Tuesday, 29 April 2025
ElectionTime

‘ปชป.’ ปราศรัยวงเวียนใหญ่ ประกาศยุทธศาสตร์ 20 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ชูนโยบาย ‘4 ทำ 3 ไม่’ มั่นใจ!! แลนด์สไลด์ไม่มีอยู่จริง

(23 เม.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บัตรสีเขียว เบอร์ 26 จัดเวทีปราศรัยใหญ่ที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมีแกนนำพรรค เข้าร่วมการปราศรัยเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตประธานรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พร้อมด้วยแกนนำและผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 33 เขต เข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่ง โดยมี นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค เป็นพิธีกร

สำหรับบรรยากาศรอบบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ มีพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ ทั้งจากฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงบรรดาแฟนคลับ และผู้สนับสนุนพรรคเดินทางร่วมรับฟังปราศรัยอย่างหนาแน่นคับคั่งเต็มพื้นที่

นายองอาจ ขึ้นเวทีเป็นคนแรก เริ่มปราศรัยว่า เหลือเวลาอีก 20 วันจะถึงวันเลือกตั้ง มีคนจากทั่วสารทิศบอกกับพวกเราว่า การเลือกตั้งปี 2562 จะไม่ได้เลือกประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พี่น้องประชาชนจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 26

“จากการเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ พี่น้องจากทั่วสารทิศบอกว่า คราวนี้ประชาธิปัตย์นอนมา ขอให้นอนมาดีๆ อย่าให้มีพระนำหน้า แล้วขอให้มีพี่น้องประชาชนนำหน้าพวกเราเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร” นายองอาจ กล่าว

ขณะที่ นายจุรินทร์ ขึ้นปราศรัยประกาศยุทธศาสตร์ใน 20 วันสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง “4 ทำ 3 ไม่” มั่นใจแลนด์สไลด์ไม่มีอยู่จริง และขอให้พี่น้องประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมือง

สำหรับยุทธศาสตร์ 4 ทำ คือ 1.ประชาธิปัตย์จะทำประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป และสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เพื่อเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ โดยไม่หมวด 1 และหมวด 2 ที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมีเงื่อนไข 2 ข้อ 

1 ต้องได้รับเสียงข้างมากในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน เกิน 376 เสียงจาก 750 เสียง 

2 ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุม 2 สภา แต่มีเสียงน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย สุดท้ายก็จะบริหาร ประเทศไม่รอด

3.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี และ 4.ประชาธิปัตย์จะจัดการกับปัญหายาเสพติดที่คุกคามสังคมไทยให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด ด้วยยุทธศาสตร์ตาต่อตาฟันต่อฟัน และประชาธิปัตย์สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์แต่ไม่เอากัญชาเสรี

‘พิธา-อภิสิทธิ์’ ลั่น!! พร้อมดันกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปลดล็อก 'เสรีภาพ-สวัสดิการ-สนับสนุน' งานครีเอทีฟ

‘พิธา-อภิสิทธิ์’ ชู ‘6 เปลี่ยน’ รัฐบาลก้าวไกลดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทุกมิติ เปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปลดล็อกเสรีภาพ-สวัสดิการ-การสนับสนุน ศิลปินหลายแวดวงร่วมแลกเปลี่ยน

(23 เม.ย.66) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเวที 'Future of Creative Economy เปิดอนาคตเศรษฐกิจสร้างสรรค์' ที่ชั้น 5 Creative Space สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บางรัก

พิธา กล่าวว่า ตนเคยมีประสบการณ์สั้นๆ ในวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลองทำมาแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น งานดนตรี งานโฆษณา งานภาพยนตร์ หรืองานเขียนหนังสือ พบว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้กว่านี้อีกมาก คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แต่มีบางสิ่งที่เป็นข้อจำกัดทำให้ศักยภาพเหล่านั้นไม่ถูกปลดปล่อยอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องสวัสดิการของคนทำงานในกองถ่าย การสนับสนุนจากรัฐ และสิทธิเสรีภาพของผู้ผลิตผลงาน

“งบประมาณของประเทศกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มีคำว่าซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในงบประมาณเพียง 80 ล้านบาทเท่านั้น จากงบกระทรวงวัฒนธรรม 7,000 ล้านบาท มีเพียง 150 ล้านบาทเท่านั้นที่มีไว้สำหรับศิลปะร่วมสมัย สรุปว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยคนที่ทำงานสร้างสรรค์ แต่ขาด 3 ส. ได้แก่ เสรีภาพ, สวัสดิการ และสนับสนุน การสร้างพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จริงๆ เราจึงต้องการพรรคการเมืองที่กล้าคิดนอกกรอบและเข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง” พิธากล่าว

จากนั้น อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลได้ร่วม อภิปราย พร้อมยกแนวทาง 6 เปลี่ยนเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

1. เปลี่ยนกระทรวง ‘วัฒนธรรม’ เป็นกระทรวง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นนโยบายระดับชาติ การปรับกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานตอบโจทย์ของประเทศ
2. สร้างสวัสดิการแรงงานสร้างสรรค์ก้าวหน้า รัฐบาลสมทบเงินประกันสังคม และให้สิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์
3. ตั้งกองทุนสร้างสรรค์เพื่อเปิดโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ส่งเสริมและอุดหนุนส่งผลงานเข้าประกวด และมีทุนกู้ยืมเพื่อทดลองทำผลงาน รวมถึงมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อประกอบธุรกิจตั้งต้น
4. คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก แก้ไข พ.ร.บ.เซ็นเซอร์, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, และกฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอื่นๆ รวมถึงทลายทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมและผลักดันให้ขอใบอนุญาตได้รวดเร็วและเป็นธรรม
5. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ในระดับจังหวัด เปิดโอกาสให้ทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบในทุกพื้นที่ การสร้างห้องทดลองในการทดสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพและเพิ่มศักยภาพของการผลิตสินค้าท้องถิ่น
6. เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้ได้คนที่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละที่จริงๆ ได้พัฒนาศักยภาพของบ้านเกิดตัวเอง

‘ปชป.’ เปิดเวทีปราศรัยใหญ่ กทม.ครั้งที่ 2 อ้อน ปชช.กาเบอร์ 26 ด้าน ‘ชวน’ ลั่น!! ต้องมีศักดิ์ศรี พร้อมเป็นได้ทั้ง ‘ฝ่ายค้าน-รัฐบาล’

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 66 ที่ลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดปราศรัยใหญ่ครั้งที่ 2 ใน กทม.ให้กับผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 33 เขต

นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปราศรัยว่า เราอย่าไปคิดว่าเข้าไปในสภาฯ แล้วจะเป็นรัฐบาลอย่างเดียว ถ้าเราไม่สามารถร่วมรัฐบาลหรือเป็นรัฐบาลได้ ก็ต้องพร้อมเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ว่าพระมาชวนเป็นรัฐบาลก็ไปร่วมเป็นกับพระ โจรมาชวนร่วมรัฐบาลก็ร่วมกับโจรไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมีเกียรติมีศักดิ์ศรีดำรงตนอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย

นายชวน กล่าว่า มีคนดีอยู่ในพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ไปประณามใคร แต่ก็มีคนร้ายอยู่ทั่ว ๆ ไป เราในฐานะประชาชนในระบบนี้มีสิทธิเลือกรัฐบาลที่ดี โดยเลือกคนดีเข้าไปเป็นผู้แทน เพราะระบบนี้ผู้แทนเสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล ถ้าผู้แทนเสียงข้างมากมาจากการโกง ซื้อเสียง ทุจริต เราก็จะได้รัฐบาลโกง รัฐบาลทุจริต เป็นสูตรว่ามาอย่างไรต้องไปอย่างนั้น เห็นเหตุผลที่ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้เลย เราจึงต้องช่วยกันรณรงค์ และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นพรรคที่เป็นหลัก ยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่เช่นนั้นเราไม่อยู่มาได้ทุกวันนี้ 77 ปี

‘ปชป.’ หนุนปลดล็อก ‘เซ็กซ์ ทอย’ ดันเป็นสินค้าควบคุมพิเศษ หวังแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ-สร้างเม็ดเงินจากอุตสาหกรรม

(24 เม.ย. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้ ‘เซ็กซ์ ทอย’ (Sex Toy) หรืออุปกรณ์เพิ่มความสุขทางเพศ เป็นสินค้าต้องห้าม เป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเข้าข่ายลามกอนาจาร เป็นอันตรายต่อสังคมและศีลธรรม รวมถึงถูกตีความเป็นวัตถุผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 และถูกจัดให้เป็นวัตถุที่เป็นของต้องห้ามตามความหมายในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร พ.ศ.2560

แต่เนื่องจาก ยังมีผู้ที่ต้องการสินค้าดังกล่าว จึงเกิดการลับลอบซื้อขายสินค้าชนิดนี้ ซึ่งไม่เพียงทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสินค้า แต่ยังนำไปสู่ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ฉวยโอกาสเรียกรับสินบน ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าดังกล่าว เพราะเซ็กซ์ทอยที่มีจำหน่ายกันอยู่นั้นไม่มีความปลอดภัย เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร หรือผู้ใช้เกิดการติดเชื้อ

“ที่จริงเซ็กซ์ทอยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด หรือใช้ในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ที่มีปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงเป็นสิ่งที่ช่วยลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน โดยเซ็กซ์ทอยมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามวิธีการใช้งาน อาทิ ไวเบรเตอร์ ตุ๊กตายาง ดิลโด นอกจากนี้ เซ็กซ์ทอยยังมีประโยชน์ด้านสังคม เพราะสินค้าประเภทนี้จะสามารถลดการค้าบริการ และปัญหาการหย่าร้างจากความต้องการทางเพศที่ไม่สมดุล ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมทางเพศ ซึ่งในประเทศไทย สถิติคดีการล่วงละเมิดทางเพศและคดีอาชญากรรมทางเพศ เฉลี่ย 5 ปี ของคดีข่มขืนเฉพาะที่มีการแจ้งความ เกิดคดีข่มขืนปีละประมาณ 4,000 คดี จับคนร้ายได้ 2,400 คดี แต่เมื่อมีการทำวิจัย กลับได้ข้อสรุปว่า มีคดีข่มขืนที่ไม่ได้แจ้งความประมาณร้อยละ 87 ซึ่งหมายความว่า 1 ปี อาจมีการก่อคดีข่มขืนในไทยมากถึง 30,000 คดี” น.ส.รัชดา กล่าว

สงครามยังไม่จบ!! 'ลุงตู่' ไม่ถอดใจ ก้มหน้าก้มตาเก็บปาร์ตี้ลิสต์อีสาน

ส่องแนวรบพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) วันนี้ ส่วนใหญ่ยังสู้สุดตัว แต่หลายคนในกทม.เริ่มแอบออกอาการถอดใจ...ก็อยากจะบอกว่า...สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร...

การเลือกตั้งยังไม่ถึงเจ็ดวันสุดท้ายอย่าเพิ่งถอดใจ...แบบว่า “เลือกความสงบจบที่ลูงตู่” เวอร์ชั่นใหม่อาจเกิดขึ้นก็ได้ แม้วันนี้เจ้าของวลีดังกล่าวคือ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ต้องไปทำหน้าที่ตอกเสาเข็มอยู่ที่พรรคภูมิใจไทยเสียแล้วก็ตาม...

ตัวเลขเฉลี่ยที่โพลสำนักต่างๆ ระบุจำนวนที่นั่งของพรรครทสช...ในสนามกทม.อยู่ที่ 3-4 ที่นั่ง จากทั้งหมด 33 เก้าอี้...เล็ก เลียบด่วน ก็เห็นด้วยกับตัวเลขนี้

ในขณะที่ตัวเลขรวมทั้งประเทศของพรรครทสช.นั้น ดูจาก 3 โพล ก็ยังบอกอาการที่ไม่ชัดเจนนักว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร...ซึ่ง เล็ก เลียบด่วน ใคร่ขอยกตัวเลขคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 16 ที่นั่ง ที่คาดว่าพรรค รทสช.จะได้ ไปรวมกับ ส.ส.เขต ที่แต่ละโพลสำรวจไว้จะออกเป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมดดังนี้...

>> ซูเปอร์โพล 51 ที่นั่ง (35+16)
>> เนชั่น โพล 37 ที่นั่ง (21+16)
>> โพลความมั่นคง 69 ที่นั่ง  (53+16)

ดูจาก 3 โพลก็ต้องบอกว่า...โพลใครก็โพลใคร...'เล็ก เลียบด่วน' ก็แอบทำโพลตัวเองแปะข้างฝาไว้เหมือนกันว่า นาทีนี้พรรคลุงตู่คะแนนอยู่ที่ประมาณ 56 ที่นั่ง ส.ส.เขต 40 บัญชีรายชื่อ 16 ในจำนวนนี้ ส.ส.เขต 40 คน นี้คาดหมายว่าจะมาจากภาคอีสานเพียงคนเดียวคือ ถ้าไม่จากจังหวัดเลยของครอบครัวเร่งสมบูรณ์สุข ก็อาจจะเป็น กำนันประนอม โพธิ์คำ เขตวังน้ำเขียว โคราช...

น่าเสียดายที่ 20 จังหวัด 133 เขตในดินแดนที่ราบสูง พรรครวมไทยสร้างชาติไม่สามารถดึงอดีตส.ส.เกรดเอมาร่วมทัพได้ ที่พอมีลุ้นอยู่บ้างก็กลายเป็นผู้สมัครที่มาจาก ส.จ.และนักธุรกิจ เช่นที่ เขต 1, เขต 2 อุดรธานี เขต 4 สกลนคร ดังนั้นวันนี้ 24 เม.ย.2566 จึงไม่แปลกที่ 'ลุงตู่' จะนำคณะชุดใหญ่ไฟกระพริบลุยพบปะประชาชน 2-3 จุด...ที่อุดรฯ เมืองหลวงของคนเสื้อแดง  

‘ชูวิทย์’ แฉหมดเปลือก เปิดตัวเลข ‘ซื้อเสียง’ สะท้านทุกภูมิภาค เผย ใช้ อสม.เป็น ‘ตัวกลาง’ ชี้!! รอบนี้หนักสุดในประวัติศาสตร์

(24 เม.ย. 66) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ หัวข้อ ‘เลือกตั้งประเทศไทย 2566’ โดยมีเนื้อหาดังนี้…

“การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการจ่ายเงินซื้อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์”

โดยใช้ อสม. (อาสาสมัครหมู่บ้าน) เป็น ‘ตัวกลาง’ ในการประสานงานกับชาวบ้าน ทั้งจดชื่อ แนะนำ แจ้งวิธีการจ่าย จำนวนเงิน ชวนให้ไปฟังปราศรัย พบปะผู้สมัคร ไปจนถึงการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง

สรุปการจ่ายได้ดังนี้

1.) มัดจำด้วยวิธีการทยอยจ่าย เช่น 300 - 500 บาทต่อคน และอีกส่วนก่อนวันเลือกตั้ง

2.) จ่ายเพื่อให้มาร่วมฟังนโยบายแบบวงย่อย ได้คนละ 100 - 300 บาท

3.) จ่ายเพื่อให้ไปฟังปราศรัยใหญ่ 300 - 500 บาท เป็นการเกณฑ์คนมาฟังเพื่อแสดงให้ดูกำลังของพรรค และ ส.ส.

4.) การเช็คจำนวนคนที่ลงคะแนน เนื่องจากในแต่ละหน่วยเลือกตั้งมีจำนวนคนไม่มาก เงินที่จ่ายให้ชาวบ้านจึงเบี้ยวยาก

5.) การให้ไม่ได้หมายความว่าจะได้แน่นอน เพราะคู่แข่งขันอาจให้มากกว่า เช่น ตั้งเป้าให้ 1,000 ต่อหัว แต่ไปเจอคู่แข่งให้ 1,500 หรือเกทับกลับไป 2,000 ก็มี

ชาวบ้านจึงรับเงินฟรีแต่ไม่กา ไปกาให้อีกฝั่ง อย่างนี้ไม่ผิด ไปว่าชาวบ้านไม่ได้

ราคาดังกล่าวเป็นราคาในภาคอีสาน เหนือ ส่วนภาคกลางที่มีการต่อสู้หนัก ราคาไหลไปสูงกว่านั้น ไฮไลต์อยู่ที่ภาคใต้ ราคาเฉลี่ย 2,000 ต่อหัวอย่างต่ำ โดยที่จ่ายสูงสุด คือ จังหวัดภูเก็ตราคาอยู่ที่ หัวละ 3,000 บาท ในขณะนี้

ชาวบ้านมองการเลือกตั้งคือการเทศกาลจ่าย เงินสะพัด เป็นการคืนกำไรที่โกงกลับมาให้ หรือเป็นการจ่ายเพื่อลงทุนในการเป็น ส.ส.การเมืองไทยจึงเปรียบเสมือนธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินจ่ายค่า ‘สัมปทาน’ ในการผ่านเข้าไปสู่ระบบ ส.ส.ตามขั้นตอน

หากพรรคกลายเป็นตัวแปรหลังคะแนนออก การจับคู่เจรจาตำแหน่งเจ้ากระทรวงจะมีกำลังเพิ่มเป็นโบนัสชิ้นใหญ่ พรรคการเมืองกลับคำได้หมด ไม่สนที่ปราศรัยไว้ตอนหาเสียง เพราะต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ ต่อรองเอากระทรวงที่มีโครงการมาก มีงบมาก เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ส่วนพรรคเล็กได้ ส.ส.ไม่มาก ได้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุดมศึกษาฯ

โดยเฉลี่ย มี ส.ส. ในมือ 7 คนได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง แต่ขึ้นอยู่กับพรรค และการต่อรองเป็นหลัก

อย่างพรรคภูมิใจไทยที่ได้ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อปี 2552 เพราะเนวินยอมหัก ‘นายเก่าทักษิณ’ ให้อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ กระทรวงทำเงินจึงตกอยู่กับพรรคภูมิใจไทยหมด

จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังอ่อนประสบการณ์เจรจาจัดตั้งรัฐบาล ห่วงแต่จะเป็นนายกฯ และเน้นเอาเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเศรษฐกิจ จึงเสียกระทรวงคมนาคมไปให้พรรคภูมิใจไทย กระทรวงสาธารณสุขก็จะเอา เพราะต้องผลักดันนโยบายกัญชาเสรี

‘อุ้ม อัชญา’ ผู้สมัคร กทม.ของ ‘ภท.’ ชูนโยบาย ‘กล้อง CCTV’ ตรวจจับรถที่ไม่หยุดให้คนข้ามถนน เพิ่มความปลอดภัยให้ ปชช.

(24 เม.ย. 66) น.ส.อัชญา จุลชาต หรือ ‘อุ้ม’ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 32 บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน ธนบุรี เบอร์ 7 พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘อุ้ม อัชญา จุลชาต’ บอกเล่าประสบการณ์ที่พบเจอขณะลงพื้นที่ ว่าตนได้เข้าช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุ ถูกรถชนขณะกำลังข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย โดยระบุว่า…

“ขณะที่อุ้มกำลังลงพื้นที่ อุ้มได้เจออุบัติเหตุรถชนคนที่กำลังข้ามถนนบริเวณทางม้าลายใกล้ ๆ MRT สถานีอิสรภาพ อุ้มและทีมงานเลยรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และช่วยติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่มาให้ความช่วยเหลือ

ซึ่งพรรคภูมิใจไทย มีนโยบายการเชื่อมกล้อง CCTV บริเวณทางม้าลาย เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน (ไว้ตรวจจับรถที่ไม่หยุดให้คนข้าม ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แล้วนำข้อมูลมาปรับคะแนนจราจรของผู้ขับ) และจากมุมมองของคนพื้นที่อย่างอุ้ม การเชื่อมต่อกล้อง CCTV บริเวณทางม้าลาย ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำหรับกลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธน ที่ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชน

สมาคมทนายฯ จี้ ‘ส.ว.’ เคารพเจตนารมณ์ประชาชน ชี้ ควรยกมือโหวตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด

(24 เม.ย.66) นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า ประเทศไทยยังคงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกออกแบบโดยเผด็จการที่มีเจตนาต้องการสืบทอดอำนาจ ได้เขียนกำหนดไว้ในมาตรา 272 ให้ ส.ว. มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของ ส.ว. จะนำไปสู่วิกฤตได้ ดังนี้

(1) กรณี ส.ว. งดออกเสียงให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก แต่รวบรวมเสียงได้ไม่ถึง 376 เสียง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้รับเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา จึงเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนไม่ได้ ผลที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป

(2) กรณี ส.ว. ออกเสียงให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะพรรคเสียงข้างมากไม่เอาด้วย ผลที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลไว้

'องอาจ' ชี้ 'ประชาธิปัตย์' มุ่งพัฒนารัฐสวัสดิการระยะยาว ไม่ขอหว่านเงินให้เกิดความพึงพอใจ แล้วก็เลิกรากันไป

(24 เม.ย.66) จากรายการ ‘ถลกข่าว ถลกคน’ รายการเกาะติด-เจาะลึกการเลือกตั้ง 2566 โดยสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ร่วมกับ TV Direct ช่อง 76 (จานดาวเทียม PSI) ได้เชิญนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาพูดคุยเกี่ยวกับข้อซักถามความเห็นในเรื่องนโยบายเชิงประชานิยมที่หลายพรรคการเมืองกำลังเร่งออกมาผลักดันเพื่อเรียกคะแนนเสียงนั้น นายองอาจ มองว่า "การสัญญาว่าจะแจกของพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงตามลักษณะที่เป็นอยู่นี้นั้น ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน 

"อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ก็มองว่า สวัสดิการยังคงมีความจำเป็นในชีวิต ที่ประชาชนควรจะได้ควรจะมี เพียงแต่เงินที่จะนำมาใช้ในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องไม่ใช่การเอาเงินไปหว่านให้เกิดความพึงพอใจ จากนั้นก็เลิกรากันไป

นายองอาจ กล่าวต่ออีกว่า "ประชานิยมที่ดี จำเป็นต้องออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนมีกิน มีใช้อย่างยั่งยืน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ ยกตัวอย่าง...ทำไม? เด็กที่อยู่ในชนบทถึงไม่สามารถมีความรู้ได้เท่าเด็กในเมือง? นั่นก็เพราะว่าในพื้นที่ชนบทเหล่านั้น ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่เข้าไปอย่างทั่วถึง เป็นต้น"

เกี่ยวกับข้อซักถามในเรื่องของการทุจริต นายองอาจ ได้กล่าวว่า "นี่คือหัวใจและเป็นเงื่อนไขหลักของการร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยึดถือหลักซื่อสัตย์สุจริต

"ยกตัวอย่าง 4 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าการดำเนินงานของพรรคในบทบาทของการเป็นรัฐบาลนั้น ไม่มีการประท้วงจากเกษตรกร ทั้งเรื่องข้าว เรื่องยาง เรื่องปาล์ม เรื่องมันสำปะหลัง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเกษตรกรเลย"

‘ปชป.’ ชู นโยบายกระตุ้น ศก. อัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท ยัน!! แก้จนได้โดยไม่ต้องแจกแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้รัฐฯ 

(24 เม.ย. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์, ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต และนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมนโยบายพรรคฯ ร่วมกันแถลงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการอัดฉีด 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ โดยไม่มีการแจกเงินแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ไม่รีดภาษีจากผู้มีรายได้น้อย แต่จะทำให้จีดีพีเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5% และช่วยแก้ปัญหาความยากจน โดยสิ่งที่จะต้องทำทันที คือ การปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องสร้างกติกาให้ผู้ที่มีฐานะปานกลางและบริษัทรายย่อย สามารถระดมทุนผ่านไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ง่ายขึ้น โดยไม่จำกัดขนาด ฐานะการเงิน หรือผลประกอบการ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านั้นขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้เพิ่ม เสียภาษีได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มงบประมาณในการดูแลกลุ่มฐานราก

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราสนับสนุนจัดตั้งธนาคารที่มีลักษณะเป็นไมโครไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่กลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยธนาคารนี้สามารถดำเนินการผ่านไปรษณีย์ไทยมาเป็นสาขาของธนาคารดังกล่าว เพราะไปรษณีย์ไทยมีสำนักงานที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอยู่แล้ว รวมถึงจะต้องสนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเราสามารถโน้มน้าวหรือเชิญชวนผู้เงินฝากในระบบสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันมีกว่า 18 ล้านล้านบาท โดยเอามาเพียง 1.2 ล้านล้านบาท เปลี่ยนจากเงินฝากมาเป็นการลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกทั้ง ควรกระจายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ และจะทำให้แรงงานทำงานในพื้นที่ตัวเองได้ ไม่ต้องย้ายถิ่น

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ส่วนการแก้หนี้สินเกษตรกร จะส่งเสริมเกษตรกรให้ความรู้และมีคุณภาพ จนสามารถกลายเป็นนักธุรกิจ หรือที่เรียกว่านักธุรกิจเกษตร รวมถึงต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรามีนโยบายจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ในกับคนในชุมชนเพื่อนำไปทำทุนค้าขาย โดยไม่ต้องมีหลักประกัน กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า

ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้เพิ่มอายุการเกษียณ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีก 5 ปี ต่อไปแรงงานจะลดน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรต่อจากนี้จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ แต่ผู้สูงอายุต้องให้มีการตรวจสุขภาพเพราะต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และทำงานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาหรือไกด์ นอกจากนี้ต้องปรับแก้ระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น แก้โครงสร้างให้เป็นระบบคล้ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญ สนับสนุนให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ พร้อมแก้มาตรา 39 ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่เสียสิทธิ์ที่ได้จากมาตรา 33 โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาแรงงานต่างประเทศมากเกินไป

“ขณะนี้ ทุกพรรคยองรับว่าต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพราะเราจะปล่อยให้มีคนจนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ คนที่้สูงอายุน่าสงสารเพราะกฎหมายบีบบังคับไม่ให้เขาทำงาน ต้องออกจากงาน จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากทำให้คนไม่มีงานทำ ซึ่งประชาธิปัตย์เราคิดเรื่องนี้ว่าจะต้องแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นหากประชาธิปัตย์มีโอกาสได้เข้าไปบริหารประเทศ เราจะปรับอายุการเกษียณในทุกกลุ่มอีก 5 ปี อย่างน้อย เพื่อยืดอายุการทำงาน เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุมีประสบการณ์ มีความรู้ มีความสามารถอยู่ หากปล่อยให้ออกจากงานก็น่าเสียดาย เชื่อว่าผู้สูงอายุอยากทำงานมากกว่าแบมือขอเงินไม่กี่พันบาทจากรัฐ ซึ่งประชาธิปัตย์จะมีการเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุด้วย แต่เราจะไม่ประกาศตัวเลข เพราะเราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร บางพรรคอาจจะประกาศ 3 พัน 5 พัน 8 พัน หรือหนึ่งหมื่นก็ได้ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบไม่มีสาระ แต่ประชาธิปัตย์จะดูตามความเป็นจริงว่า อนาคตข้างหน้าเราจะช่วยผู้สูงอายุปีต่อปีต่อเนื่องได้อย่างไร” นายพิสิฐ กล่าว

ส่วนข้อกังวลในเรื่องการตั้งธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน จะเกิดปัญหาเหมือนกองทุนหมู่บ้านที่มีบางแห่งพบความไม่โปร่งใส และอาจสร้างหนี้เสียได้ นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้ แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบได้ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินในชุมชนไปเข้าเป็นเหมือนพี่เลี้ยงกำกับดูแลให้ดำเนินงานตามพ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่า จะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top