Tuesday, 20 May 2025
Hard News Team

‘สรรเพชญ’ จี้ รบ.เร่งโอนเงินเยียวยาน้ำท่วมช่วย ปชช. พร้อมเตรียมยื่นสารพัดปัญหาในสงขลาเข้า ครม. สัญจร

‘สรรเพชญ’ เรียกร้องรัฐบาลเร่งโอนเงินเยียวยาน้ำท่วม พร้อมเตรียมยื่นปัญหาในสงขลาเข้าที่ประชุม ครม. สัญจรเพื่อดันเมืองเก่าสงขลาสู่เมืองมรดกโลก

(5 ก.พ. 68) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโอนเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย หลังพบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามที่รัฐบาลประกาศไว้

นายสรรเพชญระบุว่า ตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของภาคใต้ รวมถึงสงขลา ประชาชนได้รับผลกระทบหนัก ทั้งบ้านเรือนเสียหาย รายได้ลดลง และภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท แต่กระบวนการจ่ายเงินล่าช้า ส่งผลให้ประชาชนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

“รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการโอนเงินเยียวยาโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และหากล่าช้าออกไป อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ขณะนี้ หน่วยงานในพื้นที่แจ้งว่าต้องรอการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่ธนาคารออมสินจะสามารถโอนเงินได้ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการประชุม ครม. ล่าสุด ยังไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าพิจารณา ทำให้ประชาชนต้องรอการช่วยเหลือต่อไปโดยไม่มีกำหนด" นายสรรเพชญกล่าว

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้เตรียมนำเสนอปัญหาในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา ในการประชุม ครม. สัญจร วันที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณห้าแยกน้ำกระจาย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเฉพาะ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณแยกน้ำกระจาย จังหวัดสงขลา ทางหลวงหมายเลข 407 ตอน ควนหิน - เขารูปช้าง ระหว่าง กม.21+300 - กม.21+800 ระยะทาง 0.500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่ตนได้ผลักดันในสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด ทั้งการปรึกษาหารือต่อประธานสภาฯ การตั้งกระทู้ถามกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมลงพื้นที่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของประชาชนได้และสามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าสงขลา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เมืองเก่าสงขลาได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ในอนาคต

นายสรรเพชญเน้นย้ำว่า เมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของจังหวัด เช่น หาดสมิหลา ซึ่งมีน้ำทะเลคุณภาพดีที่สุด ดังนั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างรายได้ให้ประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้ นายสรรเพชญยืนยันว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาและผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรมต่อไป

ชาวเมียนมา แห่เติมน้ำมันล้นทะลักล้นปั๊ม หลัง รบ.ไทย ตัดไฟฟ้า - ห้ามส่งออกน้ำมัน

(5 ก.พ.68) จากกรณีรัฐบาลดำเนินมาตรการตัดไฟเมียนมา 5 จุด เนื่องจาก สมช.ได้รวบรวมข้อมูลทุกฝ่ายทุกส่วนแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีประชาชนทั้งหมด 557,500 กว่าคดี รวมเงิน 86,000 กว่าล้านบาท แต่ละวันมีความเสียหาย 80 ล้านบาท ถือเป็นการสรุปชัดเจนจากหน่วยงานด้านข่าวที่เกี่ยวข้องว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพี่น้องประชาชน และทั่วโลก จึงมีมติให้ตัดไฟ ตัดอินเทอร์เน็ต ตัดน้ำมัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น.ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า ประชาชนชาวเมียนมาต่างนำรถออกมาเติมน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รถติดยาวเป็นกิโล โดยทาง เพจ Know Shan State ได้โพสต์ภาพประชาชนชาวเมียนมาออกมาเติมน้ำมันรถกันล้นปั๊มน้ำมันในเมืองท่าขี้เหล็ก โดยระบุข้อความว่า “ประชาชนในเมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามแม่สายของไทย มาต่อแถวรอเติมน้ำมันกันตั้งแต่เช้า หลังไทยงดจำหน่ายให้ โดยเช้านี้ไทย ได้ตัดไฟ ตัดเน็ต งดจำหน่ายน้ำมันให้กับประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ”... 

ทั้งนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัวโดยน้ำมันเบนซินจากเดิมที่ราคาประมาณ 45 บาท/ลิตร ราคาพุ่งสูงไปถึงประมาณ 70 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลเดิมราคา 35 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท และคาดว่าปริมาณน้ำมันที่มีอยู่จะหมดภายใน 2-3 วัน

ทรัมป์เล็งสั่งยุบกระทรวงศึกษาฯ คืนอำนาจมลรัฐ หวังลดงบประมาณ แต่ติดด่านสภาคองเกรส

(5 ก.พ. 68) สื่อสหรัฐรายงานว่า ทำเนียบขาวเตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งเพื่อยุบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่สามารถยุบกระทรวงศึกษาธิการได้ตามใจชอบ หากไม่ได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสเสียก่อน

สำหรับหน่วยงานด้านการศึกษาสหรัฐเคยก่อตั้งขึ้นในปี 1867 โดยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน แต่ในขณะนั้นมีหน้าที่้เพียงรวบรวมข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับโรงเรียนทั่วประเทศ กระทั่งในปี  1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งพรรคเดโมแครต ได้สั่งก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ (United States Department of Education)ขึ้น โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารความช่วยเหลือด้านการศึกษาของรัฐบาลกลาง และช่วยประธานาธิบดีบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่จำเป็นและสมควรได้รับ กล่าวคือ เป็นหน่วยงานที่คอยกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วสหรัฐ มีหน้าที่ดูแลการจัดสรรเงินทุนสำหรับโรงเรียนของรัฐ บริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนักเรียนที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐในสหรัฐฯ มีหน่วยงานด้านการศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาและงบประมาณในพื้นที่ของตน แต่ไม่สามารถกำหนดหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตามที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ เขาต้องการให้แต่ละมลรัฐมีอิสระในการจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่า หากแต่ละมลรัฐต้องบริหารการศึกษาเอง อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากงบประมาณที่มีในแต่ละท้องถิ่นไม่เท่ากัน

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ทรัมป์หาเสียงเลือกตั้ง เขาเคยกล่าวในหลายครั้งว่า "อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจะทำในช่วงเริ่มต้นบริหารคือการปิดกระทรวงศึกษาธิการในวอชิงตัน ดี.ซี. และโอนงานด้านการศึกษาทั้งหมดกลับไปยังหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐต่างๆ"

ทรัมป์ยังกล่าวว่า " “ในสังคมอเมริกันโดยรวมแล้ว เราทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับระบบการศึกษาของรัฐ แต่เราแทนที่จะอยู่บนสุดของรายชื่อการศึกษาโลก เรากลับอยู่ล่างสุดอย่างแท้จริง ... เดาสิเพราะอะไร"

จากข้อมูลในปี 2024 ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ได้จัดโปรแกรมประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แก่นักเรียนมากกว่า 50 ล้านคนในโรงเรียนรัฐบาลประมาณ 98,000 แห่งและโรงเรียนเอกชน 32,000 แห่ง นอกจากนี้ยังให้ ทุนการศึกษา เงินกู้ และความช่วยเหลือด้านการทำงานและการเรียนแก่นักเรียนระดับหลังมัธยมศึกษาจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน

ด้าน เบ็กกี้ พริงเกิล ประธานสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญ ออกแถลงการณ์เตือนเมื่อวันอังคารว่า คำสั่งที่กำลังจะออกของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านั้นในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เคยมีความพยายามยุบกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยกรมประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล (DOGE) ซึ่งก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ การตรวจสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากพนักงานหลายสิบคนของกระทรวงฯ ถูกสั่งพักงานตามนโยบายของทรัมป์ ที่ต่อต้านโครงการสนับสนุนความหลากหลาย (DEI) คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดจำนวนพนักงานและโครงการของรัฐบาลในหน่วยงานต่างๆ

เมียนมาลุยสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 11 แห่ง อัดกำลังผลิตทะลุ 1,026 เมกะวัตต์

(5 ก.พ.68) สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่าปัจจุบันเมียนมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมากำลังเร่งรัดโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าอันจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการพัฒนาไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาระบุว่า 4 โครงการอยู่ในเนปิดอว์ 3 โครงการอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการอยู่ในภูมิภาคพะโค และ 1 โครงการอยู่ในรัฐฉาน คิดเป็นกำลังการผลิต 530 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (เครื่องยนต์ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์และภูมิภาคมาเกว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุนของท้องถิ่นและต่างประเทศ

รายงานเสริมว่าเมียนมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์

ทรัมป์เพ่งเล็ง 'Shein-Temu' สั่งไปรษณีย์สหรัฐฯ หยุดรับพัสดุจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว

(5 ก.พ. 68) ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า จะระงับการรับพัสดุขาเข้าจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว โดยไม่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยในเบื้องต้น USPS ยืนยันว่า การจัดส่งจดหมายและพัสดุทั่วไปจากทั้งสองประเทศยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับพัสดุขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน/คน หรือที่เรียกว่า “de minimis” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

การยกเลิกข้อยกเว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มชื่อบริษัทอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง 'ชีอิน' (Shein) และ 'เทมู' (Temu) ในรายชื่อบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS)

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ก็อาจตัดสินใจไม่เพิ่มชื่อทั้งสองบริษัทในรายชื่อดังกล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยการกำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเตือนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท อิงค์ (Alphabet Inc.)

ทั้งนี้ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจาก DHS, เทมู หรือชีอิน ต่อรายงานข่าวดังกล่าว

‘วิทยา’ ติดตามโครงการพัฒนา รพ.มหาราชเมืองคอน หลังช่วยประสานงานจนได้งบจาก สนง.สลากฯ 723 ล้าน

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วยนายนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวิทยา แก้วภราดัย และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านอาคาร และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการติดตามรักษาโรคมะเร็ง และโรคที่มีความขาดแคลนเครื่องมือ ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในวงเงิน 723 ล้านบาท 

โดยงบประมาณอุดหนุนโครงการดังกล่าวนั้น นายวิทยา แก้วภราดัย ได้ดำเนินการประสานงานกับหลายหน่วยงานเพื่อให้มีการอุดหนุนดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ต่อไป

สำหรับ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของ จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งยังเป็นโรงพยาบาลศูนย์แม่ข่ายรับการรักษาส่งต่อจากโรงพยาบาลประจำอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ที่ต้องการเทคโนโลยีการรักษา และการหัตถการชั้นสูง มีประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนหลายพันคนต่อวัน ซึ่งการได้งบประมาณในการพัฒนาโรงพยาบาลล่าสุด จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ยกโขยงคืนบัตรประชาชน หลังสละสัญชาติเป็นพลเมืองสิงคโปร์

(5 ก.พ. 68) สื่อพม่าตีข่าว ชาวเมียนมานับร้อยชีวิตแห่คืนบัตรประชาชนให้สถานทูตฯ หลังขอสละสัญชาติเปลี่ยนเป็นสิงคโปร์ โดยเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568  เฟซบุ๊กเพจ The Irrawaddy ได้เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ประชาชนชาวเมียนมากว่า 100 ชีวิตในสิงคโปร์ ได้สละสัญชาติเมียนมา หลังจากได้รับสัญชาติสิงคโปร์

ตามรายงานจากสถานทูตเมียนมาในสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาจำนวน 278 คน ได้มอบบัตรประชาชนเมียนมาให้กับสถานทูตฯ หลังจากที่ได้รับสัญชาติสิงคโปร์แล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวในหัวข้อ  Nearly 300 Myanmar nationals in Singapore naturalized in 2024 to avoid returning home ซึ่งอ้างการเปิดเผยของสถานทูตเมียนมาประจำประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาเกือบ 300 คน แสดงความจำนงขอสละสัญชาติ เพื่อไปรับสัญชาติสิงคโปร์

ตามข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนากำลังคนของสิงคโปร์ พบว่ามีชาวเมียนมากว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (7) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ปริมาณ เหตุผล และความจำเป็น

จากตอนที่แล้ว “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (6) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จำเป็นหรือไม่...ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร???” ได้เล่าถึง ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การใช้ไฟฟ้ามีความเสถียร และเป็นการลดความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงพลังงาน โดยนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยที่สูงถึง 50% นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ซึ่งการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้ 

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่มีความสอดคล้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ในปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจึงไม่ได้สูงถึง 50% ตามที่มีการเผยแพร่ ด้าน  Peak Demand หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ในปี พ.ศ. 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ ในระยะหลังการเกิด Peak จะเป็นช่วงกลางคืนซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาประมาณ 46,191 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงนั้นเพียง 25.5% เท่านั้น

เหตุผลหนึ่งที่ต้องมี ‘การสำรองไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่ได้คาดคิดหรือนึกถึงมาก่อน และไม่มีการหยิบยกมาพูดเล่า บอกกล่าว อธิบายเลย นั่นก็คือ การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน (Alternative Energy) หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)” ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ที่ใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2579 โดยบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งในแผน PDP ฉบับล่าสุด กำหนดว่า จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในสัดส่วน 20% ในปี พ.ศ. 2579 แต่หากคิดรวมในภาพรวมทั้งที่ใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผน AEDP2015 จะมีสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2579

โดยที่การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียน” ไม่ว่าจะเป็นจาก ‘พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)’ หรือ ‘พลังงานลม (Wind Energy)’ แต่พลังงานทั้งสองแบบนี้ไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของการผลิตไฟฟ้า กรณีพลังงานแสงอาทิตย์ มาจากสภาพอากาศและดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงตลอดเวลา แม้ว่า บ้านเราจะอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อน แต่ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้เพียง 6-8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ถ้าไม่มีแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้องมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อ 16-18 ชั่วโมงที่ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย และหากความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นอาจไม่สูง และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์และพื้นที่ติดตั้งที่มากตามไปด้วย ในกรณีของพลังงานลมก็เช่นกัน ลมในประเทศไทยมีความเร็วค่อนข้างต่ำ อีกทั้งความแรงของลมขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ในบางฤดูอาจไม่มีลมเลยก็เป็นไปได้ จึงยากที่จะควบคุมความสม่ำเสมอได้

ดังนั้นเพื่อคง ‘ความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้า (Uniformity of Electric Energy)’ รัฐจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ด้วยประสบการณ์การเกิด Blackout (เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง) ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับกินพื้นที่ 14 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส มาแล้ว โดยภาคอุตสาหกรรมได้ประเมินความเสียหายในครั้งนั้นว่า ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมห้องเย็น แปรรูปประมง แปรรูปยางพารา ที่ได้รับความเสียหายจากการที่เครื่องจักรหยุดทำงานกะทันหัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง-ถุงยางอนามัย ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิต 24 ชั่วโมง เรื่องนี้จึงทำให้แนวคิดของการสำรองกระแสไฟฟ้าแบบ ‘เหลือดีกว่าขาด’ จึงถูกนำมาใช้ในบ้านเราจนทุกวันนี้ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอีกคือ การถูกคัดค้านการสร้างเขื่อนโดย NGO ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม/ทดแทนจากพลังงานน้ำ (Water Energy) ได้ โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้ามากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้แล้ว เพราะนอกจากฤดูร้อนที่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานกว่าปกติแล้ว ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ต้องประสบภัยจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานทั้งวัน และยังต้องใช้เครื่องฟอกอากาศอีกด้วย กว่าปกติแล้ว ดังนั้น ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมผลิตไฟฟ้าสำรองในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งต้องมี ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ เป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เพื่อให้พลังงานไฟฟ้ามีความเสถียร สม่ำเสมอ แน่นอน เช่นทุกวันนี้ 

สมาคมแม่บ้านตำรวจจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 วางแนวทางการทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ 'ส่งเสริม พัฒนา รู้หน้าที่ ยืนเคียงข้าง สร้างขวัญกำลังใจ'

(5 ก.พ.68) เวลา 10.00 น. คุณกนกวรรณ พันธุ์เพ็ชร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 สมาคมแม่บ้านตำรวจ โดยมีคุณอภิรมย์ ทรวดทรง , คุณอาภิพร ชูวงศ์ , ผศ.พรพิมล วงศ์สุข , คุณณัฐนี เหลื่อมศรี , คุณณพิชชา คล้ายคลึง , คุณณฐิกา ปิตะนีละบุตร อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ พร้อมด้วยกรรมการบริหารสมาคมฯ , ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจระดับกองบัญชาการ และระดับกองบังคับการ ทั่วประเทศ ร่วมประชุม ณ ห้องแจ้งยอดสุข อาคารศูนย์ฝึกพัฒนาบุคลากร และสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจได้มีนโยบายในการดำเนินงานของสมาคมแม่บ้านตำรวจ เป็นองค์การสถาน สาธารณกุศลที่ส่งต่อความสุข การสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงโอกาส ผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวตำรวจ ควบคู่การรักษาภาพลักษณ์ที่งดงามของแม่บ้านตำรวจ และเป็นหลังบ้านที่คอยสนับสนุน เคียงข้าง และให้กำลังใจข้าราชการตำรวจในทุกสถานการณ์ โดยมีพันธกิจ 5 ด้าน ได้แก่ ถวายความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ , พัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวตำรวจ , ส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีและภาพลักษณ์ที่ดีของแม่บ้านตำรวจ และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมแม่บ้านตำรวจ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ส่งเสริม พัฒนา รู้หน้าที่ ยืนเคียงข้าง สร้างขวัญกำลังใจ” 

ในปี 2568 นี้ สมาคมแม่บ้านตำรวจจะเดินหน้าภารกิจและโครงการในด้านต่าง ๆ ได้แก่

ด้านการพัฒนาสังคม : เทิดพระเกียรติ ถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ รวมถึงกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาระหว่าง สมาคมแม่บ้านตำรวจกับชุมชนและสังคม ได้แก่ ภารกิจรับ - ส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ,  งานกาชาด , งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก , งานจิตอาสา

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวตำรวจ : มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวตำรวจ พัฒนาต่อยอดศักยภาพทางด้านอาชีพของสมาชิกแม่บ้านตำรวจ ผลักดันเรื่องการบริหารจัดการทางด้านการเงิน และสนับสนุนการศึกษาของบุตรข้าราชการตำรวจ ได้แก่ โครงการหนึ่งจังหวัดหนึ่งผลิตภัณฑ์ One Province One Product (OPOP) , โครงการ “ครอบครัวตำรวจ เราไม่ทิ้งกัน” , ทุนการศึกษาบุตรข้าราชการตำรวจ , โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 'Money Management & Investment' ,  

ด้านการพัฒนาคน : มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม สร้างการศึกษา นำธรรมะมาเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาจิตใจ และส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสและพื้นที่ในการแสดงออก ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ทักษะอาชีพ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ได้แก่ โครงการพัฒนาทักษะของแม่บ้านตำรวจ , โครงการแสงธรรมนำใจ , โครงการส่งเสริมศักยภาพบุตรข้าราชการตำรวจ 

ทั้งนี้ สมาคมแม่บ้านตำรวจมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนของคุณภาพชีวิต และส่งเสริมขวัญกำลังใจแก่กำลังพลและครอบครัวในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พัฒนาสังคมและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดจนการสร้างความภาคภูมิใจและนำมาซึ่งความสามัคคีของเหล่าสมาชิกสมาคมแม่บ้านตำรวจทั่วประเทศ

บอร์ด ปณท. ไฟเขียวต่อสัญญาจ้าง ‘ดนันท์’ นั่งเก้าอี้ MD ไปรษณีย์ไทย ต่ออีก 4 ปี

คณะกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีมติต่อสัญญาจ้าง 'ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต่ออีก 4 ปี  

เมื่อวันที่  (4 ก.พ. 68) ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด วันที่ 31 มกราคม 2568 มีมติให้ต่อสัญญาจ้าง ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อีกวาระหนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2572  

การต่อสัญญาจ้างฯ ในครั้งนี้ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องพร้อมยกระดับคุณภาพบริการนำพา 'ธุรกิจไปรษณีย์ไทย' ให้สามารถแข่งขันได้ในยุคการแข่งขันที่รุนแรง ของอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top