Monday, 19 May 2025
นายหัวไทร

ยกย่อง 'ถาวร เสนเนียม' ขรก.การเมืองน้ำดี ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดสงขลา

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 พ.ค.67 ที่ผ่านมา สมาคมชาวจังหวัดสงขลาได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลแด่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ที่วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร

ช่วงบ่ายเป็นการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี และในโอกาสเดียวกันได้ทำพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับคนดีศรีแผ่นดินสาขาต่างๆ

สำหรับคนดีศรีแผ่นดินสาขาข้าราชการการเมืองผู้ทำคุณประโยชน์ให้จังหวัดสงขลา คือ นายถาวร เสนเนียม อดีต สส.สงขลา อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย / อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม

ถาวร เสนเนียม ก่อนจะมาเป็นนักการเมือง ก็เป็นข้าราชการอัยการ ในเวลาเดียวกันก็ทำธุรกิจอีกหลายอย่าง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงโม่ เป็นต้น แต่ถึงเวลาหนึ่งตัดสินใจลาออกจากราชการ กระโดดเข้าสู่เวทีการเมือง และประสบความสำเร็จในนามพรรคประชาธิปัตย์ จนได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารมาแล้วสองสมัย สองกระทรวง

เมื่อศาลตัดสินให้ต้องโทษจำคุก จากคดี ชุมนุมทางการเมือง 'ถาวร' จึงต้องจำจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยข้อกำหนดของระเบียบพรรค ห้ามคนต้องโทษจำคุก เป็นสมาชิกพรรค

ถาวรก้าวเข้าสู่พรรคไทยภักดี แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคไทยภักดีไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 'ถาวร' จึงเดินออกมา และเข้าสู่ร่ม 'พรรครวมไทยสร้างชาติ'

อนาคตทางการเมืองของ 'ถาวร' ในวัย 70 กว่า สุขภาพยังแข็งแรง และน่าจับตามองว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร

ปัญหานมโรงเรียน ไย 'มหาดไทย' เงียบ ปล่อย 'ธรรมนัส-ปศุสัตว์' เต้นฝ่ายเดียว

"ขณะนี้ทราบข้อมูลว่า มีบริษัทใหญ่บางแห่งกีดกันไม่ให้มีการส่งนมโรงเรียน หลังการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ หากพบเป็นผู้ประกอบการรายใดกระทำผิด จะตัดสิทธิ์โควตานมโรงเรียนทันที พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายกีดกันทางการค้า ส่วนการแก้ปัญหาจัดส่งนมระยะเร่งด่วน สั่งการให้ อสค. ส่งนมไปยังพื้นที่ที่เกิดปัญหา ย้ำว่าวันนี้หรือภายในสัปดาห์นี้ ปัญหาต้องหมด"

นี่คือคำกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ค่อนข้างกล่าวด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว หลังทราบว่า เปิดเรียนมาเป็นสัปดาห์ที่สองหลายโรงเรียน เด็กนักเรียนไม่ได้กินนมโรงเรียน ทั้งเชียงใหม่, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัด 

ร.อ.ธรรมนัส พุ่งตรงไปยังองค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อสค.) ด้วยการสั่งให้ส่งนมให้กับโรงเรียนภาคในพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า และเหมือนกับรู้ปัญหาบางอย่าง เช่น บริษัทผู้ผลิตนมโรงเรียนเจ้าใหญ่ก่อปัญหา ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงบางส่วน แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด

อคส.แค่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจัดสรรพื้นที่ และการแบ่งโซนจำหน่าย และที่ผ่านมา อคส.ก็ถูกกีดกันไม่ให้รับรู้ข้อมูลบางอย่าง เช่น ปริมาณนมดิบที่แต่ละสหกรณ์ผลิตได้ และทำสัญญาขายให้กับโรงนมที่ไหน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดสรรการผลิตและพื้นที่จำหน่าย อคส.มารู้ข้อมูล 3 วันสุดท้ายก่อนการประชุม และ 6 วันก่อนเปิดเทอม

ใครผิดใครพลาดไปว่ากันให้ชัด? ทำไมการประชุมเพื่อแบ่งโควตาจึงมีขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ก่อนเปิดเทอมเพียงสามวัน? ขั้นตอนการปฏิบัติมีปัญหาอะไร? ตรงไหน?

อีกประการหนึ่งนมโรงเรียน จัดซื้อผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ โรงเรียนมีหน้าที่แค่รับไปแจก

อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่ท้องถิ่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การจำหน่ายตามปริมาณน้ำนมดิม บางพื้นที่จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้จำหน่าย

วัวเคยค้าม้าเคยขี่ "เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้จำหน่าย ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งจึงยังไม่เซ็นสัญญาซื้อนม เด็กจึงอดกินนม ต้องมีมาเจรจาผลประโยชน์กันใหม่"

ประเด็นนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะไปบี้ อสค.อย่างเดียวไม่ได้ มหาดไทยต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

"มหาดไทยกำกับดูแลท้องถิ่น ต้องถามไปยังท้องถิ่นว่ามีปัญหาอะไร ทำไมไม่เซ็นสัญญาจัดซื้อนมโรงเรียนกับโรงเรียน จนก่อปัญหาเด็กไม่ได้กินนม" แหล่งข่าวกล่าว

ต้องยอมรับความจริงว่าวงการค้านมโรงเรียนคือ แหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ไปกดรายเล็ก ทำนอง 'ปลาใหญ่กินปลาน้อย' และมีผู้ประกอบการโรงนมรายใหญ่เป็นคนกำหนดเกม กดดัน

"งานนี้จะโทษกระทรวงเกษตรฯ, กรมปศุสัตว์ และ อสค.อย่างเดียวไม่ได้ มหาดไทยต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ก.เกษตรฯ ก็อย่ามัวแต่ขู่ จัดการให้จริงจังครับ" แหล่งข่าวสำทับ

ทว่า หลังจากรัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งการว่านมโรงเรียนต้องจัดการให้เรียบร้อยในสัปดาห์หน้า กรมปศุสัตว์ก็เร่งโทรเช็กไปยังโรงนมอย่างกระตือรือร้น แต่โดนตอกกลับหน้าแตก

"ผมพร้อมส่งนมให้โรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ แต่ในเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นไม่ยอมเซ็นสัญญา จะจัดส่งได้อย่างไร จะเก็บเงินจากใคร" แหล่งข่าวผู้ประกอบการ กล่าว

เอาเป็นว่า ปัญหานมโรงเรียนอาทิตย์หน้าไม่จบหรอก จนกว่าผลประโยชน์จะลงตัว

เปิดเรียน 6 วัน ถังแช่นมว่างเปล่า เพราะนมโรงเรียนมาไม่ถึง  ผู้ปกครองทำได้แค่โวย ผู้อำนวยการปวดใจไร้นมแจกเด็ก

ปัญหาความล่าช้าในการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่ายนมโรงเรียนก่อปัญหาแล้ว เมื่อนมโรงเรียนไม่ถึงมือเด็ก ทำให้เด็กไม่ได้กินนม

ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ตอนนี้เปิดเรียนมาแล้วเป็นเวลา 6 วันแล้ว แต่ยังไม่มีนมแจกเด็กนักเรียนสักชั้น ทาง อบต.เปิดเผยมีหน้าที่จัดซื้อออกเงินแต่ในพื้นที่ยังหาผู้ส่งนมไม่ได้อยู่ในขั้นตอนจัดหาบริษัทคาดจะได้เร็ววันนี้

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 58 (ห้วยคตสามัคคี) หมู่ที่ 3 บ้านป่าผาก ตำบลห้วยคต อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งทางนายขวัญชัย บารมี ผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดเผยว่า ในตอนนี้ถังนมที่เคยแพ็กนมแล้วก็แช่นมไว้ว่างเปล่า ยังไม่มีผู้รับจ้างหรือรับเหมาในอำเภอห้วยคตมาส่งนมให้นักเรียนเลย 

โรงเรียนแห่งนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของทาง องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยคตมาอยู่ด้วยและมีเด็กจำนวน 38 คนและในส่วนของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเองนั้น มีเด็กจำนวน 214 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.6 

นักเรียนส่วนใหญ่นั้นมีฐานะค่อนข้างยากจน ซึ่งพ่อและแม่ฝากให้อยู่กับตายาย เพราะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวที่ต่างจังหวัด 

ตอนนี้ครูที่สอนอยู่นั้นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเปิดเรียนมา 6 วันแล้วแต่นมโรงเรียนนั้นไม่มีให้เด็กดื่มเลย จึงอยากให้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วว่ามันติดขัดตรงไหนถึงล่าช้าแบบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กนั้นขาดโอกาสไปมาก

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ทำตามนโนบายของกระทรวงศึกษาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องน้ำก็ทำการปรับปรุงให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อพลานามัยของเด็กนักเรียน และได้งบประมาณค่าอาหารกลางวันหัวละ 22 บาท ซึ่งก็เพียงพอต่อความต้องการทำให้เด็กนั้นอิ่มท้องกันทุกวันอย่างไม่ขาดแคลน ไม่มีปัญหาอะไรเหมือนโรงเรียนต่างๆ ที่เป็นข่าว เพราะได้บริหารจัดสรรค์อย่าลงตัวมาตลอด โดยมีครูช่วยกันเพื่อเด็กนักเรียนจะได้พัฒนาการเรียนควบคู่กับการกินอยู่ระหว่างที่เด็กนักเรียนนั้นอยู่ในโรงเรียน แต่ในตอนนี้กลับมาติดขัดในเรื่องนมที่กล่าวมา และไม่รู้ว่าจะต้องรอจนถึงเมื่อไหร่ ซึ่งก็ไม่มีใครออกมาชี้แจงหรือกำหนดได้

กล่าวสำหรับการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่ายนมโรงเรียนนั้น ทางหน่วยงานกำกับจะมีการจัดสรรตามปริมาณน้ำนมดิบที่โรงนมทำสัญญาซื้อขายไว้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม

แต่สำหรับปีนี้ตัวเลขจำนวนน้ำนมดิบถูกเก็บงำไว้ที่ส่วนกลาง จนโรงเรียนใกล้เปิดเทอม คือเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงแจ้งปริมาณน้ำนมดิบของแต่ละโรงนม เพื่อให้คณะอนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่าย เรียกประชุมผู้ประกอบการโรงนมนักเรียน

คณะอนุกรรมการจัดสรรโควตา เรียกประชุมผู้ประกอบการโรงนมวันเสาร์ ให้ไปประชุมวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม และเมื่อได้โควตา ถูกสั่งกำชับให้เร่งผลิตให้ทันแจกในวันที่ 16 พฤษภาคม วันเปิดเรียนวันแรก แต่เข้าใจว่าโรงนมบางแห่งอาจจะมีเวลาเตรียมตัวน้อย จึงผลิต และเสนอขายผ่านท้องถิ่นไม่ทัน จึงไม่สามารถส่งนมให้โรงเรียนได้ทันวันเปิดเรียน

ข้ามมาที่นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่ อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีฯ ว่า มีโรงเรียนบางแห่งไม่ได้รับนมโรงเรียนเช่นกัน ทราบแต่เพียงว่า อบต.บางแห่งยังไม่ทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนกับทางผู้ผลิต

"ไม่ทราบว่า ทาง อบต.ทำอะไรกันอยู่ที่เด็กนักเรียนยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนได้ทำการเปิดเรียนมาแล้วตั้งแต่ 16 พ.ค.2567 จนถึงปัจจุบัน นักเรียนที่อยู่ในสังกัดของ อบต.ถ้ำพรรณราและ อบต.ดุสิต ยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียนเลยสักวัน แต่ในพื้นที่อื่นๆ ได้ให้เด็กนักเรียนดื่มนมโรงเรียนแล้วตั้งแต่เปิดเทอม เป็นต้นมา" ผู้ปกครองรายหนึ่งตั้งคำถามถึงผู้บริหารของ อบต.และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบว่า "ทำอะไรกันอยู่ จึงไม่สั่งนมโรงเรียนให้นักเรียนดื่มทั้งที่เวลาล่วงเลยมาหลายวันแล้ว"

นี่ขนาดเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการส่งเสริมให้เด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมการศึกษาปีที่ 6 ดื่มนมฟรีตลอดปี เพื่อให้เด็กมีสุขภาพลานามัยแข็งแรง เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของชาติ ซึ่ง อบต.ไม่เห็นความสำคัญของนโยบายรัฐบาลที่ทำมาตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ได้ดื่มนมฟรีตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จึงอยากถามผู้บริหารเรื่องแค่นี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้หรือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันไม่ลงตัว จึงอยากฝากได้ถึงนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในจังหวัดนครศรีฯ ไม่ใช่เฉพาะ อ.ถ้ำพรรณรา ที่เด็กยังไม่ได้กินนม อำเภออื่นบางอำเภอ เช่น เชียรใหญ่ โรงเรียนบางโรงก็ยังไม่มีนมให้เด็กกิน

มีรายงานว่า ท้องถิ่นบางแห่งมีเงื่อนไข ต้องการซื้อนมยูเอสทีไปแจกนักเรียน ทั้งๆ ที่เด็กควรได้ดื่มนมพาสเจอร์ไรท์ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไมผู้บริหารท้องถิ่นบางคนจึงต้องการซื้อนมยูเอสทีไปแจกเด็ก

ก้าวที่พลาดของ 'ก้าวไกล' กับการเลือกตั้ง 'นายกฯ อบจ.ปทุมธานี' อาจมิใช่กระบวนการสรรหาผู้สมัครถูกบีบด้วย 'เวลา-วันลงสมัคร'

“ด้วยการเลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานีที่กำลังจะมาถึงนี้ เกิดขึ้นกะทันหันจากการที่อดีตนายก อบจ. ชิงลาออกเพื่อฉวยโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ตนเอง พรรคก้าวไกลต้องขอโทษพี่น้องประชาชนชาวปทุมธานี ที่เราไม่สามารถสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครนายก อบจ. ปทุมธานี ที่เหมาะสมได้ทันเวลา” นี่คือเหตุผลที่ชัยธวัช ตุลาธน ให้กับสาธารณะถึงการไม่ส่งผู้สมัครชิงนายกฯอบจ.ปทุมธานี

บิ๊กแจ๊ส พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกฯอบจ.ปทุมธานี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลว่า ช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งไม่สามารถทำอะไรได้มาก ด้วยข้อจำกัดระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเบิกจ่ายงบประมาณ ในขณะที่ผู้บริหาร อบจ.โซนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประเมินว่า ปลายปีจะมีฝนมาก และอาจทำให้น้ำท่วมได้ แต่มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 3 ผู้บริหาร อบจ.3แห่งจึงตัดสินใจลาออก คือนายกฯอบจ.นครสวรรค์ นายกฯ อบจ.ปทุมธานี และนายกฯอบจ.อ่างทอง

แต่ฝ่ายคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกลวิเคราะห์ว่า เป็นการลาออกช่วงชิงความได้เปรียบ คู่แข่งตั้งตัวไม่ทัน ก็อาจจะไม่ผิดมากนัก เพราะนักการเมืองก็ต้องอาศัยจังหวะที่ตัวเองได้เปรียบ เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งแน่นอน

แต่น่าแปลกใจที่พรรคก้าวไกลไม่ส่งผู้สมัคร ด้วยเหตุผลของความไม่พร้อมในการคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมมาลงชิง แต่ข้อเท็จจริงของเหตุผลอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่จำกัด เพราะพรรคก้าวไกลโหมโรง ตีปีบการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ไก่โห่แล้ว การบอกว่า ไม่พร้อมด้วยข้อจำกัดของเวลาในการคัดสรรบุคคล จึงเป็นเหตุผลที่ไม่น่ารับฟัง น่าจะมีเหตุที่อยู่เหนือผลที่ออกมา

เหตุน่าจะมาจากความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ สส.ก้าวไกล ปทุมธานี มากกว่าและมีร่องรอยให้เห็นอยู่

ช่วงเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม ทางทีมงานพรรคก้าวไกลแจ้งกำหนดการผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำพรรค ว่า ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค จะเดินทางไปเปิดตัวพบว่าที่ผู้สมัครนายกฯอบจ.ปทุมธานี ในนามพรรคก้าวไกลช่วงสุดสัปดาห์นี้ แต่สุดท้าย ทีมงานของพรรคก็ลบข้อความดังกล่าวทิ้ง พร้อมแจ้งยกเลิกกำหนดการ โดยไม่บอกเหตุผล

จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ทีมงานพรรคก้าวไกลแจ้งเรื่องที่นายชัยธวัช ประกาศว่า กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรค มีมติไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี และไม่สนับสนุนใคร เนื่องจากกระบวนการสรรหาผู้สมัครถูกบีบรัดด้วยเวลา และวันลงสมัคร

ทั้งชัยธวัช และพริษฐ์ ต่างพากันออกมาให้สัมภาษณ์สื่อถึงมติพรรคไม่ส่งผู้สมัครชิงนายกฯอบจ.ปทุมธานี ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่เหตุของการไม่ส่งผู้สมัครชิงผู้บริหารท้องถิ่นครั้งนี้ น่าจะมีเหตุมากกว่าที่ยกมาอ้างของพรรคที่ประกาศชูธงการกระจายอำนาจ เดินสายพบปะประกาศเจตนาสุดขั้วของการเมืองท้องถิ่น ถึงขั้นเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด การมาสะดุดแค่เงื่อนเวลาจึงไม่น่าใช่

เมื่อพิจารณาโดยเนื้อแท้แล้ว เราพบรอยร้าว ความไม่ลงรอยกันของ สส.ก้าวไกล ปทุมธานี จนนำมาสู่ความอลหม่านครั้งนี้ สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกลไม่เป็นเอกภาพกันเองมากกว่า

กลุ่มหนึ่งหนุน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ที่ทิ้งพรรคเพื่อไทยออกมาแล้ว และชาญ พวงเพ็ชร เข้าไปยึดหัวหาดเพื่อไทยเรียบร้อย สส.กลุ่มนี้เล็งเห็นว่า ถ้าก้าวไกลสนับสนุน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ โอกาสชนะมี และจะเป็นการประเดิมชัยชนะสำหรับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในซีซั่นนี้

แต่ สส.อีกกลุ่มกลับคิดว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังมีคราบไคลของทักษิณ ชินวัตร อยู่และแนวคิดอาจจะไม่ตรงกับก้าวไกล ทั้ง ๆ ที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ คล้อยมาทางก้าวไกลแล้วด้วยซ้ำ

โดย สส.กลุ่มนี้ กลับไปมีท่าทีสนับสนุน ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ลูกชาย 'บิ๊กแจ๊ส' พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัว ก็มีการพูดคุยกับทึมก้าวไกลมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังติดประเด็นตรงที่บิ๊กแจ๊สก็ยังไม่วางมือ (ลูกจะไปเบียดพ่อมันก็น่าเกลียด)

เมื่อ สส.ปทุมธานี อีกกลุ่มหนึ่งคัดค้าน และไม่อยากไปมีอะไรกับพ่อ ทำให้ต่อมา ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ถอนตัวอย่างกะทันหันช่วงคืนวันที่ 16 พฤษภาคม พร้อมข้อเสนอให้พรรคก้าวไกลสนับสนุนพ่อ

ชัยธวัช เรียกประชุม สส.พรรค ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นการด่วนในช่วงค่ำ เพื่อทำความเข้าใจกับ สส. สุดท้าย นำมาสู่การประกาศต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมว่า พรรคก้าวไกลไม่ส่งคนลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมธานี

ก้าวย่างที่พลาดของก้าวไกลในครั้งนี้ถือว่า พรรคเสียหาย กับปี่กลองที่เชิดแล้ว แต่ก้าวไกลไม่รำ กลับกลายเป็นฝ่ายนั่งดู แหม…มันหัวใจระทึกนะ สำหรับนักการเมืองที่ร่ำร้อง เพรียกหาประชาชน

เหตุใด? ‘สส.’ ถึงตัดงบฯ สำหรับ ‘เขาพังไกร’ จ.นครศรีธรรมราช หลังสัญญาจะปรับภูมิทัศน์-สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาท

ผมก็งงว่า…ทำไมงบประมาณในการปรับภูมิทัศน์บนเขาพังไกร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเสนอโดยองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ถึงถูกตัดออกไปในงบประมาณปี 67

ถูกตัดในชั้นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรให้ตัดงบก้อนนี้ออกไป

เขาพังไกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และ อพท.รับไว้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ แต่เมื่อมีการเสนอของบประมาณเพื่อปรับภูมิทัศน์บนเขาพังไกร กลับไม่ได้รับความใส่ใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตัดงบทิ้งเฉย ซึ่ง #นายหัวไทร ไม่รู้ถึงเหตุผลในการตัด การชี้แจงของหน่วยงานเสนอของบกรรมาธิการงบฯ เข้าใจหรือเปล่า

กล่าวถึง ‘เขาพังไกร’ ต้องมีตำนานผูกโยงกับช้างแน่นอน เพราะมีคำว่า ‘พัง’ หมายถึงช้างตัวเมีย นครศรีธรรมราช มีเรื่องของช้างหลายเชือก เช่น พลายจำเจิญ พลายดำ ช้างตัวเมียเชือกหนึ่งมาล้มที่เขาพังไกร จึงตั้งชื่อชุมชนย่านนี้ว่า ‘เขาพังไกร’

เขาพังไกร ยังมีจุดชมวิวและมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ตั้งบนยอดเขาพังไกร สามารถชมทิวทัศน์ได้ 360 องศา จึงเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เหมาะแก่การพัฒนา และยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอ พร้อม ๆ กับการศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตร แหล่งทำนาใหญ่ของอำเภอหัวไทร

ตามประวัติศาสตร์การปกครอง เขาพังไกรเคยเป็นที่ตั้งของอำเภอ แต่ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่หัวไทรในปัจจุบัน ‘เขาพังไกร’ ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ราวปลายกรุงสุโขทัย ตำบลเขาพังไกรขณะนั้นนับเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญทางด้านการเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในสมัยนั้น จนมาถึงปัจจุบันพื้นที่ ต.เขาพังไกร ก็ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นดินแดน 2 ลุ่มน้ำคือลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก 

เขาพังไกรมีอัตลักษณ์การดำรงวิถีชีวิตชาวนาไทยอย่างชัดเจน มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ยังมีการปลูกกันอยู่ เช่น ข้าวไข่มดริ้ว ส้มโอทับทิมสยามก็เริ่มขยายพื้นที่ปลูกจากปากพนังมาถึงหัวไทร มาถึงเขาพังไกรแล้ว

เขาพังไกร โดยเฉพาะบนเขาพังไกร จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการพัฒนา ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงกับชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวิถีชีวิตและประเพณีจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมที่ชุมชนร่วมจัดขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภายใต้การดูแลของ อพท.และท้องถิ่น

รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา (สมัยที่ผ่านมา) พิพัฒน์ รัชกิจประการ เคยเดินทางขึ้นไปร่วมกิจกรรมบนเขาพังไกรมาแล้ว และเคยรับปากจะช่วยผลักดันโครงการปรับภูมิทัศน์และสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทมาแล้ว

ผมเองได้ขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทบนเขาพังไกรมาแล้วสองครั้ง เพิ่งไปมาเมื่อไม่นานมานี้เอง และเพิ่งรู้ว่าบนเขาพังไกรมารอยพระพุทธบาท และรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ไปสัมผัสกับวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เห็นท้องนาเขียวขจียืนต้นขนานไปกับต้นตาลสูงเด่นเป็นสง่า

แต่น่าเสียดายโครงการปรับภูมิทัศน์และสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทบนเขาพังไกร ถูกตัดทิ้งอย่างไม่ไยดีจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นไรครับ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น

เรื่อง : นายหัวไทร

สะกิดต่อมผู้ใหญ่ (ใจร้าย) ฮั้วเงินสะพัด 30 ล้าน ทำเด็กๆ อดกินนม หลังการจัดสรรพื้นที่ 'ผลิต-จำหน่าย' ยังเงียบ แม้ใกล้เปิดเทอม

นมวัว 1,100 ตันต่อวัน คือปริมาณที่ใช้ทำนมโรงเรียนแจกจ่ายทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 มีเอกสารราชการที่ระบุว่า...

"ความต้องการนมโรงเรียน ปี 66 – 67 จะมีมากถึง 2,064.73 ตัน"

ที่ผ่านมานมโรงเรียนมีสัดส่วน 33% หรือ 1 ใน 3 ของการบริโภคน้ำนมโคของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยตัวเลขใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 69.22% หรือ 2 ใน 3 ของนมในตลาด

1. หลายปีมานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาดแคลนน้ำนมวัวเพราะเกษตรกรเลิกอาชีพไปหลายราย วัวนมจำนวนมากถูกส่งเข้าโรงชำแหละ วัวสาวถูกขายส่งออกไปเวียดนาม เพื่อทดแทนน้ำนมที่ขาดจึงมีการนำเข้านมผงจาก ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ประเทศแถบยุโรป และจีน มาผสมน้ำนมเพื่อจำหน่าย

2. หากปล่อยให้นำเข้านมผงมากเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำนมดิบตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยอยู่ไม่ได้หมดกำลังใจในอาชีพนี้

3. น้ำนมวัวสด มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมผงที่มีหลายเกรดหลายราคา อีกทั้งสิบกว่าปีก่อนยังมีข่าวดังไปทั่วโลกเรื่องเด็กเสียชีวิตในประเทศจีน เพราะบริโภคนมผงที่ผู้ผลิตจงใจผสมสารเมลามีนเพื่อเพิ่มปริมาณและน้ำหนักนมผง

4. ในปี 2568 ภาษีนำเข้านมผงจะลดลงหรือเป็นศูนย์ ตามข้อตกลง FTA ที่ไทยร่วมตกลงไว้

นมโรงเรียน เป็นธุรกิจที่มีระบบโควตาจากรัฐ ใครได้มากจะยิ่งมั่นคงและได้เปรียบทางธุรกิจ จึงมีการแย่งชิงจนเกิดคอร์รัปชันหลาย ในหลายรูปแบบ ทำให้การจัดสรรโควตาไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง ผู้ประกอบการโรงนมเคยร้องเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า

กล่าวสำคัญปีการศึกษา 2567 โรงเรียนกำลังเปิดเทอมแล้ว บางโรงในต่างจังหวัดเปิดเทอมแล้ว ในกรุงเทพจะเปิดในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ แต่ยังไม่มีนมให้เด็กนักเรียนกิน

ผู้ประกอบการโรงนมรายหนึ่งโวยวายว่า กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมสรุปยอดน้ำนมดิบ ในแต่ละปีจะต้องสรุปยอดน้ำนมดิบว่ามีอยู่ที่ไหนเท่าไหร่ เพื่อส่งให้อนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ (โควา) ดำเนินการจัดสรรโควตาให้กับโรงนม 

“ปีนี้กรมปศุสัตว์ยังหาข้อสรุปยอดนมดิบให้กับอนุกรรมการจัดสรรโควาไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถผลิตนมไปแจกเด็กนักเรียนได้”

มีรายงานว่า ยอดน้ำนมดิบถูกเก็บงำไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ยอมแจ้งต่ออนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ โทรสอบถามก็ไม่มีใครตอบได้ อนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ก็ปวดหัวกับการต้องตอบคำถามจากผู้ประกอบการโรงนม

มีรายงานข่าวว่า สาเหตุของความล่าช้าในการสรุปยอดน้ำนมดิบ และทำให้การจัดสรรพื้นที่ช้า เด็กไม่ได้กินนมมาจากผู้ประกอบโรงนมรายใหญ่รวมตัวกันจ่ายเงินใต้โต๊ะผู้ร่างหลักเกณฑ์นมโรงเรียนให้เข้ากับกลุ่มนายทุนรายใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลทำให้กลุ่มผู้ประกอบรายเล็กได้รับผลกระทบในภาคอีสาน, ภาคเหนือ, ภาคกลาง ที่มีโรงนมเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนมากจนนำมาขอการร้องเรียน

รายงานข่าวแจ้งว่า นี้คือขบวนการมาเฟียนมโรงเรียนล่าสุดกลุ่มนายทุนใหญ่ในวงการนมโรงเรียนรวมลงขันจ่ายเงินให้กับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการลงนามเป็นเงิน 30 กิโลกรัม เป็นกลุ่มทุนที่เคยเข้าไปร้องเรียนเรื่องน้ำนมดิบเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการโรงนมรายหนึ่งโวยว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมหลักเกณฑ์ต้องเปลี่ยนทุกปี ทั้งๆ ที่บางปีหลักเกณฑ์ดีอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารก็เปลี่ยนหลักเกณฑ์ มันมีผลประโยชน์อะไรอยู่ในหลักเกณฑ์นี้หรือเปล่า มันสร้างความวุ่นวายวาย เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการโรงนม

ฝากไปยังผู้ใหญ่ใจร้ายทำเด็กอดกินนม ให้รีบแจ้งยอดน้ำนมดิบ เพื่อให้อนุกรรมการได้จัดสรรพื้นที่ แบ่งโควตาการผลิตนมโรงเรียน เด็กจะได้กินนม

คลอง 'พล.อ.อาทิตย์' แห้งผาก ข้าวนาปรังรอวันยืนต้นตาย  กรมชลประทานอยู่ไหน หรือต้องรอ นายกฯ ลงมาจี้เอง

น่าสงสารเกษตรกรโซนบก ของจังหวัดสงขลา (ระโนด, กระแสสินธ์, สทิงพระ, สิงหนคร) เมื่อคลอง พล.อ.อาทิตย์ จ.สงขลา น้ำแห้งผากแล้ว ข้าวนาปรังรอวันยืนต้นตาย ('คลอง พล.อ.อาทิตย์' เป็นคลองขุดใหม่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เพื่อใช้น้ำในการเกษตร ตั้งแต่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร จ.สงขลา)

แต่สภาพปัจจุบัน 'คลอง พล.อ.อาทิตย์' น้ำแห้ง บางช่วงร่องคลองดินแตกระแหงแล้ว ชาวสวน ชาวนาในโซนนี้เรียกร้องให้กรมชลประทานสูบน้ำเข้าคลองมานาน ตั้งแต่ฝนเริ่มทิ้งช่วง แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล จนคลองน้ำแห้งดินแตกระแหง ข้าวนาปรังรอเวลายืนต้นตาย เช่นเดียวกับคนปลูกพืชผักสวนครัว ก็ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง

ยิ่งไปทางสิงหนคร ซึ่งเป็นช่วงปลายน้ำยิ่งหนัก เกษตรกรชาวสวนมะม่วง ที่ลงทุนลงแรงปลูกมะม่วงเบา มะม่วงพันธุ์พื้นถิ่นของภาคใต้ ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเช่นเดียวกัน แม้มะม่วงเบาจะเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาดี นำไปแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม แต่มองไปข้างหน้าเริ่มเห็นความวายวอดรออยู่

(พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เดินทางไปเปิด 'คลอง พล.อ.อาทิตย์' ด้วยตัวเอง ขากลับระหว่างอยู่บนเครื่อง พล.อ.เปรมลงนามปลด พล.อ.อาทิตย์ พ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ.สื่อจึงพาดหัวข่าวว่า 'ปลดกลางอากาศ')

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง นอกจากกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีกรมฝนหลวง ในการทำฝนเทียม หากสภาพอากาศมีเมฆ มีความชื้นสัมผัส กรมฝนหลวงก็นำเครื่องขึ้นบินโปรยสารเคมีทำฝนเทียมได้ วันก่อนช่วงหลังสงกรานต์ท้องฟ้ามีเมฆอยู่ แต่ไม่รู้ว่ากรมฝนหลวงได้ทำหน้าที่หรือไม่ แต่ไม่มีฝนตกลงมา

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็เป็นอีกกรมที่จะต้องเข้าไปดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในยามมีภัยมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว ไฟไหม้

รวมถึง สส.ก็มีหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้รัฐบาลได้รับทราบ เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฐานะคนพื้นที่ รู้สภาพมากกว่า ก็ไม่รู้ว่า สส.ในโซนนี้ (เขต 4) ได้ทำหน้าที่นี้แล้วหรือยัง หรือวุ่นอยู่กับงานอื่นในพื้นที่ อย่าบอกนะว่าปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะปิดสมัยประชุมก็เสนอผ่านช่องทางอื่นได้อีกเยอะ และที่สำคัญปิดสมัยประชุม แต่ยังกินเงินเดือนอยู่นะ

หรือว่าจำเป็นต้องให้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ลงไปไขลานด้วยตัวเอง หรือให้เหมือนไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีที่ระยอง นายกฯ ลงไป ถามอธิบดี ปรากฏว่า ลงไปดูหน้างานล่าช้ามาก จึงส่อว่าจะถูกย้าย

‘โสภา กาญจนะ’ ลั่น!! นำทัพกลุ่มพลังสุราษฎร์ ปชป. งัดไม้เด็ดลุยสู้ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ.สู้กับ 'กำนันศักดิ์'

น่าสนใจยิ่งเมื่อ 'โสภา กาญจนะ' ป้าโส อดีต สส.หลายสมัยของจังหวัดสุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลั่นทุ่ง พร้อมนำทัพกลุ่มพลังสุราษฏร์ ลุยสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ.ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ต้นปี 2568

ป้าโสภา นอกจากจะเป็น สส.หลายสมัยแล้ว ยังเป็นสะใภ้บ้านใหญ่ เป็นภรรยาของ 'ชุมพล กาญจนะ' ผู้อาวุโส อดีต สส.สุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย แต่ในการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ครั้งที่ผ่านมา 'ชุมพล' ลงชิงด้วย แต่พ่ายให้กับ 'กำนันศักดิ์' พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ที่นั่งเป็นนายกฯ อบจ.สุราษฏร์ธานีอยู่ในปัจจุบัน

แต่ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ที่ผ่านมา ลุงชุมพล ต้องมาเดินเส้นทางเดียวกับกำนันศักดิ์ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และสร้างผลงานน่าประทับใจ เมื่อยึด สส.ส่วนใหญ่มาอยู่ในมือ เพียงแต่สองคนนี้ 'กำนันศักดิ์-ชุมพล' ไม่อาจจะเป็นเนื้อเดียวกันได้ ต่างคนต่างเดิน ถนนคนละสาย 

ครั้งครานี้ถือว่า สายแข็งเจอสายแข็ง กำนันศักดิ์ เป็นที่รับรู้กันของชาวสุราษฏร์ธานีว่า 'ใจถึง พึ่งได้' จริงๆ กับสโลแกนที่ใช้ในการหาเสียงครั้งที่ผ่านมา 'เข้าใจ เข้าถึง ใจถึงพึ่งได้' ในสไตล์นักเลงตามแบบฉบับของ 'กำนัน' กำนันศักดิ์โตมาจากสายท้องที่ และก้าวไปสู่ท้องที่ ภรรยา ก็อยู่ในสายท้องถิ่น กำนันศักดิ์มีธุรกิจหลายอย่าง แต่ที่รับรู้กันทั่วไปคือ ธุรกิจเลี้ยงหอยแครงในทะเลอ่าวบ้านดอน ถือว่าเป็นคนมีฐานะคนหนึ่งจากธุรกิจเลี้ยงหอยแครง แต่ 3 ปีที่ผ่านมากับตำแหน่ง นายกฯ อบจ.สุราษฏร์ธานี ถือว่า ผลงานยังไม่โดดเด่นมากนัก ไม่หวือหวา

กล่าวสำหรับป้าโสภา เป็น สส.หญิง และเป็นหญิงแกร่งของ 'กาญจนะ' ในฐานะแม่บ้านของบ้านใหญ่ 'ใจถึงพึ่งได้' อีกคนเหมือนกัน แต่เมื่อการเมืองสนามใหญ่ถูกปิดล้อม ป้าโสภา จึงประกาศเปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.สุราษฏร์ธานี ในนามกลุ่มพลังสุราษฏร์ และแน่นอนว่าการแข่งขันจะต้องชนกับกำนันศักดิ์ ที่จะต้องลงรักษาแชมป์

สุรินทร์ (นายสุรินทร์ บุญประสพ) โพสต์เฟซบุ๊ก มีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องขอหยุดพักงานชั่วคราว เพื่อรักษาตัว โดยมอบหมายให้พี่สาว (ป้าโส – อดีต สส.โสภา กาญจนะ) ทำหน้าที่ประธานกลุ่มพลังสุราษฎร์ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองทุกอย่างแทน

กล่าวสำหรับป้าโส เมื่อต้องขึ้นมานำทัพแทน หลังจากกระแสข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ผู้คนที่สนใจทางด้านการเมืองตื่นตัวกันทั้งจังหวัด เพราะ 'ป้าโส' เป็นหญิงแกร่ง สไตล์ใจถึง พึ่งได้ ทำให้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมากมาย อีกทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี มานานหลายสิบปี ทำให้มีความสนิทสนมกับพี่น้องกลุ่มสตรีภายในจังหวัดเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มพัฒนาสตรี มีสมาชิกมากถึง 200,000 กว่าคน และจัดว่าเป็นกลุ่มสตรีที่มีความเข้มแข็งมากจังหวัดหนึ่งในประเทศ ด้วยความเป็นคนที่มีแต่ให้เสมอมา จึงเป็นผู้ใหญ่ที่พี่น้องสตรีให้ความรัก และเคารพเป็นอย่างสูง

เมื่อ 'ป้าโส' ก้าวขึ้นมานำทัพ ส่งผลให้เกิดเสียงตอบรับจากพี่น้องสตรีทุกอำเภอทั้งจังหวัด ที่สำคัญตลอดชีวิตเส้นทางการเมืองที่ผ่านมา 'ป้าโส' เสียสละเพื่อสังคมมาโดยตลอด เป็นเหตุให้มีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นมากมายรักและนับถือ พร้อมที่จะให้การสนับสนุน หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ได้ข่าวว่า สจ.เกือบทั้งจังหวัด ได้ติดต่อมาขออยู่ในทีมป้าโสแล้ว โดยมีการเปิดตัวพร้อมรองแม่ทัพ อีก 3 คน คือ...

1. นายยุทธพงษ์ ชมภูพล น้องชายแท้ๆ ของ สส.พิชัย ชมภูพล ตัวแทนพี่น้องประชาชน เขต 6, 

2. นายธนาคม รื่นพานิช ประธานสภาเทศบาลนครเกาะสมุย ในทีม สส.ภูมิ พิพิธภัณฑ์ นายกปุ๊ รามเนตร ใจกว้าง และนายกสด วรากรณ์ เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เขต 2, 

3. สจ.นิโรธ นวลวัฒน์ พี่ชายแท้ๆ ของ สส.ธานินทร์ นวลวัฒน์ เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน เขต 7 โดยเฉพาะอำเภอกาญจนดิษฐ์

อีกทั้งยังมี ขุมกำลังที่สำคัญจากการเมืองสนามใหญ่อีกดังนี้ เขต 3 สส.จ๋า วชิราภรณ์ กาญจนะ ลูกสาว ซึ่งในการเลือกตั้งสส.ที่ผ่านมาได้คะแนนมากที่สุดในจังหวัด เป็นกำลังหลักในพื้นที่เขตนี้, เขต 1 สส.ตุ๊ก กานสินี โอภาสรังสรรค์ ลูกสะใภ้ และนายกแป๊ะ ประเสริฐ บุญประสพ น้องชายเป็นกำลังหลักในพื้นที่อำเภอเมือง, เขต 4 ได้บ้านประดิษฐพร ของ อดีต สส.อ้อย สมชาติ, นายกเหน่ง ชลาวุฒิ และกำนันหน่อง ทรงกรด เป็นกำลังหลักขับเคลื่อน, เขต 5 ได้ อดีต รมช.สินิตย์ เลิศไกร อดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ สส.เขตนี้ 5 สมัย พร้อมทีมงานเป็นกำลังหลักในจุดนี้

การขึ้นมานำทัพกลุ่มพลังสุราษฎร์ของ อดีต สส.โสภา กาญจนะ ในศึกเลือกตั้ง อบจ.สุราษฎร์ที่กำลังจะมาถึง เป็นการท้าทายยิีงมองสำหรับกำนันศักดิ์ ที่เป็นแชมป์อยู่

และต้องอาศัยโครงข่ายท้องถิ่นท้องที่เช่นกัน อันเป็นฐานเดียวกันกับป้าโสภา อยู่ที่ว่าใครใจถึงกว่ากันในการดึงดูดแกนนำเอาไว้ให้ได้ แต่ป้าโสภาได้เปรียบตรงมีพลังสตรีอยู่ในมือด้วยต้องบอกว่า 'ถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่ง' ชิงความได้เปรียบทางการเมือง

การเมืองในยุคสมัยนีั ทีมงาน เครือข่ายอย่างเดียว ไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดแพ้-ชนะ แต่กระสุนดินดำ จะเป็นพลังบวก ใครมีมากกว่า ใจถึงกว่า คนนั้นมีโอกาสคว้าชัยชนะ

'ภูมิใจไทย' จัดทัพหลวงปูพรมขยายฐาน 'นครศรีฯ' หลังเขต 8 จ่อเลือกตั้งใหม่ 'ปชป.-พปชร.-ก้าวไกล' พร้อมหน้า

27 มีนาคมนี้ นครศรีฯ จะคึกคักอีกครั้ง เมื่อเสนาบดีสังกัดพรรคภูมิใจไทยเดินทางไปเหยียบเมือง เน้นพื้นที่เขตเลือกที่ 8 

นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค รัฐมนตรีมหาดไทย รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีในสังกัด ตลอดจนกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค จะร่วมงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดธาตุน้อย ต.หลักช้าง อ.ช้างกลางในเวลา 15.30 น. 

โดยก่อนเข้าร่วมงานแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้น ในเวลา 14.00 น. นายอนุทินและนายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ จะร่วมพบปะผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นและตัวแทนสถาบันการศึกษา และประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่ เขต 8 ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช 

มีรายงานว่า ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จะเดินทางลงมาพร้อมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงแรงงาน โดยนายชาดาจะแยกเดินทางต่อไปยัง อ.พิปูนและฉวาง เพื่อพบปะกับชาวบ้าน ส่วนนายพิพัฒน์ เข้าพื้นที่ อ.นาบอน เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและผู้ประกอบการโรงงานยางพารา ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเปิดเวทีปราศรัย ที่ อ.ช้างกลาง มีนายอนุทินเป็นหัวหน้าคณะ

เป็นการยกทัพหลวงชุดใหญ่ลงพื้นที่เน้นเขตเลือกตั้งที่ 8 นครศรีฯ และเป็นการลงพื้นที่หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งฟ้อง 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' ชงให้มีการเลือกตั้งใหม่

โดยพรรคภูมิใจไทยได้เตรียมหาผู้สมัครแทนไว้แล้ว และเดินสายพบปะประชาชนอยู่ต่อเนื่อง หลัง กกต.ชงศาลให้สั่งจัดการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่าการลงพื้นที่แบบเต็มแม็กของภูมิใจไทย เป็นการส่งสัญญาณชัดถึงการเลือกตั้งใหม่

สำหรับคู่แข่งของพรรคภูมิใจไทย จะมีพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันแล้วว่าจะส่ง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต สส.หลายสมัยที่สอบตกครั้งที่แล้ว ลงพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง

พรรคพลังประชารัฐ ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคยืนยันว่า ส่งคนเดิม คือ สุนทร รักษ์รงค์ ที่ครั้งผ่านมาได้อันดับ 2 ที่คงจะสรุปบทเรียนถึงความผิดพลาดครั้งที่ผ่านมาแล้ว

พรรคก้าวไกล มีอยู่สองตัวเลือก ชายคนหญิงคน รอสรุปว่าจะเลือกใคร หลังพรรคให้ทั้งสองคนไปทำการบ้านมา คนหนึ่งเป็นหญิงสาวชาวจันดี อายุ 26 ปี

พรรครวมไทยสร้างชาติก็หึ่มๆ ว่าจะส่งอยู่เหมือนกัน แต่ภาพยังไม่ชัดนักว่าจะส่งใครลงชิงสำหรับสนามช้างกลาง, ฉวาง, นาบอน, พิปูน

‘รัฐบาล’ เคลมผลงาน ‘ราคายางพารา’ พุ่ง 80 บาท/กก. แท้จริง!! ‘ยางผลัดใบ-โรคใบร่วง’ ทำให้ดีมานด์สูงขึ้น

รัฐบาล ทั้งนายกฯ รมว.เกษตรฯ โฆษกรัฐบาล โฆษณาจังว่ายางพาราราคาพุ่งถึง 80 บาท/กก.เป็นผลงานรัฐบาล อยากให้พูดไปตลอดทั้งปีนะ ถ้ายางพาราราคาตก อย่าบอกนะว่าเป็นกลไกการตลาด เป็นเรื่องของ demand/subply หรือตลาดโลก

นำเรียนว่าช่วงนี้น้ำยางพาราออกสู่ตลาดน้อย ความต้องการยางพาราสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น ล้วนต้องการยางพารา

ส่วนสาเหตุน้ำยางพาราออกสู่ตลาดน้อย มาจาก…

- ยางผลัดใบ ช่วงต้นปีของทุกปีจะเป็นช่วงยางผลัดใบ ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้
- ตั้งแต่ปลายปี 66 มาจนถึงมกราคมปี 67 ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพารามีฝนตกต่อเนื่อง ยาวนาน ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้
- โรคใบร่วงระบาดในสวนยางพารา โดยระบาดหนักใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และลามมาอีกหลายจังหวัด
- โรคใบร่วงยังระบาดไปอีกหลายจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา การกรีดยางทำให้น้ำยางลดลง 30-40% และทำให้ต้นยางพาราอ่อนแอลง
- โรคใบร่วงในยางพารา มีมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มระบาดที่อินโดนีเซีย มาถึงมาเลเซีย และเข้ามายังประเทศไทย
- รัฐบาลยังตื่นตัวน้อยกับการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงในยางพารา และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองการแก้ปัญหาโรคใบร่วงด้วยซ้ำ

รัฐบาลอย่าเพิ่งตีปีกดีอกดีใจ โฆษณาว่าการที่ยางพาราราคาขยับตัวขึ้นไปสูงอาจจะถึง 80 บาท/กก.ว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เพราะยังไม่เห็นวิธีการที่ชัดเจนของรัฐบาลในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีแต่เห็นว่าเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน (ยางพาราเถื่อน) ซึ่งยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านเรา ยังราคาถูกมาก แต่ 20-30 บาท/กก.เท่านั้นเอง จึงมีการลักลอบนำเข้ามาขายในบ้านเรา

อยากให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน หรือแม้กระทั่้งยางพาราทรานซิส (ผ่านทาง) ไปยังมาเลเซีย ที่อาจจะตกหล่นขายอยู่ในตลาดบ้านเราก็เป็นไปได้

ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบปราบทั้งยางพาราเถื่อน และยางพาราทรานซิส สาวให้ลึกถึงผู้อยู่เบื้องหลัง แล้วนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อาจจะถึงกับร้อง ‘อัยหย่า ซี้เลี่ยวฮ่า’ เพราะอาจจะเป็นคนที่อยู่ไม่ไกลตัวนายกฯ ก็เป็นได้ 

ยังไม่เห็นรัฐบาลคิดออกมาเป็นนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับยางพารา เช่น ที่เคยเป็นนโยบายก่อนหน้านี้ ให้ทุกกระทรวงที่สร้างถนน ต้องวางงบประมาณให้มีส่วนผสมของยางพารา 10% แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นบ้าง แต่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร หรือการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น ที่นอน หมอน รองเท้า ตีนกบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำยางพาราไปทำแท่งแบริเอ่อร์ ที่ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะยางพารามีความยืดหยุ่น ลดการสูญเสีย หรือยาวสะพานตรงถนนโค้ง ก็ห่อหุ้มด้วยยางพารา จะลดการสูญเสียลงไปได้มาก 

กระทรวงกลาโหม แทนที่จะใช้กระสอบทรายทำบังเกอร์ก็ใช้ยางพารา น่าจะได้ผลดี

ทั้งหมดนี้อยากจะฝากไปยังรัฐบาล ให้ศึกษาเรียนรู้ให้ดีก่อนออกมาตีกิน กลัวว่าสุดท้ายแล้ว จะหาทางลงไม่ได้เหมือนดิจิทัล วอลเล็ต ตายคานโยบาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top