Monday, 19 May 2025
Hard News Team

ทหาร 1 แสนนายหนีทัพ รัสเซียเผยสูญเสียหนัก เซเลนสกีไม่มีทางเลือก แก้กม.ดึงเด็ก 18 ปีสู้ศึกแทน

(30 ม.ค.68) กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีทหารยูเครนราว 100,000 นาย ละทิ้งหน้าที่จากหน่วยของตนเองและหลบหนีไป โดยกรณีการหนีทัพดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเวลานี้

รายงานระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กองทัพยูเครนสูญเสียกำลังพลโดยเฉลี่ยประมาณ 50,000 คนต่อเดือน

"จากข้อมูลทางการ ทหารยูเครนประมาณ 100,000 คน ได้ละทิ้งหน่วยทหารของตนโดยพลการและหลบหนีไป" กระทรวงฯ กล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนี้ ยังเสริมว่า อัตราการระดมพลในยูเครนไม่สามารถชดเชยการสูญเสียได้ ส่งผลให้จำนวนกำลังพลของยูเครนลดลงอย่างต่อเนื่อง

กลาโหมรัสเซียยังเผยอีกว่า ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้รัฐบาลเคียฟมีทางเลือกไม่มาก โดยอาจใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายลดอายุเกณฑ์การระดมพลจาก 25 ปีเหลือ 18 ปี ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะสามารถทำได้เพื่อยืดเวลาการรบในแนวหน้าโดยเฉพาะที่ภูมิภาคดอนบาสออกไปอีกไม่กี่เดือน แต่นั่นก็ทำให้ยูเครนถูกบรรดาชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อ ‘รัฐบาลญี่ปุ่น’ ฉุนขาด ส่งตัดงบช่วยเหลือองค์กรสิทธิสตรี UN หลังแนะยกเลิกกฎสืบทอดราชสมบัติ ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

อยู่ ๆ องค์กรสิทธิสตรีก็ไป 'เสือก' เรื่องสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นซะงั้น... งานนี้มีคำว่า " UN ไม่ใช่พ่อ!" แน่ ๆ เอาจริง ๆ นะ สำหรับข้าพเจ้า งานนี้ดูเป็น case study ได้เลย

รัฐบาลญี่ปุ่นโต้เดือด! ไม่แก้กฎสืบราชบัลลังก์ แม้ CEDAW กดดัน

โตเกียว, 29 มกราคม – รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ตอบโต้คณะกรรมการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (CEDAW) อย่างแข็งกร้าว หลังจาก CEDAW แนะนำให้ญี่ปุ่นแก้ไขกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดให้การสืบราชสมบัติเป็นสิทธิของฝ่ายชายเท่านั้น

คำแนะนำดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดย CEDAW เห็นว่ากฎเกณฑ์นี้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและขัดกับหลักความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่ากระบวนการสืบราชสมบัติไม่ใช่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และถือเป็นเรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรมของประเทศที่องค์กรระหว่างประเทศไม่ควรแทรกแซง

"คุณสมบัติในการขึ้นครองราชย์ไม่ได้รวมอยู่ในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การจำกัดการสืบราชสมบัติให้เฉพาะฝ่ายชายจึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรี" รัฐบาลญี่ปุ่นระบุในแถลงการณ์ พร้อมเน้นย้ำว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์และความต่อเนื่องของสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเรียกร้องต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งเป็นองค์กรดูแล CEDAW ให้ "ไม่ให้นำเงินที่ญี่ปุ่นบริจาคไปใช้ในกิจกรรมของ CEDAW" พร้อมทั้งยกเลิกกำหนดการเยือนญี่ปุ่นของคณะกรรมการดังกล่าวในปีนี้

ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบริจาคเงินให้ OHCHR ปีละประมาณ 20-30 ล้านเยน (ราว 4.8-7.2 ล้านบาท) ซึ่งเงินส่วนนี้ที่ผ่านมาไม่เคยถูกนำไปใช้ในกิจกรรมของ CEDAW อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นระบุเงื่อนไขไม่ให้ใช้เงินบริจาคในกิจกรรมเฉพาะด้านของสหประชาชาติถือเป็นท่าทีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การตอบโต้ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดยืนที่แข็งกร้าวที่สุดของญี่ปุ่นต่อองค์กรระหว่างประเทศ ท่ามกลางกระแสถกเถียงภายในประเทศเกี่ยวกับอนาคตของระบบสืบราชสมบัติ เนื่องจากปัจจุบัน สมาชิกราชวงศ์ฝ่ายชายที่สามารถสืบราชสมบัติมีจำนวนน้อยลง ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันจักรพรรดิในระยะยาว

แม้จะมีแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจอธิปไตยภายในของประเทศ และจะไม่เปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลในเร็ว ๆ นี้

อ้างอิง:
NHK News (29 มกราคม 2025)
https://www3.nhk.or.jp/.../20250129/k10014707141000.html...

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (4) : ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย…มาจากไหน? ‘กระทรวงพลังงาน’ บริหารอย่างไร? ไม่ให้ค่าไฟแพงเกินไป

(30 ม.ค. 68) เมื่อเล่าถึง ‘ค่าไฟฟ้า’ แล้ว เรื่องหนึ่งที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ไฟฟ้าและจ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ควรรู้ก็คือ “รายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย” อันเป็นที่มาที่ไปของบริบทโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’ จากที่ได้เล่าไว้ใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’” แล้วนั้น ด้วยแรกเริ่มเดิมทีการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นภารกิจของ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT” ซึ่งทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเองทั้ง 100% เพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. 

แต่ต่อมา รัฐบาลในขณะนั้นต้องการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนจึงเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา

ทั้งนี้ กฟผ. ทำหน้าที่เป็นทั้ง ผู้ผลิต และผู้รับซื้อไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ. โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าได้เอง ราว 34% ส่วนที่เหลือก็จะรับมาจาก (1)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 34% (2)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer : SPP)’ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 19% และ (3)นำเข้าจากต่างประเทศอีก 13% โดย กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 53 แห่ง มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 16,237.02 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) 30 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ) 9 แห่ง โรงไฟฟ้าดีเซล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ (โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ) อีก 1 แห่ง 

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลกำลังผลิตโรงไฟฟ้าเอกชน ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 โดย ‘ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 13 โรง โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 19,598.50 เมกะวัตต์ และ ‘ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ซึ่งแบ่งเป็น (1)ประเภทสัญญา Firm [1.1]ระบบ Cogeneration (การผลิตพลังงาน 2 รูปแบบได้แก่พลังงานไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน (ไอน้ำ, อากาศร้อน) จากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดเดียวในระบบ Cogeneration ประกอบด้วย Gas Turbine, Generator และ Heat Recovery) จำนวน 73 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 5,772 เมกะวัตต์ และ [1.2]พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 26 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 493.53 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญา Firm รวมทั้งสิ้น 6,265.53 เมกะวัตต์ และ (2)ประเภทสัญญา Non-Firm [2.1]ระบบ Cogeneration จำนวน 6 โรง กำลังการผลิตตามสัญญารวม 278 เมกะวัตต์ และ [2.2]พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 56 โรง มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 2,522.35 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญา Non-Firm รวมทั้งสิ้น 2,800.35 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) จำนวน 9 โรง และ (สหพันธรัฐมาเลเซีย) อีก 1 โครงการ (โครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย (HVDC) 300 เมกะวัตต์) โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 6,234.90 เมกะวัตต์ ดังนั้น จากกำลังการผลิตไฟฟ้า เพียง 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ทำให้บทบาทของ กฟผ. กลายเป็นผู้รับซื้อ-ขายไฟฟ้า และให้บริการการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้กับ กฟน. และ กฟภ.

ข้อมูลเกี่ยวกับไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยมาจากไหนนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อ ‘ราคาค่าไฟฟ้า’ ด้วยเพราะระบบและเทคโนโลยี ตลอดจนพลังงานที่นำมาใช้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของ ‘ราคาไฟฟ้า’ โดยเฉพาะ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ และ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)’ จากการที่ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ณ เดือนตุลาคม 2567 ลำดับ 1 คือ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ 53.441% ลำดับ 2 เป็น ‘ไฟฟ้านำเข้า’ 20.602% ลำดับ 3 มาจาก ‘ถ่านหินนำเข้าและลิกไนต์’ 16.025% ลำดับ 4 คือ ‘พลังงานหมุนเวียน’ 8.379% ลำดับ 5 ได้แก่ ‘พลังงานน้ำ’ 1.529% และลำดับ 6 เป็น ‘น้ำมันดีเซล/น้ำมันเตา’ 0.022%

โดยที่ ‘ค่า Ft’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. ไม่สามารถควบคุมได้ และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ จะเป็นผู้พิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณเพื่อปรับค่า Ft ทุก ๆ 4 เดือน ซึ่งในส่วนนี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ทำได้เพียงใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft เพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายแก่พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ในตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ อันเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย ทำให้มีผลอย่างสำคัญต่อ ‘ค่า Ft’ 

สั่ง Meta ควัก 25 ล้านดอลลาร์ชดใช้ทรัมป์ กรณีปิดบัญชีจากเหตุจลาจลรัฐสภา

(30 ม.ค. 68) บริษัท Meta ยินยอมที่จะจ่าย 25 ล้านดอลลาร์ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อยุติคดีความที่ทรัมป์ฟ้องร้องบริษัท หลังจากที่แพลตฟอร์มสั่งระงับบัญชีของทรัมป์หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 รายงานข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย  The Wall Street Journal และได้รับการยืนยันโดยโฆษกของ Meta 

จากรายงานของ The Wall Street Journal ระบุว่า เงินจำนวน 22 ล้านดอลลาร์ที่ Meta จ่ายให้ทรัมป์นี้จะถูกนำไปสมทบทุนสร้างหอสมุดประธานาธิบดี ส่วนที่เหลือจะถูกใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมทางกฎหมายและชำระให้กับโจทก์รายอื่น ๆ ที่มีชื่อในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ทำเนียบขาวยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

การฟ้องร้อง Facebook ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัทแม่ Meta เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ทรัมป์ยื่นฟ้อง สืบเนื่องหลังเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ซึ่งนอกจาก Facebook แล้ว ทรัมป์ยังยื่นฟ้อง YouTube และ Twitter (ปัจจุบันคือ X) รวมถึงผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีฟ้องร้อง Twitter ถูกผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางยกฟ้องไปแล้ว ขณะที่คดีฟ้องร้อง Google ถูกระงับคดีชั่วคราวไปในปี 2023 แต่ยังมีโอกาสที่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ Facebook ระงับบัญชีของทรัมป์ เนื่องจากเขาใช้แพลตฟอร์มเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งและอ้างว่าตนเป็นผู้ชนะในปี 2020 การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Facebook ซึ่งก่อนหน้านี้มักปล่อยให้ผู้นำทางการเมืองใช้งานแพลตฟอร์มได้โดยไม่มีการควบคุมเข้มงวด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สามารถระงับบัญชีบุคคลสำคัญได้ในกรณี "พิเศษ" เช่น ภาวะความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมือง

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ในเวลานั้นกล่าวว่า "เราเชื่อว่าความเสี่ยงจากการปล่อยให้ประธานาธิบดีใช้งานแพลตฟอร์มของเราต่อไปในช่วงเวลานี้นั้นสูงเกินไป" บริษัทจึงตัดสินใจลงโทษทรัมป์ขั้นสูงสุดตามกฎใหม่ โดยระงับบัญชี Facebook และ Instagram ของเขาแบบไม่มีกำหนด

"พวกเขาไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำแบบนี้ พวกเขากำลังเซ็นเซอร์และปิดปากเรา และสุดท้ายแล้ว เราจะชนะ ประเทศของเราไม่สามารถทนรับการกดขี่แบบนี้ได้อีกต่อไป!" ทรัมป์กล่าวในขณะนั้น และเสริมว่า "ครั้งต่อไปที่ผมอยู่ในทำเนียบขาว จะไม่มีมื้อค่ำที่ซักเคอร์เบิร์กและภรรยาของเขาร้องขออีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็นเรื่องธุรกิจเท่านั้น!"

ไม่กี่เดือนต่อมา Facebook ปรับลดระยะเวลาการระงับบัญชีของทรัมป์เป็นสองปี และในปี 2023 เมื่อครบกำหนดสองปี บริษัทได้คืนสิทธิ์ให้เขากลับมาใช้งานแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับ Twitter และ YouTube ที่ยกเลิกการแบนบัญชีของทรัมป์

ล่าสุด ซักเคอร์เบิร์กดูเหมือนจะกลับมาเป็นที่โปรดปรานของทรัมป์อีกครั้ง โดยมีรายงานว่าเขาพบกับทรัมป์หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนั่งแถวหน้าระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซักเคอร์เบิร์กยังเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงระดับหรูให้กับทรัมป์ในช่วงเฉลิมฉลองวันเข้ารับตำแหน่ง

การเจรจายุติคดีเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อซักเคอร์เบิร์กไปรับประทานอาหารค่ำกับทรัมป์ที่บ้านพัก Mar-a-Lago ในฟลอริดา โดย The Wall Street Journal รายงานว่าทรัมป์ระบุว่าคดีความต้องถูกจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่ซักเคอร์เบิร์กจะสามารถ "เข้าร่วมกลุ่มของเขา" ได้ ต่อมา ซักเคอร์เบิร์กกลับไปที่ Mar-a-Lago ในช่วงต้นเดือนมกราคมเพื่อการไกล่เกลี่ยที่กินเวลาทั้งวัน

หลังจากเดินทางไปฟลอริดาไม่นาน ซักเคอร์เบิร์กก็ประกาศนโยบายใหม่ของ Meta โดยระบุว่าบริษัทจะยกเลิกข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับเนื้อหาทางการเมือง และอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยสะท้อนคำพูดของทรัมป์ว่า "การเซ็นเซอร์ออนไลน์มีมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะกลับไปสู่รากฐานของเรา

ฟ้องหนักบริษัทยา Merck วัคซีนมะเร็ง HPV ทำวัยรุ่นพิการถาวร แฉซ้ำบริษัทปกปิดผลข้างเคียง

(30 ม.ค.68) Merck & Co., Inc. บริษัทผู้ผลิตยาอันดับ 2 ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญคดีฟ้องร้องจากการทำตลาดวัคซีน Gardasil ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็ง HPV หลังจากที่มีรายงานว่าพบผลข้างเคียงรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นที่รับวัคซีน โดยพบรายงานมีอาการ ไมเกรนรุนแรง ปัญหาด้านความจำ อัมพาตชั่วคราว โรคหัวใจ ระบบย่อยอาหารอ่อนแรง และอาการบาดเจ็บอื่นๆ ในขณะที่วัคซีนดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับ  Merck ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ก็ตาม

ด้านนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ จูเนียร์ (RFK Jr.) ผู้มีแนวโน้มจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาแสดงความกังวลและประกาศว่าจะดำเนินการอย่างเข้มงวดกับบริษัทยาที่เขาระบุว่าเป็น 'องค์กรอาชญากรรม' โดยเฉพาะกรณีของ Merck ที่มีประวัติการจ่ายค่าเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์จากคดียา Vioxx ในอดีต และยังถูกกล่าวหาว่าทดลองยาในยูเครนโดยไม่ได้รับความยินยอม

สำหรับวัคซีน Gardasil ได้รับการส่งเสริมและจำหน่ายอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับกลุ่มอายุ 9-45 ปี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งศีรษะและลำคอ รวมถึงมะเร็งอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อ HPV นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาผ่านการสนับสนุนของ Gavi พันธมิตรด้านวัคซีน อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์รวมถึง RFK Jr. ชี้ว่า Gardasil อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด และก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว 

ล่าสุด ทนายความของหญิงชาวลอสแองเจลิสได้ยื่นฟ้อง Merck ฐานให้ข้อมูลเท็จและปกปิดผลข้างเคียงของวัคซีน โดยกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง ขณะที่ทนายความของ Merck ยืนยันว่าจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และปฏิเสธว่าอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับวัคซีน ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาสามารถ

ทั้งนี้ Merck เคยมีประวัติจ่ายค่าเสียหายมหาศาลในคดียา Vioxx เมื่อปี 2007 ซึ่งต้องจ่ายเงินชดเชยกว่า 4,850 ล้านดอลลาร์ หลังพบว่ายาดังกล่าวทำให้เกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าบริษัทได้ทำการทดลองยาในยูเครนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกเปิดเผยจากเอกสารที่กองทัพรัสเซียยึดได้

“อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.”คิกออฟนวัตกรรม“คอรัปชั่นเทค(CorruptionTech)ผนึกเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมปราบปรามการทุจริตแนวใหม่

(30 ม.ค. 68) นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์(FKII Thailand)เปิดเผยวันนี้ว่าสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์จะคิกออฟนวัตกรรม“คอรัปชั่นเทค(CorruptionTech)ร่วมปราบปรามการทุจริตแนวใหม่ใช้เทคโนโลยีผสานเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมขจัดการฉ้อราษฎรบังหลวงในวันพรุ่งนี้ภายใต้โครงการใยแมงมุม ((The Spider Web Solution: Eliminating Corruption for a Brighter Future) เป็นแนวทางใหม่ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการขจัดคอรัปชั่นโดยประชาชนจะบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมโดยตรงในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎรบังหลวง 

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า การคอรัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานานส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งสถานการณ์ปัญหาไม่ได้ดีขึ้นมิหนำซ้ำกลับถดถอยลง พิจารณาจากรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ที่เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลกแย่ลงจากปี2565ถึง 7 อันดับ

ในขณะที่ประเทศเดนมาร์กได้คะแนนสูงที่สุด 90 คะแนนเป็นอันดับ 1 ของโลก, ประเทศฟินแลนด์ อันดับ 2 ได้ 87 คะแนน ประเทศนิวซีแลนด์อันดับ 3 ได้ 85 คะแนน ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ส่วนการจัดอันดับปี2567 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจะประกาศในต้นเดือนหน้า “สถาบันเอฟเคไอไอ.ฯ.ขับเคลื่อนการอัพเกรดประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมในมิติต่างๆแต่ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขไปพร้อมกันเพราะไม่ว่าจะพยายามยกระดับการพัฒนาประเทศอย่างไรแต่ถ้าเรือประเทศไทยยังมีรูรั่วขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถแล่นได้เร็วในทางตรงข้ามกลับแล่นได้ช้าลงแข่งขันกับใครเขาไม่ได้

ดังนั้นการนำคอรัปชั่นเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มTraffy Fondueจึงเป็นแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นโดยเชื่อมโยงเครือข่ายใยแมงมุมกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชน“

พร้อมกันนี้ขอเชิญร่วมงานสัมนาแนวรบสุดท้ายของสงครามปราบทุจริตในประเทศไทย FKII National Dialogue Forum2025 “ขจัดคอรัปชั่น เพื่อประเทศไทยใสสะอาด “พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม คอรัปชั่นเทค ”เดอะ สไปเดอร์ เว็ป“
วันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568 
เวลา 09.00 – 13.00 น. 
ณ TVA Hall สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพมหานคร
📌https://maps.app.goo.gl/YxVYudCo6RNZuUbA9?g_st=il
พบกับวิทยากร ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง สถานการณ์และพัฒนาการด้านการคอรัปชั่นในประเทศไทย และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการขจัดคอรัปชั่น โดยประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร โดย
🟢  นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบัน FKII Thailand
🟢  ดร. วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue
🟢  ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
🟢  พลเอก ดร.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เลขาธิการภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ
🟢  นายชยดิฐ หุตานุวัชร ประธานสถาบันทิวา และผู้อำนวยการสถาบัน FKII Thailand
🟢  และ ร่วมอภิปรายโดยผู้เข้าร่วมงาน
สำรองที่นั่งด่วน รับจำนวนจำกัด
เพียง 80 ท่าน เท่านั้น❗️
ที่ LineOA FKII Thailand: https://lin.ee/BgPCPvd
ติดต่อสอบถาม
คุณวรวุฒิ 091-1805459
FKII Thailand
Facebook : FKIIThailand

เวทีถก‘ร่างกม.คุมแอลกอฮอล์’ชี้มีข้อดีเพิ่มแต่ห่วงปมเปิดช่องกลุ่มทุนร่วม ‘คกก.ควบคุมฯ’ หวั่นเจือสมผลประโยชน์ ‘ตีเช็คล่วงหน้า’เรียกร้องธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

                   

(30 ม.ค.68) วงประชุมชำแหละ 'ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์' ระบุ! แม้คลายการควบคุม แต่ได้เพิ่มโทษปรับ 5 เท่ากับคนขายเหล้าให้เด็กและคนเมา หวังแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงเพิ่มบทบาทเยาวชนในคณะกรรมการจังหวัด ด้านนักวิชาการห่วงปมคลายข้อห้ามโฆษณา อาจเปิดช่อง AI และการสื่อสารถึงบุคคลรุกเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ทุกฝ่ายห่วงสุด เปิดช่องตัวแทนกลุ่มทุนร่วมเป็นบอร์ดควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเป็นการ 'เขียนเช็คล่วงหน้า' ชี้ธุรกิจต้องร่วมรับผิดชอบผลกระทบด้วย เสนอเพิ่มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่สตรีมีครรภ์ ส่วน “บอร์ด สสส.” ย้ำ! กฎหมายต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสังคมด้วย            

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 ณ ห้อง Parkview ชั้น 6 โรงแรมเบสเวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.), ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง 'ชำแหละร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์...สังคมไทยได้อะไร' โดยมี นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดการประชุมฯ ว่า กฎหมายเมื่อบังคับใช้มานานพอสมควรก็ต้องมีการทบทวน อย่างไรก็ตาม เวลานี้สังคมไทยควรจะสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น การแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่คณะกรรมาธิการพิจารณเสร็จแล้ว และกำลังจะเสนอกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร์นั้น มีเนื้อหาหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น มีการพูดถึงการบำบัดรักษาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ได้พูดถึง รวมทั้งการให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนเป็นกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์จังหวัดก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องการเปิดโอกาสให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ในงานจัดเลี้ยงตามประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีการดื่มแอลกอฮอล์อยู่ด้วย ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนดื่มแออลกอฮอล์มากขึ้น รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ผลิต นำเข้าหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ในที่สุดหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของ 2 สภาฯแล้ว สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังคือ การกำหนดรายละเอียดเนื้อหาในกฎหมายระดับรอง ทุกฝ่ายต้องรักษาความสมดุลเพื่ออยู่ร่วมกันให้ได้ รวมทั้งทำอย่างไรที่จะให้ผู้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เข้ามาร่วมรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาด้วย  

​นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่...) พ.ศ. กล่าวว่า หากมองในมิติการควบคุมร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่อนคลายการควบคุมลงบางระดับ เช่น กรณีการให้ขายและดื่มในสถานที่ราชการที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษได้เป็นครั้งคราว ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่สามารถยืนยันตัวตนและอาการมึนเมาของผู้ซื้อได้ แต่เชื่อว่าหลายเรื่องจะเป็นประโยชน์ต่อควบคุมและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การควบคุมการโฆษณาที่จะระบุว่าใครทำอะไรได้บ้าง และลดโทษต่อการกระทำผิดต่อการโฆษณาของประชาชนทั่วไป การห้ามผู้มีชื่อเสียงโฆษณา รวมทั้งการควบคุมตราเสมือน การให้อำนาจผู้ขายในการขอดูบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบอายุและตรวจสอบอาการของคนเมา การเพิ่มความร่วมรับผิดทางแพ่งต่อผู้ขายที่ฝ่าฝืนกฎหมายและผู้ซื้อที่ก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก มีการเพิ่มโทษปรับสูงขึ้นจากเดิม 5 เท่า กรณีขายให้เด็กและคนเมา 

การให้กระทรวงสาธารณสุขของบประมาณจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดได้ พร้อมกับเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ให้สามารถตักเตือนระงับการโฆษณา พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราและสั่งปิดกิจการที่ใช้กระทำความผิดได้ ประเด็นที่ตนและกรรมาธิการฝ่ายรณรงค์เป็นห่วงมากที่สุดและขอสงวนความเห็นไว้คือ การเข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตัวแทนผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 1 คน และผู้แทนองค์กรการค้า จำนวน 3 คน  เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะมีบทบาทสำคัญมากในการออกกฎหมายลูกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการควบคุมสุรา อาจมีปัญหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ ผู้แทนจากองค์กรการค้าเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติอยู่แล้ว สามารถแสดงความเห็นได้จึงไม่ควรมาเป็นกรรมการควบคุมอีก

ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าเหตุผลในการตรากฎหมายฉบับนี้คือแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรมซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจึงเป็นการควบคุมไม่ใช่การส่งเสริม ภาพรวมของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขถือว่าดีขึ้นในบางประเด็น เช่น การควบคุมการโฆษณาที่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุมแบรนด์เสมือน แต่ก็ยังข้อมีห่วงใย โดยเฉพาะการเปิดช่องให้ตัวแทนเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมด้านการท่องเที่ยว และตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ซึ่งมีโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะเจือสมผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งหากเทียบกับ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ฉบับเดิมกำหนดชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการฯควบคุมฯอย่างเด็ดขาด การเขียนข้อยกเว้นเปิดทางให้ตัวแทนภาคเอกชนซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และโดยความเป็นจริง แม้จะอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ควรเข้ามาแค่การแสดงความคิดเห็นและให้ข้อข้อเท็จหรือข้อเสนอแนะที่จำเป็นแต่ไม่ควรจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร หากสามารถแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการโดยไม่อิงกับกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นไปตามหลักการที่ดี แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ไม่ต่างจากการตีเช็คล่วงหน้านั่นเอง หรือหากจะเข้ามาก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

​รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการโฆษณาตามมาตรา 32 ที่ว่า เว้นแต่เป็นการสื่อสารทางวิชาการให้แก่สมาชิกในวงจำกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายได้ นอกจากนี้ ยังไม่ครอบคลุมการสื่อสารโดยใช้อัลกอริทึมคอมพิวเตอร์ หรือระบบ AI แทนการใช้มนุษย์ การส่งโฆษณาแบบจำเพาะรายบุคคลและการดำเนินการของผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะ พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อต่างๆ ในกรณีของซีรีส์เกาหลี การนำเสนอพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ อาจเปลี่ยนทัศนคติของคนดูให้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ เพราะนักแสดงทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ทรงอิทธิพล หากคนดูเชื่อว่าดื่มแอลกอฮอล์แล้วช่วยให้ตนกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงและมีความสุขได้เหมือนกับที่เห็นในสื่อคนดูดังกล่าว ก็จะมีโอกาสทำพฤติกรรมเลียนแบบมากขึ้น มาตรา 32 บังคับใช้เฉพาะสื่อจากประเทศไทยและการเซ็นเซอร์การดื่ม ไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ในสื่อออนไลน์ มีการใช้ซีรีส์เกาหลีเป็นกรณีศึกษา 

โดย นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสหรัฐฯ วิเคราะห์เนื้อหาซีรีส์เกาหลี 6 เรื่อง พบว่ามีภาพหรือการกล่าวถึงแอลกอฮอล์ทุก 12 นาที มีการกล่าวถึงความสำคัญในเชิงพิธีกรรมของแอลกอฮอล์ มีการดื่มเกินขนาดดื่มแก้เครียด ดื่มเพื่อสร้างความสัมพันธ์เมาแล้วมีความสุข แสดงผลกระทบจากความเมาที่ไม่ตรงกับความจริง มีภาพผู้ชายดูแลผู้หญิงที่เมา และไม่แสดงภาพหรือผลกระทบของการดื่มแล้วขับ การศึกษาผลกระทบต่อคนดูในประเทศอิสราเอลและอินโดนีเซียโดยทางออนไลน์ จำนวน 638 คน พบว่า กลุ่มที่ติดซีรีส์เกาหลีมีโอกาสดื่มโซจู ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 3 เดือน และดื่มหนักในช่วง 12 เดือนมากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดซีรีส์

นพ.วิธู พฤกษนันต์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประเด็นที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมไทยในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ คือ ความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร่างกฎหมายมีการกำหนดความรับผิดทางแพ่งของผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้รับบริการที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือผู้มีอาการมึนเมา และต่อมาผู้รับบริการดังกล่าวไปกระทำความผิดที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เมาแล้วขับ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 29 ที่จะถูกแก้ไขใหม่ เรื่องความรับผิดตามมาตรานี้ อาจดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรับผิดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามคำพิพากษาของศาลสูงในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 และ 2541 ตามลำดับ 

หากร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เช่น ร้านอาหารมีความระมัดระวังมากขึ้นในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้เยาว์และผู้ที่มีอาการมึนเมา เพราะอาจตกเป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่งด้วย ส่วนประเด็นที่ยังต้องผลักดันกันต่อไปคือ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับสตรีมีครรภ์ เพราะยังไม่บรรจุเข้าไปในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้ หลักฐานทางวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทารกในครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งลูก ตายคลอด พิการแต่กำเนิด หรือคลอดออกมาแล้วยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กที่ช้าลงกว่าปกติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้าไปดำเนินการออกมาตรการในทางกฎหมายเพื่อห้ามไม่ให้สตรีมีครรภ์บริโภค รวมถึงห้ามผู้ที่เกี่ยวข้องจำหน่ายจ่ายแจกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับสตรีมีครรภ์ และมีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนด้วย และเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องร่วมผลักดันกันต่อไป

ทั้งนี้ สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่าที่จะเสนอให้ตัวแทนสมาคม/องค์กรภาคเอกชนที่เข้าร่วมไปเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในทางแพ่ง หากเกิดปัญหากับผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมา แม้ในฝั่งรัฐบาลจะตัดทิ้งประเด็นนี้ออกไปจากร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้วก็ ก็ยังสามารถแก้ไขได้ในชั้นการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์

ศ. ดร. พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า อยากให้สื่อมวลชนและสังคมไทยช่วยกันส่งเสียงดังๆ ไปถึงสภาผู้แทนราษฎรให้มองเห็นว่าสังคมได้หรือเสียอะไร ภาระที่รัฐบาลและสังคมไทยจะแบกรับจากผลพวงจากกฎหมายฉบับนี้คืออะไร ทั้งนี้อยากย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดื่มสุรา เป็นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการดื่มสุรา ส่วนนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวว่าการดื่มเแอลกอฮอล์ส่งผลต่อปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้ดื่ม การเสวนาในวันนี้ ทำให้พวกเราได้รู้เท่าทันและนำไปสื่อสารในสังคมวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านสติปัญญา รวมถึงพัฒนาร่างกายและสุขภาพเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

ฮามาสจ่อปล่อยตัวคนไทย 5 ชีวิตหลุดฉนวนกาซา พร้อมชาวอิสราเอล หลังถูกจับกว่า 3 เดือน

(30 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่อิสราเอลเผยว่า กลุ่มฮามาสมีแผนจะปล่อยตัวประกันชาวไทย 5 คน และชาวอิสราเอลอีก 3 คน จากฉนวนกาซาในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคมนี้ โดยชาวอิสราเอลที่ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ อาร์เบล เยฮุด (Arbel Yehud) หญิงวัย 29 ปี, อากัม เบอร์เกอร์ (Agam Berger) นักสังเกตการณ์ทางทหารอายุ 20 ปี และ กาดี โมเสส (Gadi Moses) ชายวัย 80 ปี

การปล่อยตัวประกันครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนตัวประกันระลอกที่ 3 ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา โดยการแลกเปลี่ยนนี้จะมีการปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ 110 คนจากเรือนจำของอิสราเอล

สำหรับตัวประกันชาวไทยที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่ออย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าเป็นแรงงานภาคเกษตรที่ถูกลักพาตัวไปจากคิบบุตซ์ในอิสราเอล ก่อนหน้านี้ทางการไทยได้เปิดเผยรายชื่อพลเมืองไทย 6 คนที่ยังคงถูกกักตัวในฉนวนกาซา ได้แก่ วัชระ ศรีอ้วน, บรรณวัชร แซ่ท้าว, เสถียร สุวรรณคำ, ณัฐพงษ์ ปินตา, พงษ์ศักดิ์ แทนนา และ สุรศักดิ์ ลำเนา นอกจากนี้ยังมีตัวประกันชาวไทยอีก 2 คนที่เสียชีวิตแล้ว ได้แก่ สนธยา อัครศรี และ สุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ซึ่งคาดว่าเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2023

ด้านอิสราเอลคาดการณ์ว่าจะมีการปล่อยตัวประกันครั้งที่ 4 ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยจะเป็นการปล่อยตัวประกันชาย 3 คน

ทั้งนี้ การปล่อยตัวประกันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหยุดยิงที่เกิดขึ้นหลังจากการโจมตีข้ามพรมแดนของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 คน และมีตัวประกัน 251 คนถูกพาตัวไปยังฉนวนกาซา นับตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้วกว่า 47,310 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ก่อนหน้านี้ ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงระลอกแรก ตัวประกันชาวอิสราเอล 3 คน ได้แก่ โรมี โกเนน, โดรอน สไตน์เบรเชอร์ และ เอมิลี ดามารี ได้รับการปล่อยตัวและกลับไปพบกับครอบครัวแล้ว อิสราเอลระบุว่าก่อนบรรลุข้อตกลงหยุดยิง มีตัวประกัน 94 คนที่ยังสูญหาย และเชื่อว่ามีเพียง 60 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

‘พล.อ.ประยุทธ์’ ตรวจเยี่ยม โรงเรียนบ้านหลวง จ.น่าน ใต้ร่ม ‘กองทุนการศึกษา’ ที่ในหลวง ร.9 วางเป็นต้นแบบสร้างคนดี

(30 ม.ค.68) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ในฐานะกรรมการโครงการกองทุนการศึกษา พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังผลการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้โรงเรียนเป็นต้นแบบในการสร้างคนดีให้บ้านเมือง ส่งเสริม สนับสนุนและปลูกฝัง ค่านิยม การยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่มั่นคงอยู่ในคุณงามความดี และสนับสนุนเด็กที่มีความประพฤติดี ให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา โดยมีนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยศาล ทหาร ตำรวจ ศึกษาธิการจังหวัดน่าน ผู้บริหาร สพม.น่าน นายอำเภอบ้านหลวง หัวหน้าส่วนราชการ และคณะครู นักเรียนให้การต้อนรับ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ในฐานะกรรมการโครงการกองทุนการศึกษา พร้อมคณะ ได้รับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาและการจัดการตามแนวทาง 3 เสาหลัก 5 กลยุทธ์ โดยมีจุดเน้น ดังนี้ 1.การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โดยขอให้ระบุถึงอัตลักษณ์ คุณธรรมและจริยธรรมที่โรงเรียนได้เลือก รวมถึงกิจกรรมโครงงานของนักเรียน เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์คุณธรรมและจริยธรรมดังกล่าว ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่ประสบ 2. บทบาทของครูในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน 3. การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพของนักเรียน โดยโรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ได้รายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานตามจุดเน้นและรายงานปัญหาอุปสรรคที่พบให้กับทางองคมนตรีและคณะได้รับทราบ 

โอกาสนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ในฐานะกรรมการโครงการกองทุนการศึกษาได้กล่าวสรุปผลการตรวจเยี่ยมและรับฟังผลการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้โรงเรียนเป็นต้นแบบในการสร้างคนดีให้บ้านเมือง ส่งเสริม สนับสนุนและปลูกฝัง ค่านิยม การยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่มั่นคงอยู่ในคุณงามความดี และสนับสนุนเด็กที่มีความประพฤติดี ให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา

‘สส. สมบัติ’ จับมือ อปท. - 3 อำเภอแม่ฮ่องสอน เดินหน้าผลักดันแก้ปัญหาขยายถนน ‘สายฮอด-แม่ฮ่องสอน’

(30 ม.ค. 68) ‘สส. สมบัติ’ จับมือ อปท. 3 อำเภอ แม่ฮ่องสอน โซนใต้ แก้ปัญหา ถนน 108 สายฮอด-แม่ฮ่องสอน เพื่อเร่งผลักดันขยายถนน หลังรอแผนพัฒนาเก้อ ย้ำ!! รัฐ อย่าทิ้งชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองยวมใต้ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสมบัติ ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 3 อำเภอโซนใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย เพื่อหารือและสนับสนุนโครงการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่วงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายสมบัติ กล่าวในที่ประชุมว่า “ในฐานะ สส. ตนยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนและผลักดันโครงการพัฒนาถนนสาย 108 นี้ โดยเฉพาะการขยายไหล่ทางเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรของพี่น้องประชาชนแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนตัวผมเองใช้เส้นทางนี้เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ เพื่อมาพบปะประชาชนทุกสัปดาห์  จึงเข้าใจปัญหาและอุปสรรคของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ตนจะนำปัญหาดังกล่าว เข้าหารือต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนจะเขียนกระทู้ สอบถามไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้า  ให้เร่งพัฒนาอย่างจริงจัง” 

นายสมบัติฯกล่าวต่อว่า….สำหรับโครงการพัฒนาถนนสาย 108 หากทางหน่วยงานในพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อม ตนยินดีที่จะประสานงานเพื่อผลักดันติดตามโครงการอย่างเต็มที่ โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท. และผู้แทนราษฎร เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความปลอดภัย และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายสมบัติฯกล่าว…

ด้านนายวิชา  ประเสริฐศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะ เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสนับสนุนโครงการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่วงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางรวมประมาณ 264.9 กิโลเมตร เพื่อสร้างศักยภาพมาตรฐานและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุในการคมนาคมของประชาชน เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 เป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนทั้ง 2 จังหวัดต้องใช้ร่วมกัน ทั้งในด้านการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าทางการเกษตร รวมถึงประโยชน์ทางกายภาพและความปลอดภัยในชีวิต การรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องส่งไปรักษายังโรงพยาบาลที่จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติจะร้องทุกข์โครงการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่วงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งไปยังอำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย และส่งเรื่องไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนำเข้าแผนพัฒนาจังหวัด โดยนายสมบัติ  ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม่ฮ่องสอน เขต 2 จะมีการติดตามเพื่อนำเรื่องเข้าสู่สภา ให้เกิดการเดินหน้าและการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top