เปิดประวัติ 'อวี๋เหรินหรง' นักธุรกิจจีนผู้กระทบไหล่ CEO ตัวท็อป จาก ‘เด็กบ้านนอก’ สู่ ‘เศรษฐีชิปอันดับหนึ่งของจีน’
(2 มี.ค. 68) ในที่ประชุมสัมมนาผู้ประกอบการเอกชนแห่งประเทศจีน อีเวนต์ที่ทุกคนต่างจับตา ชายที่นั่งอยู่ระหว่างหวังฉวนฝู CEO บีวายดี (BYD) และเหลยจวิน CEO เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) กลายเป็นจุดสนใจอย่างไม่คาดคิด ผู้คนเริ่มสงสัยว่าเขาเป็นใคร และทำไมเขาถึงได้อยู่ในจุดนั้น?
เขาคืออวี๋เหรินหรง นักธุรกิจวัย 59 ปี เจ้าของตำแหน่ง “เศรษฐีชิปอันดับหนึ่งของจีน” ผู้ก่อตั้งบริษัท Weil Semiconductor ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิต Image Sensor อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการจับภาพ รายใหญ่ที่สุดในจีน และติดอันดับสามของโลก รองจาก Sony และ Samsung ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ถูกใช้ในสมาร์ตโฟน รถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น Xiaomi, Huawei และ BYD
ณ วันที่ 21 ก.พ. 2024 มูลค่าตลาดของ Weil Semiconductor อยู่ที่ 1.92 แสนล้านหยวน (ราว 8.832 แสนล้านบาท) โดยอวี๋เหรินหรงถือหุ้นอยู่ 27.44% ทำให้เขามีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 5.27 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.424 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ เขายังเป็นบุคคลใจบุญอันดับหนึ่งของจีน โดยบริจาคเงินถึง 5.3 พันล้านหยวน (ราว 2.47 หมื่นล้านบาท) ในปี 2024 ซึ่งมากกว่ายอดบริจาคของเหลยจวิน
จากเด็กนักเรียนหัวกะทิสู่ผู้ประกอบการ
อวี๋เหรินหรง เกิดในปี 1966 ที่หมู่บ้านจงเป่า เมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นบ้านเกิดเดียวกับเจ้าพ่อธุรกิจเดินเรือระดับโลกอย่าง “เป่าอวี้กัง” เขาเติบโตมาในครอบครัวธรรมดาแต่มีพรสวรรค์ด้านการเรียน จนสามารถสอบติดโรงเรียนมัธยมชื่อดังของเมือง และในปี 1985 เขาสอบติดภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมหาวิทยาลัยชิงหัว พร้อมดีกรีนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดของเมืองหนิงโป
เพื่อนร่วมรุ่นของเขาในชิงหัวเป็นศิษย์เก่าชื่อดังมากมาย เช่น จ้าวเหว่ยกั๋ว ประธานกลุ่ม Tsinghua Unigroup และซูชิงหมิง ผู้ก่อตั้ง GigaDevice รุ่นของเขาจึงได้รับการขนานนามว่า “ยุคทอง” และมีชื่อรุ่นว่า EE85
อวี๋เป็นนักเรียนที่เฉลียวฉลาดและมีหัวทางธุรกิจเป็นอย่างมาก มีเรื่องเล่าที่โด่งดังว่า เขาเคยเล่นไพ่นกกระจอกตลอดคืน แต่ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันคณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในวันรุ่งขึ้นได้
นอกจากนี้ เขายังเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่เรียน โดยขายแนวข้อสอบจากเขตไห่เตี้ยนในปักกิ่งไปยังต่างถิ่นเพื่อทำกำไร จนกลายเป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อนร่วมชั้นว่าเป็น “พ่อค้าข้อสอบ”
ก้าวแรกในวงการธุรกิจ
หลังเรียนจบ เขาเข้าทำงานที่กลุ่ม Inspur ในตำแหน่งวิศวกร แต่เพียงสองปีหลังจากนั้น เขาก็ตัดสินใจลาออกไปทำงานให้กับบริษัท Longyue Electronics ในฮ่องกง เพื่อเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในปักกิ่ง งานนี้ทำให้เขาได้เข้าใจอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีนอย่างลึกซึ้ง และมองเห็นโอกาสในตลาด
“ตอนนั้นทุกคนคิดว่าผมบ้า แต่ผมรู้ว่าที่จีนไม่ได้ขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ เราขาดนักธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้” อวี๋กล่าว
ปี 1998 อวี๋เหรินหรง ตัดสินใจออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยก่อตั้งบริษัท HuaQing XingChang Tech ซึ่งกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในปักกิ่ง ทำกำไรปีละ 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 338 ล้านบาท) แต่เขากลับรู้สึกว่านั่นยังไม่พอ “เป็นพ่อค้าคนกลางก็ได้แค่ซดน้ำซุป ถ้าอยากกินเนื้อ ต้องสร้างสินค้าของตัวเอง”
การสร้างอาณาจักร Weil Semiconductor
ปี 2007 ขณะที่คนอื่นยังมุ่งขายชิ้นส่วน อวี๋เหรินหรง ก้าวไปอีกขั้น โดยก่อตั้ง Weil Semiconductor ในเซี่ยงไฮ้ เน้นพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ประเภท Power Management และ Discrete Devices
ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้เงินทุนและเทคโนโลยีสูง ในช่วงแรกเขาใช้กลยุทธ์ “สองขา” นำกำไรจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายมาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง วิธีนี้ช่วยให้เขาสามารถปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
แต่การเติบโตของบริษัทไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาเทคโนโลยี อวี๋เหรินหรง ยังใช้กลยุทธ์ “ซื้อกิจการเพื่อขยายธุรกิจ” โดยในปี 2019 เขาทำการเข้าซื้อ OmniVision ซึ่งเป็นผู้ผลิต mage Sensor อันดับสามของโลก นำพา Weil Semiconductor ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ
การซื้อกิจการครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ OmniVision มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทของเขาเองเกือบสองเท่า แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินและการบริหาร อวี๋เหรินหรง สามารถปิดดีลได้ และในปีเดียวกัน Weil Semiconductor ก็กลายเป็นผู้นำตลาด Image Sensor ของจีน
ก้าวไปข้างหน้า
แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่อวี๋เหรินหรงยังไม่หยุดเดินหน้า เขาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยเพิ่มงบประมาณ R&D อย่างต่อเนื่อง และมุ่งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีชิปสำหรับยานยนต์และอุตสาหกรรมการแพทย์
นับตั้งแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Weil Semiconductor เพิ่มการลงทุนด้าน R&D อย่างต่อเนื่องทุกปี ระหว่างปี 2017 – 2021 ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 84.99 ล้านหยวน (ประมาณ 3.965 ร้อยล้านบาท) เป็น 2.11 พันล้านหยวน (ประมาณ 9.84 พันล้านบาท) และครึ่งแรกของปี 2024 งบ R&D เพื่อการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทฯ อยู่ที่ประมาณ 1.582 พันล้านหยวน (ประมาณ 7.38 พันล้านบาท) คิดเป็น 15.18% ของรายได้จากธุรกิจออกแบบเซมิคอนดักเตอร์
นอกจากนี้ เขายังมีเป้าหมายช่วยพัฒนาการศึกษาในประเทศ โดยในปี 2022 เขาประกาศลงทุน 3 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.38 แสนล้านบาท) สร้างมหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเทคโนโลยีระดับโลกในบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อสนับสนุนนักวิจัยและสร้างบุคลากรที่สามารถช่วยให้จีนก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
“อุตสาหกรรมชิปไม่มีทางลัด มีเพียงคนที่กล้าเดินเข้าสู่ดินแดนที่ไม่มีใครเคยไปมาก่อนเท่านั้น ที่จะเป็นผู้กำหนดกติกาได้” นี่คือคำพูดที่สะท้อนตัวตนของอวี๋เหรินหรงได้อย่างชัดเจน
