'อ.วีระศักดิ์' ชี้!! 'โลกร้อน' อีกสาเหตุสำคัญทำเครื่องบินตกหลุมอากาศ พร้อมแนะทางออกภาคการท่องเที่ยวไทยในสภาวะโลกกำลังเดือด

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'เครื่องบินตกหลุมอากาศ กับ ภาวะโลกร้อน และการปรับตัวของภาคท่องเที่ยวไทย?' 

อ.วีระศักดิ์ เริ่มต้นด้วยกับประเด็นที่ว่าการตกหลุมอากาศลึกกว่า 2 กิโลเมตร ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีสาเหตุจากอะไร? โดยกล่าวว่า เรารู้แล้วว่าทำไมโลกถึงร้อน เพราะว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบโลก มันสะท้อนกลับไปในอวกาศได้ไม่หมด เพราะมันมีก๊าซเรือนกระจกขวางอยู่ ตอนที่แสงส่องลงมามันเป็นคลื่นความถี่สูงทะลุทะลวงได้ดี เมื่อกระทบพื้นดินหรือพื้นน้ำ มันกลายเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้สะท้อนอยู่ภายในโลกของเรา อุณหภูมิของโลกจึงอุ่นขึ้น โดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีการรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์โดยตรง น้ำจะระเหยเยอะ

ดังนั้น พอน้ำระเหย พวกมันจะเจอความร้อนตามขึ้นมาเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้ลอยตัวสูงมากถึงชั้นที่เครื่องบินกำลังลอยตัวกันอยู่ เรียกว่า ลมพายกลอยตัว 

ตอนลอยตัวขึ้นไปเจอกับความเย็น บางช่วงอากาศมันก็จะกดตัวลงเมื่อเจอกับความเย็น เหมือนเป็นท่อลำเลียงให้อากาศและไอน้ำลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งมันก็จะเทลง เครื่องบินที่บินมาอาจเจออากาศพายกขึ้น และถ้าเจออากาศที่มันกดลงพอดี เรียกว่า 'แรงเฉือนของลม'

ในโลกใบนี้ยังมีลมหมุนจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก หรือเรียกว่า Jet Stream (กระแสลมกรด) ส่วนใหญ่การตกหลุมอากาศมักเกิดขึ้นตอนกลางวัน และช่วงเย็น ๆ ทางแก้ไขในเรื่องนี้คือ เวลาโดยสารเครื่องบินต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตามประกาศของนักบิน หรือถ้าบินในระยะทางสั้น ๆ บินเที่ยวเช้าก็น่าจะพอช่วยได้

ทั้งนี้เมื่อถามถึงผลกระทบจากโลกร้อน จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยด้วยแค่ไหน และควรรับมืออย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสนใจ ทำความเข้าใจ และต้องตั้งใจช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เราต้องทำให้การท่องเที่ยวมีความสุข สบาย สะดวก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวในโลกนี้ต่อไปจากนี้ จะเป็นกลุ่มครอบครัวและผู้สูงอายุมากขึ้น ฉะนั้นสภาวะโลกร้อนปัจจุบัน ที่เรากำลังเจอในลักษณะ ร้อน-แห้ง และร้อน-เปียก ต้องถูกวางแผนให้กับภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น ภาวะร้อน-แห้ง ควรจัดแผนการท่องเที่ยวอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในที่ร่มได้ ไม่เที่ยวกลางแจ้งมากนัก ส่วนภาวะร้อน-เปียก ควรจัดแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่การเลือกเส้นทางมีน้ำท่วมหรือไม่ ต้องวางแผนล่วงหน้า เป็นต้น 

ส่วนเรื่องการเดินทางควรสนับสนุนให้มีการซื้อประกันการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งระบบประกันของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทำให้มีความรู้สึกว่ามีมืออาชีพดูแลสร้างความสบายใจได้ตลอดทริป 

สรุปแล้วภาครัฐและผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ ทำให้ตลาดท่องเที่ยวของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตไปกับภาวะโลกร้อนต่อไป