เปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใน 10 ชาติอาเซียน ประเทศไหน 'ถูก-แพง' หากใช้ค่าแรงตั้ง หารด้วย 'ราคาต่อหน่วย'

บ่อยครั้งที่บ้านเรามีการหยิบยกเอาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเปรียบเทียบกับรายรับของประชากร ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ ด้วยการเอาค่าแรงตั้งแล้วหารด้วยราคาจำหน่ายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิง จนได้ผลออกมาว่า 'ค่าแรงของแต่ละประเทศนั้นจะสามารถซื้อน้ำมันได้กี่ลิตร' เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ 10 รัฐสมาชิก ASEAN 

แม้วิธีการคิดแบบนี้จะง่ายและดูเหมือนมีความชัดเจน แต่เป็นวิธีการที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ได้พิจารณาด้วยข้อมูลจากดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) 

ดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) เป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นค่าฐานอยู่ที่ร้อยละ 100 (100%)

ดัชนีค่าครองชีพยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานสําหรับการเปรียบเทียบความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของสถานที่ที่แตกต่างกันสําหรับ บุคคล, ครอบครัว และธุรกิจ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่...

- ค่าที่อยู่อาศัย : ค่าเช่าหรือค่าจํานองภาษีทรัพย์สินและค่าสาธารณูปโภค
- ค่าอาหาร : ร้านขายของชําและรับประทานอาหารนอกบ้าน
- ค่าขนส่ง : น้ำมันเบนซิน การขนส่งสาธารณะ และค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษายานพาหนะ
- ค่ารักษาพยาบาล : เบี้ยประกันสุขภาพ และค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือความคุ้มครองของประกัน
- ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา : ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน และการใช้จ่ายในดูแลเด็กเล็ก
- ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการและความบันเทิง : กิจกรรมสันทนาการ ความบันเทิง และสินค้าเพื่อการพักผ่อน
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด : เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

***หากค่าของดัชนีค่าครองชีพในประเทศใด 'สูง' จะหมายถึงว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศนั้นย่อมสูงตามไปด้วย

ทีนี้หากเปรียบเทียบ ราคาน้ำเบนซินต่อลิตร กับค่าแรงหนึ่งวัน และดัชนีค่าครองชีพ ของ ASEAN 10 ประเทศ (คิดเป็นเงินบาท) พอจะสรุปข้อมูลได้ดังนี้...

1. สิงคโปร์ : ราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 79 บาท แรงงานมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 46,051 บาท หรือวันละ 1,535 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 19.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 (สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN มีระบบการขนส่งมวลชนดีที่สุดใน ASEAN ชาวสิงคโปร์จึงใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกันน้อยมาก)

2. บรูไน : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 14 บาท ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ต่อเดือนประมาณ 28,431 บาท หรือวันละ 948 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 67.7 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 50.5 (บรูไนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของ ASEAN)

3. มาเลเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 16 บาท ค่าแรงวันละ 392 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 24.5 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.5 (รัฐบาลมาเลเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราวปีละ 387,069,500 ล้านบาท)

4. ไทย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 38.5 บาท ค่าแรงวันละ 363 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 36.04 (ไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้การอุดหนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG)

5. ฟิลิปปินส์ : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 37 บาท ค่าแรงวันละ 362 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.8 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 33.6 (รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะฟื้นฟูกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (OPSF) ซึ่งยกเลิกไปในปี 1996 กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง)

6. อินโดนีเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 35.5 บาท ค่าแรงวันละ 351 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.9 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 28.5 (รัฐบาลอินโดนีเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ราวปีละ 303,245,769 ล้านบาท)

7. เวียดนาม : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 33 บาท ค่าแรงวันละ 234 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 7.1 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.8 (เวียดนามมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง)

8. กัมพูชา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 43.5 บาท ค่าแรงวันละ 227 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 5.2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.5 และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

9. ลาว : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 54 บาท ค่าแรงวันละ 85 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 1.6 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 44.4 (ลาวพึ่งจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในปีนี้) และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

10. เมียนมา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 40.5 บาท ค่าแรงวันละ 81 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.6

ดังนั้นวิธีการเอา 'ค่าแรงตั้ง' หารด้วย 'ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อหน่วย' ได้คำตอบเป็น 'ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง' จึงเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง หากไม่นำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาประกอบร่วม โดยเฉพาะ 'ดัชนีค่าครองชีพ' เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ค่าแรงจะสามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่าประเทศอื่น แต่หากดัชนีค่าครองชีพสูง อาทิ ดัชนีค่าครองชีพของสิงคโปร์ ที่สูงถึง 81.9 ซึ่งหมายความว่า ถ้าค่าครองชีพในมหานครนิวยอร์กเท่ากับวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ประชาชนชาวสิงคโปร์ต้องจ่ายค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อต้องใช้จ่ายค่าครองชีพที่สูงลิ่วแล้ว แน่นอนว่าคนสิงคโปร์ก็คงจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อรถยนต์ ซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าที่จอดรถอีกซึ่งแพงมากๆ และไหนจะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 

ส่วนบางประเทศได้ใช้น้ำมันราคาถูก นั่นก็เพราะภาครัฐต้องใช้งบประมาณของประเทศจำนวนมากมายมหาศาลในการอุดหนุนราคา ซึ่งน่าเสียดายแทน เพราะแทนที่จะได้เอางบประมาณดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ 

ดังนั้น เมื่อลองพิจารณาจากตัวเลขข้อมูลโดยรวมในหลายๆ มิติแล้ว ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศต่างก็มีความเหมาะสมถูกต้องตามแต่บริบทของประเทศนั้นๆ โดยใน ASEAN มีบรูไนประเทศเดียวเท่านั้นที่มีน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันเอง ในขณะที่อีก 9 ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดิบหรือน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง 

โดยสรุป ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะถูกหรือแพงนอกจากเรื่องของราคาแล้วยังต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วนอีกด้วย จึงจะเข้าใจว่าราคาน้ำเชื้อเพลิงที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมของแต่ละประเทศนั้น ควรเป็นเท่าใด? และด้วยเหตุผลอันใด?


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES