Monday, 19 May 2025
นายหัวไทร

คลี่สถานการณ์ 'ประชาธิปัตย์' ในจังหวะคลุมเครือ ยังเหลือโอกาสให้คงไว้ซึ่งสถาบันทางการเมืองอยู่

เงียบไปเลยสำหรับประชาธิปัตย์ จะจัดการกับปัญหาภายในพรรคอย่างไร เห็นตอบแรกๆ ดูขึงขัง เอาจริงเอาจัง หรือว่า "เขามีอะไรกันแล้ว"

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์หลักๆ มีอยู่ 2-3 ประเด็น...

- ประเด็นแรกคือจะมีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อไหร่ แทนชุดเก่าที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้ยับเยิน หลังจากนัดประชุมกันมาสองรอบ แต่องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง ซึ่งเป็นการล่มแบบ 'ผิดปกติ' มีการจัดการทำให้ล่ม

- ประเด็นที่สองคือ จะจัดการกับปัญหา สส.จำนวนหนึ่ง 16 คน ยกมือสวนมติพรรค ไปยกมือสนับสนุน 'เศรษฐา ทวีสิน' จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มติพรรคให้ 'งดออกเสียง' มีการนินทากันว่า การโหวตสวนมติพรรค เป็นเกมเดินไปสู่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เกมการเดินไปสู่การร่วมรัฐบาล ถูกกำหนดโดยทีม 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เลขาธิการพรรค, เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สส.บางกลุ่มก้อน กลุ่มหนึ่งมาจากสายของเดชอิศม์ อีกกลุ่มหนึ่งมาจากสายชัยชนะ เดชเดโช อีกกลุ่มมาจากสายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่เป็นการเลือกทางเดินที่ผิดพลาด เพราะพรรคเพื่อไทย แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ชายตามองมายังประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย แต่ สส.กลุ่มนี้ภายใต้การกุมทิศทางของ 'เฉลิมชัย-เดชอิศม์-แทน' ก็หวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ร่วมรัฐบาล

สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออก ยื่นหนังสือเป็นทางการถึงจุรินทร์ ให้ตั้งกรรมการสอบ 16 สส.ที่แหกมติพรรค แต่ 'เงียบกริบ' ไม่มีข่าวคราวการตั้งกรรมการสอบมาจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 'เงียบยิ่งกว่าเป่าสาก' แต่ #นายหัวไทร ได้รับเสียงกระซิบมาว่า "ตั้งแล้ว" แต่ไม่มีข่าวไม่มีคราว ใครเป็นประธาน ใครเป็นกรรมการสอบ และสอบไปถึงไหนแล้ว ต้องเสร็จเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรออกมาให้ได้รับทราบกันเลยแม้แต่น้อย ยิ่งปล่อยไว้นานรังแต่จะเพิ่มความเสื่อมครับ

ได้เห็นภาพที่แปลกตาแปลกใจช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อมระยอง เขต 3 มีคนประชาธิปัตย์มะรุมมะตุ้มกันไปช่วยหาเสียง ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์, สุทัศน์ เงินหมื่น, นิพนธ์ บุญญามณี พร้อมหน้าพร้อมตากันไปช่วยหาเสียง แต่ที่แปลกคือ มี 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' และ 'ชัยชนะ เดชเดโช' ไปร่วมเดินเคาะประตูบ้าน ช่วยหาเสียงด้วย ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นคนละขั้วกันชัดเจน

งานนี้จะขาดก็เพียง 'นายกฯ ชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' ที่อาจจะไปก็ได้ แต่ #นายหัวไทร ไม่เห็น หรือติดภารกิจอะไร ถึงไม่ได้ไปร่วมภารกิจวัดดวงสำหรับประชาธิปัตย์

นายหัวไทรแอบคิดในใจว่า "หรือว่า เขาคุยกันแล้ว" คุยกันออกมาในแนวประนีประนอม เมื่อผลสอบออกมา ก็คือ "มีมูล" ว่า มีการละเมิดมติพรรค แต่ฐานความผิดต่างกัน บางคนแต่ทำตามผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำ ช่วงคนลงมติตามผู้มีพระคุณบอก แต่บางคนเป็นแกนนำ แถมวิจารณ์พรรค วิจารณ์ผู้อาวุโสของพรรค ถึงขั้นเชิงตั้งคำถามว่า "ใครจะขับใครกันแน่" เมื่อฝ่ายเขากุมเสียง สส.อยู่มากกว่า อย่างน้อยเห็นๆ 16-20 คน

ที่พาให้คิดได้ว่า "เขาคุยกันแล้ว" และจะออกมาแนวประนีประนอม ไม่อยากให้แตกหัก และ สส.บางคนก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทำตามผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณสั่ง แนวทางของประชาธิปัตย์จึงน่าจะออกมาแบบ "ขับออกจาก" บางคน อาจจะ 1-2 คน ส่วนที่เหลืออาจจะว่ากล่าวตักเตือน จะด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กระทำขึ้น ซึ่งต้องไปกำหนดด้วยว่า ฐานความผิดแต่ละฐานะเมื่อโดนลงโทษแล้ว จะมีผลอย่างไรต่อไปในอนาคต

แต่สำหรับมุมมองของนายหัวไทร มองว่า น่าจะขับออก 1 ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 1 ที่เหลือตักเตือนด้วยวาจา คนที่โดนขับออกก็ไปหาพรรคใหม่สังกัดตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะตักเตือนด้วยวาจา หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไปได้ แต่จะมีผลอย่างไรในอนาคต ขึ้นอยู่กับพรรคกำหนด

จบข่าวสำหรับอนาคต 16 สส. แต่เรื่องใหญ่ของประชาธิปัตย์ จะฟื้นฟูพรรคอย่างไรให้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนในอดีต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องคิดหนัก คิดให้มาก ฟังให้มาก เสาะแสวงหาคนรุ่นใหม่ ดึงเข้ามาทำงาน "ร่วมคิดร่วมทำ" แบบซึมซับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ให้มาก

ในเวลานี้ประชาธิปัตย์ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่า จะขอเป็นฝ่ายค้านแบบเข้มข้น ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางที่ประชาธิปัตย์ถนัด ขอให้มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างจริงจัง เข้มข้น ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกศรัทธากลับคืนมาได้

แต่หันซ้ายมองขวา ก็ยังไม่เห็นดาวเด่นในบริบทของการตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้าน อาจจะมีแค่ดาวจรัสแสงในเชิงการหารือ ตั้งคำถาม อย่างเช่น 'สรรเพชญ บุญญามณี -ร่มธรรม ขำนุรักษ์' แต่ยังไม่เห็นแววว่าจะมีใครแสดงบทฝ่ายค้านที่เข้มข้นเหมือนในอดีตได้

ในอดีตที่เราเห็น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ - วิทยา แก้วภารดัย-อาคม เอ่งฉ้วน - ไตรรงค์ สุวรรณคีรี - พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล - สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น นึกถึงคนเหล่านี้ ก็นึกภาพออกของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แต่มองไปยัง สส.ปัจจุบัน 20 กว่าคน เว้น 'ชวน-บัญญัติ' บอกตามตรงว่า "มองไม่เห็น"

ขออนุญาต #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน เสนอแนะว่า เมื่อประชาธิปัตย์จัดทัพลงตัว มีหัวหน้าพรรค มีเลขาธิการพรรค มีกรรมการบริหารพรรคครบถ้วนแล้ว 'ชวน-บัญญัติ' ควรลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ที่เข้มข้น ซึ่งถ้า 'ชวน-บัญญัติ' ลาออก ลำดับที่ 4 คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ และลำดับที่ 5 นิพนธ์ บุญญามณี ก็จะขยับขึ้นมาเป็น สส.แทน แต่ไม่ใช่แค่นั้น คุณหญิงกัลยาก็ควรจะสละสิทธิ์ด้วย เพื่อให้ลำดับ 6 อย่าง 'องอาจ คล้ามไพบูลย์' ขยับขึ้นมาเป็น สส.บัญชีรายชื่อแทน

ประชาธิปัตย์ก็จะมี สส.แสดงบทบาทเด่นในสภาได้ 2 คน คือ นิพนธ์-อาอาจ ก็อาจจะมีคนถามว่าแล้วจะให้ 'ชวน-บัญญัติ' ไปทำอะไร เมื่อทั้งสองยังยึดมั่นอยู่กับประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น สำนึกรักประชาธิปัตย์ไม่เสื่อมคลาย ผมแนะนำว่า ให้ผู้อาวุโสทั้งสองท่าน และอาจจะรวมถึงคุณหญิงกัลยาด้วย ไปแสดงบทของนักบุญ ไปดูแลมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ให้เป็นจริง เป็นเรื่องเป็นราว หรือไปขับเคลื่อนให้เป็นจริงเป็นจังในการผลักดันให้มีถนนคู่ขนาดขึ้น-ลงภาคใต้ ไปจนถึงนราธิวาส ตามเจตนารมณ์ของนายชวน ไปผลักดันงานพัฒนาภาคใต้ที่ต้องชดเชยจากการสูญเสียไปในบางรัฐบาล ที่นายชวนพล่ำบ่นมานาน

ทั้งหมดที่เขียนมาก็ด้วยความปรารถนาดีต่อพรรคการเมืองในตำนาน พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองอย่าง 'ประชาธิปัตย์'

เรื่อง: นายหัวไทร

ระดมสมอง!! หาเหตุให้ 'หมออ๋อง' ออกจากก้าวไกลอย่างไร้ข้อกังขา ช่วยรักษาไว้ทั้งสองตำแหน่ง 'ผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภาฯ'

พลัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรค ยังเป็นหัวหน้าพรรคต่อไปได้ 

เพียงแต่เมื่อถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ ก็จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ตามกฎหมายกำหนด เพราะผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน (ไม่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร และสภา) 

เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไว้ พิธา จึงต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อเปิดทางให้เลือก สส.คนใหม่มาเป็นหัวหน้าพรรค จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

แต่ต้องติดต่อกับข้อกำหนดกฎหมาย ผู้นำฝ่ายค้าน จะต้องไม่มีตำแหน่งในสภา เช่น ประธาน หรือรองประธานสภา จะทำอย่างไรกับ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่นั่งเป็นรองประธานสภาฯ อยู่ในนามพรรคก้าวไกล

“เราต้องรักษาไว้ทั้งสองตำแหน่ง เพราะเราสูญเสียมามากแล้ว” ความคิดหนึ่งแว่บขึ้นมาในสมองของนักการเมืองระดับอ๋อง

ว่าแล้ว จึงน่าจะใช้มติพรรคขับหมออ๋องออกจากพรรค ไปหาพรรคใหม่สังกัด และยังเป็นรองประธานสภาอยู่ได้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ด้วย รักษาไว้ทั้งสองตำแหน่ง

เพียงแต่จะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายกับสังคมในการขับหมออ๋องออกจากพรรค ในเมื่อหมออ๋องยังไม่ทำผิดอะไรต่อพรรค ไม่ได้ทำอะไรให้พรรคเสียหาย

มีคนพยายามอธิบายว่า ก็อดีตเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อ สส.กลุ่ม รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องการออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อตั้งพรรคใหม่ พรรคเศรษฐกิจไทย ก็เสนอให้พรรคมีมติขับพวกเขาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และในที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็มีมติขับ สส.กลุ่ม รอ.ธรรมนัสออกจากพรรคจริงๆ และไปขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทย

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้จึงน่าจะเกิดกับหมออ๋อง-พรรคก้าวไกล เพียงแต่พรรคก้าวไกลต้องหาเหตุหาผลไปอธิบายกับสังคม กับการทำการเมืองแนวสร้างสรรค์ แนวก้าวหน้า แต่การทำแบบที่ว่า เป็นการทำแบบ 'ศรีธนนชัย' เพื่อรักษาไว้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และตำแหน่งรองประธานสภา

ใครจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ให้จับตาดูการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะเป็นใคร จะเป็นพริษฐ์ วัชรสินธุ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม, ศิริกัญญา ตันสกุล หรือไม่หรือจะเป็นใคร

แต่สำหรับหมออ๋อง มีข่าวแพลมออกมาแล้วว่า เมื่อถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล ก็จะไปสังกัดพรรคเป็นธรรม หรือไม่ก็พรรคสามัญชน แต่มีความเป็นไปได้กับพรรคเป็นธรรมมากกว่า

ที่มา: นายหัวไทร

วัดใจ 'ครม.เศรษฐา 1' มุ่งแก้ 'ปากท้อง-ค่าครองชีพ' ทำได้ไว ไม่ติด แต่พันธกิจล้าง 'ผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองตัวดี' ห้ามปล่อยไหล

สำหรับ นายหัวไทร ในนาทีนี้ นโยบายที่อยากให้รัฐบาลทำให้เข้มข้นจริงจัง และ ด่วนที่สุด คือ การปราบปรามยาเสพติด การลักลอบค้าของเถื่อน-หนีภาษี ปราบการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ (ทั้งระดับนโยบาย-ปฏิบัติการ) ทำอย่างไรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่หน่วยงานเล็ก ๆ ระดับจังหวัด กรม กอง / อบต.เทศบาล อบจ.จะปราศจากการล็อกสเปก เล่นพรรคเล่นพวก / ฮั้วประมูล / เงินทอน ฯลฯ

ยิ่งปัญหาการพนันออนไลน์ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย นี่แหละที่เป็นที่มาของการสร้างผู้มีอิทธิพล

ไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่แล้ว ส่วนน้ำมันแพงก็เป็นปัญหาพื้นฐานที่รัฐจะต้องเข้าไปรื้อโครงสร้างโน้นนี้นั้น เชื่อว่าไม่ยากที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาได้ เช่น โครงสร้างภาษี ค่าการคลั่น การนำเข้า-ส่งออก

เรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นเรื่องที่นักการเมืองไปหาเสียงรับปากกับประชาชนไว้เอง จะตั๋วใบเดียวขึ้นได้ทุกสายหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะต้องคิดแก้อยู่แล้ว แต่งานนี้ไม่อยากให้รัฐบาลควักเงินภาษีของคนทั้งประเทศ มาชดเชยการเดินทางของของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใครกินใครใช้ก็คนนั้นจ่าย แต่ต้องในอัตราที่เป็นธรรม ส่วนจะทำอย่างไร จะคุยกับเอกชนแบบไหน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพียงแต่ไม่อยากให้เอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาจ่ายแทนชดเชยให้เอกชน และรัฐบาลหยิบเอาไปอ้างเป็นผลงาน มันไม่ใช่ฝีมือครับ

เรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่นายกรัฐมนตรี 'เศรษฐา ทวีสิน' พูดเองว่าจะไม่ใช้ประกันรายได้ตามนโยบายประชาธิปัตย์ และจะไม่รับจำนำ เหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะใช้มาตรการอะไร นอกจากพักหนี้พักดอก 'นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้' มันดูหลักลอยไปหน่อยกับการเล่นคำ สินค้าเกษตร 5 ตัวหลัก ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสัมปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน คือพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ รัฐบาลจะใช้นวัตกรรมอะไร มาสร้างเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ไม่มีการบอกกล่าว

ปัญหาบางปัญหาเกี่ยวโยงกับนักการเมือง หรือพูดง่าย ๆ ว่า นักการเมืองนั่นแหละคือตัวดี ทำเสียเอง จึงเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข

เอาแค่นี้ก่อน จริง ๆ มีปัญหาอีกมากมายที่คาราคาซังมายาวนาน แต่ขาดการเอาใจใส่ดูแลและแก้ไข เพราะบางปัญหามัน 'หยิกเล็กก็เจ็บเนื้อ'

อื้ออึง!! ‘ไผ่ ลิกค์’ หายวับ!! ครม.เศรษฐา 1 พปชร.ถูกตัดโควตาเหลือแค่ 3 ตำแหน่ง

พลันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ก็มีคำถามพุ่งมามากมายเกี่ยวกับบุคคลที่หลุดจากตำแหน่งไป จากเดิมที่เคยอยู่ในโผว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี ก็ให้เป็นที่สงสัยว่าเกิดจากอะไร พรรคการเมืองบางพรรคก็ถูกปรับลดโควตาลง ทั้งๆ ที่เคยมีโควตาตามสัดส่วน 9 : 1

ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐมนตรี พบว่ามีการโปรดเกล้าลงมาเพียง 34 คน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็น 35+1 คือบวกนายกรัฐมนตรีอีก 1 คน

ตรวจสอบลึกลงไปพบว่า พรรคพลังประชารัฐได้มาเพียง 3 ตำแหน่ง คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแล้วล้อม...

ชื่อของ ‘ไผ่ ลิกค์’ ที่มีโผว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ แต่หายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือถูกตัดโควตาก็ไม่ทราบ แต่ถ้าตัดโควตา ก็ไม่เห็นว่าจะเอาไปเพิ่มให้ใคร ตรงไหน?

เรื่องนี้พลังประชารัฐจะว่าอย่างไร? มี สส.40 คน แต่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 3 คน ซึ่งข้อเท็จจริงควรจะได้ 4+ ด้วยซ้ำไป

หรือเกิดจากการเอาคืนของเพื่อไทย ที่เสียงของพลังประชารัฐมาไม่เต็ม มาแค่ 39 จาก 40 และคนที่ไม่มาเป็นถึงหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเสียงสมาชิกวุฒิสภาสาย พล.อ.ประวิตร ก็มาแค่หร่อมแหร่ม 4-5 คน จึงถูกตัดโควตารัฐมนตรีลง แต่โดยมารยาทควรจะบอกกล่าวกันก่อนไหม

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ เสียงเต็มทั้ง 36 เสียง แถมเสียงสมาชิกวุฒิสภา สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มาเต็มเม็ดเต็มหน่วย เอาว่าเป็นเนื้อเป็นหนัง มี สส.36 คน แต่มีรัฐมนตรีถึง 5 ที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีพลังงาน, นายกฤษณะ จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยคลัง (คนนอก), นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยเกษตร, นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม เป็นต้น 

เอาเป็นว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเนื้อเป็นหนังกว่าเยอะ!!

นอกจากนี้ยังมีชื่อบุคคลที่เคยอยู่ในโผ แต่หลุดมือไปตอนไหนไม่รู้ นอกจาก ‘ไผ่ ลิกค์’ แล้ว ยังมี ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ที่ควรได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายกฎหมาย และช่วยงานพรรคมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย มีมือดีเข้ามาล่วงโผ ดัน ‘พิชิต ชื่นบาน’ อดีตทนายถุงขนม เข้ามาเสียบแทน ‘ชูศักดิ์’ โดยไม่ได้ดูคุณสมบัติ ว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนถึง 6 เดือน ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ ‘พิชิต’ จึงหลุดไปอีกคน 

สรุปง่ายๆ ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย หรือจะให้ ‘พีระพันธุ์’ ดูแลแทน ในฐานะอดีตผู้พิพากษา

ส่วน พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ที่เคยเข้าวินในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ก็หลุดไปเหมือนกัน โดยมี ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามาสวมแทน… ทราบว่า นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ขอเปลี่ยนตัวเอง ต้องการคนมีประสบการณ์เข้ามาทำงาน จึงโยกพิมพ์ภัทรา จากช่วยมหาดไทย มานั่งว่าการอุตสาหกรรมแทนพิชชารัตน์ ซึ่งชื่อของพิชชารัตน์ก็หายไปจากสารบบ 2-3 วันแล้ว

ด้าน ‘วิทยา แก้วภราดัย’ ที่เคยมีชื่อเข้าชิงในรอบแรก ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข แต่ชื่อหลุดไปเมื่อเข้ารอบสอง ซึ่งเจ้าตัวอาจจะขอถอนเองก็เป็นได้ เพราะเคยนั่งว่าการสาธารณสุขมาแล้ว

ชื่อ ‘อดิศร เพียงเกษ’ หมอแคนจากพรรคเพื่อไทยก็ไปเข้ารอบ ไม่แตกต่างจาก ‘เสี่ยอ๋อย’ จาตุรนต์ ฉายแสง แต่ดูเหมือนว่า จะมีชื่อคนใหม่ๆ แปลกๆ เข้ามาแทนหลายตำแหน่งอยู่เหมือนกัน เช่น จักรพงษ์ แสงมณี มากพรรคไหนไม่ทราบ เข้ามานั่งช่วยต่างประเทศ

การตั้งรัฐบาลคราวนี้ พรรคที่เจ็บกระดองใจมากที่สุดน่าจะเป็นพลังประชารัฐ ที่มี สส.มากกว่ารวมไทยสร้างชาติ แต่ได้รัฐมนตรีน้อยกว่า ถึงเวลาพลังประชารัฐต้องมานั่งขบคิดแล้วละ จะว่าโควตาเต็มก็ไม่ใช่ เพราะตั้งยังขาดอยู่อีก 2 ตำแหน่ง หรือใครบางคนขาดคุณสมบัติ ส่งคนใหม่มาก็ตรวจสอบไม่ทันแล้ว เพราะรายชื่อส่งหมดแล้ว จะรอก็ไม่ได้ เพราะกำหนดการวางไว้หมดแล้ว วันศุกร์นำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้า โปรดเกล้าฯ ลงมา ‘เสาร์’ วันจันทร์เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน วันอังคารก็จะประชุม ครม.นัดแรก วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ‘ลุงตู่’ จึงมีอีเวนต์ อำลาทำเนียบรัฐบาลด้วย ‘รอยยิ้ม-น้ำตา’

แต่เริ่มต้น รัฐบาลเศรษฐา 1 ก็เห็นรอยร้าวแล้ว และน่าจะเป็นบทลงโทษที่สาสมกับเพื่อไทยต่อพลังประชารัฐ

มโนทัศน์การเมือง!! เลือก สส.หลากพรรค มาแข่งกันทำงาน แต่สุดท้ายอาจได้ 'สส.งานศพ-งานบวช-งานแต่ง'

พันพรือล่าว…เมื่อมีคนโพสต์ว่า ต่อไปนี้จะไม่มี สส.นครศรีธรรมราช มีแต่ สส.เขต เขตใครเขตมัน 

....งง !!

สส.เขตก็คือ สส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เพียงแต่ว่า จะมีกลไกอะไรมาประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน 4 พรรค...

- ประชาธิปัตย์
- ภูมิใจไทย
- พลังประชารัฐ
- รวมไทยสร้างชาติ

ผมประเมินว่า สส.ทุกวันนี้ ทุกคนหวงเขตตัวเอง กลัวแพ้เลือกตั้งสมัยหน้า จึงทำงานในเขตตัวเองเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงภาพรวมทั้งจังหวัด หรือภาพรวมทั้งประเทศไทย

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้เราจึงจะได้เห็น สส.งานศพ, สส.งานบวช, สส.งานแต่ง แต่ไม่มี สส.มานั่งคิดโครงการ คิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวม และก็ไม่รู้จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหากับใคร 

...สส.ทุกคนคิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลักใหญ่ !!

สส.บางคนที่ยกมือสวนมติพรรค ก็ไม่ค่อยกล้าออกหน้า ออกชุมชน หลบหน้าหลบตา ตอบชาวบ้าน ตอบนักข่าวยาก ชาวบ้านสมัยนี้เขารู้ข้อมูล รู้ข่าวสาร เขากล้าที่จะโต้ตอบ สส.เหล่านี้จึงเลือกใช้ชีวิตอีกวิถีหนึ่ง จนกว่าจะมีทางออกในวิถีใหม่

สถานการณ์สำหรับนครศรีธรรมราชเมื่อ สส.10 คนมาจาก 4 พรรคการเมือง ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ก็จะต่างคนต่างเดิน ต้องสร้างกลไกในการประสานความร่วมมือ 

กลไกตัวนี้ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ยกหูโทรศัพท์เชิญมานั่งประชุม แต่เป็นกลไกที่ผลักดัน ขับเคลื่อน ปฏิบัติภารกิจร่วมกัน คือ ทำหน้าที่ในการระดับสมองจากทุกภาคส่วน และนำข้อสรุปไปผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดมรรค เกิดผลอย่างจริงจัง 

ซึ่งกลไกตัวนี้จะต้องเป็นในรูปคณะกรรมการร่วมที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย แต่ต้องไม่มากเกินไปจนเทอะทะ ต้อง 'จิ๋วแต่แจ๋ว' มีผู้ที่ทรงพลังเข้ามาเป็นตัวแทนในคณะกรรมการ ส่วนการได้มาของคณะกรรมการร่วม เกิดจากการสรรหาของแต่ละภาคส่วนแล้วเสนอตัวมาแต่งตั้งเป็นกรรมการ

ในระยะเริ่มแรกอาจจะงง ๆ ว่า แล้วเมื่อแต่ละภาคส่วนไปคัดสรรได้ตัวมาแล้วจะเสนอใคร ให้ใครแต่งตั้ง ก็ไม่ยาก ให้แต่ละคนที่ได้รับการคัดสรรมาแล้ว มานั่งคุยกันนอกรอบ แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นองค์กร จะใช้ชื่ออะไรก็ตกลงกันในที่ประชุม เลือกประธาน เลือกเลขาธิการขึ้นมา แล้วให้ถือว่าทุกคนที่เข้าร่วมประชุมคือคณะกรรมการ กำหนดบทบาท หน้าที่ให้ชัดเจนแล้วเดินหน้าทำงาน

คำว่า 'ตัวแทนจากทุกภาคส่วน' ก็คือตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ เช่น การเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาสังคม ทนายความ นักเคลื่อนไหวทางสังคม เกษตรกร เหล่านี้ เป็นต้น

ถ้าเดินไปอย่างปัจจุบันบ้านเมืองไปยาก และประชาชนจะเสียโอกาสเหมือนเดิม เราเคยคิดกันไม่ใช่เหรอว่า ควรเลือกผู้แทนจากหลายพรรค เพื่อให้แย่งกันทำงาน แต่ผลวันนี้เป็นอย่างไร น่าจะพอเป็นบทเรียน บทสรุปได้ระดับหนึ่งนะ

เพลาท้าทาย ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’ ว่าที่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม แม้ส้มหล่นใส่จนตีนบวม ก็ต้องสวมหัวใจแกร่งคนคอนสะท้อนกึ๋น

ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส. 4 สมัย พรรครวมไทยสร้างชาติ มีอาการป่วยหลังติดโผเป็นรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ ด้วยคนหนึ่ง

ช่วงแรกโผออกมาว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ตอนหลังพลิกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะภูมิใจไทยต้องการคุมมหาดไทยแบบเบ็ดเสร็จ (เว้นนายเกรียง กัลป์นันท์ จากพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมหาดไทยจะมีรัฐมนตรีช่วยถึง 3 คน จึงต้องส่งปุ้ยไปกระทรวงอื่น โควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีกระทรวงอุตสาหกรรม

แต่จริงๆ กระทรวงอุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติได้วางตัว 1 ‘พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ’ ทายาทของ ‘ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ’ ไว้แล้ว แต่เศรษฐาเป็นคนตัดสินใจเลือกปุ้ย เพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงาน ในขณะที่พิชชารัตน์ยังมีประสบการณ์น้อย

ที่บอกว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ ป่วย เนื่องจากว่า เจอ ‘ส้มหล่น’ ใส่จนเท้าบวม ร้องไห้ขยี้ตา จนตาบวม เพราะได้ตำแหน่งมาอย่างไม่คาดคิด หรือใฝ่ฝันมาก่อนเลย แค่ได้รับเลือกเป็น สส.ก็พอแล้ว

“ถ้าเจอปุ้ย บอกด้วยว่า พี่จะซื้อรองเท้าให้ใหม่” นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวเชิงเย้าหยอก ฝากไปถึงปุ้ย เพราะเท้าบวม ใส่รองเท้าคู่เก่าไม่ได้แล้ว และถ้าเจอกันจะหายาหยอดตาไปฝาก… 5555

กล่าวสำหรับ ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ กับผม โดยส่วนตัวไม่รู้จักกัน เคยคุยกันบ้างสั้นๆ แค่สวัสดีกัน ปุ้ยเป็นคนง่ายๆ เจอใครก็ยกมือไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตน

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของ ‘มาโนชญ์ วิชัยกุล’ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย (ผู้จากไป) ปุ้ยเข้ามารับบทบาททางการเมืองแทนต่อ

ตอนเด็กๆ ปุ้ยเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับนายนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

สมัยที่แล้ว ปุ้ย พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นประธานกรรมาธิการศึกษา ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปุ้ย ตัดสินใจทางการเมือง ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยความรัก ความเมตตาของคนขนอม-สิชล ปุ้ยก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนอีกสมัย และได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เข้าสู่เส้นทางทางการเมือง โดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 ปุ้ย พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

ถือว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกภารกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ในวงการอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องยนต์อีกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

หวังว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ จะไม่สร้างความผิดหวังให้คนไทย คนนครศรีธรรมราช ต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาดีๆ สร้างทีมประชาสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เดินหน้าฝ่าทุกปัญหาไปให้ได้ โอกาสมีแล้วต้องทำให้เต็มที่

‘เท้าบวม-ตาบวม’ แป๊บเดียวก็หาย อย่าได้วิตกกังวลไปเลย ชาวบ้านทุกข์ยาก เดือดร้อนมากกว่าเยอะ

เรื่อง : นายหัวไทร

'เสรีพิศุทธิ์' ฟาดงวงฟาดงาก่อนลาจาก แขวะลาม 'ชวน-ปชป.' พรรคแตก

เมื่อวาน (30 ส.ค.66) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แถลงลาออกจาก สส. บัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา หรือหลังวัน #โหวตนายกรอบ 3 ได้ 1 วัน ตัดพ้อผู้สมัครของพรรคฯ ดี ๆ คนไม่เลือก ไปเลือกเมาแล้วขับ ทำร้ายผู้หญิง เคยติดคุกมาก่อน แต่งกายไม่เหมาะสม พาดพิงอดีตประธานสภาฯ 2 สมัย นายกรัฐมนตรี 2 สมัย แต่ไม่เสียสละ จนพรรคแตก

ส่วนตัว #นายหัวไทร อยากรู้ว่า แล้วพรรคเสรีรวมไทย จะโตไปข้างหน้าแค่ไหน ส่งผู้สมัครคนดีคนยังไม่เลือก คราวเลือกตั้งปี 62 ได้มาถึง 10 คน เลือกตั้งปี 2566 ได้มาแค่หน่อเดียว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ หลังพรรคก้าวไกลจับขั้วเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไปเข้าร่วมกับเขาด้วย และมีชื่อว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และเปิดหน้าแบบออกหน้าออกตา แต่เพียงไม่นาน ก็หลุดขั้วออกมาสนับสนุนเพื่อไทยเต็มสตีม

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังออกแรงเชียร์เพื่อไทยเต็มที่ และอาละวาดใส่ก้าวไกลแบบไม่ยั้ง เหมือนคนโกรธกันมานาน และหลังโหวตเลือก 'เศรษฐา ทวีสิน' เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มีข่าวหลุดออกมาว่า จะมีการโปรดเกล้าฯ ในค่ำของวันนั้น มีสัญญาณให้ สส.เพื่อไทยแต่งชุดขาวเต็มยศ รอรับราชโองการ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ทะเล่อทะล่าแต่งชุดขาวเดินทางไปยังพรรคเพื่อไทย เพื่อรอรับราชโองการ เหมือนคนไม่รู้ระเบียบขั้นตอนอะไรเลย

ซึ่งขั้นตอนหลังจากสภาโหวตเลือกแล้ว ทางสภาต้องส่งผลไปให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้า ซึ่งวันนั้นชื่อจากสภายังมาไม่ถึงทำเนียบรัฐบาลเลย ยังไม่มีการทูลเกล้า แล้วจะโปรดเกล้าได้อย่างไร แต่กลับแต่งชุดขาวไปรอรับราชโองการแล้ว

...มันน่าขำ และน่าอายมาก!!

เมื่อมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และมีการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี ชื่อของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ก็ไม่มีอยู่ในสารบบคิดของพรรคเพื่อไทย เพราะน่าจะเป็นที่รับรู้กันว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์เคยถูกคำสั่งปลดออก จึงน่าจะขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี และคำสั่งนั้นก็ยังอยู่

ซึ่งผิดกับกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่เคยถูกปลดออกเหมือนกัน แต่ พล.ต.อ.พัชรวาทต่อสู้เรื่อยมา จนปี 2557 สมัย คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ได้ยกเลิกคำสั่งปลดออกของ พล.ต.อ.พัชรวาท เขาจึงมีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีได้

แต่ลึก ๆ จริงไม่รู้อารมณ์ไหนของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ จึงอาละวาดลามไปถึงอดีตประธานสภาสองสมัย อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย ถึงแม้นจะไม่เอ่ยชื่อ แต่สำหรับคอการเมืองแล้ว มันสิบ่ทราบกันได้ไม่ยาก ถ้าไม่ใช่ 'ชวน หลีกภัย' แล้วจะเป็นใคร

วันมูหะมัดนอร์ มะทา แม้จะเป็นประธานสภาสองสมัย แต่ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ยังนึกไม่ออกว่า ถ้าไม่ใช่ 'ชวน' แล้วจะเป็นใคร แถมยังพาดพิงไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย อยู่จนจะพรรคแตกแล้ว

ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า พรรคเสรีรวมไทย ถ้าไม่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์เสียแล้ว จะยังดำรงความเป็นพรรคอยู่หรือไม่ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้วเชื่อเหลือเกินว่า ไม่มี 'ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์-เฉลิมชัย-เดชอิศม์' ความเป็นประชาธิปัตย์จะยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่ว่าช่วงนี้อาจจะมีสถานการณ์ความขัดแย้งสูง รอการแก้ไขภายในพรรคอยู่ เมื่อปัญหาภายในพรรคได้รับการแก้ไขปัญหาเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะได้แสดงบทบาทฝ่ายค้านอย่างเข้มข้นจริงจัง เวลาว่างก็กลับมาขบคิด ถอดบทเรียน วางแผน วางยุทธศาสตร์ใหม่ โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะฟื้นกลับคืนมาก็ยังมีอยู่ 

ที่กล่าวอ้างเช่นนั้น เพราะประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองไปแล้ว มีคนพร้อมสืบทอดเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรค ที่ผ่านมาก็เห็นการสืบทอดมาจนมีหัวหน้าพรรคมาแล้วถึง 8 คน กำลังจะเลือกคนที่ 9 

"ความขัดแย้งนั้นคือ แรงหลักที่เป็นตัวผลักดันให้กงล้อเร็วไว"

ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อได้รับการแก้ไข สรุปบทเรียน กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ เปิดโอกาสให้เลือดใหม่ คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างคนใหม่ขึ้นมาสืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์ของพรรค เชื่อว่า แรงใจ แรงเชียร์จะกลับมายังประชาธิปัตย์ไม่ช้าไม่นาน

เรื่อง: นายหัวไทร

‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ มีแววนั่ง ‘รมช.มหาดไทย’ ประสบการณ์ สส. 5 สมัย ความรู้-ความสามารถพร้อม

การเมืองไทยหลังจากที่ได้นายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่ทุกวัน ประชาชนคอการเมืองต่างตั้งหน้าตั้งตารอว่า ‘ใคร’ จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใด และหน้าตาครม. เศรษฐา 1 จะคล้ายคลึงของเดิมหรือเปลี่ยนไปมาน้อยเพียงใด

แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่คนให้ความสนใจและจับตาดูก็เป็น ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ได้ส่งรายชื่อผู้ที่จะได้เป็นรัฐมนตรีตามโควตาไปยังพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
-นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ เป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม
-นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย  
-นายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท มีชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โควตารัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง เป็นว่าการ 2 ช่วยว่าการ 2 มีปัญหาในการจัดสรรตำแหน่งกันในพรรคอยู่บ้าง อย่างสายใต้ มีหลายคนควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้ง ‘วิทยา แก้วภารดัย’ แต่ในช่วงเลือกตั้งได้นับมอบหมายให้ไปดูแลพื้นที่ภาคอิสาน

‘ชุมพล กาญจนะ’ ที่สุราษฎร์ธานีกวาดมาได้ถึง 6 เสียง แต่ในเชิงลึกพบว่า ใน 6 เสียง เป็นสายชุมพลเพียง 3 เสียง อีก 3 เสียงเป็นสายกำนันศักดิ์-พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่จับทีมกันกับ ‘ชุมพล จุลใส’ (ลูกหมี) แห่งเมืองชุมพร และวิสุทธิ์ ธรรมเพชร แห่งเมืองพัทลุง จึงทำให้ชุมพลชวดตำแหน่งรัฐมนตรี ประกอบกับชุมพลอายุมากแล้วด้วย

เก้าอี้รัฐมนตรีจึงถูกสับโยกไปให้ ‘สุพล จุลใส’ (ลูกช้าง) สส.สมัยสอง อดีตนายกฯ อบจ.ชุมพร แต่สุพลขอสละสิทธิ์ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ การเป็นรัฐมนตรีต้องเสียสละ ทุ่มเท จึงไม่เหมาะ ขอสละให้คนอื่นเป็นแทน

หันซ้ายมองขวาก็เห็น ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ ยืนโดนเด่นอยู่ ปุ้ยจึงได้รับการเคาะให้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแทนสุพล ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสม เพราะปุ้ยผ่านประสบการณ์มามาก เป็น สส.4 สมัย ย่างเข้าสมัยที่ 5 แล้ว ก็ถือว่าส้มหล่น เป็นคนที่ไม่เคยคาดหวัง ไม่เคยวิ่งเต้นอยากจะเป็นรัฐมนตรี แต่ถึงเวลา บุญนำพา วาสนาส่ง มันก็หล่นมาเอง

ทางด้าน ม.ล.ชโยทิต กฤดากร สส.บัญชีรายชื่อ ที่มีชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม แต่ล่าสุด ม.ล.ชโยทิต แจ้งไม่ขอรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ พรรคจึงเปลี่ยนชื่อเป็นนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ นั่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมแทน

กล่าวสำหรับพิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของมาโนช วิชัยกุล อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ท่านเพิ่งจากไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา เมื่อมีชื่อ ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ในฐานะรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย คนนครศรีธรรมราชก็พากันเฮด้วยความดีใจ นอกจากความเหมาะสม ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์แล้ว คนนครศรีธรรมราชดีใจว่า สส.10 คน ควรจะได้มีรัฐมนตรีในจังหวัดนครศรีธรรมราชกับเขาบ้าง หลังจากเป็นจังหวัดที่ว่างเว้นรัฐมนตรีมานานกว่า 10 ปี (ไม่นับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ) ที่เป็นคนนครศรีธรรมราช แต่ไม่ได้เป็น สส.นครศรีธรรมราช เป็น สส.บัญชีรายชื่อ และเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คนที่ควรได้เป็นรัฐมนตรีในนามพรรครวมไทยสร้างชาติอีกคนคือ ‘น้อย-วิทยา แก้วภารดัย’ แต่คราวนี้กลับไม่มีชื่อ ช่วงแรก ๆ มีโผจะไปนั่งช่วยว่าการสาธารณสุข แต่วิทยาเคยนั่งว่าการมาก่อนแล้ว จึงไม่เหมาะที่จะไปนั่งช่วยว่าการ ประกอบกับโควตาที่ได้มาเพียง 4 เก้าอี้ จึงต้องเกลี่ยกันไป อีสาน กลาง กรุงเทพ และใต้ให้เท่า ๆ กัน ไม่เอนเอียงไปทางไหนให้คนกังขา

‘เสธฯ หนั่น’ ผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ในแวดวงการเมืองไทย ต้นฉบับการข้ามขั้วครั้งใหญ่ เจ้าของนิยาม “เลี้ยงไม่เชื่อง”

(27 ส.ค. 66) ‘พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ขึ้นในวงการการเมืองไทยด้วยการดึง 13 สส.จากพรรคประชากรไทย ของ ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ หัวหน้าพรรคประชากรไทย พลิกข้ามขั้วมาสนับสนุน ‘นายชวน หลีกภัย’ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัย 2

13 สส.พรรคประชากรไทย จากทั้งหมด 18 คน ที่พลิกขั้วมาสนับสนุนนายชวน ประกอบด้วย นายวัฒนา อัศวเหม, นายพูนผล อัศวเหม, นายสมพร อัศวเหม, นายมั่น พัธโนทัย, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ, นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิพงศ์, นายประกอบ สังข์โต, นายสำเร็จ อัจฉริยะประสิทธิ์, นายฉลอง เรี่ยวแรง, นายสุชาติ บรรดาศักดิ์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์

การถูกหักหลังในครั้งนั้น นายสมัครเปรียบเทียบว่า “เหมือนชาวนากับงูเห่า” เพราะก่อนการเลือกตั้ง นายวัฒนาตกเป็นข่าวมีชื่อในแบล็กลิสต์ ผู้พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดของทางการสหรัฐอเมริกา จนไม่มีพรรคไหนยอมให้เข้าร่วม เว้นแต่พรรคประชากรไทยของนายสมัคร แต่แล้ว เมื่อนายสมัครยืนยันจะยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาลเดิม กลับมีลูกพรรคแหกมติไปลงคะแนนให้อีกฝ่าย ทิ้งให้หัวหน้าพรรคกลายเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพวกตนเองสลับขั้วไปร่วมรัฐบาล “เลี้ยงไม่เชื่อง-ทรยศ-หักหลัง” คือนิยามง่ายๆ ของคำว่า “งูเห่า”

ย้อนกลับไปดูการเมืองในช่วงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมต้องมีงูเห่า

ปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล ‘พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ’ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี ค่าเงินบาทถูกโจมตีหนัก รัฐบาลโดยแบงก์ชาติก็นำเงินคงคลังออกมาสู้อย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจต้านทานได้ พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท บางคนอาจจะบอกว่า “ลดค่าเงินบาท”

พล.อ.ชวลิต สุดจะต้านทานกระแส ประกาศลาออกเมื่อ 6 พ.ย. 2540 จึงเกิดการพยายามรวมเสียงเพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่

ฝ่ายรัฐบาลเดิมยังคงได้เปรียบ พรรคความหวังใหม่ และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาล ลงสัตยาบันประกาศชู ‘พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ’ อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ขณะที่ฝ่ายค้านพยายามรวมเสียงเพื่อชู นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาท้าชิง

เสียงฝั่งรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคประชากรไทย, พรรคเสรีธรรม และพรรคมวลชน 221 เสียง เหนือกว่า พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคเอกภาพ, พรรคไท และพรรคพลังธรรม ที่ได้ 172 เสียง

แต่พรรคเสรีธรรมและพรรคกิจสังคมเปลี่ยนขั้ว (4+20) ทำให้ช่องว่างกลับมาเฉือนกันแค่คะแนนเดียว อยู่ที่ 197 – 196 แม้เสียงจะปริ่มน้ำสุดๆ แต่มันสมองอันแหลมคมของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็มองเห็นประเด็นนี้ออก จึงแก้เกมโดยขอแค่แยกสมาชิกพรรคใดมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทั้งพรรค เกมจะเปลี่ยนทันที

พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีอยู่ 18 คน กลายเป็นเป้าหมายของ ‘เสธฯ หนั่น’ เจรจาดึงออกได้ถึง 13 คน แต่ตอนหลัง ‘นายชัยวัฒน์ ศิริภักดิ์’ ได้ลาออกจาก สส.ไป เกมพลิกทันที ทำให้ขั้วอำนาจฝ่ายสนับสนุนนายชวน รวมเสียงได้ 208 – 185

ผลจากการเปลี่ยนขั้วของ สส. 12 คน ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีของนายชวน ถึง 4 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

หลังจาก เรื่องราวของงูเห่าก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ แต่ที่ยกเรื่องตำนานงูเห่าขึ้นมาเล่า เพียงแต่จะบอกว่า งูเห่าเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น สส.ข้างมากของพรรคประชากรไทย 13 คน ไม่ใช่เสียงข้างน้อย หรือจำนวนน้อยถึงจะเรียกว่า “งูเห่า” ซึ่งไม่เป็นความจริง

'นครศรีฯ' วิกฤติ!! หลังไฟไหม้ 'ป่าพรุควนเคร็ง' ยังลุกลามอยู่ 'กินวงกว้าง-ไหม้มา 2 สัปดาห์' นายกฯ ยันผู้ว่าฯ ไม่ผ่านมาสักคน

นำเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มาแล้วสองอาทิตย์ ยังไม่สามารถควบคุมได้ ไฟป่ายังลุกโชนอยู่ และลุกลามกินวงกว้างออกไปเรื่อย เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าทำงานกันอย่างหนัก เมื่อคืนก็ทำงานกันทั้งคืน

ไม่เห็นความตื่นตัวของผู้หลักผู้ใหญ่เข้าไปสั่งการ ดูแล เห็นมีเพียง 'นริศ ขำนุรักษ์' รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยที่ลงไปดูแลมาครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เห็นหน้าเห็นตา หรือทำงานรอเกษียณอย่างเดียว 

ปีนี้แม้จะมีฝนตกลงมาบ่อยในภาคใต้ แต่เป็นการตกแบบแป๊บๆ ยังไม่มีน้ำเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงป่าพรุ เมื่อเกิดไฟไหม้จะเกิดจากอะไรก็ตาม จึงอยู่ในภาวะที่ควบคุมยาก เพราะสภาพความแห้งแล้ง

รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ทราบแล้วขยับตัวด้วย อย่ามัวแต่ต่อรอตำแหน่งรัฐมนตรีกับรัฐบาลใหม่จนลืมภารกิจหลัก หรือว่ารอขยับก้นไปกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่สนใจภารกิจที่เคยพล่ำบ่นว่า “รักสิ่งแวดล้อม”

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เหมือนกัน ตอนหาเสียงลงไปนครศรีธรรมราช 2-3 รอบ พล่ำบนรักคนใต้ รักคนนครฯ แต่ตอนนี้ไฟไหม้ป่าพรุเงียบกริบ หรือคิดว่าส่งมอบภารกิจให้เศรษฐา ทวีสิน ไปแล้ว

ข้อเท็จจริง แม้ เศรษฐา จะได้รับโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าลงมาแล้ว แต่ยังทำหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากยังต้องรอเข้าไปถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง ภารกิจจึงยังอยู่ที่ 'ลุงตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นะจ๊ะ

เวลานี้ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานกันไป ฝ่ายนโยบายไม่มีใครสนใจ ไม่รู้ว่ามีกำลังพลเพียงพอไหม อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือพอหรือเปล่า อย่าปล่อยให้เขาทำงานเพียงลำพัง โดดเดี่ยวเลยครับ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนพื้นที่ ใกล้ที่เกิดเหตุพลิกตัวบ้างก็จะดีครับ

ป่าพรุควนเคร็ง เป็นป่าพรุเสม็ดขาวเกือบจะเป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศไทยแล้ว จะมีอยู่ก็ที่ป่าพรุโต๊ะแดง นราธิวาส รัฐบาลควรจะสำนักอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็งเอาไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลาน

ป่าพรุควนเคร็งนอกจากจะเป็นพรุเสม็ดขาวแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของสัตว์ปีก สัตว์เลื่อยคลาย นก ปลา นานาชนิด เป็นแหล่งอาหารของคนนครศรีธรรมราช รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้มีสภาพเป็นเช่นปัจจุบัน ขาดการเอาใจใส่ดูแลจริงจัง ไฟไหม้เกือบทุกปี โดยไม่มีวิธีในการป้องกัน แค่ทำแนวกันไฟคงจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องแล้ว ต้องสุมหัวกันคิดใหม่ว่าจะป้องกันอย่างไร แลคิดหาวิธีฟื้นระบบนิเวศของป่าพรุขึ้นมาใหม่

ผมเอง #นายหัวไทร ในฐานะคนนครศรีธรรมราช คนป่าพรุมาก่อน ก็ไม่ใช่แค่ตำหนิคนอื่น ไม่ทำอะไร นำเรียนว่า ผมและทีมงานทำโครงการลำพันคืนถิ่น จัดหาและปล่อยปลาดุกลำพันคืนป่าพรุมาแล้ว 6 ครั้ง เพื่อให้ป่าพรุเป็นคลังอาหารของคนนครศรีธรรมราช และกำลังจัดหาทุนปล่อยปลาดุกลำพันคืนป่าพรุควนเคร็งครั้งที่ 7 ต่อไป

อีกโครงการที่จะทำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าพรุควนเคร็ง คือการจัดทำโครงการปลูกจาก 'โครงการหิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก' ปีที่แล้วปลูกไป 4500 ต้น ปีนี้เรากำลังจัดหาทุน 'หิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก ปี 2' ประมาณการว่าจะปลูกวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ มีงบประมาณตั้งต้นจากมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ แล้ว 30,000 บาท แต่ต้องใช้งบ 100,000 บาท ใครมีจิตศรัทธา จิตเป็นกุศลก็ร่วมบุญกันได้ครับ จะปลูกไล่เลี่ยกับช่วงปล่อยปลาดุกลำพันนะครับ

แต่เบื้องต้นนี้ทุกองคาพยพควรจะช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจดับไฟป่าพรุควนเคร็งก่อน เวลานี้หมอกควันจากไฟไหม้ป่า เริ่มกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านแล้ว และกระทบไปถึงตำบลแหลม อ.หัวไทร แล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top