Saturday, 18 May 2024
นายหัวไทร

ก้าวที่พลาดของ 'ก้าวไกล' กับการเลือกตั้ง 'นายกฯ อบจ.ปทุมธานี' อาจมิใช่กระบวนการสรรหาผู้สมัครถูกบีบด้วย 'เวลา-วันลงสมัคร'

“ด้วยการเลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานีที่กำลังจะมาถึงนี้ เกิดขึ้นกะทันหันจากการที่อดีตนายก อบจ. ชิงลาออกเพื่อฉวยโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ตนเอง พรรคก้าวไกลต้องขอโทษพี่น้องประชาชนชาวปทุมธานี ที่เราไม่สามารถสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครนายก อบจ. ปทุมธานี ที่เหมาะสมได้ทันเวลา” นี่คือเหตุผลที่ชัยธวัช ตุลาธน ให้กับสาธารณะถึงการไม่ส่งผู้สมัครชิงนายกฯอบจ.ปทุมธานี

บิ๊กแจ๊ส พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกฯอบจ.ปทุมธานี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลว่า ช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งไม่สามารถทำอะไรได้มาก ด้วยข้อจำกัดระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเบิกจ่ายงบประมาณ ในขณะที่ผู้บริหาร อบจ.โซนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประเมินว่า ปลายปีจะมีฝนมาก และอาจทำให้น้ำท่วมได้ แต่มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 3 ผู้บริหาร อบจ.3แห่งจึงตัดสินใจลาออก คือนายกฯอบจ.นครสวรรค์ นายกฯ อบจ.ปทุมธานี และนายกฯอบจ.อ่างทอง

แต่ฝ่ายคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกลวิเคราะห์ว่า เป็นการลาออกช่วงชิงความได้เปรียบ คู่แข่งตั้งตัวไม่ทัน ก็อาจจะไม่ผิดมากนัก เพราะนักการเมืองก็ต้องอาศัยจังหวะที่ตัวเองได้เปรียบ เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งแน่นอน

แต่น่าแปลกใจที่พรรคก้าวไกลไม่ส่งผู้สมัคร ด้วยเหตุผลของความไม่พร้อมในการคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมมาลงชิง แต่ข้อเท็จจริงของเหตุผลอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่จำกัด เพราะพรรคก้าวไกลโหมโรง ตีปีบการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ไก่โห่แล้ว การบอกว่า ไม่พร้อมด้วยข้อจำกัดของเวลาในการคัดสรรบุคคล จึงเป็นเหตุผลที่ไม่น่ารับฟัง น่าจะมีเหตุที่อยู่เหนือผลที่ออกมา

เหตุน่าจะมาจากความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ สส.ก้าวไกล ปทุมธานี มากกว่าและมีร่องรอยให้เห็นอยู่

ช่วงเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม ทางทีมงานพรรคก้าวไกลแจ้งกำหนดการผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำพรรค ว่า ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค จะเดินทางไปเปิดตัวพบว่าที่ผู้สมัครนายกฯอบจ.ปทุมธานี ในนามพรรคก้าวไกลช่วงสุดสัปดาห์นี้ แต่สุดท้าย ทีมงานของพรรคก็ลบข้อความดังกล่าวทิ้ง พร้อมแจ้งยกเลิกกำหนดการ โดยไม่บอกเหตุผล

จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ทีมงานพรรคก้าวไกลแจ้งเรื่องที่นายชัยธวัช ประกาศว่า กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรค มีมติไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี และไม่สนับสนุนใคร เนื่องจากกระบวนการสรรหาผู้สมัครถูกบีบรัดด้วยเวลา และวันลงสมัคร

ทั้งชัยธวัช และพริษฐ์ ต่างพากันออกมาให้สัมภาษณ์สื่อถึงมติพรรคไม่ส่งผู้สมัครชิงนายกฯอบจ.ปทุมธานี ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่เหตุของการไม่ส่งผู้สมัครชิงผู้บริหารท้องถิ่นครั้งนี้ น่าจะมีเหตุมากกว่าที่ยกมาอ้างของพรรคที่ประกาศชูธงการกระจายอำนาจ เดินสายพบปะประกาศเจตนาสุดขั้วของการเมืองท้องถิ่น ถึงขั้นเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด การมาสะดุดแค่เงื่อนเวลาจึงไม่น่าใช่

เมื่อพิจารณาโดยเนื้อแท้แล้ว เราพบรอยร้าว ความไม่ลงรอยกันของ สส.ก้าวไกล ปทุมธานี จนนำมาสู่ความอลหม่านครั้งนี้ สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกลไม่เป็นเอกภาพกันเองมากกว่า

กลุ่มหนึ่งหนุน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ที่ทิ้งพรรคเพื่อไทยออกมาแล้ว และชาญ พวงเพ็ชร เข้าไปยึดหัวหาดเพื่อไทยเรียบร้อย สส.กลุ่มนี้เล็งเห็นว่า ถ้าก้าวไกลสนับสนุน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ โอกาสชนะมี และจะเป็นการประเดิมชัยชนะสำหรับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในซีซั่นนี้

แต่ สส.อีกกลุ่มกลับคิดว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังมีคราบไคลของทักษิณ ชินวัตร อยู่และแนวคิดอาจจะไม่ตรงกับก้าวไกล ทั้ง ๆ ที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ คล้อยมาทางก้าวไกลแล้วด้วยซ้ำ

โดย สส.กลุ่มนี้ กลับไปมีท่าทีสนับสนุน ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ลูกชาย 'บิ๊กแจ๊ส' พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัว ก็มีการพูดคุยกับทึมก้าวไกลมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังติดประเด็นตรงที่บิ๊กแจ๊สก็ยังไม่วางมือ (ลูกจะไปเบียดพ่อมันก็น่าเกลียด)

เมื่อ สส.ปทุมธานี อีกกลุ่มหนึ่งคัดค้าน และไม่อยากไปมีอะไรกับพ่อ ทำให้ต่อมา ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ถอนตัวอย่างกะทันหันช่วงคืนวันที่ 16 พฤษภาคม พร้อมข้อเสนอให้พรรคก้าวไกลสนับสนุนพ่อ

ชัยธวัช เรียกประชุม สส.พรรค ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นการด่วนในช่วงค่ำ เพื่อทำความเข้าใจกับ สส. สุดท้าย นำมาสู่การประกาศต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมว่า พรรคก้าวไกลไม่ส่งคนลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมธานี

ก้าวย่างที่พลาดของก้าวไกลในครั้งนี้ถือว่า พรรคเสียหาย กับปี่กลองที่เชิดแล้ว แต่ก้าวไกลไม่รำ กลับกลายเป็นฝ่ายนั่งดู แหม…มันหัวใจระทึกนะ สำหรับนักการเมืองที่ร่ำร้อง เพรียกหาประชาชน

เหตุใด? ‘สส.’ ถึงตัดงบฯ สำหรับ ‘เขาพังไกร’ จ.นครศรีธรรมราช หลังสัญญาจะปรับภูมิทัศน์-สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาท

ผมก็งงว่า…ทำไมงบประมาณในการปรับภูมิทัศน์บนเขาพังไกร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเสนอโดยองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ถึงถูกตัดออกไปในงบประมาณปี 67

ถูกตัดในชั้นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรให้ตัดงบก้อนนี้ออกไป

เขาพังไกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และ อพท.รับไว้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ แต่เมื่อมีการเสนอของบประมาณเพื่อปรับภูมิทัศน์บนเขาพังไกร กลับไม่ได้รับความใส่ใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตัดงบทิ้งเฉย ซึ่ง #นายหัวไทร ไม่รู้ถึงเหตุผลในการตัด การชี้แจงของหน่วยงานเสนอของบกรรมาธิการงบฯ เข้าใจหรือเปล่า

กล่าวถึง ‘เขาพังไกร’ ต้องมีตำนานผูกโยงกับช้างแน่นอน เพราะมีคำว่า ‘พัง’ หมายถึงช้างตัวเมีย นครศรีธรรมราช มีเรื่องของช้างหลายเชือก เช่น พลายจำเจิญ พลายดำ ช้างตัวเมียเชือกหนึ่งมาล้มที่เขาพังไกร จึงตั้งชื่อชุมชนย่านนี้ว่า ‘เขาพังไกร’

เขาพังไกร ยังมีจุดชมวิวและมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ตั้งบนยอดเขาพังไกร สามารถชมทิวทัศน์ได้ 360 องศา จึงเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เหมาะแก่การพัฒนา และยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอ พร้อม ๆ กับการศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตร แหล่งทำนาใหญ่ของอำเภอหัวไทร

ตามประวัติศาสตร์การปกครอง เขาพังไกรเคยเป็นที่ตั้งของอำเภอ แต่ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่หัวไทรในปัจจุบัน ‘เขาพังไกร’ ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ราวปลายกรุงสุโขทัย ตำบลเขาพังไกรขณะนั้นนับเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญทางด้านการเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในสมัยนั้น จนมาถึงปัจจุบันพื้นที่ ต.เขาพังไกร ก็ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นดินแดน 2 ลุ่มน้ำคือลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก 

เขาพังไกรมีอัตลักษณ์การดำรงวิถีชีวิตชาวนาไทยอย่างชัดเจน มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ยังมีการปลูกกันอยู่ เช่น ข้าวไข่มดริ้ว ส้มโอทับทิมสยามก็เริ่มขยายพื้นที่ปลูกจากปากพนังมาถึงหัวไทร มาถึงเขาพังไกรแล้ว

เขาพังไกร โดยเฉพาะบนเขาพังไกร จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการพัฒนา ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงกับชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวิถีชีวิตและประเพณีจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมที่ชุมชนร่วมจัดขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภายใต้การดูแลของ อพท.และท้องถิ่น

รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา (สมัยที่ผ่านมา) พิพัฒน์ รัชกิจประการ เคยเดินทางขึ้นไปร่วมกิจกรรมบนเขาพังไกรมาแล้ว และเคยรับปากจะช่วยผลักดันโครงการปรับภูมิทัศน์และสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทมาแล้ว

ผมเองได้ขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทบนเขาพังไกรมาแล้วสองครั้ง เพิ่งไปมาเมื่อไม่นานมานี้เอง และเพิ่งรู้ว่าบนเขาพังไกรมารอยพระพุทธบาท และรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ไปสัมผัสกับวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เห็นท้องนาเขียวขจียืนต้นขนานไปกับต้นตาลสูงเด่นเป็นสง่า

แต่น่าเสียดายโครงการปรับภูมิทัศน์และสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทบนเขาพังไกร ถูกตัดทิ้งอย่างไม่ไยดีจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นไรครับ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น

เรื่อง : นายหัวไทร

สะกิดต่อมผู้ใหญ่ (ใจร้าย) ฮั้วเงินสะพัด 30 ล้าน ทำเด็กๆ อดกินนม หลังการจัดสรรพื้นที่ 'ผลิต-จำหน่าย' ยังเงียบ แม้ใกล้เปิดเทอม

นมวัว 1,100 ตันต่อวัน คือปริมาณที่ใช้ทำนมโรงเรียนแจกจ่ายทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 มีเอกสารราชการที่ระบุว่า...

"ความต้องการนมโรงเรียน ปี 66 – 67 จะมีมากถึง 2,064.73 ตัน"

ที่ผ่านมานมโรงเรียนมีสัดส่วน 33% หรือ 1 ใน 3 ของการบริโภคน้ำนมโคของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยตัวเลขใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 69.22% หรือ 2 ใน 3 ของนมในตลาด

1. หลายปีมานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาดแคลนน้ำนมวัวเพราะเกษตรกรเลิกอาชีพไปหลายราย วัวนมจำนวนมากถูกส่งเข้าโรงชำแหละ วัวสาวถูกขายส่งออกไปเวียดนาม เพื่อทดแทนน้ำนมที่ขาดจึงมีการนำเข้านมผงจาก ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ประเทศแถบยุโรป และจีน มาผสมน้ำนมเพื่อจำหน่าย

2. หากปล่อยให้นำเข้านมผงมากเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำนมดิบตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยอยู่ไม่ได้หมดกำลังใจในอาชีพนี้

3. น้ำนมวัวสด มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมผงที่มีหลายเกรดหลายราคา อีกทั้งสิบกว่าปีก่อนยังมีข่าวดังไปทั่วโลกเรื่องเด็กเสียชีวิตในประเทศจีน เพราะบริโภคนมผงที่ผู้ผลิตจงใจผสมสารเมลามีนเพื่อเพิ่มปริมาณและน้ำหนักนมผง

4. ในปี 2568 ภาษีนำเข้านมผงจะลดลงหรือเป็นศูนย์ ตามข้อตกลง FTA ที่ไทยร่วมตกลงไว้

นมโรงเรียน เป็นธุรกิจที่มีระบบโควตาจากรัฐ ใครได้มากจะยิ่งมั่นคงและได้เปรียบทางธุรกิจ จึงมีการแย่งชิงจนเกิดคอร์รัปชันหลาย ในหลายรูปแบบ ทำให้การจัดสรรโควตาไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง ผู้ประกอบการโรงนมเคยร้องเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า

กล่าวสำคัญปีการศึกษา 2567 โรงเรียนกำลังเปิดเทอมแล้ว บางโรงในต่างจังหวัดเปิดเทอมแล้ว ในกรุงเทพจะเปิดในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ แต่ยังไม่มีนมให้เด็กนักเรียนกิน

ผู้ประกอบการโรงนมรายหนึ่งโวยวายว่า กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมสรุปยอดน้ำนมดิบ ในแต่ละปีจะต้องสรุปยอดน้ำนมดิบว่ามีอยู่ที่ไหนเท่าไหร่ เพื่อส่งให้อนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ (โควา) ดำเนินการจัดสรรโควตาให้กับโรงนม 

“ปีนี้กรมปศุสัตว์ยังหาข้อสรุปยอดนมดิบให้กับอนุกรรมการจัดสรรโควาไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถผลิตนมไปแจกเด็กนักเรียนได้”

มีรายงานว่า ยอดน้ำนมดิบถูกเก็บงำไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ยอมแจ้งต่ออนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ โทรสอบถามก็ไม่มีใครตอบได้ อนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ก็ปวดหัวกับการต้องตอบคำถามจากผู้ประกอบการโรงนม

มีรายงานข่าวว่า สาเหตุของความล่าช้าในการสรุปยอดน้ำนมดิบ และทำให้การจัดสรรพื้นที่ช้า เด็กไม่ได้กินนมมาจากผู้ประกอบโรงนมรายใหญ่รวมตัวกันจ่ายเงินใต้โต๊ะผู้ร่างหลักเกณฑ์นมโรงเรียนให้เข้ากับกลุ่มนายทุนรายใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลทำให้กลุ่มผู้ประกอบรายเล็กได้รับผลกระทบในภาคอีสาน, ภาคเหนือ, ภาคกลาง ที่มีโรงนมเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนมากจนนำมาขอการร้องเรียน

รายงานข่าวแจ้งว่า นี้คือขบวนการมาเฟียนมโรงเรียนล่าสุดกลุ่มนายทุนใหญ่ในวงการนมโรงเรียนรวมลงขันจ่ายเงินให้กับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการลงนามเป็นเงิน 30 กิโลกรัม เป็นกลุ่มทุนที่เคยเข้าไปร้องเรียนเรื่องน้ำนมดิบเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการโรงนมรายหนึ่งโวยว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมหลักเกณฑ์ต้องเปลี่ยนทุกปี ทั้งๆ ที่บางปีหลักเกณฑ์ดีอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารก็เปลี่ยนหลักเกณฑ์ มันมีผลประโยชน์อะไรอยู่ในหลักเกณฑ์นี้หรือเปล่า มันสร้างความวุ่นวายวาย เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการโรงนม

ฝากไปยังผู้ใหญ่ใจร้ายทำเด็กอดกินนม ให้รีบแจ้งยอดน้ำนมดิบ เพื่อให้อนุกรรมการได้จัดสรรพื้นที่ แบ่งโควตาการผลิตนมโรงเรียน เด็กจะได้กินนม

คลอง 'พล.อ.อาทิตย์' แห้งผาก ข้าวนาปรังรอวันยืนต้นตาย  กรมชลประทานอยู่ไหน หรือต้องรอ นายกฯ ลงมาจี้เอง

น่าสงสารเกษตรกรโซนบก ของจังหวัดสงขลา (ระโนด, กระแสสินธ์, สทิงพระ, สิงหนคร) เมื่อคลอง พล.อ.อาทิตย์ จ.สงขลา น้ำแห้งผากแล้ว ข้าวนาปรังรอวันยืนต้นตาย ('คลอง พล.อ.อาทิตย์' เป็นคลองขุดใหม่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เพื่อใช้น้ำในการเกษตร ตั้งแต่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร จ.สงขลา)

แต่สภาพปัจจุบัน 'คลอง พล.อ.อาทิตย์' น้ำแห้ง บางช่วงร่องคลองดินแตกระแหงแล้ว ชาวสวน ชาวนาในโซนนี้เรียกร้องให้กรมชลประทานสูบน้ำเข้าคลองมานาน ตั้งแต่ฝนเริ่มทิ้งช่วง แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล จนคลองน้ำแห้งดินแตกระแหง ข้าวนาปรังรอเวลายืนต้นตาย เช่นเดียวกับคนปลูกพืชผักสวนครัว ก็ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง

ยิ่งไปทางสิงหนคร ซึ่งเป็นช่วงปลายน้ำยิ่งหนัก เกษตรกรชาวสวนมะม่วง ที่ลงทุนลงแรงปลูกมะม่วงเบา มะม่วงพันธุ์พื้นถิ่นของภาคใต้ ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเช่นเดียวกัน แม้มะม่วงเบาจะเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาดี นำไปแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม แต่มองไปข้างหน้าเริ่มเห็นความวายวอดรออยู่

(พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เดินทางไปเปิด 'คลอง พล.อ.อาทิตย์' ด้วยตัวเอง ขากลับระหว่างอยู่บนเครื่อง พล.อ.เปรมลงนามปลด พล.อ.อาทิตย์ พ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ.สื่อจึงพาดหัวข่าวว่า 'ปลดกลางอากาศ')

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง นอกจากกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีกรมฝนหลวง ในการทำฝนเทียม หากสภาพอากาศมีเมฆ มีความชื้นสัมผัส กรมฝนหลวงก็นำเครื่องขึ้นบินโปรยสารเคมีทำฝนเทียมได้ วันก่อนช่วงหลังสงกรานต์ท้องฟ้ามีเมฆอยู่ แต่ไม่รู้ว่ากรมฝนหลวงได้ทำหน้าที่หรือไม่ แต่ไม่มีฝนตกลงมา

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็เป็นอีกกรมที่จะต้องเข้าไปดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในยามมีภัยมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว ไฟไหม้

รวมถึง สส.ก็มีหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้รัฐบาลได้รับทราบ เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฐานะคนพื้นที่ รู้สภาพมากกว่า ก็ไม่รู้ว่า สส.ในโซนนี้ (เขต 4) ได้ทำหน้าที่นี้แล้วหรือยัง หรือวุ่นอยู่กับงานอื่นในพื้นที่ อย่าบอกนะว่าปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะปิดสมัยประชุมก็เสนอผ่านช่องทางอื่นได้อีกเยอะ และที่สำคัญปิดสมัยประชุม แต่ยังกินเงินเดือนอยู่นะ

หรือว่าจำเป็นต้องให้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ลงไปไขลานด้วยตัวเอง หรือให้เหมือนไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีที่ระยอง นายกฯ ลงไป ถามอธิบดี ปรากฏว่า ลงไปดูหน้างานล่าช้ามาก จึงส่อว่าจะถูกย้าย

‘โสภา กาญจนะ’ ลั่น!! นำทัพกลุ่มพลังสุราษฎร์ ปชป. งัดไม้เด็ดลุยสู้ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ.สู้กับ 'กำนันศักดิ์'

น่าสนใจยิ่งเมื่อ 'โสภา กาญจนะ' ป้าโส อดีต สส.หลายสมัยของจังหวัดสุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลั่นทุ่ง พร้อมนำทัพกลุ่มพลังสุราษฏร์ ลุยสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ.ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ต้นปี 2568

ป้าโสภา นอกจากจะเป็น สส.หลายสมัยแล้ว ยังเป็นสะใภ้บ้านใหญ่ เป็นภรรยาของ 'ชุมพล กาญจนะ' ผู้อาวุโส อดีต สส.สุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย แต่ในการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ครั้งที่ผ่านมา 'ชุมพล' ลงชิงด้วย แต่พ่ายให้กับ 'กำนันศักดิ์' พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ที่นั่งเป็นนายกฯ อบจ.สุราษฏร์ธานีอยู่ในปัจจุบัน

แต่ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ที่ผ่านมา ลุงชุมพล ต้องมาเดินเส้นทางเดียวกับกำนันศักดิ์ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และสร้างผลงานน่าประทับใจ เมื่อยึด สส.ส่วนใหญ่มาอยู่ในมือ เพียงแต่สองคนนี้ 'กำนันศักดิ์-ชุมพล' ไม่อาจจะเป็นเนื้อเดียวกันได้ ต่างคนต่างเดิน ถนนคนละสาย 

ครั้งครานี้ถือว่า สายแข็งเจอสายแข็ง กำนันศักดิ์ เป็นที่รับรู้กันของชาวสุราษฏร์ธานีว่า 'ใจถึง พึ่งได้' จริงๆ กับสโลแกนที่ใช้ในการหาเสียงครั้งที่ผ่านมา 'เข้าใจ เข้าถึง ใจถึงพึ่งได้' ในสไตล์นักเลงตามแบบฉบับของ 'กำนัน' กำนันศักดิ์โตมาจากสายท้องที่ และก้าวไปสู่ท้องที่ ภรรยา ก็อยู่ในสายท้องถิ่น กำนันศักดิ์มีธุรกิจหลายอย่าง แต่ที่รับรู้กันทั่วไปคือ ธุรกิจเลี้ยงหอยแครงในทะเลอ่าวบ้านดอน ถือว่าเป็นคนมีฐานะคนหนึ่งจากธุรกิจเลี้ยงหอยแครง แต่ 3 ปีที่ผ่านมากับตำแหน่ง นายกฯ อบจ.สุราษฏร์ธานี ถือว่า ผลงานยังไม่โดดเด่นมากนัก ไม่หวือหวา

กล่าวสำหรับป้าโสภา เป็น สส.หญิง และเป็นหญิงแกร่งของ 'กาญจนะ' ในฐานะแม่บ้านของบ้านใหญ่ 'ใจถึงพึ่งได้' อีกคนเหมือนกัน แต่เมื่อการเมืองสนามใหญ่ถูกปิดล้อม ป้าโสภา จึงประกาศเปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.สุราษฏร์ธานี ในนามกลุ่มพลังสุราษฏร์ และแน่นอนว่าการแข่งขันจะต้องชนกับกำนันศักดิ์ ที่จะต้องลงรักษาแชมป์

สุรินทร์ (นายสุรินทร์ บุญประสพ) โพสต์เฟซบุ๊ก มีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องขอหยุดพักงานชั่วคราว เพื่อรักษาตัว โดยมอบหมายให้พี่สาว (ป้าโส – อดีต สส.โสภา กาญจนะ) ทำหน้าที่ประธานกลุ่มพลังสุราษฎร์ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองทุกอย่างแทน

กล่าวสำหรับป้าโส เมื่อต้องขึ้นมานำทัพแทน หลังจากกระแสข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ผู้คนที่สนใจทางด้านการเมืองตื่นตัวกันทั้งจังหวัด เพราะ 'ป้าโส' เป็นหญิงแกร่ง สไตล์ใจถึง พึ่งได้ ทำให้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมากมาย อีกทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี มานานหลายสิบปี ทำให้มีความสนิทสนมกับพี่น้องกลุ่มสตรีภายในจังหวัดเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มพัฒนาสตรี มีสมาชิกมากถึง 200,000 กว่าคน และจัดว่าเป็นกลุ่มสตรีที่มีความเข้มแข็งมากจังหวัดหนึ่งในประเทศ ด้วยความเป็นคนที่มีแต่ให้เสมอมา จึงเป็นผู้ใหญ่ที่พี่น้องสตรีให้ความรัก และเคารพเป็นอย่างสูง

เมื่อ 'ป้าโส' ก้าวขึ้นมานำทัพ ส่งผลให้เกิดเสียงตอบรับจากพี่น้องสตรีทุกอำเภอทั้งจังหวัด ที่สำคัญตลอดชีวิตเส้นทางการเมืองที่ผ่านมา 'ป้าโส' เสียสละเพื่อสังคมมาโดยตลอด เป็นเหตุให้มีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นมากมายรักและนับถือ พร้อมที่จะให้การสนับสนุน หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ได้ข่าวว่า สจ.เกือบทั้งจังหวัด ได้ติดต่อมาขออยู่ในทีมป้าโสแล้ว โดยมีการเปิดตัวพร้อมรองแม่ทัพ อีก 3 คน คือ...

1. นายยุทธพงษ์ ชมภูพล น้องชายแท้ๆ ของ สส.พิชัย ชมภูพล ตัวแทนพี่น้องประชาชน เขต 6, 

2. นายธนาคม รื่นพานิช ประธานสภาเทศบาลนครเกาะสมุย ในทีม สส.ภูมิ พิพิธภัณฑ์ นายกปุ๊ รามเนตร ใจกว้าง และนายกสด วรากรณ์ เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เขต 2, 

3. สจ.นิโรธ นวลวัฒน์ พี่ชายแท้ๆ ของ สส.ธานินทร์ นวลวัฒน์ เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน เขต 7 โดยเฉพาะอำเภอกาญจนดิษฐ์

อีกทั้งยังมี ขุมกำลังที่สำคัญจากการเมืองสนามใหญ่อีกดังนี้ เขต 3 สส.จ๋า วชิราภรณ์ กาญจนะ ลูกสาว ซึ่งในการเลือกตั้งสส.ที่ผ่านมาได้คะแนนมากที่สุดในจังหวัด เป็นกำลังหลักในพื้นที่เขตนี้, เขต 1 สส.ตุ๊ก กานสินี โอภาสรังสรรค์ ลูกสะใภ้ และนายกแป๊ะ ประเสริฐ บุญประสพ น้องชายเป็นกำลังหลักในพื้นที่อำเภอเมือง, เขต 4 ได้บ้านประดิษฐพร ของ อดีต สส.อ้อย สมชาติ, นายกเหน่ง ชลาวุฒิ และกำนันหน่อง ทรงกรด เป็นกำลังหลักขับเคลื่อน, เขต 5 ได้ อดีต รมช.สินิตย์ เลิศไกร อดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ สส.เขตนี้ 5 สมัย พร้อมทีมงานเป็นกำลังหลักในจุดนี้

การขึ้นมานำทัพกลุ่มพลังสุราษฎร์ของ อดีต สส.โสภา กาญจนะ ในศึกเลือกตั้ง อบจ.สุราษฎร์ที่กำลังจะมาถึง เป็นการท้าทายยิีงมองสำหรับกำนันศักดิ์ ที่เป็นแชมป์อยู่

และต้องอาศัยโครงข่ายท้องถิ่นท้องที่เช่นกัน อันเป็นฐานเดียวกันกับป้าโสภา อยู่ที่ว่าใครใจถึงกว่ากันในการดึงดูดแกนนำเอาไว้ให้ได้ แต่ป้าโสภาได้เปรียบตรงมีพลังสตรีอยู่ในมือด้วยต้องบอกว่า 'ถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่ง' ชิงความได้เปรียบทางการเมือง

การเมืองในยุคสมัยนีั ทีมงาน เครือข่ายอย่างเดียว ไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดแพ้-ชนะ แต่กระสุนดินดำ จะเป็นพลังบวก ใครมีมากกว่า ใจถึงกว่า คนนั้นมีโอกาสคว้าชัยชนะ

'ภูมิใจไทย' จัดทัพหลวงปูพรมขยายฐาน 'นครศรีฯ' หลังเขต 8 จ่อเลือกตั้งใหม่ 'ปชป.-พปชร.-ก้าวไกล' พร้อมหน้า

27 มีนาคมนี้ นครศรีฯ จะคึกคักอีกครั้ง เมื่อเสนาบดีสังกัดพรรคภูมิใจไทยเดินทางไปเหยียบเมือง เน้นพื้นที่เขตเลือกที่ 8 

นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค รัฐมนตรีมหาดไทย รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีในสังกัด ตลอดจนกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค จะร่วมงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดธาตุน้อย ต.หลักช้าง อ.ช้างกลางในเวลา 15.30 น. 

โดยก่อนเข้าร่วมงานแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้น ในเวลา 14.00 น. นายอนุทินและนายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ จะร่วมพบปะผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นและตัวแทนสถาบันการศึกษา และประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่ เขต 8 ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช 

มีรายงานว่า ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จะเดินทางลงมาพร้อมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงแรงงาน โดยนายชาดาจะแยกเดินทางต่อไปยัง อ.พิปูนและฉวาง เพื่อพบปะกับชาวบ้าน ส่วนนายพิพัฒน์ เข้าพื้นที่ อ.นาบอน เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและผู้ประกอบการโรงงานยางพารา ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเปิดเวทีปราศรัย ที่ อ.ช้างกลาง มีนายอนุทินเป็นหัวหน้าคณะ

เป็นการยกทัพหลวงชุดใหญ่ลงพื้นที่เน้นเขตเลือกตั้งที่ 8 นครศรีฯ และเป็นการลงพื้นที่หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งฟ้อง 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' ชงให้มีการเลือกตั้งใหม่

โดยพรรคภูมิใจไทยได้เตรียมหาผู้สมัครแทนไว้แล้ว และเดินสายพบปะประชาชนอยู่ต่อเนื่อง หลัง กกต.ชงศาลให้สั่งจัดการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่าการลงพื้นที่แบบเต็มแม็กของภูมิใจไทย เป็นการส่งสัญญาณชัดถึงการเลือกตั้งใหม่

สำหรับคู่แข่งของพรรคภูมิใจไทย จะมีพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันแล้วว่าจะส่ง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต สส.หลายสมัยที่สอบตกครั้งที่แล้ว ลงพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง

พรรคพลังประชารัฐ ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคยืนยันว่า ส่งคนเดิม คือ สุนทร รักษ์รงค์ ที่ครั้งผ่านมาได้อันดับ 2 ที่คงจะสรุปบทเรียนถึงความผิดพลาดครั้งที่ผ่านมาแล้ว

พรรคก้าวไกล มีอยู่สองตัวเลือก ชายคนหญิงคน รอสรุปว่าจะเลือกใคร หลังพรรคให้ทั้งสองคนไปทำการบ้านมา คนหนึ่งเป็นหญิงสาวชาวจันดี อายุ 26 ปี

พรรครวมไทยสร้างชาติก็หึ่มๆ ว่าจะส่งอยู่เหมือนกัน แต่ภาพยังไม่ชัดนักว่าจะส่งใครลงชิงสำหรับสนามช้างกลาง, ฉวาง, นาบอน, พิปูน

‘รัฐบาล’ เคลมผลงาน ‘ราคายางพารา’ พุ่ง 80 บาท/กก. แท้จริง!! ‘ยางผลัดใบ-โรคใบร่วง’ ทำให้ดีมานด์สูงขึ้น

รัฐบาล ทั้งนายกฯ รมว.เกษตรฯ โฆษกรัฐบาล โฆษณาจังว่ายางพาราราคาพุ่งถึง 80 บาท/กก.เป็นผลงานรัฐบาล อยากให้พูดไปตลอดทั้งปีนะ ถ้ายางพาราราคาตก อย่าบอกนะว่าเป็นกลไกการตลาด เป็นเรื่องของ demand/subply หรือตลาดโลก

นำเรียนว่าช่วงนี้น้ำยางพาราออกสู่ตลาดน้อย ความต้องการยางพาราสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น ล้วนต้องการยางพารา

ส่วนสาเหตุน้ำยางพาราออกสู่ตลาดน้อย มาจาก…

- ยางผลัดใบ ช่วงต้นปีของทุกปีจะเป็นช่วงยางผลัดใบ ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้
- ตั้งแต่ปลายปี 66 มาจนถึงมกราคมปี 67 ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพารามีฝนตกต่อเนื่อง ยาวนาน ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้
- โรคใบร่วงระบาดในสวนยางพารา โดยระบาดหนักใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และลามมาอีกหลายจังหวัด
- โรคใบร่วงยังระบาดไปอีกหลายจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา การกรีดยางทำให้น้ำยางลดลง 30-40% และทำให้ต้นยางพาราอ่อนแอลง
- โรคใบร่วงในยางพารา มีมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มระบาดที่อินโดนีเซีย มาถึงมาเลเซีย และเข้ามายังประเทศไทย
- รัฐบาลยังตื่นตัวน้อยกับการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงในยางพารา และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองการแก้ปัญหาโรคใบร่วงด้วยซ้ำ

รัฐบาลอย่าเพิ่งตีปีกดีอกดีใจ โฆษณาว่าการที่ยางพาราราคาขยับตัวขึ้นไปสูงอาจจะถึง 80 บาท/กก.ว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เพราะยังไม่เห็นวิธีการที่ชัดเจนของรัฐบาลในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีแต่เห็นว่าเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน (ยางพาราเถื่อน) ซึ่งยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านเรา ยังราคาถูกมาก แต่ 20-30 บาท/กก.เท่านั้นเอง จึงมีการลักลอบนำเข้ามาขายในบ้านเรา

อยากให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน หรือแม้กระทั่้งยางพาราทรานซิส (ผ่านทาง) ไปยังมาเลเซีย ที่อาจจะตกหล่นขายอยู่ในตลาดบ้านเราก็เป็นไปได้

ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบปราบทั้งยางพาราเถื่อน และยางพาราทรานซิส สาวให้ลึกถึงผู้อยู่เบื้องหลัง แล้วนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อาจจะถึงกับร้อง ‘อัยหย่า ซี้เลี่ยวฮ่า’ เพราะอาจจะเป็นคนที่อยู่ไม่ไกลตัวนายกฯ ก็เป็นได้ 

ยังไม่เห็นรัฐบาลคิดออกมาเป็นนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับยางพารา เช่น ที่เคยเป็นนโยบายก่อนหน้านี้ ให้ทุกกระทรวงที่สร้างถนน ต้องวางงบประมาณให้มีส่วนผสมของยางพารา 10% แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นบ้าง แต่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร หรือการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น ที่นอน หมอน รองเท้า ตีนกบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำยางพาราไปทำแท่งแบริเอ่อร์ ที่ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะยางพารามีความยืดหยุ่น ลดการสูญเสีย หรือยาวสะพานตรงถนนโค้ง ก็ห่อหุ้มด้วยยางพารา จะลดการสูญเสียลงไปได้มาก 

กระทรวงกลาโหม แทนที่จะใช้กระสอบทรายทำบังเกอร์ก็ใช้ยางพารา น่าจะได้ผลดี

ทั้งหมดนี้อยากจะฝากไปยังรัฐบาล ให้ศึกษาเรียนรู้ให้ดีก่อนออกมาตีกิน กลัวว่าสุดท้ายแล้ว จะหาทางลงไม่ได้เหมือนดิจิทัล วอลเล็ต ตายคานโยบาย

‘ผู้ว่าฯนครศรี’ ลงพื้นที่ แก้ภัยแล้ง ให้เกษตรกร  กำชับทุกส่วนให้รายงานตรง เพื่อแก้ปัญหาน้ำ อย่างเร่งด่วน

ทีมข่าว #นายหัวไทร รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่9 มีนาคม ชลประทาน เขต 15 ได้ทยอยนำเครื่องสูบน้ำ ชนิด Hydroflow ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อติดตั้งบริเวณปากคลองชักน้ำสาย 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ชลประทาน และ เครื่อง  ขนาด  32 นิ้ว จำนวน 4  เครื่องตามที่มีการตกลงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 มีนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม เพื่อให้ทางชลประทาน นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เข้าไปสูบน้ำให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเป็นช่วงเวลาของการทำข้าวนาปี

ทั้งนี้จากรายงานของชลประทาน แจ้งว่า เครื่องสูบน้ำ ขนาด 16”^12”จำนวน 3 เครื่อง จุดติดตั้ง ม. 11 บ้านหนำหย่อม ต. เชียรเขา อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. นครศรีธรรมราช จำนวน 1 เครื่อง ม. 7 บ้านดอนสำราญ ต. เชียรเขา อ. เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 เครื่อง รวม 3 เครื่อง

ทั้งนี้ตามข้อตกลงในการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนชาวบ้านกับชลประทาน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 15 จะทยอยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำต่อเนื่อง ตามแผนต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเดินเครื่องต่อเนื่องทั้งหมด 51 เครื่อง ในพื้นที่โซนลุ่มน้ำปากพนัง แต่จนถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ติดตั้งไปได้แค่ 11 เครื่อง จากเป้าหมาย 51 เครื่อง บางเครื่องติดตั้งแล้ว แต่ไม่ได้เดินเครื่อง ด้วยเหตุผลไม่มีงบค่าน้ำมัน

ติดตั้งแค่ 11 เครื่อง จากเป้าหมายวางไว้ 51 เครื่อง
-ต.เขาพังไกรครบแล้ว 4 เครื่อง
-ต.หัวไทร 2 เครื่อง
-ต.เชียรเขา 5 เครื่อง

-ควนชลิก 6 เครื่อง ยังไม่ติดตั้ง
-รามแก้ว 4 เครื่อง ยังไม่ติดตั้ง
-ต.แหลม ไม่อยู่ในแผนจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำมัน

ตั้งแต่เมื่อวาน (9 มีนาคม) ทางสำนักงานชลประทานที่ 15 ซึ่งรับผิดชอบโซนลุ่มน้ำปากพนัง มีนายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว เป็นผู้อำนวยการชลประทานสำนัก15กลมชลประทาน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย โดยมีรองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเอง และเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำทันที และสูบน้ำทั้งคืน ตลอดคืนที่ผ่านมา

นอกจากติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เกษตรกรแล้ว ทางชลประทานยังดำเนินการขุดลอด กำจัดผักตบชวาในคลองส่งน้ำ (คลองไส้ไก่) ด้วย เพื่อส่งน้ำได้สะดวกขึ้น

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ความเดือดร้อนที่ภาคเกษตรกรรมเขตลุ่มน้ำปากพนังได้รับผลกระทบจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ปัญหาเกิดขึ้นมากมายมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งหน้าร้อน และหน้าฝน ปีนี้แล้งจัด กรมชลประทานไม่ได้ขับเคลื่อนในทุกเรื่องเพื่อเป็นการป้องกัน คำตอบเดียวที่ได้รับ "ขาดงบประมาณ"ในการแก้ปัญหา

แต่ละปีคลองระบายน้ำแต่ละสาย (คลองไส้ไก่) น้ำแห้งขอด กรมชลปิดประตูระบายน้ำทำให้ทางทิศเหนือน้ำท่วมขัง-เน่า ขาดการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 

”พวกเรากำลังเตรียมส่งเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นถวายฏีกาเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและจริงจังกับเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง“

ผู้สื่อข่าวรายงานในที่ประชุมที่มีผู้ว่าฯเป็นประธานได้มีการซักถามเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังพร้อมทั้งมีการสอบถามว่าผู้ใดเป็นคนพูดว่าไม่มีงบประมาณซึ่งในที่ประชุมได้มีการพยายามชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนายขจรเกียรติ รักพาณิชย์มณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมกำชับให้รายงานผลการปฏิบัติต่อนายอำเภอในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ทันกับความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่และหากพบปัญหาให้รายงานด่วนตรงมายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทันที
 

‘นิพนธ์’ ลุยญี่ปุ่นเจรจาคู่ค้า ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง ต่อยอด-แตกไลน์ เพิ่มการผลิตอาหารแมว-สุนัข ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

(9 มี.ค.67) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีต สส.สงขลา และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ว่างเว้นจากภารกิจทางการเมือง ก็เดินสายพบคู่ค้าฝนต่างประเทศ เสนอขายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขอบคุณคู่ค้าที่ให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นิพนธ์ว่างเว้นจากภารกิจทางการเมือง เพราะไม่ได้เป็น สส.ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนายกฯอบจ. และไม่ได้มีตำแหน่งในการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีเวลาว่างมากพอในการเดินสายต่อยอดธุรกิจ

น้องเพชญ สรรเพชญ บุญญามณี ก็เข้มแข็งพอในการดูแลตัวเองในทางการเมืองกับการทำหน้าที่สืบทอดต่อจากบิดาในฐานะ สส.สงขลา โดยพ่อยังทำหน้าที่แค่พี่เลี้ยงอยู่ห่างๆ เป็นลมใต้ปีกให้เหาะเหินไปได้ จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง จะมีห่วงอยู่ก็แต่ประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปอย่างไรท่ามกลางพายุฝนหนัก พายุหมุน พายุฤดูร้อน ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค มีเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค แต่เมื่อขับอาสาเข้ามาแล้ว ก็ต้องทำเต็มกำลังความสามารถในการฟื้นฟูพรรค พลิกหาอุดมการณ์พรรคที่จางหายไปบ้าง พร้อมระดมทุกสรรพกำลังมาช่วยกันหอบหิ้วประชาธิปัตย์หนีตกชั้นในดิวิชั่น 1-2-3 และถีบตัวไปในระดับพลีเมี่ยลีก ตามความใฝ่ฝันของ “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคภาค กทม.

แต่ถนนสายประชาธิปัตย์ในสถานการณ์นี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบให้พลพรรคเดินไปอย่างสะดวกโยธินแน่นอน มันเป็นถนนที่ขรุขระ เต็มไปด้วยโขดหินแหลมที่พร้อมจะทิ่มแทง เจาะยางได้ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นโขดหินที่แหลมคมจากก้าวไกล ปลายหอกจากภูมิใจไทย

กล่าวถึงนิพนธ์ นอกจากทำงานการเมืองตามที่ชอบแล้ว ยังเคยเป็นทนายความ เพราะเรียนจบนิติศาสตร์ จากรั้วรามคำแหง และยังทำธุรกิจอีกหลายอย่าง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจผลิตอาหารกระป๋อง เป็นต้น

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นิพนธ์จึงเดินสายไปพบคู่ค้าที่ประเทศญี่ปุ่น และขอบพระคุณที่สนับสนุน และขยายการตลาดผลิตภัณฑ์จากบริษัทของนิพนธ์ได้มีโอกาสเยี่ยมประธานบริษัทคู่ค้าที่เมือง Kurume, Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นมิตรภาพอันดียิ่ง
“ปีแรกเริ่มธุรกิจส่งออกอาหารกระป๋อง 1-2 ตู้คอนเท็นเนอร์ แต่ธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว 4-5 ปีผ่านไปการค้าขายเพิ่มเป็น 100 ตู้ คอนเท็นเนอร์ มีสินค้าที่เราผลิต วางจำหน่ายอยู่ในทุกซุปเปอร์มาเก็ต เป็นความภูมิใจที่เคยตั้งความหวังไว้เมื่อ 18 ปีที่แล้วเมื่อก่อตั้ง SIF สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู๊ด ว่าเราต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน จำหน่ายในญี่ปุ่นให้ได้” นิพนธ์ กล่าวกับ #นายหัวไทร อย่างภาคภูมิใจ

บริษัทSIF สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟูดส์ จำกัด ตั้งอยู่ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ผลิตปลากระป๋อง แช่ในน้ำมัน เพื่อการบริโภคของคน และกำลังแตกลาย ขยายไปสู่การผลิตอาหารสัตว์ อาหารแมว อาหารสุนัข

ลูกค้ารายหนึ่งที่นิพนธ์ไปพบรับปากรับคำจะช่วยขยายตลาดอาหารแมว อาหารสุนัข ที่ตลาดกำลังเติบโตมากในญี่ปุ่น และอนาคตคู่ค้ากำลังจะขยายตลาดเข้าไปในเมืองใหญ่ “เข้าโตเกียว” มีทั้งอาหารคน อาหารแมว และอาหารสุนัข

สำหรับอนาคตทางการเมืองของนิพนธ์ เขายังเลี่ยงที่จะตอบ แค่พูดสั้นๆว่า “กำลังประเมินสถานการณ์ เพราะการเมืองเปลี่ยนตลอดเวลา แต่ตอนนี้ยังสนุกกับการทำธุรกิจ แต่มีขาเชียร์ให้กลับไปลงชิงนายกฯอบจ.สงขลา

'ผู้ว่าฯ นครศรีฯ' ตื่น!! เรียกถก แก้น้ำขาดแคลนโซนลุ่มน้ำปากพนัง หลัง 'ชลประทาน' อ้างไม่มีงบซื้อน้ำมันใส่เครื่องสูบน้ำ

"ได้แต่นั่งมองน้ำไหลผ่านคลองราชดำริ แต่ไม่มีโอกาสใช้น้ำ เนื่องจากไม่มีเครื่องสูบน้ำ ชลประทานมีเครื่องสูบน้ำ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีงบค่าน้ำมัน"

นี่เป็นเสียงคร่ำครวญจากเกษตรกรผู้ทำไร่ ทำนา ปลูกผัก ปลูกพริกขี้หนู ปลูกปาล์ม ในโซนลุ่มน้ำปากพนัง ร้องเรียนผ่าน #นายหัวไทร ถึงปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงนี้ 

เข้าใจว่า น้ำไม่ได้ขาด แต่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพราะชาวบ้านบอกว่า เห็นน้ำเต็มคลองราชดำริ เพียงไปชลประทานไม่ตื่นขึ้นมาบริหารจัดการ...

- บริหารจัดการเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- บริหารจัดการงบประมาณ การนั่งบ่นว่าไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อน้ำมันมาใส่เครื่องสูบน้ำ นั่งบ่นอย่างไรมันก็ไม่มาหรอกครับ

หน้าที่โดยตรงคือ กรมชลประทาน เขต-โซนลุ่มน้ำปากพนังอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 15 เมื่อรับรู้ว่าชาวบ้าน เกษตรกร มีปัญหาไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ก็ต้องแก้ไขปัญหา ผ่านวิธีคิดแบบบริหารจัดการ ผ่านการประสานงาน

ถามว่ากรมชลประทานมีเครื่องจักรกลไหม มีเครื่องสูบน้ำไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “มี” ถามว่า กรมชลประทานมีงบประมาณจัดซื้อน้ำมันใส่เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “มี” ถ้าบอกว่าไม่มีถือว่า บกพร่องต่อหน้าที่ บกพร่องในการจัดทำงบประมาณ ท้องถิ่นมีงบประมาณไหม ตอบว่า “มี”

ถ้ากรมชลประทานบอกว่าไม่มีงบประมาณ ถามว่าทางจังหวัดมีงบไหม งบฉุกเฉินภัยแล้งน่าจะมี อาจจะแย้งกลับมาว่า ทางผู้ว่ายังไม่ประกาศอุบัติภัย (ภัยแล้ง) จะเอางบฉุกเฉินมาใช้ไม่ได้ ก็แค่ประกาศสิครับ จะได้เบิกงบมาช่วยเกษตรกร

หรือถ้าจนปัญญา ก็ลองประสานความช่วยเหลือไปยังท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เชื่อว่าองค์กรท้องถิ่นมีงบแน่นอน เพียงแต่ไม่มีใครประสานขอการสนับสนุนไปมากกว่า ละเลยต่อปัญหาของชาวบ้าน งบประมาณไม่ขาดหรอก

แต่ที่ขาดคือ ขาดการประสานงานที่ดีของสำนักงานชลประทานที่ 15 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่อยู่ ปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนได้ไง แค่นั่งบ่นว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีประโยชน์หรือครับ

ท่านได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังกรมชลประทาน ต้นสังกัดแล้วหรือยัง ท่านได้นำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าใหญ่ของข้าราชการในจังหวัดแล้วหรือยัง ถ้าบอกว่า แจ้งแล้ว ขอการสนับสนุนไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ก็ต้องโทษไปยังหน่วยงานที่ใหญ่กว่า ทำไมไม่ดูแล รับผิดชอบต่อปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน 'บำบัดทุกข์ บำรุงสุข' คือคำขวัญของกระทรวงมหาดไทย ทางจังหวัดได้ทำหน้าที่แล้วหรือยัง

ย้อนไปเมื่อปี 2564 ซึ่งเกิดภัยแล้งในโซนลุ่มน้ำปากพนังเช่นกัน ทางกรมชลประทานไม่ได้นิ่งเฉย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน มอบหมายให้นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำของ ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลสูบน้ำที่ 4 (จังหวัดสงขลา) 

ส่วนเครื่องจักรกลสูบน้ำสำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่อง (ติดตั้งหมู่บ้านละ 1 เครื่อง) บริเวณบ้านบางหารหมู่ 1 บ้านปลายคลองหมู่ 6 และบ้านคลองแดนหมู่ 12 ตำบลเชียรเขา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองเชียรใหญ่ส่งไปยังคลองซอยแต่ละจุดสามารถสูบน้ำได้รวมวันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งพืชผลการเกษตร-ไม้สวนยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ 

และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12  นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่อง บริเวณคลองเชียรใหญ่บ้านบางจันทร์ หมู่ 7 ตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราชสำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองเชียรใหญ่ส่งไปยังคลองซอยสามารถสูบน้ำได้วันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งทางการเกษตรนาข้าว พืชสวน และไม้ยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ 

และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่องบริเวณประตูระบายน้ำปากคลองค้อ หมู่ 3 ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองค้อส่งไปยังคลองซอย สามารถสูบน้ำได้วันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งทางการเกษตรนาข้าว พืชสวน และไม้ยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 6,000 ไร่

ก็ต้องย้อนไปดูว่า ทำไมเมื่อปี 2564 กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้นำเครื่องจักรกลมาติดตั้งสูบน้ำให้เกษตรกรได้ ปีนี้ทำไมจึงไม่ได้

ปฐมเหตุของปัญหาในปีนี้เกิดจากเกษตรกรชาวสวนปาล์มย่าน อ.ชะอวด ต้องการใส่ปุ๋ยปาล์ม แต่เนื่องจากปีนี้ฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม มาจนย่างปี 2567 ต้นปีฝนจึงหยุด ชาวสวนปาล์มย่านชะอวด จึงต้องการให้ชลประทานสูบน้ำออกไป คือดันน้ำลงทะเล ทั้งที่แพรกเมือง และชะอวด แต่พี่น้องประมงชายฝั่งก็จะได้รับผลกระทบ เมื่อน้ำจืดไปผสมอยู่กับน้ำเค็ม ปลาทะเลก็อยู่ไม่ได้

มีข้อเสนอจากชาวบ้านให้กรมชลประทานสูบน้ำดันเข้าคลองไส้ไก่ ส่งน้ำเข้าไปอยู่ในคลองย่อยให้เต็ม เมื่อถึงหน้าแล้ง เกษตรกรจะได้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง แต่หน่วยงานรับผิดชอบไม่ทำ อ้างคำเดียว แบบกระต่ายสามขา "ไม่มีงบประมาณ"…จบข่าว

วันนี้ทราบว่า นายขจรเกียรติ์ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แบบแหกขี้ตาตื่นมา พร้อมหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ก็ได้แค่หวังว่า ปัญหาชาวบ้านจะได้รับการปัดเป่า หมดทุกข์ อยู่สุข เสียที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top