Tuesday, 20 May 2025
นายหัวไทร

การเมืองนครศรีฯ ใครใจถึงกว่า จัดเต็มคาราเบล คนนั้นเข้าเส้นชัย

กล่าวถึงการเมืองในนครศรีธรรมราช เมื่อยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งน่าติดตาม และมีเรื่องน่าจับตามองกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

กล่าวได้ว่า การเมืองในนครศรีธรรมราช ยังคงเป็นการต่อสู้กันของ 4 พรรคการเมืองใหญ่ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย แต่ในช่วงท้ายๆ ของการหาเสียง เมื่อบวกรวมกับกระแสพรรคก้าวไกล จึงมีคนจับตามองไปยังผู้สมัครพรรคก้าวไกลในบางเขตเลือกตั้งตามผลโพลล์ของบางสำนัก เช่น เขต 1 เริ่มปรากฏชื่อของ 'แมน-ปกรณ์ อารีกุล' คนรุ่นใหม่ที่ขยันลงพื้นที่ เมื่อบวกรวมกับกระแสพรรคจึงดีดตัวขึ้นมาอยู่ในระดับคู่ชิงอีกคนหนึ่ง

จากการเฝ้าติดตามการเมืองในนครศรีธรรมราชมาอย่างใกล้ชิด ยังเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เจ้าถิ่นเดิมน่าจะคว้าชัยได้ในระดับ 5+ ซึ่งหมายถึง 5 คนน่าจะได้ชัวร์ ๆ และอาจจะได้เพิ่มในบางเขตเลือกตั้ง 1-2 เขต

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับความจริงว่า 'อยู่ในช่วงขาลง' จากเดิมที่เคยมี ส.ส.อยู่ 4 คน คือ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ, สัญหพจน์ สุขศรีเมือง, สายัณห์ ยุติธรรม และอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ แต่คราวนี้สายัณห์ ไปอยู่กับลุงตู่ ที่รวมไทยสร้างชาติ เขตแห่งความหวังจึงเหลืออยู่ที่เขต 1 ดร.รงค์ แต่ต้องสู้กันหนักกับ 'ราชิต สุดพุ่ม' จากพรรคประชาธิปัตย์ แถมยังมี 'จรัญ ขุนอินทร์' จากพรรคภูมิใจไทย มาคอยตอดคะแนนไปด้วย ดร.จึงอยู่ในฐานะน่าหวาดเสียว แม้จะมีสองโกมาช่วย ก็ยังหนักกับเครือข่ายของราชิต แถมยังมี 'สมนึก เกตุชาติ' อดีตนายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช มาช่วยอีกแรง ทำให้ ดร.รงค์ เบาใจไม่ได้เลย

แต่น่าแปลก 'สัญหพจน์ สุขศรีเมือง' อดีต ส.ส.แท้ ๆ กลับไม่ค่อยมีกระแส โพลทุกสำนักไม่มีชื่อสัญหพจน์อยู่ในลำดับที่จะได้เลย เขตนี้กลับมีชื่อของ 'โก้เท่ห์ -พิทักษ์เดช เดชเดโช' คนใหม่จากประชาธิปัตย์ ทายาทของ 'วิฑูรย์ เดชเดโช' อดีตนายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช และเป็นลูกชายของ 'กนกพร เดชเดโช' นายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช คนปัจจุบัน ยืนโดดเด่นกว่า โดยมี 'มานะ ยวงทอง' จากภูมิใจไทย และ 'นนทิวรรตน์ นนท์ภักดิ์' จากพรรครวมไทยสร้างชาติขึ้นมาเป็นคู่ชิง

ส่วนอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ สองปี เพราะมาจากการเลือกตั้งซ่อม ยังทำงานได้ไม่เต็ม 100 เจอคู่แข่งเดิม 'พงศ์สิน เสนพงศ์' ที่ย้ายจากประชาธิปัตย์ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ แถมยังมีเจ้าถิ่น 'ณัฐกิตติ์ หนูรอด' จากพรรคภูมิใจไทย มาร่วมชิงด้วย อาญาสิทธิ์จึงอยู่ในฐานะเข็นครกขึ้นเขา

กล่าวสำหรับพลังประชารัฐ ควรให้น้ำหนักกับ 'สุนทร รักษ์รงค์' เขต 8 ที่เขามาฐานอยู่กับชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์มไม่น้อย แต่เขาต้องไปสู้กับทายาทของ 'ชิณวรณ์ บุณยะเกียรติ์' น้องบีท-ปุณณสิริ บุณยเกียรติ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ สุนทรก็จะนิ่งนอนใจไม่ได้เหมือนกัน เพราะเขตนี้ยังมี 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' จากพรรคภูมิใจไทย เดินคู่กันมาอีกคนที่ในทางการเมืองไม่ควรมองห้ามกับการเป็น สจ.มาก่อน และเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กับคะแนน 18,000 คะแนน ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

สำหรับประชาธิปัตย์ 5 ที่นั่งเป็นตัวตั้ง คือ ชัยชนะ เดชเดโช แต่ให้ระวัง สจ.สนั่น พิบูลย์ ที่คราวนี้สู้จริงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเขามีฐานที่เหนียวแน่อยู่จุฬาภรณ์ ในฐานะ สจ. และยังมี สจ.ยา จากลานสกา มาช่วยอีกแรง ชัยชนะก็จะชะล้าใจไม่ได้เช่นกัน ชิณวรณ์ บุณยเกียรติ์ ที่ยังลงเขตเหมือนเดิม โดยลงเขต 7 ที่เชื่อกันว่า น่าจะสอบผ่าน แต่อย่าลืมว่า เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ชิณวรณ์ก็ชนะไม่มาก และคราวนี้ พรรคภูมิใจไทย ไปได้ 'ษฐา ขาวขำ' อดีตนายอำเภอ มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ทำให้ชิณวรณ์หวั่นไหวได้เหมือนกัน ยิ่งโค้งสุดท้าย ญาติ ๆ จากพัทลุง กระโดดเข้ามาช่วย ส่งท่อน้ำเลี้ยงเข้าใน 'นายอำเภอษฐา' ก็มีกำลังใจขึ้น ยิ่งมีผู้มากบารมีจากปากพนังขนญาติมาช่วยอีกแรง สถานการณ์นี้จึงไม่ควรมองผ่าน 'ษฐา' จากภูมิใจไทย

นอกจากนี้ก็จะมี 'ประกอบ รัตนพันธ์' ที่มีคู่แข่งทั้งจากภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชาธิปัตย์ อีกคนคือ 'โก้เท่ห์ -พิทักษ์เดช' นี้แหละ
 

กระแส 'ลุงตู่' ช่วยดัน ส.ส.เขต 'รทสช.' โดดเด่น เชื่อ!! 'ทำแล้ว-ทำอยู่-ทำต่อ' ช่วยปักธงได้แน่

ในวันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เดินทางไปช่วยหาเสียงที่จังหวัดตรัง ซึ่งมี 4 เขตเลือกตั้ง

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลงจากเครื่องบินที่สนามบินตรัง นอกจากจะมีผู้สมัครในจังหวัดตรัง เช่น สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล จากเขต 4, อำนวย นวลทอง จากเขต 3 ไปต้อนรับแล้ว ได้มีมวลชนจำนวนมากที่ทราบข่าว เดินทางไปต้อนรับ และให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ถึงสนามบินตรังกันแน่นขนัด

หลังจากนั้นคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีทั้งพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค, อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางต่อไปยัง อ.กันตัง เพื่อช่วยหาเสียงให้กับสมบูรณ์ ซึ่งมีมวลชนจำนวนมากแห่ไปต้อนรับให้กำลังใจเช่นกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายถึงแนวทาง 'ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ' ให้ประชาชนเข้าใจ

คณะ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางต่อไปในตลาดทับเที่ยง ช่วยถนอมพงศ์ หลีกภัย หาเสียง ซึ่งต้องเสียเวลาไปมาก เนื่องจากมีผู้คนแห่ต้อนรับหน้าแน่นจนไม่มีเวลาทานข้าว เวลาล่วงมาถึงบ่ายสองถึงจะได้ทานข้าว

เสร็จจากทานข้าวเที่ยงเดินทางต่อไปยังอำเภอนาโยง เพื่อช่วย 'อำนวย นวลทอง' หาเสียง โดยก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปถึง 'อำนวย นวลทอง' ได้กล่าวปราศรัยก่อนแล้วถึงความมุ่งมั่น-ตั้งใจในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

“ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อชัยชนะ และจะสู้ไม่มีถอย โดยตั้งใจจะเข้าไปแก้ไขปัญหา 3 อย่าง อย่างแรกคือปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ บ้านเรามีฝนมาก เพราะอยู่ใกล้ภูเขา จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อย แต่น้ำท่วมไม่นานก็จะเกิดปัญหาน้ำแล้งตามมา ที่ผ่านมาไม่มีใครคิดวางโครงสร้างใหญ่ในการแก้ไขปัญหาน้ำ”

อำนวย กล่าวอีกว่า อีกปัญหาที่ต้องการเข้าไปแก้คือปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ที่ชาวบ้านถูกครหาว่าบุกรุกอุทยานบ้าง บุกรุกทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้าง ทั้งๆ ที่สภาพของที่ดิน ไม่มีต้นไม้ไม่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยมานานแล้ว แต่ไม่มีการยกเลิกความเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และ/หรือเขตอุทยาน ชาวบ้านจึงโดนขับไล่มาโดยตลอด เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

คุยกับ 'พิชาญศักดิ์ บุญมาศ' ผู้สมัคร พปชร.เขต 9 นครศรีธรรมราช 'มุ่งมั่น-ตั้งใจ' พัฒนา 'ท่าศาลา' ให้เป็นเมืองหลวงแห่งสุขภาพ

พิชาญศักดิ์ บุญมาศ หรือ 'หมออุ้ย' ตัดสินใจทิ้งมีดผ่าตัด ทิ้งเข็มฉีดยา มุ่งหน้าเข้าหาชุมชน พบปะพี่น้องประชาชนในเขต 9 นครศรีธรรมราช (ท่าศาลา พรหมคีรี นพพิตำ) เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ

หมออุ้ย เปิดใจกับ THE STATES TIMES ว่า "ในเขต 9 เรากำลังทำงานแข่งกับตัวเอง เราต้องเป็นคนนำทัพรบ และเปลี่ยนแปลงสนามรบตรงนี้ให้ได้ ต้องปักธงพรรคพลังประชารัฐตรงนี้ และเมื่อได้เป็นผู้แทนในเขต 9 ผมจะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต่อสู้กับปัญหาความยากจน ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพ และปัญหาสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

หมออุ้ย อธิบายว่า คำว่าเปลี่ยนแปลงในที่นี้ หมายถึงว่าการทำการเมืองในครั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าประชาชนไม่เหมือนเดิม ประชาชนเข้าถึงได้ ใช้เทคโนโลยีเป็น ค้นหาข้อมูลได้ คิดเป็น เขต 9 จะเป็นเมืองแห่งโอกาส ผู้สมัครต้องนำเสนอนโยบาย

“สำหรับผมนำเสนอตัวเอง เสนอความตั้งใจ นี้คือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ โดยไม่หวั่นเกรงต่อเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากความตั้งใจ ทำการเมืองแบบเป็นมิตรกับทุกคน ไม่โจมตีใคร การเลือกตั้งเป็นสิ่งสวยงาม เป็นประชาธิปไตย ถ้าเข้าใจก็ให้ประชาชนตัดสินใจดีกว่า”

หมออุ้ย กล่าวย้ำว่า ท่าศาลา มีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่มากที่สุด มีศูนย์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ดีที่สุด แต่ยังขาดจิ๊กซอว์ และกลไกอื่นๆ มาเชื่อมโยง

“ผมหมออุ้ยในฐานะเป็นอาจารย์หมอ เคยเป็นรองคณบดี เคยทำหลักสูตรแพทย์ เป็นนายกฯหมอนานาชาติ ด้วยวิสัยทัศน์ตรงนี้เองเราจะขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นศูนย์กลาง เป็นเมืองหลวงแห่งการแพทย์ เป็นในทุกมิติตั้งแต่ระดับล่างจนถึงนานาชาติให้ได้ ภายในระยะเวลา 4 ปี ถ้าเรามีแม่เหล็ก มีผู้นำ มีแม่ทัพที่มุ่งมั่น คิดว่าใน 4 ปีนี้เราทำได้ครับ”

คุณหมอพิชาญศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้การหาเสียง ถ้าเปรียบเป็นมวยไทยก็เข้าสู่ยกที่ 4 แล้ว ต้องทำงานการเมืองแข่งกับตัวเอง โดยมีประชาชนเป็นคนตัดสิน ส่วนตัวในฐานะผู้เล่น รู้สึกพึงพอใจในเสียงตอบรับที่ดี ประชาชนให้กำลังใจ

“รอบนี้การเมืองในเขต 9 เป็นการเมืองที่สดใส ประชาธิปไตยเบ่งบาน ประชาชนคิดได้ คิดเป็น ที่สำคัญประชาชนให้โอกาสกับทุกพรรคการเมือง หมออุ้ยพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเขต 9 ให้เป็นเมืองหลวงแห่งสุขภาพ เป็นมิติใหม่ทางการเมือง เวลาที่เหลืออยู่เชื่อว่าเราทำได้"

ภูมิใจไทยเมืองคอน คาดหวังทุกเขตทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง หลัง ‘อารี’ นั่งแท่นขุนพล หมายมั่นปั้นมือต้องปักธงให้ได้

แม้เวลาของการหาเสียงเลือกตั้งจะเหลืออยู่เพียง 10 กว่าวัน แต่สำหรับสนามเลือกตั้ง 10 เขต ของนครศรีธรรมราช ถือเป็นสนามหินสำหรับทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่สนามหญ้า หรือถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองเก่าอย่างประชาธิปัตย์ที่เคยยึดครองเมืองคอนมายาวนาน

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีแค่ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 8 ที่นั่ง กล่าวได้ว่า ได้มาแค่ครึ่งเดียว ยกให้พลังประชารัฐไปครึ่งหนึ่ง คือ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ สายัณห์ ยุติธรรม สัญหพจน์ สุขศรีเมือง และมาได้เพิ่มอีก 1 ในการเลือกตั้งซ่อม แทนเทพไท เสนพงศ์ ที่อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแทนในครึ่งเทอดหลัง

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) นครศรีธรรมราชได้ ส.ส.เพิ่มจาก 8 คน เป็น 10 คน แน่นอนว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องมาแย่งเก้าอี้ตรงนี้ไป และมีหลายพรรคการเมืองหวังว่าจะปักธงในเมืองคอนให้ได้ แน่นอนว่าประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิมจะต้องรักษาฐานไว้ให้ได้ และทำอย่างไรจะขยายฐานเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 5 เปึน 6 เป็น 7 หรือมากกว่า

แต่ไม่ง่ายสำหรับสถานการณ์ที่เปราะบาง มีหลายพรรคการเมืองจ้องเข้ามายึดครองแทน ทั้งพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย และหรือพรรคก้าวไกล, เพื่อไทย

กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องปักธงเมืองคอนให้ได้ โดยเฟ้นหาตัวผู้สมัครฯ จัดจ้านมาลงสนาม และขุนพลที่เข้ามาคุมทัพ คือ ‘อารี ไกรนรา’ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อชาติ ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นมือวาง ขุนพลมือหนึ่งเข้ามาคุมยุทธศาสตร์นครศรีธรรมราช ด้วยความเป็นคนทุ่งใหญ่ แห่งตระกูล ‘ไกรนรา’

‘ไกรนรา’ ถือเป็นตระกูลใหญ่ย่านทุ่งใหญ่ ทุ่งสง และด้วยชื่อเสียงของ ‘อารี’ ถือว่าขายได้ ‘อารี’ ก้าวเดินออกจากเพื่อชาติ เดินเข้าสู่ภูมิใจไทย ด้วยเหตุผล คือ ‘ภูมิใจไทย’ คือคำตอบสำหรับคนใต้ ยิ่งมีวลีโดนใจ “พูดแล้วทำ” ยิ่งประทับใจ และภูมิใจในการก้าวเดินไปกับภูมิใจไทย

‘อารี’ คาดหวังว่าในช่วงบั้นปลายของชีวิตในวัย 70 ปี จะได้มีโอกาสกลับมารับใช้แผ่นดินเกิด เคยทำงานเพื่อที่อื่นมาเยอะมากแล้ว วันนี้เวลานี่ขอโอกาสกลับบ้าน มาทำงานเพื่อถิ่นกำเนิด

ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในภูมิใจไทย ‘อารี’ ลุยพื้นที่มา 4 เดือน ดึงทีมงานเก่า-ใหม่ เข้ามาร่วมทีม

10 ผู้สมัครผ่านการคัดเลือก กลั่นกรองแบบ ‘คั้นหัวกะทิ’ มาแล้ว มากความรู้ มากประสบการณ์ พร้อมก้าวเดินรับใช้ชาติ-แผ่นดิน ด้วยลมหายใจของนักการเมืองที่พร้อมจะเสียสละ

“พรรคภูมิใจไทย คาดหวังทุกเขตทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง สู้เต็มที่ ส่วนจะแพ้-ชนะ เป็นอำนาจของประชาชน และวันนี้พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นคู่แข่งสำคัญในทุกเขตเลือกตั้ง” อารี กล่าว

หลายพรรคมีหวั่น!! เหตุ ‘ลุงตู่’ เริ่มดึงกระแส แม้นายหัวผู้ไม่เคยแพ้ ก็ยังแอบปาดเหงื่อ

หาเสียงกันมาแล้ว 20 กว่าวัน และก็เหลือเวลาอีกเพียง 20 กว่าวัน จะถึงวันพิพากษาของประชาชนในการลงคะแนนเลือกตั้งว่าจะกาให้ใครเป็นผู้แทนของเขาไปทำหน้าที่ในสภา

กล่าวถึง 4 เขตเลือกตั้งของจังหวัดตรัง ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ‘นายหัวชวน’ ชวน หลีกภัย เป็นเสาหลักอยู่ และไม่เคยแพ้การเลือกตั้งมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมานั้น ก็น่าติดตาม เพราะเมื่อช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ ก็เคยได้เพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคพลังประชารัฐไป 1 ที่นั่งกับ ‘นิพันธ์ ศิริธร’ ซึ่งได้รับเลือกตั้งในเขต 1 ตรัง อย่างพลิกสายตาคอการเมือง

ยิ่งในสถานการณ์ความไม่ลงตัวของประชาธิปัตย์หนนี้ ตรังก็อาจจะถูกท้าทายยิ่งจากคู่แข่ง ภายหลังประชาธิปัตย์แยกเป็น 3 ก๊วน ได้แก่ ‘ชวน- สาทิตย์-สมชาย’ ขณะที่ฟาก ‘รทสช.’ ของลุงตู่ ก็น่าดูชม เพราะเดินไปทิศทางใดก็มีกระแส ส่วนภูมิใจไทยก็จ้องจะปักธงอยู่เหมือนกัน

ว่าแล้วมาทวนในส่วนของ ‘ชวน’ กันหน่อย โดยความหมายก็ไม่พ้น นายหัวชวน หลีกภัย อดีต ส.ส.12 สมัย ซึ่งไม่เคยสอบตก เป็นทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง แต่คราวนี้เชื่อว่านายหัวชวนคงกระอักกระอ่วนใจกับคนใกล้ชิดที่ต้องพลัดพรากจากกันไปอยู่ พรรครวมไทยสร้างชาติอย่าง ‘สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล’ เขต 4 ตรัง จนถึงขั้นชวนประกาศว่าเขตนี้ ไม่ช่วยคนแต่ช่วยพรรคกันเลยทีเดียว

ด้าน ‘สาทิตย์’ หรือ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ถือเป็นศิษย์รักของนายหัวชวน อีกทั้งยังเป็นคนตัวเล็กใจกล้า ที่เป็นมือขวาเคียงข้าง ‘ลุงกำนัน’ ในยุค กปปส.ด้วย ลำบากใจแท้!!

ปิดท้ายกับ ‘สมชาย’ หมายถึง สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.หลายสมัย ที่จำต้องผลัดบ่าให้ ‘สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ’ ลูกสาวลงสมัครแทน ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ว่า ‘สมชาย’ กับ ‘สาทิตย์’ อยู่พรรคเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน แค่ร้องคนละคีย์กันอยู่ นั่นก็เพราะสมชายกับวงศ์หนองเตย ระหองระแหงกันมาตั้งแต่ศึกเลือกตั้งนายกฯ อบจ.แล้ว แถมคราวนี้ สมชาย หันไปสนับสนุน ‘ทวี สุระบาล’ จากพรรคพลังประชารัฐแทน 

ฉะนั้นในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่จะถึงนี้ จังหวัดตรัง ซึ่งมี 4 เขต เหมือนเขตเลือกตั้งในปี 2550 จะมีพรรคใหญ่ที่น่าจับตามองในสายตาประชาชนชาวภาคใต้ 4 พรรคใหญ่เท่านั้น ได้แก่...

พรรคภูมิใจไทย โดยนายพิพัฒน์ และ ดร.นาที รัชกิจประการ ซึ่งคาดหวังชนะ 19 เขตเลือกตั้งทั่วภาคใต้ โดยมี จ.ตรัง เป็นอีกหนึ่งหมุดที่พรรคภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือปักธง และได้ส่งผู้สมัครครบ 4 เขต ได้แก่ เขต 1 นพ.รักษ์  บุญเจริญ / เขต 2 นางโชติกา รักเมือง / เขต 3 เรือเอกพัฒน์พงษ์ คงผลาญ และเขต 4 นายดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์  

พรรคพลังประชารัฐ โดยนายทวี สุระบาล เป็นพี่ใหญ่ ได้ส่ง เขต 1 นายกิตติพงษ์ ผลประยูร / เขต 2 นายทวี สุระบาล / เขต 3 พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ใจสมุทร / เขต 4.พล.ต.ต.บรรลือ ชูเวทย์ ซึ่งปัจจุบัน จ.ตรัง เขต 1 มีนายนิพันธ์ ศิริธร เป็น ส.ส.พลังประชารัฐ อยู่แล้ว จึงต้องการรักษาเก้าอี้ ส.ส.เขต 1นี้ไว้ให้ได้ แม้นิพันธ์จะไม่ได้ลง ส.ส.เขตแล้วก็ตาม

พรรคประชาธิปัตย์ ส่งครบ 4เขต ได้แก่เขต 1 นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น / เขต 2 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย / เขต 3 น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ และเขต 4 นายกาญจน์ ตั้งปอง  

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีตัวเด่นอยู่ที่เขต 3 ‘อำนวย นวลทอง’ อดีตนักศึกษากิจกรรมตัวยง ที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียน และมุ่งมั่นเข้าสู่วิถีการเมือง อดีตสมาชิกสภาเขตพญาไท อดีตประธานสภาเขตพญาไท 2 สมัย คนใกล้ชิด ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. และ เขต 4 สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ถูกคัดออก เพราะถูกคนในพรรคประชาธิปัตย์มองข้าม แต่นายชวนยังเห็นคุณค่า โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เตรียมลงพื้นที่ตรังเรียกแขกในวันเสาร์ที่ 29 เมษายนนี้ด้วย 

กล่าวโดยสรุปสำหรับสนามเมืองตรัง เขต 1 จะเป็นการแข่งกันมันส์หยด เมื่อ พลังประชารัฐ ส่ง กิตติพงษ์ ผลประยูร ลงพื้นที่ก่อนผู้สมัครคนอื่นมีความได้เปรียบในการจัดตั้งคะแนนเสียง ส่วนเจ้าถิ่นประชาธิปัตย์ ส่ง นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น ลูกรักประชาธิปัตย์สาย ‘ชวน หลีกภัย’ ลงสมัครใช้ฐานคะแนนเสียงเดิมเพื่อหวังชัยชนะกลับคืนมา
พรรคภูมิใจไทย นพ.รักษ์ บุญเจริญ เปิดตัวหลังคนอื่น แต่กระแสตอบรับดีมาก มีกระแสพรรคฯ ‘พูดแล้วทำ’ มาหนุน ทั้งประวัติส่วนตัวขาวสะอาด เป็นหมอชาวบ้านติดดิน จึงได้คนวงการสาธารณสุขหนุนนำ  

ยิ่งไปกว่านั้นเขต 1 จะเป็นสนามเลือกตั้งที่มีการแข่งขันดุเด็ดเผ็ดมันส์แน่ เพราะผู้สมัครทั้ง 3 คนไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน มี นพ.รักษ์ คนเดียวที่เล่นการเมืองท้องถิ่น อดีตรองนายกเทศบาลนครตรัง ส่วนนายกิตติพงษ์ อดีตข้าราชการกรมที่ดิน ส่วนหมอตุลกานต์ มักคุ้น หมอโรงพยาบาลตรัง เขตนี่อย่ากระพริบเชียว

เขต 2 คู่นี้คือมวยคู่เอกของรายการในนัดนี้ เมื่อนายทวี สุระบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.หลายสมัยหวนคืนสังเวียนขอทวงแชมป์จาก ส.ส.สาทิตย์ วงศ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์ ทวี ทำการบ้านลงพื้นที่มาหลายปี ไปทุกงาน เสียงตอบรับกระแสนิยม มาฝั่งทวีได้ยินทุกหมู่บ้านคราวนี้ อีกทั้งนักการเมืองท้องถิ่นก็หนุนช่วยทวี ที่สำคัญสมชายก็เป็นอีกหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยทวีออกหน้าออกตาตั้งแต่ก่อนสมัครแล้ว

ส่วนดาวสภา คนตัวเล็กฝีปากกล้า ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ กลับมาลงพื้นที่เดินพบปะชาวบ้าน ‘เคาะประตู’ สไตล์ประชาธิปัตย์ เขตนี้เริ่มต้นทวี เป็นรองสาทิตย์ แต่ไม่มากนัก เวลาผ่านไปหายใจรดต้นคอสาทิตย์แล้ว

ผู้สมัครบางคนถูกถอดสายน้ำเกลือแล้ว  ลุ้น!! ‘สุนทร’ ชิงกันเข้าวินกับ ‘น้องบีท’

แม้ชื่อของ เชาวศิลป์ บุญประเสริฐ (รองโข่ง) จะปรากฏเป็นกระแสอยู่ระยะหนึ่งกับการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 8 นครศรีธรรมราช (ฉวาง-นาบอน-ช้างกลาง-พิปูน) ในนามพรรคเพื่อไทย และก็ต้องยอมรับความจริงว่า กระแสพอใช้ได้ จนโพลบางสำนักยกให้อยู่อันดับ 1 เมื่อบวกกับกระแสเพื่อไทยทั่วประเทศ ยิ่งส่งแรงบวกให้รองโข่งมากขึ้น

แต่ก็ต้องเข้าใจตรงกันนะว่า ภาคใต้ไม่ใช่ฐานที่มั่นของเพื่อไทย แม้ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ จะลงไปคลุกอยู่ในพื้นที่นครศรีธรรมราชหลายครั้ง แต่ไม่น่าจะช่วยอะไรก็ได้มากนัก แต่คะแนนพรรคคงมีทุกเขต

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยน ฝ่ายคู่แข่งงัดกลยุทธ์ ขุดวิชาขึ้นมาใช้ น่าจะทำให้กระแสเสียงของรองโข่งแผ่วลงไปบ้าง เมื่อกระสุนไม่พอ กระแสก็ไม่เกิด ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า การออกเดินพบปะพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งแบบ ‘หามรุ่งหามค่ำ’ และค่ำไหนนอนนั้น (นอนวัด) ของ ‘สุนทร รักษ์รงค์’ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คู่ไปกับการตั้งวงพูดคุยแลกเปลี่ยนในสไตล์ที่ถนัด ยิ่งทำให้กระแสเสียงของสุนทรค่อยๆ ขยับตัวมาดีขึ้น พูดได้ว่าน่าจะอยู่อันดับ 1 แล้วเวลานี้

ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งความพร้อมของพรรค และตัวผู้สมัคร สุนทร บุกหนักทั้งงานจัดตั้งแกน งานด้านสื่อ และโครงการสุนทรนอนวัด 21-25 เมษายน ที่เดินเท้าขอคะแนนถึงบ้านตอนกลางวัน ถึงเวลากลางคืนจัดเวทีเสวนาที่วัด เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการของชาวบ้าน และรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปเสนอพรรคเพื่อทำนโยบายเชิงพื้นที่ 

ถ้าสุนทรใช้วิชาที่ถนัดแบบเต็มแม๊ก เดินเท้าทุกชุมชน เพื่อขอคะแนนเสียง เปิดเวทีย่อย-เวทีใหญ่ ให้ครบทั้ง 5 อำเภอ 

พรรคภูมิใจไทย มุกดาวรรณ ม้าตีนต้นเริ่มแผ่ว น่าจะมีปัญหาเรื่องท่อน้ำเลี้ยงร่างกายขาดน้ำเกลือ ย่อมอ่อนเพลียเป็นธรรมดา

กล่าวสำหรับเขตนี้ ก็ไม่ควรมองข้าม ‘น้องบีท’ ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ จากประชาธิปัตย์ ลูกสาวชินวรณ์ ก็เชื่อว่า ชิณวรณ์จะต้องออกแรงหนัก เพื่อดันน้องบีทให้แจ้งเกิดทางการเมือง โดย ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ ในฐานะเคยเป็น ส.ส.เขตนี้มาก่อนก็ต้องจับมือ ‘ชิณวรณ์’ ช่วยน้องบีทอีกแรง เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า แต่ต้องแก้ให้ได้กับกระแสไม่เอาประชาธิปัตย์ ไม่เอาการสืบทอดสู่ทายาท เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า 

ชำแหละ!! 5 เขตเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’  ใครจะเสยคางใคร หลังรู้เชิงกันแล้ว 

ชำแหละ 5 เขตเลือกตั้งเมืองคอน มวยยก 3 แลกหมัดกันสนุกแน่ หลังรู้เชิงกันแล้ว จับตายกสุดท้ายใครจะเสยคางใคร

หลังมีความสุขกับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ เรามาทบทวนกันอีกครั้งสำหรับ 10 เขตเลือกตั้งของนครศรีธรรมราช ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 20 กว่าวัน ก็จะได้เวลาประชาชนพิพากษา 14 พฤษภาคม...ถ้าหากเรียกเป็นภาษามวย ก็ถือว่าเข้าสู่ยกที่ 3 เข้าให้แล้ว

>> เขต 1 
เมืองในเขตเทศบาลนคร ที่มี ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ เป็นแชมป์อยู่ในนามพรรคพลังประชารัฐ ถ้ามองผิวเผินเหมือนจะเป็นการแข่งขันกันของ 4 พรรคใหม่ คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ส่ง ‘พูน แก้วภราดัย’ ลูกชายของ ‘น้อย-วิทยา แก้วภารดัย’ ส่วนประชาธิปัตย์ ส่งอดีตผู้ว่าฯ ‘ราชิต สุดพุ่ม’ พรรคพลังประชารัฐ ส่ง ‘ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ’ และ พรรคภูมิใจไทย ส่งอดีตนักการธนาคาร ‘จรัญ ขุนอินทร์’ 

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในรายละเอียด น่าจะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง ‘ดร.รงค์’ กับ ‘ราชิต’ เป็นหลัก ซึ่งราชิต อาศัยฐานเดิมของประชาธิปัตย์ ที่มีทุนเดิมอยู่บ้างแล้วอย่างน้อยเขตละ 10,000 เพียงแต่จะทำอย่างไรให้คะแนนต่อยอดไปถึง 30,000 นั้น หมายถึงหาเพิ่มอีก 20,000 คะแนน ซึ่งความเป็นอดีตนายอำเภอเมือง และสายสัมพันธ์กับชุมชนในฐานะอดีตนักปกครอง ก็น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงกับ ดร.รงค์ ที่มีฐานเสียงเดิมในฐานะแชมป์ หลังจากในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มีทั้งจุดด้อย และจุดเด่น จนเมื่อได้ ‘โกเก้า’ เกรียงศักดิ์ ภู่พันธุ์ตระกูล ผู้กว้างขวางในวงการเมืองเข้ามาจับมือกับ โกจู๋-วิฑูรย์ อิสระพิทักษ์กุล ช่วยกันประสานมือทำคะแนนให้กับ ดร.รงค์ จึงทำ ดร.รงค์ เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขึ้นมาทันที แต่ราชิตก็ได้ ‘ลุงนึก’ สมนึก เกตุชาติ อดีตนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราชเข้ามาช่วย ทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาลุงนึกไม่เอาประชาธิปัตย์เลย แต่คราวนี้หนีไปพ้นเมื่อญาติสนิทลงชิง

ฉะนั้น ราชิต คงต้องหาตัวช่วยที่เข้มแข็งเข้ามาช่วยทำงาน ทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ที่มีบารมีพอฟัดพอเหวี่ยงกับสองโกเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย ‘ล้มรงค์’ ซึ่ง ดร.รงค์ก็เป็นนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ชั้นเชิงทางการเมืองก็ไม่ธรรมดา เอาเป็นว่า ‘รู้เขารู้เรา’

>> เขต2 
ถือเป็นเขตปลอด ส.ส.เก่า คือ ไม่มีเจ้า แต่ ‘สายัณห์ ยุติธรรม’ ย้ายจากท่าศาลา มาลงเขตนี้ และย้ายพรรคจากพลังประชารัฐมาอยู่กับ ‘ลุงตู่’ ที่รวมไทยสร้างชาติ เพื่อเปิดทางให้น้องชาย ‘อำนวย ยุติธรรม’ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในบ้านเกิดท่าศาลา ซึ่งสายัณห์แม้จะเป็นอดีต ส.ส.แต่คนละเขต แม้เขตใหม่จะเป็นฐานเดิมอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด สายัณห์ต้องสร้างฐานใหม่ย่านพระพรหม ซึ่งก็มีอัตราเสียงอยู่ไม่น้อย 

ทว่าแม้เจ้าตัวจะยืนยัน 4 ปีมีผลงาน และคนรู้จัก แต่เมื่อมาดูคู่แข่งแล้ว จะพบว่า ประชาธิปัตย์ลงตัวที่ ‘นายกหนึ่ง’ นายทรงศักดิ์ มุสิกอง อดีตนายกฯ ปากนคร ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะได้สร้างขึ้นมาสืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ต่อไป ส่วนด้าน พรรคพลังประชารัฐ ‘สจ.สุภาพ ขุนศรี’ ยอมหลีกให้ ดร.รงค์ มาลงเขตนี้ โดยสจ.สุภาพ ออกจาก เครือข่ายผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่แล้ว จะต้องอาศัยเครือข่ายของสามี สายนักเลง นักการพนัน แต่เป็นคนต่างถิ่น เอาเป็นว่าเขตนี้ ‘สายัณห์-สจ.สุภาพ’ หายใจรดต้นคอกันเป็นแน่แท้ ส่วนทรงศักดิ์ อยู่ที่องคาพยพของประชาธิปัตย์ จะช่วยกันหอบหิ้วได้แค่ไหน ถ้าประชาธิปัตย์ตั้งเป้าว่านครศรีฯจะต้องได้ 7+ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ จะต้องออกแรงมากกว่านี้ นายกฯ หนึ่งถึงจะเข้าวิน

กล่าวสำหรับพระพรหมแล้ว ถือว่าทุกคนใหม่หมด สจ.สุภาพ มาจากเขตเมือง นายกฯ หนึ่งมาจากปากนคร สายัณห์มาจากท่าศาลา โอกาสจึงเป็นของทุกคน สายัณห์อยู่ในฐานะได้เปรียบ เพราะมีฐานเดิมอยู่บ้างในบางตำบล

>> เขต 3 (หัวไทร-ปากพนัง) 
แม้ ‘เท่ห์-พิทักษ์เดช เดชเดโช’ ลูกชายของ ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’ นายกฯอบจ.นครศรีฯ น้องชายของแทน-ชัยชนะ เดชเดโช จะเปิดตัวทีหลัง แต่ก็มาแรงแซงขึ้นที่ 1 อย่างรวดเร็ว วิ่งฉิวนำหน้า ขณะที่ ‘มานะ ยวงทอง’ จากภูมิใจไทย ที่เปิดตัวมาร่วมปี และเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันแล้ว แต่ม้าตีนต้นเริ่มแผ่วปลายกับการบริหารจัดการในบางเขต-บางโซน แม้บางเขตจะยังเหนียวแน่นกับเครือญาติก็ตาม แต่บางองคาพยพเริ่มเปลี่ยนค่ายบ่ายหน้าไปค่ายสีฟ้า 

ส่วนพลังประชารัฐ ส่ง ‘สัณหพจน์ สุขศรีเมือง’ ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ดูภาพรวมแล้วไม่หวือหวา กระสุนยังไม่ออก ก็เหนื่อยหน่อย ฐานคะแนนเดิมเริ่มถูกแย่ง-ถูกแบ่งแยก สถานการณ์ปัจจุบันเงียบไปนิดหนึ่ง ส่วนรวมไทยสร้างชาติส่ง ‘นนทิวรรธน์ นนทภักดิ์’ คนสนิทของวิทยาลงประชัน ซึ่งนนทิวรรธ์ มีฐานเสียงที่หน้าแน่นอยู่ในตลาดปากพนัง เป็นด้านหลัก แต่โซนหัวไทรยังเป็นจุดบอด ถ้ามีเวลาให้เตรียมตัวมากกว่านี้ และใช้เครือข่ายวิทยาเดินเครื่อง ก็น่าสนใจ เพราะเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่เป็นคนพื้นที่ เกิดที่ปากพนัง ขณะที่ พิทักษ์เดช เกิดที่ร่อนพิบูลย์ แต่มีภรรยาคนปากพนัง, สัณหพจน์ เกิดที่เชียรใหญ่ แต่เคยคลุกคลีกับธุรกิจกุ้งในวัยหนุ่ม, มานะ เกิดที่เชียรใหญ่ ไม่ค่อยได้อยู่ในพื้นที่ทำธุรกิจกล่องกระดาษอยู่สมุทรสาคร และชลบุรี ในช่วงโควิดระบาดหนักเขาจึงบริจาคกล่องกระดาษทำเตียงสนามจำนวนมาก และผันตัวเองมาลง ส.ส.

>> เขต 3 
ไม่ควรมองข้าม ‘มนตรี เฉียบแหลม’ จากเพื่อไทย ที่คนเริ่มเบื่อพรรคโน้นพรรคนี้ และมองหาพรรคใหม่ เพื่อไทยจึงเป็นตัวเลือกอยู่ไม่น้อย น่าเสียดายว่า เพื่อไทยเปิดตัวเขาให้ลงเขตนี้ช้าไป แต่กระแสเพื่อไทยพอมี คะแนนพรรคมีแน่นอน และตัวเลขไม่น่าเกลียดด้วย ฉะนั้นเขต 3 ด้วยเครือข่ายที่มากกว่า เหนียวแน่นกว่า ถึงกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ‘โกเท่ห์’ จะเข้าป้าย แต่ตัองระวัง-หลีกเลี่ยงข้อสุ่มเสี่ยง

>> เขต4 (ชะอวด-เชียรใหญ่-เฉลิมพระเกียรติ)
น่าจะเป็นเขตที่สู้กันดุเดือด มีคู่แข่งหลักอยู่ 5 พรรค แชมป์เก่าคือ ‘อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ ยังสังกัดพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม และมั่นใจในผลงาน บทบาทหน้าที่ที่ผ่านมา สองปี ส่วน ประชาธิปัตย์ ส่ง ‘ยุทธการ รัตนมาศ’  อดีตรองนายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช เคยมีข่าวโด่งดังในตำแหน่งนายกสมาคมกีฬานครศรีธรรมราช

รู้จัก 'เท่ห์-พิทักษ์เดช' เบอร์ 1 เขต 3 เมืองคอน ขอเชื่อมทุกความร่วมมือ พาความเจริญสู่พื้นที่

หลายคนสอบถามมาว่า “เท่ห์-พิทักษ์เดช เดชเดโช' เป็นใครมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 3 (หัวไทร-ปากพนัง) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 

ก็บอกตามตรงว่า “ส่วนตัวไม่รู้จักกัน” แต่ผมรักพ่อเขา “วิฑูรย์ เดชเดโช” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (ผู้ล่วงลับ) กับ “กนกพร เดชเดโช” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช คนปัจจุบัน

เท่ห์ เป็นทายาทคนที่ 3 จาก 4 คนพี่น้อง “เดชเดโช” จบมัธยมปลาย จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนชายอันดับหนึ่งของนครศรีธรรมราช ถ้าเป็นโรงเรียนหญิงก็จะเป็นโรงเรียนกัลยาณี 

ระบบการศึกษาแบบ “แพ้คัดออก” เมื่อเท่ห์ของเข้ามหาวิทยาลัยระบบปิดไม่ได้ จึงมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยเปิด “ตลาดวิชา” อย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าเป็น “ลูกพ่อขุน” ตามพี่ชาย “แทน-ชัยชนะ เดชเดโช” เข้าเลือกเรียนนิติศาสตร์ และจบเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และต่อด้วยปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

ขณะกำลังศึกษา ได้เข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษา ทำกิจกรรมทางการเมือง ออกให้ความรู้ทางด้านกฎหมายกับพี่น้องประชาชนที่ขาดความรู้ในทางด้านกฎหมาย ถือว่าเป็นนักศึกษากิจกรรมคนหนึ่ง

เท่ห์ เกิดในครอบครัวนักการเมือง เลือดในกายจึงผสมด้วยกลิ่นอายทางการเมือง เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาการดำเนินงานในการบริหารจัดการทรัพย์สินและการบริหารจัดการหนี้ ปัญหาหนี้สินจากการบังคับคดี และปัญหาหนี้นอกระบบ

“พูดจริงๆ เท่ห์ เขาไม่อยากเข้ามาทำงานการเมืองมากนัก เขาอยากอยู่เบื้องหลัง ดูแลพี่ๆ น้องๆ ดูแลธุรกิจมากกว่า แต่ทางครอบครัวขอร้องว่าถึงเวลาแล้ว และเขาก็ตัดสินใจด้วยตัวเองเอง” แทน กล่าวถึงน้องชาย

ช่วงเปิดตัวใหม่ๆ เท่ห์ประสงค์จะลงเขต 1 (เมือง) แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ “ราชิต สุดพุ่ม” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มาลงสมัคร เท่ห์จึงเปิดทางให้ และขยับไปเขต 2 ซึ่งเดิมจะติดอำเภอปากพนังไปด้วย แต่เมื่อ ส.ส.เพิ่มเป็น 10 กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ปากพนังทั้งอำเภอถูกจัดให้เป็นเขต 3 ร่วมกับอำเภอหัวไทร เท่ห์จึงขอลงเลข 3 

เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่เลือกตั้ง เขาก็ทำหน้าที่ได้ดี และตั้งใจ ขยันลงพื้นที่ พวกเราก็ไม่ผิดหวัง และเชื่อว่า ถ้าเขาได้รับเลือกตั้งก็จะทำหน้าที่ได้ดีเช่นกัน

อยากให้พี่น้องประชาชนได้ผู้นำที่เข้าใจ เข้าถึง รู้ถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง และ ต้องการให้การบริหารและการพัฒนาเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยที่จะต้องได้คำว่า “ผู้นำแห่งความร่วมมือ” นี้เป็นเจตนารมย์ของเท่ห์ในการตัดสินใจกระโดดเข้าสู่เวทีการเมือง

กล่าวสำหรับเขตเลือกตั้งที่ 3 แล้ว เดิมทีก่อนหน้านี้ น้อย-วิทยา แก้วภารดัย จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็น ส.ส.อยู่ แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 น้อยแพ้ให้กับสัญหพจน์ สุขศรีเมือง จากพรรคพลังประชารัฐ แบบ “หักปากกาเซียน” พูดได้ว่าเป็นเขตล้มช้าง ล้มอดีตรัฐมนตรีว่าการกนะทรวงสาธารณะสุข ดีกรี ส.ส.เขตนี้ 8 สมัย แต่เลือกตั้งครั้งครานี้ “น้อย-วิทยา” แยกตัวไปจากประชาธิปัตย์ ไปร่วมกับพรรค “ลุงตู่-รวมไทยสร้างชาติ” ส่ง “นนทิวรรธน์ นนทภักดิ์” คนสนิทมาลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

อย่าหยามมวยรอง!! เมืองคอนเขต 3 ไม่ง่าย หลัง ‘เสี่ยอ่าง’ ลั่น!! “ผมมีวิธีจัดการคะแนนตามถนัดในแบบที่คนอื่นไม่มี”

‘สมศักดิ์ เมธา’ เดินอาดๆ เข้ามาในร้านข้าวแกงหลังสถานีรถไฟชะวอด จ.นครศรีธรรมราช พร้อมทีมงานตามหลังมาอีก 7-8 คนบอกว่า “ผมจะลงสมัครผู้แทน”

สิ้นเสียงของสมศักดิ์ก็มีคำถามตามมามากมาย เช่น จะลงพรรคไหน จะมีอะไรไปสู้เขา เป็นต้น

สมศักดิ์ตอบชัดเจนว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม พรรคเพื่อไทย และวันที่ 3 เมษายน สมศักดิ์ก็ไปยื่นใบสมัครเรียบร้อยแล้ว

“ถ้าถามว่าจะเอาอะไรไปสู้เขา บอกได้เลยครับว่า ผมเป็นคนในพื้นที่ ทำงานรู้จักชาวบ้าน และชาวบ้านก็รู้จักผมดี ผมช่วยเหลือคนมามาก ศาลาริมถนนผมสร้างด้วยเงินส่วนตัวผมทั้งนั้น”

เขต 4 นครศรีธรรมราช (ชะอวด-เฉลิมพระเกียรติ-เชียรใหญ่) ถือเป็นเขตเลือกตั้งอีกเขตที่จะมีการต่อสู้กันดุเดือด ซึ่งปัจจุบันมีนายกองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เป็น ส.ส.ในเขตนี้ และยังลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเดิม พรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม พูดได้ว่า เดินแบบนิ่มกับเครือข่ายมากมาย ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน

ที่บอกว่าสนามเลือกตั้งนี้จะต้องต่อสู้กันดุเดือดแน่นอน เพราะผู้สมัครแต่ละคนไม่ธรรมดา อย่างอาญาสิทธิ์ นอกจากเป็นแชมป์แล้ว ยังเคยเป็นนายอำเภอ ปลัดอำเภอในโซนนี้มายาวนาน ปลัดณัฐกิตติ์ หนูรอด ในนามพรรคภูมิใจไทย เป็นคนเคร็งโดยกำเนิด อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ผ่านประสบการณ์นักปกครองมาโชกโชน 

ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ พงศ์สิน เสนพงศ์ น้องชายของเทพไทย เสนพงศ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมมาแล้วกับคะแนน 30,000 กว่าคะแนน เพียงแต่พ่ายให้กับอาญาสิทธิ์เท่านั้นเอง คราวนี้คะแนนเสียงย่านเชียรใหญ่ บ้านเกิดไม่มีใครมาแบ่ง

‘หัวไทร-ปากพนัง’ เขตที่ ‘แทน’ ต้องทำให้ ‘เท่ห์’ ชนะ แต่ต้องจับตา ‘มนตรี-เพื่อไทย’ พร้อมเสียบ

เดินเก็บข้อมูลอยู่ในเขต 3 นครศรีธรรมราช (ปากพนัง-หัวไทร) 3 วัน ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ถึงวิธีคิดของชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ

เขตหัวไทร-ปากพนัง เดิมเป็นเขตเลือกตั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันเป็นเขต 3 ซึ่งมี ‘สัญหพจน์ สุขศรีเมือง’ เป็น ส.ส.อยู่ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และเลือกตั้งคราวนี้ยังอยู่ในสังกัดพลังประชารัฐเหมือนเดิม และเป็นพรรคที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค รวมทั้งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ตามที่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน กระแสของ ‘สัญหพจน์’ แผ่วเบามาก และแผ่วเบาพอ ๆ กับเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งสัญหพจน์ได้รับการเลือกตั้ง น่าจะเกิดจากกระแส ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า เมื่อบวกรวมกับความต้องการเปลี่ยนของชาวบ้าน และสอนบทเรียนให้ประชาธิปัตย์ ทำให้สัญหพจน์ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็น ส.ส. และถือเป็นเขตล้มช้าง เพราะเอาชนะ ‘วิทยา แก้วภารดัย’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนิดหักปากกาเซียน

แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ‘ลุงตู่’ ไม่อยู่แล้ว ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ กระแสลุงตู่สำหรับสัญหพจน์จึงไม่มี ไม่มีตัวช่วยเหมือนครั้งก่อน ตัวช่วยอย่าง พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ก็ไม่อยู่แล้ว คราวปี 2562 พ.อ.สุชาติ เป็นตัวช่วยในการทำคะแนนให้สัญหพจน์ไม่น้อย

ถามว่า ถ้าอย่างนั้นกระแสจะไปอยู่ตรงไหน ใครมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส. ย้อนไปเมื่อ 5-6 เดือนก่อน กระแสของ ‘มานะ ยวงทอง’ จากพรรคภูมิใจไทย ค่อนข้างแรงกับคนรุ่นใหม่ กับพรรคที่กำลังมีกระแสแรงในภาคใต้ แต่วันเวลาผ่านไป กระแสของมานะเริ่มจะถดถอย ถดถอยอันเกิดจากหลายเหตุผล ประการแรกเกิดจากตัวมานะเองที่ไม่ชัดเจนในบางเรื่อง ทำงานจัดตั้งไม่เข้มแข็งพอ ได้หน้าลืมหลัง เดินไปข้างหน้า ไม่หันไปมองข้างหลัง หัวคะแนนระดับ ‘หัวกะทิ’ เริ่มถอยห่าง ซึ่งเป็นหัวกะทิในระดับจัดการคะแนนได้ จัดตั้งเป็น รู้จักคนในพื้นที่ดีว่าใครเป็นใคร น่าจะช่วยใคร แต่มานะกลับไม่เห็นคุณค่า ปล่อยให้เขาเคว้งคว้าง และคนอื่นมาคว้าพุงปลามันไปกิน

เมื่อบวกรวมกับกระแสพรรคภูมิใจไทยที่ไม่หวือหวาเหมือนเดิม ถูกโหมกระหน่ำหนักทั้งเรื่องกัญชา เรื่องศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถูกศาลสั่งพักงาน ‘เสี่ยชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ ก็ตามบี้ไล่หลัง ยังมีเรื่องศาลสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ที่ถูกกล่าวหาบุกรุกที่ดินรถไฟอีก…หนักหน่อยนะ

ใครเข้ามาคว้า ที่เห็นอย่างน้อยสองคน คนแรกคือ ‘เท่ห์’ พิทักษ์เดช เดชเดโช จากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเขตเลือกตั้งชัด ‘เท่ห์’ ก็ชัดว่า จะลงเขต 3 และเริ่มลุยหัวไทรทันที โดยหลังจากบุกปากพนังมาแล้วหลายเดือนจนลงตัว ‘เท่ห์’ ก็เข้าหัวไทรถี่ยิบ โดยมีพี่ชาย ‘แทน’ ชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนชี้เป้า ชี้เป้าไปยังผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำตามธรรมชาติ และบางคนแทนยกหูคุยเอง และเดินทางไปพบด้วยตัวเอง

ไม่ใช่แค่นั้น หลังแทนบุกเข้าไปชี้เป้าให้เท่ห์ ยังมี ‘เจ๊ต้อย’ กนกพร เดชเดโช นายกฯ อบจ.ผู้เป็นแม่ ตามไปสำทับ ผ่านองค์กรท้องถิ่น ผู้นำสตรีอีกครั้ง กระแสประชาธิปัตย์ที่เดิมไม่ค่อยดีนัก แต่การเข้ามาเองของ ‘แทน-ต้อย’ เริ่มมีคนกล่าวขานถึง กล่าวขานถึงการมีโอกาสได้รับเลือกตั้งสูง และเชื่อว่า ‘ต้อย-แทน’ จะต้องทำให้ ‘เท่ห์’ ชนะในเขตนี้ ไม่งั้นก็ ‘บัดสีคน’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top