Monday, 19 May 2025
Hard News Team

ศค.จชต.เสริมสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษา “ส่งเสริมการศึกษานอกระบบแบบร่วมมือและบูรณาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

(4 ก.พ. 68) ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษา ภายใต้ โครงการ “ส่งเสริมการศึกษานอกระบบแบบร่วมมือและบูรณาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ใหม่นาโต๊ะขุน ตำบลแป-ระ อำเภอท่าเเพ จังหวัดสตูล และสถาบันศึกษาปอเนาะอุมมุลฮาซานาต ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยมี นายนิกร เซ้งเถียร ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ “สร้างเครือข่ายในการบูรณาการและการสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดสตูลได้ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานฯ โดยผู้บริหารศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ใหม่นาโต๊ะขุน และกิจกรรมสัมมนาแนวทางการสร้างเครือข่าย การนำหลักฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) บูรณาการในการบริหารและการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าว ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายการจัดการศึกษานอกระบบใน จชต. และเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้บริเวณสถาบันศึกษาปอเนาะ อุมมุลฮาซานาต ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล จำนวน 4 ฐาน ได้แก่ 

ฐานที่ 1  มุมการเรียนรู้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ฐานที่ 2  มุมการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงปอเนาะเรา
ฐานที่ 3  Pondok ของฉันฮาฟีเซาะห์
ฐานที่ 4  มุมการศูนย์การเรียนรู้อาชีพสร้างรายได้ของฉัน

โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้บริหารและผู้สอนในสถานศึกษานอกระบบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสงขลา 4 อำเภอ (อำเภอเทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) จำนวน 100 คน จากสำนักงานส่งเสริมการเรียนเรียนรู้และสำนักงานการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาะและศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แนวทางการสร้างความเข้าใจการจัดการศึกษาและการดูแลผู้เรียนของสถาบันศึกษาปอเนาะและศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และให้เยาวชน ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ดำรงชีวิตถูกต้องตามหลักศาสนา มีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ร่วมสร้างสังคมสันติสุขต่อไป

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

UN ปฏิเสธ ไม่เคยกดดันไทยยกเลิก มาตรา 112 ย้ำชัด หน่วยงานที่มีการกล่าวอ้าง ก็ไม่มีอยู่จริง

(4 ก.พ. 68) จากกรณีที่ มีสื่อแห่งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ จาก UN เรียกร้องไทย ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิฯ สากล นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ทางภาคีกลุ่มราชภักดี ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ณ สำนักงาน สหประชาชาติ โดยได้เข้าพบ mr.dip magar ผู้แทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(ohchr) กรณีที่มีข่าวกดดันให้ประเทศไทยยกเลิก กฎหมาย 112 ได้รับคำยืนยันว่า สหประชาชาติไม่มีนโยบายแทรกแซงกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบการปกครองของประเทศไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การที่จะไป ละเมิดหรือคุกคาม เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เช่นเดียวกับประมุขทั่วโลก !!!

เมื่อทางภาคีได้ตรวจสอบหน่วยงาน ตามที่ศูนย์ทนายสิทธิฯอ้าง ว่าเป็นผู้รายงานพิเศษที่ร่วมกันส่งหนังสือกดดันรัฐบาลไทย ยกเลิก 112  ก็ไม่พบหลักฐานว่าเป็นผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด!!!

มักส์เล็งสั่งปิด 'USAID' องค์กรมนุษยธรรมโลก ซัด ไร้ประสิทธิภาพ-ผลาญเงิน-เกินเยียวยา

(4 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและนักธุรกิจชื่อดัง  ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE ได้ประกาศแผนปรับลดขนาดหน่วยงานรัฐ  โดยมีหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการสั่งปิด องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) โดยให้เหตุผลว่าหน่วยงานดังกล่าว "ไร้ประสิทธิภาพและไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

มักส์ โพสต์ในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า กำลังหารือกับกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลหรือ DOGE เรื่องปิดยูเอสเอด เนื่องจาก “เกินเยียวยา” แล้ว และว่าประธานาธิบดีทรัมป์เห็นด้วยว่าควรปิดหน่วยงานนี้

USAID เป็นผู้บริจาคเดี่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้บริจาคความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่สหประชาชาติหรือยูเอ็นติดตามข้อมูลได้ในปี 2567 มากถึงร้อยละ 42 ของความช่วยเหลือทั้งหมด

ก่อนหน้าที่มักส์จะประกาศเรื่องดังกล่าว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 รายของ USAID หลังจากที่พวกเขาพยายามขัดขวางตัวแทนจาก DOGE ของมัสก์ไม่ให้เข้าถึงพื้นที่ควบคุมของหน่วยงานดังกล่าว

USAID ถือเป็นองค์กรบริจาครายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปีงบประมาณ 2023 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เงินช่วยเหลือทั่วโลกรวมกว่า 72,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุมโครงการด้านสุขภาพ น้ำสะอาด การรักษาโรค HIV/AIDS ความมั่นคงด้านพลังงาน และมาตรการต่อต้านการทุจริต โดยคิดเป็น 42% ของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่องค์การสหประชาชาติติดตามในปี 2024

ก่อนหน้านี้ไม่นานหลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง นโยบาย America First ของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการให้ความช่วยเหลือระดับนานาชาติ โครงการสำคัญ เช่น โรงพยาบาลสนามในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่สงคราม และการแจกจ่ายยารักษาโรค HIV อาจถูกยกเลิกเนื่องจากมาตรการลดงบประมาณครั้งนี้

มัสก์คาดการณ์ว่ามาตรการลดงบประมาณดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาทในปีหน้า โดยเขากล่าวหาว่ามีกลุ่มอาชญากรทางการเงินจากต่างประเทศปลอมแปลงตัวตนเป็นพลเมืองสหรัฐฯ เพื่อฉ้อโกงเงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ให้หลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ หรืออธิบายว่าตัวเลข 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้นถูกคำนวณอย่างไร

นอกจากนี้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับการที่มัสก์สามารถเข้าถึงระบบการเงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับหน่วยงานรัฐบาลกลาง และยังมีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนสหรัฐฯ ที่ได้รับเงินสวัสดิการทางสังคมและการคืนภาษี ซึ่งเรื่องนี้ ส.ว. ปีเตอร์ เวลช์ จากพรรคเดโมแครต ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอธิบายว่าเหตุใดมัสก์จึงสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ โดยกล่าวตำหนิมัสก์ว่า 

“นี่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสะท้อนให้เห็นว่าการเงินสามารถซื้ออำนาจในรัฐบาลทรัมป์ได้” 

ในขณะเดียวกัน เมื่อถูกถามเกี่ยวกับบทบาทของมัสก์ โดยเฉพาะการมุ่งทำงานเพื่อตัดลดงบประมาณของรัฐบาล ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า "ผมเห็นด้วยกับเขา เขาช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก แม้ว่าบางครั้งเราอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าเขากำลังทำงานได้ดี เขาเป็นคนฉลาดมาก และมีความมุ่งมั่นในการลดขนาดรัฐบาลกลางของเรา"

‘นายกฯอิ๊งค์’ เผย ‘ทักษิณ’ คุย ‘อันวาร์’ หลายเรื่อง เน้นหารือสถานการณ์ความสงบในเมียนมา

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบนายนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา จะนำผลดีต่อการพูดคุยเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรว่า ก็เป็นการคุยในเรื่องความร่วมมือต่างๆที่ทั้งสองประเทศสามารถสนับสนุนกันได้

“ที่ได้คุยโทรศัพท์กับนายทักษิณ สั้นๆกันเมื่อคืนวันที่ 2 ก.พ. การพูดคุยเน้นในเรื่องของเมียนมา นายอันวาร์ เป็นประธานอาเซียน การดูแลช่วยเหลือเมียนมาเป็นเรื่องที่สำคัญของอาเซียนมากๆ ซึ่งในการประชุมในอาเซียนทุกครั้งจะได้รับการยืนยันว่าอยากให้เมียนมาเกิดความสงบสุข และในเมียนมาเองเขาก็อยากให้เกิดความสงบสุขเช่นกัน ฉะนั้นการเข้ามาคุยกันแบบนี้ทำให้เกิดประโยชน์กับภาครวมของอาเซียน และพัฒนาเรื่องอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่ได้มาคุยกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเหลือกัน และมีอีกหลายเรื่อง แต่การไปรอบนี้มีการพูดคุยเรื่องเมียนมาเยอะหน่อย เห็นนายทักษิณอัพเดทมาอย่างนั้น”

นราธิวาส-แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ.ศรีสาคร

(4 ก.พ. 68) เวลาประมาณ 09.00 น. ได้เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ทะเบียน กฉ-4006 ยะลา ที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของ สภ.ศรีสาคร บ้านซากอ ตำบลศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของ จ.ส.ต.ซุลกิฟลี เจ๊ะมามะ อายุ 32 ปี โดยเมื่อคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯ ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดไว้ในที่จอดรถของบ้านพักส่วนตัวของตนเอง แล้วเข้าไปพักผ่อนในบ้าน ซึ่งมีผู้พักอาศัย คือ จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯ ภรรยา และลูกอีก 2 คน รวม 4 คน ช่วงเช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯได้ขับรถไปส่งลูกโรงเรียน และส่งภรรยาไปทำงานที่โรงพยาบาล จากนั้นนำรถมาจอดไว้หน้า สภ.ศรีสาคร โชคดีที่ระเบิดทำงานขณะที่ไม่มีใครอยู่ภายในรถ คาดว่าผู้ก่อเหตุนำระเบิดมาซุกไว้บริเวณท้ายรถหลังบังโคลนระหว่างซุ้มล้อ เบื้องต้น สภ.ศรีสาคร ได้กั้นบริเวณที่เกิดเหตุ และประสานเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ พร้อมตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่บ้านของ จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯ และบริเวณเส้นทางที่สามารถเข้าออกบ้าน จ.ส.ต.ซุบกิฟลีฯ ต่อไป

ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อทราบเหตุได้ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุในทันที โดยเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. พลโทไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ.ศรีสาคร ภายหลังตรวจสอบที่เกิดเหตุได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลพื้นที่ให้มากขึ้น และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส บุคคลต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โทร.1341 หรือหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดโรงผลิตเหรียญกระษาปณ์ด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

ย้อนกลับไปในยุคโบราณ สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอยู่สองชนิด คือ "เบี้ย"(หอย) กับ "เงิน" 

เบี้ยนั้น อาศัยพวกชาวต่างประเทศ เที่ยวเสาะหาเปลือกหอยลักษณะที่ต้องการตามชายทะเลแล้วเอามาขาย ให้เรารับซื้อไว้ใช้สอย แต่ส่วนเงินนั้นนำเฉพาะตัวโลหะเข้ามาจากต่างประเทศ เอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยาม รูปร่างลักษณะเป็นเงินกลมที่เรียกกันว่า "เงินพดด้วง" ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาโดยตลอด จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและตราประจำของแต่ละรัชกาล 

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้ามาทำหนังสือสัญญา เปิดการค้าขายกับประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2398 ทำให้เกิดการขยายตัวทางการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

เงินที่ชาวต่างประเทศใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะแบนๆ เมื่อมีการค้าขายสินค้ากันจึงมีการนำเหรียญแบนของตนเข้ามาซื้อสินค้ากับชาวสยาม ปรากฏว่าราษฎรไม่ยอมรับ จึงต้องเอาเงินเหรียญมาขอแลกเงินพดด้วงกับทางการ แต่เงินพดด้วงนั้น ช่างของพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งผลิตเงินพดด้วงด้วยมือนั้น สามารถทำได้วันละ 2,400 บาท เป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ การแก้ปัญหาดังกล่าว รัชกาลที่ 4 ท่านทรงให้ราษฎรรับเงินเหรียญฝรั่งไว้ก่อนแล้วนำมาแลกเงินพดด้วงจากท้องพระคลังภายหลัง 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริที่จะเปลี่ยนรูปแบบเงินตราพดด้วงที่ใช้กันมาแต่โบราณ เป็นเงินเหรียญแบนตามแบบสากลนิยม (ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า "เงินแป") เงินเหรียญแบนนี้ สามารถใช้เครื่องจักรผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้คณะทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ จัดซื้อเครื่องจักรผลิตเงินกลับมาด้วย 

โดยก่อนหน้าที่จะสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามานั้น มีเครื่องจักรผลิตเงิน ทดลองใช้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องแรกของไทยนั้น พระนางเจ้าวิคตอเรีย สมเด็จพระบรมราชินีนาถของอังกฤษ ส่งเข้ามาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ 

ครั้นพุทธศักราช 2413 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องใหม่ที่แข็งแรง และมีกำลังการผลิตมากกว่าเดิม และให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ใหม่ขึ้น ทางตะวันออกของประตูสุวรรณบริบาล ใกล้โรงกระษาปณ์เดิม ทรงเสด็จฯ เปิดเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 2419 เครื่องจักรนี้ใช้งานได้ต่อมาอีก 25 ปี 

จากนั้น เมื่อเดือนเมษายน 2444 จึงได้สร้างโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่ ที่ริมคลองหลอด แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2445 โดยสั่งเครื่องจักรจากยุโรป เป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า สามารถผลิตเหรียญกระษาปณ์ได้วันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ ซึ่งสามารถสนองตอบต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากความเจริญทางด้านการค้าขายในสมัยนั้นได้ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และถือเป็นโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

บอร์ดกองทุนดีอี อนุมัติงบ 2 พันล้าน หนุนพัฒนาเทคโนโลยี 3 ด้าน “การใช้ประโยชน์– ความปลอดภัย - พัฒนาบุคลากรดิจิทัล”

(3 ก.พ. 68) บอร์ดกองทุนดีอี เห็นชอบอนุมัติโครงการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอวกาศ พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 2 พันล้านบาท หนุนพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ 3 ด้าน “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ – ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล - การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล”

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) เพื่อเป็นการส่งเสริมในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งยังได้อนุมัติโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอวกาศ (Digital and Space Infrastructure Investment Policies) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวงเงิน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้าน Digital Technology (High Impact & Scalability) “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์” ด้าน Digital Trust & Security “ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล” และด้าน Digital Manpower “การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล” 

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า กรอบนโยบายการให้ทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชน ในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต 

ทั้งนี้ กองทุนดีอีเปิดให้ยื่นแบบคำขอรับทุนส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ผ่านทางระบบยื่นแบบคำขอฯ โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://defund.onde.go.th/

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (6) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จำเป็นหรือไม่...ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร???

(3 ก.พ. 68) ทำไมประเทศไทยจึงต้องมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ เป็นเพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริหารจัดการด้านไฟฟ้าต่าง ๆ กพช. กกพ. กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่า ในแต่ละปี ในแต่ละห้วงเวลา ประเทศไทยต้องใช้ปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าใด และจะต้องเตรียมไฟฟ้าในปริมาณเท่าใดเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าให้ได้ตลอด 24 ชั่วมโมงอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดเลยในทุกฤดูกาล ทุกสภาวะอากาศ ฯลฯ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไม่มีการหยุดพัก จึงจำเป็นต้องมีการสำรองไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอต่อการใช้งานโดยไม่มีการขัดข้องหรือติดขัด ด้วยปริมาณการสำรองที่พอเหมาะพอดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะในการทำกำไรของการประกอบการธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบ จะต้องใช้ สติปัญญา ความสามารถ และความรับผิดชอบ จึงจะสามารถรักษาประโยชน์ของทั้ง รัฐ และองค์กร ตลอดจนประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนไทยได้

เพราะหากการสำรองไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้ากระทบต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะกลายความเสียหายอย่างมากมาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้จนมากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง ก็จะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน เพราะการสำรองไฟฟ้านั้นจะต้องจ่าย  ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ ซึ่งเป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ช่วงเวลที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องทราบดีอยู่แล้ว จากข้อมมูลจากสถิติบันทึกจะช่วยคำนวณเพื่อประมาณการปริมาณความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลา และกำหนดปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่ถูกต้อง ใกล้เคียง และเหมาะสมที่สุดได้ 

‘การสำรองไฟฟ้า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15 % ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภท

2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือ สามารถ สั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 800-1,600 เมกะวัตต์ หรือ อย่างน้อยมากกว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

อย่างไรก็ตาม ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดย กฟผ. ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ ดังนี้ (ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563)
•สเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 180%
•อิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 136%
•โปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%
•เดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%
•เยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%
•เนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%
•สวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการท 92%
•จีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 91%
•ออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%
•สวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%
•มาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 51%

ตัวอย่างของหลาย ๆ ประเทศที่ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร ล้วนแต่มีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศทั้งสิ้น ด้วยการวางแผนและการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น การมี ‘กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin : RM)’ ใน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) อันเป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ หรือกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้ เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นการเอื้อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ในตอนต่อไปจะได้เล่าถึงข้อเท็จจริงของ ‘การสำรองไฟฟ้า’ ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ไม่ว่า ปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่มีอยู่ ตลอดจน เหตุผลและความจำเป็นใน ‘การสำรองไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่ได้คาดคิดหรือนึกถึงมาก่อน

ผู้นำไต้หวัน หมดหวังพึ่ง ‘ทรัมป์’ ชวน 'จีน' หันหน้าพูดคุยสร้างสันติภาพ

(3 ก.พ. 68) ประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ แห่งไต้หวัน ระบุวันนี้ว่า ไต้หวันและจีนจำเป็นต้องหันหน้าพูดคุยกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ หลังบริบทการเมืองโลกเกิด “การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อน” ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณชวนปักกิ่งรอมชอมมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากันต่อไป

ไล่ ซึ่งถูกรัฐบาลจีนตราหน้าว่าเป็น “นักแบ่งแยกดินแดน” พยายามยื่นข้อเสนอขอพูดคุยกับปักกิ่ง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้ยกระดับกดดันไต้หวันทั้งในทางการเมืองและทหารเพื่อบีบให้ไทเปยอมรับในอำนาจอธิปไตยของจีน

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทั้งจีนและไต้หวันต่างก็เผชิญแรงบีบจากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนอกจากจะสั่งรีดภาษีสินค้านำเข้าจีนแล้ว ยังขู่จะใช้มาตรการเดียวกันกับเซมิคอนดักเตอร์นำเข้าซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไต้หวันด้วย

ระหว่างกล่าวปาฐกถาต่อผู้แทนภาคธุรกิจไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีน ไล่ ชี้ว่าไต้หวันและจีนต่างมี “ศัตรูร่วม” ก็คือภัยธรรมชาติ และมี “เป้าหมายร่วม” อยู่ที่การสร้างความอยู่ดีกินดีให้ผู้คนทั้ง 2 ฝั่งช่องแคบ

“ดังนั้น ในห้วงเวลาที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนเช่นนี้ เราทั้ง 2 ฝั่งช่องแคบจึงยิ่งควรที่จะพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันด้วยดี เพื่อให้เกิดสันติภาพ” เขากล่าว

ผู้นำไต้หวันเอ่ยเสริมว่า รัฐบาลของเขาเต็มใจที่จะเปิดเจรจากับจีนบนพื้นฐานของความเท่าเทียมที่ไร้เงื่อนไข และอยากให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าพูดคุยมากกว่าเผชิญหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าอนาคตของไต้หวันมีเพียงประชาชนไต้หวันเท่านั้นที่จะตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนยังไม่ออกมาให้ความเห็นต่อคำพูดของ ไล่ ชิงเต๋อ ทว่าที่ผ่านมาจีนเรียกร้องให้ไต้หวันยอมรับว่าดินแดน 2 ฝั่งช่องแคบคือส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” (One China) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ไล่ และรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ไม่เอาด้วย

ไล่ ยังกล่าวด้วยว่า ไต้หวันไม่ควรมี “ภาพลวงตา” เกี่ยวกับสันติภาพ และจำเป็นต้องแสวงหาสันติภาพผ่านความเข้มแข็งด้วยการเสริมเขี้ยวเล็บของตนเอง และยืนหยัดเคียงข้างรัฐประชาธิปไตยอื่นๆ อย่างสง่าผ่าเผย

“ประเทศจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีอธิปไตย และเพราะมีไต้หวันเท่านั้นจึงมีสาธารณรัฐจีน” ไล่ กล่าว โดยเอ่ยถึงชื่ออย่างเป็นทางการของเกาะไต้หวัน

MOSHI ตอบรับกระแสฟีเวอร์ ‘น้องหมูเด้ง’ เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้

(3 ก.พ. 68) MOSHI ตอบรับกระแสฟีเวอร์ ‘น้องหมูเด้ง’ เปิดตัวคอลเลกชัน Moshi Moshi x MOO DENG ชูคอนเซ็ปต์สินค้าไลฟ์สไตล์ในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ เอาใจกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ

‘บมจ. โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ หรือ MOSHI ผู้นำในธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์รายใหญ่ของประเทศไทย ตอบรับกระแสความฟีเวอร์ ‘น้องหมูเด้ง’ เปิดตัวคอลเลกชัน Moshi Moshi x MOO DENG ลิขสิทธิ์แท้จากสวนสัตว์เขาเขียว ชูคอนเซ็ปต์สินค้าไลฟ์สไตล์ในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ เอาใจกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ พร้อมจัดโปรโมชันพิเศษ เพียงซื้อสินค้าครบ 199 บาทขึ้นไป รับฟรี! พัดหมูเด้ง จำกัด 1 ท่าน ต่อ 1 สิทธิ์ พร้อมเดินหน้าดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านการสมทบทุนโครงการ "หมูเด้ง" ชวนช่วยผู้ประสบอุทกภัยและดูแลสวัสดิภาพเพื่อนสัตว์ฯ จำนวน 500,000 บาท

นายสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ภายใต้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ZPOT)  ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อต่อยอดกระแสความนิยมของ ‘หมูเด้ง’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ผ่านการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ Moshi Moshi x MOO DENG พัฒนาคาแรคเตอร์น้องหมูเด้ง แบบ Officially เพื่อทำสินค้าไลฟ์สไตล์คาแรคเตอร์น้องหมูเด้งออกมาวางจำหน่ายแบบหลากหลาย ครอบคลุมความเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ในคอนเซ็ปต์ราคาย่อมเยา เข้าถึงได้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทุกช่วงวัย และพร้อมตอกย้ำรับกระแสความโด่งดัง เนื่องจากน้องหมูเด้งเรียกว่าเป็นที่ชื่นชอบของทุกเพศทุกวัย โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้าขึ้นมาเพื่อเอาใจกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ

สำหรับ Moshi Moshi x MOO DENG จะมีสินค้าจัดเต็มมากมาย ที่เต็มไปด้วยความน่ารักของน้องหมูเด้ง อาทิ สติ๊กเกอร์ลายสุดคิ้วท์ หมอนไดคัท สายห้อยบัตร กระเป๋านุ่มนิ่ม กระบอกน้ำร้อนเย็น รองเท้าแตะ และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย ในราคาเริ่มต้นเพียง 20 บาท เท่านั้น เหมือนยกน้องหมูเด้งมาไว้ที่นี่ โดยวางเป้าขยายฐานลูกค้าทุกช่วงวัย เริ่มจัดจำหน่ายที่ร้าน Moshi Moshi จำนวน 107 สาขา และช่องทางออนไลน์ของ Moshi Moshi ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Moshi Moshi: https://www.facebook.com/moshimoshi.jp นอกจากนี้ ได้จัดโปรโมชันพิเศษ เพียงซื้อสินค้าครบ 199 บาทขึ้นไป รับฟรี! พัดหมูเด้ง จำกัด 1 ท่าน ต่อ 1 สิทธิ์ สินค้ามีจำนวนจำกัด สิ้นสุด 31 มกราคมนี้ หรือจนกว่าสินค้าจะหมด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ที่ร่วมสมทบทุนในโครงการ "หมูเด้ง" ชวนช่วยผู้ประสบอุทกภัยและดูแลสวัสดิภาพเพื่อนสัตว์ เพื่อสนับสนุนในการดูแลชีวิต และสวัสดิภาพของสัตว์ป่านานาชนิด จำนวน 500,000 บาท โดยมีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทย พร้อมทั้งสนันสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนง โดยคำนึงถึงความสำคัญของการช่วยเหลือในทุกภาคส่วน  ทั้งเพื่อนมนุษย์ สิ่งมีชีวิต  และสิ่งแวดล้อม

“บริษัทฯ ต้องการออกสินค้ามาเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่กำลังชื่นชอบน้องหมูเด้งอย่างมาก จึงได้ร่วมมือกับทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ZPOT) เพื่อขออนุญาตในการพัฒนาคาแรคเตอร์น้องหมูเด้งแบบ Officially เพื่อทำสินค้าไลฟ์สไตล์คาแรคเตอร์น้องหมูเด้งออกมาจำหน่าย โดยได้กระแสตอบรับดีมาก เพราะน้องหมูเด้งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือกลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มครอบครัว เรียกได้ว่าเหมาะกับทุกคน แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวก็มาเหมาในสาขาท่องเที่ยว เพราะจุดเด่นของ MOSHI คือการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ในคอนเซ็ปต์ราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ ยิ่งทำให้ถูกใจกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี” นายสง่า กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top