Monday, 12 May 2025
Region

นครนายก - ชุมชนไทยพวน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง มิวเซียมปะพวนที่ปากพลี ร่วมแสดงความยินดี และแสดงมุทิตาจิต

เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่วัดฝั่งคลอง ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ชุมชนไทยพวน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง มิวเซียมปะพวนที่ปากพลี ร่วมแสดงความยินดี และแสดงมุทิตาจิต ดร.อนันต์ นาวิไล วัฒนธรรมจังหวัดนครนายก,จ.ส.ต.สกล ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครนายก,นางสาวณัฐกฤตา มีกล้า ครู กศน.ตำบลท่าเรือ(กศน.อำเภอปากพลี)

โดยมีพระครูวิริยานุโยค เจ้าคระอำเภอปากพลี เจ้าอาวาสวัดฝั่งคลอง กล่าวสัมโมทนียกถางานมุทิตาจิต พร้อมมีอาจารย์สมชาย ธูปเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอำเภอปากพลี, ว่าที่ รต.ชาติชาย ยอดมิ่ง ประธานชมรมส่งเสริการท่องเที่ยวชุมชนไทยพวน เป็นพิธีกร และแขกผู้มีเกียรติรวมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแบบพื้นบ้านไทยพวน พร้อมชมวีดีทัศน์นำเสนอผลงานความประทับใจและการเกษียณราชการทั้ง 3 ท่าน

อยุธยา - ผู้ว่าฯ เปิดรพ.สนาม เยี่ยมชมอาคารสถานที่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อคนในภาคอุตสาหกรรมอยุธยา เฟส 1 เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลพนักงานผู้ป่วยจากโควิด-19

วันนี้ (28 ก.ย.64) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อคนในภาคอุตสาหกรรมอยุธยา เฟส 1 พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ โดยมี นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เป็นผู้กล่าวรายงานฯ และนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช. การช่าง จำกัด(มหาชน) ผู้สนับสนุนให้ใช้สถานที่ และผู้ร่วมสนับสนุนในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมพิธีเปิดฯ จากนั้น ผู้ว่าฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมอาคารสถานที่รองรับผู้ป่วยและอาคารของแพทย์พยาบาลภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กว่า 100 แห่ง ได้ร่วมกันที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ขึ้นในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลพนักงานผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามขึ้นในสถานประกอบการด้วย

ลำปาง - มทบ.32 นำจิตอาสาช่วยเหลือ เยี่ยมเยือนชุมชนมุสลิมลำปาง แสดงความรักความห่วงใย และบรรเทาความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 28 กันยนยน 2564 เวลา 10.00 น. พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 /ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 32 มอบหมายให้ พันเอก กวิน ยาวิชัย รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32 และวิทยากรจิตอาสา 904 เป็นผู้แทนหน่วย ร่วมกับประชาชนจิตอาสาจังหวัดลำปาง ร่วมกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือประชาชน  "มีแล้ว แบ่งปัน" มอบสิ่งของอุปโภค - บริโภค เยี่ยมเยือนให้กำลังใจ กับชุมชนมุสลิม ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ในพื้นทีเขตอำเภอเมือง และบ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง รวม 3 ครอบครัว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก ในการนี้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 /ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 32 ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลำปาง ทุกพื้นที่ ทุกศาสนา จึงได้มอบหมายให้รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32 และวิทยากรจิตอาสา 904 นำสิ่งของไปมอบให้การช่วยเหลือ เพื่อแสดงถึงความรักความห่วงใย และบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมทั้งสอบถามความเป็นอยู่และให้กำลังใจในการก้าวข้ามพ้นผ่านวิกฤตโควิด สร้างความปลาบปลื้มใจและอบอุ่นใจเกิดแก่ครอบครัวที่หน่วยได้เข้าให้ความช่วยเหลือ

 

ขอนแก่น - โชว์ศักยภาพผลผลิตกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตั้งเป้ายอดคงค้างไม่เกินร้อยละ 5 พร้อมระบุกองทุนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ได้ทันที

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 ก.ย. 2564 ที่ หอประชุมเทศบาลเมืองศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายศรัทธา คชพลายุกต์ รอง ผวจ.ขอนแก่น  พร้อมด้วยนายจำเริญ แหวนเพชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่นร่วม มอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติคนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน  ตามแผนงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประจำปี2564 โดยมีคณะทำงานกองทุนบทบาทสตรีและสมาชิกกองทุนฯ จากทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดเข้าร่วมแสดงผลงานและนำเสนอผลิตภัณฑ์กันอย่างพร้อมเพรียง

นายศรัทธา คชพลายุกต์ รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นการดำเนินงานให้กลุ่มสตรีได้รับเงินกู้ไปส่งเสริมกิจกรรม ส่งเสริมรายได้ภายในชุมชน ซึ่งขอนแก่นมีกลุ่มสตรีเข้าร่วมดำเนินการตามแผนงานของกองทุนดังกล่าวเป็นจำนวนมากที่กู้ไปประกอบอาชีพ ทั้งในด้านการทอผ้าไหม การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร ซึ่งทั้งหมดสามารถพัฒนาไปเป็นสินค้าโอทอป แต่ในภาวะวิกฤตโควิด-19 กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดแผนงานในเรื่องของการพักหนี้และลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีสมาชิกกองทุนประสานงานเพื่อเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้แล้วอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มสตรีใดที่สามารถยังคงดำเนินการและเดินหน้าต่อไปได้ ในกิจการที่กำหนดก็จะมีการพิจารณาเงินอุดหนุนให้เพิ่มเติมอีกด้วย

 

ชลบุรี - ฐานทัพเรือสัตหีบ จัดพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการ โดย พลเรือตรี นฤพล เกิดนาค ผู้ชำนาญการกองทัพเรือ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ (อัตราพลเรือโท)

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ก.ย.64 ที่หน้ากองบัญชาการ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ได้ทำพิธีส่งหน้าที่พร้อมมอบธงสายการบังคับบัญชาให้แก่ พลเรือตรี นฤพล เกิดนาค ผู้ชำนาญการกองทัพเรือ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ (อัตราพลเรือโท) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมี คณะนายทหาร ข้าราชการ เข้าร่วมในพิธี

จันทบุรี - สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561

วันนี้ ( 30 ก.ย.64 ) ที่โรงแรม มณีจันทร์รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นการแบบลับมีการลงคะแนนเสียงโดยใช้คูหาของ กกต.ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด -19 ผ่านระบบวงจรปิดแยกห้องประชุม 2 ห้องห้องละ 40 คน ซึ่งนางสาวธารทิพย์ จันทร์พิทักษ์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวรายงานว่า ด้วยพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในประเทศและระดับลุ่มน้ำ โดยมาตรา 27 กำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ

โดยมีองค์ประกอบ ประกอบด้วย (1) กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง (2) กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (3) กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และ (4) กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ และมาตรา 38 กำหนดให้บุคคลซึ่งใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน มีสิทธิรวมตัวกันจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ในแต่ละเขตลุ่มน้ำมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำแต่ละภาค ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยองค์กรผู้ใช้น้ำที่ได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นตามมาตรา 38 และยังคงมีการดำเนินการขององค์กรผู้ใช้น้ำนั้น ในเขตลุ่มน้ำซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564

ชลบุรี - พิธีรับ - ส่งหน้าที่ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 อย่างสง่างามและสมเกียรติ ที่ต้องรับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่อ่าวไทยตอนบนถึงทะเลจีนใต้

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ (อัตราพลเรือเอก) และ พลเรือตรี พิชัย  ล้อชูสกุล เจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือ เป็น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (อัตราพลเรือโท) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นั้น

วันที่ 30 กันยายน 2564 ทัพเรือภาคที่ 1 ได้ให้มีจัดพิธีรับ - ส่งหน้าที่ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 อย่างสง่างามและสมเกียรติ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงชั้นยศนายพลเรือ ในทัพเรือภาคที่ 1 และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองต่าง ๆ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงทัพเรือภาคที่ 1 รวมถึงผู้บังคับบัญชาของหน่วยกำลัง ที่ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับทัพเรือภาคที่ 1 เข้าร่วมในพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

พลเรือตรี พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ท่านใหม่) นั้น นับเป็นการ “Come Back” กลับมารับตำแหน่งในทัพเรือภาคที่ 1 อีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ และสง่างาม สืบเนื่องจากท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการปฏิบัติงานในหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือมาแล้วหลายหน่วย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง ทั้งงานในด้านการปกครองบังคับบัญชา และงานในฝ่ายอำนวยการ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าครบเครื่อง “เก่งทั้งบู๊ และบุ๋น” ผลงานของท่านเป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับ ต่อสายตาของผู้บังคับบัญชาในกองทัพเรือ ผู้ใต้บังคับบัญชา

สระบุรี - “นิพนธ์” รุดดูเขื่อนป่าสักฯ-เขื่อนพระราม6 มั่นใจจัดการได้ แต่ไม่ประมาทการรักษาชีวิต และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเยี่ยมผู้อพยพภัยน้ำท่วม 3 จ. สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อาคารควบคุมและการประมวล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีรองผวจ.สระบุรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 

โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักฯ ยังสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ ถึงแม้ว่าน้ำในเขื่อนขณะนี้จะอยู่เกินปริมาณที่เก็บกักได้ที่ 105 % ก็ตาม ซึ่งปริมาณกักเก็บสูงสุดของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เขื่อนมีน้ำอยู่ที่ 1,114 ลูกบาศก์เมตร และเขื่อนมีการระบายน้ำวินาทีละ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังมีน้ำเหนือ ไหลลงเขื่อนใกล้เคียงกับน้ำที่ระบายออก ซึ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ต้องเปิดประตูระบายน้ำ 5 บาน โดยได้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนท้ายเขื่อนแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด คือจ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์เตรียมรับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อีกด้วย สิ่งที่กังวลคือต้องติดตามจนถึงวันที่ 3 ต.ค.ว่าจะมีพายุก่อตัวหรือไม่ จากนั้นก็ต้องเฝ้าระวังวันที่ 7-10 ต.ค.อีกครั้งซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเหนือลงมาประกอบกับน้ำทะเลหนุน แต่ยืนยันว่าน้ำเขื่อนป่าสักฯ ยังควบคุมสถานการณ์ได้ และปริมาณน้ำก็ยังน้อยกว่าตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ด้วย

จากนั้นนายนิพนธ์รมช.มหาดไทยและคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้การระบายน้ำลงท้ายเขื่อน 735 ลบ./วินาที และได้เปลี่ยนธงเป็นสีแดงเป็นสัญญาณ แจ้งว่าระดับน้ำวิกฤตแล้วแจ้งเตือนประชาชน ริมแม่น้ำป่าสัก ท้ายเขื่อนพระราม 6 ลงผ่านอำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้เฝ้าระวังทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ต้องเร่งเก็บของขึ้นที่สูงเพราะระดับน้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ตนได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศเตือนภัยแล้วและให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมแผนให้พร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า  รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง จนกว่าน้ำจะลดแล้วเข้าสู่การเยียวยาและฟื้นฟูต่อไป ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเปิดทางน้ำให้มีการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องมีการวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

ชุมพร - เจ้าหน้าที่คุมพื้นที่ปากน้ำ 28 วัน เฝ้าระวังป้องกันโควิด-19 ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาด

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลา 15.00 น. นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนปากน้ำชุพร โดยระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครในพื้นที่ จัดชุดปฏิบัติการออกตรวจตรา ป้องปราม และกำกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ปากน้ำชุมพร อีกทั้งยังเป็นการควบคุมและดูแลผู้ที่มีคำสั่งกักตัว ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชุมชนปากน้ำชุมพรสามารถควบคุม และยุติได้โดยเร็ว

นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดชุมพร ในขณะนี้มีเพียงปากน้ำชุมพรพื้นที่เดียวที่ยังคงเป็นสีแดงพบผู้ติดเชื้อรายวันยอดสูงมาก ส่วนพื้นที่อื่นลดลงแล้วและอยู่ในสถานที่ควบคุมได้ ดังนั้นเราจึงต้องมาควบคุมพื้นที่ ต.ปากน้ำ ต.หาดทรายรี ต.ท่ายาง ให้ได้ ซึ่งเราจะนำเจ้าหน้าที่ สปก.ส่วนหน้า พร้อมด้วยหัวหน้าส่วยราชการที่เกี่ยวข้อง มาปฏิบัติการที่เทศบาลปากน้ำชุมพร ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการหยุดเคลื่อนย้ายคนให้น้อยที่สุด เพราะโรคมันติดไปกับคน โดยจะมีรถประชาสัมพันธ์ 2 ภาษาทั้งไทยและเมียนมา ประกาศให้ทุกคนงดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น ผู้ที่ถูกกักตัวก็ต้องกักตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ผู้ที่อยู่บ้านก็ต้องอย่าออกนอกบ้าน อย่างออกนอกตำบล โดยจะมีมาตรการแนวทางปฏิบัติทั้งในส่วนการดำเนินการในโรงงาน ชุมชน และในเรือ เช่น พรุ่งนี้จะมีเรือเสี่ยงสูงเข้า 2 ลำ เราก็จะนำทุกคนที่อยู่ในเรือทั้งหมดมาตรวจ ใครมีผลบวกก็ส่งตัวไปรักษา คนที่อยู่ในเรือลำเดียวกันก็จะเป็นผู้เสี่ยงสูงจะต้องกักตัว และมีการติดตามอย่างเป็นระบบ

 

สงขลา - ‘นิพนธ์’ กำชับ เร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเร็วที่สุด ขอบคุณท้องที่ - ท้องถิ่น ร่วมแรงร่วมใจดูแลประชาชนในยามทุกข์

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีตส.ส.นครสวรรค์ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ อดีตส.ส.ลพบุรี และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกลงพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จุดที่ 2 ที่ชุมชนบางปรอง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

กล่าวพบปะให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวนกว่า 600 ชุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย มีน้ำป่าไหลหลาก และเอ่อลันตลิ่งเข้าท่วมขังในพื้นที่ มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 15  อำเภอ 100 ตำบล 952 หมู่บ้าน 52,914  ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 16,939 หลัง พื้นที่ทางการเกษตร เสียหาย 744,665.50 ไร่  ซึ่งทางจังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และภาคเอกชนได้เข้าไปดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ

ต่อมานายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางไปลงพื้นที่ให้กำลังใจ และมอบเงินช่วยเหลือแก่ญาติผู้เสียชีวิต และมอบถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล และอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 11 อำเภอ 94 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 60,334 ครัวเรือน มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 507,538 ไร่ ขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 อำเภอ ยังเหลืออีก 3 อำเภอที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

นายนิพนธ์ กล่าวกับชาวจ.ลพบุรีว่า ในพื้นที่จังหวัดลพบุรีปีนี้มีปริมาณมวลน้ำมาก ทำให้เกิดเหตุที่ไม่อยากให้เกิดคือมีผู้เสียชีวิต ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีที่ได้เร่งรัดเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สถานการณ์ในขณะนี้ได้คลี่คลายลงแล้วจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย และนครสวรรค์ ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อาจมีการชะลอน้ำในบางช่วงไม่ให้ไหลลงสู่เจ้าพระยาเร็วเกินไป แต่ภาพรวมได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ยังสามารถควบคุมบริหารจัดการน้ำได้  จากนี้ไปคือภารกิจในการซ่อมสร้างเพื่อฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ ต้องเร่งสำรวจ ประเมินความเสียหาย บ้านพักอาศัย  พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่ เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยา ช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันที

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top