Thursday, 27 June 2024
Lite

2 มิถุนายน ของทุกปี ‘วันส้มตำสากล’ ตอกย้ำเมนูสุดแซ่บจากแดนสยาม ที่สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนโลก พร้อมสถานะสำคัญ ภายใต้บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ใน 'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

‘ส้มตำไทย’ อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริง ๆ อร่อยจนนานาชาติยกย่องให้เป็นอาหารสากล และให้วันที่ 2 มิถุนายน กำหนดเป็น ‘วันส้มตำสากล’ หรือ International Somtum Day อีกด้วย

ทั้งนี้ ‘ส้มตำ’ เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า ’ตำหมากหุ่ง‘ โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก, มะเขือสีดา, มะเขือเปราะ, พริกสดหรือพริกแห้ง, ถั่วฝักยาว กระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู

ซึ่งร้านส้มตำส่วนใหญ่มักขายอาหารอีสานอื่นด้วย เช่น ซุบหน่อไม้, อ่อม, ลาบ, ก้อย, แจ่ว, ปลาแดกบอง, น้ำตก, ซกเล็ก, ตับหวาน, ไก่ย่าง, คอหมูย่าง, พวงนม, กุ้งเต้น (ก้อยกุ้ง) และข้าวเหนียว

นอกจากนี้ ‘ส้มตำ’ ยังเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใน ปี พ.ศ. 2513 โดยมี ‘อ.ประยงค์ ชื่นเย็น’ เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี

ต่อมาเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำได้ถูกอัญเชิญมาขับร้องโดย ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ราชินีเพลงลูกทุ่งไทยในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งก็ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ก่อนที่จะถูกนำมาขับร้องบันทึกเสียงโดย ‘สุนารี ราชสีมา’ ที่เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันอมตะของบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำเพลงนี้ นอกจากนี้ทางวงคาราบาวก็เคยอัญเชิญเพลงส้มตำไปร้องในคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง ‘ต่าย อรทัย’ ที่ก็มีการอัญเชิญเพลงนี้มาขับร้องด้วย

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีเนื้อร้องดังนี้

ต่อไปนี้จะเล่า            ถึงอาหารอร่อย
คือส้มตำกินบ่อย        รสชาติแซ่บจัง
วิธีการก็ง่าย            จะกล่าวได้ดังนี้
มันเป็นวิธี            วิเศษเหลือหลาย

ไปซื้อมะละกอ            ขนาดพอเหมาะเหมาะ
สับสับเฉาะเฉาะ        ไม่ต้องมากมาย
ตำพริกกับกระเทียม        ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย
มะนาวน้ำปลาน้ำตาลทราย    น้ำตาลปีปถ้ามี

ปรุงรสให้เยี่ยมหนอ        ใส่มะละกอลงไป
อ้อ อย่าลืมใส่            กุ้งแห้งป่นของดี
มะเขือเทศเร็วเข้า        ถั่วฝักยาวเร็วรี่
เสร็จสรรพแล้วซี        ยกออกจากครัว

กินกับข้าวเหนียว        เที่ยวแจกให้ทั่ว
กลิ่นหอมยวนยั่ว        น่าน้ำลายไหล
จดตำราจำ            ส้มตำลาวเอาตำรามา
ใครหม่ำเกินอัตรา        ระวังท้องจะพัง

ขอแถมอีกนิด            แล้วจะติดใจใหญ่
ไก่ย่างด้วยเป็นไร        อร่อยแน่จริงเอย...

‘ลิซ่า’ สวมชุดอัพไซเคิลแบรนด์ไทย ‘Pipatchara’ ‘สวย-เก๋’ อวดชาวโลกในงานปาร์ตี้ของ ‘Tag Heuer’

(27 พ.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ลิซ่า’ ลลิษา มโนบาล (@lalalalisa_m) หรือ ลิซ่า Blackpink นอกจากจะไปปรากฏตัวในงานแข่งรถสูตรหนึ่ง Monaco F1 Grand Prix 2024 แล้ว เธอยังเข้าร่วมงานปาร์ตี้บนเรือยอชท์ของ Tag Heuer ที่จัดขึ้นในโมนาโก ด้วยลุคปาร์ตี้สุดเก๋จากแบรนด์ Pipatchara (@pipatchara) เรียกได้ว่าสวยสะกดทุกสายตาเลยทีเดียว

เนื่องจากชุดนี้ทำมาจากขยะพลาสติกรีไซเคิลที่นำฝาน้ำที่ใช้แล้วผสมกับกล่องข้าวสีใส โดย 80% ทำจากฝาน้ำสีทอง เเละ 20% ทำจากกล่องภาชนะใส่อาหาร ทั้งหมดเป็นสีธรรมชาติ ทางแบรนด์พิถีพิถันในการไล่ระดับสีของชุดตั้งเเต่อ่อนไปเข้ม เพื่อให้ชุดกระทบแสงในงาน After Party เเละ ใช้ขยะมากกว่า 1,800 ชิ้น โดยส่วนใหญ่มาจากฝาขวดน้ำ เเละ กล่องข้าวใส 

3 มิถุนายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี ‘ราชวัลลภ เริงระบำ’ (Hop to the Bodies Slams) ในงานวันราชวัลลภได้อย่างสง่างามและเข้มแข็ง ในฐานะผู้บังคับการกองผสม
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจตุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ให้แก่ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น ‘สมเด็จพระราชินีสุทิดา’ ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระบรมราชินี’ ทรงพระนามว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี’

4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 วันสถาปนา ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของไทย ที่ถือกำเนิดจาก ‘ในหลวง ร.8’

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถือกำเนิดจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียงแปดเดือนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบความยากลำบากทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือด้านแพทยศาสตรศึกษา ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านไวรัสและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

‘คัลแลน-พี่จอง’ ควง ‘น้องแดน-จูดี้’ บริจาคเงิน 3 ล้านบาท  สมทบทุนช่วยทารกคลอดก่อนกำหนด ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

(28 พ.ค.67) คัลแลน-พี่จอง นำทีม น้องแดน-จูดี้ มอบเงิน 3 ล้านบาท บริจาคมูลนิธิรพ.เด็ก โครงการ Little Miracle แฟนคลับร่วมอวยพรอย่างล้นหลาม

เรียกว่าเป็นขวัญใจคนไทยทั้งประเทศในตอนนี้ สำหรับ 2 หนุ่มยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีใต้ ‘คัลแลน - พี่จอง’ จากช่องยูทูบ Cullen Hateberry ที่พาทุกคนเที่ยวทั่วไทย ล่าสุดมี ‘น้องแดน’ และ ‘จูดี้’ มาร่วมด้วยบางคลิป ด้วยความน่ารักเป็นธรรมชาติ จึงตกแฟน ๆ เข้าด้อมใจฟู ได้ทุกเพศ ทุกวัย สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ล่าสุดวันที่ 27 พ.ค. 67 ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้ลงโมเมนต์ใจฟูในโซเชียล ระบุข้อความเอาไว้ว่า “ขอบคุณ พี่คัลแลน พี่จอง น้องแดน พี่จูดี้ หอบกำลังใจดี ๆ มาให้เด็ก ๆ ใจฟู ที่ #มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก #กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ 

พร้อมมอบเงินบริจาค จำนวน 3,000,000 บาท สมทบโครงการLittle Miracle ปาฏิหาริย์ต่อลมหายใจให้ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยมีนพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รับมอบ”

หลายคนพอเห็นโพสต์ต่างเข้ามาคอมเมนต์อนุโมทนาบุญ และขอบคุณทีมงาน Cullen Hateberry ที่ได้มอบเงินบริจาคในครั้งนี้ เป็นโมเมนต์ที่ใจฟูมาก

5 มิถุนายน ของทุกปี ‘องค์การสหประชาชาติ’ กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ ปลุกสังคมให้ตื่นตัวในเรื่องวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า ‘การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์’ หรือ ‘UN Conference on the Human Environment’

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ‘วันดี-เดย์’ (D-Day) ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี เพื่อปลดปล่อยประเทศที่ถูกนาซียึดครอง ใน WW2

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 เป็นวันที่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรจากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ชายฝั่งตอนเหนือของฝรั่งเศส เพื่อปลดปล่อยประเทศในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตกให้หลุดพ้นจากการยึดครองของกองทัพนาซี ในสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยวันดังกล่าวถูกเรียกว่าวัน ‘ดี-เดย์’ (D-Day) ซึ่งย่อมาจาก ‘Deliverance Day’ มีความหมายว่าวันแห่งการปลดปล่อย ยุทธการในวันดีเดย์ถือเป็นการร่วมของทหารเรือ ทหารบก และทหารอากาศ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด และมีรหัสที่ใช้เรียกยุทธการนี้ว่า ‘Overload’

ยุทธการในวันดีเดย์ใช้กำลังพลถึง 156,000 นาย พร้อมกับยานพาหนะ 10,000 คัน และเรืออีก 7,000 ลำขึ้นไปยังหาดทั้ง 5 แห่งตามแนวชายฝั่งนอร์มังดี ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากกองกำลังทางอากาศและทางเรือที่มีความแข็งแกร่งกว่าฝ่ายเยอรมันอยู่มาก สุดท้ายฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถยกทัพจากแคว้นนอร์มังดีเข้าไปปลดปล่อยกรุงปารีสได้สำเร็จในช่วงปลายเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน

ซึ่งยุทธการในครั้งนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียกำลังพลไปถึง 4,400 นาย และบาดเจ็บหรือสูญหายกว่า 9,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันมีตัวเลขการสูญเสียอย่างไม่แน่ชัดอยู่ที่ประมาณ 4,000-9,000 นาย นอกจากนี้ยังมีพลเรือนชาวฝรั่งเศสที่โดนลูกหลงจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรอีกหลายพันคนเช่นกัน

การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่สอง และยังเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์สงครามที่โด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้เหตุการณ์วันดีเดย์ยังถูกนำมาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น Saving Private Ryan, The Longest Day และ D-Day เป็นต้น

7 มิถุนายน พ.ศ. 2197 วันขึ้นครองราชย์ ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 14’ กษัตริย์ผู้ทรงวางรากฐานแฟชั่นในฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือ หลุยส์มหาราช ทรงมีพระสมัญญานามว่า สุริยกษัตริย์ อีกทั้ง ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2197 อีกทั้งยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก 

อย่างไรก็ตาม เดิมทีในอดีต…ศูนย์กลางความมั่งคั่งและแฟชั่นไม่ได้อยู่ที่ฝรั่งเศส แต่กลับอยู่ที่สเปนและอิตาลี สินค้าแฟชั่นหลายอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราชประสงค์ที่จะให้ฝรั่งเศสเป็นที่เชิดหน้าชูตาและได้รับการมองว่ายอดเยี่ยมที่สุด จึงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระราชวังแวร์ซายที่มีความสวยงามอลังการ แต่ก็มาพร้อมกฎระเบียบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องมารยาท พิธีการ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมราชสำนัก’ ที่กำหนดสถานภาพและเกียรติภูมิของบุคคลนั้น ๆ

สิ่งนี้นำมาซึ่งแฟชั่นการแต่งกายที่แตกต่างกันไปในแต่ละพิธีการ โดยในทุก ๆ วัน เหล่าขุนนางและข้าราชบริพารจะเข้าเฝ้าเพื่อชื่นชมการแต่งกายของพระองค์ อีกทั้งขุนนางแต่ละคนยังต้องแต่งตัวเพื่อให้เป็นที่โดดเด่นจนต้องพระเนตรและได้รับการชื่นชมหรือจดจำจากพระองค์

การแข่งขันในการแต่งกายของเหล่าขุนนางต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าแฟชั่นเพิ่มสูงขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และรัฐมนตรีคลังจึงได้ปฏิรูปและส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องประดับ น้ำหอม ให้ยกระดับคุณภาพ จนกลายเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน

8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘ถนนรัชดาภิเษก’ บรรเทาความเดือดร้อนด้านการจราจรให้แก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง โดยถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2519 สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จะต้องประสบปัญหาการจราจร

ทั้งนี้ ความเป็นมาของถนนรัชดาภิเษก ปี พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) โดยรัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นแทน ให้เป็นถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ และมีถนนออกจากศูนย์กลางไปรอบตัวตัดกับวงแหวนเหล่านั้น เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน...”
ทั้งนี้ ถนนรัชดาภิเษกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 23 ปี ถนนเส้นนี้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนถึงผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ออกไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันสวรรคต ‘ในหลวงรัชกาลที่ 8’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์ไทย

‘วันอานันทมหิดล’ ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้สร้างคุณูปการไว้อเนกอนันต์โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการศึกษา รัฐบาลจึงถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันอานันทมหิดล’

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 12 ปีที่ทรงครองราชย์ ( 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การศาสนา การแพทย์และการศึกษา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระองค์ได้มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ นั่นเอง

>> พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมือง ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนก (องค์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระองค์ได้ทรงศึกษาจากต่างประเทศและได้เสด็จนิวัตประเทศไทยภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่7) ทรงสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการลงมติเห็นชอบอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียงราว 9 พรรษา จึงทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

ในระหว่างการศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เสด็จนิวัตเมืองไทย เพื่อกลับมาเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎร ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษาทรงเสด็จนิวัตเมืองไทยอีกครั้งด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขของประเทศ ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 12 ปี

ปวงชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันอานันทมหิดล’ โดยในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top