Monday, 17 June 2024
GoodsVoice

‘สุริยะ’ เยือนอิตาลี ดึงภาคธุรกิจลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ แฮปปี้!! โครงการได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้เข้าร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ‘Thai - Italian Business Forum’ โดยจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศอิตาลี ณ สภาหอการค้าอิตาลี กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ร่วมกับประธานสภาหอการค้าอิตาลี พร้อมทั้งได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าอิตาลีและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอิตาลีให้เพิ่มมากขึ้น

นายสุริยะ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้นโยบาย gnite Thailand ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล เพื่อมุ่งที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ พร้อมได้เชิญชวนนักธุรกิจชาวอิตาลีที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในธุรกิจสินค้าหรูหรา (Luxury) เข้าร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยคาดหวังให้ไทยกับสหภาพยุโรปเกิดข้อตกลงการค้าเสรี ภายในปี 2568

ด้าน นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ในช่วงโอกาสการลงทุนในประเทศไทย ให้สมาชิกสภาหอการค้าอิตาลีได้ทราบถึงความเป็นมาของโครงการ รายละเอียด โอกาสในการลงทุน รูปแบบการลงทุน รวมถึงสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทยและอิตาลี เพื่อเชิญชวนให้ภาคธุรกิจอิตาลีที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักธุรกิจของอิตาลีเป็นอย่างมาก

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยเริ่มคึกคัก แม้จะเป็นเพียงภาคสมัครใจ แต่โตไวจนน่าผลักแรงๆ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน' เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

พลานุภาพในการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน นับวันจะมีพลังสูงขึ้น เมื่อตลาดและสังคมร่วมกันกดดันให้ธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตลาดคาร์บอนในไทยยังเป็นเพียงประเภทสมัครใจ แต่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 400 โครงการ และรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 16 ล้านตัน

ตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรป หรือ EU Emissions Trading System เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องหนาแน่นที่สุด ทางการสหภาพยุโรปจัดสรรสิทธิการปล่อยคาร์บอน (Emissions Allowances) ไปยังธุรกิจสาขาต่างๆ กิจการไหนปล่อยมากกว่าสิทธิที่มี ก็จะต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย หรือไม่ก็ต้องเสียภาษีคาร์บอน  ส่วนกิจการไหนที่มีสิทธิส่วนเกินเหลืออยู่ ก็สามารถนำออกขายในตลาดได้ ระบบ Cap and Trade นี้ได้ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพ สิทธิการปล่อยคาร์บอนนี้นับวันจะมีปริมาณลดลงเพื่อให้ประเทศต่างๆบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ตามข้อผูกพัน ซึ่งเมื่อสิทธิลดลง ราคาก็ย่อมสูงขึ้นตามกลไกตลาด 

ตลาด ETS ของสหภาพยุโรป มีปริมาณและสภาพคล่องสูง กำหนดราคาคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้คาร์บอนเป็นสินทรัพย์ (Asset Class) ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าคาร์บอนได้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเงินที่เป็นสื่อกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) เข้าไปทุกที

ตลาดคาร์บอนไทย แม้จะยังเป็นเพียงภาคสมัครใจแต่ก็มีการขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คาร์บอนจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรป และในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตลาดการเงินและสถาบันการเงินในประเทศได้ปรับตัวไปบ้างแล้ว ก.ล.ต. ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมและกองทรัสต์ที่ลงทุนในที่ดินเพื่อการปลูกป่าและขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้หลัก กองทุน ESG ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลดโลกร้อน

ธุรกิจหลายสาขาก็กำลังแปลงโฉมเป็นธุรกิจคาร์บอนตำ่ ในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว น่าจะต้องเร่งปรับปรุงตัวเข้าสู่ความเป็น Net Zero หรืออย่างน้อยความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเร็ว เพื่อจะไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มใหม่ของโลกนี้

วันนี้ คาร์บอนกลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่สำคัญทั่วโลก และนับวันจะมีค่ามากขึ้น อบก. พร้อมที่จะทำงานกับธุรกิจและสังคมทุกภาคส่วน ด้วยวิธีการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน

เปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใน 10 ชาติอาเซียน ประเทศไหน 'ถูก-แพง' หากใช้ค่าแรงตั้ง หารด้วย 'ราคาต่อหน่วย'

บ่อยครั้งที่บ้านเรามีการหยิบยกเอาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเปรียบเทียบกับรายรับของประชากร ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ ด้วยการเอาค่าแรงตั้งแล้วหารด้วยราคาจำหน่ายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิง จนได้ผลออกมาว่า 'ค่าแรงของแต่ละประเทศนั้นจะสามารถซื้อน้ำมันได้กี่ลิตร' เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ 10 รัฐสมาชิก ASEAN 

แม้วิธีการคิดแบบนี้จะง่ายและดูเหมือนมีความชัดเจน แต่เป็นวิธีการที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ได้พิจารณาด้วยข้อมูลจากดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) 

ดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) เป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นค่าฐานอยู่ที่ร้อยละ 100 (100%)

ดัชนีค่าครองชีพยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานสําหรับการเปรียบเทียบความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของสถานที่ที่แตกต่างกันสําหรับ บุคคล, ครอบครัว และธุรกิจ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่...

- ค่าที่อยู่อาศัย : ค่าเช่าหรือค่าจํานองภาษีทรัพย์สินและค่าสาธารณูปโภค
- ค่าอาหาร : ร้านขายของชําและรับประทานอาหารนอกบ้าน
- ค่าขนส่ง : น้ำมันเบนซิน การขนส่งสาธารณะ และค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษายานพาหนะ
- ค่ารักษาพยาบาล : เบี้ยประกันสุขภาพ และค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือความคุ้มครองของประกัน
- ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา : ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน และการใช้จ่ายในดูแลเด็กเล็ก
- ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการและความบันเทิง : กิจกรรมสันทนาการ ความบันเทิง และสินค้าเพื่อการพักผ่อน
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด : เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

***หากค่าของดัชนีค่าครองชีพในประเทศใด 'สูง' จะหมายถึงว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศนั้นย่อมสูงตามไปด้วย

ทีนี้หากเปรียบเทียบ ราคาน้ำเบนซินต่อลิตร กับค่าแรงหนึ่งวัน และดัชนีค่าครองชีพ ของ ASEAN 10 ประเทศ (คิดเป็นเงินบาท) พอจะสรุปข้อมูลได้ดังนี้...

1. สิงคโปร์ : ราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 79 บาท แรงงานมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 46,051 บาท หรือวันละ 1,535 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 19.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 (สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN มีระบบการขนส่งมวลชนดีที่สุดใน ASEAN ชาวสิงคโปร์จึงใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกันน้อยมาก)

2. บรูไน : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 14 บาท ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ต่อเดือนประมาณ 28,431 บาท หรือวันละ 948 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 67.7 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 50.5 (บรูไนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของ ASEAN)

3. มาเลเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 16 บาท ค่าแรงวันละ 392 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 24.5 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.5 (รัฐบาลมาเลเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราวปีละ 387,069,500 ล้านบาท)

4. ไทย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 38.5 บาท ค่าแรงวันละ 363 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 36.04 (ไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้การอุดหนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG)

5. ฟิลิปปินส์ : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 37 บาท ค่าแรงวันละ 362 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.8 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 33.6 (รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะฟื้นฟูกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (OPSF) ซึ่งยกเลิกไปในปี 1996 กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง)

6. อินโดนีเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 35.5 บาท ค่าแรงวันละ 351 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.9 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 28.5 (รัฐบาลอินโดนีเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ราวปีละ 303,245,769 ล้านบาท)

7. เวียดนาม : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 33 บาท ค่าแรงวันละ 234 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 7.1 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.8 (เวียดนามมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง)

8. กัมพูชา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 43.5 บาท ค่าแรงวันละ 227 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 5.2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.5 และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

9. ลาว : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 54 บาท ค่าแรงวันละ 85 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 1.6 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 44.4 (ลาวพึ่งจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในปีนี้) และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

10. เมียนมา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 40.5 บาท ค่าแรงวันละ 81 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.6

ดังนั้นวิธีการเอา 'ค่าแรงตั้ง' หารด้วย 'ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อหน่วย' ได้คำตอบเป็น 'ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง' จึงเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง หากไม่นำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาประกอบร่วม โดยเฉพาะ 'ดัชนีค่าครองชีพ' เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ค่าแรงจะสามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่าประเทศอื่น แต่หากดัชนีค่าครองชีพสูง อาทิ ดัชนีค่าครองชีพของสิงคโปร์ ที่สูงถึง 81.9 ซึ่งหมายความว่า ถ้าค่าครองชีพในมหานครนิวยอร์กเท่ากับวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ประชาชนชาวสิงคโปร์ต้องจ่ายค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อต้องใช้จ่ายค่าครองชีพที่สูงลิ่วแล้ว แน่นอนว่าคนสิงคโปร์ก็คงจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อรถยนต์ ซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าที่จอดรถอีกซึ่งแพงมากๆ และไหนจะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 

ส่วนบางประเทศได้ใช้น้ำมันราคาถูก นั่นก็เพราะภาครัฐต้องใช้งบประมาณของประเทศจำนวนมากมายมหาศาลในการอุดหนุนราคา ซึ่งน่าเสียดายแทน เพราะแทนที่จะได้เอางบประมาณดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ 

ดังนั้น เมื่อลองพิจารณาจากตัวเลขข้อมูลโดยรวมในหลายๆ มิติแล้ว ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศต่างก็มีความเหมาะสมถูกต้องตามแต่บริบทของประเทศนั้นๆ โดยใน ASEAN มีบรูไนประเทศเดียวเท่านั้นที่มีน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันเอง ในขณะที่อีก 9 ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดิบหรือน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง 

โดยสรุป ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะถูกหรือแพงนอกจากเรื่องของราคาแล้วยังต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วนอีกด้วย จึงจะเข้าใจว่าราคาน้ำเชื้อเพลิงที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมของแต่ละประเทศนั้น ควรเป็นเท่าใด? และด้วยเหตุผลอันใด?

‘สวทช.’ ผนึกกำลังหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดตั้ง ‘ธนาคารอาหาร’ หวังแก้วิกฤตปริมาณขยะอาหาร ด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตขยะอาหารที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง

นอกเหนือจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤตปัญหาขยะอาหาร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน

และเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เปิดตัว ‘โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) : การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’

เพื่อสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย มุ่งลดปริมาณขยะอาหารด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร ส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ส่องสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอ่วม!! แตะ 1.1 แสนล้านบาท จำใจขยับดีเซล 50 สต. แต่ยังพยุง LPG 423 บาท ถึง 30 มิ.ย.67

(25 พ.ค.67) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท

โดย ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานว่า มีการใช้เงินชดเชยราคา LPG ไปแล้วรวม 47,624 ล้านบาท ซึ่งใกล้เต็มกรอบวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กบน. จึงได้ขยายกรอบวงเงินเพื่อชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคา LPG ให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ได้ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 4.15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 44.47 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,334 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ราคา LPG โลกยังทรงตัวในระดับสูงที่ 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทาง กบง. ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และย้อนไปในช่วงเดือน มี.ค. 2567 กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. 2567 ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน 

แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคา LPG แต่อย่างใด จึงส่งผลให้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 กบน. ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 ยังติดลบอยู่ 110,854 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,230 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 47,624 ล้านบาท

โดยกองทุนน้ำมันฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 2565-2566 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กบน. ได้พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาดีเซลรวมไปแล้ว 5 ครั้ง รวมราคา 2.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาโดยลดการชดเชยราคา LPG ลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนฯ ยังต้องดึงเงินในกองทุนฯ มาพยุงราคาต่อไปก่อน  

'อ.วีระศักดิ์' ชี้!! 'โลกร้อน' อีกสาเหตุสำคัญทำเครื่องบินตกหลุมอากาศ พร้อมแนะทางออกภาคการท่องเที่ยวไทยในสภาวะโลกกำลังเดือด

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'เครื่องบินตกหลุมอากาศ กับ ภาวะโลกร้อน และการปรับตัวของภาคท่องเที่ยวไทย?' 

อ.วีระศักดิ์ เริ่มต้นด้วยกับประเด็นที่ว่าการตกหลุมอากาศลึกกว่า 2 กิโลเมตร ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีสาเหตุจากอะไร? โดยกล่าวว่า เรารู้แล้วว่าทำไมโลกถึงร้อน เพราะว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบโลก มันสะท้อนกลับไปในอวกาศได้ไม่หมด เพราะมันมีก๊าซเรือนกระจกขวางอยู่ ตอนที่แสงส่องลงมามันเป็นคลื่นความถี่สูงทะลุทะลวงได้ดี เมื่อกระทบพื้นดินหรือพื้นน้ำ มันกลายเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้สะท้อนอยู่ภายในโลกของเรา อุณหภูมิของโลกจึงอุ่นขึ้น โดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีการรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์โดยตรง น้ำจะระเหยเยอะ

ดังนั้น พอน้ำระเหย พวกมันจะเจอความร้อนตามขึ้นมาเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้ลอยตัวสูงมากถึงชั้นที่เครื่องบินกำลังลอยตัวกันอยู่ เรียกว่า ลมพายกลอยตัว 

ตอนลอยตัวขึ้นไปเจอกับความเย็น บางช่วงอากาศมันก็จะกดตัวลงเมื่อเจอกับความเย็น เหมือนเป็นท่อลำเลียงให้อากาศและไอน้ำลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งมันก็จะเทลง เครื่องบินที่บินมาอาจเจออากาศพายกขึ้น และถ้าเจออากาศที่มันกดลงพอดี เรียกว่า 'แรงเฉือนของลม'

ในโลกใบนี้ยังมีลมหมุนจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก หรือเรียกว่า Jet Stream (กระแสลมกรด) ส่วนใหญ่การตกหลุมอากาศมักเกิดขึ้นตอนกลางวัน และช่วงเย็น ๆ ทางแก้ไขในเรื่องนี้คือ เวลาโดยสารเครื่องบินต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตามประกาศของนักบิน หรือถ้าบินในระยะทางสั้น ๆ บินเที่ยวเช้าก็น่าจะพอช่วยได้

ทั้งนี้เมื่อถามถึงผลกระทบจากโลกร้อน จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยด้วยแค่ไหน และควรรับมืออย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสนใจ ทำความเข้าใจ และต้องตั้งใจช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เราต้องทำให้การท่องเที่ยวมีความสุข สบาย สะดวก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวในโลกนี้ต่อไปจากนี้ จะเป็นกลุ่มครอบครัวและผู้สูงอายุมากขึ้น ฉะนั้นสภาวะโลกร้อนปัจจุบัน ที่เรากำลังเจอในลักษณะ ร้อน-แห้ง และร้อน-เปียก ต้องถูกวางแผนให้กับภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น ภาวะร้อน-แห้ง ควรจัดแผนการท่องเที่ยวอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในที่ร่มได้ ไม่เที่ยวกลางแจ้งมากนัก ส่วนภาวะร้อน-เปียก ควรจัดแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่การเลือกเส้นทางมีน้ำท่วมหรือไม่ ต้องวางแผนล่วงหน้า เป็นต้น 

ส่วนเรื่องการเดินทางควรสนับสนุนให้มีการซื้อประกันการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งระบบประกันของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทำให้มีความรู้สึกว่ามีมืออาชีพดูแลสร้างความสบายใจได้ตลอดทริป 

สรุปแล้วภาครัฐและผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ ทำให้ตลาดท่องเที่ยวของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตไปกับภาวะโลกร้อนต่อไป

'รมว.ปุ้ย' แจ้ง!! กากแคดเมียมที่คลองกิ่ว-ชลบุรี เริ่มขนกลับตากแล้ว มั่นใจ!! ทุกขั้นตอนปลอดภัย ขนเสร็จทันตามกำหนด 17 มิ.ย.นี้

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนการขนย้ายกากแคดเมียม จากกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร กลับไปจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 18 วัน สามารถขนกากแคดเมียมได้จำนวนทั้งสิ้น 2,180 ถุง น้ำหนักรวม 3,432 ตัน คิดเป็นร้อยละ 26.50 ของจำนวนกากแคดเมียมทั้งหมด  

(25 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นวันแรกที่เริ่มการขนกากแคดเมียม จากโกดังที่ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อไปยังโรงพักคอยของ บริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก โดยใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 คัน บรรทุกกากแคดเมียม จำนวน 76 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน ออกเดินทางจากชลบุรีในเวลา 15.00 น. นำขบวนโดยรถเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปทส. คาดว่าจะถึงจังหวัดตากในเวลา 21.00 น. 

และในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะใช้รถจำนวน 10 คัน ทยอยขนจากโกดังคลองกิ่วจนครบจำนวน 4,391 ตัน เพื่อให้ทันตามกำหนดเดิมในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้กระบวนการขนย้ายยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะทำงานแก้ปัญหาและการขนย้ายกากแคดเมียมกำหนดไว้ทุกประการ ทั้งการซ้อนถุง การชักตัวอย่างตรวจสอบ การทำความสะอาด และการลงระบบติดตามและตรวจสอบการขนย้าย (e-Manifest) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก  

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงบ่อฝังกลบของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบและประเมินสภาพความแข็งแรงและการรั่วซึมของบ่อ ซึ่งบริษัทฯ จะได้เสนอแผนการปรับปรุงให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากแคดเมียมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

‘Nokia 3210 - Nokia 215’ บุกตลาดมือถือ ด้วยจอขนาดใหญ่ พร้อมเกมงูสุดคลาสสิก อัปเกรดฟีเจอร์ใหม่ เปิดตัววางจำหน่ายในไทย 27 พ.ค.นี้ ราคาเริ่มต้นที่ 1,490 บาท

(25 พ.ค.67) เอชเอ็มดี ประเทศไทย เดินเครื่องรุกตลาดฟีเจอร์โฟนคลาสสิก รุ่นตำนานแห่งยุค Y2K อย่างมีสไตล์ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ประกาศพร้อมจำหน่ายฟีเจอร์โฟน 4G อย่างเป็นทางการ 2 รุ่น Nokia 3210 เวอร์ชันปี 2024 ในราคาจับต้องได้ 1,990 บาท พร้อม Nokia 215 4G (2024) ในราคาเพียง 1,490 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. นี้ ชูดีไซน์การกลับมาของ Nokia 3210 ที่คงเอกลักษณ์ดั้งเดิม เพิ่มเติมคือเพรียวบาง ทันสมัย อัปเกรดฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์ กล้อง 2MP แฟลช และไฟฉาย รองรับแอปพลิเคชัน Cloud ที่ให้ผู้ใช้เข้าถึง โซเชียลมีเดีย ยูทูบ ข่าวสาร สภาพอากาศ มาพร้อมแบตเตอรี่ความจุ 1,450 mAh อึดทน ใช้งานได้กว่า 1-2 สัปดาห์ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง พร้อมเกมงูสุดคลาสสิก

นายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล กล่าวว่า HMD เดินเครื่องกลยุทธ์ รุกตลาดฟีเจอร์โฟนคลาสสิกในประเทศไทยปีนี้ ด้วยการปล่อย 2 ฟีเจอร์โฟน 4G ระดับตำนาน ปลุกกระแสพร้อมกันในตลาด ทั้ง Nokia 3210 ที่มาพร้อมการพัฒนาเพื่อสอดรับไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภคปัจจุบันในเวอร์ชันปี 2024 และ Nokia 215 4G (2024) อัปเกรดฟีเจอร์การใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ วางจำหน่ายพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ตั้งเป้าจับกลุ่มผู้บริโภคทุกช่วงวัย ตอกย้ำจุดแข็งแบรนด์ ส่งมอบโทรศัพท์ที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิต และทดสอบด้วยมาตรฐานระดับสากล ครบเครื่องทั้งฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์ มั่นใจคุณภาพความอึด ทนทานตลอดการใช้งาน ในราคาสบายกระเป๋า มองฟีเจอร์โฟนยังเป็นที่ต้องการและมีแนวโน้มเติบโตในตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการเป็นเครื่องเสริม หรือสำหรับทำงานโดยเฉพาะ และกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการโทรศัพท์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน เน้นหน้าจอขนาดใหญ่คมชัด เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ตัวเครื่องจับถนัดมือ และปุ่มกดขนาดใหญ่

Nokia 3210 เวอร์ชันปี 2024 เปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายในตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการกับสีดำ Grunge Black ในราคา 1,990 บาท ชูดีไซน์ย้อนยุคอย่างมีเอกลักษณ์ เพรียวบางแต่ทันสมัย พร้อมกับฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์ กล้องคมชัดด้วยความละเอียด 2MP พร้อมแฟลชและไฟฉาย ตอกย้ำการใช้งานที่ยาวนานกับแบตเตอรี่ขนาด 1450 mAh1 ประหยัดพลังงาน สามารถใช้งานได้นานกว่า 1-2 สัปดาห์ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และที่สำคัญเป็นรุ่นที่มาพร้อมระบบรองรับ Cloud Phone Apps ซอฟต์แวร์ที่ให้คุณเข้าถึงโซเชียลบนระบบออนไลน์โดยไม่ต้องติดตั้งในเครื่อง ได้ชิปเซต Unisoc T107 มาขับเคลื่อน และยังมาพร้อม RAM 64 MB และ ROM 128 MB พร้อมรองรับ microSD Card สูงสุดถึง 32GB พร้อมกันนี้ ด้านระบบปฏิบัติการซอฟต์แวร์ คือ S30+ รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.0 ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. วิทยุ FM แบตเตอรี่ขนาด 1,450 mAh สามารถถอดเปลี่ยนได้ ชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ต USB-C และที่ขาดไม่ได้คือเกมงูสุดคลาสสิก

นอกจากนี้ HMD ยังมาพร้อมกับ Nokia 215 4G (2024) ปรับโฉมใหม่ ด้วย 2 สีหลัก สีดำ (Black) และสีส้ม (Peach Peach) ตอกย้ำความทนทานอันเป็นเอกลักษณ์ ในราคา 1,490 บาท อัปเกรดฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์บนหน้าจอขนาดใหญ่ IPS LCD ความละเอียด QVGA ขนาด 2.8 นิ้ว ให้ความชัดคมในทุกมิติ พร้อมแป้นพิมพ์ปุ่มกดขนาดใหญ่ ให้สัมผัสนุ่ม ตอบสนองฉับไว ตัวเครื่องจับง่ายกระชับมือ และด้านหลังมีความโค้งมนสไตล์คลาสสิก ใช้ระบบปฏิบัติการ S30+ พร้อม RAM 64 MB และ ROM 128 MB ชิปเซ็ตประมวลผล Unisoc T107 และรองรับ 4G เพิ่มคุณภาพในการโทรผ่านเครือข่ายที่คมชัดผ่าน VoLTE พร้อมระบบ Cloud Phone Apps ซอฟต์แวร์ที่ให้คุณเข้าถึงโซเชียลบนระบบออนไลน์โดยไม่ต้องติดตั้งในเครื่อง ใช้งานได้ยาวนานด้วยแบตเตอรี่ขนาด 1,450 mAh สามารถถอดเปลี่ยนได้ พร้อมเพลิดเพลินกับเกมสุดคลาสสิกอย่างเกมงู และเกมรถ

ฟีเจอร์โฟน Nokia 3210 และ Nokia 215 4G พร้อมวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 นี้เป็นต้นไป ผ่านตัวแทนจำหน่าย HMD ทั่วประเทศ ร้าน TG Fone ทั่วประเทศ และทางช่องทางออนไลน์ Nokia Official Shop ใน Shopee Mall และที่ LazMall ใน Lazada

ส่อง 'เศรษฐกิจไทย' ในวันที่ขยายตัวช้า-ความเชื่อถือ (ข้าวไทย) ตกต่ำ วาทกรรม 'คนไทยจะมีกินมีใช้' จะเป็นจริงได้ใต้ทีม ศก.ยุคนี้จริงหรือ?

คลังฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.4% ต่ำลงจากประมาณการเดิม 2.8% ณ เดือนมกราคม 2567  

ภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ของรัฐบาล หากประเมินคงต้องบอกว่า 'ไม่ผ่าน' ทั้งที่ช่วงปลายปี 2566 ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 จะขยายตัวสูงถึง 3.2% หลังภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ทุบเศรษฐกิจทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย ยาวถึงเกือบ 3 ปี ดังนั้น เศรษฐกิจปี 2567 น่าจะต้องดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปรับลด ต่ำลงเรื่อย ๆ 

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะสร้างความหวัง ให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับขึ้นสูง เช่น พริกขี้หนูสวน ที่ราคาทะลุ กิโลกรัม ละ 800 บาท แพงสุดในประวัติศาสตร์...

ตามด้วยข่าวร้อน การแถลงข่าวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดประมูล ข้าวโครงการรับจำนำ ที่เก็บมา 10 ปี พร้อมนำออกมาจำหน่าย 

ภาพแรก คือ การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา สื่อของประเทศไนจีเรียออกข่าว กังวลการสั่งซื้อข้าวจากไทยทันที กลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพข้าวไทยที่จะส่งออก ถึงแม้ต่อมา จะมีการส่งพิสูจน์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รับรองคุณภาพข้าว ก็ตาม 

บางสื่อได้พยายามเสนอข่าว นำข้าว 10 ปี ไปหุงรับประทาน แต่หากถามผู้บริโภคทั่วไป ใครอยากกินข้าวค้าง 10 ปี บ้าง ? เอกชนบางราย จึงออกมาประกาศ ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลซื้อข้าว 10 ปี เมื่อฝ่ายค้านไม่ทำงาน ก็คงต้องพึ่งพ่อค้า มาทำหน้าที่แทน 

และแน่นอนว่า ราคาข้าวที่กำลังปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี เกษตรกรเริ่มยิ้มได้ กลับมาโดนข่าวนี้ ทุบราคาข้าว การส่งออกข้าว ก็คงโดนกระทบตามไปด้วย ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวแล้ว แทนที่จะเร่งชูคุณภาพข้าว ยกระดับราคาข้าว กระตุ้นการส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สรุปว่า จะนำข้าว 10 ปี จำนวน 1.5 หมื่นตัน ในโครงการจำนำข้าวออกมา ‘ขาย’ งานนี้เพื่อใคร? 

การบริโภคภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงจากประมาณการเดิมตามการส่งออกที่ฟื้นช้าลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูง มูลค่าการส่งออกสินค้า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.7%     

แรงส่งด้านอุปสงค์ส่วนใหญ่ที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาด้านอุปทานที่อ่อนแอ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงมาก 

อินฟลูเอนเซอร์สำนักต่าง ๆ ที่ทำ Content ในช่วง 2-3 ปีก่อน ว่า ‘ประชาชนจะอดตายกันแล้ว’ ปัจจุบันยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง เหมือนเดิมไหม ? ‘ประชาชน จะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้’ วลี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คงจะติดตราตรึง ไปอีกนาน

'รมว.ปุ้ย' ชู!! 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ผลักดันสู่ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ก.อุตฯ หวังเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดนใจตลาดโลก

(27 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ว่า ช่วงเวลากว่า 8 เดือน จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมมอบนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ในการเร่งรัดสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินภารกิจให้สำเร็จต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเกิดผลอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย...

- รื้อ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น 
- ลด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่ก่อนการอนุญาตไปจนถึงการกำกับดูแลและการปราบปรามผู้กระทำความผิด 
- ปลด ภาระให้ผู้ประกอบการโดยปรับลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการ 
- และ สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างบูรณาการ

ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติงานส่งผลให้หลายเรื่องเริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากผลงานสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและในเชิงพื้นที่ อาทิ การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน ยกเลิกการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น การแก้ไขกฎหมายโรงงาน เพื่อปลดล็อคเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) การกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย 

นอกจากนี้ ยังได้เข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคต สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เร่งผลักดันให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดโลกได้มากขึ้น / ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ทั้งซัพพลายเชนครบวงจร / พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ / สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่าน SME D Bank และกองทุนฯ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม / ผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทชพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยภายในประเทศ / การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ / แก้ปัญหา PM 2.5 จากการเผาอ้อย การสนับสนุนพลังงานสะอาด และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเน้นการพัฒนานิคมฯ Smart Park เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม เป็นต้น

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันโครงการใหม่ ๆ เช่น...

- การขับเคลื่อน Green Productivity เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย มาใช้พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์  
- การจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่ EEC มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน 

- การเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง 
- รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทช ส่งเสริมการใช้แร่ลิเทียมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโกโก้ ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมเกษตรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ 'สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง' โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าหน้าที่ อก. ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกเรื่องอย่างทันท่วงที ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด การผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ครอบคลุมมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top