‘ทรัมป์’ เล็ง!! ถอนทหาร 35,000 นาย ย้ายจาก ‘เยอรมนี’ ไป!! ‘ฮังการี’

(9 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในยุโรปด้วยการ ถอนทหารอเมริกัน 35,000 นายออกจากเยอรมนี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะเป็นการเปลี่ยนเกมด้านความมั่นคงของ NATO และอาจทำให้สัมพันธ์สหรัฐฯ–ยุโรปเดือดพล่านยิ่งขึ้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบขาวเผยว่า “ทรัมป์หงุดหงิดกับยุโรป เพราะพวกเขาดูเหมือนจะเร่งสถานการณ์ไปสู่สงคราม” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทรัมป์เคยส่งสัญญาณหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะไม่คุ้มกันประเทศที่ไม่ลงทุนด้านความมั่นคงของตัวเองอย่างจริงจัง

ฮังการี - เป้าหมายใหม่ของกองกำลังสหรัฐฯ?

The Telegraph รายงานว่า เป้าหมายที่เป็นไปได้ของการโยกย้ายครั้งนี้คือ "ฮังการี" ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมาโดยตลอด และเพิ่งสร้างแรงกระเพื่อมใน EU ด้วยการวีโต้มาตรการสนับสนุนยูเครนเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี เป็นหนึ่งในผู้นำยุโรปที่มักค้านการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า การที่ทรัมป์อาจย้ายทหารไปที่นั่นเป็นการเดินเกมในลักษณะใดกันแน่ เพราะหากเกิดขึ้นจริง ก็หมายความว่าสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณถึง NATO ว่า “จ่ายเยอะ—ได้เยอะ, จ่ายน้อย—จัดการตัวเอง”

โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไบรอัน ฮิวจ์ส ให้ความเห็นว่า "แม้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การโยกย้ายกำลังทหารเป็นเรื่องที่กองทัพสหรัฐฯ พิจารณาอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในปัจจุบัน" ซึ่งฟังดูเหมือนแถลงการณ์กลาง ๆ แต่แปลเป็นภาษาชัด ๆ ได้ว่า "เรากำลังหาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง"

NATO สะเทือน!! ทรัมป์ไม่สนใจ สมาชิกที่จ่ายไม่ถึงเป้า

ทรัมป์ย้ำหลายครั้งว่า ประเทศสมาชิก NATO ต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งในปี 2024 มีเพียง 23 จาก 32 ประเทศ เท่านั้นที่ทำได้ โดย โปแลนด์ เป็นประเทศที่ลงทุนหนักสุดที่ 4.1% ของ GDP ขณะที่สหรัฐฯ ใช้ 3.4% ซึ่งทรัมป์มองว่า "เป็นภาระที่อเมริกันชนไม่ควรต้องแบก"

ทรัมป์เคยพูดตรง ๆ ว่า "ถ้าคุณไม่จ่าย ผมก็ไม่ช่วย" และถึงขั้นบอกว่า “ถ้าประเทศไหนใน NATO ไม่ยอมจ่าย ผมจะปล่อยให้รัสเซียจัดการเอง” ซึ่งนับว่าเป็นคำเตือนที่ชัดเจน และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทรัมป์ถึงสนใจย้ายกำลังไปประเทศที่ "จริงจัง" เรื่องงบกลาโหมมากกว่า

เยอรมนีอาจต้องรับมือเอง หากทรัมป์เดินหน้าถอนกำลัง

หากแผนนี้เดินหน้าจริง เยอรมนีอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางความมั่นคงแบบไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากฐานทัพสหรัฐฯ หลายแห่งในเยอรมนี เช่น Ramstein Air Base และ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำยุโรป ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของ NATO ในยุโรป

การถอนกำลังออกจากเยอรมนีจะเป็นการตัดแรงสนับสนุนที่สำคัญสำหรับ NATO และอาจทำให้เยอรมนีต้อง เร่งเพิ่มงบกลาโหม และพิจารณาทางเลือกใหม่ ๆ ในการปกป้องประเทศของตนเอง

ในขณะที่ยุโรปกำลังจับตาว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายนี้อย่างไร สัญญาณจากทรัมป์ดูเหมือนจะชัดเจนว่า “อเมริกาไม่ใช่ผู้คุ้มกันฟรี ๆ อีกต่อไป” และ NATO อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง


ที่มา : The Telegraph