17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ จุดเริ่มต้นการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ‘ทัชมาฮาล’

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ระหว่างมีพระประสูติกาล โดย ‘สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน’ พระสวามี ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ทัชมาฮาล’ หลุมฝังพระศพให้พระมเหสี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 20 ปี จึงแล้วเสร็จเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ทรงมีต่อพระมเหสีของพระองค์

ทั้งนี้ ทัชมาฮาล มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาอาหรับ โดยคำว่า ‘ตาจญ์’ แปลว่า มงกุฎ และ ‘มะฮัล’ แปลว่า สถาน โดยตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอักรา ประเทศอินเดีย นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ มีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นสุสานหินอ่อน ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชรพลอย หิน โมรา และเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร โดยมีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน

นอกจากนี้ ทัชมาฮาล ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด หออาซาน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีนายช่างที่ออกแบบชื่อ ‘อุสตาด ไอซา’ ถูกประหารชีวิต เพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ซึ่งส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม

อย่างไรก็ตาม หลังจากพระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดทายาทพระองค์ที่ 14 สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงอยู่ในพระอาการโศกเศร้าถึง 2 ทศวรรษ พระราชทรัพย์ส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์ พระองค์ถูกกักขังถึง 8 ปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2209

ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในพระหัตถ์ พระศพของพระองค์ถูกฝังในทัชมาฮาลเคียงข้างพระมเหสี ซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม


ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก TODAY