Tuesday, 18 June 2024
Lite

16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วันสถาปนา ‘วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า’ สถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย

‘วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า’ เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 7 ของประเทศ จากกระแสพระบรมราโชวาทของ ‘พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และดำรงสถานะสถาบันสมทบของ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้รับอนุมัติเข้าสมทบกับ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประสาทปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต ทำให้การก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีความสมบูรณ์ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้เปิดดำเนินการได้ จึงถือเอาวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็นวันสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ทั้งนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าใช้หลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาในการศึกษา 7 ปี  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2523 จนมีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเป็น 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ถึงปัจจุบัน

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน อาทิเช่น สนับสนุนการวิจัยให้แก่นักเรียนแพทย์ทหาร ตลอดจนอาจารย์แพทย์ทั้งชั้นปีคลินิก และให้ทุนการศึกษาแก่ผู้มีผลการเรียนดีไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ การสนับสนุนการศึกษาต่อและดูงานต่างประเทศของอาจารย์และนักเรียนแพทย์ทหาร การก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ สระว่ายน้ำ อาคารหอพัก โรงประกอบเลี้ยงและซักรีด ทั้งยังหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ทหาร 

นอกจากนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ทหาร ซึ่งได้จัดสรรให้แก่เหล่าทัพต่าง ๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแพทย์ในกองทัพ และในชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี

‘ลิซ่า’ ปล่อยคลิปแรก ลง ‘Tiktok’ อวดลุคใหม่ สุดจึ้ง!! เพียง 12 ชม. ยอดวิวทะลุสิบล้าน แฟนคลับลุ้น ‘เพลงใหม่’

(7 มิ.ย. 67) รันวงการ Tiktok แล้วสำหรับศิลปินสาวชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘ลิซ่า แบล็กพิงก์’ หรือ ‘ลลิษา มโนบาล’ โดยเปิดแอคเคาต์โดยตั้งชื่อว่า lalalalisa_m ซึ่งล่าสุดช่อง 'ลิซ่า' ก็ปล่อยคลิปแรกแล้ว โดยใช้แผ่นเสียง COMING SOON ของตัวเอง ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 12 ชั่วโมง ยอดวิวพุ่งทะยานแล้ว 13.2 ล้านวิว ดันยอดผู้ติดตามช่อง 'ลิซ่า' ขณะนี้ 3.1 ล้านรายบนติ๊กต็อก ทำเอาแฟน ๆ ของ 'ลิซ่า' หลายคนลุ้นว่าหรือนี่เป็นการสปอยเพลงใหม่ใกล้จะมาแล้วหรือไม่ของเธอ

แต่ที่ฮือฮาที่สุดก็เห็นจะเป็นโททัลลุคในคลิปแรกของช่องติ๊กต็อก 'ลิซ่า' เหล่าแฟนคลับต่างเข้ามาชมหุ่นสุดจึ้งของ 'ลิซ่า' กันเป็นจำนวนมาก โดยมาในลุคชิล ๆ เริ่มต้นด้วยเสื้อยืดสีขาวสกรีนลายสุดน่ารักจาก GALLERY DEEP. EBAY TEE ราคาประมาณ 11,000 บาท ส่วนกางของยีนส์ปักหมุดสุดชิคเป็นของ ACNE STUDIOS STUDDED JEANS LOOSE FIT ราคา 124,000 บาท ตามมาด้วยแว่นตาของ LOUIS VUITTON ราคาประมาณ 30,000 บาท ส่วนนาฬิกาแบรนด์หรูที่เธอสวนอยู่เป็นของ BVLGARI X LISA LIMITED EDITION 2024 ที่มีเพียงแค่ 400 เรือนในโลก ราคา 310,000 บาท ส่วนเครื่องประดับสร้อยที่เอวของสาวลิซ่าเป็นของแบรนด์ CHROME HEARTS CROSS GOLD BELLY CHAIN สนนราคาอยู่ที่ 398,000 บาท ส่วนเครื่องประดับแหวน BVLGARI ประดับเพชรราคา 889,000 บาท แต่สิ่งที่เป็นที่ฮือฮาของสาว ๆ ทั้งโลกคือกระเป๋ารุ่นที่ 'ลิซ่า' ถือเป็นของแบรนด์ DIESEL ราคาประมาณ 35,000 บาท มาพร้อมพวงกุญแจประดับกระเป๋าของแบรนด์ LOUIS VUITTON CONSTELLATION HEART BAG CHARM ราคา 524,000 บาท

ซึ่งเมื่อเข้าไปส่องคอมเมนต์หลายคนต่างสงสัยว่าช่องนี้คือช่องจริงของเธอไหม ซึ่งหลายคนก็ตอบให้คลายความสงสัยโดยยืนยันว่า ติ๊กต็อกเป็นของสาวฮอต ‘ลิซ่า ลลิษา’ ตัวจริงนั่นเอง 

17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ จุดเริ่มต้นการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ‘ทัชมาฮาล’

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ระหว่างมีพระประสูติกาล โดย ‘สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน’ พระสวามี ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ทัชมาฮาล’ หลุมฝังพระศพให้พระมเหสี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 20 ปี จึงแล้วเสร็จเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ทรงมีต่อพระมเหสีของพระองค์

ทั้งนี้ ทัชมาฮาล มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาอาหรับ โดยคำว่า ‘ตาจญ์’ แปลว่า มงกุฎ และ ‘มะฮัล’ แปลว่า สถาน โดยตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอักรา ประเทศอินเดีย นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ มีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นสุสานหินอ่อน ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชรพลอย หิน โมรา และเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร โดยมีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน

นอกจากนี้ ทัชมาฮาล ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด หออาซาน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีนายช่างที่ออกแบบชื่อ ‘อุสตาด ไอซา’ ถูกประหารชีวิต เพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ซึ่งส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม

อย่างไรก็ตาม หลังจากพระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดทายาทพระองค์ที่ 14 สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงอยู่ในพระอาการโศกเศร้าถึง 2 ทศวรรษ พระราชทรัพย์ส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์ พระองค์ถูกกักขังถึง 8 ปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2209

ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในพระหัตถ์ พระศพของพระองค์ถูกฝังในทัชมาฮาลเคียงข้างพระมเหสี ซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม

ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์!! ‘หลานม่า’ ทัชใจข้ามชาติ กระแสแรงในประเทศเอเชีย สร้างรายได้ถล่มทลาย จนชาติยุโรปเรียกร้องให้นำไปฉายบ้าง

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Watthana Saen-u-dom’ ได้โพสต์ข้อความตอกย้ำกระแสภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ หลังโกอินเตอร์ออกไปฉายที่ต่างประเทศนั้น โดยระบุว่า…

*เวียดนามก็ไม่รอด!!! หนัง ‘หลานม่า’ เปิดตัวขึ้นอันดับ 1 Box Office ประเทศเวียดนาม กวาดรายได้ 3 วันไปกว่า 5 พันล้านดอง หรือ ประมาณ 7 ล้านบาท

*มาเลเซีย ฉายไป 1 สัปดาห์ กวาดไป 65 ล้านบาท คาดรายได้แตะ 100 ล้านบาท เร็ว ๆ นี้

*สิงคโปร์ ฉายไป 9 วัน กวาดรายได้ไปกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 27 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่มโรงฉายเกือบเท่าตัว

*อินโดนีเซีย ยังคงเดินหน้าทำรายได้ต่อเนื่องคาดทะลุ 300 ล้านบาท ในอีกไม่กี่วัน และอาจแซงรายได้รวมในประเทศไทย

*ด้านประเทศจีน ทนกระแสทั่วเอเชียไม่ไหว ซื้อไปฉายอีกประเทศ คาดทุบสถิติหนังไทยทุกเรื่อง ที่ไปฉายในประเทศจีน

*ญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็ไม่น้อยหน้า ซื้อไปฉายแล้วต่อจากจีน

*และขณะนี้กระแสเริ่มลามไปทางฝั่งอเมริกา และยุโรป จากไวรัลในโซเชียล เรียกร้องให้ไปฉายเช่นกัน

19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ‘การ์ฟิลด์’ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ การ์ตูนแมวส้มที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก

การ์ตูนแมว ‘การ์ฟิลด์’ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 โดยได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์จำนวน 41 ฉบับ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนบุคลิกหลายครั้งให้เข้ากับยุคสมัย

เรื่องราวของ ‘การ์ฟิลด์’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง ตัวเอกของเรื่องเป็นแมวสีส้ม มีลายสีดำ ที่มีของโปรดเป็นลาซานญา ชื่นชอบการดูทีวี นอน และการแกล้งคนอื่น 

โดยการ์ตูนเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน ‘จิม เดวิส’ (Jim Davis) ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อตัวการ์ตูนแมวอ้วนตัวนี้ตามชื่อปู่ของเขา ‘เจมส์ การ์ฟีลด์ เดวิส’

นอกจากนี้ ‘การ์ฟิลด์’ เป็นการ์ตูนอเมริกันที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 2,570 ฉบับ ถูกบันทึกลงกินเนสบุ๊คว่าเป็นการ์ตูนช่องที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก และยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน แอนิเมชั่น และสินค้าลิขสิทธิ์อื่น ๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังถือกันว่าวันนี้เป็นวันเกิดของ ‘การ์ฟิลด์’ อีกด้วย

18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เปิดสอนวันแรก มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย

วันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2507  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเรียนวันแรก โดยมี 3 คณะเริ่มต้น ได้แก่ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

20 มิถุนายน พ.ศ. 2309 ‘ค่ายบางระจัน’ ถูกบุกตีแตก ต้องเสียค่ายให้แก่พม่า ปิดฉากวีรกรรมความกล้าหาญ หลังพระนครไม่สนับสนุน

‘ค่ายบางระจัน’ เป็นค่ายป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยจากกองทัพพม่าที่บางระจัน ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย

ปี 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของ ‘เนเมียวสีหบดี’ ยกเข้ามาในขอบคัณธสีมาด้านด่านระแหงแขวงเมืองตาก โดยกวาดต้อนผู้คนตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่มังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ สกัดกำลังจากชายทะเลทิศใต้ โดยหมายใจบรรจบเข้าที่กรุงศรีอยุธยา

ต้นเดือนมกราคม 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดี ได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันเพื่อลุกขึ้นต่อสู้

ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมืองง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจัน

ในเวลานั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงพาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก

ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายดอกไม้ และนายทองแก้ว รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม 11 คน ตั้งกองสู้กับกองทัพพม่า

การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง แต่ต้องแตกพ่ายทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที และไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง

สุกี้จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยใช้วิธีตั้งทัพอยู่เฉย ๆ เพราะรู้ว่าชาวบ้านใจร้อนเมื่อถูกยุทธวิธีรบแบบยืดเยื้อ ชาวบ้านก็มีใบบอกไปถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่และกระสุนมาต่อสู้กับพม่า แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยกรุงศรีอยุธยา ส่งมาแต่นายกองมาช่วยดู ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษทองเหลืองที่เรี่ยไรมาได้ หล่อเป็นปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่ปืนร้าว ใช้งานไม่ได้สุกี้รู้แล้วว่ากองทัพชาวบ้าน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระนคร จึงมั่นใจว่าชาวบ้านบางระจันเริ่มอ่อนแอ จึงสั่งให้ขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน แล้วเอาปืนใหญ่ตั้งหอสูงระดมยิงใส่ค่ายจนค่ายแตก ทำให้ไทยต้องเสียค่ายบางระจันแก่พม่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2309

21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ‘ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ’ เปิดอย่างเป็นทางการ หนุนกิจการขนาดเล็กที่มีศักยภาพ ได้มีหนทางระดมทุน

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - MAI) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 และเปิดทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 มีจุดประสงค์การทำงานโดยทั่วไป เหมือนกับ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ หรือ The Stock Exchange of (Thailand) (SET) คือ ทำหน้าที่เป็นตลาดทุน เพื่อให้กิจการต่าง ๆ สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้ แต่ตลาดใหม่นี้ จะเน้นไปที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี - SME) และกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม โดยได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ลง เช่น ทุนชำระแล้วขั้นต่ำของหลักทรัพย์ในตลาดหลัก คือ 200 ล้านบาท ในขณะที่ขั้นต่ำของตลาดใหม่ ลดลงเป็น 40 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ได้มีหนทางในการระดมทุน รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการร่วมลงทุน (venture capital) เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

23 มิถุนายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ กระตุ้นให้ผู้คนในแต่ละชาติ เข้าถึงกีฬามากขึ้น

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2437 โดยมี ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำในการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัด ณ มหาวิทยาลัยปารีส  เพื่อฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่

ซึ่งเป็นระยะเวลาสองปีก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดย IOC เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสังคมแห่งมวลมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้นผ่านการเล่นกีฬาระดับสากล IOC เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระดับสากล

ขณะเดียวกัน วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

นอกจากนี้ วันโอลิมปิกยังมีเป้าหมาย ต้องการให้ผู้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมกีฬาในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกีฬา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ หรือ National Olympic Committee (NOC) ในแต่ละประเทศได้พยายามจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกีฬามากขึ้น

‘ชิกิต้า BABYMONSTER’ สวมกางเกงแมวโคราช โชว์ซอฟต์พาวเวอร์บ้านเกิด อวดแฟนคลับทั่วโลก

(14 มิ.ย. 67) ทำเอาแฟนคลับประทับใจไปตาม ๆ กัน หลังจากที่ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ‘ชิกิต้า’ หรือ ‘แคนนี่’ น้องเล็กประจำวงเกิร์ลกรุ๊ปตัวตึงเจน 5 อย่าง ‘BABYMONSTER’ สังกัด ‘YG Entertainment’ ที่ล่าสุดในช่องยูทูบของสาว ๆ ได้ปล่อยคลิปวิดีโอ ‘BABYMONSTER - ‘SHEESH’ The LAST MUSIC SHOW BEHIND’ ซึ่งเป็นเบื้องหลังการซ้อมเพอร์ฟอร์แมนซ์เพลง SHEESH นอกจากจะเห็นความตั้งใจในการแสดงของสาว ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาแฟน ๆ คือ ‘กางเกงแมว’ ซอฟต์พาวเวอร์ประจำโคราช ที่ชิกิต้าหยิบมาสวมใส่เพื่อซ้อมเต้น 

แม้จะปรากฏในคลิปเพียงไม่กี่นาที แต่ก็สร้างความประทับใจให้กับแฟน ๆ เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเธอจะเป็นคนไทยที่เดบิวต์เป็นศิลปินที่ประเทศเกาหลีแล้ว แต่ยังคงสนับสนุนสินค้าจากประเทศไทย และจากจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันคลิปวิดีโอดังกล่าวมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 1 ล้านวิวเป็นที่เรียบร้อย

โดย CHIQUITA (ชิกิต้า) หรือ แคนนี่ รริชา พรเดชาพิพัฒ สาวน้อยจากโคราช อายุ 15 ปี เธอเป็นสมาชิกสาวไทยที่มีอายุน้อยที่สุดของวง BABYMONSTER โดยเธอเดบิวต์ร่วมกับ ‘แพร ภริตา’ (PHARITA) หนึ่งในสมาชิกสาวไทยของวงเช่นเดียวกัน

ซึ่งชิกิต้าเริ่มต้นการเป็นเด็กฝึกหัดของค่ายตั้งแต่ปี 2021 โดยใช้ระยะเวลาในการฝึกทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน อีกทั้งเธอยังเป็นน้องสาวของ ‘คอปเปอร์ เดชาวัต’ หรือ คอปเปอร์ วง BUS อีกด้วย

สำหรับ กางเกงแมวโคราชนั้น ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยการนำแมวสีสวาด หรือ ‘แมวโคราช’ มาพิมพ์ลายแบบโมโนแกรม (Monogram) หรือ KORAT Monogram ซึ่งใช้รูปแมวเป็นแบบพิมพ์บนกางเกง สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองโคราช และความเป็นโคราชอย่างชัดเจน โดยนครราชสีมาเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่เริ่มพิมพ์ลายกางเกงประจำจังหวัด พร้อมกันนี้กางเกงลายแมวยังไปโผล่เป็นไอเทมในเกมส์ออนไลน์ชื่อดังอย่าง Free Fire อีกด้วย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top