ส่องสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอ่วม!! แตะ 1.1 แสนล้านบาท จำใจขยับดีเซล 50 สต. แต่ยังพยุง LPG 423 บาท ถึง 30 มิ.ย.67

(25 พ.ค.67) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท

โดย ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานว่า มีการใช้เงินชดเชยราคา LPG ไปแล้วรวม 47,624 ล้านบาท ซึ่งใกล้เต็มกรอบวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กบน. จึงได้ขยายกรอบวงเงินเพื่อชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคา LPG ให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ได้ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 4.15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 44.47 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,334 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ราคา LPG โลกยังทรงตัวในระดับสูงที่ 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทาง กบง. ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และย้อนไปในช่วงเดือน มี.ค. 2567 กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. 2567 ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน 

แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคา LPG แต่อย่างใด จึงส่งผลให้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 กบน. ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 ยังติดลบอยู่ 110,854 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,230 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 47,624 ล้านบาท

โดยกองทุนน้ำมันฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 2565-2566 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กบน. ได้พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาดีเซลรวมไปแล้ว 5 ครั้ง รวมราคา 2.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาโดยลดการชดเชยราคา LPG ลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนฯ ยังต้องดึงเงินในกองทุนฯ มาพยุงราคาต่อไปก่อน