Tuesday, 20 May 2025
Hard News Team

นายพลเร่งดันใช้โซลาร์เซลล์ ลดเสี่ยงอุตสาหกรรมสะดุด

(7 ก.พ.68) พลเอก โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSME) ของเมียนมา สนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในประเทศ

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ MSME ในกรุงเนปิดอว์ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยพล.อ.โซ วิน เน้นย้ำถึงความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ในฐานะทางเลือกที่ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน

ปัจจุบัน เมียนมามีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 6,300 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม โรงงานหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการจากปัญหาต่าง ๆ ขณะที่กระทรวงพลังงานไฟฟ้ากำลังเร่งจัดหาไฟฟ้าทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

พล.อ.โซ วิน เปิดเผยว่า มีบริษัทบางแห่งเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว และสามารถขยายกิจการได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจอื่น ๆ หันมาลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังชี้ว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง แต่ยังเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนเข้าสู่โครงข่ายแห่งชาติ ทำให้สามารถคืนทุนจากการลงทุนในระบบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ในระยะเวลาไม่นาน

นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลเมียนมายังเดินหน้าผลิตพลังงานไฮบริดจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในหลายภูมิภาคและรัฐ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในระยะยาว

Flowers of Manchester ครบรอบ 67 ปี โศกนาฏกรรมที่เปลี่ยนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและฟุตบอลไปตลอดกาล

หากคุณได้มีโอกาสไปเยือนสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด รังเหย้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่มีฉายาว่าโรงละครแห่งความฝัน (Theater of Dreams) และได้ไปหยุดยืนอยู่เบื้องหน้ากำแพงอัฒจันทร์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้คุณจะพบกับแผ่นป้ายจารึกรายชื่อขนาบข้างด้วยดอกไม้แสดงความเคารพและการไว้อาลัย รูปภาพของนักฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในยุคอดีต อยู่เคียงข้างกับนาฬิกาเก่าเรือนหนึ่งที่เข็มนาฬิกาหยุดนิ่งอยู่ที่เวลา 15.03 และเหมือนกับว่ามันไม่เคยเดินอีกเลยนับจากนั้น 

6 กุมภาพันธ์ของทุกปี คือวันแห่งความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเท่านั้นหากแต่เป็นการสูญเสียที่โลกฟุตบอลทั้งใบต้องจดจำ 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 67 ปีแห่ง 'โศกนาฏกรรมมิวนิค 1958' ใด ๆ digest ขอพาทุกท่านย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์นี้ วันที่ทุกพื้นที่ 'สีแดง' สีประจำสโมสรของ 'ปีศาจแดง' แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะถูกฉาบให้เป็น 'สีดำ'

บัสบี้ เบ็บส์

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเพิ่งผ่านความบอบช้ำจากสงครามโลกมาหมาด ๆ และเป็นช่วงเวลาที่ทีมต่างๆกำลังช่วงชิงตำแหน่งอันดับหนึ่งกันอย่างเข้มข้น และมีหลายทีมที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างน่ากลัว หนึ่งในนั้นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งผู้ที่กุมบังเหียนทีมในตอนนั้นคือ อเล็กซานเดอร์ แม็ทธิว บัสบี้ หรือในชื่อแฟนบอลคุ้นเคยว่า แม็ตต์ บัสบี้ ก่อนที่จะได้บรรดาศักดิ์ท่านเซอร์ในเวลาต่อมานั่นเอง โดยแทบจะทันทีที่แม็ตต์ บัสบี้เข้ามาคุมทีม เขาก็ได้เพิ่มศักยภาพให้ยูไนเต็ดกลายเป็นทีมที่มีลุ้นในการเป็นแชมป์แห่งอังกฤษ ในช่วง 5 ปีแรกของการคุมทีมนั้น บัสบี้พาทีมเป็นรองแชมป์ได้ถึง 4 ครั้ง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้แชมป์เอฟเอ คัพในปี 1948 ตามมาด้วยแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1951-52 

แต่ปีถัดมาบัสบี้กลับเลือกทำในสิ่งที่แฟนบอลในสมัยนั้นต้องเกาหัวด้วยความงง เมื่อเขาเลือกจะทำการถ่ายเลือดผู้เล่นครั้งใหญ่ ด้วยการโละนักเตะเก่า ๆ ทิ้ง และดันเด็กเยาวชนขึ้นมาเป็นตัวหลักแทนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยนักเตะอายุน้อย ๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ 'บัสบี้ เบ็บส์' และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการปั้นเยาวชนของสโมสรที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสันในวันที่ยังไม่ได้ยศอัศวินจะนำมาใช้ต่อในอีกสามทศวรรษให้หลัง นักเตะหลายคนถูกผลักดันมาจาก 'แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จูเนียร์ แอธเลติก คลับ' ศูนย์ฝึกเยาวชนในสมัยนั้น และยูไนเต็ด เดินหน้าคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 ปีซ้อน ในฤดูกาล 1955-1956 และ 1956-57 ด้วยอายุเฉลี่ยนักเตะเพียง 22 ปี และยูไนเต็ดกลายเป็นทีมที่เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่แข่งไปทั่วทั้งเกาะอังกฤษและทั่วแผ่นดินยุโรป

โศกนาฏกรรมมิวนิค

6 กุมภาพันธ์ 1958 ยูไนเต็ด บุกไปยันเสมอกับ เรดสตาร์ เบลเกรด ทีมจากยูโกสลาเวีย 3-3 ผ่านเข้าสู่รอบตัดเชือกยูโรเปี้ยนคัพ ไปรอดวลกับ 'ปีศาจแดงดำ' เอซี มิลาน

ขากลับจากยูโกสลาเวียทีมงานสตาฟฟ์และผู้เล่นของยูไนเต็ดเดินทางด้วยเครื่องบิน ไฟลท์ BE609 ของสายการบิน British European Airways และต้องแวะเติมน้ำมันที่สนามบินมิวนิค เยอรมัน แต่พอเติมน้ำมันเสร็จแล้ว นักบินกลับไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ตามปกติเนื่องจากทัศนวิสัยที่ย่ำแย่ ทำให้กัปตันพยายามนำเครื่องขึ้นบินถึงสองครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และในความพยายามครั้งที่สามนี่เองเครื่องยนต์ที่เร่งมาด้วยความเร็วกว่า 194 กม/ชม. เกิดลื่นไถลตรงปลายสุดของรันเวย์และชนเข้ากับรั้วของสนามบิน ก่อนตัวเครื่องจะหลุดข้ามถนนออกไป โชคร้ายที่อีกฟากหนึ่งนั้นมีบ้านหลังหนึ่งอยู่พอดี ปีกซ้ายของเครื่องบินหมุนฟาดเข้ากับตัวบ้านอย่างแรงจนพังยับ ส่วนหางของเครื่องถูกฉีกออกไปก่อนที่ด้านซ้ายของเครื่องบินจะฟาดเข้ากับต้นไม้ ด้านขวาของเครื่องเข้าไปกระแทกอย่างแรงกับห้องเก็บของซึ่งมียางรถยนต์และน้ำมันอยู่เต็มจนเกิดการลุกไหม้ เกิดไฟลุกท่วมบ้านที่มีสมาชิกหกราย โชคยังดีที่ผู้เป็นแม่กับลูก ๆ อีกสามรายหนีตายจากแรงระเบิดออกมาได้ทัน ส่วนพ่อและลูกสาวคนโตออกไปข้างนอกพอดีเลยรอดตาย

แต่อีก 23 ชีวิตบนเครื่องไม่โชคดีขนาดนั้น ซึ่งรวมถึง 8 นักเตะของยูไนเต็ด และทีมสตาฟฟ์อีก 3 คนไม่ได้กลับบ้านอีกเลยตลอดกาล 21 ชีวิตจบชีวิตลงทันที อีกสามรายอาการยังโคม่า น่าเศร้าที่ เคนเน็ธ เรย์เมนท์ นักบินที่สองทนพิษบาดแผลไม่ไหวสิ้นใจลงในอีกสามสัปดาห์ต่อมา ส่วนดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ปีกดาวรุ่งตัวความหวังของยูไนเต็ดและทีมชาติอังกฤษยังฟื้นได้สติ แต่ห้าวันต่อมาอาการของเอ็ดเวิร์ดส์ทรุดหนักลง คณะแพทย์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะยื้อชีวิตของเขา แต่ก็ไม่สำเร็จ เวลาตีสองสิบห้านาทีของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1958 ร่างกายของ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ก็ทนรับสภาพไม่ไหวหลังจากยื้อมานานกว่า 15 วัน เขาสิ้นใจลงในโรงพยาบาลท่ามกลางความโศกเศร้าของแฟนบอลทั่วโลก

ภายหลังจากโศกนาฏกรรม
แม็ตต์ บัสบี้ เป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิต แต่ก็ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึงสองเดือน เขาเคยคิดจะเลิกคุมทีมจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก แต่ก็ได้รับกำลังใจจากภรรยา ครอบครัว และแฟนบอลนี่เองที่ฉุดบัสบี้ออกมาจากโลกแห่งความเศร้า เขากลับไปยังแมนเชสเตอร์และปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนเป็นครั้งแรกในนัดชิงชนะเลิศของเอฟเอ คัพ ปี 1958 ที่ยูไนเต็ดได้เข้าชิงกับโบลตัน ด้วยการขาดกำลังหลักไปพร้อมกันทีเดียว ผลงานในลีกจึงตกต่ำลงทันที หลังจากเหตุการณ์ที่มิวนิค ทีมเก็บชัยชนะได้อีกเพียงครั้งเดียวในฤดูกาลที่เหลือเหนือซันเดอร์แลนด์ในเดือนเมษายน อันดับร่วงไปจบที่ 9 ส่วนในเอฟเอ คัพ ผลงานดีกว่า เกมที่พบกับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ นัดแรกหลังจากโศกนาฏกรรม ลงเอยด้วยชัยชนะ 3-0 และในถ้วยใบนี้พวกเขาทำผลงานได้ดีจนได้เข้าชิงชนะเลิศ

สุดท้าย แม็ตต์ บัสบี้ กลับมาคุมทัพและพาทีมกลับมาเป็นแชมป์ลีกได้อีกครั้ง ด้วยขุนพลรุ่นใหม่อย่าง จอร์จ เบสต์, น็อบบี้ สไตล์ส, ไบรอัน คิดด์ บวกกับ ชาร์ลตัน และโฟลค์ ที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของทีมชุดก่อน

เป็นเวลา 10 ปีพอดีนับจากโศกนาฏกรรมที่มิวนิค แม็ตต์ บัสบี้ และนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดที่เกรียงไกรที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ นำโดยหนึ่งในผู้ประสบเหตุที่มิวนิคแต่รอดชีวิตมาได้อย่าง บ็อบบี้ ชาน์ลตัน พวกเขาผงาดคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ปี 1968 และเป็นทีมแรกของอังกฤษที่ทำได้

จากวันนั้นถึงวันนี้ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะมีพิธีร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยทุกคนจะใช้คำเรียกขานถึงผู้ที่จากไปและเหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนั้นว่า 'Flower Of Manchester' ซึ่งมีที่มาก็จากวงดนตรีพื้นเพจากเมืองแมนเชสเตอร์ชื่อ The Spinner ที่แต่งเพลง Flower Of Manchester เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงนักเตะยูไนเต็ดในยุคนั้น 

จากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 67 ปีเต็มพอดี แต่เรื่องราวของเหล่าบัสบี้ เบ็บส์ยังได้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่เคยสิ้นสุด พวกเขาไม่เป็นเพียงแค่ความภาคภูมิใจของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเท่านั้น แต่คือเกียรติยศของฟุตบอลอังกฤษในการส่งมอบมิตรภาพและความยอดเยี่ยมของฟุตบอลอังกฤษให้ชาวยุโรปได้รู้จักถึงความเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้และแพสชันในฟุตบอลที่ไม่เคยเลือนหาย

เวลาของนาฬิกาเรือนอื่น ๆ จะหมุนเดินต่อไป แต่สำหรับ 15.03 ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 นาฬิกาเรือนเก่าที่ตั้งอยู่ข้างรูปภาพของเหล่าบัสบี้ เบ็บส์บนกำแพงที่สนามโอล์ดแทรฟฟอร์ดนี้จะหยุดนิ่งอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกับลมหายใจของทั้ง 23 ชีวิตที่จากไป แต่จิตวิญญาณของพวกเขาไม่ได้หายไปไหน พวกเขายังคงเล่นฟุตบอลด้วยความสนุกสนานและจะยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของทุกชีวิตที่รักในฟุตบอลตลอดไป

ด้วยจิตคารวะจาก ใดๆdigest ต่อดวงจิตทุกดวงในนาม Flowers of Manchester

ศาลขอนแก่นสั่งคุก ‘ไผ่ ดาวดิน’ 2 ปี 8 เดือน ผิด ม.116 ก่อม็อบปี 63 ให้ประกันวงเงิน 7 หมื่นบาท

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศาลขอนแก่นพิพากษาจำคุก 'ไผ่ ดาวดิน' 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ผิด ม.116 จากการเข้าร่วมกิจกรรมหมายที่ไหนม็อบที่นั่น เมื่อปี 2563 ให้ประกันตัวหลังวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ (5 ก.พ. 68) ศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดฟังการอ่านคำพิพากษา นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาฐานความผิด ม.116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการเข้าร่วมกิจกรรม “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ก่อนที่ทีมทนายจะยื่นขอประกันตัวด้วยเงินสด 70,000 บาท

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า วันนี้เป็นคดีจากการร่วมกิจกรรมชุมนุมหมายที่ไหนม็อบที่นั่น เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโดนฟ้องในมาตรา 112 และ 116 ร่วมกับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แต่มีการจำหน่ายคดีออกไปเหลือตนเองที่ต้องสู้คดี ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จึงได้ทำการยื่นประกันตัวในศาลชั้นต้นระหว่างการอุทธรณ์และจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปในคดีนี้

"ผมมีคดีที่กำลังอุทธรณ์อยู่เช่นเดียวกันโทษจำคุกอยู่ที่ศาลภูเขียวศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 11 เดือน และมีคดี 116 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น รวมเป็น 4 ปี 19 เดือน วันนี้ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 70,000 บาท เงื่อนไขห้ามไปกระทำความผิดซ้ำ ห้ามไปพูดถึงเอ่ยถึงอีก ห้ามมีคดีอีก"

นายจตุภัทร์กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้หลังจากนี้ พวกเราจะกลับมาอีกครั้งโดยจะเน้นพูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม ภายในเดือนนี้จะเริ่มมีการเคลื่อนไหว ฝากติดตามในเพจทะลุฟ้า เพราะเราคิดว่าปัญหาของสังคมไทยเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นต้นตอของปัญหาการเมืองตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

"ปีนี้เราจะมีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะทำให้อำนาจและหน้าที่สถานะต่างๆ ในสังคมไทยได้ถูกกำหนดร่วมกัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดจากคณะรัฐประหารและเอื้อกลไกผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้คณะรัฐประหารหรือฝ่ายอำนาจอนุรักษนิยม เราพร้อมที่จะออกมาและออกมาเรื่อย ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เราจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป จะมีข้อเรียกร้องยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของเราในปีนี้" นายจตุภัทร์กล่าว

ทรัมป์สั่งอายัดทรัพย์-แบนวีซ่าเจ้าหน้าที่ ICC ตอบโต้สหรัฐและอิสราเอลถูกสอบสวน

(7 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยกล่าวหาว่าศาลดำเนินการอย่างไม่ชอบธรรมและไร้มูลความจริงต่อสหรัฐและอิสราเอล

ตามรายงานของบีบีซี (BBC) และเอพี (AP) ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตร ICC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเฮก โดยให้เหตุผลว่าศาลได้ดำเนินการสอบสวนอิสราเอลและสหรัฐโดยไม่มีความชอบธรรม คำสั่งดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น

คำสั่งของทรัมป์ระบุว่า "ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการอย่างมิชอบและปราศจากมูลความจริง โดยมุ่งเป้าไปที่สหรัฐและอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของเรา" นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิพากษ์วิจารณ์ ICC ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบในการออกหมายจับต่อเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และโยอาฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล

คำสั่งดังกล่าวยังเน้นว่า 'ICC ไม่มีอำนาจเหนือสหรัฐหรืออิสราเอล' และระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรจะรวมถึงการจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงินและการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ICC ซึ่งมีส่วนช่วยในการสอบสวนพลเมืองของสหรัฐและชาติพันธมิตร

การแซงก์ชั่นอาจรวมถึงการอายัดทรัพย์สินและการห้ามเจ้าหน้าที่ของ ICC และครอบครัวของพวกเขาเข้าประเทศสหรัฐ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาที่เนทันยาฮูเดินทางเยือนสหรัฐเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

การตอบโต้ของสหรัฐเกิดขึ้นหลังจาก ICC ออกหมายจับเนทันยาฮูเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ในข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งเนทันยาฮูปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด นอกจากนี้ ICC ยังออกหมายจับต่อผู้บัญชาการของกลุ่มฮามาสด้วย

ทำเนียบขาวกล่าวหาว่า ICC กำลังสร้างมาตรฐานที่เป็นอันตราย โดยทำให้สหรัฐและเจ้าหน้าที่ของตนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากการคุกคาม การล่วงละเมิด และการจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม

“การกระทำของ ICC เป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของสหรัฐ และเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของเรา รวมถึงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของสหรัฐและพันธมิตร เช่น อิสราเอล” คำสั่งดังกล่าวระบุ

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังกล่าวหา ICC ว่าจำกัดสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ขณะเดียวกันก็มองข้ามบทบาทของอิหร่านและกลุ่มต่อต้านอิสราเอลในความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ สหรัฐไม่ใช่สมาชิกของ ICC และปฏิเสธอำนาจศาลของ ICC มาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ในสมัยแรกของทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐเคยใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ของ ICC ที่กำลังสืบสวนกรณีที่กองทัพสหรัฐอาจก่ออาชญากรรมสงครามในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวถูกยกเลิกไปในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

'ทรัมป์' เสนอฮุบกาซาเปลี่ยนเป็น 'ริเวียร่าอาหรับ' นักวิชาการชี้แนวคิดอันตรายสุดโต่งของพวกล่าอาณานิคม

(6 ก.พ.68) กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางสำหรับแนวคิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เสนอให้สหรัฐเข้าควบคุมฉนวนกาซาที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม และเปลี่ยนให้กลายเป็น 'ริเวียร่าของตะวันออกกลาง' โดยให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด 

ดร.ทาเมอร์ คาร์มูท ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากสถาบัน Doha Institute for Graduate Studies กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik ว่าแนวคิดของทรัมป์เป็นเรื่อง "ขาดความรับผิดชอบและไร้มนุษยธรรม" พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาชาวกาซาคาดหวังให้สหรัฐฯ กำหนดแนวทางทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งและช่วยฟื้นฟูฉนวนกาซาหลังจากเผชิญกับความโหดร้ายจากสงคราม  

"นี่เป็นการรื้อฟื้นมรดกของลัทธิล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมขั้นสูง ที่ประเทศหนึ่งสามารถตัดสินชะตากรรมของอีกประเทศหรือประชาชนกลุ่มหนึ่งได้" คาร์มูทเตือน "นี่เป็นเรื่องน่าตกใจ และอันตรายอย่างยิ่ง"  

ขณะเดียวกันด้าน ดร.อัยมัน ยูซุฟ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอาหรับ-อเมริกันในปาเลสไตน์ กล่าวว่าชาวปาเลสไตน์ปฏิเสธแผนของทรัมป์ที่ต้องการย้ายพวกเขาออกจากฉนวนกาซาไปยังจอร์แดนและอียิปต์ ซึ่งไม่สามารถรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้

ศาสตราจารย์ยูซุฟยังระบุว่า วอชิงตันและเทลอาวีฟกำลังใช้ความแตกแยกระหว่างกลุ่มฟาตาห์และฮามาสเพื่อผลักดันวาระซ่อนเร้นของตนเอง พร้อมเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ลดความขัดแย้งภายในและมุ่งสู่การปรองดองในระดับชาติ  

นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากทรัมป์ต้องการช่วยเหลือจริง ควรใช้มาตรการควบคุมอิสราเอลอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อยับยั้งปฏิบัติการทางทหารในกาซาในอนาคตมากกว่าที่จะเปลี่ยนฉนวนกาซาซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งมานาน กลายเป็นสถานตากอากาศในฝันของเขา 

'สุทิน วรรณบวร' ลากไส้ UNHCR เตรียมทิ้งค่ายผู้ลี้ภัย หลัง 'ทรัมป์' รู้ทันตัดงบช่วยเหลือแบบฟ้าผ่า

(6 ก.พ. 68) - จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายตัดเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลของผู้อพยพในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบถึงค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน ต้องปิดให้บริการทำให้ผู้ป่วยอาจต้องไปรักษาต่อที่อื่น

นายสุทิน วรรณบวร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าเราเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลชายแดนแล้วถูกสั่งให้ไปดูแลคนป่วยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ ICRC กับ UNHCR สร้างภาระ (ขี้) ทิ้งไว้ เราจะลาออกทันที เนื่องจากว่าตามกฎหมายประเทศไทยไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีค่ายผู้อพยพ ประเทศไทยมิได้ลงนามในอนุสัญญา 151 ว่าด้วยผู้อพยพ

แต่ที่เรารับผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยสงครามมาไว้ในค่ายต่างๆกว่า 40 ปีนั้น เป็นความหน้าใหญ่ใจโตของอเมริกาที่เสนอเงินช่วยเหลือผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยมาไว้ในค่าย โดยสมคบกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพ UN ที่รู้จักกันว่า UNHCR ซึ่งรับอาสาจะดูผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยเพื่อได้เงินทอนก้อนใหญ่ เพราะนอกจาก UHNCR ได้รับเงินช่วยเหลือจาก USAID แล้วยังรับบริจาค จากทั่วโลก ซึ่งปัจจัยหลั่งไหลเข้ามาสู่ UNHCR ปีละมหาศาล

พวกลูกจ้าง UHNCR ผลาญกันสำราญใจ จึงไม่แปลกใจลูกจ้าง UNHCR ปลุกระดมสร้างกระแสให้ชาติพันธุต่างๆแห่เข้ายังค่ายผู้อพยพ

UNHCR มีระเบียบประหลาด คือเมื่อผู้ลี้ภัยไปถึงประเทศไหน และ UNHCR รับรู้แล้วว่าผู้ลี้ภัยไปถึงประเทศนั้น ให้ประเทศที่ผู้ลี้ภัยไปถึงเป็นประเทศแรกรับจะผลักดันกลับไม่ได้เพราะถือว่าอยู่ภายใต้คุ้มครองของ UHNCR จนกว่าจะหาประเทศที่สามรับไปตั้งรกรากหรือมั่นใจว่าผลักดันกลับไปแล้วปลอดภัย

จึงไม่แปลกใจที่สื่อตะวันตกปลุกกระแสปั่นข่าวสงครามรุนแรงในพม่า เพราะ UNHCR ได้อ้างส่งพม่า (กะเหรี่ยง) กลับไม่ปลอดภัย

UNHCR กับ USIAD ย่ามใจกับเงินทอนมานาน จนนึกไม่ถึงว่า ทรัมป์จะรู้ทันตัดเงินช่วยเหลือแบบฟ้าผ่า เลยทิ้งขี้ไว้ให้แพทย์ไทยเช็ดล้าง

นี่คือความชอบที่แพทย์ไทยไม่ต้องไปช่วยผู้อ้างว่าลี้ภัยในค่าย แพทย์ไทยลาออกเสียดีกว่าไปล้างขี้ให้ UNHCR

ผบ.ตร ชื่นชม 'ทีมตำรวจไทย' ที่สามารถโชว์ผลงานในการแข่งขัน UAE Swat Challenge 2025  ได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างชื่อเสียงให้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประเทศไทย 

(6 ก.พ.68) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งทีมปฏิบัติการพิเศษทางยุทธวิธี เข้าร่วมการแข่งขัน ชุดปฏิบัติการพิเศษทางยุทธวิธี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE Swat Challenge 2025  ระหว่างวันที่ 1 - 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 120 ทีม จาก 50 ประเทศทั่วโลก  โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษทางยุทธวิธี เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 3 ทีม แบ่งเป็น ทีมชาย 2 ทีม และทีมหญิง 1 ทีม  ซึ่งในปีนี้ ทีมตำรวจไทย ที่เข้าร่วมแข่งขันสามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยม ติด Top 5 และ Top 10  สุดยอดทีมปฏิบัติการพิเศษระดับโลก

สำหรับการแข่งขัน UAE SWAT CHALLENGE 2025 ทำการแข่งขันทั้งหมด 5 สถานี ประกอบด้วย 1. การช่วยตัวประกัน (Hostage Rescue) , 2. สถานการณ์โจมตี (Assault Event) , 3. ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ (Officer Rescue) , 4. การโจมตีอาคารสูง (Tower Assault) และ 5. การผ่านอุปสรรคและสิ่งกีดกั้น (Obstacle Course) 

หลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้นผลปรากฎว่า ตำรวจไทย ทีม ROYAL THAI POLICE  A  ได้ลำดับที่ 6 , ทีม ROYAL THAI POLICE B ได้ลำดับที่ 5, ทีม ROYAL THAI POLICE C ได้ลำดับที่ 48  และเป็นที่ 1 ของทีมหญิง ที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ 

นอกจากนี้ ผบ.ตร.ชื่นชม 'ทีมตำรวจไทย' นักกีฬา ผู้ฝึกซ้อม และผู้เกี่ยวข้องทุกนาย ที่ทุ่มเทฝึกซ้อม พัฒนาทักษะ สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างชื่อเสียงให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประเทศไทย ได้รับการยกย่องในเวทีระดับโลกอย่างเป็นที่ประจักษ์ โดย 'สุดยอดทีม' จะเป็นกำลังสำคัญ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการทำหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพื่อดูแลปกป้องพี่น้องประชาชนต่อไป

เร่งหาพันธมิตรรายใหม่ หลังดีลฮอนด้าล่ม คาดคืนวงเจรจาบริษัทชิป ลุยตลาดรถอีวีเต็มสูบ

(6 ก.พ. 68) Nissan Motor กำลังเร่งหา “พันธมิตรใหม่” ในขณะที่การเจรจาควบรวมกิจการกับ Honda Motor ใกล้ถึงทางตัน โดยมีรายงานว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ต้องการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพื่อเสริมศักยภาพรับมือยุคยานยนต์ไฟฟ้า  

แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า Nissan ต้องการพาร์ตเนอร์ที่มีรากฐานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่สุดของบริษัท แนวโน้มของอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต้องเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรนอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิม  

หลังมีกระแสข่าวดังกล่ว ในวันพฤหัสบดี หุ้นของ Nissan ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 8.7% ในช่วงบ่ายของการซื้อขายที่ตลาดหุ้นโตเกียว แม้โฆษกของ Nissan จะปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุเพียงว่า รายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจากับ Honda จะถูกเปิดเผยตามแผนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์  

การเจรจากับ Honda ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว สะดุดลงจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอที่ Honda ต้องการซื้อกิจการ Nissan และทำให้เป็นบริษัทลูก ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับแรงต้านอย่างหนักจากฝ่ายบริหารของ Nissan นอกจากนี้ ข้อกำหนดของ Honda ที่ต้องการให้ Nissan ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ก่อนที่ดีลจะเกิดขึ้นจริง ก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญ  

อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดการเจรจาครั้งนี้ไม่ส่งผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาสูงถึง 100,000 ล้านเยน (ประมาณ 657 ล้านดอลลาร์) ตามข้อตกลงที่ลงนามเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา  

บอร์ดบริหารของ Nissan กำลังผลักดันให้ CEO มาคิโตะ อุจิดะ และทีมผู้บริหาร เร่งวางแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้บริษัทก่อนการประกาศผลประกอบการรายไตรมาสในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บอร์ดจะประชุมและสรุปทิศทางของบริษัทในอนาคต  

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การจับกุมและปลดอดีตประธาน Carlos Ghosn ในปี 2018 Nissan ต้องเผชิญวิกฤติอย่างต่อเนื่อง จากไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัยและกำลังการผลิตที่มากเกินไป จุดเปลี่ยนล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อกำไรสุทธิของ Nissan ร่วงลงถึง 94% ส่งผลให้บริษัทต้องประกาศปลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง ลดกำลังการผลิตลง 20% และปรับลดคาดการณ์กำไรประจำปีลง 70%  

นักวิเคราะห์จาก Citigroup เตือนว่า หาก Nissan ไม่เร่งปรับโครงสร้าง อาจเกิดการถดถอยของผลประกอบการอีกครั้ง พร้อมเน้นย้ำว่า “มาตรการปรับโครงสร้างเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็น”  

ก่อนหน้านี้ Foxconn บริษัทเทคโนโลยีจากไต้หวันที่ผลิต iPhone ให้ Apple และกำลังมุ่งเข้าสู่ตลาดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบรับจ้างผลิต เคยให้ความสนใจ Nissan แต่ต้องพักแผนไปชั่วคราวเมื่อทราบว่าบริษัทญี่ปุ่นกำลังเจรจากับ Honda อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม Foxconn ยังไม่ได้ล้มเลิกความสนใจทั้งหมด และอาจกลับมาพิจารณาอีกครั้งหากดีลกับ Honda ยุติลงจริง  

โฆษก ตร. ยืนยันสำนักงานกำลังพลยังไม่เคยได้รับหนังสือ หรือมีการประสานขอรับสมัครใจโอนตำรวจ 500 นายไปหน่วยอื่นแต่อย่างใด พร้อมฝากประชาชน การรับสมัครหรือโอนข้าราชการ ให้รับฟังติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ 

(6 ก.พ.68) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจ (ผบช.สกพ./โฆษก ตร.) กล่าวถึงกรณีโชเชียลมีเดียแชร์ข้อความมีหนังสือมาที่สำนักงานกำลังพล เพื่อคัดเลือกตำรวจ ยศสิบตำรวจตรี ถึงดาบตำรวจ (ส.ต.ต. - ด.ต.) จำนวน 500 นาย เพื่อโอนย้ายไปหน่วยอื่นนั้น  

ขอเรียนว่า ตนในฐานะ ผบช.สกพ. ที่รับผิดชอบเรื่องกำลังพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่เคยเห็นหนังสือในลักษณะดังกล่าว หรือได้รับการประสานจากหน่วยงานใด ในการจะขอรับสมัครหรือขอโอนตำรวจ 500 นาย ยศ ส.ต.ต.-ด.ต. ไปสังกัดหน่วยอื่นแต่อย่างใด 

 พร้อมฝากพี่น้องประชาชนขอให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะทำการแชร์ หรือส่งต่อ โดยรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐโดยตรง บางครั้งหากเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือข่าวปลอม แล้วเกิดความเสียหาย จะมีโทษทางอาญา

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (9) : จริงหรือ? ที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว สาเหตุสำคัญทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ แพง

‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ปัญหาที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งยากแก่การแก้ไขของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมายาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะรับเอาแต่ข้อมูลต่าง ๆ จากนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก เพียงด้านเดียว ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไว้อย่างมากมาย (แต่เป็นสาเหตุที่บอกเล่าข้อมูลโดยไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model (ESB))’ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว” จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ “อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ ซึ่ง TST จะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ได้มีการหยิบยกมากล่าวอ้างพอเป็นสังเขป

จริงหรือ? ที่ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ แน่นอนที่สุดว่า การซื้อ-ขายไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นผูกขาดโดยรัฐ ‘กฟผ.’ ซื้อ-ขายไฟฟ้า โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แล้วขายให้ “กฟน. และ กฟภ.” ส่วน “กฟน. และ กฟภ.” เองก็รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) เพื่อขายให้ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง นักวิชาการ สื่อ และ NGO ต่างก็บอกว่า การตัดสินใจและวางแผนแบบรวมศูนย์โดยมีผู้ซื้อเพียงรายเดียว นั้นทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีขึ้นในประเทศไทย 

อันที่จริงแล้วการเปิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีก็ไม่ต่างไปจากเรื่องของความพยายามในการแปรรูป ‘กฟผ.’ ให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เลย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ จะทำให้วัตถุประสงค์หลักในการดำเนิน ‘กิจการไฟฟ้า’ อันเป็นกิจการเพื่อบริการสาธารณะหายไป เพราะ ผู้ประกอบการใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพื่อจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งความเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบ ซึ่งที่สุดอาจจะนำไปสู่การเป็น ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าผูกขาด’ แทน ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี’ ตามที่คาดหวังเอาไว้ อีกทั้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานได้ ตัวอย่างเช่นที่เคยเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง 2 ครั้งในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยเกิดขึ้นทั่ว แคนาดาฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก และเม็กซิโกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นห่างกัน 6 สัปดาห์ และเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความต้องการไฟฟ้าเกินในช่วงฤดูร้อน และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 7.5 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายนาทีจนถึง 6 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงนิวเม็กซิโก และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 4 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่สูงถึงสามหลัก และในปี พ.ศ. 2543-2544 ได้เกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (วิกฤตการณ์พลังงานทางตะวันตกของสหรัฐฯในปี 2000 และ 2001) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการจัดการตลาดและราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ถูกจำกัด ทั้ง ๆ ที่มี  ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี จนทำให้มลรัฐนี้ต้องประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่หลายครั้ง และบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนียล้มละลาย เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและส่งผลกระทบต่อสถานะของ  Gray Davis ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จน Arnold Schwarzenegger พระเอกคนเหล็กได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐนี้แทนและได้รับเลือกถึง 2 สมัย

ทั้งนี้ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ มีจุดแข็งคือ “ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการในกิจการไฟฟ้าได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถสั่งการให้หน่วยงานด้านกิจการไฟฟ้าทั้ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ในต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย หากแต่เป็นการซื้อ-ขายใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ แล้ว รัฐจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าในสภาวะวิกฤต ฯลฯ ได้ยากมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐไม่สามารถจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย อาทิ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤต ฯลฯ จะต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษเช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก เสียก่อน แล้วรัฐจึงจะเข้าไปดำเนินการได้

นอกจากนี้แล้ว ‘กิจการไฟฟ้า’ ไม่ใช้เฉพาะเพียงแต่การเป็นการซื้อ-ขายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังมีเรื่องของ ‘ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก)’ ซึ่งเป็นระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม และ ‘ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)’ อันเป็นระบบที่ส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) หาก ‘กิจการไฟฟ้า’ เข้าสู่ระบบ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ แล้ว จะทำให้มีการตั้งบริษัทหรือกิจการที่ดูแลรับผิดชอบขึ้นมาอีกต่างหาก และแน่นอนภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพิ่มมากกว่าที่ต้องจ่ายแต่เดิมอย่างแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top