Monday, 19 May 2025
นายหัวไทร

‘นิพนธ์-สรรเพชญ’ ขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ 67 ทั่วสงขลา แต่ไร้โลโก้ ปชป. คอการเมืองลือสนั่น!! หรือเลือกตั้ง อบจ.ปี 68 บ้านใหญ่จะหวนคืนสังเวียน?

(27 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวบรรยากาศการเมืองในจังหวัดสงขลา ก่อนการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 มีการพูดถึงพรรคการเมืองที่อยู่คู่ภาคใต้และจังหวัดสงขลามาอย่างยาวนานอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ (ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม) ที่ภายหลังการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจบริหารในพรรค โดยทีมบริหารชุดเก่าแพ้ให้กับทีมบริหารชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน มี ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค พร้อมกับวลี ‘ตระบัดสัตย์’ เพราะเฉลิมชัยเคยลั่นวาจาไว้ว่า “ถ้าผลการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม (52 ที่นั่ง) จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต”

แต่เฉลิมชัยกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งหมายถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต แปลความได้ว่า ไม่ได้เลิกเล่นการเมืองจริง สมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งจึงทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

แฟนคลับประชาธิปัตย์ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไปหลายฝ่าย โดยในจังหวัดสงขลามีการจับตาไปที่ ‘บ้านบุญญามณี’ ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่การเมืองในจังหวัดสงขลา ที่ขณะนี้ มีการขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ 2567 ไปทั่วเมือง ในขณะที่เจ้าตัวเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัว จ.แม่ฮ่องสอน

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า รูปภาพสวัสดีปีใหม่ของนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต สส.ประชาธิปัตย์หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ปรากฎรูปโลโก้พรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด รวมทั้งเมื่อสำรวจไปพื้นที่เขตอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ สส.ของ นายสรรเพชญ บุญญามณี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นลูกชายของนายนิพนธ์ก็ไม่มีโลโก้พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นที่พูดคุยกันในกลุ่มคอการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายการเมืองต่างพูดคุยกันว่า มีความไม่ปกติใดเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออนาคตจะไม่มี ‘บุญญามณี’ อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์?

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพป้ายสวัสดีปีใหม่ 2567 ของนายนิพนธ์ บุญญามณี นั้น ยังปรากฏทั่วจังหวัดสงขลา จึงมีการจับโยงวิจารณ์ถึงวาระนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่จะหมดวาระลงในเดือนธันวาคม ปี 67 และจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 68 วงร้านกาแฟวิจารณ์กันสนั่นว่า เป็นไปได้หรือไม่? ที่นายนิพนธ์จะย้อนกลับมาลงชิงนายกฯ อบจ.สงขลาอีกครั้ง โดยละทิ้งจากพรรคประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับนายกฯ อบจ.สงขลา ปัจจุบัน ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ นั่งบริหารอยู่ และถือได้ว่าเป็นทีมเดียวกับนายนิพนธ์ โจทย์ของคอการเมืองจึงยากขึ้น ในขณะที่มีการวางตัวคนที่จะมาสืบทอดต่อจากนายไพเจนแล้วด้วย รอเพียงให้เกษียณอายุราชการเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่า ‘การเมือง’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีเหตุผลอธิบายได้

ก้าวต่อไป 'ประชาธิปัตย์' จะฝ่ามรสุมไปอย่างไร? หลังวิกฤติเลือดไหลออกซัดโถม โซเชียลถล่มเละ

พรรคประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปท่ามกลางกระแสคลื่นลมแรงอย่างไร หลังการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนชุดของ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' อดีตหัวหน้าพรรคที่ลาออกหลังผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม นำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยิน ได้มาแค่ 25 ที่นั่ง จากเป้าที่ตั้งไว้ 60-70 ที่นั่ง

ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เลือก 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เป็นหัวหน้าพรรค มี 'เดชอิศม์ ขาวทอง' สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค โดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งอย่าง 'มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค' ถูกตัดออกด้วยคุณสมบัติที่ไม่ครบ เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติถ้าจะให้สง่างามในสไตล์ประชาธิปัตย์ ต้องเปิดช่องให้มาดามเดียร์ได้ลงแข่งขัน เพียงแค่งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคข้อนี้ ทุกอย่างก็จะสง่างาม และมาดามเดียร์ก็ยากจะชนะอยู่แล้ว เพราะโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ถูกล็อกไว้หมดแล้ว

การประชุมยังไม่แล้วเสร็จ สมาชิกบางคนเริ่มทยอยลาออก ประเดิมด้วย 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ที่ปิดห้องคุยกับเฉลิมชัย 10 นาที แต่ไม่มีอะไรลงตัว ทั้งสองยังยืนยันในจุดยืนของตัวเอง 'อภิสิทธิ์' จึงถอยออกไปนั่งดู ให้ 'เฉลิมชัย' เป็นตัวแสดงบทนำต่อไป

สาธิต ปิตุเตชะ เป็นอีกคนที่ลาออกตามอภิสิทธิ์ไป ไม่เว้นแม้กระทั่ง 'ติ๊งต่าง' แฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ ก็ลาออก พร้อมวลี “ยกพรรคให้เขาไป” เราอยู่กันไม่ได้กับคนไร้สัจจะ และสีเทา

สัจจัง เว อมตะ วาจา วาจาจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย คำขวัญใต้พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใต้โลโก้พรรคถูกหยิบขึ้นมากล่าวขานเหน็บแนมไปยังเฉลิมชัยอย่างแหลมคม ทิ่มเข้าไปเต็มอก เหตุเพราะเฉลิมชัยเป็นลั่นวาจาไว้เองในหลากหลายเวทีว่า ถ้าผลการเลือกตั้งได้น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ถอนกลับไปอยู่บ้านประจวบคีรีขันธ์ แต่การกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่างให้ความหมายที่ตรงกับว่า 'ตระบัดสัตย์'

สิ่งที่ไม่ควรลืม คือการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้ที่จะเป็น 'แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี' ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ นักการเมืองสำคัญคือ คือต้องรักษาคำพูด ไม่กลับกลอกไปมา เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน การรักษาสัจจะ รักษาคำพูด และใจถึงพึ่งได้ จนนักการเมืองหลายคนนำมาใช้เป็นคำขวัญประจำตัวว่า "ใจถึงพึ่งได้ คำไหนคำนั้น"

สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้เหมือน 'คนป่วยวิกฤติ' มีแต่เลือดไหลออก ล่าสุด 'อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์' ก็โพสต์เฟซบุ๊กอำลาไปอีกคนหนึ่งแล้ว และคิดว่า ยังจะมีอีกไม่น้อยที่ถอยออกไป

จับกระแสจากโซเชียลกับการเปลี่ยนแปลงในพรรค ยิ่งน่ากลัวกว่า พลันที่พรรคประชาธิปัตย์โพสต์รายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ลงบนเพจของพรรค ก็โดนถล่มเละ พูดได้ว่า 'เละเป็นโจ๊ก' เกิน 95% ตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และโบกมือลา กระแสใน x (ทวิตเตอร์) ก็ไม่แตกต่างกัน

สิ่งที่เป็นคำถามคือ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าฟื้นฟูพรรค ฟื้นหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคได้อย่างไร เพราะแค่ก้าวแรกก็โดนเตะตัดขาจนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว

3 เดือนจะต้องเห็นผล และจะมีการประเมินผลงานกรรมการบริหารพรรคทุกคน...นี่คือ วาจาของเฉลิมชัยที่ลั่นไว้ในวันที่ได้รับเลือกตั้ง ในวันที่ยังไม่เห็นทิศทาง แนวทาง ว่าจะหยิบอะไรขึ้นมาเป็นจุดขาย ท่ามกลางการถูกถล่ม 'พรรคสีเทา ไม่ใช่สีฟ้า' แม้เฉลิมชัยจะบอกว่า กรีดออกมาเลือดก็เป็นสีฟ้า ไม่แตกต่างจากอภิสิทธิ์

77 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 78 พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องไปหยิบเอกสารอุดมการณ์ของพรรคมานั่งอ่านทบทวนกันใหม่ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นก้าวเดินไปข้างหน้า หันกลับมาหัวเราะใส่พรรคเก่าแก่ ที่บอกกับสังคมว่าเป็น สถาบันทางการเมือง

‘เชาว์’ ซัดแรง!! ‘ประชาธิปัตย์’ ยุคผู้นำไร้สัจจะ ต่อไปจะกล้าก้มหน้ากราบพระแม่ธรณีได้อย่างไร?

(10 ธ.ค. 66) ‘เชาว์ มีขวด’ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับการรักษาสัจจะของผู้นำทางการเมือง ผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์…

โดย เชาว์ กล่าวนำว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ผู้นำพรรคไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’

“ผมไม่บอกว่าจะได้กี่เขต แต่วันที่พรรคมีวิกฤต ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว ว่ารอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือหันหลังเดินออกไปเลย”

เริ่มต้นเรื่องราวที่อยากบันทึกไว้ ด้วยคำพูดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ที่กล่าวไว้ในหลายเวทีหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ วันที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ เพราะจากที่เคยบอกจะวางมือทางการเมือง กลับมารับหน้าที่กุมบังเหียนพรรค ด้วยเหตุผลว่า…

“ผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่”

ก้าวแรกของเส้นทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ก็ได้ทำลายหลักการ และคำขวัญของพรรค ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะท่านไม่ได้รักษาสัจจะ สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ผมไม่ได้รังเกียจนายเฉลิมชัยเป็นการส่วนตัว แต่การที่นายเฉลิมชัยตระบัดสัตย์ต่อคำพูดตนเองที่ให้ไว้ต่อสาธารณะ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ไม่สง่างามในทางการเมือง และเป็นการทำลายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกคำพูดของนายเฉลิมชัย นับตั้งแต่วันนี้คือ ‘คำพูดของพรรคประชาธิปัตย์’ นายเฉลิมชัยพูด ก็คือพรรคพูด เพราะฉะนั้น ตราบใดที่นายเฉลิมชัยยังเป็นผู้นำพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะอีกต่อไป

“ผมไม่แน่ใจว่า นายเฉลิมชัย จะก้มกราบพระแม่ธรณีบีบมวยผม บริเวณลานที่ทำการพรรค ซึ่งมีคำขวัญ ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ อันแปลว่า ‘คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย’ ที่จารึกอยู่ใต้ฐานพระแม่ธรณีฯ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของพรรคอย่างไม่ละอายได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่ได้มีวาจาสัตย์จริง ทุกคำพูดที่พ่นออกมาว่าจะฟื้นฟูพรรค สำหรับผมไม่มีความน่าเชื่อถือแม้แต่น้อย เพราะวันนี้คำว่า ‘พรรค’ ถูกทำลายจากคำว่า ‘พวก’, ‘อุดมการณ์’ ถูกทำลายเพราะความกระสันในอำนาจและผลประโยชน์ ไม่น่าแปลกใจที่นายเฉลิมชัย จะไม่กล้าฟันธงว่า พร้อมเป็นฝ่ายค้านไม่ร่วมรัฐบาล เพราะบางคนเห็นแสงรำไร กับ 2 โควตารัฐมนตรีในรัฐบาลที่ยังว่างอยู่”

เป็นที่รับรู้กับว่า ‘เชาว์  มีขวด’ ก้าวเข้าสู่วงการทางการเมืองจากการชักชวนของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ให้เข้ามาทำหน้าที่รองโฆษกพรรคในสมัยที่อภิสิทธิ์นั่งเป็นหัวหน้าพรรค และถือว่าทำหน้าที่ได้ดี เมื่ออภิสิทธิ์ถอยออกไป เชาว์ก็ลดบทบาทตัวเองลง ไปประกอบอาชีพทนายความเหมือนเดิม

จับยามสามตา ทิศทางการเมือง ‘บุญญามณี’ เมื่อ ‘สรรเพชญ’ เปรย “ต้องทบทวนของตนเอง”

(10 ธ.ค. 66) น่าสนใจยิ่งกับบทบาทต่อไปของ ‘บุญญามณี’ ซึ่งหมายถึง ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ทายาททางการเมืองของนิพนธ์ บุญญามณี

น่าสนใจเพราะทั้ง ‘นิพนธ์’ และ ‘สรรเพชญ’ อยู่คนละขั้วกับทีมที่ชนะการเลือกตั้งในศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทีม ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เข้ามาบริหารพรรคชุดใหม่ และตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ที่อาจจะกล่าวได้ว่า ‘อยู่คนละฝั่ง’ กับนิพนธ์ ก็เข้ามานั่งเป็นเลขาธิการพรรค

ท่องยุทธภพไปเจอ ‘สรรเพชญ’ โพสต์ข้อความน่าสนใจยิ่งขึ้น

สจฺจํ เว อมตา วาจา
“คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย”

คำขวัญที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

วันนี้ท่านอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ฯ ได้พิสูจน์ให้ชาวประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่า คำว่า ‘สัจจะ’ มีความหมายเพียงใด ท่านไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านได้แสดงให้เห็น วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวประชาธิปัตย์หลายๆ คนรวมถึงตัวผมเองต้องคิดทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ

และขอให้พี่น้องมั่นใจว่า ผมจะยังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ

‘สฺจจํ เว อมตะวาจา’ เป็นคำขวัญประจำพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน อันเป็นการสะท้อนว่า “พลพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้องรักษาสัจจะ รักษาคำพูน การพูดความจริง จะเป็นอมตะ ไม่ตาย”

การที่สรรเพชญยกคำนี้ขึ้นมากล่าวอ้างในสถานการณ์นี้ จึงน่าสนใจ น่าคิดกับถ้อยคำที่ตามมากับคำว่า “ทบทวนบทบาทของตนเอง” จะตีความว่าอย่างไรกับวลี “ทบทวนบทบาทของตัวเอง” ก็ไม่อยากตีความ หรือคิดเอาเอง

เช่นเดียวกับบทบาททางการเมืองในอนาคตของ ‘นิพนธ์’ จะเดินหน้าภารกิจทางการเมืองอย่างไร หรือวางไว้เท่านี้ และให้ทายาททางการเมืองเดินหน้าต่อ

จับตาดูนะครับ ทิศทางทางการเมืองของ ‘บุญญามณี’ จะไปทางไหน และเป็นอย่างไร…

จับตา!! ศึกชิงหัวหน้าพรรคปชป. ดัน ‘เฉลิมชัย’ ชน ‘มาดามเดียร์’ การตัดสินใจที่น่าห่วง หาก ‘แรงยุ-แรงเชียร์’ เหนือเหตุและผล

“เสียง สส.ส่วนใหญ่ของเรายังผนึกกำลังกันแน่นเหมือนเดิม” เป็นคำยืนยันจาก ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีฯ พรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นการตอกย้ำว่า ขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน-เดชอิศม์ ขาวทอง’ ยังคงเดินหน้าสู้เพื่อยึดพรรคประชาธิปัตย์มาบริหาร

ภาพปรากฏชัดเมื่อ สส. 21 คนมาตั้งวงคุยกัน วิเคราะห์อนาคตกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ อันเป็นการตั้งวงวิเคราะห์หลังจาก ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค หรือ วงษ์โอภาสี ตัดสินใจเปิดตัวลงชิงหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาคืน’ ตามด้วยการออกคลิปส่งสัญญาณเจตนารมณ์ไปยังสมาชิกพรรคทั่วประเทศถึงความมุ่งมั่น

เอาเป็นว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ‘นิด้าโพล’ เป็นเครื่องยืนยันว่า มาดามเดียร์มาเต็งหนึ่ง แต่มีคะแนนไม่ตัดสินใจมากถึง 28% เลือกมาดามเดียร์ 27% ส่วน ‘นราพัฒน์’ และ ‘อภิสิทธิ์’ ยังตามหลังมาดามเดียร์

ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือถูก กลุ่ม สส.สาย ‘เฉลิมชัย-เดชอิศม์’ ประเมินว่า นราพัฒน์ แก้วทอง ต้องแพ้ ‘มาดามเดียร์’ จึงลงมติเปลี่ยนม้ากลางศึก ส่งเทียบเชิญ ‘เฉลิมชัย’ มาลงชิงหัวหน้าพรรคเอง แต่เฉลิมชัยยังไม่ตัดสินใจ ขอเวลา 1-2 วัน ในการตัดสินใจ ส่วนตัว #นายหัวไทร อยากให้เฉลิมชัยตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ใช่เกิดจากแรงยุ แรงเชียร์ 

เหตุและผลที่ว่า คือภารกิจหนักในการนำพาพรรค ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาพรรคจากประชาชนกลับคืนมา อุดมการณ์ของพรรคต้องกลับมาพิจารณาทบทวน ตรงไหนสึกหรอ กร่อนไป จะเสริมเข้ามาอย่างไร เพื่อให้พรรคมีความเป็นพรรคที่ทันสมัย เขาผลักให้ไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์ก็ยอม ไม่ดันตัวเองไปอยู่ฝ่ายก้าวหน้า เสรีนิยมประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์ของพรรค

เหตุอีกประการที่ไม่ควรลืม คือการที่เฉลิมชัย ประกาศกร้าวบนเวทีว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จะกลับไปประจวบคีรีขันธ์” ถ้าเฉลิมชัยกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เท่ากับ ‘เฉลิมชัย’ ตระบัดสัตย์ครั้งสำคัญ นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเสียผู้เสียคนกับการตระบัดสัตย์ นักการเมืองต้องพูดจริงทำจริง ไม่ทิ้งประชาชน

เมื่อประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว ก็ไม่ควรมาจุ้นจ้านอะไรอีก ควรผันตัวเองไปทำอย่างอื่น ไม่ควรอยู่แม้กระทั่งเบื้องหลัง รักษาการหัวหน้าพรรคก็ไม่ควรรับแล้ว ถ้ายังมีใจรักประเทศชาติ ประชาชน ก็ยังมีบทบาทอื่นรองรับได้ ทำงานได้ เช่น มูลนิธิ สมาคม หรืออะไรก็ได้ที่สามารถช่วยเหลือชาติและประชาชนได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมือง

การเมืองไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันเพื่อชัยชนะเพียงด้านเดียว การเมืองมีหลากหลายมิติ แต่นักการเมืองที่ก้าวเข้ามาคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ชนะ ทำอย่างไรในการช่วงชิง ‘อำนาจรัฐฯ’ มาอยู่ในมือ เข้าใจได้ว่า การแก้ไขปัญหาบางอย่างต้องใช้งบประมาณของรัฐฯ ต้องใช้อำนาจรัฐฯ ต้องใช้กลไกของรัฐฯ เป็นเครื่องมือ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการช่วงชิงอำนาจบริหารพรรค เพื่อนำพาพรรคไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ชาติ ประชาชน แต่เป้าหมายคือ ‘พวกพ้อง’ และ ‘ผลประโยชน์’ บรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวสำรอง ยังมีเวลาในการนั่งสมาธิ ให้เปิดปัญญา ตั้งสติ คิดให้รอบคอบ เดินเข้าสู่ห้องประชุมโดยไม่มีแรงจูงใจอื่น นอกจากสติที่คิดได้ ปัญญาที่มุ่งหวังดีต่อชาติบ้านเมือง

อุดมการณ์ประชาธิปัตย์จะยังไม่ตายหรอก ถ้าพลพรรคทั้งหลาย มีสติ มีปัญญา และมุ่งมั่นต่อชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์ของ ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค เมื่อ 77 ปีก่อน

‘รามคำแหง’ มหาวิทยาลัยประชาชน ที่เป็นมากกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่คือแหล่งบ่มเพาะความรู้ ที่ให้โอกาสและสร้างบัณฑิตสู่สังคมตลอด 52 ปี

“รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ” คือประโยคแรกที่พบเห็นในวันที่ก้าวย่างเข้าสู่รั้ว ‘รามคำแหง’

‘รามคำแหง’ คือ ‘มหาวิทยาลัยประชาชน’ เป็นตลาดวิชา แหล่งศึกษาเรียนรู้ของลูกคนยากคนจน ที่ถูกระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ ถีบส่งมา

ในเดือนพฤษภาคมของปี 2523 ผมหอบสังขาร พร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าเดินเข้าไปในรั้วรามคำแหงด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น มาหาความหมายของชีวิต เป้าหมายคือ ‘หอบใบปริญญาไปฝากพ่อแม่’

ในวันนั้น รามคำแหงคราคร่ำไปด้วยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่พลาดหวังกับการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเปิด พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ ที่มานั่งคอยแนะนำ คอยบอกในการกรอกใบสมัครเข้าเป็นนักศึกษา

ไม่เพียงแค่นั้น รุ่นพี่ยังคอยแนะนำ-ชักนำให้เข้าร่วมการทำกิจกรรมกับกลุ่ม ชมรม พรรคนักศึกษา บอกเล่าถึงปัญหาของสังคมที่เรา ในฐานะลูกหลานประชาชนจะต้องเข้าร่วมเพื่อการสะท้อนปัญหา หรือแก้ไขปัญหา

ผมไม่รู้จักรามคำแหงมาก่อนเลย ก่อนจะมาสมัครเป็นนักศึกษา รู้แค่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ที่สอนต่อจากระดับมัธยมเท่านั้น กลุ่ม ชมรม พรรคนักศึกษาอะไร ผมไม่รู้จัก ก็ต้องสอบถาม และรับรู้จากรุ่นพี่ที่มาคอยแนะนำ บอกเล่า

ผมเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตามรุ่นพี่เล่าให้ฟัง คือ ‘จบง่าย’ แต่ผมคิดอยู่นิดเดียวว่า ต้องเรียนอังกฤษถึง 4 เล่ม ซึ่งเป็นวิชาที่ผมสอบตก ต้องแก้มาตลอด แต่ไม่น่าจะมีคณะอื่นที่เหมาะสำหรับเรา เอาล่ะ… ไม่ลองก็ไม่รู้

เทอมแรกของลูกหลานประชาชน ลงทะเบียนเรียนไป 18 หน่วยกิต รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษด้วย สมัครเสร็จหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้ากลับที่พัก ไปนอนค้างหอพักเพื่อนในซอยเทพลีลา

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว…”

กระดาษแผ่นเดียวอันเป็นสัญญลักษณ์ของการเรียนจบ เป็นใบเบิกทางชีวิต แต่จริงๆ แล้ว 6 ปีในรั่วรามคำแหง เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมากมาย ได้ศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่มีสอนในตำรา ต้องไขว่คว้าหาเอาเอง ซึ่งมีแหล่งศึกษาเรียนรู้มากมาย

6 ปีที่เราถูกเคี้ยวจนข้น ก่อนเดินออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยประชาชนที่เราภาคภูมิใจยิ่ง ก้าวเดินออกมาอย่างมาดมั่นว่า เราเข้มแข็งพอ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีพอที่จะสู้กับใครก็ได้ ในภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

“จบรามฯ” เรากล้าบอกกับใครก็ได้ อย่างไม่รู้สึกด้อยกว่า พร้อมที่จะเดินเชิดหน้าสู้ในสังคมเส็งเคร็ง และที่ผ่านมา เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘ลูกพ่อขุน’ ไม่แพ้ใคร ทุกแวดวงวิชาชีพจึงเต็มไปด้วย ‘บัณฑิตรามคำแหง’

‘52 ปี รามคำแหง’ ได้สร้างคน สร้างบัณฑิตมาแล้วกว่า 1 ล้านคน และยังมีนักศึกษาในระบบอีกร่วมแสนคน

รามคำแหงจึงไม่ใช่แค่ตึก ไม่ใช่แค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะ แหล่งศึกษา แหล่งเรียนรู้ ทั้งในระบบ และนอกระบบ เพื่อนมากมายก็เจอในรั้วรามคำแหง

ที่ไหนมีคน ที่นั้นมีปัญหา รามคำแหงได้ผ่านอุปสรรค ผ่านปัญหามามากมาย ทุกประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง รามคำแหงจะต้องถูกบันทึกไว้ถึงการมีส่วนร่วม

“มีรามฯ ถึงมีเรา” ถ้าไม่มีรามฯ ก็ไม่มีเราในวันนี้ เพราะรามคำแหง คือ ‘เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง’

‘ถาวร’ พร้อมหนุน ‘พระนาย’ นักเรียน รร.นานาชาติ บลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่ หลังคว้าแชมป์กอล์ฟเยาวชน รายการ ‘TGA-SINGHA Junior Golf Ranking’

‘พระนาย’ นักเรียนทุน Bloomsbury international school Hatyai คว้าแชมป์ กอล์ฟเยาวชน ‘ถาวร’ ยินดีพร้อมหนุน พัฒนานักกีฬากอล์ฟเยาวชนทีมชาติไทย สู่ระดับมืออาชีพในอนาคต

ช่วงระหว่าง วันที่ 10-12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่สนามกรังปรีซ์ กอล์ฟคลับ จังหวัดกาญจนบุรี มีการจัดการแข่งขัน กอล์ฟเยาวชน ‘TGA-SINGHA Junior Golf Ranking’ ส่วนกลาง สนาม 5 คลาส S-A-B โดยมีตัวแทนเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขัน

โดยผลการแข่งขันในรุ่นคลาส AB ผู้คว้าแชมป์ ได้แก่ นายวิศว์ จิตตธร, รุ่นคลาส AG แชมป์ ได้แก่ นางสาวธัญจิรา อิสสระผล, รุ่นคลาส BB แชมป์ ได้แก่ นายพระนาย เหรียญไกร และเป็นนักกอล์ฟเยาวชนทีมชาติไทย, รุ่นคลาส BG แชมป์ ได้แก่ นางสาวมาริษา โตใจ, รุ่นคลาส SB แชมป์ ได้แก่ นายภูธเนษฐ์ กังวล, รุ่นคลาส SG แชมป์ ได้แก่ นางสาวพิมพ์ชมพู ฉายศิลป์รุ่งเรือง

สำหรับพระนาย เหรียญไกร เป็นนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ บลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่ ที่มี ‘ถาวร เสนเนียม’ นั่งเป็นประธานที่ปรึกษาอยู่

‘ถาวร เสนเนียม’ ประธานที่ปรึกษา Bloomsbury International School Hatyai ได้ออกมาแสดงความยินดีกับน้องพระนาย เหรียญไกร ซึ่งเป็นนักกีฬากอล์ฟเยาวชนทีมชาติไทยที่มีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนต่อความฝันของอาชีพคือ

1. บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
2. Bloomsbury International School Hatyai และ
3. ร้าน Crochet ซึ่งจะเป็นสปอนเซอร์หลักของน้องพระนายในการแข่งขันกีฬากอล์ฟ 

“ผมในฐานะประธานที่ปรึกษา Bloomsbury International School Hatyai เราพร้อมสนับสนุนน้องพระนาย ให้เดินตามความฝันทั้งด้านการเรียนและด้านกีฬาอย่างสุดกำลัง” ถาวร เสนเนียม กล่าว

โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่-หาดใหญ่ บริหารโดยคุณพิมพ์จันทร์ เสนเนียม ทายาทของถาวร เสนเนียม 

นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคยโพสต์เฟซบุ๊ก ถาวร เสนเนียม ว่า…

“คณะผู้บริหาร Bloomsbury International School Hatyai โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่-หาดใหญ่ คณะนี้เข้าบริหารตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ซึ่งผม นายถาวร เสนเนียม รับหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษา จนถึงขณะนี้ Bloomsbury International School Hatyai ได้รับรองการประเมินความเป็นมาตรฐานจาก 2 องค์กร คือ

1.มาตรฐานของสมศ. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565

2.มาตรฐานของ CIS (Council of International Schools) ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคม 2565 (January 2022)

ซึ่งถือว่ามีคุณภาพในด้านการเรียนการสอนและการบริหารเป็นที่น่าพอใจยิ่ง

วิธีการตรวจสอบว่าโรงเรียนใด สามารถดำเนินการจัดการศึกษาได้มาตรฐานหรือไม่ กฎหมายได้กำหนดให้มีการรับรองมาตรฐานเรียกว่าการประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการติดตาม และตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ ระบุไว้ในมาตรา 49 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คือ สมศ. เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

เป้าหมายของการประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม และโปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ สร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษาของชาติ โดยให้มีเอกภาพเชิงนโยบาย ซึ่งสถานศึกษาสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะ และพัฒนา คุณภาพการศึกษาให้เต็มศักยภาพของสถานศึกษาและผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับสถานศึกษา ในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพ ภายในของสถานศึกษา สร้างความเป็นอิสระ เสรีภาพทางวิชาการ เอกลักษณ์ ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม และพลเมืองของโลก ตามเป้าหมายการศึกษาชาติ

สำหรับการประกันคุณภาพโรงเรียนเอกชนประเภทโรงเรียนนานาชาตินั้น นอกจากจำเป็นต้องได้รับการประเมินและประกันคุณภาพจาก สมศ. แล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับรองการประกันคุณภาพภายนอกจากองค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยกระทรวงศึกษาธิการหรือองค์กรที่เป็นสากล เช่น CIS , WAS เป็นต้น โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กร CIS ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการยืนยันว่าโรงเรียนแห่งนี้ สามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีมาตรฐานทัดเทียมกับโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ ทั่วโลก สร้างความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active citizen) มุ่งเน้นให้เป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะเรียนรู้ (Learner) อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก (well being) และสร้างความยั่งยืน (sustainable)”

'เทพไท' ยุติบทบาททางการเมือง เตรียมทำหนังสือแชร์ประสบการณ์ในเรือนจำ ลั่น!! เดินหน้าทำเพลง จัดรายการวิเคราะห์การเมือง ดูแล 'กาแฟเทพไท'

(10 พ.ย. 66) เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ 'ป้าจอย' ถึงทิศทางการทำงานการเมืองหลังได้รับอิสรภาพว่า มีคำถามเกี่ยวกับทิศทางการเมืองว่าจะเดินไปในแนวไหน?

“ผมได้คุยกับครอบครัวและตกผลึกว่า เรามีกับ 8 คนพี่น้อง ผมกับมาโนช ก็ต้องยุติบทบาททางการเมือง ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย”

ทั้งเทพไท และมาโนช เสนพงศ์ น้องชาย ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี วันนี้เทพไทในวัย 62 ย่าง 63 กว่าจะกลับมาทำงานการเมืองต่อได้ก็อายุย่าง 70 แล้ว จึงน่าจะยุติบทบาททางการเมืองยาว

เทพไท บอกอีกว่า มีการคุยกันว่า จะมีใครทำงานการเมืองต่อได้บ้าง ก็เหลืออยู่ 4 คนที่ทำงานการเมืองต่อได้ คนแรกคือ เชาร์วัศน์ เสนพงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยังมีพละกำลังทำงานการเมืองต่อได้

“อาจารย์เชาร์วัศน์ แนวโน้มยังติดอยู่กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค อ.เชาร์วัศน์ ก็คงจะอยู่ประชาธิปัตย์ต่อไป”

อีกคนคือ พงศ์สิน เสนพงศ์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้เป็นผู้ช่วยของ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ ก็คงจะอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป

น้องมุก จริยา เสนพงศ์ ทำงานอยู่กรีนพีช เป็นเอ็นจีโอ ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม การเมืองภาคประชาชน เขาคุ้นเคยกับปิยบุตร แสงกนกกุล เรียนรุ่นเดียวกันที่ธรรมศาสตร์ พรรคก้าวไกลก็อยากให้เข้ามาช่วยทำงานการเมือง แต่เขาไม่สะดวก

เทพไท กล่าวอีกว่า น้องชายคนเล็ก ครรชิต เสนพงศ์ เขาเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว ก็คงอยู่ก้าวไกลต่อไป 

“4 คนนี้จะทำงานการเมืองต่อไป สำหรับผมก็ไม่มีบทบาททางการเมืองแล้ว ก็จะยังคงเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนการเมืองสุจริต ไม่ซื้อเสียง ไม่หากินกับยาเสพติด และฮั้วประมูล”

เทพไท เปิดเผยว่า อนาคตจะทำพ็อกเก็ตบุ๊กสักเล่ม ท่านชวนแนะนำให้เขียนประสบการณ์ชีวิตในคุก 16 เดือน เผยแพร่ให้กับประชาชน

เทพไท ย้ำว่าเตรียมทำงานเกี่ยวกับเพลง เข้าห้องอัดเสียง เนื่องจากตอนอยู่ในเรือนจำได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเรือนจำไว้ 15 เพลง และอื่น ๆ อีก 20 เพลง

เทพไทบอกว่า ยังเตรียมจัดรายการวิเคราะห์การเมือง เพราะเคยมีประสบการณ์จัดรายการ 'สายล่อฟ้า' ซึ่งเป็นรายการที่มีเรตติ้งดีมาก แต่เป็นทีวีดาวเทียม ต่อไปอาจจะจัดบนทีวีดิจิทัล ก็ต้องดูว่ามีช่องไหนสนใจ และรูปแบบรายการจะเป็นอย่างไร แต่คงจะยังมี 'ล่อฟ้า' อยู่

เทพไทบอกอีกว่า อย่างอื่นก็คงจะมีทำธุรกิจอยู่บ้าง โดยทำ 'กาแฟเทพไท' ให้บริการคอกาแฟบ้านเรา หลังจากนี้ก็จะทำอยู่ 3-4 เรื่องนี้

จับตา 'ตัวเต็ง' ศึกชิงตัวแทนเกษตรภาคใต้ เปิดตัวเต็งจ่อเข้าวิน 4 คน นั่งบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ

เหลือเวลาอีกเพียงสิบกว่าวันก็จะถึงวันที่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร จะต้องออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตัวแทนเกษตรในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และการพัฒนา-ฟื้นฟูอาชีพ จะได้นำเงินรายได้มาชดใช้หนี้สิน

เกษตรกรสมาชิกที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 5.2 ล้านคน (ตัวเลขกลมๆ) ในโอกาสนี้จึงอยากขอเชิญชวนให้เกษตรกรสมาชิกทุกท่านออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 นี้ เพื่อจะได้มีผู้แทนของเกษตรกรทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องเกษตรกร ร่วมเสนอความคิดเห็น นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งด้านหนี้สิน การพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร รวมถึงมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในด้านต่างๆ ด้วย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีเกษตรกรสมัครเป็นตัวแทนเกษตรทั้งหมด 127 คน จากทุกภาค และต้องคัดเหลือแค่ 20 คน เข้าไปเป็นตัวแทนในบอร์ดกองทุนฟื้นฟู โดยภาคเหนือมีผู้สมัคร 28 คน ต้องคัดให้เหลือ 5 คน ภาคกลางมีผู้สมัคร 19 คน คัดให้เหลือ 4 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สมัคร 57 คน คัดให้เหลือ 7 คน ภาคใต้มีผู้สมัคร 23 คน คัดให้เหลือแค่ 4 คน และในจำนวนตัวแทนเกษตรกร 20 คน จะคัดส่วนหนึ่งไปเป็นบอร์ดบริหาร

กล่าวสำหรับภาคใต้ มีผู้สมัคร 23 คน มีทั้งคนเก่า และคนใหม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และคัดให้เหลือแค่ 4 คน กล่าวโดยรวมผู้สมัครที่เป็นตัวแทนเกษตรกรคนเก่า ยังมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะมีชื่อเป็นที่ปรากฏ มีผลงานมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ซึ่งภาคใต้มีตัวแทนเกษตรกรคนเก่าลงสมัครมากถึง 8 คน คะแนนก็จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 คนนี้เป็นหลัก

จากการติดตามกระแสการเลือกตั้ง เกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่เกิน 70% ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งตัวแทนเกษตรในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ และจะไปลงคะแนนที่ไหน อาจจะกล่าวได้ว่าสำนักงานกองทุน กฟก.ยังด้อยเรื่องการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเกษตรกรสมาชิกออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือแม้แต่สำนักงานกองทุนในแต่ละจังหวัด ก็ยังขาดการประชาสัมพันธ์ ทำไมเหมือนการเลือกตั้ง สส. มีทั้งรถแห่ มีแจกใบปลิว มีการส่งหนังสือถึงผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน หรือแม้กระทั่งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกระแสหลัก วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นสื่อโซเชียลก็จะเป็นเว็บไซต์ เว็บเพจ ทวิตเตอร์ ยูทูบ เป็นต้น

ในภาคใต้ ผู้ที่มีโอกาสได้รับเลือก มีอยู่ 6-7 คน และทั้งหมดเป็นคนเก่า อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่า 'รุสดี บินหะยีสะมาแอ' น่าจะเป็นตัวเต็ง เป็นอดีต สว.และตัวแทนเกษตรกรมาแล้ว 2 สมัย จึงต้องหยุดตามกฎหมายกำหนด และส่งสมบูรณ์ จิตรเพ็ญ ลงสมัครแทน และได้รับการเลือกตั้งด้วย ภายใต้การขับเคลื่อนของรุสดี แต่คราวนี้การเจรจาไม่ลงตัว สองคนจึงลงแข่งกันเอง แต่รุสดียังมีความเหนือกว่า ทั้งในแง่ของผลงาน และชื่อเสียง ประสบการณ์

พจมาน สุขอำไพจิตร ผู้สมัครจากชุมพร เป็นตัวแทนกรรมกรในสมัยที่ผ่านมา และเป็นผู้หญิงคนเดียว จึงยังน่าจะได้รับคะแนนสงสาร เห็นใจอยู่ไม่น้อย การจัดการคะแนนก็เป็นระบบ เพียงแต่มีข้อด้อยตรงที่ผลงานไม่เด่นชัดนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรสมาชิกอ้างได้ว่า "เราให้โอกาสคุณแล้ว" อาจจะถึงเวลาเปลี่ยนก็เป็นได้

ละม้าย เสนขวัญแก้ว ผู้สมัครจากนครศรีธรรมราช เคยเป็นตัวแทนสมัยที่ผ่านมา แต่ถูก คสช.ใช้ ม.44 ปลด และแต่งตั้งคนใหม่มาแทน แต่ละม้ายเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ลงสมัคร เข้าใจปัญหา และวิธีการในการแก้ไขปัญหาดีคนหนึ่ง ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เคยเป็น สจ.หัวไทรหลายสมัย เคยเป็นประธานสภาฯ อบจ.นครศรีธรรมราช และเคยเป็นรองนายกฯอบจ.นครศรีธรรมราช และอีกหลายๆ ตำแหน่งที่สะท้อนประสบการณ์

สุภาพ คชบูด อดีตตัวแทนเกษตร มาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย ผลงานเป็นที่ปรากฏไม่น้อย เครือข่ายมีมาก การจัดการเป็นระบบ แต่ต้องเร่งมือในการแก้ข่าว กับการถูกโจมตี ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คู่ต่อสู้ต้องชกแชมป์ ไม่แตกต่างจาก 'ดรณ์ พุมมาลี' ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเกษตรกรในสมัยที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นคนหนุ่มที่ขยับลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ร้องขอให้ช่วยเหลือ เขาเดินทางไปพบเกษตรกรไม่น้อย เดินทางอยู่ในพัทลุง, ตรัง, สงขลา, นครศรีธรรมราช ก็น่าจะได้รับแรงใจจากเกษตรกรสมาชิกไม่น้อย แต่ต้องก้าวให้ผ่านการถูกโจมตีให้ได้ เอาผลงานมาแจกแจงให้ชัดในช่วงโค้งสุดท้ายนี้

วีระพงศ์ สกล อดีตตัวแทนเกษตรกรเช่นกัน คราวที่แล้วต้องพัก เพราะเป็นมาแล้วสองสมัย เปิดทางให้ละม้าย เสนขวัญแก้ว มาลงแทน ในแวดวงเกษตร วีระพงศ์เป็นที่รู้จักกัน มีเครือข่ายเชื่อมโยง และเคยมีผลงานในการจัดการหนี้ให้เกษตรกรหลายราย วงเงินนับ 100 ล้าน แต่วีระพงศ์ กับละม้าย กลับต้องมาลงแข่งกันเอง และแบ่งคะแนนกันของคนนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนลุ่มน้ำปากพนัง แต่ถ้าเปรียบเทียบกัน ละม้ายน่าจะมีระบบคิดที่เหนือกว่า ถ้าสองคนนี้ได้คุยกัน และลงสมัครเพียงคนเดียว จะได้คะแนนจากคนลุ่มน้ำไม่น้อย และน่าจะได้รับเลือกเป็นแน่แท้ แต่เมื่อมาแข่งมาแย่งคะแนนกันเอง ก็ต้องไปวัดดวงกันจากคะแนนโซนอื่นๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพียงอยากกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรสมาชิก กฟก.ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ส่วนผู้สมัครคนอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง บอกตามตรงว่า "ไม่มีข้อมูลมากพอ"

ใครจะได้รับเลือกตั้งก็ตามขอให้มีความสุขกับการช่วยเหลือเกษตรกร แก้ปัญหาหนี้ และฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรในช่วงที่รับหน้าที่อยู่ และมุ่งมั่น ตั้งใจ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้พ้นจากบ่วงที่ผูกรัดมัดคอมายาวนาน

ส่องเกณฑ์เลือก สว.ชุดใหม่!! 200 คน ภายใต้ รธน. 2560 มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน

(1 ต.ค. 66) มึนงงกับการศึกษาที่มา สว.ใหม่ สรุปคือมี 200 คน มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน

นายหัวไทร หยิบ ‘รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560’ มาอ่านอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแต่งตั้งพิเศษจาก คสช.ตามบทเฉพาะกาล 250 คน ใกล้จะหมดวาระในช่วงกลางปี 2567 (พฤษภาคม) และสว.ชุดใหม่ที่มาแบบใหม่เป็น สว.ตามบทหลักภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

แต่จากการอ่านหมวด ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 107 เขียนไว้ซับซ้อนเข้าใจยากถึงที่มาจาก สว.ชุดใหม่ ต้องไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็พอจะเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ลึกซึ้งมากนัก ต้องหาผู้รู้ด้านกฎหมายมหาชนมาอธิบายอีกครั้ง

เอาคร่าวๆ นะครับว่า ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มี สว. 200 คน เลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มพิเศษคัดเลือกกันเอง

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ สว.มีแค่ 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ ‘เลือกกันเอง’ โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านๆ ต่าง ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกกันเองอย่างชัดเจนจะถูกลงไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.วุฒิสภา)

พ.ร.ป.วุฒิสภา มาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร สว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และกลุ่มพิเศษอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ รวมจำนวนทั้งหมด 20 กลุ่ม ดังนี้...

- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- (กลุ่มพิเศษ) กลุ่มสตรี 
- (กลุ่มพิเศษ) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มอื่นๆ

โดยผู้สมัครจะต้องมีไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆ ตามมาตรา 14 เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 13 ดังนี้...

- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี 
- ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก, เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย ‘อื่นๆ หรือในทำนองเดียวกัน’ จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

ส่วนที่มา สว. ให้เวียนเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ

โดยที่มาของ สว.ชุดใหม่ เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติผ่านฉลุย ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่มและในหนึ่งอำเภอเท่านั้น (มาตรา 15) ซึ่งทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้...

>> ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ (มาตรา 40) 
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป 

>> ด่านที่สอง เลือกกันเองในระดับจังหวัด (มาตรา 41) 
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สองอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป

>> ด่านที่สาม เลือกกันเองในระดับประเทศ (มาตรา 42)
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรก ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว.
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นสว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น 

โดยสรุป เมื่อผ่านการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร สว.ทั้งหมดสามด่านแล้ว ก็จะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว. ยกตัวอย่างเช่น...

นาย ก.เคยเป็นครู ทำงานมาแล้ว 20 ปี อยากเป็น สว. ดังนั้น นาย ก.จึงไปสมัครตามอำเภอที่ตนพำนัก เพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มอาชีพที่ตนเชี่ยวชาญคือ กลุ่มการศึกษา เมื่อตรวจคุณสมบัติผ่านก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกันเองสามด่าน ซึ่งนั่นหมายความว่า นาย ก. จะเป็นทั้งผู้มีสิทธิเลือกสว.และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกให้เป็น สว.ไปพร้อมกัน

และการที่ ‘นาย ก.’ จะเป็นสว.ได้นั้น นาย ก.ต้องติด Top 40 ของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และยังต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ ถูกเลือกจนกลายเป็น Top 10 ของกลุ่มการศึกษา และเป็นหนึ่งใน 200 คนที่ได้รับตำแหน่ง สว. ในที่สุด

การได้มาซึ่ง สว. ด้วยวิธีการ ‘คัดเลือกกันเอง’ นับว่าเป็นแบบไม่ง้อการเลือกตั้งจากประชาชน โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า “ประชาชนเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมือง เพราะไม่ต้องหาเสียง เขาก็คุยกันเฉพาะแต่ในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ สว.ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือ ‘ประชาชน’”

อ่านทั้งรัฐธรรมนูญ และ พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ก็พอจะประมวลได้แค่นี้ แต่ก็ยังยากจะเข้าใจอยู่ ยังต้องหากูรูกฎหมายมหาชนมาอธิบายคำว่า ‘กลุ่ม’ กับ ‘สาย’ และ ‘ขั้น’ ต่างๆ ที่เขียนไว้ซับซ้อนไม่น้อย

สรุปง่ายๆ คือ สว.มี 200 คน ในขั้นต้นเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ค่อยไปเลือกข้ามกลุ่มเมื่อมีการแบ่งสาย ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top