Saturday, 24 May 2025
NewsFeed

อึ้งเมนต์ชาวเน็ต “เอื้อเฟื้อที่นั่ง-ไม่ได้บังคับ-ขึ้นอยู่ที่จิตใจคน” กรณีพระสงฆ์ยืนบนรถไฟฟ้า แล้วไม่มีใครลุกให้นั่ง

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 66 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Bannasan Chansomsak’ โพสต์ภาพพระสงฆ์รูปหนึ่ง ยืนอยู่บนรถไฟฟ้า MRT ซึ่ง ‘ที่นั่งสำรองบุคคลพิเศษ’ (Priority seat) มีผู้โดยสารนั่งอยู่ โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า “ข้างป้าย ที่นั่งสำรองบุคคลพิเศษ MRT พระภิกษุยืน บุคคลพิเศษกว่า นั่งกันตรึม”

สำหรับ ‘ที่นั่งพิเศษ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘Priority Seat’ เป็นที่นั่งไว้คอยบริการแก่บุคคลพิเศษ เด็ก, สตรีมีครรภ์, คนชรา, พระสงฆ์, ผู้พิการ ซึ่งผู้โดยสารทุกท่านสามารถนั่งได้ แต่ก็ต้องพร้อมเสมอที่จะลุกเสียสละ เมื่อมีบุคคลพิเศษจำเป็นต้องใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวมีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก เช่น

“ยุคนี้ ประเด็นเรื่องลุกให้นั่งยังมีอีกหรอ คนเหมือนกัน”
“อยู่ที่สามัญสำนึกของบุคคลที่ถูกสั่งสอนมาไม่เหมือนกันแต่ละครอบครัว คำว่าเอื้อเฟื้อที่นั่ง ไม่ได้บังคับ แต่ขึ้นอยู่จิตใจคน”
“ส่วนตัวมองว่ามันเป็นเรื่องของ policy มากกว่าในเมื่อจะเลือกไปใช้รถไฟที่เขามีกฎแบบนี้ ก็ต้องทำตาม เออแต่ถ้าไม่มีกำหนดก็ไม่ต้องก็ไม่มีใครว่า ปล.พระอาจยืนให้เพราะเหมือนที่นั่งอาจจะอายุเยอะแล้ว” เป็นต้น

สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ‘อภัยลดโทษ’ ทักษิณ ไม่ใช่ ‘อภัยโทษ’

(2 ก.ย.66) ‘สถาบันทิศทางไทย’ ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อราชกิจจานุเบกษา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้อภัย ‘ลด’ โทษ นักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร ว่า...

“สถาบันทิศทางไทย อันประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหลายแขนง ได้เห็นร่วมกันถึงพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระมหากรุณาธิคุณให้อภัย ‘ลด’ โทษนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ

จึงใคร่ขอให้พสกนิกรและผู้จงรักภักดีได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

1.) ราชกิจจานุเบกษาเป็นประกาศพระมหากรุณาธิคุณ ‘พระราชทานอภัยลดโทษ’ กับนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ไม่ใช่ ‘พระราชทานอภัยโทษ’ แต่อย่างใด ดังนั้น นักโทษชายทักษิณยังมีความผิดมิใช่ได้รับนิรโทษกรรมหรือพ้นจากความผิดที่ได้เคยกระทำไว้  และหากต้องโทษในคดีอื่นๆ อีกก็ย่อมมิอาจขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะได้อีกเพราะถือเป็นที่สุดแล้ว

2.) นักวิชาการ อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้ชี้ให้เห็นว่า ราชกิจจานุเบกษาคือการ ‘ตรา’ บันทึกความผิดของนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณเอาไว้แล้วในประวัติศาสตร์ มิมีสิ่งใดมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เลยนับจากนี้

3.) คำกล่าวในอดีตของนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณที่มักอ้างว่า โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง โดนศาลตัดสินด้วยกระบวนการที่บิดเบี้ยว รวมถึงวาทกรรมผลพวงรัฐประหาร ล้วนแล้วแต่ไม่จริง เพราะนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณได้ยอมรับผิดทั้งหมดด้วยตัวเองก่อนขอพระราชทานอภัยโทษ

4.) ขบวนการปฏิรูปสถาบันที่นำโดยพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) คณะก้าวหน้า กลุ่ม NGO ที่ได้รับเงินต่างชาติ กลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุวัง ย่อมมิอาจอ้างวาทกรรม ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ‘นิติสงคราม’ วาทกรรมสถาบันแทรกแซงการเมืองผ่านศาลและกองทัพได้อีกต่อไป เพราะนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณได้ยอมรับเองไปแล้วว่าได้กระทำผิดจริง

5.) การพระราชทานอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ เป็นไปตามระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ ‘ธรรมราช’ อันเป็นพระราชอำนาจโดยหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยมีนายกฯรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

6) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการใช้พระราชอำนาจเช่นนี้เป็นพระราชอัจฉริยภาพ และพระราชวินิจฉัยเพื่อดับวิกฤติที่กำลังคุกคามประเทศไทยเราอยู่ ชาติไทยเราอยู่รอดมาได้ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ สิ่งที่เราเองก็มิอยากสูญเสียหรือมิอยากเห็นยิ่งกว่านี้ ข้อเปลี่ยนแปลงใดๆย่อมมิสำคัญเท่ากับทางรอดของประเทศชาติ

7.) ครอบครัวชินวัตร พรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่โน้มรับในพระมหากรุณาธิคุณพึงต้องแสดงความจงรักภักดีให้เป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ คือ

7.1.) ยืนยันต่อระบอบการปกครองราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญดังที่เป็นมา
7.2.) ยืนยันอย่างเปิดเผยไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระสำคัญรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2
7.3.) ไม่เร่งการแก้รัฐธรรมนูญ มุ่งแก้ปัญหาปากท้องของคนในชาติอันเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า
7.4.) ผลักดันกฎหมายควบคุม NGO ให้ออกมาได้โดยเร็ว เพราะสามารถตรวจสอบเส้นทางเงินของ NGO ที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวล้มล้างสถาบันฯ
7.5.) ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด สามารถสั่งปิดกับแพลตฟอร์มต่างชาติ Facebook, X(Twitter เดิม), Tik Tok ที่ปล่อยให้กลุ่มล้มล้างโพสต์ใส่ร้ายสถาบันฯ ต่อเนื่อง

ด้วยความเคารพ
สถาบันทิศทางไทย

‘บุ๋ม ปนัดดา’ ถูกรถชนท้ายอย่างแรงที่สิงคโปร์ ระบมทั้งหลัง-คอ มึนหัวจนอยากอาเจียน!!

(2 ก.ย. 66) ทำเอาแฟนๆ ตกใจอยู่ไม่น้อย หลังจากที่ ‘บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ เผยผ่านอินสตาแกรมว่า ตอนนี้ตัวเองขึ้นรถแท็กซี่อยู่ประเทศสิงคโปร์ และถูกรถที่วิ่งตามหลังมาชนโครมใหญ่ จนระบมหลังล่างกับคอ มึนหัวจนอยากอาเจียน ด้านเพื่อนที่มาด้วยกันถูกโทรศัพท์มือถือกระแทกเข้าหน้า

“ต้อนรับการมาถึงสิงคโปร์ ด้วยรถชนจ้า โครมใหญ่มาก โดนชนจากข้างหลัง เพื่อนฝน มือถือหลุดกระเด็นกระแทกตา ส่วนของบุ๋มระบมหลังล่างกับคอ มึนหัวจนอยากอาเจียน แง

ปล. ดีที่เราใส่สายคาด แต่มันแน่นจนตัวไม่ขยับ แต่ก็เกิดแรงกระแทกหนักอยู่”

นอกจากนี้ บุ๋มยังเข้าไปเมนต์ตอบชาวเน็ตที่บอกว่า “ถ้าเจ็บมากให้รีบไปตรวจ” ด้วยข้อความว่า “ตอนนี้รู้สึกชาๆ มึนๆ อยู่”

‘เปิ้ล นาคร’ พ้อ!! เหนื่อยเพื่อชาติแค่ไหน ก็คงต้องตัวใครตัวมัน หลัง ‘กีฬาเจ็ตสกี’ โดนตัดงบสนับสนุนนักกีฬาทีมชาติไทย

(2 ก.ย. 66) ‘เปิ้ล นาคร’ ขำไม่ออก หลังได้รับข่าวจากผู้ใหญ่ในวงการเจ็ตสกีประเทศไทยเกี่ยวกับเงินสนับสนุนและเงินอัดฉีด เพื่อใช้พัฒนานักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทยในปี 2022 ว่าทางผู้ใหญ่สรุปมาแล้วว่า “ยกเลิกเงินสนับสนุนและเงินอัดฉีดทั้งหมดของปี 2022 และปีต่อ ๆ ไป ด้วยเหตุผลที่มีเหตุผลของท่าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ลูกชายของเปิ้ลอย่าง ‘น้องออก้า นครา’ ตัวทีมนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทยที่อายุน้อยที่สุด และตัวแทนนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทย พากันไปสร้างชื่อเสียงจนเป็นอันดับ 1 ของโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาแล้ว

โดย ‘เปิ้ล’ ได้โพสต์ภาพและข้อความตัดพ้อดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กเพจ Ple nakorn โดยระบุว่า…

‘ยกเลิก’ เงินสนับสนุนและเงินอัดฉีดปี2022..ที่นักกีฬาเจ็ตสกีไทยได้ไปสร้างชื่อเสียงจนเป็นอันดับ 1 ของโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาได้นั้น…ทางผู้ใหญ่สรุปมาแล้วครับว่า… “ยกเลิกเงินสนับสนุนและเงินอัดฉีดทั้งหมด!!!”… ไม่มีใครได้แล้วนะครับ… รวมถึงปีต่อ ๆ ไปด้วย…” ด้วยเหตุผลที่มีเหตุผลของท่าน” นักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทยทุกคนต่อจากนี้ไป (และอีกหลายประเภทกีฬา) จะเหนื่อยแค่ไหน จะตั้งใจทำเพื่อประเทศชาติกันสักแค่ไหน ก็ตัวใครตัวมันแล้วนะครับ

ขอบคุณสำหรับทุนงบประมาณที่คาดว่าจะนำมาใช้พัฒนานักกีฬา “มีหลักเกณฑ์ที่รอบคอบ จนสามารถยกเลิกกำลังใจที่นักกีฬาทุกคนตั้งใจทุ่มเทเพื่อประเทศชาติได้”… ขอบคุณสำหรับการจัดงบประมาณที่ทำให้การพัฒนากีฬาของไทยที่จะไปได้ไกล กลับริบหรี่ลงทุกวัน… มันเริศจริง ๆ…!!! #สมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย #นักกีฬาทีมชาติไทย #การกีฬาแห่งประเทศไทย”

หลังจากนั้นได้มีแฟน ๆ เข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

‘ปชป.’ ยกทีมบุกระยอง รวมพลังช่วย ‘หมอบัญญัติ’ ชิง สส. วอนชาวแกลงเลือกคนขยัน-ผลงานเด่น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

‘บัญญัติ-สุทัศน์-นิพนธ์-คุณหญิงกัลยา’ รวมพลังช่วย ‘หมอบัญญัติ’ ชิง สส.ระยองวอน ชาว อ.แกลง อ.เขาชะเมา เลือกคนขยัน เข้าใจปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนระยอง

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 66 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.พรรคประชาธิปัตย์, นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ, คุณกัลยา โสภณพนิช รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ และนายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง เพื่อขอคะแนนเสียงให้กับ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กล่าวช่วงหนึ่งว่า ที่น่าห่วงคือ วันนี้ที่ประชาชนเบื่อการเมือง เพราะเข้าใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ เลยไม่อยากที่จะไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขอยืนยันว่า ยังไงการเมืองก็เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนโดยตรง แต่ที่ทำให้เบื่อหน่ายคือ การที่พี่น้องประชาชน ไม่ได้เลือกผู้แทนจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.) คนที่รู้ เข้าใจปัญหา และ 2.) คนที่ขยัน ติดตามการแก้ไขปัญหา ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้มีอยู่ครบถ้วนในตัว นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ และประชาชนจะได้ผู้แทนของพี่น้องประชาชนจริงๆ จึงขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่าได้โปรดให้การสนับสนุนหมอบัญญัติเพื่อให้ได้กลับเข้าไปทำหน้าที่ สส.ตามเดิม

ด้านนายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คุณหมอบัญญัตินั้น เป็นคนที่ขยัน เป็นภาพจำที่โดดเด่นในการทำหน้าที่ได้อย่างดีทั้งในและนอกสภาฯ โดยเมื่อครั้งที่ตนดำรงตำแหน่ง รมช.มท. คุณหมอบัญญัติ ได้มีการประสานให้ตน ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมทั้ง การจัดทำมาตรการเชิงรุกเพื่อลดอุบัติเหตุในจังหวัดระยอง ที่เคยมียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงที่สุดของภาคตะวันออก และอีกหลายๆ ที่เป็นผลงานที่เกิดรูปธรรม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อต้องการสื่อให้พี่น้องประชาชนได้เห็นความตั้งใจทำงาน ความเข้าใจปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนระยองทั้งหวัดที่คุณหมอบัญญัติได้ตั้งใจจริง

'เหลือง-แดง' กระชับมิตร ร่วมปาร์ตี้ที่ 'ร้านแซ่บไบรท์' จับมือสัญญา ขอทำเพื่อ 'ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์'

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 66 ที่ร้านแซ่บไบรท์ ร้านอาหารของไบรท์ ชินวัตร อดีตแกนนำม็อบราษฎรเมืองนนท์ กลุ่มประชาชนที่นิยามตัวเองว่า ฝั่งแดงและฝั่งเหลือง ได้รวมตัวจัดกิจกรรม 'ปาร์ตี้นัดกระชับมิตร เหลือง & แดง บังเกิดแล้ว' ⁣

โดยมีฝั่งแดง นำโดย เค สามถุยส์-นิยม นพรัตน์ แฟนคลับเพื่อไทย และ สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง ส่วนฝั่งเหลือง นำโดย ป้าอยุธยา-กัลยาณี จูปรางค์ และอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นอกจากนี้ยังมี จินนี่-จิรัชยา สกุลทอง นักกิจกรรมทางการเมือง และอดีตผู้ต้องหามาตรา 112

ภายหลัง มีช่วงหนึ่งที่ทุกคนทั้งฝ่ายเหลืองและแดงร่วมจับมือไขว้กันเป็นวงกลมและตะโกนพร้อมกันว่า "เราสัญญาว่าจะทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" พร้อมบรรเลงเพลง 'เราและนาย' ของโลโซ⁣

‘อบจ.เชียงใหม่’ ยกมือหนุน ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’  จุดเริ่มต้น สู่การแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยคน ๆ เดียว ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเท่านั้นที่จะนำพาให้งานลุล่วง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่

นั่นเพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการระดมสรรพกำลังจากทางภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่ทว่าฝุ่นพิษก็ยังปกคลุมพื้นที่เชียงใหม่ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง

อย่างไรก็ดี การที่มีภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล โดยการเปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษใบไม้ให้เป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางและเป็นความหวังที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ โดยมีทั้งหมด 24 อำเภอที่ติดผืนป่า เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาไฟป่าทุกปี และทางอบจ. ได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลจัดการปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปี 2564 จำนวน 13 ล้านบาท ปี 2565  จำนวน 13 ล้านบาท และในปี 2566 อีกประมาณ 10 ล้านบาท  โดยให้แต่ละหมู่บ้านมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งเป็น ‘สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่’ เพื่อช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา รวมถึงระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่า ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาศัยเพียงหน่วยงานในจังหวัดคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดการผสานความร่วมมือ เพื่อทำโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล จากซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการเผาของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยการกระจายจุดรับซื้ออย่างทั่วถึงและราคาที่เกษตรกรมองว่าคุ้มค่า จะช่วยให้การแก้ปัญหาเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

‘อ้วน รังสิต’ พา ‘มะม่วง-น้องโรฮา’ กลับไทยแล้ว หลังบินไปเกาหลี ง้อคืนดีสำเร็จ หวิดขาเตียงหัก

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 66 หลังเดินหน้าง้อภรรยาสาว ‘มะม่วง’ หรือ ‘ปาร์ค ฮยอน ซอน’ ได้สำเร็จ ล่าสุดนักแสดงหนุ่ม ‘อ้วน รังสิต’ ได้เผยคลิปที่ทำเอาแฟนๆ หลายคนใจชื่น เมื่อหนุ่ม ‘อ้วน’ กำลังพา ‘มะม่วง’ และลูกชาย ‘น้องโรฮา’ เดินทางกลับมาอยู่ที่ไทย หลังไปอยู่ที่เกาหลีด้วยกันมานานนับเดือน พร้อมแคปชัน "โรฮากลับไปหาโรงเรียนก่อนนะครับ"

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ ‘อ้วน รังสิต’ ได้โพสต์คลิปไป ก็มีเพื่อนๆ ดาราคนดังเข้าไปคอมเมนต์ร่วมแสดงความยินดีกับครอบครัวนี้กันเป็นจำนวนมาก อาทิ ดีใจจังกลับเมืองไทยแล้ว, ครอบครัวอบอุ่น ฯลฯ

'พงศ์กวิน' ชี้!! รัฐต้องเร่งผุดสนามบินใหม่ 'ภูเก็ต-เชียงใหม่' พร้อมปรับโฉมท่าเก่า  หลังต่างชาติไหลเที่ยวไทยไม่หยุด หากช้าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินแก้

(3 ก.ย. 66) ภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ประเทศไทยก็กลายเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลกลับมา และกลับมามากกว่าเดิม จนตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวครอง GDP ไทยไปแล้วกว่า 20% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีของภาคการท่องเที่ยวของประเทศมากๆ

ทว่า สิ่งที่น่าห่วงในตอนนี้ คือ แม้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวจะเป็นไฮไลต์ที่ไม่เคยแผ่วของไทย แต่ความสามารถในการรองรับของประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมของสนามบินต่างๆ กำลังเจอปัญหาที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหน้าด่านแห่งเมืองท่องเที่ยวฝั่งเหนือ-ใต้ของไทยที่วันนี้ดูจะเกินกำลังในการรับมือนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลักเข้าสู่ไทยแบบไม่หยุด

ฉะนั้นการขยายสนามบินใหม่ให้เมืองท่องเที่ยวหน้าด่าน และการปรับปรุงสนามบินเดิมทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งทำ เพราะไหนกว่าจะเริ่ม กว่าจะเสร็จ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ถอดรหัสข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไทยในมิติต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งในการขยับขยายสนามบินในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถกระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนได้ดีและรวดเร็วที่สุด

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บ่งบอกว่าในช่วง 2552-2562 (ก่อนโควิด) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิด GDP จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม เฉลี่ย 2,131,088 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 15.50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

เกิดการจ้างงานเฉลี่ยปีละ 4,147,640 คน คิดเป็น 10.88% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยที่สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนมากถึง 20% ของ GDP รวม และมีการคาดการณ์จากสภาพัฒน์ว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2573 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย 'ถนัด' และเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานต่อเนื่องก่อนช่วงโควิด และตอนนี้ที่สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายแล้ว การท่องเที่ยวก็เรียกได้ว่ากระโดดขึ้นมาจากวิกฤติในทันที

โดยในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 2506% (25 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 164.6% ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 868.5 (8.6 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 255.9% ในปีนี้

เห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย!!

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะทะยานได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องได้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นั่นก็คือท่าอากาศยานประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ

อย่างหลายๆ ท่านเอง ก็คงเคยเจอประสบการณ์ความแออัดของสนามบินในประเทศไทยที่บางครั้งต้องต่อแถวกันเป็นร้อยเมตร เพราะท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีการใช้งานล้นความจุไปมากมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นหน้าด่านแรกของแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้

✈️ สนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 12.5 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 12.8 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 18 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 5.2 ล้านคน เกินความจุไป 41.6%

✈️ สนามบินเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 8 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 8.3 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 11.3 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 3.3 ล้านคน เกินความจุไป 41.25% 

และถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจำนวนผู้โดยสารจะลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่จากที่ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้คาดการณ์จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงและการประมาณการของ AOT สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่พบว่าปริมาณผู้โดยสารในช่วงปี 2566 - 2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูสถิติผู้โดยสารท่าอากาศยานที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่ามีอัตราการเพิ่มของผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% นั่นก็หมายความความว่าภายในอีก 4 ปี สนามบินแต่ละแห่งจะต้องรองรับผู้โดยสารเกินความจุถึง 2 เท่า ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้อย่างแน่นอน

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มโครงการขยายสนามบิน และศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ภูเก็ตและเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน เพราะการสร้างหรือการขยายสนามบินนั้นต้องใช้เวลาหลายปี

เมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานทางการบินที่ดีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว พี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเชียงใหม่และภูเก็ตจะมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และนี่คือ 'ความเจริญ' อย่างแท้จริงที่กำลังจะมาถึง

‘อินเดีย’ ปล่อยจรวดส่งยาน ‘อาทิตยา-แอล 1’ ไปสำรวจดวงอาทิตย์แล้ว ใช้เวลาเดินทาง 4 เดือน ระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตร ก่อนถึงหมุดหมาย

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 66 องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation = ISRO) ถ่ายทอดสดการปล่อยจรวดขนส่งยานสำรวจระบบสุริยจักรวาล ‘อาทิตยา-แอล 1’ (Aditya-L1) ขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว เพื่อเดินทางไปสำรวจดวงอาทิตย์ที่จะใช้เวลาในการเดินทางเป็น 4 เดือน ภายใต้โครงการอวกาศอันทะเยอทะยานของอินเดีย

หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน อินเดียเพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของโลกที่ส่งยานสำรวจลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จ และเป็นชาติที่ 4 ของโลกที่ส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ได้

จรวดขนส่งนำยานอาทิตยา-แอล 1 ทะยานออกจากฐานปล่อยจรวดของ ISRO บนเกาะศรีหริโคตาเมื่อเวลาก่อนเที่ยงวันของวันเสาร์ (2 ก.ย.) นี้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมทางเทคนิคในภารกิจนี้ตลอดจนผู้เฝ้ารอชมอยู่หลายร้อยคน ต่างส่งเสียงเชียร์ปรบมือด้วยความยินดี

“การปล่อยประสบความสำเร็จ ทุกอย่างปกติ” เจ้าหน้าที่ ISRO ประกาศจากศูนย์ควบคุมภารกิจ ขณะจรวดขนส่งนำยานสำรวจมุ่งหน้าสู่ชั้นบรรยากาศตอนบนของโลก

ยานสำรวจดังกล่าวกำลังนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อไปสังเกตการณ์ชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ที่จะใช้เวลาในการเดินทางราว 4 เดือน

ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาและองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ส่งยานสำรวจไปยังศูนย์กลางระบบสุริยจักรวาลมาแล้วหลายครั้ง เริ่มจากโครงการ Pioneer ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ในทศวรรษ 1960 ขณะที่ญี่ปุ่นและจีนเพียงส่งยานสังเกตการณ์ระบบสุริยะขึ้นสู่วงโคจรโลก

หากภารกิจล่าสุดนี้ของ ISRO ประสบความสำเร็จ อินเดียจะกลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่ส่งยานสำรวจไปโคจรรอบดวงอาทิตย์สำเร็จ

นายโสมัก ไรเชาดูรี นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของอินเดีย กล่าวในวันก่อนว่า นี่เป็นภารกิจที่ท้าทายสำหรับอินเดีย และว่า ภารกิจนี้จะศึกษาการปลดปล่อยมวลขนาดใหญ่ออกมาจากบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ที่จะเห็นการปล่อยพลาสมาและพลังงานแม่เหล็กจำนวนมหาศาลจากชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ การปลดปล่อยที่ทรงพลังมากเหล่านี้สามารถมาถึงโลกและอาจขัดขวางการทำงานของดาวเทียมดวงต่างๆ ได้

ทั้งนี้ อาทิตยา-แอล 1 ตั้งตามชื่อเทพแห่งดวงอาทิตย์ในศาสนาฮินดู จะเดินทางเป็นระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตร เพื่อไปถึงจุดหมาย ซึ่งยังคงเป็นเพียงแค่ 1% เท่านั้นของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top