‘เสธฯ หนั่น’ ผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ในแวดวงการเมืองไทย ต้นฉบับการข้ามขั้วครั้งใหญ่ เจ้าของนิยาม “เลี้ยงไม่เชื่อง”

(27 ส.ค. 66) ‘พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ขึ้นในวงการการเมืองไทยด้วยการดึง 13 สส.จากพรรคประชากรไทย ของ ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ หัวหน้าพรรคประชากรไทย พลิกข้ามขั้วมาสนับสนุน ‘นายชวน หลีกภัย’ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัย 2

13 สส.พรรคประชากรไทย จากทั้งหมด 18 คน ที่พลิกขั้วมาสนับสนุนนายชวน ประกอบด้วย นายวัฒนา อัศวเหม, นายพูนผล อัศวเหม, นายสมพร อัศวเหม, นายมั่น พัธโนทัย, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ, นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิพงศ์, นายประกอบ สังข์โต, นายสำเร็จ อัจฉริยะประสิทธิ์, นายฉลอง เรี่ยวแรง, นายสุชาติ บรรดาศักดิ์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์

การถูกหักหลังในครั้งนั้น นายสมัครเปรียบเทียบว่า “เหมือนชาวนากับงูเห่า” เพราะก่อนการเลือกตั้ง นายวัฒนาตกเป็นข่าวมีชื่อในแบล็กลิสต์ ผู้พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดของทางการสหรัฐอเมริกา จนไม่มีพรรคไหนยอมให้เข้าร่วม เว้นแต่พรรคประชากรไทยของนายสมัคร แต่แล้ว เมื่อนายสมัครยืนยันจะยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาลเดิม กลับมีลูกพรรคแหกมติไปลงคะแนนให้อีกฝ่าย ทิ้งให้หัวหน้าพรรคกลายเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพวกตนเองสลับขั้วไปร่วมรัฐบาล “เลี้ยงไม่เชื่อง-ทรยศ-หักหลัง” คือนิยามง่ายๆ ของคำว่า “งูเห่า”

ย้อนกลับไปดูการเมืองในช่วงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมต้องมีงูเห่า

ปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล ‘พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ’ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี ค่าเงินบาทถูกโจมตีหนัก รัฐบาลโดยแบงก์ชาติก็นำเงินคงคลังออกมาสู้อย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจต้านทานได้ พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท บางคนอาจจะบอกว่า “ลดค่าเงินบาท”

พล.อ.ชวลิต สุดจะต้านทานกระแส ประกาศลาออกเมื่อ 6 พ.ย. 2540 จึงเกิดการพยายามรวมเสียงเพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่

ฝ่ายรัฐบาลเดิมยังคงได้เปรียบ พรรคความหวังใหม่ และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาล ลงสัตยาบันประกาศชู ‘พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ’ อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ขณะที่ฝ่ายค้านพยายามรวมเสียงเพื่อชู นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาท้าชิง

เสียงฝั่งรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคประชากรไทย, พรรคเสรีธรรม และพรรคมวลชน 221 เสียง เหนือกว่า พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคเอกภาพ, พรรคไท และพรรคพลังธรรม ที่ได้ 172 เสียง

แต่พรรคเสรีธรรมและพรรคกิจสังคมเปลี่ยนขั้ว (4+20) ทำให้ช่องว่างกลับมาเฉือนกันแค่คะแนนเดียว อยู่ที่ 197 – 196 แม้เสียงจะปริ่มน้ำสุดๆ แต่มันสมองอันแหลมคมของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็มองเห็นประเด็นนี้ออก จึงแก้เกมโดยขอแค่แยกสมาชิกพรรคใดมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทั้งพรรค เกมจะเปลี่ยนทันที

พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีอยู่ 18 คน กลายเป็นเป้าหมายของ ‘เสธฯ หนั่น’ เจรจาดึงออกได้ถึง 13 คน แต่ตอนหลัง ‘นายชัยวัฒน์ ศิริภักดิ์’ ได้ลาออกจาก สส.ไป เกมพลิกทันที ทำให้ขั้วอำนาจฝ่ายสนับสนุนนายชวน รวมเสียงได้ 208 – 185

ผลจากการเปลี่ยนขั้วของ สส. 12 คน ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีของนายชวน ถึง 4 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

หลังจาก เรื่องราวของงูเห่าก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ แต่ที่ยกเรื่องตำนานงูเห่าขึ้นมาเล่า เพียงแต่จะบอกว่า งูเห่าเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น สส.ข้างมากของพรรคประชากรไทย 13 คน ไม่ใช่เสียงข้างน้อย หรือจำนวนน้อยถึงจะเรียกว่า “งูเห่า” ซึ่งไม่เป็นความจริง


เรื่อง : นายหัวไทร