Monday, 12 May 2025
Region

ขอนแก่น - เปิดปฎิบัติการฉีดวัคซีนเด็กแล้ววันแรกพร้อมกันทั่วประเทศ ผู้ว่าฯ มั่นใจ เดือน พ.ย.ฉีดครบ 2 เข็ม เตรียมพิจารณาเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 2 ทันที

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 ต.ค. 2564 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เขตการศึกษาพิเศษ เขต 9 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7,นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 7,นายกันตธี เนื่องศรี รองศึกษาธิการ จ.ขอนแก่นและ นายภูมิพันธ เรืองแหล่ ผอ.สพป.ขอนแก่นเขต 1 ร่วมเปิดกิจกรรมคิกออฟสร้างเกราะด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม พร้อมกันกับสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ในการให้บริการวัคซีนให้กับเด็กและเยาวชนในกลุ่มอายุ 12-18 ปี เข็มที่ 1 ไฟเซอร์ โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เข้าเกณฑ์อายุตามที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกวันนี้ 78 คน

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า การให้บริการวัคซีนในกลุ่มอายุ 12-18 ปี พร้อมกันทั้งประเทศวันนี้ทุกจุดฉีดวัคซีนมีการดำเนินการพร้อมกันโดยขอนแก่นนำร่องในกลุ่มเด็กพิเศษ ที่ทุกคนได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองและเข้ารับวัคซีนเข็มแรกวันนี้และจะทยอยการให้บริการวัคซีนครอบคลุมทุกพื้นที่อำเภอของจังหวัดตามการจัดสรรของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่ากลุ่มอายุดังกล่าวทั้งจังหวัดมีทั้งสิ้น 147,000 คน โดยมีการยินยอมให้ฉีดวัคซีนรวม 90,000 คน ซึ่งชุดแรกของการรับวัคซีนตามการจัดสรรนั้นจะต้องเข้ารับการฉีดเข็มแรกในรอบแรกประมาณ 40,000 คน

"ขอนแก่นมีเด็กนักเรียน 12-18 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยจากการสำรวจทั้งหมดมีอยู่ 147,000 คน ที่จะต้องเข้ารับการฉีดและขณะนี้มีการยินยอมทั้งผู้ปกครองและนักเรียนอยู่ที่ประมาณ 90,000 คน เริ่มฉีดวันนี้จะเป็นที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เป็นโรงเรียนเด็กพิเศษ และอีกหนึ่งที่เปิดให้บริการที่ศูนย์ประชุมไคซ์ เป็นความรับผิดชอบของ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ที่จะมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนขอนแก่นวิทยายนประมาณ 2,400 คน และที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเป็นจุดฉีดของ รพ.ศรีนครินทร์ ที่ทำการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมานเช่นกัน ซึ่งวันนี้ขอนแก่นได้รับวัคซีนมาจากทางส่วนกลาง 47,580 โดส แล้วก็จะทยอยมาเป็นระยะๆ ภายใน 3 สัปดาห์เข็มที่1 จะต้องได้รับการฉีดทั้งหมด ประมาณ 85% ของกระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนเอาไว้เพื่อให้โรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอนให้ได้ในเทอมที่2"

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้นสัดส่วน เพราะ85% ของจังหวัดทีกลุ่มอายุ 12-18 ปีที่จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณ 130,000 คน ดังนั้นคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายจะต้องวางแผนฉีดเข็มแรกในช่วง3 สัปดาห์แรกให้ดี เพื่อการจัดสรรวัคซีนอย่างมีคุณภาพต้องสดใหม่และเป็นไปตามมาตรฐานและวงรอบที่2 อีก3 สัปดาห์ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนที่กำหนดคาดว่าไม่เกินวันที่ 15 พ.ย.ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนและก็จะมั่นใจได้ว่าลูกหลานเราจะได้เข้าสู่การเรียนตามปกติ

 

สตูล - เปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมทร รามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

วันนี้ 4 ตุลาคม 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน (ศูนย์สารภี) ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ร่วมรับชมพิธีเปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน” ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย“ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมทร รามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล และปล่อยปลา ปลูกต้นไม้ และโอกาสนี้ผู้ว่าราชการสตูล ได้มอบสิ่งของอุปโภค-บริโภคให้แก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่อำเภอละงู ผ่านนายธานี หะยีมะสาและ นายอำเภอละงู จำนวน 22 ชุด อีกด้วย

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน จำนวน 76 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 และจัดตั้งเป็นสถานที่บ่มเพาะภาวะผู้นำ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และการบริหารจัดการชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคส่วน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ สร้างเสริมอุดมการณ์ การทำงานเพื่อสาธารณะ ในรูปแบบผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชน มีบทบาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกรมการพัฒนาชุมชน กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการเปิดป้าย “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” ในส่วนภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ

 

นครนายก - เทศบาลเมืองนครนายก จัดโครงการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มให้ประชาชน รอบที่ 3 (เข็มที่ 1) จำนวน 1500 คน

เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่โรงพยาบาลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายศุภกฤษณ์ จัยสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองนครนายก พร้อมคณะเทศมนตรี  และสมาชิกเทศบาลเทศบาลเมืองนครนายก เข้าตรวจเยี่ยมให้คำปรึกษาประชาชนที่เข้ารับบริการซีดวัคซีนชิโนฟาร์ม รอบที่ 3 (เข็มที่1)จำนวน 1500 คน โดยมีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้แล้วได้เข้ามารับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ส่วนในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 จะเป็นรอบที่ 4 (เข็มที่ 1)รอบเก็บตกของประชาชนที่ยังคงตกค้างคงเหลืออีกประมาณกว่า 300 คน

ด้วยเทศบาลเมืองนครนายก มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกท่าน จึงได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับวัคซีนชิโนฟาร์มจำวนวน 7000 โดส มาบริการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มให้กับพี่น้องประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

ขอนแก่น - เปิดประตูระบายน้ำ 3 บาน หวั่นมวลน้ำตีกลับ หลังหัวน้ำก้อนแรกจากแม่น้ำชี-พอง ชนกันวันนี้ ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ระดับน้ำเก็บกักทะลุ 85% และจุดกลับรถสะพานข้ามแม่น้ำชี บนถ.มิตรภาพ ท่วมสูงต้องปิดการจราจรเด็ดขาด

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 5 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนในเขต บ.กุดกว้าง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ยังคงเร่งเก็บสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง และอพยพออกจากพื้นที่จุดเสี่ยงมาพักคอยในจุดที่เทศบาลเมืองเก่าได้กำหนดไว้ในการเป็นสถานที่รองรับและพักคอยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม หลังระดับน้ำในแม่น้ำชีได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สูงถึงนาทีละประมาณ 5 ซม. หลังหัวน้ำก้อนแรกจาก จ.ชัยภูมิ ได้ไหลมาตามแม่น้ำชีและเข้าเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น แล้ว ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งจุดตรวจชุมชน ร่วมระหว่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.และสมาชิกสภาเทศบาลฯในการตั้งโต๊ะวัดระดับน้ำตลอดแนวแม่น้ำชี รวมกว่า 10 จุดเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่จุดกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำชี ตามเส้นทาง ถ.มิตรภาพ ช่วงรอยต่อ ต.เมืองเก่าและ ต.ท่าพระ อ.เมือง เจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง และ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจรและจุดกลับรถในจุดตัดดังกล่าวทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย หลังระดับน้ำท่วมผิวการจราจรแล้ว ระดับความสูงกว่า 50 ซม. โดยให้รถทุกคันที่ต้องการกลับรถหรือเลี้ยวเข้าเขตตัวเมืองขอนแก่นต้องเลยไปใช้จุดกลับรถ ในจุดที่ใกล้กันหรือจุดตัดถนนเลี่ยงเมืองายขอนแก่น-กาฬสินธุ์แทนเพื่อความปลอดภัย

ด้านนายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในเจต ต.พระลับ ที่ประตูระบายน้ำ D 8 บ.ท่าประทาย และ ประตูระบายน้ำห้วยซัน จุดตัดที่สำคัญของมวลน้ำ จากแม่น้ำพองและแม่น้ำชี ที่หัวน้ำก้อนแรกจากทั้ง 2 สายจะมาบรรจบกันในช่วงบ่ายของวันนี้และไหลลงสู่แม่น้ำชี ตามการระบายน้ำของกรมชลประทานในการผลักดันมวลน้ำดังกล่าวไหลจากเขต ขอนแก่น ไปตามแม่น้ำชี เข้าเขต จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและลงสู่แม่น้ำมูลที่ จ.ยโสธร และ ลงสู่แม่น้ำโขงที่ จ.อุบลราชธานี โดยที่คณะทำงานเทศบาล ต.พระลับ ได้นำโดรนขึ้นบินสำรวจระดับปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่พบว่าขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ของแม่น้ำชี ได้ไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่นแล้ว โดยมวลน้ำบางส่วนได้ล้นพนังกั้นน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณบ้านกุดกว้าง, บ้านสะอาด, บ้านดอนบม ,บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า  ในส่วนพื้นที่ของตำบลพระลับสถานการณ์ปริมาณน้ำยังไม่มีการล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมในพื้นที่

นายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ กล่าวว่า  ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ฯ นำกระสอบทรายปิดกั้นตามประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำชีไหลเข้ามาในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและทำการสูบน้ำที่อยู่ด้านในที่ไหลมาจากในเมืองขอนแก่นเพื่อเร่งระบายน้ำออก เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน พร้อมกันนี้ได้ประสานงานร่วมกรมชลประทานเปิดประตูระบาย D8 บ.ท่าประทาย 3 บาน คือประตูที่ 11-12 และ 13  เพื่อผลักดันน้ำจากเขตเมืองลงสู่แม่น้ำชีและกันมวลน้ำหนุนตีกลับเข้าเมืองจากการบรรจบของหัวน้ำก้อนจากแม่น้ำพองและแม่น้ำชีเพื่อผ่านเข้าเขตพื้นที่ ต.พระลับ รวมทั้ง  ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเร่งดำเนินการสูบน้ำ ประตู D9 จำนวน 4 เครื่อง ประตูD10 จำนวน 3 เครื่อง และวางแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มอีก 1 เครื่องเพื่อเร่งระบายน้ำภายในรองรับน้ำ น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ และน้ำจากอำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบและทำความเสียหายกับพืชผลการเกษตร

สมุทรสาคร - Kick Off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน (Pfizer) ในเด็กนักเรียน ส่วนผู้ติดเชื้อรายวัน 145 ราย

เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) หรือโรงเรียนเทศบาล 8 ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดโครงการ Kick Off การสร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีนในเด็กนักเรียน โดยการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียนที่มีอายุ 12 – 17 ปี มีนายประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรสาครและคณะ ศึกษาธิการจังหวัด บุคลากรทางด้านสาธารณสุข  ผู้มีเกียรติ คณะครู และผู้ปกครองที่ได้นำเด็กนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัยจำนวน 909 คน มาเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันแรก และเป็นโรงเรียนำร่องแห่งแรกของจังหวัดสมุทรสาครที่มีการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน

นายประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานว่า เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาตรการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ วัคซีนโควิด-19 นั้น เป็นมาตรการในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ และที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาคร ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 585,601 คน ครอบคลุมประชากรร้อยละ 61.44  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้การได้รับวัคซีนโควิด 19 ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปี ลดความเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ประเทศไทยจึงมีนโยบายให้วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) สำหรับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12 - 17 ปี

ผ่านสถาบันการศึกษาในรูปแบบวัคซีนนักเรียน (School-based vaccination) ซึ่งในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร จากการสำรวจความประสงค์ของผู้ปกครองผ่านสำนักศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ผู้ปกครองมีความประสงค์ให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จำนวนทั้งสิ้น 27,000 คน จากที่มีเด็กนักเรียนในกลุ่มอายุ 12 – 17 ปี อยู่ทั้งหมดประมาณ 33,000 คน ซึ่งภาพรวมหากฉีดได้ครบตามจำนวนที่แจ้งความประสงค์ไว้ ผนวกกับเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะมีเด็กนักเรียนอายุ 12 – 17 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด Pfizer มากกว่าร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือก็จะรณรงค์ให้ผู้ปกครองสมัครใจนำบุตรหลานมาเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไป

ด้านนายรณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในวันนี้เป็นวันแรกเริ่มของกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งสมุทรสาครมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ประมาณ 33,000 คน สมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 27,000 คน สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนักเรียนนี้จะทำให้จังหวัดสมุทรสาครพร้อมที่จะกลับมาเปิดเทอมกันอีกครั้งในรูปแบบออนไซด์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ขณะที่ในภาพรวมของจังหวัดสมุทรสาครนั้น เรื่องของการให้บริการฉีดวัคซีน กับการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไม่ใช่ปัญหาหลัก ส่วนที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ เรื่องของจำนวนและระยะเวลาของวัคซีนที่จะจัดส่งมายังจังหวัดสมุทรสาคร หากมาได้ครบและเป็นไปตามวันเวลาที่กำหนด ก็จะทำให้จังหวัดสมุทรสาครเดินแผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า แผนเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนนั้น จะใช้รูปแบบวัคซีนนักเรียน หรือ School-based vaccination คือ การเข้าไปฉีดให้กับนักเรียนภายในรั้วโรงเรียนตามวันและเวลาที่ได้รับการนัดหมายไว้ โดยจะฉีดให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นเข็ม 2 จะเริ่มฉีดอีก 3 สัปดาห์ภายหลังจากนี้ ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและนักเรียนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วคือ เรื่องของผลข้างเคียงมักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขอให้ยังเฝ้าสังเกตอาการต่อเนื่องอีกระยะหากมีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยได้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ก็ขอให้รีบแจ้งทางโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทันที และอีกส่วนหนึ่งคือการออกกำลังกายหนัก ในช่วง 1 สัปดาห์แรกนี้ขอให้ระงับไว้ก่อน

 

ปทุมธานี - ‘บิ๊กแจ๊ส’ เดินลุยน้ำพา นร.อาชีวะ ลงพื้นที่ตลาดเก่าแก่อิงน้ำ ช่วยปชช.ริมเจ้าพระยา เลื่อนปลั๊กไฟเตรียมป้องกันโบราณสถาน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่ท่าเรือหน้าวิทยาลัยเทคนิคปทุมานี ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ได้ขับเรือยนต์ พร้อม เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานี เพื่อมารับนักเรียนอาชีวศึกษาสาขาช่างไฟฟ้าวิทยาลัยเทคนิคปทุมานี เพื่อพาล่องเรือตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและช่วยย้ายสายไฟ ปลั๊กไฟและ มิเตอร์ไฟฟ้าให้กับบ้านริมน้ำตลอดเส้นทางจากนั้นได้ลงพื้นที่ตลาดอิงน้ำ ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำพร้อมช่วยย้ายปลั๊กไฟและสิ่งของขึ้นที่สูง

โดยมี นายสิระพงษ์ สิริโพธินันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นายกฤษดา พงษ์เสริม ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานี พร้อมทีมงาน, นายระเด่น ดวงแก้ว อาจารย์สาขาช่างไฟฟ้ากำลังพร้อมอาจารย์อีก 5 คน และนักเรียนอาชีวศึกษาสาขาช่างไฟฟ้า จิตอาสาอีกจำนวน 6 คน ร่วมลงพื้นที่ย้ายปลั๊กไฟและหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจุดที่ใกล้ระดับน้ำ

ในส่วนของเทศบาลนครรังสิต ได้ระดมสูบน้ำจนสถานการณ์เป็นปกติ โดยสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตฯ เดินเครื่องสูบน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 8 เครื่อง ระดับน้ำด้านเหนือน้ำ(คลองรังสิต) +1.65 ม.รทก. ระดับน้ำด้านท้ายน้ำ(แม่น้ำเจ้าพระยา) +2.05 ม.รทก. , สถานีสูบน้ำเปรมใต้ เดินเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง ระดับน้ำเปรมใต้(คลองเปรมประชากร) +0.60 ม.รทก. ระดับน้ำคลองรังสิต +1.80 ม.รทก. , สถานีสูบน้ำจุฬาฯ1 เดินเครื่องสูบน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง , สถานีสูบน้ำจุฬาฯ2 เดินเครื่องสูบน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง , สถานีสูบน้ำจุฬาฯ3 เดินเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง ระดับน้ำด้านเหนือน้ำ(ด้านในคลองรังสิต) +1.08 ม. รทก. ระดับน้ำด้านท้ายน้ำ(ด้านซ่อมสร้าง) +1.82 ม. รทก. ซึ่งระดับภายในเขตรังสติอยู่ในระดับสภาวะปกติ

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า สิ่งที่เราห่วงคืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ต่ำแล้วกลัวว่าน้ำจะท่วมแล้วประชาชนจะได้รับอันตราย เมื่อเราลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีบางบ้านที่จำเป็นต้องปิดไฟหมด เพราะว่ากลัวกระแสไฟฟ้าดูด ต้องขอขอบคุณทางท่านผู้จัดการไฟฟ้าจังหวัดปทุมธานี และวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี ได้จัดอาจารย์และนักศึกษไฟฟ้ากำลังมาร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้จริง ๆ ทางเราจะดำเนินการต่อไปและถ้าประชาชนต้องการความช่วยเหลือก็สามารถแจ้งมาที่ทางการไฟฟ้า เบอร์ด่วน 1129 เพื่อช่วยแก้ไขความเดือดร้อนเรื่องไฟฟ้า

นอกจากนี้ ตนเองยังจัดอุปกรณ์ตรวจสอบกระแสไฟรั่วในน้ำให้กับทางการไฟฟ้าและทางคณะของเทคนิคปทุมเพื่อให้ไปใช้ตรวจสอบกระแสไฟในน้ำ หากในน้ำมีกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์ตัวนี้จะสั่น เราจึงนำมามอบให้พี่น้องประชาชนบางส่วนก่อน เพื่อเอาไว้ใช้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย และเราได้ประเมินสถานการณ์น้ำวันต่อวันโดยให้ นายชัยวัฒน์ อินทร์เลิศ และนายสมร แตงอ่อน สมาชิกสภาองค์หารบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ไปเกาะติดที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำมาจนมาที่ อ.บางไทร ปล่อยน้ำเท่าไร ซึ่งตอนนี้ปล่อยน้ำเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต พี่น้องประชาชนต้องเฝ้าระวัง และวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะมีพายุใหญ่เข้ามาอีก จึงต้องมาดูเตรียมความพร้อมเพื่อระมัดระวังกันต่อไป

 

นครพนม - Army Delivery ร.3 พัน.3 ส่งมอบอาหารปรุงสุกถึงบ้าน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พันโท ศรณณัฐ นวลมณี ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 (ผบ.ร.3 พัน.3) จัดโครงการ “Army Delivery” ส่งมอบอาหารปรุงสุกฟรีถึงบ้าน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และให้กำลังใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้หน่วยทหารดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตามศักยภาพของหน่วยในการช่วยเหลือประชาชน ในรูปแบบโครงการ “Army Delivery” โดยการจัดรถจักรยานยนต์ส่งอาหารให้พี่น้องประชาชนถึงที่พักอาศัย ซึ่งได้ทำการแจกจ่ายจำนวน 100 ชุด ในพื้นที่บริเวณชุมชนรอบค่ายพระยอดเมืองขวาง และพื้นที่ใกล้เคียง

  

 

จันทบุรี - ธารน้ำใจสู้ภัยโควิด-19 ‘EastWater’ มอบเงินบริจาคให้แก่สำนักงานเหล่ากาชาด เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

วันที่ ( 5 ต.ค.64 ) ที่ห้องรับรอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรีนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย นางสุนิชฌาน์ ทองแย้ม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดจันทบุรี นำ ผู้แทนคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดจันทบุรี เสมียนตราจังหวัดจันทบุรีร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบเงินสด

 

 

นครนายก - องค์การบริหารส่วน จ.นครนายก จัดโครงการมอบเครื่องอุปโภค - บริโภคช่วยเหลือประชาชน ที่ลงทะเบียนจำนวน 20,575 ครัวเรือน จากผลกระทบโควิด-19

ที่อาคารอเนกประสงค์ วัดรังษีโสภณ ตำบลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายจักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก พร้อมคณะ เจ้าหน้าที่และพนักงาน จัดโครงการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือประชาชนจังหวัดนครนายก

และในวันนี้ได้ลงพื้นที่วัดรังสีโสภณ ตำบลนครนายก โดยมีประชาชนที่ผ่านการลงทะเบียนรับเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 197 ชุดโดยมอบให้ครัวเรือนละ 1ชุดเข้ารับมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการแบ่งเบาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

สระบุรี - แม่ทัพภาค 1 ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดสระบุรี

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา14.00 น พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 และคณะกำหนดเดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำ และตรวจเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ อำเภอบ้านหมออำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

มีนายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีพลตรีคณธัช มากท้วม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 พลตรีจิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศรสระบุรี พลตำรวจตรีชยานนท์ มีสติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรีนายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ นายอำเภอบ้านหมอบรรยายสรุปเจ้าหน้าที่ หัวหน้าข้าราชการอำเภอบ้านหมอ ให้การต้อนรับ

 จากนั้นได้ดูคันกั้นน้ำของ 23 R ที่ชำรุดแตกที่เป็นสาเหตุให้น้ำท่วม 3 อำเภอได้แก่อำเภอบ้านหมอ  อำเภอหนองโดนและอำเภอดอนพุด จึงได้ตรวจดูการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเอาหินมัดรวมใส่ตาข่าย เพื่อปิดทางน้ำตรงประตูน้ำเริงราง 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top