Monday, 21 April 2025
LPG

ปตท. ขยายเวลาตรึงราคาก๊าซ NGV - LPG ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มเปราะบาง

(27 ธ.ค. 65) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่มกราคม - เมษายน 2566) และขอความร่วมมือ ปตท. สนับสนุนรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นั้น

ปตท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งพยายามจัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท พร้อมมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 

ต่อลมหายใจ!! ‘กบง.’ ไฟเขียว ตรึงราคา LPG-NGV ต่ออีก 3 เดือน แบ่งเบาภาระ ปชช. เริ่ม 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 66 นี้

(8 มี.ค 66) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือก๊าซหุงต้ม โดยคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานกำกับดูแลสถานีบริการก๊าซ LPG ไม่ให้มีการลักลอบเติมก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์ลงในถังก๊าซหุงต้ม

ส่องสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอ่วม!! แตะ 1.1 แสนล้านบาท จำใจขยับดีเซล 50 สต. แต่ยังพยุง LPG 423 บาท ถึง 30 มิ.ย.67

(25 พ.ค.67) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท

โดย ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานว่า มีการใช้เงินชดเชยราคา LPG ไปแล้วรวม 47,624 ล้านบาท ซึ่งใกล้เต็มกรอบวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กบน. จึงได้ขยายกรอบวงเงินเพื่อชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคา LPG ให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ได้ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 4.15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 44.47 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,334 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ราคา LPG โลกยังทรงตัวในระดับสูงที่ 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทาง กบง. ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และย้อนไปในช่วงเดือน มี.ค. 2567 กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. 2567 ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน 

แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคา LPG แต่อย่างใด จึงส่งผลให้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 กบน. ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 ยังติดลบอยู่ 110,854 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,230 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 47,624 ล้านบาท

โดยกองทุนน้ำมันฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 2565-2566 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กบน. ได้พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาดีเซลรวมไปแล้ว 5 ครั้ง รวมราคา 2.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาโดยลดการชดเชยราคา LPG ลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนฯ ยังต้องดึงเงินในกองทุนฯ มาพยุงราคาต่อไปก่อน  

สกนช. ปรับลดเงินชดเชยราคา LPG ลงเหลือ 3.6842 บาท/กก. ขณะที่ภาพรวมบัญชี LPG ยังติดลบ 47,444 ล้านบาท

(3 ต.ค. 67) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ประกาศปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG สำหรับโรงแยกก๊าซฯ เหลือ 6.9943 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมปรับลดเงินชดเชยราคา LPG เหลือ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคา LPG โลกอยู่ที่ระดับ 622.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่บัญชี LPG มีเงินไหลเข้า 43.39 ล้านบาทต่อวัน แต่ภาพรวมบัญชี LPG ยังติดลบรวม 47,444 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่า นางไพลิน ฟุ้งเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการเงินและบัญชี และในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ลงนามในประกาศ “การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป

สำหรับประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง ในอัตรา 6.9943 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 7.1798 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวมถึง LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อ.กงไกรลาศ จ. สุโขทัย

อย่างไรก็ตามให้ บริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 3.1490 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดิมที่กำหนดให้ส่งเข้า 3.3345 บาทต่อกิโลกรัม

พร้อมกันนี้ได้ปรับลดเงินชดเชยราคา LPG ลงเหลือ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยอยู่ 3.8697 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวม LPG จากการแยกก๊าซฯ ที่ซื้อหรือได้จากรัฐ ผู้รับสัมปทาน หรือผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ.สยาม จำกัด

รวมทั้งกำหนดเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด ในอัตรา 1.8518 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนกรณี LPG ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ แล้ว ให้ส่งเงินชดเชยคืนกองทุนฯ 3.6842 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG โดยภาพรวมติดลบอยู่ -47,444 ล้านบาท โดย กบน. กำหนดกรอบวงเงินสำหรับอุดหนุนราคา LPG ได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจาก LPG 43.39 ล้านบาทต่อวัน และใช้ชดเชยราคา LPG อยู่ 37.50 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ราคา LPG โลกเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 622.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน  

สำหรับประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดนโยบายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) บริหารกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้

1.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้นทุนการจัดหาจากโรงแยกก๊าซฯ ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ มีราคาสูงกว่านำเข้า 2.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG ของตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน 3. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG  ในประเทศเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม  และ 4. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีก LPG ในประเทศสูงขึ้นในระดับเกินกว่า 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนหรือชะลอการขาดแคลนภายในประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ

ก.พลังงานเผย ปริมาณน้ำมันในสต็อกพอใช้นานกว่า 60 วัน ใช้กองทุนน้ำมันลดความผันผวนราคาน้ำมัน พร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนฉุกเฉิน

(7 ต.ค. 67) กระทรวงพลังงานเผยปริมาณสำรองน้ำมันในสต็อกยังมีเพียงพอใช้นานกว่า 60 วัน ขอคนไทยไม่ต้องกังวล กระทรวงพลังงานจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อช่วยลดผลกระทบในทุกมิติหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์สู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

โดยขณะนี้ในด้านปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเพียงพอใช้ในประเทศอย่างแน่นอน ปัจจุบัน มีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,365 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้ 26 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,055 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 2,414 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน รวมจำนวนมีปริมาณน้ำมันคงเหลือและปริมาณสำรองที่สามารถใช้ได้ 62 วัน 

นอกจากนี้ ในด้านราคา กระทรวงพลังงานจะบริหารดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น มีการติดลบลดลง จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกต่อสถานการณ์ และสามารถมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก็จะรักษาเสถียรภาพไม่ให้ผันผวนมากนัก

“จากข่าวสงครามในตะวันออกกลางที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างความกังวลให้นานาประเทศ จนส่งผลให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันดิบ WTI ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 อยู่ที่ 68 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่วันนี้ (7 ตุลาคม 2567) หลังสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 74 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8% ใน 1 สัปดาห์ 

กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในด้านความมั่นคง กระทรวงพลังงานมีปริมาณน้ำมันสำรองสำหรับใช้ภายในประเทศมากกว่า 60 วัน ส่วนในด้านราคา กระทรวงพลังงานก็จะติดตามและใช้กลไกที่มีเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านราคากับประชาชนให้น้อยที่สุด 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มีการซ้อมแผนการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อวางมาตรการต่างๆ และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดหาก๊าซในประเทศให้ได้มากที่สุด  การลดความต้องการใช้ เป็นต้น 

ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล และขอให้ติดตามข่าวสารที่เป็นทางการของทางราชการ กระทรวงพลังงานจะบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด” นายวีรพัฒน์ กล่าว

กองทุนน้ำมันฯ มั่นใจตรึงเสถียรภาพราคาดีเซลตลอดปี 67 ใช้เงินคืนกองทุนกว่า 1 หมื่นล้านต่อเดือน ไม่หวั่นสงครามตะวันออกกลาง

(8 ต.ค. 67) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มั่นใจยังรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดปี 2567 แม้เกิดปัญหาสงครามในตะวันออกกลางจนราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง ระบุปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ภาพรวมยังติดลบ 9.9 หมื่นล้านบาท เผยแนวทางดูแลราคาดีเซลในภาวะสงครามขั้นแรก ต้องลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ก่อน แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจต้องพิจารณาขยับราคาดีเซลขึ้นบ้างเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด (ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567) ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พบว่าเงินกองทุนฯ ยังคงติดลบรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้เตรียมพร้อมกรณีราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นสูงจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน โดยเบื้องต้นวางแผนจะลดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ลงจากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ 2.84 บาทต่อลิตร โดยลดได้ต่ำสุดเพียง 2.34 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลยังคงต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้เหลือเงินไว้สำหรับชำระหนี้เงินต้นสถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 2567 นี้

แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังพุ่งสูงต่อเนื่องจนทำให้ราคาดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กบน. อาจจะต้องพิจารณาทยอยปรับขึ้นราคาดีเซลบ้างเล็กน้อย

ทั้งนี้มั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 นี้  เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าวันละ 337 ล้านบาท หรือ 10,447 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนปี 2568 จะต้องรอดูสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางอีกครั้ง

โดย กบน. จะเน้นดูแลราคาดีเซลและ LPG เป็นหลัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยปัจจุบัน กบน. ได้เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 2.84 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมส่งเข้ากองทุนฯ 4.34 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล อยู่ที่ 67.48 ล้านลิตรต่อวัน)

ขณะนี้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ เบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.65 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.17 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.24 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.21 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.89 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.31 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ -0.11 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.29 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 76.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 74.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 77.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

‘ขนส่งทางบก’ ปูพรมตรวจสอบสภาพรถติดตั้งก๊าซทั่วไทย ขีดเส้น 30 พ.ย. 67 ทุกคันต้องผ่านการตรวจสภาพ

(8 ต.ค. 67)รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้ามาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุดสำหรับรถโดยสารที่ติดตั้งก๊าซ CNG และ LPG โดยออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสภาพรถตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารที่ใช้ก๊าซ CNG และ LPG ทั่วประเทศ ต้องนำรถเข้ามาตรวจสภาพรถ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5 สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา

โดยมาตรฐานการตรวจสภาพรถต้องตรวจผ่านตาม Check list อาทิ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ชำรุด เช่น ถังก๊าซต้องไม่บุบ บวม ผุกร่อน เหล็กรัดถัง และสกรูยึดขาถังต้องยึดอย่างมั่นคงแข็งแรง ตัวถังก๊าซต้องไม่หมดอายุตามวันที่ผู้ผลิตกำหนด หมายเลขถังก๊าซและจำนวนถังก๊าซต้องตรงกับที่ปรากฏอยู่ในระบบงานตรวจสภาพรถของกรมฯ

รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน ประตูทางขึ้น - ลง เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก เครื่องดับเพลิง ต้องมีขนาด จำนวน และการติดตั้งถูกต้องระเบียบ พร้อมใช้งาน หากรถโดยสารที่เข้ามาตรวจสภาพรถแล้วไม่ผ่านการตรวจสภาพ เช่น ถังก๊าซหมดอายุ จำนวนถังไม่ตรงกับที่ปรากฏอยู่ในระบบงานตรวจสภาพของกรมฯ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบชำรุด ตรวจพบการรั่วไหลของก๊าซ และตรวจพบน้ำหนักเกิน กรมฯ จะพ่นข้อความห้ามใช้จนกว่าจะนำรถไปแก้ไขก่อน และนำมาตรวจสภาพให้ถูกต้องอีกครั้ง จึงจะสามารถนำรถกลับมาใช้ใหม่ได้

ทั้งนี้ กรมฯ กำชับให้ผู้ประกอบการต้องนำรถโดยสารเข้ามาตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 พ.ย.67 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อมสามารถนัดหมายการตรวจสภาพล่วงหน้าได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5 สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และเพื่อความสะดวก รวดเร็ว กรณีนัดหมายมาตรวจสภาพรถ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 รถโดยสารสามารถจอดรอคิวเพื่อเรียกเข้าตรวจสภาพ ณ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทยในการอำนวยความสะดวกเพื่อจัดหาพื้นที่จอดรถดังกล่าว

สำหรับการตรวจสภาพรถโดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยมีปริมาณรถมากกรมการขนส่งทางบกได้จัดทำแผนบริหารจัดการรถที่เข้าตรวจสภาพเพื่อบรรเทาการจราจรไม่ให้ติดขัด ดังนี้

1.รถโดยสารไม่ประจำทางขนาดใหญ่ (CNG) + รถตู้/รถมินิบัส ไม่ประจำทาง และประจำทาง (CNG) เฉพาะใน กทม. ให้ตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค.2567

2.รถโดยสารประจำทางขนาดใหญ่ (รถบัส CNG) ให้ตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จภายใน 30 พ.ย. 2567

3.รถที่ติดตั้ง (LPG)  ให้ตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จภายใน 30 พ.ย.2567

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการในกรณีที่โรงเรียนจะมีการจัดทัศนศึกษา และเดินทางด้วยรถโดยสาร ขอความร่วมมืองดเว้นการใช้รถโดยสารในกลุ่มดังกล่าวในการเดินทางจนกว่ามาตรการตรวจรถโดยสารนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อความปลอดภัยรวมถึงจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทั่วประเทศ ในกรณีมีความจำเป็นต้องใช้รถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) นำนักเรียนไปทัศนศึกษาหรือเดินทางนอกพื้นที่ ขอให้สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบความพร้อมของรถ และซักซ้อมมาตรการความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top