Monday, 19 May 2025
Hard News Team

จีนทิ้งขาดสหรัฐฯ นำลิ่ว 57 เทคโนโลยีใหญ่ ยกเครดิตสีจิ้นผิงชู 'Made in China 2025' ทุ่มวิจัยไม่ยั้ง

(29 ม.ค.68) การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek บริษัทสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงและได้รับการพูดถึงในขณะนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ระบุว่ามีต้นทุนต่ำกว่า ทำงานได้เร็วกว่า แถมเป็นการพัฒนาแบบระบบโอเพ่นซอร์ส ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการ AI ไปทั่วโลก จนส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ หายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายถึงกับเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'Sputnik moment' อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ AI เท่านั้น  

รายงานวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI)ประจำปี 2024 ซึ่งศึกษาข้อมูลย้อนหลังถึง 20 ปี พบว่า จีนครองความเป็นผู้นำใน 57 จาก 64 เทคโนโลยีสำคัญ เพิ่มขึ้นจากเพียง 3 เทคโนโลยีเมื่อปี 2007 ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยนำหน้าใน 60 สาขาเมื่อปี 2007 ปัจจุบันเหลือเพียง 7 สาขาเท่านั้น  

จากการวิจัยของ ASPI ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและสิทธิบัตรที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกพบว่า สาขาเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำโลกในเวลานี้ อาทิ การออกแบบและผลิตวงจรรวมขั้นสูง, กระบวนการตัดเฉือนความแม่นยำสูง , เครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง, โดรน หุ่นยนต์ฝูง และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ , การสื่อสารความถี่วิทยุขั้นสูง  

ในขณะที่สาขาเทคโนโลยีที่สหรัฐเป็นผู้นำในขณะนี้ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), ควอนตัมคอมพิวติ้ง และวิศวกรรมพันธุกรรม  

ASPI ตั้งข้อสังเกตว่าแผนการ 'Made in China 2025' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่อัดฉีดเงินทุนโดยตรงจำนวนมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ "การครอบครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี" เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เทคโนโลยีจีนหลายด้านก้าวหน้า 

นอกจากการลงทุนในงานวิจัยแล้ว รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และยกระดับภาคการผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย

จัดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในเอเชีย ปี 2025 โดย Times Higher Education

เปิด 20 อันดับมหาวิทยาลัย ดีที่สุดในเอเชีย จากการจัดอันดับโดย Times Higher Education World University มหาวิทยาลัยจากจีน ยังครองอันดับ 1 ตามด้วยฮ่องกง – สิงคโปร์ – เกาหลีใต้ – ญี่ปุ่น และมีมหาวิทยาลัยใดติดอันดับบ้าง ไปส่องกันเลย

‘PMAC 2025’ ทั่วโลกร่วมถก ‘AI’ ในระบบสุขภาพ กับเป้าหมายช่วยให้ผู้คนในโลกมีสุขภาพที่ดีขึ้น

(29 ม.ค. 68) นับเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่นานาชาติรู้จักและยอมรับ ‘การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ (Prince Mahidol Award Conference: PMAC) ซึ่งจัดขึ้นโดย ‘มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ในฐานะเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนโยบายด้านสุขภาพ ที่มุ่งไปที่ผลกระทบในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพระดับโลกอย่างแท้จริง

มากไปกว่าการระดมแนวคิดและหาแนวทางสร้างโลกที่อุดมไปด้วยคนสุขภาพดี วัตถุประสงค์หลักของการประชุมก็เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากล และเพื่อให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งหนึ่งของโลก

โดยในปีนี้ การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล หรือ PMAC 2025 จะเปิดฉากขึ้นในระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ในหัวข้อ ‘Harnessing Technologies in an Age of AI to Build A Healthier World’ การใช้เทคโนโลยีในยุค AI เพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีขึ้น

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข.) และยังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนการจัดงาน PMAC ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน มาบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานประชุม PMAC และผลสัมฤทธิ์ที่สร้างความสำเร็จให้กับวงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก ได้กล่าวถึงกิจกรรมเวที Side Event  ของงาน "การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2025" ว่า ปีนี้  ผู้จัดเชิญ ผู้แทนสภาลมหายใจกรุงเทพฯ ไปเป็นผู้ขึ้นกล่าวในนามภาคประชาสังคม ในปัญหา "มลพิษทางอากาศ PM 2.5 Trader : Accountability and Technological Innovations for Air Quality and Health " ที่ Centara Grand &  Bangkok Convention Center ที่ Central World โดยมองว่า ‘ปัญหาสุขภาพระดับโลก’ ต้องรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากทุกมุมโลก

“ทางมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ตั้งใจให้ PMAC เป็นการประชุมปิด เพราะต้องการจัดสรรสัดส่วนผู้เข้าร่วมงาน อีกทั้งนโยบายของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือต้องการจัดประชุมเพื่อชาวโลก จึงจำกัดจำนวนคนไทยที่เข้าร่วมประชุมไม่ให้เกิน 25% รวมถึงวิทยากร แต่ละปีจะมีวิทยากรราว 100 คน เราจำกัดให้มีคนไทยไม่เกิน 5 คนขึ้นพูด เพราะนี่คือเวทีโลก เราต้องฟังว่าโลกกำลังขับเคลื่อนไปทิศทางใด วิสัยทัศน์จากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายประเทศคืออะไร ยกเว้นบางทีที่มีองค์การในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรวมมากหน่อย ก็เพิ่มสัดส่วนเป็น 30-40% อย่างปีนี้ก็มีคนไทยเข้าร่วมเยอะ เพราะหัวข้องานประชุมเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสุขภาพ บรรดาองค์การที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและองค์การด้านเทคโนโลยีจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก” 

สำหรับวิทยากรในแต่ละปี จะคัดเลือกโดย Co-host และ Co-sponsor “องค์การส่วนใหญ่ที่มาเป็น Co-host และ Co-sponsor เขามีเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อยู่แล้ว อย่างองค์การอนามัยโลกหรือธนาคารโลกที่ร่วมเป็นเจ้าภาพรวมกับเราทุกปี จะรู้ว่าใครเก่งเรื่องไหนและใครที่เป็นคนสำคัญที่ควรเข้าร่วมประชุมที่จะนำองค์ความรู้ในประเด็นนั้นๆ ไปต่อยอดได้

ทั้งนี้ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในฐานะองค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวลงทุน 1.7 แสนล้านบาท เผย TikTok เตรียมสร้าง Data Center มูลค่า 126,790 ลบ.

(29 ม.ค.68) บอร์ดบีโอไอ ชิงจังหวะเร่งเครื่องต่อเนื่อง ประเดิมปี 68 อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท บิ๊กโปรเจกต์ TikTok และ Siam AI ทุ่มทุนปักหลักโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล – AI ในไทย พร้อมเดินหน้าส่งเสริมกิจการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ เร่งขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ดึงลงทุนปี 2568 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการสำคัญ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วยกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Data Hosting ของบริษัทในเครือ TikTok Pte. Ltd. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ยอดนิยม โดยจะลงทุนติดตั้ง Server และอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน Data Center ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนรวม 126,790 ล้านบาท และกิจการ AI Cloud Service ของบริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น NVIDIA Cloud Partner (NCP) จะตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและปทุมธานี มูลค่าลงทุนรวม 3,250 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุนรวม 40,400 ล้านบาท

“ปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย รวม 16 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI รวมทั้งการจัดเก็บและประมวลผล Big Data การลงทุนของทั้งสองโครงการนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

ดึงศักยภาพการเกษตร - หนุนลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพ

นอกจากนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศมากขึ้น บอร์ดบีโอไอ ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. เปิดส่งเสริม 'กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)' ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตร เศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานระหว่างประเทศ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ 'กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนแบบผสม' ซึ่งจะนำ SAF มาผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (JET Fuel) เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

2. ปรับปรุงกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ให้เป็น “กิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ” เพื่อให้มีขอบข่ายธุรกิจที่กว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร อาหาร พลังงานทดแทน และบริการสนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568 มุ่งสู่ Hub 5 ด้าน

บอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568  โดยมุ่งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคใน 5 ด้านสำคัญที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ได้แก่ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้าน BCG (Bio-Circular-Green Industries Hub) ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ซึ่งจะครอบคลุมหลายสาขา เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล  ศูนย์รวมบุคลากรทักษะสูงจากทั่วโลก (Talent Hub) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และธุรกิจระหว่างประเทศ (Logistics & International Business Hub) และศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Soft Power and Creative Hub)

นายนฤตม์ กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของโลก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการช่วงชิงฐานการลงทุน บีโอไอจึงได้มีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และพร้อมรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแผนดำเนินงาน 5 ด้านสำคัญ ดังนี้

1) เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งดึงดูดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV), เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยการบูรณาการผ่านคณะกรรมการระดับชาติ ทั้งบอร์ดอีวี บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ และคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน และเตรียมขยายสำนักงานบีโอไอเพิ่มอีก 2 แห่งที่นครเฉิงตู ประเทศจีน และสิงคโปร์

2) ยกระดับผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และสร้างโอกาสในการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ และการจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม

3) พัฒนาบุคลากรทักษะสูง โดยบีโอไอทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้าน Semiconductor, PCB, ดิจิทัล และ AI ทั้งการจัดทำ Roadmap ที่ชัดเจนและการกำหนดมาตรการสนับสนุน นอกจากนี้ จะดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการ LTR Visa และSmart Visa รวมทั้งการขยายการให้บริการของศูนย์ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศการลงทุน โดยส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัลที่สำคัญเพื่อรองรับการลงทุน พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาและเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุน และพัฒนาเครื่องมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Global Minimum Tax) ร่วมกับกระทรวงการคลัง

5) การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การรีไซเคิล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อการลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ บีโอไอจะทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการออกแบบกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลไก Utility Green Tariff (UGT) และการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA)

ถนนคนเดิน 'หนานจิงลู่' จุดเช็กอินฮอตนนท.ไทย ยอดจองพุ่ง 372% หลังฟรีวีซ่า ย้ำเทรนด์ไชน่าทราเวลมาแรง

(29 ม.ค. 68) ถนนคนเดิน “หนานจิงลู่” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปีในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ถือเป็น “จุดหมายแรก” ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนไม่น้อยต้องแวะมาเช็กอินบนโลกออนไลน์ เยี่ยมชมบรรยากาศ รวมถึงอิ่มอร่อยกับอาหารและเครื่องดื่มสารพัดเมนู

บรรดาร้านอาหารและเครื่องดื่มในย่านถนนคนเดินสายนี้ เช่น ร้านชาเฮย์ที (Heytea) สาขาห้างสรรพสินค้าซินชื่อเจี้ยเฉิง หรือร้านปิ้งย่างเหิ่นจิ่วอี่เฉียน สาขาห้างสรรพสินค้าตี้อีไป่ฮั่ว ได้รับรองนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้และชาวไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ไทยประจำนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าชาวไทยชอบเที่ยวจีนมาตลอด จึงไม่แปลกที่ไชน่า ทราเวล (China Travel) หรือ “ท่องเที่ยวจีน” จะเป็นกระแส โดยนโยบายฟรีซ่าซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับจีนเกื้อหนุนชาวไทยเดินทางเยือนจีนสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมมิตรภาพและเพิ่มความเข้าใจของประชาชนสองประเทศ

เกศรินทร์ อริยพงศ์ รองเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่าการที่ชาวไทยนิยมเที่ยวจีนช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และโอกาสทางธุรกิจมหาศาล ขณะปัจจุบันกระแสเพลงซี-ป๊อป (C-pop) เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นชาวไทยเพิ่มขึ้นก็ช่วยเพิ่มความเข้าใจซึ่งกันและกันและจำนวนชาวไทยที่เดินทางเที่ยวจีนด้วย

ข้อมูลจากซีทริป (Ctrip) ระบุว่ายอดจองการเดินทางเข้าจีนของนักท่องเที่ยวชาวไทย ช่วงเริ่มต้นนโยบายฟรีวีซ่าจนถึงวันที่ 11 ม.ค. 2025 เพิ่มขึ้นร้อยละ 372 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม 2023-มกราคม 2024 โดยนักท่องเที่ยวช่วงอายุ 26-35 ปี ครองสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 36 ตามด้วยช่วงอายุ 36-45 ปี ที่ร้อยละ 34

ขณะเดียวกันยอดจองการเดินทางเข้าจีนของนักท่องเที่ยวชาวไทย ช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน ปี 2025 เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2024 โดนมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย

ห้วงยามกระแสไชน่า ทราเวล กำลังร้อนแรงเช่นนี้ สินค้าต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยผสมผสานอยู่ด้วยนั้นได้รับความนิยมเช่นกัน โดยปฤณัตกล่าวว่าสินค้าไทยตั้งแต่ของกินจนถึงของใช้มีโอกาสเข้าสู่บ้านเรือนชาวจีนเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ปฤณัตกล่าวว่าจีนและไทยมีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดผูกพันกัน และธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า โดยเฉพาะ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” เป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการชาวไทยเข้าสู่ตลาดจีนอันกว้างใหญ่และเปี่ยมด้วยพลังความมีชีวิตชีวา

งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเข้าร่วมงานนี้ทุกปีตั้งแต่เริ่มต้นจัดขึ้นในปี 2018 โดยหน่วยงานเศรษฐกิจและการค้าของไทยนำพากลุ่มเอสเอ็มอี (SME) ที่มีศักยภาพสูงร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์

ปฤณัตกล่าวว่าปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จึงหวังใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือด้านการค้า ความคิดสร้างสรรค์ การศึกษา อาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เกศรินทร์ทิ้งท้ายว่าอีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหมมอบโอกาสเติบโตในตลาดจีนแก่ผู้ประกอบการชาวไทย ช่วยให้เอสเอ็มอีไทยได้เรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนดียิ่งขึ้น นำสู่การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานที่จะประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการชาวไทย พร้อมกับส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภคชาวจีนยิ่งขึ้น

'อาลีบาบา' เปิดตัว 'Qwen 2.5' ท้าชน DeepSeek อ้างเหนือกว่าทุกด้าน

(29 ม.ค.68) ดูเหมือนศึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยิ่งเดือดดาลมากขึ้น เมื่อ อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เปิดตัว Qwen 2.5 โมเดล AI รุ่นใหม่ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการ

การเปิดตัว Qwen 2.5-Max ในช่วงวันแรกของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงแรงกดดันจากการเติบโตของ DeepSeek สตาร์ตอัป AI สัญชาติจีนที่เพิ่งเปิดตัวโมเดลใหม่ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับคู่แข่งต่างชาติ แต่ยังสะเทือนวงการเทคโนโลยีในประเทศจีนด้วย

หน่วยธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบาประกาศผ่าน WeChat อย่างเป็นทางการว่า "Qwen 2.5-Max มีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4o, DeepSeek-V3, และ Llama-3.1-405B ในแทบทุกด้าน" โดยเปรียบเทียบกับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สจาก OpenAI และ Meta

Qwen 2.5-Max มีขนาดโมเดลใหญ่ถึง 405 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจบริบทข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดตัวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคา AI ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ในราคาที่ถูกลง

การที่อาลีบาบาสามารถพัฒนา Qwen 2.5 ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ในเวลาที่รวดเร็ว เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของอาลีบาบา

Qwen 2.5 มีหลากหลายโมเดลให้เลือกใช้ เช่น Qwen 2.5-Max, Qwen 2.5-Chat, และ Qwen 2.5-Turbo ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยสามารถเข้าถึงผ่าน API บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของอาลีบาบา

อย่างไรก็ตามหากเทียบระหว่าง AI ของอาลีบาบา กับ DeepSeek มีส่วนที่ต่างกันคือ DeepSeeek เน้นการพัฒนา AGI และขายโมเดลในราคาถูก ขณะที่ อาลีบาบา ใช้กลยุทธ์นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และให้บริการผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ ทำให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองไม่เพียงแค่เรื่องของประสิทธิภาพของโมเดล แต่ยังเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเข้าถึงตลาดอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ DeepSeek ได้สร้างความฮือฮาในซิลิคอนวัลเลย์ หลังเปิดตัวผู้ช่วย AI ใช้โมเดล DeepSeek-V3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม และตามมาด้วย DeepSeek-R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใน AI ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ

กระแสความสำเร็จของ DeepSeek ยังจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันในวงการ AI ของจีนอย่างเร่งด่วน โดยเพียงสองวันหลังจากการเปิดตัว DeepSeek-R1 บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok ได้ปล่อยอัปเดตโมเดล AI ตัวใหม่ พร้อมเคลมว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบ AIME ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดความสามารถของ AI ในการประมวลผลคำสั่งที่ซับซ้อน

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (3) : ‘ต้นทุน’ ต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ก่อนนำมาคำนวณตามประเภทผู้ใช้งาน

(29 ม.ค.68) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บ และวิธีการคิดคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’ ตามที่ได้บอกเล่าในบทความ 'รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2)' ไปแล้วนั้น ครั้งนี้จะได้พูดถึง ‘ต้นทุน’ ต่าง ๆ ที่อยู่ใน ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งคิดเป็นหน่วยไฟฟ้า หรือ ยูนิต (Unit) หรือ kWh โดยเป็นหน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือ ปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (Kilo watthour = กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ (1,000 วัตต์ (W)) ใช้งานนาน 1ชั่วโมง)

พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย หรือ 1 kWh สามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าได้นานแค่ไหน? พลังงานไฟฟ้า 1 หน่วย โดยประมาณแล้วเพียงพอต่อ การเปิดหลอดไฟ LED กำลังไฟ 10 วัตต์ 1 ดวง นาน 100 ชั่วโมง การใช้งานเครื่องซักผ้าขนาด 10 กิโลกรัม กำลังไฟ 500 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 2 ชั่วโมง การใช้งานเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 BTU กำลังไฟ 1,500 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 40 นาที และเตารีดไอน้ำกำลังไฟ 2,000 วัตต์ 1 เครื่อง นาน 30 นาที เป็นต้น

‘ค่าไฟฟ้า’ ตามบิลค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า (ประเภทบ้านพักอาศัย) ประกอบด้วย 

1. ต้นทุนการเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมค่าซื้อไฟฟ้าทั้งจากในประเทศและต่างประเทศจ่ายเข้าสู่ระบบ ค่า Adder* และค่า FiT** เป็นต้นทุนหลัก มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58-60% ของอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

*ค่า Adder คือ ค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีการบวกกับราคาขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าในอัตราที่กำหนด

**ค่า FiT (Feed-in Tarif) คือค่าส่วนเพิ่มราคาตามมาตรการที่ใช้เพื่อส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน เป็นมาตรการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการผลิตพลังงานจากแหล่งธรรมชาติที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันใช้แทนค่า Adder แล้ว ทั้งนี้  เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีขึ้นเป็นระยะ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน จึงไม่ได้เอาไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานซึ่งมีการปรับทุก ๆ 3-5 ปี  แต่นำมารวมไว้คำนวณในค่า Ft

2. ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบของ ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ เป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน ครอบคลุมตั้งแต่ (1)ค่าก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เงินกู้ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่น ๆ (2)ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (3)ผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่อง หรือบำรุงรักษา (4)ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกเดือน ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ทำให้มีต้นทุนในส่วนนี้เฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-17% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 

3. ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก) ระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-12% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

4. ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ระบบไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) 

5. ต้นทุนในการทยอยชำระหนี้และดอกเบี้ยคืนให้ กฟผ. ภายใน 2-3 ปี จากกรณีที่ กฟผ. ต้องเข้าไปรับภาระค่า Ft ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ปัจจุบันยอดหนี้ดังกล่าวอยู่ที่ราว 100,000 ล้านบาท)

6. ต้นทุนจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งทำให้มีต้นทุนเฉลี่ย คิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 

ทั้งนี้ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ซึ่งคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า มีวิธีการคำนวณตามประเภทผู้ใช้งานได้แก่ [1] บ้านอยู่อาศัย [2] กิจการขนาดเล็ก [3] กิจการขนาดกลาง [4] กิจการขนาดใหญ่ [5] กิจการเฉพาะอย่าง [6] องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร [7] กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และ [8] ไฟฟ้าชั่วคราว (โดยอัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน) ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ ของผู้ใช้ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างกันตามแต่ละประเภท ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าจึงต้องดูข้อมูลที่ปรากฏจากใบเรียกเก็บหรือใบเสร็จรับเงิน ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่ได้รับ ซึ่ง ‘ค่าไฟฟ้า’ นี้ ประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย รายละเอียดได้อธิบายในบทความ 'รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (2)' ไปแล้ว โดยในตอนต่อไปจะได้เล่าถึง รายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย

‘บอสชาตรี’ พูดชัดเหตุ ‘ซุปเปอร์บอน’ พลาดทำแพ้ ‘ตะวันฉาย’ ศึก ONE วอนแฟนมวยอยากให้เข้าใจอย่าด่านักมวย

(29 ม.ค. 68) ควันหลงมวยคู่เอกในศึกใหญ่ ONE 170 ระหว่าง ตะวันฉาย พีเค.แสนชัย กับ ซุปเปอร์บอน ซุปเปอร์บอนเทรนนิงแคมป์ ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา

โดยผลการแข่งขันอย่างที่รู้กันไปแล้วว่า "ซ้ายดารา" เป็นฝ่ายเอาชนะทีเคโอไปได้ในยกที่ 2 ป้องกันเข็มขัดแชมป์ ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวต เอาไว้ได้เป็นสมัยที่ 4

ภายหลังจบไฟต์ ชาตรี ศิษย์ยอดธง บอสใหญ่แห่งศึก ONE ที่ก็นั่งชมไฟต์นี้แบบติดขอบเวที ได้ออกมาเผยถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในการชกครั้งนี้ได้อยางน่าสนใจ

"ในมุมมองของผมเกมในยกแรก ซุปเปอร์บอน เหมือนมารอให้ ตะวันฉาย เตะก่อนเพื่อที่จะรอดักสวนด้วยหมัด นั้นทำให้เขาเป็นฝ่ายต้องตามคู่ชก"

"แต่พอยกสอง ทีมงานของตะวันฉายน่าจะจับทางได้ จึงเปลี่ยนแผนให้ ตะวันฉาย มาออกหมัดก่อนที่จะเตะทำให้ ซุปเปอร์บอน ต้องตกใจ และไม่พร้อมที่จะรับมือ ที่สำคัญอาวุธของ ตะวันฉาย หนักมากคมมากทุกอย่างเลย"

พร้อมกันนี้ บอสชาตรี ได้กล่าวต่อถึงประเด็นที่มีแฟนมวยบางรายไปต่อว่า ซุปเปอร์บอน ผู้แพ้ "ผมไม่เข้าใจนะทำไมแฟนมวยไทยถึงด่านักมวย มันไม่ใช่ทุกไฟต์ที่จะทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม นี่คือการแข่งขันระหว่างนักมวยที่สุดยอดกับสุดยอดมาเจอกัน"

"เขาทำเพื่อประเทศไทย เขาสู้เพื่อให้มีศักดิ์ศรีมากขึ้น แต่ทำไมถึงต้องด่าเขา ผมเข้าใจนี่คืออาชีพของเขา และอยากให้คนไทยเข้าใจนักมวยไทยของเรา" บอสชาตรี กล่าว

จีนหนุนพลศึกษาสู่วิชาหลัก เทียบชั้นคณิต-วิทย์ฯ พร้อมปรับเงินเดือนครูพละ หลังพบโรคอ้วนในเด็กสูง

(29 ม.ค.68) จีนมีแผนผลักดันให้วิชาพลศึกษาเป็นวิชาหลักส่วนสำคัญของหลักสูตรในโรงเรียน แทนที่จะเป็นเพียงวิชารองเท่านั้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราโรคอ้วนในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว กระทรวงศึกษาธิการของจีนระบุว่าการศึกษาที่สมดุลต้องรวมทั้งวิชาการและสุขภาพร่างกาย โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับครูพลศึกษาในระดับเดียวกับครูวิชาหลัก เช่น ภาษาจีน คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมกีฬาหลัก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล

"มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งด้านวิชาการและสุขภาพร่างกาย เพื่อสร้างนักเรียนที่มีความพร้อมในอนาคต" กระทรวงศึกษาธิการระบุ

แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่จีนประกาศแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคม โดยตั้งเป้าพัฒนา 'ชาติที่มีการศึกษาที่แข็งแกร่ง' ภายในปี 2035 หนึ่งในนโยบายสำคัญคือการกำหนดให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษามีกิจกรรมทางกายภาพอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อลดอัตราสายตาสั้นและโรคอ้วน

ในปี 2022 มีการขาดแคลนครูพลศึกษาทั่วประเทศราว 120,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท รัฐบาลจึงมีมาตรการส่งเสริมการรับสมัครนักกีฬาที่เกษียณแล้วและอดีตทหารเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ ครูพลศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนในระดับเดียวกับครูวิชาอื่น และจะมีการปรับเงินเดือนตามผลงานสำหรับการทำหน้าที่พิเศษ เช่น การฝึกสอนกีฬาหลังเลิกเรียนและการเป็นโค้ชทีมกีฬา

อัตราโรคอ้วนในเยาวชนจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมทางกายในช่วงมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 และการสั่งซื้ออาหารจานด่วนทางออนไลน์เพิ่มขึ้น แพทย์คาดว่าอัตราโรคอ้วนจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 10-12 ปีข้างหน้า เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย

ในปี 2022 อัตราเด็กชายที่เป็นโรคอ้วนในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 15.2% จาก 1.3% ในปี 1990 ขณะที่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 22% ญี่ปุ่น 6% สหราชอาณาจักรและแคนาดา 12% และอินเดีย 4% ส่วนในเด็กหญิงจีน อัตราโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 7.7% จาก 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนระบุในเดือนตุลาคมว่า "โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศ โดยเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่หกของการเสียชีวิตและความพิการในจีน"

รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ พร้อมยกระดับการป้องกันปราบปรามผู้มีอิทธิพลและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิต

(29 ม.ค.68) พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปทท.ตร.) , ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้างและผู้ร้ายสำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอร.ตร.) เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน ผ่าน ศปทท.ตร. และ ศปอร.ตร. รวมทั้งโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับสถานีตำรวจ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา , ชุมชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อย , ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ , ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 - 2567 มีการอบรมเครือข่ายประชาชนไปแล้ว 517,370 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 อยู่ระหว่างดำเนินการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้มีบทบาทในสังคมทุกสาขาอาชีพ จาก 1,483 สถานีตำรวจทั่วประเทศ สถานีตำรวจละ 50 คน รวมประมาณ 74,551 คน ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 591,921  คน   

เครือข่ายประชาชนที่ผ่านการอบรมแล้ว จะเป็นผู้เสนอความต้องการและสะท้อนปัญหาในทุกด้าน ได้แก่ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และปัญหาอื่นๆ มายังตำรวจที่ทำหน้าที่ประสานงานเครือข่าย แล้วนำเสนอคณะกรรมการระดับสถานีตำรวจ ซึ่งมีหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นประธาน ดำเนินการแก้ไขปัญหา หากปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับสถานีตำรวจ จะมีการเสนอไปยังคณะกรรมการระดับอำเภอ ระดับกองบังคับการ ระดับจังหวัด ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และระดับรัฐบาล ตามลำดับ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนต่อไป

ผลการปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือนร้อน จำนวน 37,278 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว 37,261 เรื่อง คิดเป็น 99.9 % ได้แก่ 

1.ปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด การแข่งรถในทาง การลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุขและสถานบริการ หนี้นอกระบบ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์และเทคโนโลยี ฯลฯ จำนวน 26,422 เรื่อง แก้ไขได้ 26,410 เรื่อง คิดเป็น 99.95% 

2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง การว่างงาน ความยากจนปัญหาหนี้สิน การขาดแคลนที่ทำกิน ฯลฯ จำนวน 1,257 เรื่อง แก้ไขได้ 1,257 เรื่อง คิดเป็น 100%

3.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเสื่อมโทรมในชุมชน ภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ จำนวน 4,352 เรื่อง แก้ไขได้ 4,348 เรื่อง คิดเป็น 99.91%

4.ปัญหาด้านความขัดแย้ง เช่น ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ จำนวน 5,247 เรื่อง แก้ไขได้ 5,246 เรื่อง คิดเป็น 99.98%

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประจวบฯ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในทุกมิติ เพื่อความเชื่อมั่นในการเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย ผ่านศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปทท.ตร. (Tourist Safety Operations Center : TSOC) ขับเคลื่อนให้ตำรวจทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับศูนย์รับแจ้งเหตุ 1155 

ซึ่งมีบริการเจ้าหน้าที่ล่ามแปลภาษา 8 ภาษา ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานการทำงานกับศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ในการรับแจ้งเหตุและร่วมกันระงับเหตุ ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และสนับสนุนตำรวจท้องที่ในการแปลภาษาตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผู้มีอิทธิพล สามารถแจ้งไปยังศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้างและผู้ร้ายสำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอร.ตร.) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาให้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต่างทุ่มเทและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ พร้อมระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและนักท่องเที่ยวในทุกมิติ เพื่อให้ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกและยกระดับความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจังให้เห็นผลเป็นรูปธรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top