Wednesday, 26 June 2024
GoodsVoice

‘จูราสสิคเวิลด์ ภาค 4’ เตรียมยกกองถ่ายทำในไทย มิ.ย.นี้ พิกัด ‘กระบี่-ตรัง’ คาด!! เงินสะพัดเข้าไทยกว่า 650 ลบ.

(29 พ.ค. 67) นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กองถ่ายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ระดับโลก จากฮอลลีวูด เรื่องจูราสสิคเวิลด์ ภาค 4 เตรียมยกกองมาถ่ายทำภาพยนตร์ในจ.กระบี่ และจ.ตรัง โดยมีระยะเวลาในการถ่ายทำราว 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. – 16 ก.ค. 67 จากการรายงานล่าสุดจากกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศระบุว่า กองถ่ายภาพยนตร์จูราสสิคเวิลด์ ยังมีความสนใจที่จะเลือกถ่ายทำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.พังงา จ.ภูเก็ต และจ.เชียงใหม่เพิ่มเติมด้วย

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มีงบลงทุนที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทย 650 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ Incentive หรือมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ในการคืนเงิน 20% หลังมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

ส่วนข้อมูลจากกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในช่วง 5 เดือน (1 ม.ค. - 24 พ.ค 67) มีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำนวน 186 เรื่อง จาก 30 ประเทศทั่วโลก มีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 3,192 ล้านบาท โดยรวบรวมจากสถิติการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และได้กระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ รวมทั้งสามารถประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปสู่สายตาผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ต่อไป

สำหรับภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในช่วง 5 เดือนแรก แยกเป็นโฆษณาประชาสัมพันธ์ 83 เรื่อง สารคดี 27 เรื่อง รายการโทรทัศน์ 25 เรื่อง เกมส์โชว์และเรียลลิตี้ 17 เรื่อง ภาพยนตร์เรื่องยาว 15 เรื่อง มิวสิควิดีโอ 13 เรื่อง

ทั้งนี้ ในปี 67 กรมการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากกองถ่ายภาพยนตร์ถ่ายประเทศจำนวน 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 6,600 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ด้วยความพร้อมรองรับการถ่ายทำครบวงจร และศักยภาพของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย รวมมาตรการในการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่เป็นแรงจูงใจให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติเลือกไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ

‘เคทีซี’ ปักหมุดผู้นำบัตรเครดิต ออกแคมเปญ ‘บ๊ะจ่างพรีเมี่ยม’ พิชิตใจลูกค้า รับส่วนลดสูดสุง 20% หลังจับมือ ‘6 ห้องอาหารจีน’ จากโรงแรมชื่อดังครั้งแรก

(29 พ.ค.67) ‘เคทีซี’ ปักหมุดผู้นำบัตรเครดิตที่สร้างประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของสมาชิก ล่าสุดจับมือห้องอาหารจีนชื่อดังจากโรงแรมชั้นนำ 6 แห่ง ออกแคมเปญ ‘บ๊ะจ่างพรีเมี่ยม’ ครั้งแรกของวงการ เพื่อให้สมาชิกชาวไทยเชื้อสายจีนได้เฉลิมฉลองเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือ Dragon Boat Festival กับบ๊ะจ่างคุณภาพจากห้องอาหารจีนยอดนิยม ด้วยสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีรับส่วนลดสูงสุดถึง 20% โดยไม่ต้องใช้คะแนน KTC FOREVER ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 - 15 มิถุนายน 2567 

ด้าน นางสาว ปริม ปัญญาเสรีพร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เคทีซีวางกลยุทธ์การตลาดในหมวดห้องอาหารในโรงแรมด้วยการเน้นความเป็นผู้นำที่นำเสนอความแปลกใหม่ หลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่มีความแตกต่าง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรโรงแรม เพื่อขยายฐานกลุ่มสมาชิกบัตรเครดิตที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับเทศกาล ‘ไหว้บ๊ะจ่าง’ ในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญทางวัฒนธรรมและเป็นประเพณีของชาวจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งห้องอาหารจีนจะนำเสนอ ‘บ๊ะจ่าง’ ต้นตำรับของเชฟแต่ละแห่ง

ดังนั้น เคทีซีจึงได้รวบรวม 6 ห้องอาหารจีนยอดนิยมจากพันธมิตรโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพมหานครร่วมกันออกแคมเปญ ‘บ๊ะจ่างพรีเมี่ยม’ เพื่อให้สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีสามารถเลือกสรรบ๊ะจ่างที่มีรสชาติพิเศษ อาทิ ไส้เห็ดและหอยเป๋าฮื้อ ไส้พุทราเชื่อม หรือรสชาติดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นของซอสเอ็กซ์ โอ และไส้เผือกแปะก๊วยไข่เค็ม พร้อมแพ็กเกจที่สวยหรูเหมาะกับโอกาสในการซื้อให้เป็นของขวัญแก่ญาติผู้ใหญ่รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ด้วยสิทธิพิเศษส่วนลดสูงสุด 20% โดยไม่ต้องใช้คะแนน KTC FOREVER ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 - วันที่ 15 มิถุนายน 2567

สำหรับ 6 ห้องอาหารจีนชั้นนำในโรงแรมที่ร่วมรายการ ได้แก่ ห้องอาหารจีนพาโกด้า ไชนีส เรสเตอรองท์  โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค / ห้องอาหารจีนเอเวอร์การ์เด้น โรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล กรุงเทพฯ / ห้องอาหารจีนไชน่า พาเลซ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ / ห้องอาหารจีนหนานเป่ย โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ / ห้องอาหารจีนแชงพาเลซ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ และห้องอาหารเดอะ ซิลค์ โร้ด โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล 

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดบูธ ‘ศูนย์อุตฯ ฮาลาลไทย’ ในงาน THAIFEX 2024 พร้อมส่งเสริม-ผลักดัน ‘อุตฯ ฮาลาลไทย’ สู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(29 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมเปิดเผยว่ากระทรวงฯ เตรียมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และยกระดับศักยภาพด้านมาตรฐานของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศ 

โดยในงานวันนี้ กระทรวงฯ นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพพร้อมส่งออก เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายใต้บูธของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานกว่า 200 ล้านบาท และหลังจากนี้ กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก

ตลาดสินค้าฮาลาลมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 

สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างมาก และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้

1. จัดตั้ง ‘คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

2. เสนอ ‘แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่

(1) จัดตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับศูนย์ดังกล่าวเป็น ‘สถาบันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ หรือ Thai Halal Industry Institute โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป

(2) สร้าง ‘การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) รวมถึง THAIFEX-Anuga Asia 2024 ในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยฮาลาลที่เชื่อมโยง Soft Power เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นให้เกิดเป็นเมนูอาหารฮาลาลไทย ผลักดันไปสู่ภาคบริการ เช่น การให้บริการบนสายการบิน การประชุมและสัมมนานานาชาติ การโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน Kick Off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปสู่ผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม เช่น Business Matching การสัมมนาฮาลาลระดับนานาชาติ การสาธิตการทำอาหารฮาลาลโดยเชฟไทยที่มีชื่อเสียง

(3) ผลักดัน ‘การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ’ ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยขณะนี้ มีแผน การเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-บรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 และในการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) จะดำเนินอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เช่น อาหาร แฟชั่นมุสลิม ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ควบคู่การยกระดับ Thai Halal Ecosystem ด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าและเพียงพอ การยกระดับฝีมือแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลสาขาต่าง ๆ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป

สำหรับงานในวันนี้ กระทรวงฯ ได้นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันอาหารกว่า 40 รายเข้าร่วมแสดงสินค้า เช่น โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน ‘Befish’ ข้าวเกรียบปลาเมืองนราธิวาส ทำจากปลาทะเลแท้ มีแคลเซียมสูง และ ‘ท่าทองรังนก’ ที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีวัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมส่งออก และมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟอาหารไทยมุสลิม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน ‘Blue Elephant’ ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก เพื่อสร้างความรับรู้ถึงศักยภาพของอาหารฮาลาลไทยและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ ยังจัด Business matching เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน 200 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสริมความเข้มแข็งและผลักดันการส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

'เขื่อนของพ่อ' เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย เติมชีวิต เป็นมิตรเกษตร เขตป้องอุทกภัย โอกาสใหม่การท่องเที่ยว

‘เขื่อนภูมิพล’ ถือกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้อนุมัติการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า 'เขื่อนยันฮี' (ยันฮีชื่อของตำบลยันฮี อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล) 

การเวนคืนได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2499 และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 โดยว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐฯ และบริษัทอื่น ๆ จาก 14 ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา 

ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ มาเป็นชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’ และได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์กั้นแม่น้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง รัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร 

เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก ขณะที่ปัจจุบัน ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและ ASEAN และอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

เขื่อนแห่งนี้ ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 2,250 ล้านบาท โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเงินกู้จากธนาคารโลก

พร้อมกันนี้ ในปี พ.ศ. 2500 มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการนี้ในชื่อว่า 'การไฟฟ้ายันฮี' 

ในระยะแรกเขื่อนแห่งนี้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง (รวม 70,000 กิโลวัตต์) จากที่สามารถติดตั้งได้ 8 เครื่อง ต่อมาได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 3-6 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ และเครื่องที่ 7 กำลังผลิต 115,000 กิโลวัตต์ 

ต่อมาปี พ.ศ. 2511 'การไฟฟ้ายันฮี' ได้ถูกควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ 'การลิกไนต์' และ 'การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ' กลายเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ และในปี พ.ศ. 2534 กฟผ. ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 แบบสูบกลับ ขนาดกำลังผลิต 171,000 กิโลวัตต์ จึงต้องสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่างปิดกั้นลำน้ำปิง อยู่ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร เพื่อใช้อ่างเก็บน้ำเป็นอ่างล่าง โดยถูกออกแบบให้มีบานประตูระบายน้ำเปิดปิดสำหรับใช้กักเก็บน้ำแล้วสูบกลับไปใช้ผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือน มกราคม 2539 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘เขื่อนภูมิพล’ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,062 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง จนทุกวันนี้

นอกจากเป็นเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังมีคุณูปการต่อประเทศไทยอีกมากมาย ด้วยความจุในการกักเก็บน้ำ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายออกไปจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น...

- ด้านการเกษตร ทำหน้าที่ในการทดและส่งน้ำในลุ่มน้ำปิง ฤดูฝนได้ 1,500,000 ไร่ ฤดูแล้งได้อีก 500,000 ไร่ ส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ในโครงการเจ้าพระยาใหญ่สำหรับเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีก 2,000,000 ไร่ ตลอดจนถึงการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดตากและกำแพงเพชรถึง 7.5 ล้านไร่

- ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภคของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่เหนือและใต้เขี่อน 
- เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อได้ทำการขุดลอกและตกแต่งแม่น้ำปิงบางตอนสำเร็จแล้ว จะ
- สามารถใช้เป็นทางคมนาคมจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไปจนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตลอดปี

- เป็นแหล่งท่องเที่ยว บริเวณโดยรอบเขื่อนมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลากหลายเส้นทาง และ
- บริการล่องแพชมความสวยงามของทัศนียภาพของตัวเขื่อนและแก่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญของประเทศ

- ช่วยป้องกันน้ำเค็มสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
- บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง รวมถึงในเขตทุ่งเจ้าพระยา ในช่วงฤดูฝน

ปัจจุบันนี้ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังคงมีการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์โดยเน้นในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บกักน้ำ และป้องกันอุทกภัยอยู่ 

แต่สำหรับประเทศไทย ด้วยกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนจาก NGO ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้แนวคิดในการสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ในประเทศไทยถูกคัดค้านอย่างรุนแรงเรื่อยมา จนต่อไปในอนาคตข้างหน้าคงเป็นการยากมาก ๆ ที่จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยได้อีก และคนไทยคงไม่มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากเขื่อนอเนกประสงค์เช่นนี้อีก แม้ว่าสังคมไทยจะได้รับอรรถประโยชน์โภคผลเกิดขึ้นจาก 60 ปีของ ‘เขื่อนภูมิพล’ มาแล้วมากมายก็ตาม 

"…ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้าส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็ว ก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง…" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนภูมิพล 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

สำรวจความนิยมคนไทยในรถ EV หดจาก 31% เหลือ 20% สวนทางความนิยม 'ไฮบริด' ที่หวนพุ่งแรงแตะ 19%

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ เผยผลสำรวจ ‘2024 Global Automotive Consumer Study’ พบว่าความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ของคนไทย ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 31% เหลือเพียง 20% ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) แม้ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid electric vehicle: HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เป็น 19% เกือบจะเท่ากับ BEV

คุณภาพของสินค้ายังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูงสุด 53% โดยปัจจัยที่คนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อคือ คุณสมบัติของรถ สมรรถนะ และ ปัจจัยด้านราคา ในสัดส่วนที่ 53%, 51% และ 47% ตามลำดับ

เหตุผลอันดับแรกที่คนไทยเลือกใช้ BEV คือ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 73% เป็นเหตุผลเดียวกันกับการเลือกใช้ HEV/PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ในอัตราส่วนเท่ากันที่ 73% ในขณะที่เหตุผลในการเลือกใช้ ICE อันดับแรกคือ ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ 78%

ดีลอยท์ฯ ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวนกว่า 27,000 คนจาก 26 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.66 เกี่ยวกับความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคยานยนต์ ครอบคลุมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 5,939 คน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคคนไทยประมาณ 1,000 คน โดยได้ทำการวิเคราะห์ร่วมกับผลการสำรวจข้อมูล Thailand Automotive Consumer Survey 2024 ที่ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือน เม.ย.67 กับผู้บริโภคคนไทยอีก 330 คน

*แนวโน้มและมุมมองผู้บริโภคต่อยานยนต์ไฟฟ้า

ผลสำรวจในปี 2567 พบว่าความนิยมของคนไทยในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 31% เหลือเพียง 20% โดยรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่แนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 36% เหลือเพียง 32% ขณะที่รถยนต์ไฮบริด (HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ร้อนแรงขึ้นมา โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเกือบจะเท่ากับ BEV จาก 10% ในปี 66 เป็น 19%

แนวโน้มความนิยมของคนไทยต่อ ICE สอดคล้องกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน แต่สวนทางกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ความนิยมใน ICE ดีดตัวสูงขึ้น สำหรับตลาดรถมือสองในไทย ICE (Internal Combustion Engine) เป็นทางเลือกอันดับ 1 ที่ 54% ตามมาด้วยกลุ่มรถไฮบริด (HEV) และ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ที่ 38% รั้งท้ายด้วย BEV ที่ 9%

เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่คนไทยเลือกใช้ BEV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 71% กังวลกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ 49% ได้แก่ ความกังวลกับสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว และ ประหยัดเรื่องค่าบำรุงรักษา ส่วนเหตุผลคนที่ไทยเลือก HEV/PHEV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 68% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทาง และ 37% ต้องการลดปัญหาฝุ่น ควัน และก๊าซเรือนกระจก

และสำหรับกลุ่มที่เลือกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE 78% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ 67% ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือความคาดหมาย (เช่น แบตเตอรี่ หรือระบบที่เกี่ยวข้อง) และ 52% ต้องการความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษา และการปรับแต่ง

จากการสำรวจ พบว่า คนไทยเปิดรับกับ BEV มากขึ้น โดยความกังวลของคนไทยที่มีต่อ BEV ระหว่างปี 66 และ 67 ในภาพรวมปรับลดลงทุกมิติ โดยมิติที่กังวลสูงสุด ได้แก่ สถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ ปรับลดจาก 48% เป็น 46% ระยะทางในการขับ ปรับลด จาก 44% ในปี 66 เป็น 39% ผลสำรวจพบว่า คนไทยปรับตัวกับเวลาในการชาร์จรถได้นานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาที่รับได้มากที่สุดขยับมาอยู่ที่เวลาประมาณ 21- 40 นาที ที่ 38% ขยับเพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 25%

การชาร์จไฟฟ้าที่บ้านยังคงเป็นความต้องการสูงที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางเลือกในการชาร์จไฟฟ้านอกบ้านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสถานีบริการน้ำมัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปีที่แล้วเป็น 34% ในปีนี้ ที่น่าสนใจคือความนิยมในการชาร์จไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 29% การชาร์จไฟฟ้าที่สถานีเฉพาะสำหรับ BEV ปรับลดลงมาจาก 51% เหลือเพียง 21% ส่วนระยะทางคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จต่อครั้งขยับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยข้อมูลในปี 67 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 44% มีความเห็นว่าระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ควรมีระยะทางระหว่าง 300 ถึง 499 กิโลเมตร

*ปัจจัยในการซื้อรถของคนไทย

ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถคันต่อไปมีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยปัจจัยเรื่องราคาเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 66 เป็น 47% ด้านสมรรถนะปรับเพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 51% และ คุณสมบัติต่าง ๆ ของรถ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 53% คุณภาพของสินค้า ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูงสุดในปี 67 แต่ลดจาก 64% เป็น 53% ความคุ้นเคยในแบรนด์ปรับลดจาก 33% เป็น 31% ภาพลักษณ์ของแบรนด์ปรับลดจาก 37% เป็น 34%

ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 64% มีความสนใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ ๆ สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ในอัตราที่เท่า ๆ กับมาเลเซีย แต่รองจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลว่า มีเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องการ (52%) อยากลองอะไรใหม่ ๆ (49%) และมองหารถที่ราคาจับต้องได้ (36%)

สำหรับประสบการณ์ในการซื้อรถของคนไทย ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น VR หรือ AR ที่สามารถมอบประสบการณ์ในการเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ และความสะดวกจากธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ แต่คนไทยถึง 92% ยังต้องการที่จะได้สัมผัสตัวรถจริงก่อนการตัดสินใจ โดย 91% ต้องการทดลองขับรถจริงก่อน ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับการได้เจรจาในรายละเอียดต่าง ๆ กับพนักงานขาย คนไทย 74% สะดวกจ่ายเงินด้วยการผ่อนชำระ 21% ต้องการซื้อรถด้วยเงินสด และ 5% ต้องการผ่อนแบบบอลลูน

แต่คนไทยรุ่นใหม่ (ช่วงอายุ 18-34 ปี) 47% สนใจบริการแบบสมัครสมาชิก (Vehicle Subscriptions) มากกว่าการเป็นเจ้าของรถ โดยผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 82% ตอบว่าค่าบำรุงรักษาและราคาอะไหล่ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกรุ่นรถมากถึงมากที่สุด โดย 63% ยินดีจะซื้อแพ็กเกจค่าบำรุงรักษาแบบเหมาจ่าย ได้แก่ น้ำมันเครื่อง อะไหล่สิ้นเปลือง และ ค่าบริการ และ 84% ยินดีที่จะซื้อประกันอุบัติเหตุสำหรับแบตเตอรี่หากใช้รถ BEV

"การเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคทั่วโลก ช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ ๆ ทั้งในระดับโลก และ ระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการยกระดับคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2024 รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากประหยัดน้ำมัน ลดความกังวลเรื่องระยะทาง และลดการปล่อยมลพิษ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สามารถปรับตัวรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า และปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ" มร. ซอง จิน ลี Automotive Sector Leader, ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว

นายมงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "ความเข้าใจในมุมมองของผู้บริโภคทำให้เรามองเห็นทิศทางในการปรับตัวของอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานีชาร์จ สินเชื่อ สื่อสาร หรือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน ผู้ผลิตที่สามารถนำเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าและให้ความมั่นใจในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเกินของลูกค้าในระยะยาวได้ จะได้รับความเชื่อมั่นซึ่งจะกลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว สำหรับผู้บริโภค ก็จะได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันที่ดุเดือด มีทางเลือกที่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งตัวรถเอง ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์"

นายโชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดยานยนต์ในประเทศไทย ผลจากการวิเคราะห์แนวโน้มและเก็บข้อมูลตามบริบทจากรายงานต่าง ๆ ของดีลอยท์ยืนยันให้เห็นแล้ว ว่าคนไทยไม่ได้คิดแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ"

'รมว.ปุ้ย' เยือนจีน!! ถกความร่วมมือ 'ชิ้นส่วนยานยนต์-ขนส่ง-ขับขี่อัจฉริยะ' รองรับการพัฒนา 'อุตฯ ยานยนต์' ในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

รมว.อุตสาหกรรม เยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่งและขับขี่อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์, นายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์และคณะทำงาน เข้าพบหารือ นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และทีมประเทศไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ 'Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people' (การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ทั้งนี้ ได้มีการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการพัฒนา ความร่วมมือสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และโอกาสการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า การทดสอบ การพัฒนาสมรรถนะด้านบุคลากรแรงงานฝีมือ การจัดการรีไซเคิล ตลอดจนการต่อยอดด้านความมั่นคงทางอาหาร สำหรับสินค้าวัตถุดิบของไทยที่สามารถทำตลาดในจีน รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ เครื่องดื่ม, ผลไม้ และอาหารแปรรูป 

ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะในระหว่างการเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย

'บอนชอน' เลิกเก็บเซอร์วิสชาร์จ หลังผู้บริโภคเรียกร้องมานาน

(30 พ.ค. 67) จากเพจ 'Bonchon Chicken Thailand' ได้โพสต์ข้อความ ประกาศยกเลิกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ ผ่านกราฟิกรูปป้ายบริเวณบีทีเอสสยามที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิต (ป้าย Bangkok)

สำหรับประกาศยกเลิกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จของ ‘บอนชอน‘ ร้านไก่ทอดเกาหลีเจ้าดัง เกิดขึ้นจากการที่ลูกค้าเรียกร้องให้งดเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ 10% มาโดยตลอด

เท่ากับว่า ต่อจากนี้ลูกค้าบอนชอนจะได้กินไก่เกาหลีในราคาบิลรวมที่ถูกลงนั่นเอง

‘สนค.’ ชี้ช่อง!! โอกาสไทยรับกระแส ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ มุ่งขยายตลาดส่งออก ‘โซลาร์เซลล์’ เพื่อก้าวสู่ 1 ใน 3 ผู้นำโลก

สนค.ติดตามสถานการณ์โลก พบความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดส่งออก และก้าวไปเป็นผู้ส่งออกติด 1 ใน 3 ของประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดในโลก จากปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 4 พร้อมแนะภาคธุรกิจ ครัวเรือน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก มาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025  

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research ระบุว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 และมูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย  ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

โดยไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน 55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63 เนเธอร์แลนด์ 9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11 และมาเลเซีย 5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นายพูนพงษ์กล่าวว่า จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว โดยเห็นว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป   

ปัจจุบันไทยมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมายให้ภาคธุรกิจภาคสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

‘อินฟอร์มาฯ’ ผนึกกำลังจัดงาน ‘Thai Water Expo - Water Forum 2024’ วางเป้าสร้างโอกาสไทย ‘จัดการน้ำ’ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(31 พ.ค. 67) อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย พร้อมด้วย วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายชั้นนำด้านน้ำจากทุกห่วงโซ่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ผสานความร่วมมือสานต่อการจัดงาน ‘Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2024’ ชูแนวคิด ‘ปฏิวัติเทคโนโลยีน้ำ ขับเคลื่อนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ สู่อนาคตที่ยั่งยืน’ ขนทัพเทคโนโลยี นวัตกรรม การจัดการน้ำล้ำสมัย วางเป้าพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ผลักดันทุกภาคส่วนมุ่งบริหารจัดการน้ำร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกห่วงโซ่อุปทานในระบบนิเวศทางธุรกิจยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน จัดงานระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ด้าน รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ผู้แทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ กล่าวว่า จุฬาฯ ประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) รวมถึงคณะวิศวฯ เป็นหนึ่งในสองคณะในจุฬาฯ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวในทุกบริบทของสังคมโลก รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาทิ การจัดการน้ำ น้ำเสีย จากภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอนให้สอดรับกับสถานการณ์โลก อย่างหลักสูตร Innovative Engineering for Sustainability : IES) เพื่อรองรับการจัดการอย่างยั่งยืนในยุคโลกเดือด ทั้งนี้ในมิติงานวิจัยร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจัดการน้ำ มุ่งเน้นด้าน ‘การพัฒนาเทคโนโลยี เสริมการเพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้เข้าร่วมในการพัฒนาการบริหารเขื่อนด้วยเทคนิค AI, การจัดการน้ำในโครงการชลประทานด้วยระบบ sensor/IOT/smart, การจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วยระบบ 3R plus เป็นต้น โดยมีหมุดหมายในการเพิ่มขีดความสามารถ และส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึก เพื่อพัฒนากำลังคน ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ให้กับประเทศและภูมิภาคนี้

“อย่างไรก็ดี คณะวิศวฯ จุฬาฯ ยังคงเดินหน้าเผยแพร่ความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำผ่านการจัดสัมมนา Water Forum ขึ้นภายในงาน Thai Water Expo 2024 และโดยปีนี้ ยังคงสานต่อความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านน้ำ อาทิ สมาคมการประปาแห่งประเทศไทย สมาคมนักอุทกวิทยาไทย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และ อินฟอร์มาฯ ร่วมกันนำเสนอเนื้อหา Smart, Green, Resilient for a Climate-Friendly Future โดยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ , ปตท และธนาคารโลก มาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่สำคัญผ่านหัวข้อ ‘เสริมศักยภาพเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิก’ ซึ่งทางคณะฯ เชื่อมั่นว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ หน่วยงานทั้งไทย และอาเซียน นำไปปรับในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ ร่วมกับการจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.วิทยา กล่าวเสริม    

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ - ประเทศไทย กล่าวว่า ในมิติของการจัดการน้ำ อินฟอร์มาฯ ให้ความสำคัญอย่างรอบด้าน ซึ่งทรัพยากรน้ำถือเป็นปัจจัยพื้นฐานโดยแต่ละภูมิประเทศมีความท้าทายที่ต่างกัน อินฟอร์มาฯ จึงได้เดินหน้าจัดงาน ‘Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2024’ งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมระดับภูมิภาคด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ครบวงจรที่สุด โดยเป็นงานที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค มีเป้าหมายสำคัญในการรวบรวมผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชัน รวมถือเครือข่ายด้านน้ำระดับประเทศทั้งระบบอย่างครบถ้วน

โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Revolutionizing Water Technologies to Drive Climate Adaptation Towards a Sustainable Future’ หรือ ปฏิวัติเทคโนโลยีน้ำ ขับเคลื่อนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ สู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่จัดแสดงกว่า 15,000 ตร.ม. จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและโซลูชันด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ทันสมัยกว่า 250 บริษัท อาทิ Ebara, Endress+Hauser, ProMinent, Brenntag, Demarc, Wam Group, Dupont, Wika Instrumentation, Vega Instruments เป็นต้น ทั้งพาวิเลียนนานาชาติ รวมถึงผู้นำด้านการจัดน้ำระดับโลกอย่างสิงคโปร์ที่นำผู้ประกอบการกว่า 15 บริษัทเข้าร่วม ที่สำคัญภายในงานมีการจัดประชุมนานาชาติ Water Forum รวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ร่วมกันอัปเดตเทรนด์ นโยบายและนวัตกรรมการจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังมี GreenTech Stage เวทีนำเสนอเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำ และโซนพิเศษ Insight Water Zone รวมหน่วยงาน องค์กรชั้นนำด้านการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมมาร่วมให้แนวทางและคำปรึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เราเชื่อมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงในการสร้างความร่วมมือและต่อยอดธุรกิจในมิติต่าง ๆ ของการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมถึงเป็นก้าวที่สำคัญในการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน

เตรียมพร้อมเพื่อขับเคลื่อนสู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่อนาคตที่ยั่งยืนในงาน Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2024 งานนิทรรศการและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ครบวงจรที่สุดงานเดียวในประเทศไทย จัดร่วมกับงาน Entech Pollutec Asia 2024 งานนิทรรศการด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ รวบรวมบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกจัดแสดงเทคโนโลยี การจัดการขยะ การวัดคุณภาพอากาศและน้ำ สอดรับเทรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ติดตามข่าวสารและลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.thai-water.com

‘ก.คมนาคม’ เผย บิ๊กเอกชนไทย-เทศ รุมจีบ ‘แลนด์บริดจ์’ คาด เริ่มประกวดราคา Q4/68 หวัง ดึงร่วมลงทุน 1 ล้านล้านบาท

(30 พ.ค. 67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน สัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ว่า มีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน สถานทูต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมงานมากกว่า 100 ราย

‘ผลจากการโรดโชว์แสดงให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนมาก กระทรวงฯ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น มีการลงทุนจริง ซึ่งกระบวนการตอนนี้เตรียมจัดทำร่าง RFP เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดัน พรบ. SEC เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และสภาภายในปีนี้ เพื่อเป็นอีกปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักลงทุนในด้านสิทธิประโยชน์ และกฎหมายต่างๆ’

โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เบื้องต้นจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ โดยจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าโรดโชว์โครงการและดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศ ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ซึ่งการจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในวันนี้นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ เพราะกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดไปประกอบการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) รวมทั้งข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC)

ภายในงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสถานทูตประเทศต่างๆ เช่น สถานทูตประเทศญี่ปุ่น สถานทูตประเทศปากีสถาน สถานทูตประเทศอินเดีย สถานทูตประเทศเยอรมัน สถานทูตประเทศมาเลเซีย สถานทูตประเทศอิตาลี สถานทูตสาธารณรัฐเกาหลี สถานทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานทูตประเทศออสเตรเลีย สถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม เช่น บริษัท HeBei Port Group Co.,LTD ผู้ประกอบการท่าเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Maritime Transport Business Solutions BV ผู้ประกอบการท่าเรือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHA) ผู้ประกอบการด้านนิคมอุตสาหกรรมจากประเทศไทย บริษัท Pacific Construction in Thailand ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Sumitomo Mitsui Construction Co.,Ltd. ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท Misubishi Company (Thailand) ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยนักลงทุนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งถ่ายสินค้าระหว่างสองท่าเรือ และมีแนวทางการรองรับด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่โครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสัมมนาครั้งนี้ สนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top