Tuesday, 20 May 2025
นายหัวไทร

เมื่อรัฐบาลรักษาการ ไม่ใช่จะทำได้ทุกเรื่อง  ปล่อยนาน ‘ศก.ฟุบ-ลงทุนหด-ประเทศชาติพัง’

มีบางคนเสนอว่า ให้รออีก 10 เดือน เพื่อให้ 250 สว.หมดวาระ และหมดสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเสนอเช่นนั้น ผมตั้งสมมติฐานว่า เป็นการเสนอเป็นทางออกให้กับพรรคก้าวไกล ในการเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบใหม่เมื่อไม่มี สว.คอยขัดขวางแล้ว

แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อให้เป็นทางออกของการเมือง ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เวลานี้การเมืองยังมีไพ่ให้เล่นอีกหลายใบ บางพรรคอาจจะอมสเปโตอยู่ แต่ตีบทใจแข็ง ‘ก็ไม่ถอย’ ระวังเพื่อน ‘น็อคมืด’ ตัวเองติดสเปโตด้วย

แต่บางพรรคอาจจะไม่มีไพ่ดีในมือ แค่ส่งเสียงขู่ คำราม ตีไพ่เสียงดัง หรือตีไพ่ให้เพื่อนกิน เผื่อตัวเอง ‘น็อคมืด’

พรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ควรเร่งรีบเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็แล้วแต่ เพราะยิ่งช้าประชาชนจะยิ่งเสียโอกาส

รัฐบาลรักษาการไม่ใช่ทำได้ทุกเรื่อง บางอย่างมีข้อจำกัดอยู่ ปล่อยให้มีรัฐบาลรักษาการไปนานๆ ประเทศชาติจะเสียหาย กระทบกับเศรษฐกิจ การลงทุน

สิ่งที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย คือ ต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ภาคเอกชนเป็นตัวเสริม

อีกสองเดือนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็จะจบลงแล้ว และ 1 ตุลาคม ต้องเริ่มต้นปีงบประมาณให้ 2567 แต่จนถึงขณะพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา 100% ไม่อาจพิจารณาให้ทันใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นแน่แท้

กระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปี ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน จึงเชื่อได้ว่า วงเงินงบประมาณใหม่ปี 2567 น่าจะใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับการเมืองว่าจะจบ หรือเข้ารูปเข้ารอยเมื่อไหร่ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางกรอบและจัดทำร่างไว้เสร็จแล้ว รอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเท่านั้นเอง

เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ จึงต้องใช้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2566 ไปก่อนได้ สำหรับใช้เป็นงบบริหาร เช่น เงินเดือนข้าราชการ แต่จะใช้งบลงทุนใหม่ไม่ได้ ตรงงบลงทุนที่ทำอะไรไม่ได้นี้แหละจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมกระทบต่อประชาชนด้วย การจ้างงานก็อาจจะมีปัญหา

รัฐบาลหน้าจึงมีเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 เพื่อการลงทุนภาครัฐเพียงประมาณ 8 เดือนเท่านั้นเอง

ปัญหาที่เห็นอยู่ข้างหน้า...

1. การจัดทำ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปอีก 
2. นักลงทุนต่างชาติเข้าสูโหมด Wait&See รอนโยบายจากรัฐบาลใหม่
3. ภาคเอกชนในประเทศรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่เช่นกัน
4. ประเทศขาดรัฐบาลมาวางนโยบาย ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ
5. GDP ปีหน้าน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่เรียกว่า ‘แย่’ ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

ฉะนั้นการเสนอให้รออีก 10 เดือนจะยิ่งไปกันใหญ่ พรรคการเมืองก็ไม่ควรคิดในกรอบนี้ อันเป็นข้อเสนอที่หาทางออกให้พรรคการเมืองบางพรรค ไม่ใช่หาทางออกให้ประเทศ ประเทศชาติยังมีทางออก ถ้าพรรคการเมืองบางพรรคผ่อนคลายเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลลงมาบ้าง ไม่ใช่ตึงจนขาด

รัฐบาลผสมไม่มีพรรคไหน หรือใครได้ไป 100% เพราะรัฐบาลผสมก็ต้องมาจากนโยบายของหลายพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องของการเจรจา ต่อรอง บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน อย่ารักชาติ รักประชาชนแค่ลมปากบนเวทีปราศรัยต่อหน้ามวลชน หรือให้สัมภาษณ์สื่อ ต่างกอดรัดฟัดประชาชนไว้ด้วยความรัก

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ถูกส่งให้ไปเป็นฝ่ายอนุรักษ์ก็ตาม ควรจะใช้ทันสมองที่มีอยู่คิดร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ อันไหนยอมได้ก็ต้องยอม ผ่อนได้ก็ต้องผ่อน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

เวลานี้พรรคหนึ่ง อย่างก้าวไกลก็ไม่ยอมเรื่องแก้ ม.112 อ้างว่าเป็นเรื่องที่รับปากไว้กับประชาชน ยังยืนยันเดินหน้าด้วยกลไกของสภา แม้ไม่มีอยู่ใน MOU ก็ตาม กลัวว่าจะเสียสัจจะ จนทำให้แพ้โหวตในสภามาแล้ว เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ยกมือสนับสนุน

อีกขั้วหนึ่ง 4-5 พรรค ทั้งพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ต่างเสียงแข็งไม่เอาก้าวไกล ไม่อาจทำงานร่วมกันได้ ไม่ร่วมงานกับพรรคที่แก้ ม.112

การเมืองจึงมาติดกับดักอยู่ตรงนี้ เดินหน้าไปยาก แต่ถ้าพรรคการเมืองผ่อนหนักผ่อนเบา อันไหนยอมได้ก็ยอม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แล้วไปหาเหตุผลอธิบายกับประชาชน อธิบายกับมวลชนของพรรค เวลานี้แต่ละพรรคผวากับ ‘ผิดสัจจะ’ หรือ ‘ตระบัดสัตย์’ จนขยับตัวไปไหนไม่ได้ กลัวเลือกตั้งสมัยหน้าจะสูญพันธุ์บ้าง

การเมืองอธิบายได้หมด ขอให้เป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน แต่อาจจะไม่ถูกใจคนทั้ง 100 เท่านั้นเอง

ไม่อยากเห็นวงจรอุบาทว์เข้ามาอาศัยจังหวะเบียดแทรกเข้ามาในสถานการณ์ที่การเมืองยังไม่ลงตัว

6 สิงหา ชี้ชะตา!! 77 ปี ‘ประชาธิปัตย์’ เส้นทางการเมืองที่มาจรดอยู่บนปากเหว

(23 ก.ค. 66) เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จะรอดไหม? ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป (คนที่ 9) เป็นคำถามยอดฮิตที่เข้าใจว่า แฟนคลับยังอาลัยอาวรณ์กับพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว ยืนหยัดผ่านพงหนามมา 77 ปี ย่าง 78 ปี สร้างนักการเมือง สร้าง ส.ส.สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน ประธานรัฐสภาก็มี

“พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ในทางการเมืองไม่ได้อยู่อย่างมั่นคง ราบรื่นตลอด แต่พรรคก็ผ่านมาได้ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหมือนโรงเรียน สถาบันที่สร้างนักการเมือง หลายคนที่ผู้ในพรรคอื่นล้วนแล้วแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา พรรคจึงมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน มีหัวหน้าพรรคมาถึง 8 คน” นายชวน หลีกภัย กล่าวในวันครบ 77 ปี ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นพรรคเก่าแก่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฏร์ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) อันเกิดจากการก่อการของคณะราษฎร มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เข้าร่วมในการบริหารประเทศ

‘ควง อภัยวงค์’ และคณะขึ้นให้กำเนิดก่อเกิด ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ขึ้นมา พร้อมกับเจตนารมณ์ หรืออุดมการณ์ของพรรค 10 ข้อ และถ้าได้นั่งลงพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และจิตใจที่เป็นกลาง จะพบว่าอุดมการณ์ทั้ง 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ยังทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการทุจริต-คอร์รัปชัน ไม่เอาเผด็จการ และการกระจายอำนาจ

พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ซึ่งเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ไม่ครบองค์ประชุม ก็เป็นที่จับตากันว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป และจะนำพาพรรคไปในทิศทางไหน

77 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประชาธิปัตย์เจอขวากหนามมากมาย บนถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เคยตกต่ำถึงขีดสุดๆ  และเฟื่องฟูสูงสุดมาแล้ว ผ่านวิบากกรรมคดียุบพรรคมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความเชี่ยวของคนในประชาธิปัตย์ จึงพารอดมาได้ทุกครั้ง เคยตกต่ำถึงขั้นในกรุงเทพฯ เหลือ ส.ส.อยู่คนเดียว จากที่เคยเฟื่องฟู มี ส.ส.100 กว่าคน

แต่น่าใจหายเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มถดถอยอีกครั้ง เหลือ ส.ส.อยู่เพียง 52 คน รันทดใจมากกว่านั้นในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับ ‘จุดต่ำสุด’ อีกครั้ง ดำดิ่งที่สุดอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะ นำ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้เพียง 25 คน ส.ส.เขตเหลือแค่ 22 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคให้เร่ง ‘กอบกู้’ และ ‘ฟื้นฟู’ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเร็วก่อนถึงจุดจบ ท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในพรรค

เสียงเรียกร้องให้เร่งฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากความห่วงหาอาทร อาลัยรัก พรรคเก่าแก่ พรรคที่เคยรักเคยชอบ เคยให้ความไว้วางใจ เวลานี้ ‘ทั้งรัก ทั้งชัง’

คนที่ยังรัก ปรารถนาดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็มีข้อเสนอมากมาย ที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องนำมาพิจารณาทบทวน กำลังยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ ส่วนคนชังก็ซ้ำเติม “พรรคเอาแต่พูด ไม่เห็นทำอะไร” / “พรรคเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เหล่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ประชาธิปัตย์แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนยากจะสลัดออก จนมาถึงวันนี้ประชาธิปัตย์เหมือนคนที่ยืนอยู่ปากเหว จะกระโดดไปข้างหน้าก็กลัวตกเหว จะถอยหลังก็กลัวเหยียบอุจจาระตัวเองที่ถ่ายทิ้งไว้

6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่าจะเดินลงเหว หรือเดินถอยหลังไปเหยียบอุจจาระตัว หรือนั่งลงตั้งสติ ขบคิดทบทวน แสวงหาแนวร่วมมาช่วยคิด ช่วยทำ #นายหัวไทร เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้คนที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมอง เป็นคนทันสมัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปัตย์ก็ยังไปได้ ยังฟื้นฟูได้ เพียงแค่ให้ตั้งสติ ขบคิด ทบทวน ถอดบทเรียนในอดีต แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใหม่ ร่วมกันเดิน ช่วยกันตี ‘สะตอต้องมารวมฝัก’ เป็น ‘สะตอสามัคคี’ กำหนดยุทธศาสตร์ ‘อีสานประสานใต้’

ถึงมวลสมาชิกประชาธิปัตย์ ลองหลับตานึกผลการเลือกตั้งปี 2500 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 31 คนทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์ประสานเสียงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูป-ฟื้นฟูพรรคไม่แตกต่างจากหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 2566 เสียงอื้ออึงระงมไปทั่วแผ่นดิน เป็นเสียงที่ชาวประชาธิปัตย์ต้องขบคิด และรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะไม่ใช่เสียงกบ เสียงเขียด เสียงอึ่งอ่าง ยามหน้าฝน แต่เป็นเสียงจากคนที่รักประชาธิปัตย์ ยังอยากเห็นชื่อประชาธิปัตย์โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมือง

ลดฐิติ ลดความอยากลงบ้าง แล้วมานั่งตั้งสติว่า จะกระโดดข้ามเหว ถอยหลัง ตั้งสติ อย่าเอาอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ‘หัวหอก หัวขาว หัวดำ’ ก็ต้องรับฟัง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคของเรา

เปิด 8 รายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
1.) พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2489-2511 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4
2.) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2511-2522 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6
3.) พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2522-2525
4.) พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2525-2534
5.) ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2534-2546 เคยเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
6.) บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2546-2548
7.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2548-2562 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
8.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2562-2566

จับตา!! คู่ชิงหัวหน้าพรรค 'อภิสิทธิ์' ปะทะ 'ดร.เอ้' พร้อมข่าวลือสะพัด 16 ส.ส.หักเห ปันใจซบ 'เสี่ยหนู'

ประชาธิปัตย์เดือด…ลือสะพัด 16 ส.ส.ปันใจให้ภูมิใจไทย ถกร่วมเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ศึกชิงหัวหน้าพรรคไม่ลงตัว ขั้ว 'เฉลิมชัย' ขอเปลี่ยนหัวจาก 'นราพัฒน์' เป็น 'ดร.เอ้'

หลังเสร็จภารกิจการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่รัฐสภาตอกฝาโลงไปแล้ว ในสมัยประชุมนี้ไม่สามารถเสนอกลับมาได้อีก เกมจึงเปลี่ยนไปอยู่ในมือเพื่อไทย

หันมาดูศึกในค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมบ้าง (ประชาธิปัตย์) ที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหอบหิ้วเข้าสภามาได้แค่ 25 คน จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รับผิดชอบด้วยการลาออก ที่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการล้มการประชุมเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วยการล้มองค์ประชุม (องค์ประชุมไม่ครบ) ในช่วงบ่าย อันเป็นเกมที่ถูกกำหนดขึ้นจากฝ่ายที่ส่อว่าจะแพ้โหวต

12 กรกฎาคม มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ มีกรรมการบางคนเสนอให้เพิ่มองค์ประชุม เพื่อแก้ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ โดยให้เพิ่มองค์ประชุมอีกภาคละ 25 คน คือเพิ่มอีก 125 ให้รองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาคเป็นคนคัดเลือกจากสมาชิกพรรคมาเป็นองค์ประชุม จากเดิมองค์ประชุมมีอยู่ 250 คน เป็น 375 คน รองหัวหน้าพรรคประจำภาคก็เตรียมการคัดสมาชิกพรรค จาก ส.อบจ.บ้าง จากนายกเทศมนตรีบ้างที่เป็นพวกของตัวเองมาเป็นองค์ประชุม

จริงๆ ในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่องค์ประชุม เพราะช่วงเช้าองค์ประชุมครบ เพียงแต่ว่าองค์ประชุมเป็นคนของใครมากกว่า เมื่อเช็คจากการประลองกำลังกันสองรอบในตอนเช้า ยังไม่เห็นแววชนะ จึงใช้เกมล้มการประชุมมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

การเสนอเพิ่มองค์ประชุม กรรมการบริหารพรรคหลายคนอภิปรายแย้ง เพราะยังไม่ใช่เวลา พรรคยังไม่วิกฤติถึงขนาดขาดองค์ประชุมตามข้อบังคับพรรค แต่ท้ายที่สุดกรรมการบริหารพรรคฝ่ายเสียงข้างมากก็ลากไปมีมติพรรคก็ให้เพิ่มองค์ประชุม แต่เวลานี้มีกรรมการบริหารพรรคที่คัดค้าน หรือเห็นแย้งก็ยังไม่ยอมแพ้ 5 กรรมการบริหารพรรคทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และเลขาพรรค (เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เช่น สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ รองหัวหน้าพรรค ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมการบริหารพรรค ให้พิจารณาทบทวน

เข้าใจว่าการทำหนังสือโต้แย้งน่าจะมีผลให้ต้องเลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม แต่การเลื่อนการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้แจ้งต่อสมาชิกอย่างเป็นทางการ

สำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วคาดว่าจะเป็นการแข่งกันระหว่าง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตหัวหน้าพรรค กับ 'นราพัฒน์ แก้วทอง' รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนขั้ว 'เฉลิมชัย' จึงขอเปลี่ยนตัวเล่น เป็น 'ดร.เอ้' สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงชิงแทน โดยมีติ่ง มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ร่วมแจม ด้วย

แต่คู่ชิงน่าจะมีเพียง 2 คนนี้ คือ 'มาร์ค' อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตนายกรัฐมนตรี และ 'ดร.เอ้' ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีลาดกระบัง (สจล.)

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ต้องติดตาม 77 ปี ย่าง 78 ปี ก็ถือว่าเป็นพรรคที่มีของดี มีประวัติ มีความเป็นมามีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งให้คนได้กล่าวขาน ถึงอยู่ยงคงกระพันมาได้ สู้คดียุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง และรอดมาได้ ผ่านหัวพรรคมาแล้ว 8 คน กำลังจะเลือกคนที่ 9 สร้างคน สร้างนักการเมืองมามาก สร้างนายกรัฐมนตรี สร้างประธานสภามาแล้ว นัดการเมืองในบางพรรคก็เกิดจากท้องประชาธิปัตย์

แต่พลันที่พิธาตกสวรรค์ กลับมาข่าวลือสะพัดหนาหูว่า การประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เห็นพ้องต้องกันว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่การจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเป็นมติกรรมการบริหารพรรค และน่าจะรอผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ประชาธิปัตย์มีข่าวลือหนักกว่านั้น คือเพจของพรรคโพสต์ว่า มี 16 ส.ส.ภาคใต้ ปันใจให้ภูมิใจไทยไปแล้ว มีนักการเมืองสงขลาคนหนึ่งเป็นคนเปิดดีล และรับผิดชอบเลี้ยงดูกันอยู่ 

อนาคตประชาธิปัตย์จะก้าวเดินไปอย่างไร หรือจะขุดหลุมฝังตัวเอง น่าสนใจติดตามยิ่งในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านนี้

ลุ้น!! ‘ก้าวไกล’ เสนอชื่อพิธาอีกรอบ 19 ก.ค.นี้ แต่ผลคะแนน ‘คาด’ ยังไม่เปลี่ยนจากหนแรก

ฉากทัศน์การเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร? ภายหลังผลโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นชอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล

- ก้าวไกลเสนอชื่อพิธาอีกรอบ 19 ก.ค.นี้

- สถานการณ์ด้านคะแนนยังไม่น่าเปลี่ยน ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิม

- พิธา ก้าวไกล ตอกย้ำ แก้ ม.112 เป็นพันธกิจที่ให้ไว้กับประชาชน

- แปลความว่าก้าวไกลเดินหน้าแก้ ม.112 แบบไม่ถอย

- ก้าวไกลแก้เกมรุกด้วยการเสนอแก้ รธน.มาตรา 272 ปลดล็อก ส.ว. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ทันโหวตเลือกนายกฯครั้งสอง ครั้งสามแน่นอน ไม่มีประโยชน์อะไร

- ยิ่งจะเป็นการขยายแผลให้ ส.ว.กว้างเข้าไปอีก

- แก้ รธน.มาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ต้องพึ่งเสียง ส.ว.1/3 หรือ 84 เสียง

- หา 64 เสียงยังไม่ได้ จะหา 84 เสียงมาปิดสวิตช์ตัวเองจากไหน

- สมัยเพื่อไทยขอแก้ ม.272 ก้าวไกลงดออกเสียง วันนี้จะขอแก้เอง หนุกหนาน

- เพื่อไทยเตรียมตัวแล้ว ถ้าพิธาไม่ผ่านรอบสอง เพื่อไทยจะเสนอคนของพรรค

- น่าสนใจ ชลน่านบอกว่า เมื่อพิธาไม่ผ่าน เป็นความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามเสนอแข่ง ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

- ประเด็นต้องพิเคราะห์ เพื่อไทยจะเอาใครเป็นนายกฯ

- ลดความเสี่ยงของอุ๊งอิ๊ง ในการพาพ่อกลับบ้าน น่าจะส่งเศรษฐา เป็นนายกฯ

- ตาโทนี่น่าจะเลื่อนกลับไทย จากเดิมบอกว่าจะมาก่อนวันเกิด 26 กรกฎาคม

- จับตาลุงป้อมจะต่อรองอะไรกับเพื่อไทย ถ้าเพื่อไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนขั้ว ทิ้งก้าวไกล

- สูตรใหม่ จึงน่าจะเป็นเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ (ลุงตู่ลาออกเปิดทางให้แล้ว) ไทยสร้างไทย (เจ้หน่อยลาออกเปิดทางให้แล้ว) ประชาชาติ (ต้องเอาวันนอร์ประธานสภาไว้) ชาติไทยพัฒนา (พรรคกลางๆ)

- ส่วนประชาธิปัตย์ รอดูท่าทีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ถ้าขั้วเฉลิมชัยชนะ ก็ร่วมรัฐบาล ถ้าอภิสิทธิ์ชนะก็เป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะขั้วไหน

ส่องปฏิกิริยา 'พิธา' หลัง กกต.มีมติส่งศาล รธน.ปมไอทีวี ท่าทีเคร่งขรึม รับวันรัฐสภาเดินหน้าโหวตเลือกนายกฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รับเดินทางออกจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรทันที หลังทราบข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) 42,000 หุ้น พร้อมให้ฝ่ายสำนักงาน ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญทันที

พิธาเดินออกไปด้วยท่าทีเคร่งขรึม ผิดไปจากแต่ก่อน ซึ่งก็ควรจะเคร่งขรึม เพราะพรุ่งนี้รัฐสภานัดลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี กำลังจะโหวตอยู่แล้ว แต่กลับมีเรื่องใหญ่มาดักหน้าพอดี

แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า คุณสมบัติของพิธาในเวลานี้ยังครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมา ขบวนการในวันนี้ จะเป็นแค่งานธุรการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะรับเรื่องไว้ แต่โดยขั้นตอนยังไม่น่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทันในวันนี้ คงต้องผ่านขั้นตอนปกติในคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ก่อนนำเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยสรุปพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ก็จะเป็นการประชุมตามปกติของรัฐสภา และเดินหน้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.ได้เวลาอภิปราย 4 ชม. สว.ได้เวลา 2 ชม.ส่วนฝ่ายตอบยังไม่ได้จำกัดเวลา ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานรัฐสภา

'วันนอร์' เคาะเริ่มโหวตเลือกนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค. จับตา 8 ชั่วโมงแห่งการตัดสินชะตานายกฯ คนที่ 30

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยมติที่ประชุม 3 ฝ่ายเตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยสรุป คือ จะมีการอภิปรายและจะโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดย ส.ว. ได้เวลา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลารวม 4 ชั่วโมง

น่าจะสนุก...เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยให้สมาชิกอภิปราย ส.ว.ได้เวลาอภิปราย 2 ชั่วโมง ส.ส.ได้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ให้เวลากับคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีกี่นาที กี่ชั่วโมง

เข้าใจว่า 6 ชั่วโมงที่สมาชิกรัฐสภาได้มาเป็นช่วงเวลาของการซักฟอกยกแรกสำหรับชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' และจะเป็นโอกาสของพิธาในการได้อธิบายนโยบาย หรือแนวทางของพรรคก้าวไกล ที่สังคม และสมาชิกรัฐสภายังกังขาอยู่

เป็น 6 ชั่วโมง บวกกับการชี้แจงของพิธาอีก 2 ชั่วโมง รวมเป็น 8 ชั่วโมง น่าจะเป็น 8 ชั่วโมงที่น่าสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดเป็นอย่างยิ่ง

คอการเมืองไม่ควรพลาดสำหรับ 8 ชั่วโมงนี้ จะได้กระจ่างกันทั้งสองฝ่าย และจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงประเด็น ไม่ต้องถามกันไปมา และทำให้การสื่อสารผิดเพี้ยนไปอีก

ส.ว.สายโหวต ‘พิธา’ จี้ กกต. ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ หวั่น!! โหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง

รีบเลย!! ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ ส.ว. ซึ่งมีชื่อว่าจะโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับออกมาจี้ กกต. รีบส่ง #ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ #พิธา โดยเร็ว ก่อน #โหวตนายก 13 ก.ค. กลัวต้องโหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ยันที่ประชุมรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมโหวตได้ 

พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก้าวไกลจะเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำบางคนออกมายืนยันแล้วว่า มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนครบแล้ว ถ้าครบแล้ว หมายถึงได้รับการสนับสนุนจาก สว.แล้วไม่น้อยกว่า 66คน

ต้อง 66เสียง เพราะว่า พรรคก้าวไกลหายไป 1 คน จากเหตุเมาแล้วขับ และ กกต.ยังไม่รับรองในการเลื่อนลำดับถัดมา จึงยังไม่ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ส่วนอีกคน ต้องทำหน้าที่ประธาน จะงดออกเสียงหรือไม่

แต่ประเด็นมาถึงวันนี้ สว.บางคนที่เคยเอ่ยปากสนับสนุน ‘พิธา’ เริ่มลังเลในการโหวต กลัวว่าจะเป็นการรับรองคนผิดเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วจะถูกเล่นงานตลบหลัง ส่วนคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่นแล้วก็ว่ากันไป แต่จำนวนเท่าไหร่แน่ ไม่มีใครยืนยัน

วันนี้ กกต.นัดประชุมสรุปอีกรอบในการดำเนินการตามคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธาว่าเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ซึ่งเมื่อวานได้พิจารณาแล้ว แต่พรรคก้าวไกลทำหนังสือแย้งไปว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง กกต.จึงเลื่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม

นับถอยหลัง 9 กรกฎา เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รายชื่อแคนดิเดตเริ่มชัด!! เหลือวิสัยทัศน์ที่ต้องงัดมาโชว์

'ตั๊น จิตภัสร์' โพสต์ข้อความเจ็บจี๊ด หยุดเอาชื่อตัวไปคั่วชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่เคยอยู่ในสมอง ซัดคนอยากเป็น 'หยุดวิ่งหาผู้ใหญ่ในพรรค' แนะนำตัวสมาชิกพรรคทั่วไทยดีกว่า ฝากถึงใคร! 'ผู้นำ' เดินคนเดียว ไร้คนเดินตาม ไม่เรียก 'ผู้นำ'

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ในพรรคเกี่ยวกับการแข่งขันเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มีใจความว่า...

"หยุดเอาชื่อตั๊น ไปร่วมกับแต่ละท่านที่อยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยค่ะ เรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่เคยอยู่ในความคิดของตั๊นเลย ทุกวันนี้มีความสุขกับการได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถรอรัฐบาลชุดใหม่ได้  

"ถ้าตั๊นอยากจะเป็นหัวหน้าพรรค ตั๊นแมนพอที่จะออกตัวลงสมัครมานานแล้วค่ะ สมาชิกที่บอกเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ละท่านที่อยากเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะมานั่งปล่อยข่าว หรือ วิ่งเข้า วิ่งออก บ้านผู้ใหญ่ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนะนำเอาเวลามาหาเสียงกับสมาชิกพรรคทั่วประเทศน่าจะดีกว่านะคะ (อย่างน้อยไปทำความรู้จักให้สมาชิกได้รู้จักว่า แต่ละท่านเป็นใคร เพราะตอนนี้แต่ละชื่อที่เสนอมาบอกเลย สมาชิกบางท่านยังไม่รู้จักเลยว่าคุณคือใคร)! อยากจะเป็นผู้นำ อย่าลืมลูกพรรคด้วยนะคะ! พรรคเป็นองค์กรที่ใหญ่มีสาขาพรรค สมาชิกหลากหลายในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แต่ใน กทม. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งนั้น การจะเป็นผู้นำเดินคนเดียว แต่ไม่มีคนเดินตามเค้าไม่เรียกว่าผู้นำหรอกนะคะ"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม) สถานการณ์ดูจะเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ขาเชียร์คุณตั๊นก็จบข่าวไป มี 'อลงกรณ์ พลบุตร' ที่ชัดเจนแล้ว

รอการตัดสินใจของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' และนายกฯ 'ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง' ว่าจะเปิดตัวกันวันไหน 

แต่ #นายหัวไทร ทราบว่า ทั้งนายกฯ ชาย และอภิสิทธิ์ ต่างเดินสาย พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน พบปะโหวตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยขั้วนายกฯ ชายมั่นใจว่า ถ้าลงแข่งเขาจะชนะ เพราะมีโหวตเตอร์สาย ส.ส.อยู่มากถึง 16-17 เสียง และโหวตเตอร์สาย ส.ส.มีน้ำหนักมากถึง 70% ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า ส.ส.สายนี้จะยังอยู่ครบ 16-17 เสียงหรือไม่ เมื่อมีเสียงอันแผ่วเบาไปจากผู้มากบารมี ขอให้เปลี่ยนใจ กลับใจ

ส่วนสายอภิสิทธิ์ มีโหวตเตอร์สาย ส.ส.8-9 คน แต่สายอภิสิทธิ์ก็จะมีเสียงสนับสนุนที่หนาแน่จากสาขาพรรค ตัวแทนจังหวัด อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.อีกสองเสียง คือ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ถ้าการประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม มีคนเสนอให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคบางข้อ เกี่ยวกับการให้น้ำหนักกับโหวตเตอร์สาย ส.ส.มากถึง 70% ตามที่ทนายเชาว์ มีขวด เสนอ และให้โหวตเตอร์ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 3 ใน 4 ขั้วนายกฯ ชายก็จะมั่วเหมือนกัน

การให้ที่ประชุมใหญ่มีมติงดเว้นการบังคับใข้ข้อบังคับพรรคบางข้อเคยมีปฏิบัติกันมาแล้วในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เอา 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' มาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปริญญ์เป็นสมาชิกพรรคได้ครบตามข้อบังคับพรรค

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้วจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ #นายหัวไทร อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจจะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนเปิดเผยตัวออกมา แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ โหวตเตอร์จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดตัวออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองควรจะตั้งเวทีดีเบต ให้ผู้สมัครทุกคนมาดีเบตกัน ท่ามกลางสมาชิกพรรคจากทั่วทุกทิศ อันเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าพรรคไม่จัด สื่ออาจจะจัดก็ได้ ถ้าผู้สมัครเปิดตัวออกมา ก็จะเป็นเวทีที่สนุก สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาธิปัตย์

ผมไม่ติดใจว่า คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิรูปพรรค เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ทันโลก ทันสมัย พร้อมจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อนำพาประชาธิปัตย์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่

ประชาธิปัตย์เคยยิ่งใหญ่ เคยมี ส.ส.เป็น 100 คนมาแล้ว สร้างนักการเมือง สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน แต่ผู้บริหารชุดใหม่จะต้องถอดบทเรียนถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมาให้ออก รับฟังเสียงสะท้อน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์ ยังไปได้ ประชาธิปัตย์ยังไม่ตาย อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ยังฝังอยู่ในจิตใจของแฟนคลับอีกไม่น้อย เพียงแต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top