Wednesday, 14 May 2025
Region

ปทุมธานี - ศธ.จับมือ สพฐ. มรภ.วไลยอลงกรณ์ ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน จาก Passive Learning สู่ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู๋นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต Covid -19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นผลสำเร็จของการดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ โดยจัดให้มีการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผ่านการ Coaching ของผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโรงเรียนต้นแบบภาคเหนือจำนวน 10 จังหวัด รวม 30 โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 10 โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง 10 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ 10 โรงเรียน ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เกิดผลงานจากการปฏิบัติเป็นนวัตกรรมครูสู๋นวัตกรรมของนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และหวังให้เกิดคลื่นการพัฒนาการจัดการศึกษาไทยในยุค New Normal อย่างกว้างขวางต่อไป

ในการนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมยินดีถึงผลสำเร็จของความพยายามในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติครั้งนี้ ที่มีความชัดเจนสะท้อนให้เห็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ตอบสนองเจตนารมณ์ของมรัฐธรรมนูญ มาตรา 54, มาตรา 258 จ.(4) และนโยบายของรัฐบาลตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียนรายบุคคลตามหลักการพหุปัญญา และเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนมากขึ้นกว่าเดิมโดยต้องเร่งดำเนินการให้เต็มกำลัง เพื่อให้เกิดผลจริงตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวว่า ในการที่เราจะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่จะจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning นั้น ครูจะต้องปรับบทบาทของตนเอง ในยุคปัจจุบัน ครูจะต้องมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ครูต้องทำหน้าที่ Coaching ได้ ครูต้องเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่าง ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ให้มากขึ้นยิ่งในยุค New Normal เช่น ครูจะต้องทำสื่อต่าง ๆ ขึ้นเองได้ เช่น vdo clip สื่อการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น

อยุธยา - “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่กรุงเก่า ตรวจความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก มั่นใจไม่เกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 54 แน่นอน! พร้อมเร่ง 9 แผนหลักบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้ (22 กันยายน 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำรับน้ำหลากตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการจัดการและเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น   ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,481 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ  คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีราษฎรประมาณ 602 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่ง กอนช. ได้ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

สำหรับความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง    

โดยกำหนดให้ดำเนินการหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง  ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสํารองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้า

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 ขณะเดียวกัน จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับและเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนด้วย

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ณ 20 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำรวม 10,475 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของปริมาณความจุ หากเปรียบกับปริมาณน้ำในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่ามาก  ในครั้งนั้นปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง รวมกันมากกว่า 22,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผนวกกับการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ที่ได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 พร้อมเตรียมแผนปฏิบัติการรับมืออย่างเข้มงวด ตลอดจนการวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งเจ้าพระยารวมกับทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ซึ่งในปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 อย่างแน่นอน

 

ขอนแก่น – ชวนเที่ยวงานแสดงผ้าไหม OTOP มัดหมี่ - เบียนนาเล่ - ถักทอเส้นใยอีสานสู่สายใยโลก! Craft the world ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่น โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ  กำหนดจัดงานแสดงและจำหน่ายผ้าไหม OTOP  : มัดหมี่ เบียนนาเล่ 2021 Mudmee Biennale 2021 ถักทอเส้นใยอีสาน สู่สายใยโลก Craft the world  ในระหว่างวันที่ 23– 25 กันยายน 2564 ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้น 2 เวลา 10.00 น.-20.00 น. ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหม ระดับพรีเมี่ยม ของจังหวัดขอนแก่น กว่า 30  คูหา, การแสดงแฟชั่นโชว์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมการขาย, การจัดแสดงโชว์ผลงาน การประกวดผ้าไหม และผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดขอนแก่น,  กิจกรรมเสวนาวิชาการ :การพัฒนาส่งเสริมผ้าไหม เพื่อการส่งออก สู่ตลาดโลก เป็นต้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมในงานจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากไหมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การขับเคลื่อนเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่สู่สากล เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไหมให้ทันสมัย พร้อมดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไหม โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดขอนแก่น ส่งผ้าไหมมัดหมี่ เข้าประกวดทั้งหมด จำนวน 135 ผืน แยกตามประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าไหมมัดหมี่แบบ 2 ตะกอหรือ 3 ตะกอ จำนวน 74 ผืน ประเภทที่ 2 ผ้าไหมมัดหมี่ลายประจำจังหวัด “แคนแก่นคูน” จำนวน 29 ผืน และประเภทที่ 3 ผ้าไหมมัดหมี่ลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จำนวน 32 ผืน

"จากการประกวดฯ ส่งผลทำให้ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมจังหวัดขอนแก่น มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตผ้าไหม ให้มีขนาด สัดส่วน สีสัน ลวดลาย ที่เหมาะสมสวยงาม และตอบสนองประโยชน์การใช้สอยให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนมีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การขับเคลื่อนเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่สู่สากล ตามเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป"

 

เชียงใหม่ - กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส.จัดโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ครูฝึกทหารกองประจำการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รุ่นที่ 1 เพื่อนำไปสอนทหารกองประจำการในสังกัด

วันที่ 22 กันยายน 2564 ณ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่  เวลา 11.30 น. พันเอกสงบศึก วังแก้ว  รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานในพิธีปิดโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ครูฝึกทหารกองประจำการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ภาคเหนือตอนบน รุ่นที่ 1 ร่วมด้วยผู้มีเกียรติ พันเอก ประณต ศิริพันธ์  หัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 33 พันโท นพอนันต์ ปาลิวนิช  รองหัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 33 ผู้แทน ปปส.ภาค 5 และคณะวิทยากร ประกอบด้วย นางสาวสุกันยา ใหญ่วงศ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานพื้นที่ ว่าที่ร้อยเอก ดร.พัฒนดล พลเยี่ยม หัวหน้ากลุ่มงานระบบฐานข้อมูล นางทิพากร ชีวสกุลยง หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ นางสาวนฤมล วรรณพริ้ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฯ  และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นายกิตติชัย เหลืองกำจร  ที่ปรึกษาศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางบังอร สุปรีดา ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัด มณฑลทหารบกที่ 33 กองทหารราบที่ 7 (ร.7) กรมทหารราบที่ 7 กองบินที่ 1 (ร.7 พัน 1) กองพลทหารราบที่ 7 กองบินทหารปืนใหญ่ที่ 7 (ป พัน 7 พล.ร.7)  กองพันทหารพัฒนาที่ 3 (พันพัฒนา 3)  รวม 20 นาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กฎหมายยาเสพติด ทักษะชีวิต เทคนิคการสอน  และการใช้เทคโนโลยีการสอน  เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ฝึกสอนและสร้างการรับรู้ให้กับทหารกองประจำการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในสังกัดต่อไป โดยกระบวนการจัดโครงการฯได้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันโรคโควิด-19

ลำปาง - มทบ.32 จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนส่งเสริมคุณธรรม - จริยธรรม ชมรมกตัญญูคลับ ม.ราชภัฎ

ตามที่กองทัพบกได้ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังสิ่งดีงามให้แก่เยาวชนด้วยการให้หน่วยจัดอบรมโครงการเยาวชนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ประจำปี 2564 นั้น มณฑลทหารบกที่ 32 ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ในการเชิญชวนผู้นำนักศึกษา จากองค์การนักศึกษา สโมสรคณะต่างๆและชมรมกตัญญูคลับ ร่วมโครงการฯ มีวัตถุประสงค์การจัดเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนระดับอุดมศึกษามีแนวคิดและทัศนคติที่ดีต่อสังคม มีวินัยในการอยู่ร่วมกัน  ประพฤติตนอยู่ในกรอบของความดีงาม ตามจารีตประเพณีของชาติไทยและเคารพต่อสถาบันหลักของชาติ รู้จักการมีจิตสาธารณะดูแลชุมชนและปฏิบัติตนมีประโยชน์ต่อส่วนรวม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 14.30 น. พลตรีอโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการเยาวชนฯ ณ ห้องประชุมโอฬารรัตน์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริตต์ สายสี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ ร่วมในพิธีฯ ซึ่งการดำเนินการอบรมนั้นหน่วยได้ยึดถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดอย่างเคร่งครัด ซึ่งก่อนการอบรมฯมีการประสานโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีจัดบุคลากรทางการแพทย์ของหน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเยาวชนที่เข้ารับการอบรมฯ

พังงา - หน่วยแพทย์ พอ.สว. ออกบริการฉีดวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม ให้ผู้ต้องราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดพังงา

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนพระราชทาน “ซิโนฟาร์ม” เข็มที่ 1 ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์กลุ่มเสี่ยงในเรือนจำจังหวัดพังงา จำนวน 300 คน  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดความรุนแรงและการเสียชีวิตให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำหากเกิดการเจ็บป่วยจากโควิด 19  โดยมีนายอาคม ภูศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพังงา และนายวิชัย ชูจิต สาธารณสุขอำเภอเมืองพังงา ร่วมให้การต้อนรับ เรือนจำจังหวัดพังงามีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 2,378 คน มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขัง และมาตรการการเข้าเยี่ยมของญาติ

จังหวัดพังงาได้รับ จัดสรรวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม พอ.สว. เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อาทิเช่น ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ผู้นำศาสนา จำนวน 5,000 โดส กำหนดฉีดตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 จนถึงวันที่ 29 กันยายน 2564 เพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางในทุกพื้นที่ของจังหวัดพังงาได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ป้องกันและลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19

นราธิวาส - เลขาธิการ ศอ.บต. แนะนักศึกษา มนร. นำความรู้ด้านการเกษตรที่ได้จากประเทศอิสราเอลมาใปรับช้ในพื้นที่ เชื่อเป็นต้นแบบและพัฒนาการการเกษตรจนยึดเป็นอาชีพได้

ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวต้อนรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ขอเข้าพบและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างที่นักศึกษาไปฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี กล่าวถึงการฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอลว่า เป็นวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ที่มองว่าการเรียนเกษตรนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติงานที่ต้องเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเด็กต้องได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการร่วม MOU กับศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรนานาชาติ เขตอนาวา ประเทศอิสราเอล ผ่านทางสถานทูต จากนั้นได้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานรุ่นแรก จำนวน 10 คน ในปี 2559 เป็นเวลา 11 เดือน โดยปัจจุบันส่งนักศึกษาไปฝึกงานแล้ว จำนวน 4 รุ่น และในเดือนตุลาคม 2564 นี้ จะส่งนักศึกษาของรุ่นที่ 5 เพื่อเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล และจากการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานนั้น นักศึกษาในแต่ละรุ่นได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยกลับมาปรับปรุงพัฒนา โดยผ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ล่าสุดมีการวิจัยพืชอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในโลกอาหรับหรือกลุ่มประเทศอิสลามที่เป็นพืชเศรษฐกิจ มาศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต่อยอดความรู้จากที่ได้รับจากการไปฝึกงาน

ด้านนายฮัมเซาะ นาแว นักศึกษาปี 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ  ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ไปประเทศอิสราเอลว่า ได้เรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรในสภาพอากาศที่แตกต่างจากบ้านเรา ซึ่งความรู้ที่ได้นำกลับมาใช้เป็นเรื่องของระบบน้ำหยดที่ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากกว่าการรดด้วยบัว และยังมีเทคนิคการปลูกมะเขือเทศด้วยการมัดเชือกเพื่อให้ต้นมันเลื้อยขึ้นไปซึ่งทำให้ได้ผลิตที่สะอาด สวย และปริมาณที่มาก อีกทั้งยังได้เทคนิคการตลาดจากการปลูกด้วยระบบออแกนิก ซึ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและได้ราคา และในโอกาสนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ให้ข้อคิดกับนักศึกษาทุกคนในการดำเนินชีวิตหลังจากนี้ว่า ขอให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะข้อคิดที่ได้จากการฝึกงานซึ่งประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแต่ทะเลทราย อากาศร้อนและเย็นสลับกัน แต่ยังสามารถทำการเพาะปลูกได้

 

สุรินทร์ - KI GROUP มอบเครื่องควบคุมการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Oxygen High Flow) จำนวน 2 เครื่อง มูลค่ากว่า 3 แสนบาท ให้กับ โรงพยาบาลปราสาท

วันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ตึก ICU โรงพยาบาลปราสาท นายยงยุทธ เสถียรถิระกุล กรรมการผู้จัดการฯ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด มอบเครื่องควบคุมการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Oxygen High Flow) จำนวน 2 เครื่อง มูลค่า 360,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลปราสาท เพื่อใช้ในการใช้รักษาผู้ป่วยวิกฤติ ที่ติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอย่างโรคโควิด-19 อยู่ในการรักษาของโรงพยาบาลปราสาท อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายแพทย์สมภพ สารวนางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปราสาท และคณะแพทย์ เจ้าหน้าที่ ร่วมรับมอบในครั้งนี้

ด้านนายแพทย์สมภพ สารวนางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปราสาท กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิค-19 ในพื้นที่โรงพยาบาลปราสาท เริ่มมีจำนวนลดลง คงมียอดผู้ป่วยที่ยังคงรักษาอยู่ที่ จำนวน 260 ราย และสถานกาณ์ที่การเกิดคัตเตอร์โรงงาน HBI. ตำบลเชื้อเพลิง นั้น เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มรายวันจะอยู่ที่ตัวเลขหลักหน่วย  หรือวันละ 4-7 คนเท่านั้น 

เชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่ มอบเกียรติบัตร ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุฯ ที่เข้าร่วมโครงการโฆษณาสีขาว ประจำปี 2564

วันที่ 23 กันยายน 2564 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  โดยนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร ให้แก่เครือข่ายสถานีวิทยุฯที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 21 แห่งเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เชิดชูความดีที่ให้ความร่วมมือและเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยมีรายการเล่าข่าวเช้านี้ ซึ่งดำเนินรายการโดยชมรมผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงเขต 9 เชียงใหม่ มีลิงก์สัญญาณ จำนวน 105 คลื่น ได้แก่ เชียงใหม่  ลำพูน ลำปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน และเชียงราย  ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.30 – 08.00 น. และรายการไจ้ไค่เล่า มีลิงก์สัญญาณ 30 สถานี ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 18.30-19.00 น. พร้อมกันนี้ภายในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านสุขภาพ การให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 การป้องกันตัว

จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการแจ้งเตือนภัยการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายโอ้อวด หลอกลวงรักษาโรค เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารรักษาโรคความดัน เบาหวาน มะเร็ง หรือแก้ปวดเข่าปวดข้อ เสริมภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานโครงการโฆษณาสีขาว ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวทาง 4 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกัน

2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

3. ด้านการสร้างความตระหนักแก่สื่อมวลชน และ

4. ด้านการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน

โดยผลการดำเนินงานโครงการโฆษณาสีขาวในการตรวจสอบเฝ้าระวังโฆษณาทางสถานีวิทยุ พบว่า ปี พ.ศ. 2562- 2564 การกระทำผิดด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องลดลง คิดเป็นร้อยละ 51.81 42.11 และ 26.13 ตามลำดับ ทำให้เห็นว่า แม้ว่ายังมีปัญหาการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องแต่มีแนวโน้มลดลง 

ในการจัดการปัญหาไม่สามารถใช้กฎหมายเพียงด้านเดียว ความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภคก็มีความสำคัญ จึงต้องอาศัยการบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐในการเฝ้าระวัง การสร้างเครือข่ายสื่อวิทยุรวมตัวกันเพื่อเตือนกันเอง และการมีส่วนร่วมให้ความรู้ประชาชนเลือกบริโภคอย่างเหมาะสม รู้เท่าทันสื่อ จึงเป็นกลไกที่จะเสริมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโฆษณาโอ้อวดหลอกลวงลดลงได้ 

กรุงเทพฯ - “สิงห์” มอบเงินพิเศษทัพพาราไทย 15.4 ล้าน ให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ขอบคุณทุกความพยายาม สร้างความสุขให้คนไทย

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของทุกสมาคมกีฬาคนพิการ มอบเงินรางวัลพิเศษ อีก 15.4 ล้าน ให้ทัพนักกีฬาพาราไทยทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แทนคำขอบคุณหลังจากทำผลงานยอดเยี่ยมคว้า 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง จากการแข่งขัน "พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" ณ ศูนย์กีฬาบอคเซีย การกีฬาแห่งประเทศไทย (หัวหมาก) เมื่อ 23 ก.ย.6 4

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า ความทุ่มเทมุ่งมั่นของนักกีฬา โค้ช และเจ้าหน้าที่ทุกคน สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนไทย วันนี้การแข่งขันพาราลิมปิกเป็นที่รู้จัก นักกีฬาคนพิการเป็นที่ยอมรับของคนไทยมากขึ้น ทำให้คนไทยทั้งประเทศภูมิใจ นักกีฬาฯทุกคนเป็นตัวอย่างที่ดีของความไม่ยอมแพ้ ผมภูมิใจในตัวนักกีฬาทุกคน

"การมอบเงินพิเศษครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณนักกีฬาพาราไทยทุก ๆ ท่าน ตลอดจนโค้ชและเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทย สร้างความสุขให้กับคนไทย โดยบริษัทฯจะมอบเงินพิเศษ ให้นักกีฬา โค้ช เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมเดินทางไปแข่งขันพาราลิมปิกที่โตเกียว คนละ 40,000 บาท และเงินพิเศษสำหรับผู้ทำเหรียญทอง เหรียญละ 1 ล้านบาท เหรียญเงิน เหรียญละ 5 แสนบาท และเหรียญทองแดง เหรียญละ 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 15,420,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ให้การสนับสนุนทุกสมาคมกีฬาคนพิการมา ตั้งแต่ปี 2548 และยังคงสนับสนุนต่อไป เพื่อสร้างนักกีฬาพาราไทยให้สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง"

นายจุตินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาคนพิการขึ้นมาสูงมาก ทำผลงานได้ดีทำให้จำนวนเหรียญรางวัลกระจายไปสู่หลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ถึงแม้จะยังเป็นอันดับ 1 แต่จำนวนเหรียญทองลดลง ส่วนสหราชอาณาจักรแม้จะคงเป็นอันดับ 2 เหมือนเดิม แต่จำนวนเหรียญทองลดลงถึง 24 เหรียญ ไทย ทำได้ 18 เหรียญ เท่ากับที่ริโอ เกมส์ 2016 ซึ่งเหรียญทอง เหรียญเงิน ลดลงอย่างละ 1 เหรียญ แต่มองในแง่ของอันดับไทยอยู่ที่อันดับ 25 ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา เป็นที่ 1 ของอาเซี่ยนอยู่ และยังเป็นแถวหน้าของเอเชีย ถือว่าทำได้ดี ซึ่งแน่นอนว่านักกีฬาพาราไทยจะไม่หยุดแค่นี้

“พาราลิมปิกครั้งหน้าที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คงไม่สามารถวัดความสำเร็จจากจำนวนเหรียญรางวัลได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ รายการแข่งขันของกีฬาคนพิการจะมีการปรับลด-เพิ่มตลอดเวลา ทำให้โอกาสในการทำเหรียญเปลี่ยนไปตามรายการแข่งขันที่ถูกตัดออกหรือเพิ่มเข้ามาตลอด อีกประการหนึ่งคือ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลเน้นที่การมีส่วนร่วม ไม่ใช่การสร้างหรือทำลายสถิติ จึงพยายามปรับเปลี่ยนทุกชนิดกีฬา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในเกมส์มากขึ้น แต่ก็ยังเชื่อว่านักกีฬาไทยจะยังทำผลงานได้ดีอันดับคงอยู่ใกล้เคียงเดิม ไทยน่าจะยังคงเป็นที่หนึ่งของอาเซี่ยน และยังคงเป็นแถวหน้าของเอเซีย แต่การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นมาก ส่วนอันดับในพาราลิมปิกน่าจะยังคงรักษาระดับเดิมไว้ได้ ไม่น่าจะต่ำกว่าอันดับที่ 30 การเตรียมทีมเพื่อเดินหน้าสู่พาราลิมปิกเกมส์ครั้งหน้าที่ปารีส การสนับสนุนที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จะยังคงให้การสนับสนุนทุกสมาคมกีฬาคนพิการ ตลอดจน คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยต่อไป เพื่อยืนยันถึงการเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของกีฬาคนพิการไทย”

ด้าน “กร” พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง เจ้าของ 3 เหรียญทอง  พาราลิมปิกเกมส์ 2020 กล่าวว่า ในนามตัวแทนนักกีฬาพาราทีมชาติไทย ขอบคุณ สิงห์ และ คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ที่ให้การสนับสนุนมานักกีฬาพาราไทย มาโดยตลอด พร้อมกับอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาในครั้งนี้ ตลอดจนรวมไปถึงในการแข่งขันหลายทุกรายการที่ผ่านมา และพวกเราหวังว่า สิงห์ จะอยู่เบื้องหลังและคอยให้การสนับสนุนพวกเราแบบนี้ตลอดไป

“ส่วนในอีก 3 ปี ข้างหน้าในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ ประเทศฝรั่งเศส และมีงานเลี้ยงและงานฉลองความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อีก ขอบคุณครับ”  พงศกร แปยอ กล่าว

 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top