Saturday, 10 May 2025
World

‘อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ เผย!! ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ที่ ‘รัสเซีย’ จะสร้างให้ ‘เมียนมา’ ชี้!! ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR เล็ก ทันสมัย ไม่กระจายกัมมันตรังสี มาที่ไทย

(8 มี.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่รัสเซียจะสร้างให้เมียนมา น่าจะเป็นแบบนี้ครับ"

ตอนนี้ กำลังเป็นข่าวฮอตเลย กับเรื่องที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ของประเทศเมียนมา และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามร่วมกันที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดกาญจนบุรีแค่ 132 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ แค่ 300 กิโลเมตร ทำเอาหลายต่อหลายคนกังวลว่า จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ?

ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง มีเพียงแค่บอกว่า จะมีขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ และใช้เทคโนโลยีของรัสเซียเอง ตามบันทึก MOU เพื่อพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างสันติ ที่ลงนามไปตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว

ผมก็ได้สอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ ของจุฬาฯ คือ อาจารย์ดิว (ผศ. ดร. พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์) ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ .. 

อาจารย์ดิว ให้ความเห็นว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรายงานถึงชนิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมียนมาจะใช้ แต่ก็น่าจะเป็นเครื่อง RITM-200N จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องละ 55 เมกะวัตต์) ตามแบบที่รัสเซียไปเซ็นสัญญาสร้างให้กับประเทศอุซเบกิสถาน เมื่อปีที่แล้ว (มิถุนายน 2024) เพราะปรกติจะไม่ค่อยมีการออกแบบดีไซน์เครื่องกันใหม่บ่อยๆ อย่างมากก็เอาแบบเดิมนี้ไปปรับขยายกำลังการผลิต

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ชุดโมดุลาร์ ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า SMR (small modular reactor) คล้ายกับที่ผมเคยติดตามคณะทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไปดูงานที่เกาะไหหลำ ประเทศจีนมาแล้ว และไทยเรากำลังสนใจอย่างยิ่งที่จะนำเอามาใช้ผลิตไฟฟ้าบ้าง

โรงงานไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR นี้ มีขนาดเล็กและทันสมัยมาก อุปกรณ์หลักทุกอย่างอยู่ในชุดโมดุลเดียวกัน และติดตั้งอยู่ภายใต้อาคารหลังเดียวได้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ได้สูงมากนัก (เช่น เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าในกับเมืองๆ เดียว หรือกับพวกศูนย์เดต้าเซนเตอร์ ของบริษัทเทค ) ทำให้สามารถควบคุมความปลอดภัยได้ง่ายและในวงแคบ แค่ระดับไม่เกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น .. จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ได้จะเกิดอันตรายในวงกว้าง เหมือนอย่างโรงไฟฟ้าโบราณ แบบเชอร์โนบิล ที่จะแพร่กระจายกัมมันตรังสีมาถึงไทยเราได้

(แต่ๆๆ อันนี้เป็นเทคโนโลยีที่สร้างโดยรัสเซีย และให้เมียนมาดูแลต่อ ซึ่งก็ยังมีสงครามกลางเมืองกันอยู่ .. ถึงจะมีหน่วยงานสากล อย่าง IAEA มากำกับ ผมก็รับประกันความปลอดภัยไม่ได้เต็มปากเต็มคำนะครับ ฮะๆ)

เอาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ RITM-200N ที่รัสเซียขายและติดตั้งให้กับอุซเบกิสถาน มาให้อ่านด้านล่างนี้ครับ

- ภายหลังจากที่มีการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียไปยังอุซเบกิสถานแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2024 หน่วยงานกลางว่าด้วยพลังงานปรมาณู (หรือ Rosatom) ของประเทศรัสเซีย ได้ลงนามสัญญาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactor nuclear power plant หรือ SNPP) ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ในประเทศอุซเบกิสถาน นับเป็นการส่งออกโรงไฟฟ้า SNPP ขั้นสูงเป็นครั้งแรกของโลก และจะลงมือสร้างโดยทันที โครงการนี้จะใช้เงินจากอุซเบกิสถาน โดยไม่กู้จากรัฐบาลรัสเซีย

- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างขึ้นในอุซเบกิสถาน จะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าพื้นฐาน สำหรับระบบพลังงานของประเทศ โดยเครื่องปฏิกรณ์หน่วยแรก มีกำหนดจะเริ่มทำงานในปลายปี 2029 และเครื่องต่อไปจะค่อยๆ ถูกเปิดใช้งานทีละหน่วย ตามประมาณการความต้องการพลังงานของอุซเบกิสถาน ที่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2050 โดยอุชเบกิสถานสนใจทั้งโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กนี้ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

- โครงการนี้ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 330 เมกะวัตต์ ในภูมิภาค Jizzakh ของอุซเบกิสถาน และโรงไฟฟ้าจะใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ 6 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลัง 55 เมกะวัตต์ (รวมเป็น 330 เมกะวัตต์) โดยมีบริษัท AtomStroyExport (ASE) ของรัสเซียเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก และให้บริษัทอื่นๆ ในประเทศเมียนมา เข้าร่วมโครงการก่อสร้างนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางด้วย
(บริษัท AtomStroyExport เป็นบริษัทรับเหมาหลักของรัสเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Rosatom มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kudankulam ในอินเดีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bushehr ในอิหร่าน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี และมีบทบาทสำคัญในการสร้างโรงไฟฟ้า SNPP ในอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นโครงการส่งออก SNPP แห่งแรกของโลก )

- ได้มีการสำรวจทางวิศวกรรมบนบริเวณที่จะสร้าง เพื่อยืนยันความเหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่ง ASE กล่าวว่างานก่อสร้างบนสถานที่ จะเริ่มในเดือนกันยายน 2024 โดยเริ่มจากการสำรวจที่ดิน และการจัดตั้งค่ายก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน 

- สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ตามข้อตกลง จะใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งมีอายุการใช้งาน 60 ปี งานออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เริ่มขึ้นในปี 2001 โดยบริษัทวิศวกรรมนิวเคลียร์ OKBM Afrikantov ในเครือของ Rosatom 

- ข้อดีสำคัญที่สุดของ RITM-200 คือ มีการติดตั้งหน่วยผลิตไอน้ำขนาดเล็ก รวมเอาไว้อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ (ไม่ได้แยกส่วน เหมือนพวกเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอันตรายลง) มีแกนเครื่องปฏิกรณ์ที่มีพลังงานสูง และมีเครื่องกำเนิดไอน้ำ ที่มีพื้นผิวแลกเปลี่ยนความร้อน ขนาดกะทัดรัด นอกจากนี้ ระบบความปลอดภัยและควบคุมของเครื่องนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุด ด้านความปลอดภัยโดยธรรมชาติและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และใช้งานง่าย

- ตั้งแต่ปี 2012 มีเครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 จำนวน 10 เครื่อง ได้ถูกผลิตขึ้นสำหรับเรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์อเนกประสงค์ ห้าลำของรัสเซีย ตาม Project 22220 โดยเครื่องปฏิกรณ์ 6 เครื่อง ได้ติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง Arktika, Sibir และ Ural ซึ่งใช้งานอยู่ ขณะที่มีการก่อสร้างอีก 2 ลำ คือเรือ Yakutia และ Chukotka ที่กำลังจะเสร็จสิ้น

- เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 ยังจะถูกติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำ เพื่อจ่ายพลังงานให้กับเหมือง Baimsky GOK ใน Chukotka อีกด้วย และมีการดัดแปลงการออกแบบของเครื่องปฏิกรณ์รุ่นนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ของโรงไฟฟ้า SNPP ของสาธารณรัฐ Yakutian หนึ่งในเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย 

- โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ชนิด SNPP นั้นกำลังเป็นที่ต้องการ โดยมีหลายประเทศที่มีความสนใจในเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2024 รัฐบาลรัสเซียได้อนุมัติร่างข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสร้าง SNPP ที่มีกำลังไฟฟ้าขั้นต่ำ 110 เมกะวัตต์ในประเทศนี้ และโรงไฟฟ้านี้จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ของรัสเซีย

- โรงไฟฟ้า SNPP ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 นั้น ไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวที่ประเทศอื่นๆ สนใจ ปลายเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา อเล็กซีย์ ลิคาเชฟ ได้จัดการประชุมตามปกติกับ อจิต คุมาร โมฮันตี้ ประธานคณะกรรมการพลังงานปรมาณูของอินเดียและเลขานุการของรัฐบาลอินเดีย กระทรวงพลังงานปรมาณู พวกเขาได้พบกันที่ Seversk ณ สถานที่ก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานสาธิตที่จะประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ BREST-300-OD แบบนิวตรอนเร็ว ระบายความร้อนด้วยตะกั่ว และหน่วยแปรรูปเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและการผลิตเชื้อเพลิงใหม่/การผลิตเชื้อเพลิงใหม่ บนสถานที่ ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้โครงการ Proryv (ภาษารัสเซีย แปลว่า 'การพัฒนา') ซึ่งตามการจำแนกประเภทของ IAEA เครื่อง BREST-OD-300 นี้ ถูกจัดประเภทเป็นเครื่องปฏิกรณ์กำลังต่ำ (สูงสุด 300 เมกะวัตต์)

รัสเซียไม่ใช่ศัตรูของประชาชนยุโรป ศัตรูตัวจริงของพวกคุณ(ประชาชนยุโรป) คือผู้นำของพวกคุณเองนั่นแหละ

(9 มี.ค. 68) อินฟลูทวีตในเอ็กซ์ ข่าวแถลงการณ์ของปูติน ต่อประเทศในยุโรป ที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดทางทีวีช่องหนึ่งของโครเอเชีย

ปูตินแถลงต่อยุโรปว่า ”รัสเซียไม่เคยเป็น และจะไม่เป็นศัตรูของยุโรป“

“พวกเรา(รัสเซีย) ไม่ต้องการทรัพยากร หรือความมั่งคั่งจากยุโรป พวกเรามีทรัพยากรของตนเอง และมีความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง ว่าไปแล้วรัสเซียเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ในเชิงความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติ”

”พวกเราไม่ได้ต้องการดินแดนของพวกคุณ ดูจากแผนที่สิ! แผ่นดินรัสเซียนั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน ขนาดของพื้นที่รัสเซียกว้างใหญ่เป็นเท่าตัวของทั้งยุโรปเสียอีก แล้วทำไมพวกคุณถึงคิดว่าพวกเราจะมายึดเอาแผ่นดินของคุณไป อีกอย่างพวกเราเอาไปทำประโยชน์อะไร”

“ทำไมพวกคุณถึงคิด(ไปเอง) ว่ารัสเซียเป็นศัตรูของยุโรป? พวกเราไปสร้างความเสียหายอะไรไว้ให้แก่พวกคุณ?”

“ใช่พวกเราไหม ที่เคยขายแก๊ส และวัตถุดิบเพื่อการผลิตในราคาที่ถูกกว่า ”มิตรประเทศ“ ที่กำลังขายให้พวกคุณอยู่ในปัจจุบัน? ”

“ใช่พวกเราไหม ในอดีตที่ยอมพลีชีพกว่า 20 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อช่วยพวกคุณจัดการกับนาซี?”

“ใช่พวกเราไหม ที่เป็นประเทศแรกที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แก้สถานการณ์โรคระบาด(โควิด19) ในยุโรป?“

”ใช่พวกเราไหม ที่ให้ความช่วยเหลือทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติกับประเทศในยุโรป?“

แน่นอนว่า “คำตอบ” ของทุกคำถามข้างต้นคือ“ใช่เป็นรัสเซีย”

“แล้วเช่นนั้น รัสเซียได้ไปทำอะไรไว้กับยุโรป จนพวกคุณถึงได้เกลียดชังเราได้ถึงปานนั้น?”

ปูตินปิดแถลงการณ์ว่า คนยุโรปน่าจะถึงเวลาถามตัวเองแล้วว่าใครกันแน่ ที่เป็นศัตรูของพวกเขา

”รัสเซียไม่ใช่ศัตรูของประชาชนยุโรป ศัตรูตัวจริงของพวกคุณ(ประชาชนยุโรป) คือผู้นำของพวกคุณเองนั่นแหละ!!

‘ทรัมป์’ เล็ง!! ถอนทหาร 35,000 นาย ย้ายจาก ‘เยอรมนี’ ไป!! ‘ฮังการี’

(9 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในยุโรปด้วยการ ถอนทหารอเมริกัน 35,000 นายออกจากเยอรมนี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะเป็นการเปลี่ยนเกมด้านความมั่นคงของ NATO และอาจทำให้สัมพันธ์สหรัฐฯ–ยุโรปเดือดพล่านยิ่งขึ้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบขาวเผยว่า “ทรัมป์หงุดหงิดกับยุโรป เพราะพวกเขาดูเหมือนจะเร่งสถานการณ์ไปสู่สงคราม” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทรัมป์เคยส่งสัญญาณหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะไม่คุ้มกันประเทศที่ไม่ลงทุนด้านความมั่นคงของตัวเองอย่างจริงจัง

ฮังการี - เป้าหมายใหม่ของกองกำลังสหรัฐฯ?

The Telegraph รายงานว่า เป้าหมายที่เป็นไปได้ของการโยกย้ายครั้งนี้คือ "ฮังการี" ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมาโดยตลอด และเพิ่งสร้างแรงกระเพื่อมใน EU ด้วยการวีโต้มาตรการสนับสนุนยูเครนเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี เป็นหนึ่งในผู้นำยุโรปที่มักค้านการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า การที่ทรัมป์อาจย้ายทหารไปที่นั่นเป็นการเดินเกมในลักษณะใดกันแน่ เพราะหากเกิดขึ้นจริง ก็หมายความว่าสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณถึง NATO ว่า “จ่ายเยอะ—ได้เยอะ, จ่ายน้อย—จัดการตัวเอง”

โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไบรอัน ฮิวจ์ส ให้ความเห็นว่า "แม้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การโยกย้ายกำลังทหารเป็นเรื่องที่กองทัพสหรัฐฯ พิจารณาอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในปัจจุบัน" ซึ่งฟังดูเหมือนแถลงการณ์กลาง ๆ แต่แปลเป็นภาษาชัด ๆ ได้ว่า "เรากำลังหาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง"

NATO สะเทือน!! ทรัมป์ไม่สนใจ สมาชิกที่จ่ายไม่ถึงเป้า

ทรัมป์ย้ำหลายครั้งว่า ประเทศสมาชิก NATO ต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งในปี 2024 มีเพียง 23 จาก 32 ประเทศ เท่านั้นที่ทำได้ โดย โปแลนด์ เป็นประเทศที่ลงทุนหนักสุดที่ 4.1% ของ GDP ขณะที่สหรัฐฯ ใช้ 3.4% ซึ่งทรัมป์มองว่า "เป็นภาระที่อเมริกันชนไม่ควรต้องแบก"

ทรัมป์เคยพูดตรง ๆ ว่า "ถ้าคุณไม่จ่าย ผมก็ไม่ช่วย" และถึงขั้นบอกว่า “ถ้าประเทศไหนใน NATO ไม่ยอมจ่าย ผมจะปล่อยให้รัสเซียจัดการเอง” ซึ่งนับว่าเป็นคำเตือนที่ชัดเจน และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทรัมป์ถึงสนใจย้ายกำลังไปประเทศที่ "จริงจัง" เรื่องงบกลาโหมมากกว่า

เยอรมนีอาจต้องรับมือเอง หากทรัมป์เดินหน้าถอนกำลัง

หากแผนนี้เดินหน้าจริง เยอรมนีอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางความมั่นคงแบบไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากฐานทัพสหรัฐฯ หลายแห่งในเยอรมนี เช่น Ramstein Air Base และ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำยุโรป ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของ NATO ในยุโรป

การถอนกำลังออกจากเยอรมนีจะเป็นการตัดแรงสนับสนุนที่สำคัญสำหรับ NATO และอาจทำให้เยอรมนีต้อง เร่งเพิ่มงบกลาโหม และพิจารณาทางเลือกใหม่ ๆ ในการปกป้องประเทศของตนเอง

ในขณะที่ยุโรปกำลังจับตาว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายนี้อย่างไร สัญญาณจากทรัมป์ดูเหมือนจะชัดเจนว่า “อเมริกาไม่ใช่ผู้คุ้มกันฟรี ๆ อีกต่อไป” และ NATO อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

‘สนามบินฮ่องกง’ นำชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สร้าง ‘กำแพงเมืองเกาลูน’ ขึ้นมาใหม่ในล็อบบี้ ก่อนที่จะถูกรื้อถอน

(9 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ โพสต์ข้อความระบุว่า ...

#สนามบินฮ่องกง ได้นำชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจกลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยการสร้าง #กำแพงเมืองเกาลูน ขึ้นมาใหม่ในล็อบบี้ ก่อนที่จะถูกรื้อถอนในปี 1994 

กำแพงเมืองเกาลูนเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก โดยมีผู้อยู่อาศัย 33,000 คนเบียดเสียดกันอยู่ในตึกเดียว พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นนี้กลายเป็นตำนานด้วยบรรยากาศที่วุ่นวายแต่มีชีวิตชีวา ซึ่งแทบไม่มีกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ และชุมชนก็เติบโตขึ้นจนกลายเป็นภูมิทัศน์เมืองที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เนื่องจากไม่มีการวางผังเมืองที่เหมาะสม เมืองที่มีกำแพงล้อมรอบจึงกลายเป็นเขาวงกตที่มีตรอกซอกซอยแคบๆ และอาคารหลายชั้น ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนและแทบจะเดินไปไหนมาไหนไม่ได้เลย แม้จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย 

แต่เมืองนี้ก็กลายเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรือง มีครอบครัว ธุรกิจขนาดเล็ก และอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่แออัด 
ผู้คนในเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบเกาลูนแสดงให้เห็นถึงความอดทนและความเฉลียวฉลาดอย่างน่าทึ่ง โดยพวกเขาค้นหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตที่คับแคบและขาดแคลนทรัพยากรของพวกเขาประสบความสำเร็จ

กำแพงเมืองเกาลูนยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่รอดและการปรับตัวในเมือง ดึงดูดจินตนาการของผู้ที่เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ 
แบบจำลองในสนามบินฮ่องกงทำหน้าที่เป็นเครื่องบรรณาการให้กับการตั้งถิ่นฐานอันพิเศษนี้ โดยให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสกับโลกที่ไม่เหมือนใคร มีชีวิตชีวา และไม่ธรรมดาที่เคยดำรงอยู่ภายในขอบเขตของเมืองที่หนาแน่นแห่งนี้

นักวิจัยสหรัฐฯ พบข้อบกพร่องร้ายแรงใน Find My ชี้!! อาจเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อความมั่นคงของชาติ

(9 มี.ค. 68) ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสันในมลรัฐเวอร์จิเนียค้นพบปัญหาในเครือข่ายแอปพลิเคชัน Find My ของ Apple ที่ดาวน์โหลดและเปิดใช้งานตามค่าเริ่มต้น โดยเตือนว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ แอปพลิเคชัน Find My ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาอุปกรณ์ AirTags และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่สูญหายได้ ปัญหาจากการโจมตีนี้ถูกทีมนักวิจัยตั้งชื่อว่า 'nRootTag' ซึ่งจะหลอกเครือข่าย Find My ให้คิดว่าอุปกรณ์ที่รองรับ Bluetooth เป็น AirTag ที่สูญหาย ช่วยให้ผู้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์สามารถแอบติดตามอุปกรณ์ดังกล่าวได้โดยเจ้าของผู้ใช้ไม่รู้ตัว
.
Find My เป็นแอปพลิเคชันบริการติดตามอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สร้างโดย Apple Inc. ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์ iOS , iPadOS , macOS , watchOS , visionOS , tvOS , AirPods , AirTags และอุปกรณ์เสริมของบุคคลที่สามผ่านบัญชี iCloud ที่เชื่อมต่อ โดยผู้ใช้ยังสามารถแสดงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของอุปกรณ์หลักให้ผู้อื่นเข้าดูได้ และสามารถดูตำแหน่งของผู้อื่นที่เลือกแชร์ตำแหน่งของตนได้ด้วย Find My เปิดตัวพร้อมกับ iOS 13 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2019 ด้วยการผสานฟังก์ชันของ Find My iPhone เดิม (รู้จักกันในชื่อ Find My Mac บนคอมพิวเตอร์ Mac) และ Find My Friends เข้าเป็นแอปพลิเคชันเดียวบน watchOS โดย Find My จะแบ่งออกเป็นสามแอปพลิเคชันที่แตกต่างกันคือ (1)ค้นหาอุปกรณ์ (2)ค้นหาบุคคล และ (3)ค้นหารายการ
.
ใน iOS 9 ทั้ง Find My iPhone และ Find My Friends กลายเป็นแอปพลิเคชันในตัว และไม่สามารถลบออกจากอุปกรณ์ได้ ในการเปิดตัว iOS 13 และ macOS 10.15 ฟังก์ชันการทำงานของทั้ง Find My iPhone และ Find My Friends ได้ถูกผสมผสานเข้าเป็นแอปพลิเคชันเดียว โดยมีชื่อว่า Find My ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถแชร์ตำแหน่งอุปกรณ์ของตนกับผู้ติดต่อที่ ใช้อุปกรณ์ iOS, iPadOS หรือ macOS ได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จนกว่าจะสิ้นสุดวันหรือไม่มีกำหนด เมื่อแชร์แล้ว ผู้อื่นจะสามารถดูตำแหน่งที่แน่นอนของอุปกรณ์ของบุคคลนั้นบนแผนที่ และสามารถรับเส้นทางไปยังตำแหน่งของบุคคลนั้นได้ สามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเมื่อมีคนออกจากหรือมาถึงตำแหน่งที่กำหนด
.
โดยที่ ผู้ใช้สามารถค้นหาตำแหน่งของอุปกรณ์ Apple ของตนและเปิดเสียงบนอุปกรณ์ด้วยระดับเสียงสูงสุด อุปกรณ์ยังสามารถถูกทำเครื่องหมายว่าสูญหายได้ โดยล็อกอุปกรณ์ด้วยรหัสผ่านและระงับการใช้งานฟีเจอร์สำคัญ เช่น Apple Wallet โหมดสูญหายยังอนุญาตให้ผู้ใช้ฝากข้อความและข้อมูลติดต่อไว้บนหน้าจอล็อกของอุปกรณ์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะลบอุปกรณ์นี้ได้ โดยสามารถทั้งลบเนื้อหาและการตั้งค่าทั้งหมด ซึ่งจะมีประโยชน์หากอุปกรณ์มีข้อมูลที่ละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินการลบแล้วจะไม่สามารถค้นหาอุปกรณ์นี้ได้อีกต่อไป หลังจากลบข้อมูลเสร็จสิ้น ข้อความจะยังคงแสดงขึ้นและอุปกรณ์จะถูกล็อกการเปิดใช้งาน ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นใช้งานหรือขายอุปกรณ์ได้ยาก ต้องใช้รหัสผ่าน Apple ID เพื่อปิด Find My ออกจากระบบ iCloud ลบข้อมูลอุปกรณ์ หรือเปิดใช้งานอุปกรณ์อีกครั้งหลังจากล็อกการเปิดใช้งาน 
.
ในขณะที่ Find My และ Find My Friends ซึ่งเป็นโปรแกรมก่อนหน้ามีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่เกิดจากการติดตามตำแหน่งของผู้ใช้โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ คุณลักษณะด้านความปลอดภัยหลายประการหมายความว่า ผู้ใช้จะแบ่งปันตำแหน่งของตนกับบุคคลที่ตนเลือกเท่านั้น และสามารถเพิกถอนสิทธิ์ได้ทุกเมื่อ "เพื่อน" สามารถติดตามได้เฉพาะผู้ใช้ที่ยอมรับคำขอเข้าถึงเท่านั้น ผู้ใช้สามารถลบบุคคลออกจากการเข้าถึงได้ตลอดเวลาหรือทำให้การติดตามใช้งานหรือระงับเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ iOS 15 เป็นต้นมา Apple ได้เพิ่มคุณสมบัติในการค้นหา iPhone 11 หรือใหม่กว่าได้นานถึง 5 ชั่วโมงหลังจากแบตเตอรี่หมด หรือนานถึง 24 ชั่วโมงหากผู้ใช้ปิดเครื่องด้วยตนเอง (ยกเว้นรุ่น iPhone SE) ผ่านคุณสมบัติสำรองพลังงาน หากต้องการมีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิ์สำหรับ iPhone ที่ถูกขโมยหรือสูญหายโดยได้รับความคุ้มครองจาก AppleCare+ พร้อมความคุ้มครองการโจรกรรมและสูญหาย ฟังก์ชัน Find My จะต้องเปิดใช้งานอยู่ในอุปกรณ์ของผู้ใช้
.
Qiang Zeng หนึ่งทีมนักวิจัยบอกว่า "ปัญหาหลักคือ การโจมตีของ 'nRootTag' ได้เปลี่ยนเครือข่าย Find My ของ Apple ซึ่งประกอบด้วย iPhone และอุปกรณ์ Apple อื่น ๆ จำนวน 1,500 ล้านเครื่องให้กลายเป็นระบบจารกรรมระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่ผู้โจมตีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย" ตัวอย่างเช่น 'อุปกรณ์ Bluetooth เพียงเครื่องเดียวที่ติดไวรัสในหน่วยขีปนาวุธนิวเคลียร์เคลื่อนที่เชิงยุทธศาสตร์อาจทำให้ผู้โจมตีสามารถติดตามการเคลื่อนไหวได้'
.
นอกจากนี้ Zeng ยังอธิบายด้วยว่าข้อบกพร่องดังกล่าวอาจทำให้ศัตรูสามารถ "ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของหน่วยฯ" ได้ แม้ว่า "หน่วยฯ จะหลีกเลี่ยงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและปิดใช้งานโมดูล GPS ทั้งหมด แต่ iPhone ที่อยู่ใกล้เคียงก็ยังสามารถรายงานตำแหน่ง GPS ของอุปกรณ์ที่ติดไวรัสไปยังคลาวด์ของ Apple ได้" แม้ว่าทีมนักวิจัยจะไม่ได้ให้รายละเอียดการทำงานของ 'nRootTag' แต่พวกเขาบอกว่าการทดสอบแสดงให้เห็นว่า "การโจมตีของ 'nRootTag' ที่น่ากังวลนั้นมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 90%"
.
โดยทีมนักวิจัยสามารถระบุตำแหน่งของอุปกรณ์ของ Apple ได้ภายในระยะ 10 ฟุต ติดตามเส้นทางของ จักรยานไฟฟ้าที่กำลังเคลื่อนที่ผ่านเมือง จำลองเส้นทางการบินที่แน่นอน และระบุหมายเลขเที่ยวบินของคอนโซลเกมที่นำขึ้นเครื่องบินได้ อย่างไรก็ตาม Zeng และ Junming Chen นักวิจัยอีกผู้หนึ่งได้แสดงความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยจากการคุกคาม การสะกดรอย ต่อผู้ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Apple ตลอดจนภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีของ 'nRootTag' ได้ในอนาคต

นักการเมือง ยุโรปตะวันออก ถกเถียง เรื่อง ‘ลุยก่อน’ เล่นงาน!! ‘รัสเซีย’

(9 มี.ค. 68) บรรดาชาติยุโรปตะวันออกกำลังพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ในการโจมตีรัสเซียก่อนเสียเอง ทั้งที่รัสเซียกับสหรัฐฯ เพิ่งจะเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพกันไปหมาดๆ

Kuper ฟันธงว่าการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีอ่อนข้อให้รัสเซีย กำลังปลุกวิญญาณสงครามเย็นให้คืนชีพ พร้อมกับขีดเส้นแบ่งระหว่าง “ยุโรปตะวันออก” กับ “ยุโรปตะวันตก” ขึ้นมาใหม่ ฝั่งหนึ่งเห็นรัสเซียเป็นภัยคุกคามระดับชาติ อีกฝั่งกลับทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน

“พวกเรารู้ดี และนั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไมบางประเทศของเราถึงเริ่มตั้งคำถามกันว่า ‘ทำไมเราต้องมานั่งรอให้รัสเซียซัดเราก่อน? ทำไมไม่ลุยก่อนเลย?’” นักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งจากยุโรปตะวันออกแอบกระซิบกับนักข่าวแบบไม่เปิดเผยชื่อ ฟังดูแล้วชวนให้คิดว่าเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นแค่คำพูดลอยๆ

โปแลนด์-บอลติก: ถ้าปล่อยรัสเซียรอด มันจะถึงคิวเรา?

ตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้นในปี 2022 โปแลนด์และเหล่าชาติแถบบอลติกก็แหกปากเตือนกันมาตลอดว่า ถ้ารัสเซียบุกยูเครนสำเร็จ เป้าหมายถัดไปคงเป็นพวกเขาแน่นอน ฝั่งเครมลินเองก็ไม่ปล่อยให้ข้อกล่าวหานี้ลอยนวล ปูตินถึงกับสวนกลับว่าเป็น “เรื่องไร้สาระ”

ประวัติศาสตร์ที่ทำให้ยุโรปตะวันออกระแวงรัสเซีย

จะว่าไป พื้นที่ยุโรปตะวันออกก็มีอดีตที่ต้องระแวงกันอยู่เป็นทุนเดิม หลายประเทศเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิใหญ่ๆ ไม่ว่าจะรัสเซีย เยอรมนี หรือออสเตรีย-ฮังการี อิสรภาพของพวกเขาถูกกระชากไปหลายครั้งจนกลายเป็นปมในประวัติศาสตร์ Milan Kundera นักเขียนชาวเช็กเคยนิยามชะตากรรมของพวกเขาไว้ว่า "ชาติเล็กๆ ที่รู้ตัวดีว่าหากวันใดวันหนึ่งหายไปจากแผนที่โลก ก็คงไม่มีใครสนใจ"

ชาติที่เกลียดรัสเซียที่สุด คือชาติที่เรียกร้องการติดอาวุธมากที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมา ชาติยุโรปตะวันออกต่างตะโกนแข่งกันว่า ต้องเพิ่มกำลังป้องกันประเทศขึ้นให้มากที่สุด และเป็นกลุ่มที่แสดงความเป็นปรปักษ์กับรัสเซียอย่างเปิดเผยมากที่สุด โดยเฉพาะ Kaja Kallas อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียและนักการทูตระดับสูงของสหภาพยุโรป ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งกร้าวต่อมอสโก

รัสเซีย-สหรัฐฯ คุยกันแล้ว แต่ EU ยืนยันต้องติดอาวุธยูเครนต่อไป

ข่าวนี้โผล่มาในจังหวะที่รัสเซียกับสหรัฐฯ เพิ่งฟื้นคืนการสื่อสารกันเมื่อเดือนที่แล้ว และมีการเจรจาระดับสูงกันที่ซาอุดีอาระเบีย แต่ฝั่ง บรัสเซลส์ กลับเสียงแข็งว่า ยูเครนต้องได้รับการสนับสนุนทางทหารต่อไป

ในขณะที่ทรัมป์ประกาศระงับความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนเพื่อบีบให้เคียฟกลับไปเจรจากับมอสโก ฝั่งผู้นำยุโรปภายใต้ Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กลับอนุมัติแผนมูลค่า 800,000 ล้านยูโร เพื่อเติมอาวุธให้ยุโรปและรักษากระแสหนุนยูเครน

รัสเซียลั่น!! อย่าหาว่าขู่ ถ้า EU ยังเดินเกมแบบนี้

มอสโกไม่รอช้า ประกาศเสียงแข็งว่าจะใช้ทุกมาตรการเพื่อปกป้องอธิปไตยของตนเอง หลังจากสหภาพยุโรปยกระดับการส่งอาวุธและปล่อยวาทกรรมที่ท้าทายรัสเซียขึ้นมาอีกระดับ ซึ่งเครมลินก็เตือนมานานแล้วว่า ตะวันตกส่งอาวุธไปก็ไม่ได้ช่วยให้สงครามจบไวขึ้น แถมยังเพิ่มโอกาสที่นาโตจะต้องเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง

งานนี้จะลงเอยอย่างไร? 

ยุโรปตะวันออกจะเอาจริงกับแผน ‘ซัดก่อน’ หรือไม่? 

คงต้องจับตาดูให้ดี เพราะเดิมพันครั้งนี้อาจใหญ่กว่าที่หลายคนคิด!!

เกาหลีเหนือเผยโฉมเรือดำน้ำนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก ท้าทายมหาอำนาจโลก สั่นสะเทือนคาบสมุทรเกาหลี

(10 มี.ค. 68) สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีใต้ เผยแพร่ภาพถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็น “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธนำวิถีทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของเกาหลีเหนือ

รายงานของ KCNA ยังเปิดเผยว่า คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม อู่ต่อเรือแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้สร้างเรือรบของประเทศ โดยเขาได้ตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และกล่าวย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างกำลังทางทะเลเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากศัตรู

แหล่งข่าวทางทหารจากเกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังวิเคราะห์ภาพถ่ายและข้อมูลที่เผยแพร่ เพื่อตรวจสอบความสามารถที่แท้จริงของเรือดำน้ำลำนี้ โดยเฉพาะศักยภาพในการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหากได้รับการยืนยัน จะถือเป็นก้าวสำคัญของเกาหลีเหนือในด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ทางทะเล

ทั้งนี้ การเปิดตัวเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลียังคงสูงขึ้น ท่ามกลางการซ้อมรบร่วมระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ซึ่งเปียงยางมองว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของตน

นักวิเคราะห์เชื่อว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเกาหลีเหนืออาจกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาค และเพิ่มความกังวลในหมู่ชาติตะวันตกเกี่ยวกับเสถียรภาพและสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี

‘มาร์ก คาร์นีย์’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแคนาดา ต่อจาก ‘จัสติน ทรูโด’ เตรียมพร้อมรับมือความท้าทายในศึกทางการค้า และการเมืองจากสหรัฐฯ

(10 มี.ค. 68) มาร์ก คาร์นีย์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางแคนาดาในวัย 59 ปี เตรียมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา ต่อจาก จัสติน ทรูโด หลังจากได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคลิเบอรัลหรือเสรีนิยม ซึ่งมีความสำคัญสำหรับอนาคตทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่คาร์นีย์เตรียมรับมือกับความท้าทายทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศ และแรงกดดันจาก สหรัฐอเมริกา คู่ค้าสำคัญของแคนาดา

การขึ้นเป็นผู้นำประเทศของคาร์นีย์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แคนาดากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการตัดสินใจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาอย่างมีนัยสำคัญ 

คาร์นีย์ซึ่งมีประสบการณ์จากการเป็นผู้นำในองค์กรการเงินระดับโลก ได้ประกาศว่าเขาจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ ให้แข็งแกร่ง

การค้าและการเจรจาทางเศรษฐกิจ จะเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่คาร์นีย์จะต้องรับมือ โดยเขาจะต้องพยายามลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรและการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจแคนาดา ในขณะที่ต้องรักษาเสถียรภาพการค้าในภูมิภาคและในระดับโลก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านนโยบายภายในประเทศที่คาร์นีย์จะต้องจัดการ รวมถึงการปฏิรูปภาษีและการดูแลภาคพลังงานที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมแคนาดา คาร์นีย์จะต้องทำงานร่วมกับรัฐสภาเพื่อให้ผ่านกฎหมายที่ช่วยเสริมสร้างการเติบโตและการลงทุนในประเทศ

การแต่งตั้งของคาร์นีย์เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าแคนาดากำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง โดยผู้นำใหม่จะต้องพร้อมรับมือกับการทดสอบทั้งจากภายในและจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เปิดปมส่ง 40 อุยกูร์ กลับมาตุภูมิ ชี้! เรื่องนี้มีเบื้องลึก เผยคนหนุ่มบางส่วนในกลุ่มนี้ เตรียมถูกฝึกเป็น ‘นักรบพลีชีพ’

ไม่นานมานี้มีข่าวที่ทางการไทยส่งนักโทษอุยกูร์กลับประเทศจีนตามหน้าสื่อที่ว่าทางการไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนที่ถูกคุมขังในไทยตั้งแต่ปี 2557 กลับสู่ประเทศจีน  ท่ามกลางเสียงก่นด่าจากประเทศตะวันตก จนคนไทยหลายคนด่าว่ารัฐบาลไทยเลว เอาใจจีนจนเอาชีวิตคนไปแลก เอาเป็นว่าวันนี้ลองเปิดใจมารับรู้ข้อมูลอีกด้านกันดูดีกว่าไหม  แล้วค่อยมาสรุปว่ารัฐบาลไทยเราเลวดังที่ใครๆ เขาว่าหรือไม่

ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักองค์ก่อนหนึ่งก่อน นั่นคือ ขบวนการอิสลามเตอร์กิชสถานตะวันออก หรือ ETIM ขบวนการนี้มีการจัดตั้งกันมาตั้งแต่ปี 2476 เพื่อต่อสู้ให้เมืองซินเจียงที่เป็นเมืองหลักของชาวอุยกูร์เป็นรัฐอิสลามเพราะประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

แต่ทว่าแท้จริงแล้วในซินเจียงยังมีชนชาติอื่นร่วมด้วยทั้ง ทั้งชาวฮั่น, ชาวคีร์กีช, ชาวมองโกล, ชาวหุย, ชาวคาซัค และชาติพันธุ์อื่นๆอีกกว่า 50 ชาติพันธุ์เพราะเหตุที่ว่าซินเจียงนี้เคยเป็นเส้นทางสายไหมทางบกในอดีตนั่นเอง นั่นทำให้จีนเลือกที่จะยกซินเจียงให้เป็นเขตปกครองตนเองของจีน เช่นเดียวกับทิเบต และนี่เองที่เป็นชนวนเหตุความขัดแย้งในพื้นที่

จนกระทั่งในปี 2511 มีการจัดตั้ง พรรคปฏิวัติประชาชนแห่งเตอร์กีชสถานตะวันออก ขึ้นโดยมีสาขาในเมืองอุรุมูฉี และเมืองคาชการ์ มีกองกำลังติดอาวุธเพื่อก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน โดยอ้างตาม ETIM ในปลุกระดมผู้คนให้ก่อการครั้งนี้ว่า นี่คือ 'ญิฮาด' หรือ สงครามศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะสร้างแผ่นดินเสรีของเรา แม้ตามรายงานบอกว่าพรรคนี้สลายตัวไปตั้งแต่ปี 2532 แต่ยังมีผู้นำอยู่และแยกเป็นกลุ่มก่อการร้ายย่อย ๆ ภายใต้เงินทุนของชาติตะวันตก

มาถึงจุดนี้อ่านแล้วคุ้นๆ...ชาติพันธุ์ฝั่ง 45 น. ของไทยไหม

ณ เวลานั้นมีรายงานว่ามีการปลุกระดมเอาคนหนุ่มไปฝึกเป็น “นักรบพลีชีพ” เพื่อมาต่อสู้กับกองทัพจีน ซึ่งจะเห็นว่ามีเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายครั้งที่เกิดขึ้น โดยแหล่งข่าวได้เล่าให้เอย่าฟังว่า นักรบเหล่านี้จะต้องเดินทางไปฝึกการรบดังกล่าวที่ประเทศหนึ่งที่อยู่ระหว่าง 2 ทวีป โดยใช้งบของประเทศที่ให้การสนับสนุนโจรใต้บ้านเรานั่นแหละ

แต่เหตุการณ์ดันโป๊ะตรงที่รัฐบาลจีนรู้ถึงการเดินทางของคนกลุ่มนี้และชี้เป้าให้ทางการไทยจับตัวไว้เมื่อปี 2557 โดยขณะนั้นทางการไทยเพียงตั้งข้อหาชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ว่า เข้าเมืองผิดกฎหมาย

แม้จะไม่มีรายงานว่าชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ถูกจับเดือนไหนแต่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นอยู่ในสายตาของนายกที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านก็น่าจะทราบดีว่าคนเหล่านี้คือใครเพราะเวลานั้นไทยสนิทกับจีนมาก ในปี 2557 นั่นเอง จีนมีการตัดสินประหารชีวิตชาวอุยกูร์ที่ก่อเหตุระเบิดพลีชีพที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนฮั่นและชาติพันธุ์ในซินเจียงโดยเฉพาะชาวอุยกูร์เป็นอย่างมาก

ถามว่าถ้าลุงตู่ส่งชาวอุยกูร์กลับจีนตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้น....

ใช่แล้ว..ไทยเลือกจะไม่ส่งกลับแต่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนเข้ามาปรับทัศนคติและแก้ปัญหาในบ้านของเขาให้เรียบร้อย

วันนี้เป็นเวลาเกือบ 11 ปี อุยกูร์เป็นมณฑลที่ติดอันดับที่ 23 จาก 31 มณฑลของจีน และถ้าคิดเฉลี่ยเป็น GDP ต่อประชากร ซินเจียงเปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตารวมถึงความอยู่ดีกินดีของประชากร  จีนสนับสนุนการศึกษาให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้เรียนรู้ทั้งภาษาจีนกลางและภาษาถิ่นรวมถึงทำนุบำรุงศาสนสถานทุกศาสนาในเมือง ส่วนหนึ่งเพื่อให้เหล่าชาติพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งคือความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำถิ่น ซินเจียงเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความแปลกใหม่ในการท่องเที่ยวในประเทศจีน

สุดท้ายกลับมาที่นักโทษทั้ง 40 คนในคุกไทย ที่ตลอดเวลาร่วม 10 ปีได้รับการปรับทัศนคติจนเชื่อได้ว่าทั้งหมดอยากกลับไปหาญาติหาคนที่รักของเขาแล้ว และเชื่อได้ว่าตลอด 11 ปีมานี้ทางการจีนได้พัฒนาให้ชาวเมืองซินเจียงกลายเป็นคนที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก จนต้องมาตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปสร้างแผ่นดินในอุดมคติอีก ในเมื่อกลับไปพบกับครอบครัวที่อยู่ดีกินดีแล้ว...

คำถามก็คือ คำที่ชาติตะวันตกกล่าวหาไทยต่างๆ นานา นั้น ทำไปเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่ต้องการสร้างภาพให้จีนเป็นตัวร้าย แต่อย่างที่หลายคนกล่าว บางทีผู้นำประเทศเหล่านั้นก็ติดภาพฮอลลีวูดมาไปจนลืมว่าคนมีสติปัญญาเขาคิดได้ว่าถ้าทางการไทยอยากให้ชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ตายจริงคงไม่ปล่อยให้เปลืองข้าวไทยมาเป็น 10 ปีหรอก

ศาลสหรัฐฯ สั่งจีนจ่ายเงินชดเชย 24,000 ล้านดอลลาร์ ชี้เป็นต้นเหตุทำให้โลกเข้าใจผิดเกี่ยวกับโควิด-19 และปกปิดข้อมูล

(10 มี.ค. 68) สำนักข่าว The New York Times รายงานว่า ศาลกลางแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ออกคำสั่งให้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จ่ายเงินชดใช้ความเสียหายแก่ รัฐมิสซูรี รัฐที่อยู่ทางตอนกลางของสหรัฐฯ จำนวน 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 816,000 ล้านบาท) หลังจากที่ศาลตัดสินว่า จีน ได้ชักนำให้โลกเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยอ้างว่าจีนได้มีการปกปิดข้อมูลและปล่อยให้ข้อมูลผิดๆ แพร่กระจายออกไปจนกระทบต่อการรับมือการระบาดในระดับโลก

คำตัดสินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก รัฐมิสซูรี ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลจีนในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลที่ไม่โปร่งใสเกี่ยวกับต้นตอของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจีนทำให้การแพร่ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก

ศาลระบุว่า จีนต้องรับผิดชอบในการปกปิดข้อมูลที่สำคัญในช่วงเริ่มต้นของการระบาด ส่งผลให้รัฐบาลและประชาชนในหลายประเทศไม่สามารถเตรียมพร้อมตอบสนองต่อวิกฤตนี้ได้อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสูญเสียทางชีวิตอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ทางการจีนยังไม่ออกมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งของศาลสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจีนอาจจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ เนื่องจากยังคงยืนยันว่าไม่มีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดจากแหล่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับจีน

สำหรับคำตัดสินดังกล่าว ถือเป็นคำตัดสินที่สำคัญในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางกฎหมายในระดับสากลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงร้อนระอุในหลายประเด็น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top