Wednesday, 14 May 2025
Lite

30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ‘สเปน’ ผ่านร่างกฎหมายอนุญาต ‘สมรสเพศเดียวกัน’ กลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก หลังเนเธอร์แลนด์-เบลเยียม

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน นำโดยนายกรัฐมนตรี นายโฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ได้เริ่มการรณรงค์การรับรองสิทธิในการ ‘สมรสเพศเดียวกัน’ รวมถึงสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมโดยคู่ครองเพศเดียวกัน ภายหลังจากการอภิปรายอย่างกว้างขวาง รัฐสภาสเปนได้ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตการสมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และมีผลใช้บังคับในวันถัดไป ทำให้สเปนกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม และก่อนหน้าประเทศแคนาดา 17 วัน

ทั้งนี้ แม้ว่าการรับรองกฎหมายฉบับนี้จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนกว่า 66% ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะปราศจากความขัดแย้งแต่อย่างใด บุคคลผู้มีตำแหน่งในศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้คัดค้านอย่างแข็งขัน โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ความหมายของการสมรสนั้นเสื่อมลง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อประเด็นเรื่องการรับบุตรบุญธรรมของคู่ครองเพศเดียวกัน การออกมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนและคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมเป็นหลักพันจากทั่วประเทศสเปน และภายหลังจากที่ได้มีการรับรองสิทธิดังกล่าวแล้ว ‘พรรคประชาชน’ ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวาของประเทศ ได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนเพื่อวินิจฉัย

โดยในปีแรกของการประกาศใช้กฎหมาย คู่ครองเพศเดียวกันกว่า 4,500 คน ได้ทำการสมรสในประเทศสเปน ไม่นานหลังจากการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ประเด็นสถานะของการสมรสกับบุคคลต่างชาติ ซึ่งประเทศเจ้าของสัญชาติยังไม่รับรองการสมรสเพศเดียวกันก็ได้เป็นที่กล่าวถึง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวว่า กฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันของสเปนอนุญาตให้ชาวสเปนสามารถสมรสกับบุคคลต่างชาติ แม้ว่าประเทศเจ้าของสัญชาติจะไม่รับรองความเป็นคู่ครองทางกฎหมายก็ตาม อย่างไรก็ตาม คู่ครองหนึ่งคนนั้นจะต้องมีสัญชาติสเปนจึงจะสามารถสมรสได้ แต่บุคคลต่างชาติสองคนอาจสมรสกันได้หากทั้งคู่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสเปนโดยชอบด้วยกฎหมาย

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 พรรคประชาชนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย นายมาเรียโน ราฆอย หัวหน้าพรรคดังกล่าวได้คัดค้านการสมรสเพศเดียวกัน แต่การตัดสินใจว่าจะยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่นั้นจะกระทำขึ้นได้ภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสเปน และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ศาลรัฐธรรมนูญสเปนได้รับรองกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 3 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอัลเบร์โต รุยซ์-กัลยาร์ดอนได้ประกาศว่ารัฐบาลจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและจะไม่ยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว

‘ลิซ่า’ ปล่อยภาพโปสเตอร์ ‘Rockstar’ ก่อนฟังเต็มๆ 28 มิ.ย.นี้ ‘ความเท่-เก๋-แซ่บ’ ทำยอดไลก์พุ่งกระฉูด ภายใน 16 ชั่วโมง

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศิลปินระดับโลก ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จัดเซอร์ไพรส์อย่างยิ่งใหญ่ให้แฟน ๆ ได้หวีดกันอย่างสมใจ ที่ล่าสุดทางต้นสังกัด LLoud และ ลิซ่า ก็ได้ออกมาปล่อยภาพโปสเตอร์ทีเซอร์โซโล่เพลงเดี่ยว ‘Rockstar’ ในฐานะศิลปินเดี่ยวที่จะปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ตามเวลาไทย

โดยโปสเตอร์ที่ลิซ่าปล่อยออกมานั้น เรียกได้ว่าทำถึงมาก กับลีลาการโพสต์ที่มีทั้งความเท่ ความเก๋ และความแซ่บ สลัดภาพความเป็นศิลปิน K-Pop ได้อย่างไม่หลงเหลือ ซึ่งภายหลังจากที่ลิซ่าได้โพสต์ภาพดังกล่าวลงในอินสตาแกรม แฟน ๆ ก็เข้ามากดไลก์กันอย่างถล่มทลาย ซึ่งปัจจุบันยอดไลก์อยู่ที่ 5.2 ล้าน ภายในเวลาเพียงแค่ 16 ชั่วโมง

29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 วันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ’ พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม ต้นสำเนาตำนาน 'โหมโรง'

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 36 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 โดยพระองค์ทรงมีพระนามลำลองว่า ‘ทูลกระหม่อมชาย’ หรือ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เป็นอดีต​ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ อดีตเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ อดีตเสนาธิการทหารบก อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นอดีต​องคมนตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น ‘พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม’ ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่ง และเพลงไทยเดิมไว้มากมาย อย่างเช่น วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงพญาโศก และพระองค์ยังทรงเป็นต้นสำเนาตำนานของเพลง ‘โหมโรง’ อีกด้วย

อีกทั้ง พระองค์ได้ทรงบุกเบิกและวางรากฐานความเจริญในด้านต่าง ๆ ให้แก่ กองทัพเรือ เป็นอันมาก อาทิ…

- จัดระเบียบราชการในกองทัพเรือให้รัดกุม
- จัดทำข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยหน้าที่ราชการในเรือหลวง
- วางรากฐานการจัดระเบียบการเรียนการสอนในโรงเรียนนายเรือใหม่
- ขยายและปรับปรุงอู่หลวง
- วางรากฐานกองดุริยางค์ทหารเรือ
- จัดทำโครงสร้างกำลังทางเรือ
- เสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยทรงสั่งซื้อเรือรบจากต่างประเทศเข้าประจำในกองทัพเรือ เป็นจำนวนมาก อาทิ เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 2) เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์
- สนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา
- กำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ปรับปรุงการเห่เรือและการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่
- กำหนดระยะเวลาและวิธีรับคนเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ
- วางแบบแผนการยิงสลุต
- กำหนดเครื่องแต่งกายทหารเรือ
- จัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหารและกรมพระธรรมนูญทหารเรือ
- ปรับปรุงการสหโภชน์ และก่อตั้งโรงเรียนสูทกรรม
- ตั้งคลังแสงทหารเรือ
- ปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือ
- ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่น่านน้ำสยามขึ้นใหม่ โดยกองแผนที่ทะเลซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกรมอุทกศาสตร์ ขณะทรงรับราชการในกองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พากย์เสียงโดย จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร อีกด้วย

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงสถาปนากิจการ ‘ลูกเสือไทย’ พร้อมพระราชทานคติพจน์ ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานกำเนิดเสือป่าได้ 2 เดือน ซึ่งในระยะเวลานั้นกิจการเสือป่าได้ดำเนินไปอย่างเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนสมาชิกของเสือป่าที่มากขึ้น และกิจการเสือป่าถูกจำแนกออกไปเป็นกองเสือป่าประเภทต่าง ๆ อีกมาก แม้จะทรงพอพระราชหฤทัยเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยที่จะยุติในพระราชดำริที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการเสือป่านั้นแม้จะประสบผลสำเร็จเพียงใด แต่สมาชิกนั้นเป็นผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองนั้นประกอบด้วยพลเมืองหลายช่วงวัย เด็กผู้ชายทั้งหลายก็เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการฝึกฝน และปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนให้มีความรู้ และทักษะในทางเสือป่าด้วย เพื่อว่าในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นจะได้ประพฤติตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอน

ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชทานกำเนิดกิจการเสือป่าสำหรับเด็กชาย ที่ทรงพระราชทานชื่อว่า ‘ลูกเสือ’

ในกิจการนี้พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่ให้เด็กชายจดจำหลักสำคัญ 3 ประการคือ 

1. ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามนิติธรรมประเพณี 
2. ความรักชาติบ้านเมือง และนับถือพระศาสนา 
3. ความสามัคคีในคณะ และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การก่อตั้งกิจการลูกเสือในครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือให้มีในโรงเรียนก่อน และกองลูกเสือกองแรกของสยามประเทศคือ ‘กองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง’ หรือ ‘โรงเรียนวชิราวุธ’ ในปัจจุบันและถูกเรียกว่ากองลูกเสือหลวง หรือกองลูกเสือกรุงเทพที่ 1 และลูกเสือในโรงเรียนนี้ก็ถูกเรียกว่าลูกเสือหลวงเช่นกัน ก่อนที่กิจการลูกเสือจะขยายไปสู่โรงเรียนเด็กชายทั่วประเทศในเวลาไม่นาน โดยลูกเสือคนแรก คือ นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ชื่อ ชัพน์ บุนนาค การเป็นลูกเสือของนายชัพน์ บุนนาค นั้นเกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า…

ร.6 : “อ้ายชัพน์ ดอกหรือ เอ็งกล่าวคำสาบานของลูกเสือได้หรือเปล่า” 
ชัพน์ : “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้วว่า 
        1. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว 
        2. ข้าจะประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย 
        3. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ” 
ร.6 : ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรก”

จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเพียงสั้น ๆ ว่า “อ้าย ชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว" และแล้วกิจการลูกเสือ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ

ต่อมาพระองค์ก็ทรงพระราชทานคติพจน์ให้กับลูกเสือ ที่ภายหลังลือลั่นไปทั่วทั้งแผ่นดินและเป็นที่กล่าวขาน รำลึก พูดสอนกันอย่างติดปากในสังคม อีกทั้งยังปรากฏอยู่บนเครื่องหมายสำคัญต่าง ๆ ของลูกเสือว่า ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

สำหรับคำว่า ‘ลูกเสือ’ ที่พระองค์ทรงพระราชทานชื่อนั้น มีนัยว่าพระองค์ทรงเล่นล้อคำกับคำว่า ‘เสือป่า’ ที่บางครั้งทรงเรียกว่า ‘พ่อเสือ’ และเมื่อมีกิจการแบบเดียวกันที่มีเหล่าสมาชิกเป็นเด็กชาย พระองค์จึงทรงใช้คำว่าลูกเสือ แต่ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์ถึงที่มาของชื่อลูกเสืออย่างเป็นทางการเอาไว้ว่า…

“ลูกเสือ บ่ ใช่สัตว์เสือไพร    เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน
ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์    เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล
ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร    กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน"

เป็นเวลา 6-7 เดือน หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือในสยามประเทศ หากย้อนกลับไปที่ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นกำเนิดกิจการลูกเสือโลกขณะนั้น ก็กำลังคึกคักและแพร่ขยายความนิยมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ เด็ก ๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ต่างให้ความสนใจในกิจการนี้มาก โดยนายซิดนีย์ ริชเชส ซึ่งอดีตเคยเป็นครูสอนศาสนาวันอาทิตย์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจกิจการลูกเสือ และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้กำกับกองลูกเสือที่ 8 แห่งลอนดอนตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งบิดาของเขาได้เคยทำงานอยู่ในสถานกงศุลไทย ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงกงศุลใหญ่ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอนนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร สมัยที่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

และเมื่อความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือในอังกฤษนั้น ควบคู่ไปกับการเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ข่าวคราวของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ก็แพร่กระจายเข้าสู่เกาะอังกฤษอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายริชเชส เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทราบข่าวนั้น และประกอบกับความสัมพันธ์ของผู้เป็นบิดากับพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามประเทศ เขาจึงได้ทำหนังสือมากราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กองลูกเสือที่เขาเป็นผู้กำกับอยู่ และขอพระบรมราชานุญาตให้ชื่อลูกเสือกองนี้ว่า ‘King of Siam ’s own boy scout group’ ซึ่งแปลว่า กองลูกเสือในพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือรักษาพระองค์พระเจ้าแผ่นดินสยาม โดยมีชื่อย่อว่า K.S.O.

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งกองลูกเสือแห่งชาติขึ้นเพียง 5 เดือนเท่านั้น ก็ปรากฎว่า มีกองลูกเสือทั่วราชอาณาจักรอยู่ถึง 61 กอง

การดำเนินกิจการลูกเสือทั่วทั้งโลกมักมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เริ่มจากกิจการลูกเสือสำหรับเด็กชายก่อนที่จะเริ่มแพร่เข้าไปในหมู่เด็กหญิง และสำหรับกิจการลูกเสือในไทยก็เช่นกัน เมื่อถึงระยะเวลาอันควร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะให้สตรีและเด็กหญิงได้มีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือ โดยทรงเห็นว่าสามารถที่จะเป็นกำลังให้กับชาติบ้านเมืองได้ แม้จะไม่ใช่กองกำลังหลักก็ตามที ดังนั้นจึงทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งพระองค์เรียกว่าสมาชิกแม่เสือ ส่วนใหญ่เป็นบุตรและภรรยาเสือป่า โดยแม่เสือมีหน้าที่หลักในการจัดหาเสบียงและเวชภัณฑ์ให้กับกองเสือป่า ในขณะเดียวกันก็ทรงจัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กหญิง และพระราชทานชื่อว่า ‘เนตรนารี’ ซึ่งเนตรนารี กองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้เป็นชื่อ ‘โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย’

ทั้งนี้ นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร 1 ในเนตรนารีกองแรก ได้เขียนถึงกิจกรรมสำหรับเนตรนารีในสมัยนั้น ไว้ว่า…

“ในปี พ.ศ. 2457 โรงเรียนกุลสตีรวังหลัง จัดตั้งกองเนตรนารีขึ้น และให้เราเป็นกลุ่มแรกที่รับการฝึกหัด ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกถึงความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ เราช่วยกันจัดข้าวของและห้องหลับ ห้องนอน ตลอดจนช่วยครัว ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลา สามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มไม้ วิชาที่เรียนคือ…

1. วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่พวกเราชอบมาก เพราะได้ลงมือเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่งและหัวหอม

2. วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผล และเข้าเฝือก เราจับเด็กชาวนามาชำระล้างและพันแผลให้

3. วิธีทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะเราต้องผลัดเวรกันไปตลาดและทำกับข้าว เวลาบ่ายๆ เราต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของเนตรนาร คือพยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพอ่อนโยน อารีอารอบ ต้องพยายามหาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เวลาเรียกเข้าประชุมอาจารย์มักจะกู่ว่า โว วิลโล่ (คำที่ใช้เป็นเสียงร้องเรียก แทนการใช้สัญญาณนกหวีด) หลาย ๆ ครั้ง พวกเราก็รีบวิ่งมาทันที”

‘กัปตัน ภูธเนศ’ สุดอาลัย โพสต์ถึง ‘แม่แอ๊ด โฉมฉาย ฉัตรวิไล’ ยกเป็นตัวอย่าง ‘ศิลปินอย่างแท้จริง’ ตรงต่อเวลา-มีความรับผิดชอบ

เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.67) มีข่าวที่สร้างความเศร้าเสียใจให้คนในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก สำหรับข่าวการสูญเสียนักแสดงอาวุโส ‘แอ๊ด โฉมฉาย ฉัตรวิไล’ ที่จากไปอย่างสงบ ในวัย 73 ปี

ซึ่งงานนี้ก็มีคนในวงการบันเทิงออกมาโพสต์ข้อความไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นคือพระเอกหนุ่ม ‘กัปตัน ภูธเนศ’ ผู้ซึ่งเคยร่วมแสดงละครในบทลูกชายไม่ว่าจะเป็น ละครเวที ‘ทวิภพ เดอะมิวสิคัล’ หรือซีรีส์อันโด่งดังอย่าง ‘บ้านนี้มีรัก’ โดย ‘กัปตัน’ ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัยว่า

แม่แอ๊ดครับ ผมบอกตัวเองเสมอว่าผมโชคดีมากๆ ที่ได้ทำงานกับแม่ ได้เล่นเป็นลูกชายของแม่ ตั้งแต่ละครเวที ทวิภพ เดอะมิวสิคัล 2548-2549 มาถึงบ้านนี้มีรัก 2549-2559 จนเปรียบเหมือนแม่แอ๊ดคือแม่คนที่สองในชีวิตของผม

แม่เป็นตัวอย่างในการทำงาน การตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบกับบท แม่จำบทเก่งมาก แม่มีความรักในอาชีพของการเป็นนักแสดงอย่างเต็มเปี่ยม และแม่ก็ยังส่งต่อพลังบวกให้กับลูกๆ หลานๆ ทุกคนในกองบ้านนี้มีรักเสมอ

แม่คือ ‘ศิลปิน’ อย่างแท้จริง ทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งรำ ทั้งการแสดง ไม่มีอะไรที่แม่ทำไม่ได้ นอกจากแม่จะไม่ทำ!

แม่ให้ความรักความเมตตากับทุกๆ คน แม้กระทั่งสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะกับน้องหมาจรจัดแถวสตูดิโอจะอิ่มหนำสำราญทุกครั้งที่แม่มาทำงาน

เรื่องที่อยากจะพูดถึงแม่มีอีกเยอะมากครับ พิมพ์ยังไงก็คงไม่พอ

ขอบพระคุณแม่มากๆ นะครับสำหรับความรักความเมตตาอบรมสั่งสอนทั้งผมและเอ้กรวมถึงความรักที่แม่ให้กับหลานดินด้วยครอบครัวเราจะไม่มีวันลืมครับแม่

ผมดีใจและภูมิใจที่สุดนะครับที่ได้เป็นลูกชายของแม่ แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ในละครก็ตาม แต่ผมแค่เสียใจอย่างเดียวที่ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าแม่ไม่สบายเข้าโรงพยาบาล จนมาทราบข่าวเมื่อคืนว่าแม่กลับไปเป็นนางฟ้าแล้ว

ขอให้แม่ได้ไปอยู่กับพระเจ้า อยู่ในที่ๆ ดีที่สุด สงบสุขที่สุด สวยงามที่สุดสำหรับแม่นะครับ

รักและคิดถึงแม่มากๆ ครับ กัปตัน-เอ้ก-ดิน ขอแสดงความเสียใจกับอาร์ตและครอบครัวอย่างที่สุดครับ @artspanitnart

‘เบลล่า’ นำคณะถวายผ้าป่า 2 วัดติด ยอดเกือบ 4 ล้านบาท หนุนอุปกรณ์การแพทย์ - ทำพิธีปิดทองพระนางพญาองค์ใหญ่

(24 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัวสายบุญอย่างดาราสาว ‘เบลล่า’ หรือ นส.ราณี แคมเปญ และคุณแม่ปราณี แคมเปญ ,คุณวีณา เฆมกำเนิดชัย ,ผู้จัดการส่วนตัว พร้อมด้วย ผู้จัดคู่บุญ คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์ และคณะ ได้เริ่มเดินสายขึ้นเหนือไปร่วมทอดผ้าป่าถวายเงินบูรณะปิดทองคำแท้ องค์สมเด็จนางพญาองค์ใหญ่ ที่วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก 

โดยมียอดผ้าป่า ที่กัลยาณมิตรบุญและแฟนคลับร่วมบุญกับคุณเบลล่า ถึง 2,679,756.31 บาท เพื่อหวังให้สถานที่ดังกล่าว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นที่เคารพศรัทธาทางใจของประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวจังหวัดพิษณุโลกด้วย 

จากนั้น เมื่อวานนี้ทางครอบครัวคุณเบลล่า พร้อมด้วยคุณแม่ปราณี ยังเดินทางต่อไปที่วัดสันป่ายางหลวง จังหวัดลำพูน เพื่อนำเงิน 1 ล้านบาทที่น้องเบลล่า และคุณแม่ได้ร่วมกันเป็นสะพานบุญ บอกบุญไปยังพุทธศาสนิกชนที่สนใจจะร่วมบุญกับเบลล่าและครอบครัวในการทอดผ้าป่ามหากุศล เพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนโรงพยาบาลจังหวัดลำพูน เพื่อจัดสร้างหน่วยพยาธิวิทยากายวิภาคเป็นจำนวน 10 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เบลล่า ราณี และคณะได้ร่วมถวายปัจจัย 1 ล้านบาท โดยมีพระเทพรัตนายกเจ้าคณะจังหวัดลำพูนเจ้าอาวาสวัดหริกุญชัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมกับพุทธศาสนิกชนชาวลำพูนที่มาร่วมงานบุญกันอย่างคับคั่ง สร้างความประทับใจมาสู่เบลล่าและครอบครัว เป็นอย่างมาก งานนี้ต้องขอชื่นชม คุณเบลล่า ราณี และคุณแม่ ที่ได้เป็นตัวอย่างของบุคคลที่มีชื่อเสียง และทำประโยชน์ตอบแทนสังคม 

โดยเบลล่า ราณี ได้กล่าวกับประชาชนที่มาร่วมบุญว่า “ความจริงแล้วการทำบุญไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป หากเรามีแรงกายแรงใจ ก็มาร่วมสร้างบุญด้วยกันได้ค่ะ ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านในการทำบุญครั้งนี้ค่ะ”

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ‘ในหลวง ร.9’ เนื่องในวโรกาสครองราชย์ยาวนานที่สุด

พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสทรงครองราชย์สมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งทรงครองราชย์ถึง 40 ปี นานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ของกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่ในวันที่ 11 ถึงวันที่ 18 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 และทรงครองราชย์ต่อมาจนเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมเวลาในรัชสมัยได้ 42 ปี 22 วัน

ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ตามพระราชประเพณีเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ…

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และทรงถวายเครื่องสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ที่หอพระราชกรมานุสร และพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ที่หอพระราชพงศานุสร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นวันสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก ทรงบวงสรวงสังเวยพระสยามเทวาธิราช ซึ่งอัญเชิญจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ออกประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ดวงพระบรมราชสมภพ พระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย เป็นการสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก เพื่อความไพบูลย์แห่งราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และอาณาประชาชนทั้งปวง

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟสวนจิตรลดา ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ณ พลับพลาตรีมุข พระราชวังโบราณ ทรงหลั่งทักษิโณทกพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เป็นเสร็จการพระราชพิธี

สำหรับวันประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2531 นี้ มีสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกก็คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งรองรับผู้เข้าชมในอาคารได้ถึง 80,000 คน และบนอัฒจันทร์ได้อีก 49,722 ที่นั่ง เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่อันดับ 55 ของโลก และอันดับที่ 17 ของเอเชีย และรัฐบาลยังได้สร้างโรงเรียนรัชมังคลาภิเษก เป็นโรงเรียนระดับสามัญศึกษา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันมหามงคลนี้อีกกว่า 30 โรงเรียนด้วย

นึกถึงวันนี้แล้วก็คิดถึง ‘พ่อ’ คงไม่มีใครประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ถือเป็นรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว สายแรกของไทย

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-สำโรง) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ตลอดจนถึงพื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยได้รับสัญญาสัมปทานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2559 ก่อนหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2564 จนในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566 และมีพิธีเปิดทดลองการเดินรถอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิถุนายน และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคมปีเดียวกัน 

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในรูปแบบหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยให้รัฐบาล โดย รฟม. เป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ และเอกชนเป็นผู้ลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินระบบรถไฟฟ้าและกิจการจนครบสัญญา

ทั้งนี้ นาม ‘นัคราพิพัฒน์’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความหมายว่า ‘ความเจริญแห่งเมือง’ โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับมอบนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2543 โดยเป็นการรวมเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองช่วงรัชโยธิน-ศรีเอี่ยม และสำโรง-ศรีสำโรง ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน แต่ได้ถูกนำออกไปเมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บทปี พ.ศ. 2547 และนำกลับมาอีกครั้งในการปรับปรุงแผนแม่บท พ.ศ. 2549 โดยพิจารณาแยกเส้นทางออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรกให้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวตั้งแต่ รัชดา-ลาดพร้าว จนถึงพัฒนาการแล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ารางหนักไปจนถึงสถานีสำโรง และใน พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงเส้นทางสายสีเหลืองให้เป็นรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ก่อนปรับปรุงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 โดยลดเส้นทางเหลือเพียงช่วง ลาดพร้าว–สำโรง และให้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวทั้งสาย

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม ‘จุฬาภรณ์’ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา อีกทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ. 2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ. 2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่าง ๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530

ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น ‘เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์’

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีตาร์

พ.ศ. 2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น ‘สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี’ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เสด็จเยือนนครนิวยอร์ก ประชาชนกว่า 7 แสนคน รับเสด็จเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประชาชนกว่า 7.5 แสนคน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

โดยขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับโรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า…

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top