Wednesday, 26 June 2024
GoodsVoice

ได้เวลา 'รัฐบาล' ปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย ช่วยถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'การปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนิมิตหมายที่ดีและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจับตามอง การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.5% แม้ว่าทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง

หลายสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้เพียงประมาณ 2.5-3.0% แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งกำลังทยอยออกมา อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.5% ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ มาตรการช่วยให้ธุรกิจรายย่อย และ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความจำเป็นเพราะสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มหดตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารจะยังคงสูง แต่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะนโยบายการเงินมีความตึงตัวเกินกว่าเหตุ 

ต้องขอชมเชยการเสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal) ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่จะต้องทำอย่างกว้างขวางและรับความเสี่ยงด้านเครดิตแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระทางการคลังและผู้เสียภาษีในที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ออกมาช้า เหลือเวลาอีกเพียง 2 ไตรมาสก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งมีการเบิกจ่ายติดลบใน 2 ไตรมาสแรก กระทรวงการคลังคงจะต้องตามจี้ทุกหน่วยงานให้เร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

น่าเสียดายที่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้รวดเร็วตามกำหนดเวลา มิเช่นนั้นคงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกำหนดเวลาและแหล่งเงิน ส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว ก็ยังมีช่องทางเติบโตแต่น่าจะมีอัตราที่ช้าลง

ภาระตกอยู่กับนโยบายการคลังค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีอากร สังคมคงไม่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งกระดิกเท้าเป็น Free Rider อยู่เฉย ๆ และไม่ใส่ใจที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคำนึงว่า ธปท.พลาดเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ระหว่าง 1-3% ติดต่อกัน 2 ปีและทำท่าว่าจะพลาดอีกในปีนี้ 

นี่จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกรอบเงินเฟ้อเสียที ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอาจจะใจดีหรืออาจจะตาม ธปท. ไม่ทัน แต่การพลาดเป้าเงินเฟ้อแบบหมดท่า น่าจะถือเป็นการผิดสัญญาประชาคม และธนาคารแห่งประเทศไทยสมควรต้องรับผิดชอบ การที่รัฐบาลทบทวนกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นการถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสมและไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อดังกล่าว พึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และแสดงหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจนโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว

‘มทร.พระนคร’ ผนึกกำลัง เครือข่ายบริการวิชาการ ‘อบต.โพนสว่าง’ ให้คำแนะนำชุมชนกลุ่ม ผลักดัน Soft Power เพิ่มศักยภาพด้านอาชีพ

เมื่อวันที่ 29 - 30 พฤษภาคม 2567 รศ.ดร.นัฐโชติ รักไทยเจริญชีพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และพัฒนาคณาจารย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วย รศ.ดร.ศุภวุฒิ เนตรโพธิ์แก้ว รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ นำคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ทำการประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายการบริการวิชาการ ณ อบต.โพนสว่าง จังหวัดหนองคาย โดยมีนายกิตติพงษ์ ถิ่นศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนสว่าง ร่วมให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่ ดังนี้

1) กลุ่มสตรีจักสานบ้านสร้างพอก ศูนย์การเรียนรู้การจักสาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

2) บริษัท กิตติพงษ์พลาสติก จำกัด แหล่งจ้างงานคนในชุมชน และ 

3) โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้นกยูง บ้านโพนสว่าง อาชีพแห่งอนาคตของคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

ทีมผู้บริหารและคณาจารย์วิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ ได้ร่วมกันบริการสังคมโดยให้คำแนะนำแก่กลุ่มอาชีพดังกล่าว ในการขับเคลื่อนกลุ่มอาชีพแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริม Soft power เพิ่มศักยภาพชุมชน และเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน อันนำไปสู่การเพิ่มรายได้และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและการค้าชายแดนอย่างยั่งยืน

'GPSC' ชนะประมูลโซลาร์ฟาร์ม 1,050 เมกะวัตต์ ในอินเดีย เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจากโครงการ 'ใหม่-เก่า' ได้ถึง 62%

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ Avaada Energy ในกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศอินเดีย ซึ่ง GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ได้ประกาศผลชนะการประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 1,050 MW (เมกะวัตต์) ของ National Thermal Power Corporation Limited หรือ NTPC

ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ จากการประมูลเพียงครั้งเดียว โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 24 เดือนหลังจากการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี ที่ราคา 2.69 รูปีอินเดีย/กิโลวัตต์ชั่วโมง (~0.03 ดอลลาร์) โดยจะดำเนินการโครงการด้วยความสามารถในการออกแบบ จัดซื้อตลอดจนการก่อสร้างโครงการขององค์กรเอง (In-house capabilities and EPC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งต้นทุนโครงการและต้นทุนการเงิน

ทั้งนี้ โครงการจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ประมาณ 1,800 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญในการจัดหาพลังงานสีเขียวของอินเดีย ที่จะป้อนไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนมากกว่า 12 ล้านครัวเรือน รวมทั้งยังสามารถมีส่วนต่อการลดการปล่อย CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่า 1,681,200 ตันต่อปี  

นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งของ Avaada Energy ในการชนะการประมูลในโครงการต่าง ๆ ในปี 2567 ที่ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย รวมทั้งสิ้นประมาณ 15 GW (กิกะวัตต์) ซึ่งมีผลให้การดำเนินธุรกิจขยายตัวได้เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 11 GW ในปี 2569 แสดงถึงศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพในตลาดพลังงานของประเทศอินเดีย ที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการเปลี่ยนมาสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับทิศทางของการดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย GPSC และ Avaada Group พร้อมที่จะเดินหน้าในการพัฒนาพลังงานสะอาดและนวัตกรรมพลังงาน สู่การดำเนินการทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ การชนะการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนของ Avaada Energy ได้ตอกย้ำถึงศักยภาพของ GPSC และ Avaada Group ในความร่วมมือกัน เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายกำลังการผลิต ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง

สอดรับกับกลยุทธ์ของ GPSC ในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันเมื่อรวมกำลังการผลิตทั้งโครงการใหม่และเก่าในประเทศอินเดีย ส่งผลให้ GPSC มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนถึง 62% หรือจำนวน 7,232 MW จากกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11,756 MW

ราคา ‘ยางพารา’ พุ่งแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม หลังไทยลุยเปิดตลาดยางในสหภาพยุโรป

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 67) ที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการประมูลยางพาราประจำวัน ปรากฏว่า ผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม โดย บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลได้และสูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8.09 บาท จากตั้งไว้ที่ 88.57 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณยางน้ำหนัก 480,743 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555  

ส่วนยางก้อนถ้วย (DRC100%) EUDR บริษัท เอ็นเทคโพลิเมอร์ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ให้ราคาสูงสุด 80.35 บาทต่อกิโลกรัม ได้สูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8 บาท จากตั้งไว้ที่ 72.35 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณน้ำหนัก 240,643 กิโลกรัมและได้ราคาสูงกว่าตลาดยางอื่น ๆ กว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม

นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ราคายางแผ่นรมควันเพิ่มสูงขึ้นมาจากการที่รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเปิดตลาดยางสหภาพยุโรป (EU) ตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) โดยได้เริ่มนำร่องที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นที่แรกเมื่อเดือนเมษายน 2567 

นายญาณกิตติ์ กล่าวว่า เดิมยางพาราส่งไปตลาดจีน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปตลาดอื่น ๆ แต่หลังจากรัฐบาลเปิดตลาดอียู ได้ตามมาตรฐาน EUDR สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนหลังผลผลิตยางพาราที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีทำสำเร็จ เป็นผลให้เกิดความเชื่อมั่นราคาพุ่ง 96.66 บาทและคาดว่าอีกไม่กี่วันจะแตะถึง 100 บาทแน่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความทุ่มเทของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ที่ทำเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

‘เศรษฐา’ เปิดงานประชุมการค้าการลงทุน ‘ไทย-สหรัฐฯ’ เน้นสานสัมพันธ์ ย้ำ!! ไม่มีเวลาไหน ดีไปกว่านี้ ที่จะลงทุนในไทย เป็นหุ้นส่วนกันทางเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 67) ที่ Mövenpick BDMS Wellness Resort กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม Thailand-U.S. Trade and Investment Conference 2024: ‘Building on a Longstanding Partnership’ ซึ่งจัดโดยหอการค้าไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce - AMCHAM) และหอการค้าสหรัฐอเมริกา (the U.S. Chamber of Commerce - USCC) ณ กรุงวอชิงตัน มีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณความเป็นหุ้นส่วนที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างกัน พร้อมขอบคุณคำแนะนำเชิงนโยบาย ซึ่งนายกฯ ได้นำแนวคิด ‘Five to Thrive’ ซึ่ง AMCHAM แนะนำมาพิจารณา และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนการทำธุรกิจในไทย (ease-of-doing-business) ผ่านการทบทวนกฎหมาย เปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล และกระบวนการที่ไร้รอยต่อ (streamlined processes) เช่น BOI ขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate income tax : CIT) ออกไปอีก 3- 5 ปี สำหรับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค ในปี 2566 BOI ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 12.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนถึง 47% และแม้ว่าตัวเลขจะเป็นบวก แต่รัฐบาลยังต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่ออนาคตประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand วางแผนงานประเทศในการเป็นศูนย์กลางใน 8 ภาคส่วนหลัก การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพเกษตรกรรมและอาหาร การบิน โลจิสติกส์ ยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน

นายเศรษฐา กล่าวว่า บทต่อไปของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ นายกฯ เห็นภาพความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองไปสู่อนาคต โดยได้กล่าวถึง 5 วิสัยทัศน์ Ignite Thailand เพื่อเชื่อมโยงกันมากขึ้น ประกอบด้วย 

1. Logistics ตั้งทางยุทธศาสตร์ของไทย โครงการ Landbridge และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ใหม่ จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดีย 

2. Aviation เป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินทั้งผู้โดยสารและสินค้า รัฐบาลกำลังเร่งสร้างสนามบินใหม่ และพัฒนาสนามบินที่มีอยู่ทั่วประเทศ Upgrade สนามบินกรุงเทพฯ ให้เพิ่มความจุผู้โดยสารทั้งหมดจาก 60 ล้านคนเป็น 150 ล้านคน

3. Digital ด้วยอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง และประชากรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เชิญชวนสหรัฐฯ สนับสนุน AI, Data Center ระบบนิเวศดิจิทัลอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจน พัฒนาทักษะแรงงาน 

4. Future Mobility ไทยมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางยานยนต์แห่งอนาคต ทั้งระบบห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม EV จึงเชิญชวนสหรัฐฯ ให้ลงทุน และสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศ EV ที่ครอบคลุมและเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งในอนาคต 

5. Tourism ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รักษาความสัมพันธ์ในอนาคตให้แข็งแกร่ง เชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์ Ignite Tourism Thailand 2025 จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

“ประเทศไทยเปิดและพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ บทใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มองไปสู่อนาคต เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น แต่ประเทศไทยพร้อม We count on all of your support in raising our economic partnership to the next level.” นายกรัฐมนตรี กล่าว

‘สนค.’ เผย ‘ตลาดโซลาร์เซลล์’ กำลังขยาย ทั่วโลกหันไปใช้ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ชี้!! ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก

(1 มิ.ย.67) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก (Energy Transition) อาทิ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025 

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research เปิดเผยว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน (55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63) เนเธอร์แลนด์ (9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11) และมาเลเซีย (5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6) โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นอกจากภาคการผลิตและการค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตแล้ว ไทยยังมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี 

และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมาย ให้ภาคธุรกิจสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

‘รัดเกล้า’ เผย ‘ดัชนีผลผลิตอุตฯ’ ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรก ‘ในรอบ 18 เดือน’ ชี้!! เป็นผลมาจาก ‘เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น-ภาคส่งออกขยายตัว-ท่องเที่ยวกำลังเติบโต’

(2 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index- MPI) เดือนเมษายน 2567 ว่า ขยายตัวร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 90.34 จากที่ก่อนหน้านี้หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 18 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การขยายตัวของภาคการส่งออกที่ดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมที่ผลักดัน MPI ในเดือนเมษายน 2567 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะกับเครื่องปรับอากาศ ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศ ประกอบกับคุณสมบัติเครื่องปรับอากาศใหม่ๆ เช่น ตัวกรองฝุ่น PM2.5 ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 18.11% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการในการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียมก็เพิ่มขึ้น 4.78% เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

นางรัดเกล้า กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบ ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร และประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอในทุกเวทีถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะต้อนรับนักลงทุนและการลงทุนจากต่างประเทศ เวลานี้ ตอนนี้เหมาะสมที่สุดที่จะลงทุนในไทย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งสัญญาณบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ภาคการส่งออกที่ขยายตัว และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลมีความก้าวหน้าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นางรัดเกล้า กล่าวทิ้งท้าย

‘นักท่องเที่ยว’ หอบลูกหลาน เดินช้อป ‘ตลาดไนท์บาซ่า’  สร้างความคึกคักให้ ‘เบตง’ ในช่วงปิดภาคเรียนของ ‘มาเลเซีย’

(3 มิ.ย.67) บรรยากาศที่ด่านพรมแดนอำเภอเบตง จ.ยะลา คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่พาบุตรหลานเข้ามาท่องเที่ยวช่วงปิดภาคเรียนทำให้บรรยากาศในตัวเมืองเบตงคึกคัก สถานประกอบการร้านค้า ตลอดจน ตลาดไนท์บาซ่าเบตง ซึ่งเป็นตลาดถนนคนเดินในยามค่ำคืนของเมืองเบตงในช่วงวันหยุดปิดภาคเรียนและช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย พาบุตร หลาน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนในประเทศมาเลเซียปิดกลางภาคเรียน  1 สัปดาห์ 

โดยชาวมาเลเซียจะพาครอบครัวมาพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเบตง เดินชอปปิ้ง ตามร้านค้า ร้านสตรีทฟู้ด เลือกซื้ออาหารไทย ขนมพื้นบ้าน อาทิ ยำทะเล ข้าวเหนียวไก่ทอด โรตีนมน้ำตาล ขนมรางไข่ หมึกย่าง เนื้อย่าง ลูกชิ้น ข้าวเหนียวมะม่วง  ข้าวยำ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว น้ำชา กาแฟ  เป็นต้น  ต่างมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาอุดหนุนกันอย่างเนือง เพราะรสชาติของอาหารพื้นถิ่นที่มีความอร่อยเมื่อเดินทางกลับมาไม่พลาดที่จะมากิน เที่ยว ที่เบตง

นายพงศกร  ขุนทองผล พ่อค้าขนมในตลาดไนท์บาซ่าเบตง กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมของโรงเรียนในประเทศมาเลเซีย บรรดาผู้ปกครอง ต่างนำบุตรหลาน มาเที่ยว ชิม ช้อป ที่ตลาดไนท์บาซ่าเบตงทำให้บรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก  ทำให้พ่อค้า แม่ค้า มีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ก็ดีขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียออกมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์วันศุกร์เสาร์และวันอาทิตย์ จะจัดทัวร์เข้ามาเพียง 3 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียสามารถมาท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก โดยมาจับจ่ายซื้อของทั้งของกินและของฝาก ทำให้ในช่วงนี้เศรษฐกิจในอำเภอเบตง จังหวัดยะลาดีขึ้นตามลำดับคาดในแต่ละสัปดาห์มีเงินสะพัดในอำเภอเบตงกว่า 10 ล้านบาท

‘สสว.’ เผย ผลสำรวจความคิดเห็นของ SME ต่อ ‘โครงการเงินดิจิทัล’ มีลดน้อยลง ชี้!! มีความกังวลต่อ ‘เงื่อนไขการใช้สิทธิ-การเบิกจ่ายเงิน-กลัวโดนภาษีย้อนหลัง’

(3 มิ.ย.67) นางสาวปณิตา  ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SME ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 หลังจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเจาะลึกความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME สำหรับความพร้อมและความสนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัล โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการสอบถามจากผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 30 เมษายน 2567 พบว่า สัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ SME อยู่ที่ร้อยละ 75.2 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีสัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมมากถึงร้อยละ 82.9 มีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน เงื่อนไขของโครงการที่ให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ธุรกิจรายเล็กมีความกังวลต่อยอดผู้ที่จะมาใช้บริการ และบางกลุ่มธุรกิจประเมินว่าธุรกิจของตนไม่เหมาะกับโครงการ รวมถึงการขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์/เครื่องมือหรือทักษะความรู้ในการใช้งาน Super App

สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้ประกอบการ SME พบว่า ผู้ประกอบการ SME มีแผนการใช้จ่ายเงินปรับเปลี่ยนไปเมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน โดยผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 77 ประเมินว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 22.7 มีแผนนำเงินไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ขณะที่ผลสำรวจครั้งก่อนพบว่า ผู้ประกอบการ SME จะนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 69.6 และร้อยละ 30.4 จะนำไปลงทุนในธุรกิจ นอกจากนี้เงื่อนไขของโครงการที่กำหนดว่าต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กก่อน 2 รอบ ถึงเบิกเป็นเงินสดได้ ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 54.4 ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมีแผนการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือนมากที่สุดสำหรับการใช้จ่ายเงินรอบที่ 1 แต่สำหรับการใช้จ่ายครั้งที่ 2 ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ต้องการเบิกถอนเป็นเงินสดออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปต่อยอดในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ในการสำรวจได้ให้ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ประเมินแนวโน้มด้านยอดขายและ/หรือบริการของตนจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ประกอบการ SME ประเมินว่า ธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21 – 40 ตลอดระยะเวลาจนสิ้นสุดโครงการ เพราะคาดการณ์ว่าผู้ที่มีสิทธิจะทยอยใช้งานอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ผู้ประกอบการ SME เคยประเมินว่าธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากการเข้าร่วมโครงการและระยะเวลาที่ยอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า ผู้ประกอบการ SME ยังคงมีความกังวลในด้านระบบและขั้นตอนรองรับ รวมถึงเสถียรภาพของการใช้งานในแอปพลิเคชั่นใหม่มากที่สุด รองลงมาคือ เงื่อนไขและการใช้สิทธิ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดย่อม กังวลว่าไม่มีร้านค้าที่ตรงตามความต้องการในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายย่อย เช่น 7-11 สำหรับด้านอื่น ๆ คือ การกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ในด้านข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้มีการปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นเงินสดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตนเอง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการหมุนเงินแบบวันต่อวัน เป็นต้น รองลงมาคืออยากให้มีการใช้สิทธิในแอปเป๋าตังเหมือนเดิม เนื่องจากมีความกังวลต่อการเรียนรู้การใช้งาน Super App ของโครงการ และผู้ประกอบการ SME ยังเสนอให้ลดเงื่อนไขในการจำกัดพื้นที่การใช้งาน ให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ให้บริการ จึงมีความต้องการซื้อสินค้า/วัตถุดิบทั้งจากตลาด/ร้านค้าภายในและนอกอำเภอ 

‘ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์’ เข้ารับตำแหน่ง ‘เลขาฯ กกพ.’ พร้อมเดินหน้างานกำกับดูแลพลังงานไทยให้ราบรื่น-ไร้รอยต่อ

(4 มิ.ย. 67) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ต่อจาก นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ที่เพิ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบคัดเลือกและแต่งตั้งให้ ดร.พูลพัฒน์ เป็นเลขาธิการสำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 โดย ดร.พูลพัฒน์ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก The George Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การทำงานเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2541 ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน ต่อจากนั้นในปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อปี 2566

ดร.พูลพัฒน์ มีประสบการณ์การทำงานในกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทั้งการวางยุทธศาสตร์ การกำกับ และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยที่ผ่านมาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญที่ร่วมอยู่ในคณะทำงานและคณะเจรจาทางด้านพลังงานระหว่างประเทศสำคัญ ๆ หลายคณะด้วยกัน อาทิ การเจรจาในระดับทวิภาคีกับประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงาน การเจรจาในระดับพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคและของประเทศ และการทำหน้าที่ประธานในการหารือแนวทางในการปรับปรุงข้อตกลงความมั่นคงด้านปิโตรเลียม (ASEAN Petroleum Security Agreement) เป็นต้น 

นอกจากนี้ ดร.พูลพัฒน์ ยังมีส่วนร่วมในการบริหารสัญญาและสัมปทานก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและต่อเนื่องด้านเชื้อเพลิงของประเทศ และการร่วมแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานด้วยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมทั้งการสนับสนุนให้ภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top