Monday, 19 May 2025
Hard News Team

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (8) : ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิต’ กับ ‘โรงไฟฟ้าเอกชน’ ความโชคดีของคนไทยที่ ‘กฟผ.’ ไม่ถูกแปรรูปเป็น ‘บริษัทมหาชน’

(4 ก.พ. 68) ตอนนี้จะได้เล่าถึงเรื่องของ ‘โรงไฟฟ้า’ แต่เริ่มเดิมทีนั้น ‘กิจการไฟฟ้า’ ของไทยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของรัฐมาโดยตลอด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยแต่เดิมเพียงผู้เดียวคือ ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)’ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ด้วยการรวมหน่วยงาน ด้านการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน มีฐานะเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

โดย ‘กฟผ.’ มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน ด้วยการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งประเทศใกล้เคียง และดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนงานอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกิจการของ ‘กฟผ.’ โดยมีนโยบายหลักคือ การผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงเชื่อถือได้ และราคาเหมาะสม กฟผ. ทำหน้าที่เป็นทั้ง ผู้ผลิต และผู้รับซื้อไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ. โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าได้เอง ราว 34% ส่วนที่เหลือรับมาจาก (1)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 34% (2)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer : SPP)’ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) 19% และ (3)นำเข้าจากต่างประเทศอีก 13%

ทั้งนี้ ‘โรงไฟฟ้าเอกชน’ เกิดจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2533 ให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศและช่วยพัฒนาตลาดทุน ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลมีนโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีมติ ครม.เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. กำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าประเทศไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของ IPP และจะต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537

โดย กฟผ. ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้รับซื้อไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ. ปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าได้เองราว 34% ส่วนที่เหลือก็จะรับมาจาก (1)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) ราว 34% (2)ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer : SPP)’ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 เมกะวัตต์ (MW) ราว 19% และ (3)นำเข้าจากต่างประเทศอีกราว 13% นอกจากธุรกิจ ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้รับซื้อไฟฟ้าแล้ว กฟผ. ยังทำธุรกิจด้าน วิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง, เดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า, บำรุงรักษาระบบส่ง, โทรคมนาคม (โครงข่ายโทรคมนาคมเส้นใยแก้วนำแสง, วงจรช่องสัญญาณโทรคมนาคมในประเทศและต่างประเทศ, Internet Protocol-Multi Protocol Label Switching (IP-MPLS)) และ วัตถุพลอยได้ (เถ้าลอยลิกไนต์, เถ้าก้นเตาลิกไนต์ และยิปซัมสังเคราะห์)

แต่ นับว่า เป็นความโชคดีของพี่น้องประชาชนคนไทยที่การแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ของ ‘กฟผ.’ ไม่ประสบความสำเร็จ (ตามแผนพัฒนาพลังงานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ที่กำหนดให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์การและการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2535 เรื่องแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ.) จึงไม่ถูกกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับ ปตท. แม้ว่า รัฐยังคงถือหุ้นใหญ่ก็ตาม เพราะการแปรรูปรัฐวิสากิจเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) นั้น ทำให้วัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจการดั้งเดิมซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อบริการสาธารณะหายไป เพราะ บริษัทจำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทต่างมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจการเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด และจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ตัวอย่าง อาทิ ในอดีต เมื่อครั้ง ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจก่อนการแปรรูปนั้น การปรับขึ้นลงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก เมื่อราคาน้ำมันขึ้น ปตท.จะเป็นผู้ค้าน้ำมันรายสุดท้ายที่ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน ในขณะที่ราคาน้ำมันลง ปตท.จะเป็นผู้ค้าน้ำมันรายแรกที่ประกาศลดราคาน้ำมัน แต่ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันทุกรายมักจะรอการประกาศขึ้นและลงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกจาก บริษัทปตท. (มหาชน) ในฐานะบริษัท (มหาชน) ผู้นำตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ กฟผ. ไม่ได้ถูกแปรรูป จึงสามารถให้บริการสาธารณะ และมีบทบาทในการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ โดยยังคงสร้างรายได้และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แม้จะยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบ้างเพื่อความมั่นคงในบริการขั้นพื้นฐานก็ตาม ไม่เช่นนั้นแล้ว พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าก็อาจประสบปัญหา ‘ค่าไฟฟ้า’ ราคาแพง ไม่สามารถสนองนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือประชาชนได้เช่นที่ กฟผ. แบกรับภาระหนี้ร่วมหนึ่งแสนล้านบาทจากการตรึง ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยจนทุกวันนี้

รายชื่อมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์งานวิจัยวิทยาศาสตร์

(4 ก.พ. 68) ส่องศักยภาพ มหาวิทยาลัยจีน ที่กำลังมาแรงอย่างมาก หลังพบติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ถึง 8 แห่ง ที่มีการมีการตีพิมพ์งานวิจัยวิทยาศาสตร์มากที่สุดในโลก ในกลุ่มสาขา Physical Sciences and Engineering ซึ่งเผยแพร่ในวารสารวิจัยช่วงปี 2019-2022 จากการจัดอันดับของ CWTS Leiden Ranking 2024 

สำหรับ 10 อันดับแรก มีมหาวิทยาลัยใดบ้าง ไปติดตามกันได้เลย

คาดปี 68 ไทยมีอินฟลูเอนเซอร์ทะลุ 3 ล้าน หน้าใหม่วันละ 2,740 คน แบรนด์จับตา เงินโฆษณาพุ่ง

(4 ก.พ. 68) MI GROUP เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทย โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยจะแตะเกือบ 3 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนจากปีก่อน ซึ่งคิดเป็น 4.5% ของประชากรไทย สะท้อนถึงความนิยมอาชีพนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีคนไทยหันมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เฉลี่ยวันละเกือบ 2,740 คน หรือประมาณ 114 คนต่อชั่วโมง

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP เปิดเผยว่า สื่อดิจิทัลยังคงเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและการตลาดในปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 38,938 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน และครองสัดส่วนถึง 45% ของเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดทั้งหมด 

ที่น่าสนใจคือ 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลจะถูกใช้ไปกับ "อินฟลูเอนเซอร์" บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของครีเอเตอร์ในตลาดไทย ที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้เพื่อเพิ่มยอดขายโดยตรงมากกว่าการสร้างแบรนด์ 

MI GROUP ประเมินว่าการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมาจากกลุ่ม Micro และ Nano อินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้จริง พ่อค้า แม่ค้า นักขาย รวมถึงมืออาชีพและสมัครเล่นที่ทำ Affiliate Marketing ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

นอกจากนี้ ตลาดไทยยังให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์มากกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้งบประมาณในส่วนนี้มากเป็นพิเศษ โดยเม็ดเงินที่ลงไปในอินฟลูเอนเซอร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลทั้งหมด 

สรุปแล้ว วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมกับบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของสื่อดิจิทัลที่ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อและการโฆษณา

ทรัมป์เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ปักกิ่งเอาคืนหนักเก็บ 15% พร้อมคุมส่งออกแร่หายาก

(4 ก.พ. 68) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โดยมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 00:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของวันที่ 4 ก.พ.โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าจีนไม่จริงจังในการสกัดกั้นการนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นตั้งต้นสารเสพติดที่สร้างปัญหาในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน

ส่งผลให้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที กระทรวงการคลังของจีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

นอกจากการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว จีนยังเปิดฉากโจมตีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มสอบสวนการผูกขาดของ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google พร้อมทั้งเพิ่มบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Illumina บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ เข้าใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรของจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากสำคัญ เช่น ทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม และโมลิบดีนัม อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่

สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 30 วันเพื่อแลกกับมาตรการคุมเข้มชายแดนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มภาษีจีนอีกหากจีนไม่หยุดการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจา

การปะทะกันทางเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทันที โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้ลดลงตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เตือนว่าการตอบโต้ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในรอบใหท่ และสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีต่อจีนอีกหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้

ศึกใหญ่ของ ‘อีลอน มัสก์’ กับ ปฏิบัติการขุดรากถอนโคน USAID องค์กรที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือก่อการร้ายของรัฐบาลเงา?

(4 ก.พ. 68) เกิดอะไรขึ้นในอเมริกา? เมื่อ Elon Musk เปิดฉากไล่ล่า USAID

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองและนโยบายต่างประเทศไปตลอดกาล เมื่อ Elon Musk ประกาศสงครามกับ USAID (United States Agency for International Development) องค์กรที่มีงบประมาณมหาศาลและถูกกล่าวหาว่าเป็น เครื่องมือแทรกแซงทางการเมืองของฝ่ายซ้าย และมีส่วนพัวพันกับการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

USAID คือใคร? ทำไมถึงถูกโจมตีว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย?

USAID ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดย John F. Kennedy โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศยากจน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา USAID ถูกกล่าวหาว่ากลายเป็นแขนขาของอำนาจเงาภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใช้เงินภาษีของประชาชน แทรกแซงการเมืองโลก, สนับสนุนการล้มรัฐบาล และส่งเสริมแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่ง

มีรายงานว่า USAID ให้เงินสนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิวัติสี (Color Revolutions) ในประเทศต่างๆ เช่น อาหรับสปริง, ยูเครน, เวเนซุเอลา และแม้แต่กลุ่มเคลื่อนไหวในฮ่องกง

ที่ร้ายแรงกว่านั้น Middle East Forum (MEF) ได้เปิดเผยว่า USAID อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งผ่านเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ไปยังกลุ่มที่เชื่อมโยงกับก่อการร้าย เช่น Hamas และองค์กรหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง

คำถามคือ ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง เงินภาษีของชาวอเมริกันกำลังถูกใช้เพื่อสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่โจมตีพันธมิตรของอเมริกาเองหรือไม่?

Musk กับปฏิบัติการปิดฉาก USAID – การรื้อถอนรัฐลึก?

Musk ในฐานะหัวหน้าของ Department of Government Efficiency (DOGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยทรัมป์ กำลังไล่ล่าหลักฐานที่ชี้ว่า USAID เป็นแหล่งเงินทุนขององค์กรหัวรุนแรงและเครือข่าย NGOs ฝ่ายซ้ายสุดโต่ง

การเข้ายึดอำนาจของ USAID เริ่มต้นเมื่อทีมของ Musk พยายามเข้าไปตรวจสอบเอกสารลับใน SCIF (Sensitive Compartmented Information Facility) ซึ่งเป็นห้องข้อมูลลับสุดยอดของหน่วยงาน แต่ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ USAID

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ การปลดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับสูงของ USAID สองคนออกจากตำแหน่งทันที ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า USAID กำลังปกปิดอะไรอยู่?

Musk กล่าวว่า

> “ผมได้หารือกับทรัมป์อย่างละเอียด และเขาเห็นพ้องว่าควรปิดมันลง ผมเช็คกับเขาหลายครั้ง และเขาก็ยืนยันคำตอบเดิม”

> “USAID คือกองทัพหนอน ไม่มีแอปเปิลอยู่เลย มันต้องถูกกำจัด”

Musk ย้ำว่าการปิด USAID ไม่ใช่แค่เรื่องของประสิทธิภาพการใช้เงิน แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ

USAID ถูกปิดตาย – เกมอำนาจของ Musk และ Trump?

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการบุกเข้าไปของ DOGE เว็บไซต์ของ USAID และบัญชี X ขององค์กรก็ถูกลบออกจากระบบ

นี่หมายความว่าอะไรกันแน่?

1. USAID ถูกยุบอย่างเป็นทางการ? หรือเป็นเพียงการ “รีแบรนด์” เพื่อให้เข้ากับนโยบายของทรัมป์?

2. มีเอกสารอะไรอยู่ใน SCIF? และทำไม USAID ถึงปฏิเสธไม่ให้ Musk เข้าไปตรวจสอบ?

3. เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ USAID ลาออกกันเป็นจำนวนมาก นี่คือสัญญาณของการล่มสลายของเครือข่าย NGOs ฝ่ายซ้ายหรือไม่?

การที่ USAID ถูกปิดตัวลงโดยคำสั่งของทรัมป์ และได้รับการผลักดันโดย Musk แสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารชุดนี้กำลังจัดการกับองค์กรที่พวกเขามองว่าเป็นภัยต่ออเมริกา

Musk กำลังทำในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำ?

ในอดีต มีข้อกล่าวหามากมายว่า USAID และ NGOs ในเครือ ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อแทรกแซงประเทศอื่น และสนับสนุนขบวนการที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง

แต่ ไม่มีใครเคยกล้าจัดการกับพวกเขาอย่างจริงจัง

Musk อาจเป็น คนแรกที่กล้าเผชิญหน้ากับเครือข่ายนี้ และเปิดโปงความจริงที่ถูกปกปิดมานาน

คำถามสำคัญคือ Musk กำลังเป็นฮีโร่ที่กำจัดองค์กรที่ทุจริต หรือเขากำลังกลายเป็นผู้ควบคุมอำนาจของรัฐลึกแทน?

อนาคตของ USAID และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร?

หาก USAID ถูกปิดจริง อเมริกาจะยังสามารถคงบทบาทการเป็นมหาอำนาจโลกได้หรือไม่?

1. นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากการแทรกแซงผ่าน NGOs ไปสู่การใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจแทน

2. ประเทศที่เคยพึ่งพาเงินทุนจาก USAID เช่น ยูเครน และไต้หวัน อาจได้รับผลกระทบหนัก

3. NGOs ฝ่ายซ้ายทั่วโลกอาจสูญเสียแหล่งเงินสนับสนุนหลัก และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ

บทสรุป: Musk คือชายที่กำลังเปลี่ยนโลก?

สิ่งที่ Musk กำลังทำ อาจถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นช่วงเวลาที่อำนาจของรัฐลึกถูกท้าทายอย่างแท้จริง

หาก Musk ทำสำเร็จ เขาจะกลายเป็นบุคคลที่เปิดโปงเครือข่าย NGOs ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก

หากเขาล้มเหลว เขาอาจถูกโจมตีจากกลุ่มอำนาจที่มองว่าเขากำลังทำลายกลไกสำคัญของรัฐ

นี่เป็นสงครามของ Musk และทรัมป์กับเครือข่ายรัฐเงาจริงหรือไม่? หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เกมอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21?

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงประเด็นให้การสนับสนุนยูเครนเพื่อสู้ศึกรัสเซีย

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขายังคงต้องการบรรลุข้อตกลงกับยูเครนในการสนับสนุนสู้ศึกรัสเซียแต่ต้องเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ยูเครน ต้องอนุมัติการเข้าถึงแร่หายาก  (Rare Earth) ภายในประเทศ

ขณะผู้คุยกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ ทรัมป์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐส่งความช่วยเหลือยู่เครนทางด้านการททหารและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศพันธมิตรใดๆ ในยุโรป พร้อมเสริมว่า “เรากำลังมองหาข้อตกลงที่ยูเครนจะจัดหาแร่ธาตุหายากและทรัพยากรอื่น ๆ ให้แก่เรา”  

เขายังเผยว่า ทางการยูเครนแสดงความพร้อมที่จะทำข้อตกลงเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง  

“ผมต้องการให้แน่ใจว่าเรามีแร่ธาตุหายากอย่างเพียงพอ เรามีงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยูเครนมีทรัพยากรเหล่านี้ในปริมาณมาก และพวกเขายินดีที่จะร่วมมือกับเรา” ทรัมป์กล่าว  

แม้ก่อนหน้านี้เขาเคยให้คำมั่นว่าจะเร่งยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ทรัมป์ระบุว่าการเจรจากำลังดำเนินไป โดยกล่าวว่า “เรามีความคืบหน้าอย่างมากในเรื่องรัสเซียและยูเครน รอดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะยุติสงครามที่ไร้เหตุผลนี้ให้ได้”  

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ย้ำเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า การเจรจาใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ไม่มียูเครนอยู่ในวงหารือถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้  

“พวกเขาอาจมีความสัมพันธ์ในแบบของตนเอง แต่หากจะพูดถึงยูเครนโดยไม่มีเรา นั่นเป็นอันตรายสำหรับทุกฝ่าย” เซเลนสกีกล่าว  

ทั้งนี้ เขาระบุว่าทีมงานของเขาได้มีการติดต่อกับรัฐบาลทรัมป์แล้ว แต่เป็นเพียงการหารือในระดับเบื้องต้น และคาดว่าจะมีการพบปะกันโดยตรงในเร็ว ๆ นี้เพื่อกำหนดรายละเอียดของข้อตกลงต่อไป

ครม. ไฟเขียวรถไฟความเร็วสูง โคราช-หนองคาย 357 กม. ขณะที่ นายกฯ เร่งเฟสแรก กทม.- โคราช หลังสร้างช้ากว่ากำหนด

(4 ก.พ. 68) ครม. อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเฟส 2 โคราช-หนองคาย 357 กม. จ่อเชื่อมรถไฟลาวที่เวียงจันทน์ทะลุถึงจีน คาดเสร็จปี 73 ขณะที่ นายกฯ เร่งรัดเฟสแรก กทม.- โคราช 253 กม. หลังสร้างช้ากว่ากำหนด 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ประจำปี 2568 กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ขอเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 68-75) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม2560 ที่อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. -หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 1) กทม.- นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 60-63) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวมร้อยละ 35.74 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และ (5) สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบฯ 68 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบฯ 75 (รวม 8 ปี)

ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า - ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) 

สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 13.23 ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้ง คกก.การรถไฟฯ มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ เลขาฯ ครม. ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว และให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว 

จากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ดำเนินการตามความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ก่อนดำเนินการต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาด้วย โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘เอกนัฏ’ นำ 6 หน่วยงานรัฐ-เอกชนเปิดศูนย์บริการรัฐแบบเบ็ดเสร็จ ปักหมุด ‘อมตะซิตี้’ ชลบุรี เพิ่มศักยภาพออกใบอนุญาตรวดเร็ว - โปร่งใส

(4 ก.พ. 68) 6 หน่วยงานรัฐ จับมือ กลุ่มอมตะ ร่วมเปิดศูนย์ “Government All-Service Center” ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มุ่งยกระดับการให้บริการครบวงจร กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ลดขั้นตอน อุปสรรคในการขอใบอนุญาตต่างๆ เพิ่มความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมดึงนักลงทุนสู่ฐานผลิตสำคัญของประเทศ 

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. ) และกลุ่มอมตะ  ร่วมพิธีเปิดศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จให้บริการผู้ประกอบการแบบครบวงจร (Government All-Service Center ) อย่างเป็นทางการและเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่จัดตั้งศูนย์ฯ นี้  โดยมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า   การดำเนินงานของศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร  (Government All-Service Center )   เป็นความร่วมมือของ  6  องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  สำนักงานส่งเสริมการลงทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. ) และกลุ่มอมตะ  เพื่อยกระดับการให้บริการ อำนวยความสะดวก ต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้ามาติดต่อหน่วยราชการ สามารถใช้บริการผ่าน ศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จฯ  ทั้งในด้านการขอใบอนุญาต การยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ การขออนุญาตนำเข้า และส่งออก เป็นต้น  ที่จะครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ EEC  ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งแรกที่ จัดตั้ง ใน จ.ชลบุรี โดยจะเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมจำนวนมาก ดังนั้นศูนย์ฯ จะเป็นเครื่องมือ และกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการลงทุน เพื่อให้มีความพร้อมในทุกๆด้าน นับเป็นการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจใหม่" ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทย มีความสะอาด สะดวก และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น จึงเป็นก้าวสำคัญในการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่เข้ามาติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ลงทุน จ.ชลบุรี 

“ ความร่วมมือภาครัฐ และเอกชนในครั้งนี้ เป็นการยกระดับบริการให้กับผู้ประกอบการที่สามารถลดระยะเวลากับหน่วยราชการในขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ ใน EEC  เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิต ในการวางระบบการบริหารจัดการด้านการติดต่อหน่วยงานราชการให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการ” 

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเปิดศูนย์บริการแห่งนี้ว่า  “การจัดตั้งศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ “ เป็นกลไกที่สำคัญ ที่จะเอื้อต่อการลงทุน  เพราะพื้นที่การลงทุนในภาคตะวันออก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทั้งการนำเข้า และส่งออกสินค้า นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ดังนั้นการอำนวยความสะดวก ในด้านการขอใบอนุญาตต่าง ๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการ ให้สอดรับกับภาวะการแข่งขัน และยังคงรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้ 

“Government All-Service Center” ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน   เป็นการผนึกกำลังร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการอนุมัติ และอนุญาต จากหน่วยราชการที่มีประสิทธิภาพ สู่การพัฒนาประเทศในยุคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัยอย่างแท้จริง.”นายวิกรม กล่าว

นายพรรษา ใจชน ผู้จัดการฝ่ายประสานงานราชการและนิติกรรม บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารศูนย์บริการราชการ Government All-Service Center เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ฯ ว่า อมตะมุ่งเน้นการให้บริการและรองรับกิจกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อสอดคล้องกับปรัชญา “All Win” ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอมตะ

“ปัจจุบันศูนย์บริการราชการ พร้อมให้บริการผ่าน 6 หน่วยงานหลัก และในอนาคต กลุ่มอมตะมีแผนขยายการให้บริการเพิ่มเติม โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมเข้ามาให้บริการภายในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายพรรษา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 800 ราย เข้าดำเนินธุรกิจอยู่ในพื้นที่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนรองรับนักลงทุนใหม่ที่เล็งเห็นศักยภาพของอมตะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้เติบโตเป็นศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต

"จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีนไม่เคยพูด หรือมีคำพูดในลักษณะตำหนิทางการไทย จึงควรหยุดการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว"

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า การเยือนไทยของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีนเป็นการประสานงานในกรอบความร่วมมือของหน่วยงานความมั่นคงของทั้งสองประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่ผู้ประสานงานหลักของการเยือนดังกล่าว จึงไม่ทราบรายละเอียด และสำหรับกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อความว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีนตำหนิทางการไทยนั้น จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีน ไม่เคยพูด หรือมีคำพูดในลักษณะดังกล่าว จึงควรหยุดการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเองได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือในเวทีระหว่างประเทศในทุกระดับมาโดยตลอด และพร้อมให้ความร่วมมือ รวมถึงการประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

'หมอเบียร์' รพ.แม่สอด จี้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา 'ศูนย์ผู้อพยพ' หลังเบียดบังเวลาดูแลคนไข้ ลั่น! คนไทยชายแดนเสียสละมากพอแล้ว

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) แพทย์หญิงณัฐกานต์ ชื่นชม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nuttagarn Chuenchom ระบุว่า ผู้บริหารบอกว่าให้หมอเบียร์รับตรวจเคสวัณโรคกับเอชไอวีในศูนย์อพยพ เพราะ รพช. ไม่สามารถดูแลได้ จะให้รถโรงพยาบาลไปรับคนไข้เอามาให้ตรวจที่แม่สอด ..โดยไม่ดูภาระงานที่ทำอยู่ตอนนี้เลย

ไม่ผิดคาดนะ ที่จะเป็นแบบนี้ เบียร์คิดมาหลายวันแล้ว .. ให้เวลาอีกครึ่งวัน ถ้าผู้บริหารยังไม่เปลี่ยนแนวคิด จะไปเขียนใบลาออกราชการวันนี้แหละ อายุราชการ 20 ปีก็อุทิศตนมามากพอละ ไม่มีวินาทีไหนเลยที่ไม่ทำเพื่อผู้อื่น

บอกอยู่ตลอดว่าศูนย์อพยพเป็นเรื่องของประเทศไทย ไม่ใช่สาธารณสุขท้องถิ่น คนไทยชายแดนเสียประโยชน์มาเยอะแล้ว ได้รับบริการช้า เสียเวลารอนาน ยังต้องแบ่งหมอของพวกเขาไปให้คนอื่นอีกหรอ ส่วนกลางโน่นต้องมาจัดการ

ไม่ทนอีกต่อไป.. ลาก่อนละค่ะ

หมอเบียร์ ยังโพสต์เพิ่มเติมว่า เรื่องของการจัดการค่ายผู้อพยพไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุขท้องถิ่น มันเป็นเรื่องระดับชาติ เป็นเรื่องการจัดการของรัฐบาล การแก้ไขกฎหมาย การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศเดิม

ความเห็นของเบียร์คือต้องจัดบุคลากรอีกชุดหนึ่งเพื่อมาดูแลค่ายอพยพ ในช่วงเร่งด่วน แนะนำให้เขาหางบประมาณมาจ้างหมอเมียนมากลุ่มเดิมที่เคยดูแลอยู่แล้วระหว่างรองบประมาณใหม่ แต่เค้าไม่ทำแบบนั้น เค้ามาแบ่งหมอจากโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปไปออกตรวจ จำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดเท่ากับประชากรหนึ่งอำเภอเลย

ในระยะยาวต้องพูดคุยเรื่องการแก้กฎหมายผู้ลี้ภัยให้ถูกต้อง และมีการผลักดันกลับประเทศเดิม

คนไทยชายแดนเสียสละมามากพอแล้ว ทุกวันนี้บุคลากรก็ไม่พอ คนไข้ก็ต้องรอนาน รอทุกอย่างทั้งรอหมอและรอคิวในการตรวจ บางคนเป็นมะเร็งก็ต้องรอการวินิจฉัยและการรักษา แล้วจะมาให้เค้าเสียสละเพิ่มโดยการแบ่งหมอของพวกเขาไปให้คนอื่นอีกหรอคะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้มีผู้เข้าไปให้กำลัง และแสดงความเห็นใจหมอเบียร์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับเห็นด้วยกับการเรียกร้องแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจาเป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ให้หมอมาแบกรับภาระเองทั้งหมด ไม่งั้นเราก็จะต้องรับภาระตรงนี้ไปเรื่อย ๆ แบบเตี้ยอุ้มค่อม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top