อ้างตัวเองผ่านสื่อว่าเป็นคนไทยนั้น

สำนักข่าว VOA ได้ประสานงานเพื่อสอบถามข้อมูลต่อ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยืนยันว่า ชายคนดังกล่าวไม่ใช่คนไทยตามที่มีการกล่าวอ้าง 

จากข้อมูลที่รายการของ ดร.ฟิล เผยแพร่ ระบุว่า ชายผู้ชื่อ Sam ที่ถูกจับกุมในคลิปดังกล่าวคือชายที่กระทำผิดทางเพศและหลอกลวงเหยื่อจากประเทศไทย โดยในคลิประบุว่า แซม เซดา เป็นชายผู้ที่ระบุว่าเกิดในประเทศไทย ได้พูดคุยกับดร.ฟิล ขณะที่ถูกถามเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของเขาในสหรัฐฯ โดยเขาได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการถูกขับออกจากประเทศ และขอพบทนายก่อนที่เจ้าหน้าที่จะคุมขังเขา

เรื่องดังกล่าว นางฆฏนาวดี กัลยาณมิตร กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ได้กล่าวกับ VOAThai ว่า เมื่อได้รับข้อมูลจากข่าวดังกล่าว ทางสถานกงสุลได้ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์ และไม่พบชื่อของชายดังกล่าว ซึ่งยืนยันได้ว่าเขาไม่ใช่คนไทย โดยอาจเป็นไปได้ว่าเขาเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยและเดินทางมาสหรัฐฯ ตามแม่ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน

นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ยังกล่าวเสริมว่า สถานกงสุลยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยคนใดถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในกรณีนี้แต่อย่างใด

ขณะที่ นางอุราสี ถิรตั้งเสถียร เจิง กงสุล ณ นครชิคาโก กล่าวว่า กระบวนการส่งตัวผู้ที่ถูกจับกุมจะอ้างอิงจากประเทศต้นทางที่บุคคลนั้นถือสัญชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลสัญชาติอย่างรอบคอบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยังได้แนะนำให้ชุมชนไทยในพื้นที่ไม่ต้องตกใจและติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้น

การจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นที่จะดำเนินการขับผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนโยบายคุ้มครองผู้อพยพ เช่น ชิคาโก

ตามรายงานจากสำนักงานตำรวจนครชิคาโก การจับกุมดังกล่าวถูกดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ  (ICE) โดยไม่ขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

นอกจากดร.ฟิลแล้ว ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม เอมิล โบฟ เข้าร่วมภารกิจในครั้งนี้ โดยระบุว่า ผู้อพยพที่ถูกจับกุมรายแรกในชิคาโกเป็นผู้ที่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และเคยก่อเหตุฆ่าหญิงสาววัย 19 ปีในอุบัติเหตุขณะขับขี่ภายใต้ฤทธิ์สุรา

ล่าสุด รายงานจาก ICE ระบุว่าในวันเดียวกันได้จับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายถึง 956 ราย ซึ่งมากกว่าการจับกุมเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2024 ถึงสามเท่า

ทรัมป์ชี้ DeepSeek จากจีน กระตุ้นสหรัฐฯ สู้ศึก AI ปลุกอุตสาหกรรมเทคโนโลยี!

(28 ม.ค. 68) หลังจากที่มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันโมเดล AI จากบริษัทสตาร์ทอัพจีนอย่าง DeepSeek จนกล่าวเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดอันดับหนึ่งใน App Store ที่สหรัฐ ซึ่ง DeepSeek ได้ออกมาอ้างว่า ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดล AI รุ่นใหม่ภายใต้ชื่อ DeepSeek-R1 ซึ่งทางผู้พัฒนาจากจีนอ้างว่าเป็น AI ที่มีต้นทุนต่ำและประมวลผลเร็วกว่านั้น

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากบริษัทสตาร์ทอัพจีนอย่าง DeepSeek ควรจะเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และกล่าวว่า การที่บริษัทจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีต้นทุนต่ำและรวดเร็วขึ้นนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี

ทรัมป์กล่าวว่า "การเปิดตัวโมเดล AI จากบริษัทสัญชาติจีนอย่าง DeepSeek ควรเป็นสัญญาณเตือนให้อุตสาหกรรมของเราต้องมุ่งมั่นเต็มที่เพื่อการแข่งขันที่ดีขึ้น"

กระแสความนิยมของ DeepSeek ซึ่งเป็นโมเดล AI ต้นทุนต่ำ ทำให้บรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แห่เทขายหุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่า AI ของจีนอาจจะท้าทายความเป็นผู้นำด้าน AI ของสหรัฐฯ จนส่งผลให้หุ้นหลายตัวของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐถูกเทขายมหาศาล โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA ที่สูญเสียมูลค่าตลาดวันเดียวเฉียด 600,000 ล้านดอลลาร์ สังเวยให้กับการเปิดตัวของ DeepSeek 

ทรัมป์กล่าวว่า "ผมได้อ่านเกี่ยวกับจีนและบางบริษัทในจีน โดยเฉพาะบริษัทหนึ่งที่สามารถพัฒนาโมเดล AI ที่เร็วกว่าและราคาถูกกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะมันไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ผมมองในแง่บวก และเห็นว่าเป็นทรัพย์สินหนึ่ง"

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้กล่าวกับเขาว่าสหรัฐฯ มีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก และชี้ว่า หากอุตสาหกรรมจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ราคาถูกได้ บริษัทในสหรัฐฯ ก็จะทำตาม

"เรามีไอเดียเสมอ เราคือผู้นำเสมอ ดังนั้นผมมองว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมาก แทนที่จะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ คุณจะใช้เงินน้อยลงและหวังว่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน" ทรัมป์กล่าว

ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ยังกล่าวถึงประเด็น TikTok โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเสนอราคาซื้อ TikTok อย่างมาก แต่เขากล่าวว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทโซเชียลมีเดียยอดนิยมนี้ และต้องการให้สหรัฐฯ ถือหุ้น 50% ในกิจการร่วมค้าของ TikTok

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า AI ต้นทุนต่ำที่บริษัทจีนกล่าวถึงนั้น มีที่มาจากอะไร เนื่องจากการสร้างโมเดล AI ต้องใช้ชิปประมวลผลระดับสูงจำนวนมาก ซึ่งชิปที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด AI คือชิปจากบริษัท NVIDIA แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามจีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้เกิดคำถามว่า จีนใช้เทคโนโลยีชิปประมวลผลแบบใดในการสร้างโมเดล AI ของ DeepSeek

ทั้งนี้ มีข้อมูลบางส่วนที่หลุดออกมาระบุว่า DeepSeek ได้ใช้ชิป NVIDIA H800 ในการฝึกฝนโมเดล AI ของตน โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงไม่ถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำประกาศนี้ แต่การที่บริษัทสามารถพัฒนาโมเดล AI ประสิทธิภาพสูงด้วยชิปที่มีสมรรถนะต่ำกว่าที่สหรัฐฯ ห้ามส่งออกไปจีน และด้วยต้นทุนที่ต่ำ ได้ทำให้ผู้บริหารเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงที่สหรัฐฯ ใช้กับจีน

‘พลังงาน’ เดินหน้าตั้งทีมดูแลค่าไฟฟ้า ชี้ 2-3 เดือนได้แนวทางลดราคาค่าไฟที่เหมาะสม

ปลัดกระทรวงพลังงาน จับมือผู้บริหารระดับสูง โชว์ผลงานสำคัญ ปี 2567 พร้อมแผนงานด้านพลังงานปี 2568 เน้นมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเร่งเดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด พร้อมระบุกระทรวงพลังงานตั้งทีมพิจารณาแนวทางลดค่าไฟฟ้า คาด 2-3 เดือน จะได้เห็นหลากหลายแนวทาง เพื่อนำมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดค่าไฟฟ้าต่อไป  

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค. 68) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2567 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ 'New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด'

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ต่อหน่วย ด้วยการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง  (FiT)  

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยพิจารณาและหารือกับผู้ประกอบการมาก่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน หลังจากนี้คาดว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะมีหลากหลายแนวทางออกมาภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนี้จะนำไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไป  

สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์สงครามในต่างประเทศที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ตอนนี้ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานยังคงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ผ่านมาตรการการตรึงราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และ NGV รวมทั้งการปรับใช้ราคา Pool Gas การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ราคาพลังงานภายในประเทศอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลาย ๆ มาตรการก็เกิดจากการบริหารจัดการและระดมสมองจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2. พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และ 3. พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกพยายามมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์

3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 และ 5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2

“จากผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินทุกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้พลังงาน ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานจะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ 'ภาพฉาย กลายเป็น ภาพชัด' ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงการบริหารจัดการภาคพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ การพัฒนาและปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต การทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นนโยบายที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้เตรียมดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และจะปฏิบัติตามแผนในปี 2568 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมุ่งสู่เป้าหมายพลังงานสะอาดต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สนพ. ได้ปฏิบัติภารกิจงานด้านการวางแผนนโยบายพลังงานภายใต้หลักคิด (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) สนพ. ได้จัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า พัฒนา EV Data Platform และส่งเสริมการใช้ EV ในภาคราชการ โดยในเดือน มิ.ย. 2567 สนพ. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan2024) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความเห็นที่ได้จากการ Public hearing ไปปรับปรุงเพื่อเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สนพ. ยังได้เสนอข้อสรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด หรือ Demand response (DR) ปี 2566 และแนวทางพัฒนาแหล่งทรัพยากร DR ในระยะแรกปี 2567 – 2569 เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (2) ด้านการดูแลราคาพลังงาน (Economics) สนพ. ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กำหนดราคา Pool Gas ราคาเดียว (Single Pool) และทบทวนค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซ) ซึ่งช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ลดลง

ทั้งนี้ สนพ. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทย และนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงาน ได้แก่ การรักษาระดับค่าไฟฟ้าปี 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง การคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร สำหรับ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) สนพ. มีนโยบายที่คำนึงถึงพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ไม่เกิน 2,000 MW สำหรับธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น

ในปี 2568 สนพ. ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจที่ทำในปี 2567 ทั้งในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน และ การดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยมีงานสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2569 – 2573 เป็นต้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2567 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ติดตั้งโซลาร์ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร รวม 595 แห่ง 1,588 ระบบ,ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำกว่า 235 ครัวเรือน, กำกับและส่งเสริมให้มีการลดใช้พลังงานในโรงงานอาคารได้กว่า 7,583 ล้านบาท, ถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระดับครัวเรือน ชุมชน กว่า 24,606 คน และพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานเพื่อสร้างบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน

และในปี 2568 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและลดใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน อาทิ ด้านความมั่นคง : พัฒนากฎหมายเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้คล่องตัวขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านเศรษฐกิจ : เร่งผลักดันมาตรการทางภาษีส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ด้านความยั่งยืน : ยกระดับมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมเร่งรัดจัดการเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเพื่อลดปัญหา PM2.5 เป็นต้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันดิบ จาก 5% เป็น 6% ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขับเคลื่อนการออกกฎหมายรับแจ้งข้อมูลนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน ประสานความร่วมมือกับ กกพ. กฟน. และ กฟภ. ในการกำหนดกรอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตและมาตรฐานการติดตั้ง Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน (B7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20

อีกทั้งได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นโลจิสติกส์หลักของประเทศ และได้แก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ให้เอื้อต่อการเก็บสำรองน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงบัตรประจำตัวสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้ขับเคลื่อนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ผ่านการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อาทิ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมถึงน้ำมันเตาชีวภาพกำมะถันต่ำมาก

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 จะมีการนำร่องการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันสำรองผ่าน API Gateway เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และจะขยายการให้บริการระบบอนุมัติอนุญาตแบบออนไลน์ไปยังส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะออกมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ SAF เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้เชื้อเพลิง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคือการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เรียบร้อยแล้ว และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งสามารถกำกับ ดูแล สนับสนุนให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 และ G2/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามลำดับ

นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีการดำเนินงานให้ได้มีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลง B8/38 ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 4,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการต่อระยะเวลาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ด้วยแล้ว นอกจากการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน CCS เพื่อสนับสนุนนโยบายในการให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยการจัดทำโครงการศึกษากฎระเบียบและโครงการนำร่อง CCS ในแหล่งอาทิตย์ ทะเลอ่าวไทย เพื่อรองรับการดำเนินงานด้าน CCS ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับในปี 2568 กรมฯ มีแผนงานสำคัญคือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26) การเร่งรัดการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่ใกล้สิ้นสุดอายุทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบกับส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCS สำหรับโครงการนำร่องพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

EA มั่นใจเพิ่มทุน 7,426 ล้านบาท ฉลุย! หลังผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นการปรับโครงสร้างธุรกิจ

(28 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า แผนการพลิกฟื้นธุรกิจได้รับการสนับสนุนอีกครั้งอย่างท่วมท้น จากความสำเร็จของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงวันที่ 17-23 มกราคม 2568 โดยมีการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 7,426 ล้านบาท

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า "เงินทุนที่ได้มาใหม่นี้จากผู้ถือหุ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นที่เชื่อว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เราได้ดำเนินการตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ช่วยให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ และวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต เงินทุนเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วสู่ก้าวต่อไปของแผนในการฟื้นตัว"

"เรายินดีและขอบคุณที่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้การเสนอขายหุ้นสามัญ เพิ่มทุนครั้งนี้ได้รับการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย เงินทุนเหล่านี้จะช่วยลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และช่วยให้ธุรกิจเราเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปในการฟื้นตัว"

EA เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในภาพรวม คือ EA กำลังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูง ได้แก่ การผลิตไบโอเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันสร้างรายได้ประมาณ 60% ของรายได้รวมของ EA ในขณะเดียวกัน EA ได้หยุดหรือลดขนาด 2 ธุรกิจที่ขาดทุน ในระหว่างเตรียมการปรับโครงสร้าง ได้แก่ ธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ โดยจะมีการหาพันธมิตรสำหรับแต่ละธุรกิจที่เป็นรายใหญ่ระดับนานาชาติที่จะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก และช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศได้

นายฉัตรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรากำลังเดินหน้าที่จะเริ่มการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษที่โรงงานฉะเชิงเทราในเดือนเมษายน 2568 โดยร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศจีนที่ชื่อ Chengli Special Automobile Co., Ltd. (บริษัท เฉิงหลี่ สเปเชียล ออโตโมบิล) เราจะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษในจำนวนมาก เช่น รถพยาบาล รถเก็บขยะ และยานพาหนะประเภทพิเศษอื่น ๆ นอกจากนี้ เรากำลังเดินหน้าการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีนเพื่อเป็นโรงงานแรกขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีกำลังการผลิต 4 กิกะวัตต์"

จากการเปิดเผยล่าสุดของ EA กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในเก้าเดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 5,610 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากติดลบ 1,726 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปีก่อนหน้านี้เกือบสามเท่า

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ไทยเป็นทางผ่าน หลอกคนอินเดียทำงานสแกมเมอร์ในลาว

สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงเวียงจันทน์ของลาว เปิดเผยเมื่อ (27 ม.ค. 68) ว่าได้ให้การช่วยเหลือคนอินเดีย 67 คนที่ถูกหลอกให้ทำงานในศูนย์คอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมายในลาวได้สำเร็จ พร้อมออกคำเตือนถึงหนุ่มสาวชาวอินเดียให้ระมัดระวังการถูกหลอก โดยเฉพาะหากได้รับข้อเสนองานในประเทศไทย  

สถานทูตอินเดียในลาวระบุว่า เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ถูกกลุ่มอาชญากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว หลอกลวงให้มาทำงาน ก่อนจะถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย

เมื่อสถานทูตได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ส่งทีมลงพื้นที่และประสานงานกับตำรวจลาวเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ โดยหลังจากจัดการเอกสารเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายทั้งหมดถูกพาตัวจากแขวงบ่อแก้วมายังกรุงเวียงจันทน์ และได้รับการดูแลด้านที่พัก อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ อย่างครบถ้วน  

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศลาว ได้เข้าพบผู้เสียหายเพื่อให้กำลังใจ รับฟังเรื่องราว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีต่อกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ โดยยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการส่งผู้เสียหายกลับบ้านอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด  

สถานทูตอินเดียขอบคุณเจ้าหน้าที่ลาวที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเรียกร้องให้ดำเนินการกับแก๊งอาชญากรในเขตสามเหลี่ยมทองคำอย่างจริงจัง โดยเรื่องนี้ได้ถูกนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของทางการลาวแล้ว โดยที่ผ่านมา สถานทูตอินเดียประจำกรุงเวียงจันทน์ได้ให้ความช่วยเหลือคนอินเดียรวม 924 คนในช่วงที่ผ่านมา โดย 857 คนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย  

สถานทูตฯ ยังได้เตือนว่า หากชาวอินเดียได้รับข้อเสนองานในประเทศไทย แต่เมื่อเดินทางถึงไทยแล้วกลับถูกพาไปเชียงรายที่ติดชายแดนไทย-ลาว นั่นอาจเป็นสัญญาณของการถูกหลอกลวงและนำตัวไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว ซึ่งเมื่อไปถึง เหยื่อมักจะถูกยึดหนังสือเดินทางและบังคับให้เซ็นสัญญาที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย  

สถานทูตฯ แนะนำให้ผู้ที่สนใจทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์สถานทูตหรือสอบถามข้อมูลโดยตรงก่อนรับข้อเสนอใด ๆ และหากสงสัยว่าอาจตกเป็นเหยื่อ ให้รีบติดต่อสถานทูตทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกและตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

‘ชัยวุฒิ’ แนะ รบ.ลองขึ้นรถไฟฟรีดูว่าทำให้ฝุ่นหายไปหรือไม่ ชี้ ควรคุมเข้มมาตรการลดการเผาอ้อย - ข้าวโพด

เมื่อวันที่ (27 ม.ค. 68) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงแนวทางที่รัฐบาลให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้า และรถโดยสารได้ฟรี ลดการใช้รถยนต์ เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในระยะเวลา 7 วัน ใช้งบ 140 ล้าน ว่า ให้ลองขึ้นรถไฟฟรีดูว่าทำให้ฝุ่นหายไปหรือไม่ หรือทำให้ตนเองหายคัดจมูกหรือไม่

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า คนที่ใช้รถส่วนตัวอยู่แล้วก็คงใช้เหมือนเดิม เพราะคนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ ก็เพราะอยู่ใกล้รถไฟฟ้าขึ้นลงได้สะดวก ส่วนคนที่ต้องใช้รถยนต์ก็เพราะเขามาขึ้นรถไฟฟ้าไม่สะดวก ตนเองมองว่า ให้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีก็คงไม่มีผลกับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนได้เท่าไหร่ เหมือนกับแก้ปัญหาไม่ถูกจุดและไม่ใช่ประเด็น

“พรรค พปชร. จะมีมาตราการในเรื่องการควบคุมการเผาอ้อย เผาข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันมีเยอะมาก ซึ่งมาตราการที่เราอยากผลักดันมากที่สุดก็คือทางภาษี จำกัดการนำเข้าและเรื่องภาษีในการเผา ถ้ามีการเผาก็จะมีบทลงโทษในเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นมาตราการลดการเผา” นายชัยวุฒิ กล่าว

รัฐบาลสั่งปลดฟ้าผ่า ทีมอัยการที่สอบเอาผิดทรัมป์ ปมพยายามพลิกผลเลือกตั้งปี 2020

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.68) ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนที่มีบทบาทในคดีความเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยกระดับการดำเนินการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนภายใต้การดูแลของอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ซึ่งทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2563 และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 รวมถึงคดีจัดการเอกสารลับของทรัมป์  

“วันนี้ เจมส์ แมคเฮนรี รักษาการอัยการสูงสุด ได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์” แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี  

เขาเสริมว่า “การกระทำของพวกเขาทำให้รักษาการอัยการสูงสุดไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีได้อย่างซื่อสัตย์ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจที่ต้องการยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  

สำนักข่าวเอบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ในทีมสืบสวนที่ถูกปลดออกนั้นมีจำนวนมากกว่าสิบคน  

ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมืองต่อเขา ทรัมป์ยังประกาศว่าจะตอบโต้และแก้แค้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ โดยระบุว่าการปลดเจ้าหน้าที่ออกเนื่องจากบทบาทในคดีที่พวกเขาได้รับมอบหมายถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงในอนาคต  

“การไล่เจ้าหน้าที่ออกเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้” จอยซ์ แวนซ์ อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าว  

ทรัมป์เองได้ออกคำสั่งพิเศษหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดยังคงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้  

เรื่องนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมและความยุติธรรมในระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

สงขลา-ทัพเรือภาคที่ 2 โดยเรือ ต.995 จับกุมเรือประมงเวียดนามคราดปลิงทะเล 1 ลำ ลูกเรือ 5 คน ลุกล้ำน่านน้ำเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอำเภอระโนด 

เมื่อวานนี้ ( 26 ม.ค. 68 )ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 2 ได้รับการประสานจาก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 รวมทั้งข่าวสารจากพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ ว่ามีเรือประมงต่างชาติเข้ามาลักลอบทำการประมงในบริเวณทิศตะวันออกของชายฝั่งอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ระยะทางประมาณ 69 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในน่านน้ำไทย

พลเรือโท นเรศ วงศ์ตระกูลผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 /ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 จึงได้สั่งการให้ เรือ ต.995 ร่วมกับเครื่องบินลาดตระเวน (ดอร์เนียร์ 228) ซึ่งลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบทำการค้นหาและพิสูจน์ทราบ

จนกระทั่งเมื่อเวลา 16.28 น. ของวันเดียวกัน กำลังดังกล่าวได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติเวียดนาม จำนวน 1 ลำ ผู้ควบคุมพร้อมลูกเรือ จำนวน 5 คนกำลังทำการประมงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้เข้าทำการจับกุม และควบคุมเรือของกลางพร้อมลูกเรือทั้งหมด กลับมายังท่าเทียบเรือฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม และส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป การจับกุมเรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน โดยก่อนหน้านี้ ทัพเรือภาคที่ 2 และ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 ได้มีการจับกุมเรือประมงเวียดนามที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 และวันที่13 มกราคม 2568 สามารถยึดของกลางเป็นเรือประมง จำนวน 3 ลำ ผู้ต้องหารวม 15 คน เมื่อรวมในครั้งนี้ ทำให้มีเรือที่ถูกจับกุมแล้ว รวม 3 ลำ ผู้ต้องหารวม 15 คน

และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จนถึงปัจจุบัน มีเรือประมงต่างชาติที่ถูกจับกุมแล้วรวม 16 ลำ ผู้ต้องหา รวม 80 คน ทั้งนี้ เรือประมงที่ถูกจับกุมแต่ละลำ มีมูลค่าเรือกว่า 1 ล้านบาท ทัพเรือภาคที่ 2 และ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2จะยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเลซึ่งรวมถึงการลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมายของเรือประมงต่างชาติ อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด เพื่อให้ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศไทยคงอยู่กับพี่น้องคนไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืนสืบไป

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

‘เอกนัฏ’ ขอบคุณไร่อ้อย-โรงน้ำตาล รับอ้อยสดเข้าหีบ ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดเผาป่ากว่า 1.7 ล้านไร่

ทุบสถิติ! อ้อยเผาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ดันอ้อยสดแตะ 90% ‘เอกนัฏ’ ขอบคุณชาวไร่อ้อย-โรงน้ำตาล คืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้คนไทย

(28 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยจากสถิติการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2567/2568 ของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 มกราคม 2568 พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ลดลงใกล้แตะ 10% ดันอ้อยสดพุ่ง 90% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยปริมาณการตัดและรับอ้อยสดเข้าหีบสะสมของโรงงานน้ำตาลตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดหีบอ้อยเพิ่มสูงขึ้นถึง 83% จากฤดูกาลผลิตที่แล้วที่ 67% ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 17 ล้านตัน

นายเอกนัฏกล่าวว่า เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1.7 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM2.5 ลงได้กว่า 4,250 ตัน เมื่อเทียบกับฤดูการผลิต 2566/2567 ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางมีค่าคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏกล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศทั้ง 58 โรงงานให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการรักษามาตรฐานลดการตัดและรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ซ้ำเติมให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงขึ้น และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณไปยังผู้บริหารโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 90% ที่ให้ความร่วมมือไม่รับซื้ออ้อยเผาและไม่เผาอ้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ขอบคุณ และขอความร่วมมือในการรักษามาตรฐานลดการรับอ้อยเผาลงอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูหีบอ้อยนี้ เพื่อช่วยกันคืน ‘อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM2.5’ ให้กับสังคมไทย และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับกติกาสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top