Saturday, 29 June 2024
มุมตัซมาฮาล

17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ จุดเริ่มต้นการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ‘ทัชมาฮาล’

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ระหว่างมีพระประสูติกาล โดย ‘สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน’ พระสวามี ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ทัชมาฮาล’ หลุมฝังพระศพให้พระมเหสี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 20 ปี จึงแล้วเสร็จเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ทรงมีต่อพระมเหสีของพระองค์

ทั้งนี้ ทัชมาฮาล มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาอาหรับ โดยคำว่า ‘ตาจญ์’ แปลว่า มงกุฎ และ ‘มะฮัล’ แปลว่า สถาน โดยตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอักรา ประเทศอินเดีย นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ มีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นสุสานหินอ่อน ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชรพลอย หิน โมรา และเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร โดยมีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน

นอกจากนี้ ทัชมาฮาล ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด หออาซาน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีนายช่างที่ออกแบบชื่อ ‘อุสตาด ไอซา’ ถูกประหารชีวิต เพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ซึ่งส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม

อย่างไรก็ตาม หลังจากพระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดทายาทพระองค์ที่ 14 สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงอยู่ในพระอาการโศกเศร้าถึง 2 ทศวรรษ พระราชทรัพย์ส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์ พระองค์ถูกกักขังถึง 8 ปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2209

ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในพระหัตถ์ พระศพของพระองค์ถูกฝังในทัชมาฮาลเคียงข้างพระมเหสี ซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top